แนะแนวทางการปฏิบัติ (๓)

แนะแนวทางการปฏิบัติ (๓)

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ท่านอาจารย์ทั้งหลาย หลวงพ่อในนามคณะสงฆ์ ขอเจริญพรขอบใจ ขออนุโมทนาท่านคณาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่ามาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนี้

          พิธีกรรมหรือปฐมนิเทศใดๆ เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติผ่านมาแล้วตอนกลางวัน คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อจึงไม่จำเป็นที่จะพูดอะไรให้มาก

          ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เท่าที่สังเกต ท่านทั้งหลายล้วนได้ศึกษาเล่าเรียนกันมาแล้ว ส่วนมากเรียนมากกว่าหลวงพ่อ จบปริญญาตรี จบปริญญาโท จบปริญญาเอก การเรียนวิชาการต่างๆ ท่านทั้งหลายได้เรียนมากกว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อ(จบ)เพียงแต่ชั้น ป.๔ เท่านั้น เหตุนั้น การพูดจาภาษาใดๆ อะไรก็ตาม หากว่าขาดตกบกพร่องหรือไม่รื่นหู ก็ขออภัยหลายๆ

          ท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจเดินทางมาสู่สถานที่นี้ตามนโยบายของรัฐบาล มาปฏิบัติ สำหรับการปฏิบัติท่านทั้งหลายก็รู้ก็เข้าใจ เคยปฏิบัติมาแล้ว จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่จำเป็นที่หลวงพ่อต้องสาธยายอะไรให้มาก แต่ขอชี้แนะแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ

          การประพฤติปฏิบัตินี้ เราต้องการความรู้ขั้น ภาวนาญาณ เท่านั้น เพราะความรู้ด้าน สุตาญาณ ท่านทั้งหลายก็ได้เรียนมาแล้ว ความรู้ด้าน จินตาญาณ ท่านทั้งหลายก็ได้เคยใช้มาแล้ว แต่ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ ส่วนมากเราไม่ได้ใช้กันเท่าที่ควร หรือว่าใช้ก็ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ ส่วนมากพวกเราทั้งหลาย  แม้จะจบปริญญาเอก  แต่ส่วนมากความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ พวกเราไม่จบ น้อยคนที่จะจบ

          ลูกศิษย์ลูกหาที่มาอยู่กับหลวงพ่อ หลายๆ พันรูป หลายๆ พันคน ที่จะเรียนรู้ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ หาสักร้อยคนก็หายาก คือไม่จบ ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ไม่จบ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเป็นอันว่า ความรู้ใดๆ ที่พวกเราทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ขอยกไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอามาใช้ เก็บไว้ก่อน หลวงพ่อต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายศึกษาหาความรู้ด้านภาวนาญาณ

          ความรู้ด้าน ภาวนาญาณ เราจะศึกษาหาจากตำรับตำราอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ความรู้ใดๆ ที่มีอยู่ในตำรับตำรา แม้แต่ความรู้ในด้านปริยัติ คือพระไตรปิฎก ความรู้ในด้านพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ ถือว่าเป็นความรู้ด้านปริยัติ เป็นปริยัติ แล้วก็เป็นจินตาญาณ เป็นสุตาญาณ ยังไม่ถึงขั้นภาวนาญาณ

          ความรู้ด้าน ภาวนาญาณ นี้ เราต้องทำเอาเอง ศึกษาเอง ก็รู้เองเข้าใจเอง การที่เราจะอ่านตำรับตำราหลายคัมภีร์สักเท่าใดก็ตาม ไม่จบ การเรียนรู้เรื่องภาวนาญาณนี้ บางท่านก็เรียนไม่จบเลย คือมันเป็นขั้นๆ ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ ถ้าจะแบ่งก็มีอยู่ ๔ ระดับ๔ หมวด

          แล้วความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ เราเรียนจากไหน

          เราเรียนจากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เรียนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียนที่ พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นต้น เราเรียนที่นี้ ไม่ได้เรียนที่อื่น

          เพราะเหตุไรจึงเรียนที่นี้ (ที่กายนี้)

          เพราะว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นบ่อเกิดความรู้ด้าน ภาวนาญาณ ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด

          แต่ส่วนมาก พวกเราทั้งหลาย มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง คือมองข้ามเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ เรามองข้ามเลย ไม่เอามาขบคิดปัญหาให้ทะลุปรุโปร่ง หรือให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาวะที่เป็นภาวนาญาณได้

