แนะแนวทางการปฏิบัติ (๒)
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ขอปรับความเข้าใจท่านครูบาอาจารย์ นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า ธรรมะที่นำมาถวายความรู้แต่ละวันๆ นั้น ไม่ใช่ธรรมบรรยาย และก็ไม่ใช่ธรรมเทศนา เพราะว่าในช่วงหน้าเทศกาลพรรษาก็ดี นอกพรรษาก็ดี หลวงพ่อใช้วิธี แนะแนวทางของการปฏิบัติ หรือการสอนเป็นบางสิ่งบางประการ เพื่อเป็นการเสริมความรู้
อาจจะผิดไปจากที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะพวกเรา เวลาประพฤติปฏิบัติ หรือเวลาสอน เรายังไม่รัดกุมเท่าที่ควร เวลาปฏิบัติก็เหมือนกัน ส่วนมากการประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่รัดกุมเท่าที่ควร คือยังหย่อนยานอยู่ จะว่าเคร่งก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็ยังไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาแท้ คือยังไม่ถึงครึ่ง
เราจะสังเกตได้ อย่างเช่นการเดินจงกรมอย่างนี้ เราใช้วิธีกำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ระยะอื่นก็เหมือนกัน แล้วแต่การปฏิบัติของเรา เวลาที่ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เราก็มีแต่ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ แต่เมื่อเราคิดซึ้งๆ ไปแล้ว ยังไม่สมบูรณ์ สติของเรายังขาดช่วงอยู่ แทนที่ขวาย่างหนอ สติของเราจะทันตั้งแต่เริ่มยกขึ้น ก้าวไป เหยียบลง เราไม่ทันเป็นส่วนมาก ถ้าเราทันจริงๆ นะท่านทั้งหลาย ทำให้สภาวะเปลี่ยนแปลงไปได้เร็ว สามารถที่จะเพิ่มความรู้ด้านภาวนามยปัญญานี้ได้เร็ว
ถ้าหากว่าเรากำหนดจริงๆ แล้วก็สมบูรณ์ถึง ๘๐ ๙๐ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ การปฏิบัติของเรามันก็ก้าวหน้าแล้วก็ได้ผลเร็ว อย่างเช่น เรากำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี้ สามารถจะทำสมาธิ เกิดฌาน เกิดมรรค เกิดผลได้ ดังที่กล่าวแล้วเมื่อคืนนี้ว่า สมาธิ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดได้ทุกขณะ ในขณะที่เรามีสติกำหนดบทกัมมัฏฐาน กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ สามารถที่จะทำให้ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ทำให้เกิดฌานได้
ตัวอย่าง พระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ทองพูน มาปฏิบัติในสถานที่แห่งนี้ ปีนั้นปฏิบัติอยู่ตรงห้วยใกล้ๆ กันนี่แหละ ปีนั้นหลวงพ่อนั่งดูการปฏิบัติ คือนั่งอ่านหนังสือไป ดูบรรดาลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติธรรมไป ดูไปและก็อ่านหนังสือไป พระรูปนั้นเดินจงกรมกลับไปกลับมา ในเมื่อเดินจงกรมไป เดินไปๆ ก็เห็นยืนอยู่ ยืนอยู่ตรงๆ และในขณะนั้นก็อยู่ในช่วงก้าวขา ก้าวเท้าออกไป ขวาย่างหนอ ก้าวเท้าออกไป ยังไม่ได้เหวี่ยงเท้าลงไปเลย กำลังก้าวออกไป ยังไม่ได้เหวี่ยงลง ก็เห็นยืนอยู่อย่างนั้น
หลวงพ่อว่า พระทองพูน ทำไม เดินจงกรมจึงยืนอยู่อย่างนั้นนานเหลือเกิน แทนที่จะเหวี่ยงลง ก็ไม่เห็นเหวี่ยงสักที ก็เลยเดินไปดู เมื่อเดินไปดูแล้วก็สำรวจอาการหายใจ สำรวจดู อาการพอง อาการยุบ แล้วก็สัมผัสดู ที่ไหนได้ ท่านทั้งหลาย ได้สมาธิ ได้สมาธิในขณะที่กำลังก้าวเท้าไป ถ้าเราทำได้ทันจริงๆ มันเกิดนะ หรือว่าในขณะที่เรากำหนดว่า ยืนหนอๆ ถ้าสติของเรามันดีจริงๆ นะ ทันปัจจุบันจริงๆ สามารถได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ในขณะที่ยืนอยู่ก็มี
