ธรรมะเบ็ดเตล็ด
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
เรียนท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา เพื่อนสหธรรมิก ลูกพระลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย คิดว่าได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายถวายความรู้เป็นเวลาหลายราตรีมาแล้ว กลัวว่าท่านทั้งหลายจะเกิดความเบื่อหน่าย วันไหนๆ ก็ได้ฟังแต่หลวงพ่อพูด ก็กลัวว่าท่านทั้งหลายจะเบื่อหน่ายคลายศรัทธา คลายอุตสาหะในการประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป
เหตุนั้น วันนี้จะไม่บรรยายธรรม จะถือโอกาสคุยกันวันนี้ แต่จะใช้เวลานานเท่าใด หรือมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย
วันนี้ จะคุยเรื่อง บาป เรื่อง บุญ เสียก่อน เพราะว่าเรื่องบาปเรื่องบุญนี้ พวกเราทั้งหลายผู้เป็นชาวพุทธ ไม่ได้หมายเอาพวกเรา แต่(หมายถึง)ผู้ที่ไม่ได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ส่วนมากยังเข้าใจคำว่า บุญ คำว่า บาป ผิด ก็เพราะว่า ถ้าพูดเรื่องบุญเรื่องบาปแล้ว จะทำให้จิตใจของผู้ฟังนั้นไขว้เขว หรือเปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่สบายใจว่างั้นเถอะ ถ้าพูดเรื่องบาป ก็ว่าบาปไม่มี ไม่กลัวหรอก บาปมันไม่ขี่ช้างสูบบุหรี่มาดอก อะไรทำนองนี้
มีนักศึกษาหลายๆ คนที่มาคุยกับหลวงพ่อ คุยไปคุยมา พูดไปพูดมา เขาก็พูดว่า หลวงพ่อ ผมว่าบาปมันไม่มีหรอก หลวงพ่อก็พูดว่า อ้าว ถ้าบาปมันไม่มี คุณก็ลองเอาขวานจามหัวแม่คุณดูสิ มันจะเป็นอย่างไร
ก็พูดตัดบทถึงขนาดนี้ เขาก็เงียบไป แล้วก็ไม่พูดอะไรอีกแล้ว ก็พูดต่อไปว่า เรือนจำ หรือตะราง หรือคุกนั้น เขาสร้างไว้ทำไม การที่เขาประหารชีวิตคนโน้นคนนี้ ด้วยการยิง ด้วยการช็อตด้วยไฟฟ้าก็ดี เพราะเหตุอะไรเขาจึงประหาร ทำไมเขาจึงฆ่า หลวงพ่อก็พูดเพียงเท่านี้
ท่านทั้งหลาย คำว่า“บาป” นี้ ถ้าหากว่ากล่าวโดยสภาวะอย่างสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ คือสภาวะใดที่ทำให้เราได้รับความเดือดร้อน ได้รับความทุกข์ ด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ เราก็ถือว่าสภาวะนั้นเป็นบาป แต่ว่าคนที่ได้ทำบาปแล้ว ผลที่ได้รับจากการทำบาปนั้นก็คือทุกข์ แต่ผลที่ได้รับพิเศษที่พวกเราทั้งหลายทราบกันดีอยู่แล้ว
ถูกปรับไหมใส่โทษ ถูกจองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต หรือว่าตายแล้วไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต ไปเกิดเป็นอสุรกาย ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อันนั้นเป็นผลพลอยได้ ซึ่งเกิดจากการทำบาปต่างหาก แต่สภาวะที่เป็นบาปแท้ๆ ก็คือโลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์
คำว่า บุญ ซึ่งหลวงพ่อได้บรรยายมาหลายๆ วันที่ผ่านมา โดยสภาวะได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นตัวบุญแท้ๆ สำหรับบุญเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความสุขใจ
ส่วนที่ท่านกล่าวว่า ทำบุญแล้วทำให้เกิดเป็นผู้มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืน ไม่ตายง่าย หรือว่าเป็นผู้ที่มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติบริวารนานาประการ ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ โลกุตตรสมบัติ อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งเกิดจากบุญ หรือเกิดจากการทำดี คิดดี พูดดีต่างหาก
ทีนี้ก็ขอพูดถึงเรื่อง บาป นี่ เกิดขึ้นแก่เราได้อย่างไร ในเมื่อมันเกิดแล้วไปอยู่ที่ไหน มีอะไรเป็นเครื่องรับรองไว้ นี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ เรื่องบาปนี้ก็ขอพูดสั้นๆ แต่หัวข้อ ซึ่งไม่ทำให้เกินเวลากินเวลาไปมาก ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า โลภะ โทสะ โมหะ นี้ ถือว่าเป็นบาป
ทีนี้ เมื่อบาปนี้มันเกิดขึ้นแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ตาม เป็นราคะก็ตาม เป็นโทสะก็ตาม เป็นโมหะก็ตาม เวลามันเกิดขึ้นแก่เรา เพราะตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ จะเป็นโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม
วินาทีแรกที่มันเกิดขึ้น จิตของเรามันก็จะนึก จะคิด จะสั่ง มี ๓ ประโยคคือ วาระจิตของเราจะนึก จะคิด จะสั่ง อาการนึก อาการคิด อาการสั่ง นี้มันเกิดขึ้นมา ๑ ขณะ แล้วก็ดับลงไป ถ้าจะพูดภาษาธรรมะก็เรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือมัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้เปลี่ยนมาเป็นคำพูดง่ายๆ ว่า
เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว จิตของเรามันก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อชวนจิตดวงแรกเกิดขึ้นแล้วก็ดับลงไป สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมารับเอา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไป
สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว
โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็จะดับลงไป
ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพ โลภะ โทสะ โมหะ นั้นอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๓ ขณะ ขณะที่ ๔ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๕ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๖ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๗ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เมื่อชวนจิตเกิดขึ้น ๗ ขณะแล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว
ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาโลภะ โทสะ โมหะนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เกิดขึ้นมาหนึ่งขณะจิตแล้วก็จะดับไป เมื่อลงไปถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว ภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นมารักษา โลภะ โทสะ โมหะ นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราต่อไป ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ที่เรียกว่าอนุสัย
ราคานุสัยก็ดี ปฏิฆานุสัยก็ดี อวิชชานุสัยก็ดี หรือว่าอนุสัยต่างๆ ทั้ง ๗ ประการ หรือบาปทั้งหลายทั้งปวงที่เรียกว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ก็จะนอนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของเรา คือนอนอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเรา มันก็จะนอนอยู่อย่างนั้นร่ำไป ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาทำลายมันได้ ตายแล้วเกิดอีกๆ มันก็อยู่อย่างนั้นของมัน ไม่มีอำนาจใดๆ จะทำลายได้เลย