          วิธีที่เรียนรู้ บทที่ประกอบ หรือคู่มือที่เอามาประกอบก็คือ

          ๑.  มีสติ คือมีสติอยู่ตลอดเวลา จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม รู้ตัวตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา (สติมา)

          ๒.  มีสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อม เราจะทำงานใดๆ จะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง จะเคลื่อนไหวอวัยวะน้อยใหญ่ของเรา เราก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเราเขียนหนังสือ ตัว ก. ตัว ต. นั้นเป็นอย่างนี้ นี้เป็นสติ แล้วก็ลักษณะของตัวนั้นเป็นอย่างไรๆ นี้เป็นลักษณะของสัมปชัญญะ (สัมปชาโน)

          ๓.  มีวิริยะความเพียร คือมีฉันทะ พอใจในการปฏิบัติ วิริยะ แข็งใจในการปฏิบัติ จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ และวิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ (อาตาปี)

          นี่คือคู่มือหรือลูกกุญแจที่จะเปิดเอาความรู้ด้านภาวนาญาณ เมื่อเราเอากุญแจไปเปิดตำรับตำราเรื่องภาวนาญาณ มันจะเห็นตั้งแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเห็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็รู้มันก็เห็น แล้วก็อาการขวาย่างซ้ายย่าง มันจะเห็นอาการขวาย่างซ้ายย่างนั้นเป็นอย่างไร มันจะเห็นได้

          เพราะอะไร

          เมื่อเรามีสติกำหนดอารมณ์ดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็นทีนี้ มันจะเห็นว่า พองหนอ ยุบหนอ มันเป็นอย่างไร ลักษณะมันเป็นอย่างไร คือมันจะปรากฏกายขึ้นมาเอง พองหนอ ยุบหนอ มันเป็นอย่างไร ก็จะเห็น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันก็จะเห็น มันเกิดขึ้นในเวลาเราเดินจงกรม

          มันเจ็บ มันปวด บางทีก็เจ็บที่โน้น ปวดที่นี้ บางทีก็มีความสุข บางทีก็เฉยๆ มันจะเห็นอยู่ที่นี้ เห็นตรงนี้ มันเห็นอัตโนมัติ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็นเอง มันเป็นอัตโนมัติ

          ในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่ก็ดี เรากำหนดเดิน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ก็ดี มันจะทำเหมือนกับสภาวะที่ซ้อนอยู่ในร่างกายและจิตใจของเรา มันมีสภาวะที่ซ้อนอยู่(ข้าง)ใน อะไรที่เป็นสภาวะที่ซ้อนอยู่(ข้าง)ใน มันจะเห็นเองโดยอัตโนมัติ เราบอกกันไม่ได้ ถ้าบอกได้มันก็เป็นปริยัติ มันก็เป็นสุตาญาณ หรือจินตาญาณ แต่นี้เราต้องการภาวนาญาณ มันจะเห็นเอง ถ้าเห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง แทงตลอดเอง เรียกว่า ภาวนาญาณ มันจะเห็น

          แล้วความรู้ขั้นนี้ ขณะที่เรากำหนดจิตของเรา คิดหนอๆ เรากำหนดอยู่อย่างนี้ร่ำไป มันจะเห็นอาการนะ มันจะเห็นอาการคิดของเรา มันคิดเรื่องอะไร มีอะไร เหตุเกิดที่แอบแฝงอยู่ในจิตในใจของเรา มีอะไร มันเกิดความคิดขึ้นมา ความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างนี้ เขาเรียกว่า ภาวนาญาณ

          ภาวนาญาณนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะดำเนินไปตามวิถีของมัน เมื่อเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว หรือมีสติสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็น ดังนี้ คือ

          ปัญญาขั้นที่ ๑ เห็นรูป เห็นนาม (นามรูปปริจเฉทญาณ) เช่นว่า ขวาย่างหนอ นี่ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม มันจะเห็นเอง ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาตาเห็นรูป เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาหูได้ยินเสียง เรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาลิ้นรับรส เรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

          เวลาสัมผัสอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ หรือ อ่อนหนอ แข็งหนอ อะไรก็ตาม ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ขวาย่างหนอ ตรงไหนเป็นรูปตรงไหนเป็นนาม ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม พองหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ยุบหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