เช่น หลวงปู่แดง มาปฏิบัติธรรมในช่วงหน้าพรรษา ฉันเช้าแล้วก็ลุกออกไป ถึงเวลาก็เดิน เริ่มปฏิบัติเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กลับไปกลับมา ไปถึงต้นแถว คือต้นแถวของการเดินจงกรม แล้วก็หันกลับมา จะเดินต่อ ก่อนที่จะเดินต่อแล้วก็กำหนดว่า ยืนหนอๆ แล้วก็อยากเดินหนอๆ ในขณะที่กำหนดว่า ยืนหนอๆ อยู่นั้น ได้สมาธินะท่านทั้งหลาย ตอนนั้นช่วงสักสองโมงเช้าเศษๆ แล้วก็เริ่มปฏิบัติ หลวงปู่แดงยืนอยู่ในท่ายืนจนถึงเที่ยงครึ่ง (๐๘.๐๐-๑๒.๓๐ น.) จึงกระดุกกระดิก ก็ลืมตาขึ้นมา
ก็เป็นอันว่า สามารถทำสมาธิได้ ในขณะที่ยืนอยู่นั้น ในขณะที่เราเหยียดแขนไป อยากเหยียดหนอๆ หรือว่า อยากคู้หนอๆ สามารถทำสมาธิได้ในขณะที่เราทำอาการคู้อาการเหยียดก็มี หรือว่าสามารถตั้งสมาธิ สามารถที่จะได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ในขณะที่นั่งอยู่ก็มี
ดังเช่นโยมคนหนึ่งอยู่บ้านโคก แต่ที่จริงเขาเรียกว่าบ้านโคกเท่อเล่อ คือมันมีแต่พวกกรวด มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้ เรียนวิธีปฏิบัติอยู่ที่นี้ เดินจงกรมนั่งสมาธิเสร็จแล้วก็กลับไป ตอนกลางคืนหลังจากอาหารเย็นเสร็จแล้วก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ แต่เวลาปฏิบัติ ลืม! ลืมคำบริกรรม ลืมคำภาวนา นึกได้อย่างเดียวว่า นั่งหนอๆ ก็กำหนดอาการนั่งนั้นร่ำไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถทำสมาธิให้เกิดในขณะที่กำหนดคำว่า นั่งหนอๆ มันทำได้ท่านทั้งหลาย และบางคนก็สามารถทำได้ในอิริยาบถนอน
เหตุนั้น การกำหนดบทกัมมัฏฐาน หลวงพ่อจึงย้ำว่า เรายังไม่ทันปัจจุบันเต็มที่ ได้แค่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เหตุนั้น บทพระกัมมัฏฐานที่ศึกษาเล่าเรียนมา ท่านทั้งหลายก็รู้มาทุกขั้นๆ แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินั้น หลักวิชาการที่เราเรียนมานั้น เราเอาไปใช้ไม่เต็มที่
เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามให้เต็มที่ เช่นว่าเวลาเรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ เราต้องรู้ว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง เป็นอย่างไร ยุบหนอ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร และในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น ต้องสังเกตสภาวะคือนามด้วย ในขณะที่กำหนดอยู่นี้ โลภ โกรธ หลง มีไหม หมายความว่า ความดีใจ ความเสียใจ มันมีไหม นี่เราต้องรู้ คือต้องรู้ทั้งรูป รู้ทั้งนาม คือรู้ทั้งอาการพอง อาการยุบ และก็รู้ทั้งนาม
ถ้าความรู้สึกในขณะนั้น ในขณะที่เรากำหนดเวทนาว่า ทุกข์หนอๆ หรือ สุขหนอๆ หรือว่า เฉยหนอๆ เราต้องให้ทันอาการที่ทำให้เกิดสุข อาการที่ทำให้เกิดทุกข์ แล้วก็อาการเฉย และในขณะนั้นเราต้องรู้สภาวะที่เป็นนามด้วยว่า ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น ความดีใจ ชอบใจคือโลภะมีไหม ความไม่พอใจคือโทสะมีไหม ความไม่เอาใจใส่ในการกำหนด(โมหะ)ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ กำหนดแต่สักว่ากำหนด คือขาดสติมีไหม คือมันมีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม มีราคะไหม มีความเห็นแก่ตัวไหม อะไรจิปาถะนะ เราต้องรู้ทันมัน
ในขณะกำหนดเวทนา และในขณะกำหนดการคิดก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า คิดหนอๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะคิดหนอๆ เสียเฉยๆ เราต้องรู้หทัยรูปคือสภาวะที่กำหนดที่ใต้ราวนมข้างซ้าย ๓ นิ้ว ต้องรู้ ต้องมีสติรู้ที่ตรงนี้ และในขณะที่เรากำหนดว่า คิดหนอๆ อยู่นี้ จิตของเรามี(โลภะ)ความชอบใจไหม หรือมี(โทสะ)ความไม่พอใจไหม หรือว่า (โมหะ) จิตใจของเรามันลืมสภาวะ ปล่อยไปตามธรรมชาติหรือไม่
ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมา ก็หมายความว่า โลภะ โทสะ โมหะ ยังมีอยู่ในจิตในใจอยู่ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเวลากำหนดว่า คิดหนอๆ ส่วนมากบางครั้งก็เกิดความชอบใจ พอใจ บางครั้งก็เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ บางทีก็เฉยๆ ไม่ได้กำหนด