เราจะให้ทานหมดทรัพย์เป็นพันๆ ล้านบาท หรือเป็นหลายโกฏิ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายบาปหรือกิเลสตัณหา ที่มันนอนจมอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราให้หมดไปได้
เราจะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ อุโบสถศีล ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ จนตายแล้วรักษาอีก อย่างไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย รักษาร่ำไป ตายแล้วเกิดอีก รักษาต่อไปอีก ตายแล้วเกิดอีก รักษาต่อไปอีก ไม่รู้ว่ากี่ชาติ กี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายให้มันหมดสิ้นลงไปได้ มันก็จะนอนเนื่องอยู่อย่างนั้นตลอดไป เมื่อมันมีโอกาสมีเวลาเมื่อใด ก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที
อุปมาเหมือนกันกับงูที่นอนอยู่ในโพรงไม้หรือพุ่มไม้ ซึ่งมันคอยจ้องที่จะตะครุบกินอาหารที่ผ่านไปผ่านมา มีกบและเขียดเป็นต้น มันจะนอนอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอเห็นเหยื่อผ่านมาเท่านั้น มันก็ฉกกัดทันที ข้อนี้ฉันใด
พวกอนุสัยกิเลสทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าบาปทั้งหลายทั้งปวงที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ตามปกติแล้วมันจะไม่ปรากฏ ไม่แสดงอาการ ต่อเมื่อใดมีอารมณ์มายั่ว คือมีอารมณ์มาเกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดขึ้นมาแล้ว ตัวกิเลสทั้งหลายทั้งปวงมีอนุสัยเป็นต้น ก็จะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที
อันนี้เป็นหลักการ หรือหลักทฤษฎีในเรื่องบาปมันเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้อย่างไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันดำเนินไปตามวิถีจิตอย่างไร และก็มันไปอยู่ที่ไหนและก็เมื่อไรที่จะทำลายให้หมดสิ้นไป เรื่องบาปนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน
ทีนี้คุยเรื่องบุญ คำว่า บุญ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เมื่อมันเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ของเรานี้ ไม่ใช่ว่ามันไปเกิดที่อื่น คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันเป็นที่เกิดของบุญของบาป ทีนี้ เมื่อบุญเกิดขึ้นเพราะการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เหมือนกับที่พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้
สมมติว่า เรานึกจะทำบุญเท่านั้น หรือนึกจะเดินจงกรม นึกจะนั่งภาวนาเท่านี้ เมื่อ มหากุศลจิตมันเกิดขึ้นมา ขณะนั้น ชวนจิต ของเราดวงที่ ๑ ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับไป
เมื่อดับไปแล้ว สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมารับเอาบุญ เช่นว่า บุญที่เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น มันก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญนั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาบุญซึ่งเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมา ตัดสินรับเอาบุญซึ่งเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสวยบุญหรือว่าเสพบุญอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๗ ขณะจิต จึงเรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ
อุปมาเหมือนกันกับเราได้ธนบัตรใบละพันบาทมาใบหนึ่ง เราก็มาพิจารณาดู เพราะว่าธนบัตรใบละพันบาทนี้ก็ถือว่าเป็นของมีค่า ถ้าเราชะล่าใจ ไม่รอบคอบ ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ได้มาแล้วก็เอาไปใช้เลย หรือเก็บไปเลย บางทีเป็นธนบัตรปลอม เราก็เสียใจ เหตุนั้น เราต้องพิจารณาว่า ธนบัตรนี้มันใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่หนอ พลิกดูด้านหน้า พลิกดูด้านหลัง พลิกกลับไปพลิกกลับมา ๗ ครั้ง จึงว่า เออ ธนบัตรนี้ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เราก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด ชวนจิต ก็เหมือนกันฉันนั้น
เมื่อบุญที่ได้จากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตไปจนถึงชวนจิต
แล้วชวนจิตก็จะเสพบุญอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมานำเอาบุญซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา นั้นลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับไป เมื่อดับลงไปแล้ว ภวังคจิต ก็จะเกิดขึ้นมารักษาบุญซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตต่อไป
สรุปว่า ภวังคจิต นี้ ทำหน้าที่รักษาทั้งบุญและบาป บุญเกิดขึ้นก็รักษา บาปเกิดขึ้นก็รักษา และในขณะที่มันอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้น ขณะใดบาปมันมีกำลังมาก มีกำลังกล้า และก็ได้โอกาส บาปก็ให้ผลเป็นทุกข์ ขณะใดบุญมีกำลังกล้า มีอานุภาพเหนือกว่าบาป ขณะนั้น บุญก็ให้ผล นี่มันสลับกันอย่างนี้
สรุปแล้ว จิตของเรานี้ ถ้าจะพูดในทางเชิงเล่านิทานให้ลูกให้หลานฟัง ก็ว่าจิตของเรานี้มีพระราชาครองอยู่ ๒ องค์ คือ ๑) พระยาโมหะ ๒) พระยาสติ พระยาโมหะก็หมายความว่าเป็นราชาแห่งบาปทั้งหลาย สติก็เป็นราชาแห่งบุญกุศลทั้งหลาย
บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีสติเป็นราชาเป็นใหญ่ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สำหรับบาปก็มีโมหะความหลงเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชาทั้ง ๒ องค์นี้ ต่างก็แย่งกันครองร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นของบาป และก็เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นของบุญ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ปวัตติ(ผัน)ไปตามวิถีของจิต ไปจนถึงห้วงแห่งภวังค์ และก็อยู่ในห้วงแห่งภวังค์ของเราต่อไป
อนึ่ง ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นภาคปริยัติผสมกับภาคปฏิบัติ แต่ถ้าจะพูดหรือจะคุยให้เข้าใจง่ายๆว่ามันใช้เวลานานเท่าใด คือการที่บาปก็ดี บุญก็ดี มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตนั้น ใช้เวลานานเท่าไร ประมาณ ๕ วินาทีเท่านั้น ท่านทั้งหลาย
สมมติว่า เราดีดนิ้วมือของเรานี้ มันยังช้ากว่า ถ้าอุปมาก็เหมือนกับการถ่ายภาพ เราเอากล้องถ่ายรูปนั้นถ่ายรูป พอดีเรากดชัตเตอร์เท่านั้นแหละ ภาพก็ไปติดอยู่ในฟิล์ม ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่เราคิดจะทำบุญหรือทำบาป พอเราคิดจะทำบุญทำบาปเท่านั้นแหละ มันไปแล้ว มันไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิตเราแล้ว มันลงไปถึงที่แล้ว นี่เราพูดในหลักของการปฏิบัติ