          เมื่อเรากำหนดอยู่อย่างนี้ เฝ้าดูอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ  กำหนดอยู่อย่างนี้ ดูมันไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันก็จะเห็นรูปเห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะสามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ เมื่อแยกรูปแยกนามออกจากกันได้แล้ว มันจะเห็นอะไรลึกๆ ไปกว่านั้นอีก มันจะเห็นของลึกๆ อยู่ในนั้น เรียกว่า เป็นของที่เกิดโดยภาวนาญาณ

          ปัญญาขั้นที่ ๒ เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม เมื่อเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม เมื่อเห็นเหตุเห็นปัจจัยแล้ว ก็จะเห็นรูปนามนั้นเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นทุกขัง คือสภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นอนัตตา คือสภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป (ปัจจยปริคคหญาณ)

          ที่หลวงพ่อพูดนี้เป็นปริยัตินะ แต่ที่เราต้องการรู้คือ ถ้าเรากำหนดอย่างนี้ๆ ไป มันจะรู้ คือความรู้ด้านภาวนาญาณนี้มันเกิดขึ้นมาเอง อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ของรูปของนาม มันจะเห็นเอง

          ปัญญาขั้นที่ ๓ เห็นพระไตรลักษณ์ เมื่อเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามแล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในลำดับที่ ๓ เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะเห็นความเกิดความดับของรูปของนาม (สัมมสนญาณ)

          ปัญญาขั้นที่ ๔ เห็นความเกิดดับของรูปนาม เมื่อเราเห็นความเกิดความดับของรูปนามแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม ที่แม้จะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ท่านว่าอย่างนี้ ถ้าเราเห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาแล้ว เรามีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี (อุทยัพพยญาณ)

          ถ้าเรามาถึงปัญญาขั้นนี้แล้ว หากว่าเราตายไปในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ หรือในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ เราตายไปเพราะจิตดวงนี้หรือดับไปเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็จะไม่ไปอบายภูมิอย่างน้อย ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้พบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ประพฤติธรรม ได้ปฏิบัติธรรม และบรรลุธรรม

          ปัญญาขั้นที่ ๕ เห็นความดับของรูปนาม เมื่อปัญญาขั้น(เห็นความเกิดดับของรูปนาม)นี้แก่กล้าแล้ว ปัญญาขั้นที่ห้า (ภังคญาณ) ก็จะ เห็นเฉพาะความดับไป ของรูปนาม ความดับของรูปนามเป็นอย่างไร มันจะเห็น เห็นความดับของรูปนาม

          ปัญญาขั้นที่ ๖ เห็นรูปนามปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว ปัญญาขั้นที่หก เห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัวคือ รูปนามที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นี่ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี่ มันจะปรากฏเห็นเป็นของน่ากลัว แล้วก็เห็นด้วยภาวนาญาณ (ภยตูปัฏฐานญาณ)

          ปัญญาขั้นที่ ๗ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม คือเมื่อเห็นว่ารูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัวแล้ว ก็จะเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามเป็นลำดับที่เจ็ด เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม (อาทีนวญาณ)

          ปัญญาขั้นที่ ๘ เห็นรูปนามเป็นของน่าเบื่อหน่าย ในลำดับที่แปด เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้ว ก็จะเห็นรูปนามเป็นของน่าเบื่อหน่าย ทั้งร่างกายตนเอง และร่างกายของคนอื่น (นิพพิทาญาณ)

          ปัญญาขั้นที่ ๙ เกิดความอยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปนาม ปัญญาขั้นที่เก้า คือเมื่อเบื่อหน่ายรูปนามแล้ว ก็จะอยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน อยากไปให้พ้น อยากออก อยากหนี ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป (มุญจิตุกัมยตาญาณ)

          ถ้าปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติจะไม่จบภาคการปฏิบัติ เมื่อเวลาของเรามีอยู่ แต่เมื่อการปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ นั่งสมถกัมมัฏฐานก็ไม่อยากนั่ง เดินก็ไม่อยากเดิน คือ มีแต่อยากออก อยากหนี อยากเลิก อย่างเดียว

          ปัญญาขั้นที่ ๑๐ จิตใจของผู้ปฏิบัติก็เข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ (ปฏิสังขาญาณ)