แล้วในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น สภาวะที่เรากำหนดอยู่นั้น กิเลสต่างๆ ที่เรากำหนดอยู่สมมติว่า นิวรณ์ทั้ง ๕ คือ กามฉันทะ ความพอใจชอบใจมีไหม พยาบาท ความไม่พอใจ หงุดหงิด แค้นเคืองมีไหม ถีนมิทธะ ความท้อแท้ ซึมเซา หดหู่ ง่วงเหงาหาวนอนมีไหม อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดมาก ฟุ้งซ่าน รำคาญใจมีไหม วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยมีไหม ในขณะนั้น เมื่อเรากำหนดให้ดีๆ แล้ว มันจะเห็นธรรม ทั้งกุศลและอกุศล
ในขณะที่กำหนดอยู่นั้น สภาวะคือความศรัทธามันมีไหม ความเพียรมีไหม สมาธิคือความตั้งใจมีไหม อะไรจิปาถะ เราต้องรู้ รู้สภาวธรรม คือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราต้องรู้ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราปฏิบัติตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือมันไปพร้อมกัน มันมีอยู่ด้วยกัน เราต้องรู้
อีกอย่างหนึ่งในขณะที่เรากำหนดได้ดังนี้ อิริยาบถย่อยที่มี เราก็ต้องปฏิบัติ เช่นว่า เวลาตาเห็นรูปนี้ เราก็ต้องกำหนดว่า เห็นหนอๆ อย่างนี้ คือในขณะที่เรากำหนดอยู่นี้มันมีทั้งรูป มีทั้งนาม คือตาที่เราเห็นก็ดี สีที่เราเห็นก็ดี เป็นรูปธรรม ใจที่รู้อาการเห็นนั้นก็เป็นนาม เป็นนามธรรม หูได้ยินเสียง เราก็กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น รูปธรรมนามธรรมต้องมีพร้อม
ส่วนที่เป็นรูปธรรมก็คือเสียงที่เราได้ยิน หูก็ดี เสียงก็ดี ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม ใจที่รู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างไร ว่าเสียงดี ว่าเสียงที่ชอบ ใจที่รู้ก็เป็นนามธรรม หรือในขณะที่เรากำหนดว่า กลิ่นหนอๆ รูปธรรมนามธรรมมันมีพร้อมแล้ว กลิ่นที่รู้ว่ามันหอมมันเหม็นอย่างไรนั้น กลิ่นที่รู้ก็เป็นรูปธรรม จมูกของเราก็เป็นรูปธรรม ใจที่รู้ว่ามันหอมมันเหม็น เป็นนามธรรม ในขณะที่ลิ้มรสก็เหมือนกัน รสเปรี้ยว รสหวาน เป็นรูปธรรม และใจที่รู้ว่ามันเปรี้ยว มันหวาน ก็เป็นนามธรรม มันอยู่ในตัวของมัน
เหตุนั้น เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน อิริยาบถใหญ่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่เป็นอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย คือกำหนด ตา หู จมูก ตลอดถึงอาการคู้ เหยียด อะไรจิปาถะ เราต้องทำให้ทัน
เมื่อใดเราทำได้ทันปัจจุบันธรรมแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติของเรามันก้าวหน้าและได้ผล ส่วนมากเราไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าเราอยู่ในที่ว่าพวกมากลากไป ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ เพราะว่าพวกเรานั้น พวกมากลากไป เราวิ่งไปตามกระแสของสังคม พวกมากลากไป ถ้าเราไม่พูดไม่คุย ก็เกรงว่าเพื่อนจะว่าเอา
เวลาเดินไปตามทาง สมมติว่าเราเดินไปฉันเช้าฉันเพล หรือทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น หรือจะเดินไปสรงน้ำ อาบน้ำนี้ ถ้าเราจะเดินไปโดยที่มีสติ ไม่พูดไม่จา เดินไป ในขณะเดินนั้น เราตั้งสติอยู่ตลอดเวลา เราก็ทำไม่ได้ล่ะทีนี้ เพราะอะไร เพราะเราพูดไป เดินไป คุยไป เดินไป
เพราะเหตุใด เพราะว่าเราวิ่งตามกระแสสังคม พวกมากลากไป การกำหนดมันก็ขาดจังหวะขาดช่วง ตลอดทั้งเวลาฉันนั่นแหละ เวลาฉันแทนที่เราจะทำสติของเราให้สมบูรณ์ เราก็ฉันไปคุยไปๆ พวกเราวิ่งตามกระแสสังคม พวกมากลากไป ผลสุดท้ายก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ลืมบทพระกัมมัฏฐานคือการกำหนด ลืมสติ