แต่ถ้าพูดในเรื่องปริยัตินั้น คล้ายๆ กับว่ามันจะใช้เวลานานๆ ต้องมานึกมาคิดให้รู้ให้เข้าใจเสียก่อนแล้วถึงจะสั่ง เสร็จแล้วก็ถึงจะขึ้นมารับเอาบุญเอาบาป เมื่อรับไปแล้วจึงจะได้มาพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วจึงจะมาตัดสินรับเอา เมื่อตัดสินรับเอาแล้วจึงจะมาเสพ มาดูว่ามันเป็นบุญเป็นบาปได้อย่างไร เสร็จแล้วก็จึงจะมารับไปเก็บไว้ในที่ที่เราต้องการ คือภวังคจิต เหมือนกับว่าใช้เวลาเป็น ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง เราฟังแล้ว คล้ายๆ ว่าจะเป็นอย่างนั้น
แต่ที่จริงแล้ว มันเกิดเร็วจนไม่สามารถที่จะคิดทัน คือมันเกิดขึ้นประมาณสัก ๕ วินาทีเท่านั้น มันก็ถึงห้วงแห่งภวังคจิตแล้ว เหมือนกับเราถ่ายภาพ พอเรากดชัตเตอร์เท่านั้น ภาพก็ไปติดอยู่ในฟิล์มแล้ว ข้อนี้ฉันใด บาปก็ดี บุญก็ดี ที่เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็เหมือนกันฉันนั้น
ทีนี้ บาป เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะนอนอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราอย่างนั้นตลอดไป ไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่ชาติ กี่กัปกี่กัลป์ จึงจะกำจัดให้มันหมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเราได้
แม้ว่าเราจะให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนา จนได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นต้น ก็ไม่สามารถที่จะกำจัดบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้หมดไปได้
หนทางก็มีอย่างเดียว คือเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังที่เราท่านทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ คืออานุภาพของการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ เป็นสภาวธรรมที่มีอำนาจ ที่มีพลัง มีสมรรถนะสูง สามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้ดับไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดานได้
ดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลาย ทรงได้ทำลายกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดผู้สร้างเหย้าสร้างเรือนให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จนได้พระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์ในการตรัสรู้ เป็นพระสยัมภู ผู้รู้เอง ตรัสรู้เอง หรือเหมือนกับเหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลายที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า
ท่านก็ทำลายกิเลสตัณหาโดยวิธีเดียวกันหรือในลักษณะเดียวกันดังกล่าวมาแล้ว นี่เป็นกฎ เป็นหลักสัจธรรม หรือเป็นหลักของอมตธรรม คือเป็นธรรมะที่ไม่ตาย ใครที่มาประพฤติปฏิบัติ จะเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก อุบาสิกา ชาติไหนภาษาใดก็ตาม จะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมก็ตาม มาประพฤติปฏิบัติเพื่อทำลายบาป มันก็จะดำเนินไปตามวิถีของมันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ต่อเมื่อใดที่เรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติ มีความเพียร มีสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว เมื่อสติสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นรูปเห็นนาม ว่าในร่างกายยาววาหนาคืบของเรานี้ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม
เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะเห็นสภาวะทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาป นอนเนื่องอยู่ในรูปในนามของเรา หรือนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเรา เมื่อเห็นบาปเห็นบุญนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเราแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง สภาวะทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นบุญเป็นบาป เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป มันจะเห็นพระไตรลักษณ์
เมื่อใดเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ขณะใด วินาทีใด ขณะนั้น หรือว่าวินาทีนั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ ของเราก็จะนึก จะคิด จะสั่งทันที คือ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ พอดีเราเห็นพระไตรลักษณ์ จะเป็นอนิจจังก็ตาม เป็นทุกขังก็ตาม เป็นอนัตตาก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้น มันไม่เหมือนกัน
บางท่านก็อนิจจังปรากฏชัด ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยได้ให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว ก็จะเห็นอนิจจังชัด แต่ทุกขังและอนัตตาก็มีอยู่ แต่มันไม่ชัดเท่าอนิจจัง
ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้น ได้เจริญสมถกัมมัฏฐานมาแล้ว ได้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานไว้มาก ทุกขังก็จะปรากฏชัดกว่าอนิจจังและอนัตตา
ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้น ได้เจริญวิปัสสนามามาก ได้บำเพ็ญวิปัสสนามามากกว่า การให้ทาน รักษาศีล การเจริญสมถะ เมื่อเป็นเช่นนี้ อนัตตาก็จะปรากฏชัดเจน
เมื่ออนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม เกิดขึ้นปั๊บวินาทีใด วินาทีนั้น ชวนจิต ของเรา ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็จะดับลงไป มันจะเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมา รับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิตก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต ดังกล่าวมาข้างต้น คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชั่ว ๗ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมานำเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับไป
เมื่อดับไปแล้ว ภวังคจิต ก็จะเกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้นต่อไป
ในทำนองเดียวกันนี้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันลงไปถึงห้วงแห่ง ภวังคจิต มันก็จะทำหน้าที่ทำลายกิเลสตัณหา ทั้งที่เป็นโลภะ ทั้งที่เป็นโทสะ ทั้งที่เป็นโมหะ ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เพราะว่า ในขณะนี้ก็ถือว่าพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันมีกำลังกล้าแล้ว
เมื่อศัตรูไปพบกัน ท่านทั้งหลายก็คงคิดได้ว่ามันเป็นอย่างไร เมื่อใดศัตรูมาพบกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดไพรีต่อไพรีไปพบกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดไฟกับน้ำไปเจอกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดน้ำมากกว่าไฟ น้ำก็ดับไฟทันที เมื่อใดไฟมากกว่าน้ำ ไฟก็ลุกโพลงไหม้โน่นเผานี่ทันที ข้อนี้ฉันใด