          ปัญญาขั้นที่ ๑๑ คือ สังขารุเปกขาญาณ ใจเฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ นั่งกัมมัฏฐานก็นั่งสบายๆ นี่เป็นความรู้ด้านภาวนาญาณ

          เมื่อปัญญาขั้นนี้สมบูรณ์แล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี เข้าสู่มัคควิถีคือ เห็นความเกิดความดับของรูปนามด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะก้าวเข้าสู่มัคคญาณ ผลญาณ

          เมื่อเราถึงมัคคญาณผลญาณแล้ว เราจะเห็นความเกิดความดับชัดด้วยปัญญา ชัดอย่างไร ถ้าเราเห็นความเกิดความดับชัดด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว รูปของเราก็ดับ นามก็ดับ กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ก็ดับไป

          ถ้าเราสามารถเห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญา ๔ ระดับแล้ว ก็ถือว่า กิเลสตัณหานั้นหมดไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่ติดตามหลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน นี่เป็นความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากการเจริญภาวนา เรียกว่า ภาวนาญาณ

          ท่านทั้งหลาย (อาจจะคิดว่า) มีเวลาน้อยนิดเดียวเท่านั้น มันจะถึงไหมหลวงพ่อ หลวงพ่อว่า แล้วแต่บุญวาสนาบารมี

          บางคนเวลาน้อยนิดเดียว เราปฏิบัติตอนนี้ สามารถที่จะรู้ได้ตอนกลางคืนหรือตอนเช้า คือเราปฏิบัติตอนเช้า อาจได้ผลตอนเย็นก็ได้ แล้วแต่ปฏิปทาของใครของมัน บางคนปฏิบัติง่ายแล้วก็ได้บรรลุง่าย บางคนปฏิบัติง่ายแต่รู้ช้า บางคนปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว บางคนปฏิบัติลำบากและก็รู้ช้า แล้วแต่ปฏิปทาของแต่ละท่าน

          ท่านทั้งหลาย เมื่อหลวงพ่อพูดมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า เอ หลวงพ่อ สมัยนี้ยังมีมรรคผลพระนิพพานอยู่หรือ  พระอริยบุคคลยังมีอยู่หรือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ยังมีอยู่หรือ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ แล้วก็เข้าใจอย่างนี้ เรื่องนี้หลวงพ่อจะขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ (ดูที่เรื่อง องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม)

          แต่ที่หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหามาถึงปานนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผลของการปฏิบัตินี้ มีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องฌานเรื่องสมาบัตินี่ ผู้ที่สามารถทำฌาน ทำสมาบัติ สามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง มีเป็นจำนวนมากพอสมควร

          เมื่อเหตุปัจจัยในปัจจุบันเป็นหลักฐานอ้างอิงอยู่อย่างนี้ ตำรับตำราที่ท่านว่าไว้ก็มีเป็นอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์ที่สอน ผู้ที่ปฏิบัติเพราะครูบาอาจารย์สอนก็มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย อย่าไปเชื่อตำรับตำรา(อื่นๆ )ที่เขากล่าวไว้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่า ศาสนาจะเป็นอย่างนั้น ศาสนาจะเป็นอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลายอย่าไปเชื่อ ถ้าจะเชื่อก็ให้ถือตามหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตามที่กล่าวมาแล้ว

          เพราะตามตำรานี้ หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหามาจนถึงบัดนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ยังเป็นพระเจ้าพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพอสมควร แล้วผู้ได้ฌานได้สมาบัติ ก็มีมากพอสมควร

          ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น หลักการของการปฏิบัติไม่เหมือนกัน แต่ละสำนักแต่ละอาจารย์(สอน)ไม่เหมือนกัน คือ