เมื่อลักษณะดังนี้มีอยู่ในพวกเราผู้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติก็ได้แต่หลักการ ได้แต่วิธีการ แต่สภาวะที่เราต้องการอยากได้จริงๆ คือ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานนั้น ไม่ได้ หลวงพ่อสังเกตท่านทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นแต่ว่าพวกเรา ที่มาปฏิบัติในพรรษาก็ดี หรือในช่วงหน้าพรรษาก็ดี ส่วนมากผู้ที่ได้สามัญผลนั้น มีน้อยเหลือเกินนะท่านทั้งหลาย เกือบจะว่าไม่มี ยิ่งไปเรื่องมรรคเรื่องผลนี้ยิ่งหาได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้ ยังหาได้อยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ แต่มันมีน้อยท่านทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น หากท่านทั้งหลายตั้งจิตตั้งใจว่าอยากได้จริงๆ อยากได้สมาธิสมาบัติ อยากได้มรรคได้ผลจริงๆ เราก็ควรที่จะปลีกวิเวกอยู่ ต่างรูปต่างอยู่ ต่างรูปต่างทำ เพราะเวลาของเรามีน้อย ๙ วันนี้ วันแรกก็เสียไปแล้ว ๑ วัน วันพรุ่งนี้ก็เสียอีก ๑ วัน วันสุดท้ายก็เสียอีก ๑ วัน เสียไป ๓ วัน ได้เพียง ๖ วัน แล้วก็ไม่สมบูรณ์เสียด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย การที่จะได้มาซึ่งสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน มันหาได้ยาก หาได้น้อยเหลือเกิน ไม่ใช่ว่านะ นี่พูดตรงนี้นะ
เหตุนั้น หากว่าเรามีโอกาสมีเวลา เราได้ปฏิบัติธรรมในสำนักต่างๆ เวลาท่านจัดขึ้น ก็ขอให้สังวรระวัง ปฏิบัติให้ดีที่สุดเท่าที่จะดียิ่งๆ เพราะว่าการปฏิบัติต่อสังคม ส่วนมากก็จะอยู่ปริวาส แต่ในงานปริวาสงานปฏิบัติในหน้าพรรษานี้ บางทีที่เราปลีกจากวัด เพราะว่ารำคาญหลวงพ่อเจ้าอาวาส ใช้ไปโน้น ใช้ทำโน้นทำนี้ ลำบาก ขี้เกียจ ก็หนีหลวงพ่อเจ้าอาวาสมา เมื่อมาถึงแล้วที่นี่ มีแต่เสวนากัน ชั่วโมงปฏิบัติหรือนอกชั่วโมงปฏิบัติ เราก็ไม่ทำสติให้สมบูรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่มันได้อยู่ แต่ว่ามันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ท่านทั้งหลาย ที่เรามีกะจิตกะใจมาอยู่ในสถานที่นี้มาปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าบุญล้นฟ้าล้นดิน เกือบจะมีบุญล้นฟ้าล้นดิน แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ คือสิ่งที่เราต้องการอยากได้จริงๆ คือ เรื่องสมาบัติ ฌาน มรรค ผล นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการอยากได้ที่สุด
เพราะเหตุใดจึงอยากได้ เพราะว่า การที่ทำให้จิตใจของเราหนักแน่นมั่นคง เป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตใจของเราเป็นอัปปนาสมาธิ เราก็สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้ หรือสามารถข่มกิเลสทั้งหลายทั้งปวงให้สามารถสงบระงับลงได้ ทำให้เกิดความสุข เกิดความสุขแล้วก็จะทำให้การปฏิบัติของเรานั้นก้าวหน้า ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือว่า เราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว จิตของเราบริสุทธิ์แล้ว จิตใจของเราบริสุทธิ์สามารถที่จะข่มกามคุณทั้ง ๕ ได้แล้ว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าปิดประตูอบายภูมิเกือบจะได้แล้ว
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็เกือบจะปิดประตูอบายภูมิได้เต็มที่แล้ว ถ้าหากว่าเราทำได้อย่างนี้ เรานั่งอยู่ตรงนี้ก็ดี หรือนั่งอยู่ที่ไหนก็ดี ร่างของเราเป็นพระธรรมดา เป็นเณรธรรมดา แต่จิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว สามารถข่มกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว
หากว่าเราสร้างสมอบรมบารมีมามาก ความเพียรของเราก็แก่กล้า เราก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัติก้าวหน้า จึงจะทำให้สติของเราสมบูรณ์ เมื่อสติของเราสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้รูปรู้นาม
เมื่อทันปัจจุบันรูปนามแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ เห็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วมันดับไป เห็นรูปนามเป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นรูปนามนี้เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เมื่อใดเราเห็นรูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความเกิดความดับไปของรูปของนาม หรือว่าในขณะที่เรากำหนดอยู่ในขณะนี้ รูปนามที่ดับไปเราก็รู้ แล้วก็ทันปัจจุบัน ในขณะรูปดับไปเราก็รู้ ในขณะที่นามดับไปเราก็รู้ ในขณะเดียวกัน ในขณะนั้นกิเลสตัณหามันดับไปเราก็รู้ คือถ้าจิตใจของเรามันทันจริงๆ นะ
ถ้าสติของเราทันปัจจุบันจริงๆ แล้ว มันจะเห็นอาการดับทั้งรูปดับทั้งนามและทั้งกิเลส คือว่าถ้าเราทำได้อย่างนี้แล้ว มันจะมีอาการ จะเห็นอาการเกิดอาการดับของรูปนามและเห็นกิเลส คือในขณะนั้นรูปมันดับไปเราก็ทัน ทันว่ามันดับไป เราก็รู้ว่ามันดับไป นามดับไปคือความรู้สึกของเรามันดับไปเราก็รู้ และขณะนั้นความชอบใจดีใจ คือกิเลสตัณหามันดับไปเราก็รู้
เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนาภาวนา เห็นทั้งการเกิด เห็นทั้งความดับ เห็นทั้งกิเลสตัณหามันดับไป ก็ถือว่าปิดประตูอบายภูมิได้ โอกาสที่เราจะไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเราปิดได้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัตินั้น ต้องทำให้ทันปัจจุบัน ต้องมีสติจริงๆ และต้องทันปัจจุบันจริงๆ เวลากำหนด ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนด พองหนอ ยุบหนอก็ดี กำหนดเวทนาก็ดี กำหนดจิตก็ดี กำหนดธรรมก็ดี กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ดี ให้ทันปัจจุบัน
เมื่อเราทำได้อย่างนี้ เราก็ว่าเราปฏิบัติมานานพอสมควรแล้ว ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ต้องสังเกตดู เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร การปฏิบัติธรรมของเรานี้ก้าวหน้าหรือไม่เพียงไร สังเกตดู
ลักษณะของการสังเกตนั้น คือ
๑. อาการพอง อาการยุบนั้น อันไหนสั้น อันไหนยาว กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั้น อันไหนสั้น อันไหนยาว เราต้องสังเกต
๒. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนปรากฏชัด อันไหนไม่ปรากฏชัด พองหนอ ยุบหนอนี่ ตัวไหนปรากฏชัด ตัวไหนไม่ปรากฏชัด
๓. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนหยาบ อันไหนละเอียด พองหนอมันหยาบหรือมันละเอียด ยุบหนอมันหยาบหรือมันละเอียด
๔. อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน เช่นว่า พองหนอ ยุบหนอ อันเดียวกันหรือคนละอัน
๕. อาการพองกับอาการยุบ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เราต้องรู้มัน อาการพอง อาการยุบ พองหนอยุบหนออยู่นั้น มันเร็วขึ้นๆ มีไหม ต้องสังเกตนะท่านทั้งหลาย
๖. อาการพองอาการยุบของเรานั้น บางครั้งมีอาการฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือมันอึดอัด เหมือนใจจะขาด มันแน่นอึดอัดสูงขึ้นๆ แล้วหายไป มีไหมในขณะนั้น ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในขณะกำหนดอาการพองอาการยุบของเรา รู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาดมีไหม
๗. อาการพองอาการยุบ บางครั้งสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราก็ละเอียดไปๆ เหมือนกันกับไม่ได้หายใจ บางทีเหมือนกันกับว่ามันหมดไป หรือบางทีเหมือนกับจะดับ ตัวของเราจะตายไป ลักษณะนั้นมีไหม
การประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อกล่าวให้กว้างขวางพิสดาร มันก็มีมาก แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติจริงๆ เอาเท่านี้ท่านทั้งหลาย เราต้องสังเกตอารมณ์ที่เรากำหนด เช่นว่า กำหนดหายใจเข้า หายใจออก
สมมติว่า เรากำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกว่า พุทโธๆ หรือหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ อะไรทำนองนี้ บางครั้งลมหายใจของเรามันเร็ว มันหายใจเร็วขึ้นๆ มันมีไหม หรือบางครั้งอาการลมหายใจเข้าหายใจออกมันรู้สึกฝืดๆ เหมือนจะหายใจไม่ได้ หรือหายใจไม่ออกมันมีไหม หรือบางครั้งอาการหายใจเข้า หายใจออกในขณะที่กำหนดพุทโธๆ อยู่นั้น มันสม่ำเสมอดี
บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ เหมือนกับไม่มีลมหายใจ มันมีไหม เราต้องสังเกตนะท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่า พองหนอ ยุบหนอ พุทโธๆ สัมมาอรหัง อะไรทำนองนี้ หรือว่ากำหนดโดยที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีจุดหมายปลายทาง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้มันได้ผลน้อย หรือไม่ได้ผลเสียเลย
เมื่อท่านทั้งหลายกำหนดได้ดังนี้ สังเกตได้อย่างนี้ เราก็สังเกตต่อ ๆ ไปว่า เพราะถ้าอาการอย่างนี้มันมีแล้ว มันก็มีอยู่เป็นอยู่บ่อยๆ นั่งสมาธิครั้งหนึ่งอาจจะมีอยู่ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง มันเกิดลักษณะอย่างนี้มันเกิด มันอาจจะมี หากลักษณะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นมันมี
ทีนี้สังเกตต่อไปว่า เมื่อเรากำหนดต่อไป อาการพอง อาการยุบ มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกไปมา ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้างมีไหม คือบางทีมันก็เร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง หรือผงะไปข้างหลังบ้าง หรือไปข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง หรือบางทีมันขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเรามันไม่ต่อกัน มันมีไหม ท่านทั้งหลายต้องสังเกต
หรือบางทีกำหนดพองหนอยุบหนออยู่นั้น อาการฝืดๆ อึดอัดๆ แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เมื่อมันแน่นขึ้นๆ แล้วสัปหงกไปข้างหน้าบ้างไปข้างหลังบ้าง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเรามันไม่ต่อกัน ลักษณะดังนี้ มีไหม เป็นไหม
บางทีอาการพองอาการยุบมันเสมอดี แล้วก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง มีไหมลักษณะอย่างนี้ ถ้าเรากำหนดได้อย่างนี้แล้ว โบราณท่านว่า อเนกานิสังสา มีอานิสงส์เป็นอเนกประการ หลวงพ่อว่า ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ปฏิบัติได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติใกล้มรรคผลนิพพานแล้ว ใกล้จะถึงแล้ว ใกล้จะสำเร็จแล้ว
เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะจริงๆ แล้วก็ได้ผลได้อานิสงส์จริงๆ อย่าให้เสีย อย่าให้ต้องมาแล้วก็ไม่ได้อะไร ขาดทั้งทุน สูญทั้งกำไร
หลวงพ่อได้น้อมนำเอา หลักของการปฏิบัติโดยย่อ มาถวาย แนวทางของการประพฤติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งถ้าท่านทั้งหลายออกไปแล้ว ก็จะได้ไปสอนญาติสอนโยม สอนลูกศิษย์ลูกหา ก็ขอให้จำหลักการไว้ให้ดี เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการสอนต่อไป หรือการปฏิบัติต่อไป
หลวงพ่อน้อมนำธรรมะมาถวายความรู้เพื่อเป็นแนวทางของการปฏิบัติของการสอน ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.