ในขณะที่พระไตรลักษณ์มันเกิดขึ้น แล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต จนไปถึงห้วงแห่งภวังค์ เมื่อถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว มันก็จะทำลายโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเรา ถ้าหากว่ามันมีกำลังไม่มาก มันก็จะค่อยทำลายไปๆ ตามลำดับๆ
เหมือนกับที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ขณะนี้ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อยากนั่งหนอๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ คิดหนอ ปวดหนอ เฉยหนอ ดีใจหนอ ทุกข์ใจหนอ อะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่ากำลังพระไตรลักษณ์ไม่มาก หรือไม่มีกำลังพอ มันก็จะทำลายกิเลสหรือบาป ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้นให้ค่อยหมดไปๆ ตามลำดับๆ กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ค่อยดับไปๆ
ไม่ใช่ว่ามันจะดับไปพับเดียวเลยนะท่านทั้งหลาย มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้วก็มันเกิดพั่บขึ้นมา ก็จะทำลายกิเลสตัณหาให้ดับพึ่บไปเลยทีเดียว เหมือนกันกับจุดระเบิดปรมาณู หรือทิ้งระเบิดปรมาณูหรือนิวเคลียร์ ไม่ใช่อย่างนั้น คืออำนาจศีล สมาธิ ปัญญา หรือพระไตรลักษณ์นี้ มันจะค่อยทำลายบาปให้หมดไปๆ ตามลำดับๆ
เหมือนกันกับเราใช้กรดลบหมึก ถ้ากรดลบหมึกนั้นมันมีความเข้มข้น คือความเปรี้ยวของมันนั้นมันมาก มันเข้มข้น เราหยดลงไปที่แผ่นน้ำหมึก จะเป็นหมึกสีน้ำเงินก็ตาม สีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม หมึกนั้นก็จะค่อยจางไปทันที ถ้าว่ารสเปรี้ยวมันเข้มข้นมาก เราหยดลงไปพั่บ หยดเดียวเท่านั้น ภาพหมึก(หรือรอยน้ำหมึก)นั้นก็หายไปเลย แต่ถ้าว่าความเข้มข้นของมันไม่มาก มันก็ค่อยจางไปๆ ตามลำดับจนหมดไป ข้อนี้ฉันใด วิธีที่พระไตรลักษณ์ทำลายกิเลสตัณหาก็เหมือนกัน
อุปมาเหมือนเราตีงู ตีที่หัวของมัน มันก็ตายแล้ว หัวของมันก็กระดุกกระดิกไม่ได้แล้ว แต่ว่ากลางตัวและหางของมันยังกระดุกกระดิกอยู่ ยังเคลื่อนไหวได้อยู่ เราก็เอาแส้มาเฆี่ยน เฆี่ยนไปๆ จนถึงสะดือของมัน ตั้งแต่สะดือขึ้นมาถึงหัว มันก็จะค่อยๆ หมดกำลังไม่กระดุกกระดิกไม่เคลื่อนไหวแล้ว แต่หางของมันยังกระดิกอยู่ ยังกระดิกยิกๆอยู่ เราก็เฆี่ยนไป เฆี่ยนไปตามหางของมัน ผลสุดท้ายมันก็หมดสภาพ กระดุกกระดิกไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด
กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงซึ่งนอนเนื่องอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิต เมื่ออำนาจของศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นเพราะการเจริญวิปัสสนาของพวกเราทั้งหลาย กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็จะค่อยดับไปๆ ตามลำดับๆ จนสามารถเป็นสมุจเฉทปหานเป็นครั้งสุดท้าย คือมันจะดับไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นวิกขัมภนปหานบ้าง ตทังคปหานบ้าง ผลสุดท้ายก็จะเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง
อันนี้เป็นหลักการหรือวิธีการที่เราจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป เหตุนั้นแหละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่เราท่านทั้งหลายเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ทุกวันๆ นี้ เราทำเพื่ออะไร ไม่ใช่ว่าเราทำเพื่อจะออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเราจะทำบ้าๆ บอๆ หรือว่าเราจะทำเพราะว่าครูบาอาจารย์สั่งไว้อย่างนี้ หรือว่าเราทำเพื่อให้ถูกตามตำรับตำราที่ครูบาอาจารย์เขียนไว้อย่างนี้ ไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นการเข้าใจผิดแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการเข้าใจผิด
คือการที่เราเดินจงกรมกำหนดบทพระกัมมัฎฐานอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราก็กำหนด ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ เราก็กำหนดอยู่ตลอดเวลา
เพราะเหตุไรเราจึงกำหนด เพราะว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างสติของเราให้มีอานุภาพ มีอำนาจ มีพลัง มีสมรรถนะสูง เมื่อใดสติของเรามีอานุภาพ มีพลัง มีกำลัง มีสมรรถนะสูงแล้ว เราก็จะเอาสตินี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่คนทั้งหลายเขาจะดับไฟมันไหม้บ้าน ไหม้ตึกรามบ้านช่อง หรือไหม้ตลาด หรือไหม้ในตัวอำเภอ ตัวจังหวัด ดังที่เราเคยประสบพบเห็นมา เขาจะดับไฟด้วยวิธีอย่างไร บางทีเขาก็ใช้น้ำฉีด บางทีก็ใช้ดินกลบ ถ้าเอาน้ำฉีดยังไม่ดับ เอาดินกลบมันก็ยังไม่ดับ จำเป็นก็ต้องใช้สารเคมี โปรยลงไปๆ ผลสุดท้ายไฟมันก็ดับ ข้อนี้ฉันใด
พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน เราจะดับกิเลสตัณหา หรือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้น เราจะเอาอย่างอื่นไปดับ มันก็ไม่สามารถที่จะดับได้เลยท่านทั้งหลาย
ที่ท่านกล่าวไว้ว่า การให้ทานเป็นการกำจัดหรือทำลายมัจฉริยะ จริงอยู่ท่านพูดก็จริงอยู่ แต่มันไม่ใช่ว่าทำลายโดยเด็ดขาด เป็นแค่เราข่มมันไว้ สะกดมันไว้ ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น ในขณะที่เราให้ทานนั้น เราสามารถข่มมัจฉริยะความตระหนี่ หรือโลภะความโลภนี้ ให้มันสงบลงไป แน่นิ่งลงไป ไม่ให้มันแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาเท่านั้น แต่ว่ามันยังไม่ดับ
ส่วนการรักษาศีลเพื่อจะทำลายความโกรธ หรือว่าเจริญเมตตาเพื่อว่าจะทำลายความโกรธอย่างนี้ ที่จริงในขณะนั้นความโกรธมันก็ยังไม่ดับ เป็นแต่ว่ามันอ่อนกำลังลงไป หรือว่ามันสงบแน่นิ่งอยู่ในภวังคจิตเท่านั้น แต่เพราะว่าศีลของเรามีกำลัง หากเมตตาภาวนาของเรามันมีกำลัง เมื่อมันมีกำลังเหนือโทสะแล้ว โทสะก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาไม่ได้ แต่มันยังไม่หมด ยังไม่สิ้น
ถ้าเราเจริญสมถะภาวนาเพื่อทำลายโมหะ ที่ท่านพูดไว้ก็จริงอยู่ แต่มันยังทำลายไม่ได้หมด เป็นแต่เพียงว่าในขณะนั้นเราสามารถข่มโมหะ หรือว่าข่มอวิชชานี้ให้สงบลงไป ให้แน่นิ่งลงไป เพื่อว่าจะไม่ให้มันแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาต่อต้านเราในขณะที่เจริญภาวนาอยู่นั้น แต่ว่ามันยังไม่หมด
สรุปสั้นๆว่า การให้ทาน การรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนานี้ เป็นแต่เพียงอุบายวิธีที่จะข่มโลภะ โทสะ โมหะ นั้นให้อ่อนกำลังลงไป ให้เบาบางลงไป แต่ยังไม่หมดยังไม่สิ้น
ต่อเมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนาจนมีสติสัมปชัญญะแก่กล้า เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สติของเรานี้ก็จะทำหน้าที่ดับกิเลสตัณหาที่มีอวิชชาเป็นประธานเป็นใหญ่ทันที คือการที่จะดับกิเลสตัณหานั้น เราจะเอาอะไรๆ ไปดับมันก็ดับไม่ได้ นอกจากวิปัสสนา
เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา เห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เมื่อนั้นแหละ เราจะเอาสติของเรานี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นบริวาร ให้ดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเรา
ถ้าเราดับได้ครั้งหนึ่ง คือสติเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง เห็นพระไตรลักษณ์ชัดเจนแจ่มแจ้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป แต่ยังไม่หมดสิ้น คือกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ถ้ากล่าวตามหลักอภิธรรมก็ว่า โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์แบบแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคจิตปั๊บขึ้นมาครั้งหนึ่ง โลภะเราจะละได้ ๔ ตัว โทสะละยังไม่ได้ โมหะก็ทำลายไปได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ถ้าหากว่าสติของเรามันสมบูรณ์ครั้งที่ ๒ เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามารถยังมัคคจิตให้เกิดปั๊บขึ้นมาครั้งที่ ๒ ก็จะสามารถทำโลภะ โทสะ โมหะ ที่ยังเหลืออยู่ให้อ่อนกำลังลงไป แต่ยังดับไม่ได้นะ เป็นแต่เพียงทำให้อ่อนกำลังลงไป
ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์แบบครั้งที่ ๓ เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคจิตครั้งที่ ๓ เมื่อมัคคจิตเกิดครั้งที่ ๓ มัคคจิตที่ประกอบด้วยสตินั่นแหละ ก็สามารถทำลายโลภะได้เพียง ๔ ตัวเท่าเดิม แต่โทสะหมดไป ตอนนี้โทสะหมดไปแล้ว
ถ้าสติของเรามันเกิดพร้อมด้วยมัคคจิตครั้งที่ ๓ โทสะหมดไปแล้ว กามราคะ คือการคิดจะสร้างเหย้าสร้างเรือน มีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย การที่คิดว่าจะสึกไปเอาลูกเอาเมีย สร้างครอบสร้างครัว อะไรทำนองนี้ ไม่มีแล้ว หมดแล้ว สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉา
ถ้าเราเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถทำให้สติของเรามันสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในกาลใด ในกาลนั้น จตุตถมรรคคือมรรคที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ประหารกิเลสตัณหาที่เหลืออยู่ ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายภพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ หรือว่าโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ ตามแนวของอภิธรรม
เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นมาครั้งที่ ๔ นี้ จะสามารถทำลายโลภะทั้ง ๘ ตัวนั้นให้หมดไป ส่วนโทสะมันหมดไปก่อนแล้ว โมหะที่ยังเหลืออีก ๑ ตัวคืออวิชชาก็จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ของเรามันจบแล้ว มีชาติสิ้นแล้ว มีข้อวัตรปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติ ก็ได้ปฏิบัติให้สมบูรณ์แบบแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราได้เราถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน
นี่แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วิธีการหรือหลักการหรือว่าภาคทฤษฎี ที่บาปก็ดี บุญก็ดี เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา มันเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ และมันดับไปก็ดับไปในลักษณะดังที่กระผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อันนี้เป็นการคุยเรื่องบุญเรื่องบาป แล้วก็เรื่องการทำลายบาปทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป
ต่อไปก็ขอคุยเรื่องปฏิบัติสักเล็กน้อย ท่านทั้งหลาย เรื่องการปฏิบัตินี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการเดินจงกรมนี้ ไม่สามารถที่จะสนองปสาทะศรัทธาของท่านครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ให้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ทำไม่ได้
เพราะเหตุใดจึงทำไม่ได้ เพราะสถานที่ของเราสร้างยังไม่เสร็จ บริเวณที่จะเดินจงกรมนั้น ยังไม่พอ ยังไม่มี ต้องทำอีกสักหนึ่งปีหรือหนึ่งแล้ง จึงจะมีสถานที่เดินจงกรม ก็คิดว่าจะไปหาปูนฉาบ แล้วก็จะหาหญ้าหาแฝก หรือว่าเทคอนกรีต อะไรทำนองนี้ เป็นหลังคา พอเราจะเดินจงกรมได้
ในขณะนี้ สถานที่ที่จะเดินจงกรมนั้นไม่มีเลย จะมีก็มีแต่คูสระ หรือปรกกรรมที่ใกล้ๆ ที่ท่านทั้งหลายอยู่ ที่ไม่ได้สั่งว่าเดินจงกรมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เพราะเหตุนั้นแหละเป็นปัจจัย ก็คิดว่าท่านครูบาอาจารย์ทุกรูปโดยส่วนมากก็เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว คิดว่าก็คงจะได้เดินจงกรมตามกำลัง ตามความสามารถ ตามโอกาสหรือสิ่งแวดล้อมมันเอื้ออำนวย
เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่า การมาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานครั้งนี้ อยู่กรรมครั้งนี้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย (หลวงพ่อ) ขอรับผิดทั้งหมด เพราะว่าสถานที่มันไม่เอื้ออำนวย ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่อยู่ทางภายในนี้ เราเดินที่ศาลาก็ได้ เดินที่ห้องกัมมัฏฐานก็ได้ แต่ทางนั้นเราเดินไม่ได้
การปฏิบัตินี้ สิ่งที่จำเป็นจริงๆ ก็คือ การเดินจงกรม เพราะว่า การเดินจงกรมนั้น มีอานิสงส์หลายสิ่งหลายประการที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นเหตุให้สามารถที่จะทำให้เรานี่เดินทางไกลได้นานๆ คือหมายความว่าสามารถที่จะเดินได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ไม่ล้า สามารถที่จะเดินได้ คือสามารถที่จะเดินทางไกลได้ ทำให้ร่างกายของเรามีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
บางท่านเมื่อก่อนโน้นเคยปวดแข้งปวดขา ปวดนั้นปวดนี้ แต่พอมาเดินจงกรมแล้ว อาการทั้งหลายทั้งปวงนั้นหายไป เมื่อก่อนโน้นให้ลูกศิษย์ลูกหานวดแข้งนวดขา กลางวันก็ดีหรือกลางคืน ก่อนจะนอนให้ลูกศิษย์ลูกหานวดแข้งนวดขา แต่เมื่อมาเจริญวิปัสสนาภาวนา เราเดินจงกรมนั่งสมาธิแล้ว อาการปวดนั้นมันก็หายไป
นอกจากนี้ การเดินจงกรมนั้นยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ เป็นการเก็บสมาธิไปในตัว สมาธิที่เกิดขึ้นในขณะเดินจงกรมนี้ เป็นสมาธิที่มั่นคงหนักแน่นกว่าสมาธิที่เกิดขึ้นในเวลาเรานั่งภาวนา เป็นสมาธิที่หนักแน่น ท่านทั้งหลายอย่าลืมนะ การเดินจงกรมนี้สามารถที่จะให้เกิดฌาน เกิดอริยมรรคอริยผลได้ในขณะเดินนะ หลวงพ่อเห็นหลายๆ รูปที่มาประพฤติปฏิบัติ
สมัยหนึ่งที่อยู่ทางห้วยทางคลอง มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติ ปีนั้นก็ปฏิบัติกันหลายๆ รูป หลวงพ่อก็นั่งมองดูว่า การเดินจงกรมของลูกศิษย์ลูกหาถูกไหม ใครเดินอย่างไร แล้วก็เห็นพระรูปหนึ่งนั้นเดินไป เดินไปๆ พอยกเท้าขึ้นมา ไม่เห็นเหวี่ยงเท้าลงไปสักที