          ๑)    บางสำนักใช้คำภาวนาว่า พุทโธๆ  

          ๒)    บางสำนักใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง

          ๓)    บางสำนักใช้คำภาวนาว่า สัมพุทโธ

          ๔)    บางสำนักใช้คำภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวา

          ๕)    บางสำนัก หายใจเข้า ภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ  

          ๖)    บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ

          ๗)   บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นะมะพะทะ ไปเรื่อยๆ

          ๘)    บางสำนักใช้คำภาวนาว่า รู้หนอๆ

          ๙)    บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นั่งหนอ ถูกหนอ

          ๑๐)  บางสำนักใช้คำภาวนาว่า ถูกหนอๆ

          ๑๑)  บางสำนักใช้คำภาวนาว่า กระทบหนอๆ

          ๑๒)  บางสำนักใช้คำภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ

          ๑๓)  บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม

          ๑๔)  บางสำนักใช้คำภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ

          ๑๕)  บางสำนัก ยกมือไป ยกมือมา ภาวนาว่า เกิดดับๆ ว่าไปเรื่อยๆ

          ๑๖)  บางสำนัก หายใจเข้า หายใจออก ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร นั่งดูอารมณ์เฉยๆ ภาษาบ้านเราเรียกว่า ซอมเบิ่งอารมณ์ นั่งดูเฉยๆ

          อันนี้เป็นการบริกรรม ว่าถึงเรื่อง คำบริกรรม ที่ต่างกันไปในแต่ละสำนัก

ส่วนการเดินจงกรม ก็มีแตกต่างกันในแต่ละสำนัก ถ้าจะพอจำแนกได้ ก็มีดังนี้

          ๑)    บางสำนัก ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

          ๒)    บางสำนัก ขวาย่าง ภาวนาว่า พุทโธ ซ้ายย่าง ภาวนาว่า พุทโธ

          ๓)    บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ

          ๔)    บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม

          ๕)    บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ

          ๖)    บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ

          ๗)   บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ

          ๘)    บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ

          ๙)    บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ

          ๑๐)  บางสำนักกำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร

          ๑๑)  บางสำนักเดินจงกรมภาวนาว่า นะมะพะทะ

          นี่ (การบริกรรม/คำภาวนา) ที่ท่านสอนกันภายในประเทศของเรา และในต่างประเทศ สอนกันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีอีก แต่ละสำนักๆ ก็ใช้ไม่เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะถือเอาอย่างไร สำนักไหนผิด สำนักไหนถูก (ขอตอบว่า) ถูกด้วยกันทั้งนั้น

          ที่ตอบว่าถูกด้วยกันทั้งนั้น คือ ถ้าเดินจงกรมและนั่งภาวนา โดยต้องการที่จะให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถะ คือ ถ้าภาวนาก็ดี เดินจงกรมก็ดี เราตั้งใจบริกรรม ตั้งใจที่จะทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มันก็ถูกแบบสมถะ

          แต่ถ้าใช้วิธีกำหนด กำหนดรู้ ต้องการจะให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ถูกแบบวิปัสสนา คือ ถ้าใช้วิธีกำหนดรู้ รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้ รู้รูป รู้นาม รู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็ถูกแบบวิปัสสนา

          เพราะฉะนั้น เราผู้ปฏิบัตินั้น แล้วแต่จะเลือกเอา แต่จะเอาอย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลาย การที่เราจะเลือกเอาสมถะ ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผลดังใจอยากได้ หรือว่าเราอยากได้วิปัสสนา ก็ไม่ใช่ว่าจะสมใจที่เราอยากได้ มันอยู่ที่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

          ถ้าสมมติว่าเราภาวนา พองหนอ ยุบหนอ นี่คำเดียวนี่แหละ พองหนอ ยุบหนอ นี้ ถ้าหากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีในทางสมถะมาก่อน คือตั้งแต่ชาติก่อนโน้น เคยเจริญสมถะมาก่อน หรือเมื่อก่อนโน้นได้ให้ทานรักษาศีลมากกว่าอย่างอื่น เวลามาเจริญพระกัมมัฏฐาน กำหนดพองหนอ ยุบหนอ อย่างนี้แหละ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เมื่อสติสัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เกิดฌาน ทั้งๆ ที่ภาวนาเหมือนกันแหละ

          นี่ถ้าเราได้สร้างสมอบรมบารมีทางสมถะมามาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามที่หลวงพ่อเคยสอนๆ มา บางคนก็สามารถทำสมาธิได้ ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง บางคนก็ทำได้ถึง ๓๐ ชั่วโมง

          แต่ส่วนมากหลวงพ่อสอนไปถึง ๓๐ ชั่วโมง แล้วก็คิดว่า ๓๐ ชั่วโมงนี่ ก็นานพอสมควรแล้ว ถ้าเราตายในฌานเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ สอนได้เพียงแค่นี้ แต่ว่าการทำสมาธิหรือฌานที่เราทำในสมัยนี้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ ก็สามารถอยู่ในสมาธิในฌานได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน

          ทีนี้ ถ้าหากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีทางวิปัสสนามาก่อน คือเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ อย่างนี้แหละ ถ้าเราได้เคยสร้างสมอบรมบารมีในทางวิปัสสนามาก่อน คือเมื่อก่อนโน้นเคยเจริญวิปัสสนามามาก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวเข้าสู่ญาณชวนวิถี เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ผ่านไปตามลำดับๆ จนไปถึงมัคคญาณ ผลญาณ บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี  ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  นี่มันผลไม่เหมือนกัน

          สมถะหรือว่าผลของสมถะ แม้ว่าเราจะเดินจงกรม ได้สมาธิ ได้ฌาน เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม ปิดประตูอบายภูมิยังไม่ได้นะ หากว่าเราประมาทไม่ได้ตายในฌาน ตายแล้วก็ยังไปเกิดในอบายภูมิได้

          แต่วิปัสสนาภาวนานี้ ถ้าว่าเราได้วิชาวิปัสสนาเพียงแค่ ปฐมมรรค สามารถทำได้ครั้งเดียวเท่านั้น ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตายแล้วจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผู้มีคติเที่ยง อกุปปธัมโม เป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ สัมโพธิปรายโน จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า สามารถที่จะสำเร็จได้

          ต่อไปก็ ขอเตือนสติท่านทั้งหลาย

          ๑.  การประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อจะให้ได้ถึงมรรคถึงผลนี้ ต้องประกอบด้วย องค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม ดังนี้

               ๑)  ต้องมีสติ รู้ทันปัจจุบัน

               ๒)  มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม

               ๓)  มีวิริยะความเพียร คือ พอใจปฏิบัติ ตั้งใจปฏิบัติ แข็งใจปฏิบัติ แล้วก็ฉลาดในการปฏิบัติ

          อันนี้เป็นคุณสมบัติ เหมือนกันกับท่านทั้งหลายไปสอบเข้าโรงเรียนที่โน้นที่นี้ ก็ต้องมีคุณสมบัติ การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ต้องมีคุณสมบัติ ถ้าขาดคุณสมบัติแล้วไปไม่ได้

          ๒.  นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติ จะต้องสังวรระวังในการปฏิบัตินั้น คือ

               ๑)  อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เวลาเดินก็เดินตามปกติ คือ เวลาเดินก็เดินตามปกติ อย่าไปแข็งๆ เหมือนกับคนเป็นเปลี้ยเป็นง่อย อย่าทำให้อิริยาบถผิดปกติ

               ๒)  อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น เช่นว่า นั่งภาวนาอยู่ หรือเดินจงกรมอยู่ จะเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาให้เห็นนรกให้เห็นสวรรค์ ให้เห็นโน้นให้เห็นนี้ ให้เห็นหวยที่มัน
จะออกในวันที่ ๑๖ นี้ อะไรทำนองนี้  เรียกว่า  อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น  คือพยายามอย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น  ถ้าทำให้ความต้องการเกิดขึ้น  เวลาปฏิบัติกัมมัฏฐานมันก็จะรั่ว การปฏิบัติไม่ได้ผล

               ๓)  อย่าเครียดจนเกินไป ถ้าเครียดเกินไป มันจะทำให้จิตใจของเราคิดมาก จิตใจฟุ้งซ่าน คิดมาก ถ้าอาการเครียดมาก เวลาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมากปฏิบัติไม่ได้ผล หนักๆ เข้าก็เป็นบ้า เพราะอะไร เพราะว่ามันขาดสติ สติของเราไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดความเครียด แล้วก็อย่าเครียดจนเกินไป แล้วก็อย่าหย่อนยานจนเกินไป

               ๔)  อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ อยากได้หูทิพย์ อยากได้ตาทิพย์ อยากรู้วาระจิตของผู้อื่น อยากระลึกชาติหนหลังได้ อะไรทำนองนี้ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษนี่ ร้อยทั้งร้อย เป็นบ้า เป็นบ้ามากหรือน้อยนี่ก็แล้วแต่ แต่มีอย่างเดียวก็คือ เป็นบ้า

          เพราะฉะนั้น ก็ขออย่าให้ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้เกิดขึ้น

          เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายให้ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.