ผ่านไป ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ก็ยังไม่เห็นเหวี่ยงเท้าลงไปเลย ก็เดินไปดูว่า เอ๊ะ พระรูปนี้ทำอะไรอยู่อย่างนี้ หรืออะไรมันเกิดขึ้น เดินไปดูแล้วก็ไปสัมผัสดู ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย เข้าสมาธิไปแล้ว ก็ยืนอยู่นั่นแหละ ยืนขาเดียวอยู่อย่างนั้นแหละ ตั้งชั่วโมงจึงรู้สึกตัวขึ้นมา นี่น่ะท่าน มันได้ในขณะเดินจงกรม
บางทีก็ได้สมาธิในขณะที่ยืน กำหนดว่า ยืนหนอๆ ก็มี มีหลวงปู่รูปหนึ่งชื่อว่าแดง มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ที่ห้องกัมมัฏฐานทางซ้ายมือของเรานี้ พอดีฉันเช้าเสร็จแล้วก็ลงไป แล้วก็เดินจงกรม เดินจงกรมกลับไปกลับมา ๓ รอบเท่านั้น แล้วก็ยืนกำหนด ยืนหนอๆ จิตมันเป็นสมาธิ มันเข้าสมาธิไปเลย หรือจะพูดภาษาธรรมะก็ว่า มันเข้าฌานไปเลย
แต่ว่าหลวงพ่อไม่อยากพูดเรื่องฌานเรื่องสมาบัติ พูดแล้วมันทะแม่งๆ ทำให้ครูบาอาจารย์หมั่นไส้ ทำให้นักปฏิบัติทั้งหลายหมั่นไส้ ฟังแล้วไม่สบายใจ ผู้พูดก็ไม่สบายใจ ผู้ฟังก็ไม่สบายใจ ส่วนมากก็ไม่อยากพูด
แต่ว่าในขณะนั้น จิตมันเข้าสมาธิเสียแล้ว ยืนเข้าสมาธิอยู่นั้น ขาดความรู้สึก คือใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยิน ตั้งแต่ ๒ โมงครึ่ง คือปฏิบัติกัมมัฏฐานเราเริ่มตั้งแต่ ๒ โมงครึ่ง(เช้า) แล้วก็ไปพัก ๔ โมงครึ่ง ยืนเข้าสมาธิอยู่นั้น จนพระเจ้าพระสงฆ์ฉันเพลเสร็จแล้ว เที่ยงกว่าๆ ลองไปจับดูก็ยังไม่ออก อีกไม่นานประมาณสัก ๑๕ นาที ก็ออกจากสมาธิ ยืนอยู่ในสมาธินั้น ๒ โมงครึ่ง ๓ โมงครึ่ง ๔ โมงครึ่ง ๕ โมงครึ่ง ๖ โมงครึ่ง เข้าสมาธิอยู่เป็นเวลาตั้ง ๔ ชั่วโมง จึงรู้สึกตัวขึ้นมา จึงได้ออกจากสมาธิ
นี่แหละท่านทั้งหลาย การเดินจงกรมนี้มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิได้ และก็สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมนี้เป็นสมาธิที่มั่นคงหนักแน่น มีกำลัง มีพลัง ที่จะสามารถทำลายกิเลสตัณหาได้
เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ ก็ขอย้ำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้พูดผ่านมาแล้วเมื่อคืนนี้ ว่าสมาธิที่ได้นั้น ท่านทั้งหลาย เราจะจัดเป็นฌานหรือเป็นอริยมรรคอริยผล อันนี้ก็แล้วแต่อำนาจของ อัปปนาสมาธิ มันเกิดขึ้น
ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี ในขณะที่เรายืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี กินอยู่ก็ดี ดื่มอยู่ก็ดี ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่ก็ดี หรือว่านอนอยู่ก็ดี ถ้าอัปปนาสมาธิมันเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นฌานไปเลย
ถ้าหากว่าสมาธิที่เกิดขึ้นนั้น หากว่ามัคคจิตผลจิตไม่เกิด หรือว่ามัคคจิตผลจิตยังไม่เกิดเลย หรือว่าเรายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอะไรเลย สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นโลกิยฌาน โลกิยสมาบัติ
แต่หากว่าอัปปนาสมาธินั้นมันเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถี สมาธิที่ได้หรือว่าฌานที่ได้ก็เป็นโลกุตตระ มันอยู่ที่จิตของเรา ถ้าจิตของเรานั้นมันยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว สมาธิหรือฌานนั้นก็เป็นขั้นโลกิยะ
แต่ถ้าว่ามัคคจิตผลจิตเกิดแล้ว นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป อัปปนาสมาธิที่เกิดหรือฌานที่ได้นั้นก็เป็นโลกุตตระ มันแตกต่างกันที่ตรงนี้ เราทั้งหลายว่า สมาธิเช่นไรหนอ ฌานเช่นไรหนอเป็นโลกิยะ อย่างไรหนอเป็นโลกุตตระ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจตามนี้ คือการทำสมาธิ(ด้วยการเดินจงกรม)
สรุปแล้วว่า การเดินจงกรมสามารถทำให้เดินทางไกลได้ สามารถทำให้โรคภัยไข้เจ็บมันหายได้ สามารถทำให้สมาธิของเรามันสูงขึ้น สามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้
นอกจากนี้นะท่านทั้งหลาย การปฏิบัติบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเราเป็นนักปฏิบัติธรรมชั้นสูง บางสิ่งบางอย่างหากว่าเรายังไม่ถึง หากว่าพอที่จะละก็ละมันไป พอที่จะปล่อยจะวาง ก็ปล่อยมันไปวางมันไป ที่พูดนี้ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ คือไม่เคยว่าลูกศิษย์ลูกหาในทางที่ไม่ดี หรือไม่เคยกระแนะกระแหนครูบาอาจารย์
สมมติว่า ตัวอย่างบุหรี่ ตัวอย่างหมาก อย่างนี้ล่ะ พวกกินหมาก พวกสูบบุหรี่ อย่างนี้ ที่จริงการกินหมาก การเคี้ยวหมาก การสูบบุหรี่ ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางผู้เคี้ยวผู้สูบนั้นไม่ให้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน
คือผู้กินหมากอยู่ก็ดี ผู้สูบบุหรี่อยู่ก็ดี หากว่าเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะได้ฌานอยู่ สามารถที่จะได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน สามารถที่จะได้บรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌานได้อยู่ และผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้กินหมาก ก็สามารถที่จะได้บรรลุ อริยมรรค อริยผล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ได้อยู่
แต่เราผู้ปฏิบัติธรรมะขั้นสูงอย่างนี้ หากว่าเราไปคลุกคลีกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เหมือนกับว่า การปฏิบัติธรรมะของเราทั้งหลายนี้ไม่ได้ผล คนอื่นเขาก็มองเราในแง่ไม่ดีว่า เฮ้อ ไฉนหนอ ท่านไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตั้ง ๙ วัน ๑๐ วัน ตั้งพรรษา ตั้งปี ขนาดบุหรี่และหมากก็ยังเลิกละไม่ได้ แล้วจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างไร เขาดูถูกเรานะท่านทั้งหลาย
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายไม่เชื่อ ก็ลองใคร่ครวญตริตรองพิจารณาดูสิว่า เรามาอยู่ที่นี่ก็หลายวันพอสมควรแล้ว โยมชาวบ้านที่เขามานี่ เห็นเขาสูบบุหรี่ไหม เห็นเขาเอาบุหรี่มาถวายเราไหม ไม่เห็น เขาไม่เคยถวายเลย
ตามปกติถ้าเด็กๆ เขามาเห็นพระสูบบุหรี่ ก็จะวิ่งไปบอกกันที่โรงเรียนนั่น เฮโลกันมาดูทั้งหมด ไปดูพระสูบบุหรี่ ไปดูพระสูบบุหรี่ ก็ว่าอย่างนี้ คือเด็กนักเรียนนั้นก็จะเห็นว่าเป็นของแปลก เพราะเหตุใดจึงว่าเป็นของแปลก เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรที่หลวงพ่อมาอยู่นี้ พระเณรส่วนมากก็ไม่ได้สูบบุหรี่ จะสูบก็ไม่สูบประเจิดประเจ้อ
องค์ไหนที่ยังอดไม่ได้ ก็เข้าไปในห้องแล้วก็สูบเอาๆ อิ่มแล้วก็ออกมา บ้วนปาก แปรงฟันแล้วก็เดินขึ้นมา เหมือนกับว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นพระอรหันต์แล้ว นั่นมันเป็นอย่างนี้ ลักษณะของมันที่เรารักษากัน ทุกวันนี้ก็ยังมีสูบอยู่ ที่วัดนี้ไม่ใช่ไม่มี ซึ่งหลวงพ่อสำรวจดูแล้ว ก็ยังมีสามเณรอยู่สองรูปเขาก็สูบกันอยู่ แล้วก็มีพระบางรูปยังสูบกันอยู่ รู้ได้อย่างไร อันนี้ก็ไม่ต้องถามกัน
เพราะหลวงพ่อไม่สูบบุหรี่ เวลาเดินผ่านๆไป มันก็ได้กลิ่นทันที อันนี้ก็ถือว่าไม่ใช่พูดไม่ใช่คุยนะ ไม่ใช่พูดให้เป็นอย่างอื่น แต่ว่าเราคุยกัน ที่ทราบชัดๆ นั้นก็มีอยู่ว่า ไปดูที่ร้านขายบุหรี่ เขาจะรายงานทันที โอย หลวงพ่อ ทุกวันนี้บุหรี่ขายดิบขายดี เขาว่านะ บุหรี่นี่ขายดิบขายดี พวกกรุงทอง พวกสายฝน พวกนั้นพวกนี้ ขายดิบขายดี ทำไมจึงขายดี ผมจำได้มีสามเณรสองรูปชื่ออย่างนั้นชื่ออย่างนี้มาซื้อไปสูบ เขาบอกทันทีนะ โยมชาวบ้านเขาบอกทันที
เหมือนดังท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี้แหละ มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ท่านทั้งหลาย เขาหัวเราะ ทำให้ศรัทธาของเขาคลายไป อ่อนกำลังลงไป เพราะมันไม่ธรรมดา มัน ๒๐ กว่าปีแล้ว ส่วนมากพระเณรไปซื้อบุหรี่ที่ร้านเขามาสูบ แล้วนี่เรามากันเยอะๆ จนขายดิบขายดี บางวันต้องวิ่งเข้าเขมราฐ ซื้อยามาหลายชั่งจึงพอกับพวกเราทั้งหลายที่จะให้สูบให้กิน หากว่าเรายังละมันไม่ได้ ก็ขออย่าให้ประเจิดประเจ้อ หากว่าเราจะสูบจะเคี้ยว ก็เข้าไปในห้องกุฏิของเรา แล้วก็สูบเอาๆ มันอิ่มแล้วเสียก่อนจึงค่อยบ้วนปากสีฟันออกมา
ญาติโยมทางอำเภออื่นจังหวัดอื่นก็เหมือนกัน ที่เขาเดินทางมาทำบุญที่นี่ โดยเฉพาะญาติโยมทางจังหวัดของท่านพระอาจารย์สุทัศน์ที่อยู่ทางโบสถ์น่ะ ที่มาเข้าทีหลังน่ะ มาทอดกฐิน มาทอดผ้าป่า พวกหนึ่งก็นั่งอยู่ในศาลา พวกหนึ่งอยู่ข้างนอก ต้นพิกุลข้างนอกน่ะ มีโยมคนหนึ่งสูบบุหรี่ เขาเอ็ดกันทันทีว่า ไอ้ห่า มึงดูเขาด้วยสินั่น ชาวบ้านเขาไม่สูบเลยนะ มึงมาสูบได้อย่างไร มึงไม่อายเขาเรอะ ไป ไปให้ไกล โน่น เดินลงไปสูบที่ห้วยนั่น อิ่มแล้วจึงค่อยขึ้นมา นี่เขายังมองกันดูกันนะท่านทั้งหลาย
เราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องสังเกตเหตุการณ์ว่าสถานที่นี้เขาเป็นอย่างไร ญาติโยมเขาเป็นอย่างไร พระสงฆ์องค์เณรเขาเป็นอย่างไร เราต้องสังเกต ไม่ใช่ว่าเราชอบอย่างนี้ เราเคยอย่างนี้ ก็เอาไปๆ ไม่ได้ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ เขาหลิ่วตาเราก็หลิ่วตาด้วย เขาทำอะไร เราก็ทำด้วยในสิ่งที่ไม่ผิด
แล้วเราจะไปที่ไหนๆ ก็ขอให้เป็นนักสังเกตว่า เขาเขียนเป็นภาพควันบุหรี่ไว้ งดสูบบุหรี่ เขตปลอดบุหรี่ ขึ้นไปในรถก็เห็นอยู่ติดอยู่ในรถ ห้ามสูบบุหรี่ หรือว่าเขตปลอดบุหรี่ เขาเขียนไว้อย่างนี้ แต่ถ้าเราขึ้นไปในรถแล้วก็ฉีกเอาบุหรี่ขึ้นมาสูบในรถ เขาจะดูเราอย่างไร เขาจะมองเราในแง่ไหน เรื่องอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็ขอให้นำไปคิด
กิเลสตัณหาที่มันมีกำลังกล้ามากกว่านี้ เช่นว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เราก็ยังจะพยายามที่จะทำลายมันให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน ถึงมันจะมีอำนาจมากแค่ไหนก็ตาม แม้มันเป็นของที่ติดตามเรามาหลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เราก็ยังจะละมัน
เพียงบุหรี่ เพียงหมาก นิดเดียวแค่นั้น เราจะละไม่ได้เลยหรือ หลวงพ่อไม่ขอมากหรอก มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ มาแล้วก็ออกไป ไปถึงวัดถึงบ้านแล้ว เราไม่สูบบุหรี่เลย ไม่เคี้ยวหมากเลย ส่วนญาติโยมเขาก็สาธุ อนุโมทนา โฮ้ หลวงปู่หลวงตาของเราดีจริงๆ พระอาจารย์ของเราดีจริงๆ พระเณรของเราดีจริงๆ หลังจากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานที่วัดพิชโสภารามมาแล้ว เลิกสูบบุหรี่ เลิกกินหมาก เอาไปถวายก็ไม่รับ รับก็ไม่สูบไม่เคี้ยว ถ้าหลวงพ่อได้ยินอย่างนี้นะ อนุโมทนา
ถ้าออกไปแล้วเห็นเขาพูดกันว่า หลวงปู่หลวงตา พระเรา เณรเรา หลังจากไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่หลายวัน คงจะฝึกมากเกินไป หิวกระหายเกินไป กลับมาแล้วสูบเอาๆ วันหนึ่งหมดไปหลายๆ ซอง หมดไปหลายๆ มวน ท่านทั้งหลายก็คิดดูสิว่า เขาพูดอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างไร หลวงพ่อพูดเช่นนี้ ไม่ใช่หมายความว่าหลวงพ่อว่าให้นะ ไม่ใช่ดูถูก ไม่ใช่ติฉินนินทา แต่ในฐานะที่ว่าวันนี้คุยกัน และคุยกันแบบเปิดอกว่างั้นเถอะ
นอกจากนี้ ท่านทั้งหลายก็ลองไปถามดูสิ ถามดูชาวบ้านนี่ล่ะ หมดทุกร้านนี่มีไหม เขาขายเหล้าน่ะมีไหม ไม่มีนะ ขายเหล้า หมดทุกร้านที่ขายของนี่ ไม่มีเหล้า ท่านทั้งหลายอาจจะมอง เอ๊ะ มันมีโซดาแล้วมันก็ต้องมีเหล้า เพราะโซดากับเหล้านี่มันมาด้วยกัน มันผสมกัน
ถ้าเห็นเขาขายโซดา อาจจะเข้าใจเหมาเอาว่าเขาขายเหล้า ไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย หมดทั้งหมู่บ้านนี้แหละ ไม่มีร้านไหนเลยเขาจะมาขายเหล้า แถวสี่แยกตาแหลว บ้านม่วงเฒ่า หรือเหนือขึ้นไปโน้น บ้านนาหนองทุ่ง บ้านนาแมด บ้านนาขนัน หรือไม่เช่นนั้นก็ไปบ้านหนองผือ เขาไปกิน(เหล้า)กันอยู่ที่โน้น อิ่มเสียก่อนแล้วจึงเข้ามาบ้าน ถ้ามันกินไม่อิ่มก็ไม่มาบ้าน
ในขณะใดที่เขายังมีงานมีการ จะเป็นงานแต่งก็ดี งานศพก็ดี งานขึ้นบ้านใหม่ งานอะไรก็ดี เขาจะไม่มีการเลี้ยงเหล้า ชาวบ้านของเรา นี่ไม่ใช่ว่าไปยกย่องสรรเสริญเขานะ เขาจะไม่มีการเลี้ยงเหล้า และในขณะใดที่เขายังเมาเหล้าอยู่ เขากินเหล้าเมาแล้ว เขาจะไม่มาในวัดเป็นเด็ดขาด หรือในขณะใดที่เขาสูบยาอยู่ เขาจะไม่มาสูบยาสูบบุหรี่ที่ในวัดเป็นเด็ดขาด
เหตุนั้น เราท่านทั้งหลาย ทั้งหลวงพ่อเองและท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ต่างก็ให้ความรักเคารพนับถือซึ่งกันและกัน เราเป็นพรรคพวกเดียวกัน แล้วก็มีความห่วงใยกัน อะไรๆ ก็ปรารถนาดีต่อกัน เมื่อเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ไม่อยากให้ใครดูถูกดูหมิ่นเราทั้งหลายซึ่งเป็นสหธรรมิก เป็นครูบาอาจารย์ ลูกพระ ลูกเณรร่วมกัน ก็ไม่อยากให้เขาดูถูกดูหมิ่น ก็จึงเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่ฟัง
นอกจากนี้ท่านทั้งหลาย เน้นพิเศษ อันตรายของการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็คือการพูดการคุยกัน ถ้าเรามัวแต่พูดกันคุยกัน สมาธิเราก็จะไม่ได้ เพราะว่าการพูดการคุยกัน บางทีมันก็ออกนอกเรื่อง การพูดการคุย บางทีทำให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านคิดมาก เวลามานั่งสมาธิมันไม่ได้สมาธิ ชอบคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ที่ผ่านมาแล้ว ที่เราเคยคุยกันมาแล้ว ถือว่าเป็นอันตรายเบอร์หนึ่งของการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังไว้ด้วย
นอกจากนี้ เรานักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หากว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยทำมาแล้วแต่วัด(ที่จากมา) เช่นว่า การดูหมอ การดูฤกษ์ ดวงชะตา มันจะมีโชคลาภร่ำรวย อะไรทำนองนี้ การปฏิบัติอย่างนี้ก็ขอร้องเสียก่อน กลับวัดแล้วค่อยทำ หรือบางทีเอากล้องมาส่องดูพระ เหมือนกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง มักจะเอากล้องมาส่องดูพระรุ่นไหน อย่างไร ดีไหม ศักดิ์สิทธิ์ไหม ขลังไหม ส่องกลับไปส่องกลับมา ส่องแต่พระอยู่ตลอดทั้งวัน มันไม่ได้อะไร ท่านทั้งหลาย
เพราะว่า พระที่จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่วัตถุ พระที่จริงอยู่ที่จิตใจของเราน่ะ ถ้าจิตใจของเราเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ โลภ โกรธ หลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา มันครอบงำไม่ได้แล้ว ก็ถือว่าเราเป็นพระโดยสมบูรณ์
ท่านทั้งหลายอย่าลืมว่า พระ(เครื่อง)นั้นจะดีขนาดไหนก็ตาม ก็กันความตายไม่ได้หรอก เกิดมาแล้ว แม้จะมีของวิเศษสักเท่าไรก็ตาม ถึงเวลาก็ต้องตายเหมือนกัน เขาไม่ยิงเราก็ตาย เขาไม่ฆ่าเราก็ตาย มีพระขลังๆ ก็ตายเหมือนๆ กัน มันเป็นอย่างนี้
แต่ที่จริงหลวงพ่อก็ทำอยู่เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้ทำพร่ำเพรื่อ หากมีเหตุมีปัจจัยอะไรๆ จะเกิดขึ้น หลวงพ่อจึงค่อยทำ แต่ทำไม่ได้ทำเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ทำไว้เป็นที่ระลึกว่า เออ ตอนนี้เราได้รับเสาเสมาธรรมจักร รับเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากสมเด็จพระสังฆราช เมื่อมีเหตุเป็นปัจจัยอย่างนี้ จึงจะทำไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เป็นที่ระลึกของลูกศิษย์ลูกหา ของครูบาอาจารย์ ในฐานะที่มาพบกันมาเห็นกัน ก็ทำไว้เพียงเป็นที่ระลึกเท่านั้น
แต่เมื่อได้ไปสักการะบูชาแล้ว อะไรๆ เกิดขึ้นในทางที่เป็นมงคล ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ต่างหาก แต่เจตนารมณ์นั้นไม่ใช่ว่าจะถือเอาเป็นของขลัง เพราะฉะนั้น ก็ขอปรับความเข้าใจไว้ด้วย
เอาละท่านทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอเพิ่มการเดินจงกรมเป็นระยะที่ ๓ แต่ให้ไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเดินหรือว่าไม่เดิน ไม่ได้ออกไปดูเลย เดินระยะที่ ๑ ระยะที่ ๒ สมบูรณ์แล้วหรือยัง คือว่าเราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอนี่ เราเดิน ๑๕ นาที เดินระยะที่ ๒ ต่อ ยกหนอ เหยียบหนอ เดินอีก ๑๕ นาที รวมกันเป็น ๓๐ นาที
เราก็เดินระยะที่ ๓ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ได้สติ ๓ ระยะ ได้สติ ๓ ขั้น เวลานั่งก็เหมือนกัน ให้กำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึงว่า เรากำหนดก้นย้อยข้างขวา คือกำหนดที่ก้นย้อยข้างขวาว่า ถูกหนอ จุดกำหนด(วง)กลมๆ เข้าไปเท่าเหรียญบาท นี่จังหวะที่หนึ่ง
จังหวะที่สอง พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ถูกก้นย้อยข้างซ้าย คือเวลาตอนยุบเข้าไปนี้ เรากำหนด ๓ จังหวะ พองหนอนี่ เรากำหนดครั้งเดียว ตอนท้องเราพอง ตอนที่ยุบลงไปว่า ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ กำหนด ๓ คำ
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง เวลานั่งภาวนานี้เรากำหนด ๓ ระยะว่า พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ถูกก้นย้อยข้างขวา จังหวะต่อมาว่า พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ถูกก้นย้อยข้างซ้าย สลับไปมาอย่างนี้
แต่ท่านทั้งหลายต้องฉลาดนะ ถ้าหากเรากำหนดไปๆ จิตของเรามันไม่สามารถที่จะสงบเป็นสมาธิลงได้ วิปัสสนาญาณมันไม่เกิด ยิ่งกำหนดไปๆ อย่างไร มันยิ่งฟุ้งซ่านมาก ให้ตัดออกเสียก่อน เหลือแต่พองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอ ตัดให้สั้นเข้ามา แต่ในขณะใดที่จิตใจของเรามันง่วงเหงา เซื่องซึม หดหู่ ท้อแท้ ด้วยอำนาจของถีนมิทธะ เราก็ขยายออกไป พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ออกไป
เราต้องฉลาด อย่าไปลืมในหลักวิชชา ๓ หรืออภิญญา ๖ มันมีอยู่ข้อหนึ่งว่า อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ข้อนี้หมายความว่า เราผู้ปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นผู้ฉลาด ครูบาอาจารย์เป็นแต่เพียงชี้แนะแนวทางให้เท่านั้น การที่อาสวะจะสิ้นไปหรือไม่สิ้นไปนั้น ก็อยู่ที่ความฉลาดของเรา ถ้าเราฉลาดก็สามารถที่จะทำให้มันดับไปสิ้นไปได้
เวลานอนเราก็กำหนด ๓ ระยะเหมือนกันคือ พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ ถูกหนอ ถ้าตะแคงข้างซ้ายก็หมายความว่า สะโพกของเรานี้มันถูกกับพื้น เอาสติจี้ลงไปกลมๆ เท่าเหรียญบาท พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ ถูกหนอ แล้วก็พยายามจำให้ได้ว่าเราหลับไปตอนกำหนดอาการพอง อาการยุบ หรืออาการถูก ขอให้จำให้ได้ ร้อยครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้ง ถ้ายังจำไม่ได้ ก็ให้พยายามจำร่ำไป ที่พูดอย่างนี้ ก็พูดตามความหมาย หรือว่าหลักทฤษฎี หรือหลักวิชาการที่ว่า
๑) ต้องการให้สติของเรามีกำลังกล้า มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง พร้อมที่จะนำไปดับโมหะให้มันสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดานของเรา
๒) การที่ให้กำหนดเช่นนี้ ก็เพราะว่า การบรรลุอริยมรรคอริยผล หรือเวลาจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น มันบรรลุได้ทุกขณะ
บางทีบรรลุในขณะที่เรายืน บางทีก็บรรลุในขณะที่กำหนดอาการพองอาการยุบ บางทีก็บรรลุในขณะที่กำหนดว่า ปวดหนอๆ บางทีก็บรรลุในขณะที่กำหนดว่า คิดหนอๆ บางทีก็บรรลุในขณะที่ถ่ายหนักถ่ายเบา ถ่ายหนอๆ กำหนดไปๆ มันเกิดปั๊บขึ้นมา มันบรรลุได้ทุกขณะ
บางทีก็บรรลุในขณะที่เรานอน เรากำหนดไปๆ อริยมรรค อริยผล หรือมัคคจิต ผลจิต เกิดปั๊บขึ้นมา เราก็หลับไป คือการบรรลุมันบรรลุได้ทุกขณะทุกโอกาส ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าอินทรีย์ของเราจะสมบูรณ์เมื่อใด ถ้าอินทรีย์ของเรา คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มันสมบูรณ์เมื่อใด เมื่อนั้นก็บรรลุทันที
เหตุนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าได้ชะล่าใจ เวลาน้อยนิดเดียวที่เรามีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้
ขอจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าให้เผลอไปตามบาปอกุศล หมั่นกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ยอมเสียสละอารมณ์ชั่วๆ ที่เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา จงสละมานะทิฏฐิให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา หมั่นเดินจงกรม นั่งสมาธิ ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา จนสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน.