พระไตรลักษณ์

พระไตรลักษณ์

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          บัดนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง พระไตรลักษณ์ มาบรรยายถวายความรู้  แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบต่อไป

          คำว่า ไตรลักษณ์ คือลักษณะที่มีส่วนเสมอกันของสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอุปาทินนกสังขาร คือสังขารที่มีใจครองก็ดี อนุปาทินนกสังขาร คือสังขารที่ไม่มีใจครองก็ดี ล้วนตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ประการ คือ

          อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป

          ทุกขัง  ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

          อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

          รูป นาม ขันธ์ ๕ ที่เราทั้งหลายกำหนดอยู่ทุกวันนี้ พร้อมทั้งปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ทั้งที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี ที่เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี รูปนามที่เป็นของหยาบก็ดี เป็นของละเอียดก็ดี เป็นของเลวก็ดี เป็นของประณีตก็ดี ที่อยู่ไกลก็ดี อยู่ใกล้ก็ดี ล้วนเป็นของไม่เที่ยง เพราะเหตุไร เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสิ้นไป ดับไป สูญไป ในกาลนั้นๆ ในที่นั้นๆ

          รูปและนามใดที่เป็นอดีต รูปและนามนั้น ก็จักดับสิ้นไปในกาลอันเป็นอดีต หาถึงกาลอันเป็นปัจจุบันไม่ รูปและนามใดที่เป็นอนาคต รูปและนามนั้นก็จักดับสิ้นไปในอนาคต จักไม่ถึงกาลในอนาคตเบื้องหน้าอีกต่อไป รูปและนามใดที่เป็นปัจจุบัน รูปและนามนั้นก็จะดับสิ้นไปในกาลปัจจุบันนี้ หาไปถึงกาลอนาคตไม่ แต่มีเหตุมีผลสืบเนื่องกันอยู่ ถ้าเหตุดีผลก็ดี ถ้าเหตุชั่วผลก็ชั่ว เหมือนเราเอาดวงตราประทับลงบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราย่อมติดอยู่บนแผ่นกระดาษ แต่ดวงตราหาได้ติดอยู่บนแผ่นกระดาษไม่ ข้อนี้ อุปมาฉันใด

          รูปและนาม ก็เหมือนกันฉันนั้น หมายความว่า ถ้าดวงตรานั้นเป็นดวงตราที่สวยงาม เมื่อเราประทับลงไปบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราที่ติดอยู่ในแผ่นก็พลอยสวยงามไปด้วย แต่ถ้าดวงตรานั้นไม่สวยงาม เราเอาประทับลงไปบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราที่ติดอยู่ในแผ่นกระดาษนั้น ก็ไม่สวยไม่งาม

          รูปและนามนี้ก็เหมือนกัน หากว่ารูปนามที่เป็นอดีตผ่านมาแล้ว เป็นรูปนามที่ดี คือเป็นรูปนามที่เป็นมหากุศลในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะ ระวังตัวอยู่เสมอ ไม่ให้เผลอไปตามบาปอกุศล หมั่นให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นต้น นี้ก็แสดงว่ารูปนามของเราดีแล้วในอดีต เมื่อมาเกิดในปัจจุบันรูปนามก็พลอยดีไปด้วย

          ทีนี้ รูปนามในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าว่ารูปนามในปัจจุบันเป็นรูปนามที่ดี หากไม่ประมาท พยายามสร้างสมอบรมคุณงามความดี เพิ่มเติมเสริมส่งบารมีของเราให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป มีการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาเป็นต้น เมื่อรูปนามนี้ดับไป หากว่าบาปบุญยังมีอยู่ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในชาติหน้า ภพหน้า เมื่อไปเกิดแล้ว รูปนามก็พลอยดีไปด้วย

          แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าในอดีตรูปนามไม่ดี เพราะว่า ในอดีตโน้นเราตั้งอยู่ในความประมาท ไม่แสวงหาคุณความดี เมื่อมาถึงภพนี้ชาตินี้ รูปนามก็พลอยไม่ดีไปด้วย และเมื่อเราเกิดอยู่ในชาตินี้ภพนี้เราประมาทอีก ไม่ได้สร้างสมอบรมคุณงามความดีไว้ เมื่อไปภพหน้า ชาติหน้า รูปนามก็ไม่ดีเหมือนกัน

          เหตุนั้น รูปนามจะดีหรือชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับบุญกรรมหรือบาปกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ และรูปนามทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วนั้น ทั้งที่เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ดับไป สิ้นไป สูญไปทั้งนั้นคือ

          รูปนามที่เป็นภายใน ก็ดับสิ้นไปในกาลที่เป็นภายใน หาถึงความเป็นรูปนามภายนอกไม่

          รูปนามใดที่เป็นภายนอก ก็ดับสิ้นไปในกาลที่เป็นภายนอก หาถึงความเป็นรูปนามภายในไม่

          รูปนามใดที่หยาบ ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่หยาบนั้น หาถึงความเป็นรูปนามที่ละเอียดไม่

          รูปและนามใดที่ละเอียด ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่ละเอียด หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่หยาบไม่

          รูปและนามที่เลว ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่เลว หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่ดีไม่

          รูปและนามที่ดี ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่ดี หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่เลวไม่

          รูปและนามที่อยู่ใกล้ ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่อยู่ใกล้ หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่อยู่ไกลไม่

          รูปและนามที่อยู่ไกล ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่อยู่ไกล หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่อยู่ใกล้ไม่

          เหตุนั้น รูปนามจึงเป็นของไม่เที่ยงเพราะเกิดขึ้นแล้วย่อมดับสิ้นไปในกาลนั้นๆ ไม่ล่วงพ้นกาลนั้นๆ ไปได้

          รูปนามใดเป็นของไม่เที่ยง รูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดขึ้นและความดับไป เบียดเบียนบีบคั้นอยู่เป็นนิตย์

          รูปและนามใดเป็นทุกข์ รูปและนามนั้นเป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น

          รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นเป็นทุกข์ รูปใดเป็นทุกข์ รูปนั้นเป็นอนัตตา รูปใดเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

          เวทนา อนิจฺจา เวทนาคือความทุกข์ความสุข หรือความเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

          สญฺญา อนิจฺจา สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ต่างๆ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

          สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือความปรุงแต่งให้คิดดีคิดชั่ว หรือคิดไม่ดีไม่ชั่ว เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

          วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณคือความรู้อารมณ์ เป็นสิ่งไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

          เหตุนั้น ตามที่กล่าวมานี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจึงเป็นทั้งอนิจจัง เป็นทั้งทุกขัง เป็นทั้งอนัตตา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ เพราะเหตุไรจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ เกิดจากเหตุปัจจัยอันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน คือ

          รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิด ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น รูปจึงเป็นของไม่เที่ยง

          เวทนา อนิจฺจา เวทนาไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุให้เวทนาเกิด ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นของไม่เที่ยง

          สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น สัญญาจึงเป็นของไม่เที่ยง

          สงฺขารา อนิจฺจา สังขารไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น สังขารจึงเป็นของไม่เที่ยง

          วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณจึงเป็นของไม่เที่ยง

          รูปํ ทุกฺขํ รูปเป็นทุกข์ ธรรมเหล่าใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น รูปจึงเป็นทุกข์ไม่มีสุข

          เวทนา ทุกฺขา เวทนาเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิด ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นทุกข์ ทนได้ยาก

          สญฺญา ทุกฺขา สัญญาคือความจำได้หมายรู้เป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิด ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น สัญญาจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

          สงฺขารา ทุกฺขา สังขารเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น สังขารจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

          วิญฺญาณํ ทุกขํ วิญญาณเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

          รูปํ อนตฺตา รูปเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น รูปนี้จึงเป็นอนัตตาไปด้วย

          เวทนา อนตฺตา เวทนาเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น เวทนานี้จึงเป็นอนัตตาไปด้วย

          สญฺญา อนตฺตา สัญญาเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น สัญญานี้จึงเป็นอนัตตา

          สงฺขารา อนตฺตา สังขารเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น สังขารนี้จึงเป็นอนัตตา

          วิญฺญาณํ อนตฺตา วิญญาณเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณนี้จึงเป็นอนัตตา

          เท่าที่ได้บรรยายมานี้ พอได้ใจความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งในที่ไกลที่ใกล้ ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ทั้งที่เลวและประณีต ทั้งที่หยาบและละเอียด ทั้งที่ดีและชั่ว ทั้งที่เป็นปัจจุบันก็ดี เป็นมาแล้วในอดีตก็ดี จะเป็นไปในอนาคตก็ดี มีความเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และล้วนแต่เกิดจากเหตุปัจจัยอันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีรูปนามใดที่เกิดขึ้นมาโดยปราศจากเหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุเป็นแดนเกิด

          เหตุปัจจัยที่ให้เกิดรูป คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ก็แล อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และอาหารนี้ เป็นสภาวะที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น เมื่อรูปเกิดจากสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

          เวทนา คือ ความสุขความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี หรือสัญญา ความจำได้หมายรู้ก็ดี หรือสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งให้คิดดีคิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่วก็ดี เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ ก็แล อวิชชาเป็นต้นนี้ เป็นสภาวะที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เวทนา สัญญา สังขาร จึงตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ด้วย คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          วิญญาณ ความรู้อารมณ์ เกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และนามรูป ก็อวิชชาเป็นต้นนี้ เป็นสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น วิญญาณก็จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปด้วย

          แต่ว่าส่วนมาก ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา จะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ ถึงเห็นก็เห็นขั้นต่ำๆ คือขั้นสุตาญาณหรือจินตาญาณ ไม่ใช่ขั้นภาวนาญาณ

          เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้

          เพราะว่า สันตติ คือความสืบต่อ อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ฆนสัญญา ความสำคัญว่าอัตภาพอันยาววาหนาคืบนี้เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ปิดบังเอาไว้ เพิกไม่ออก

          ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมอย่าได้ชะล่าใจ อย่าประมาท พยายามใช้ความเพียร ใช้สัมปชัญญะ ใช้สติกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ให้ติดต่อกัน เพราะการกำหนดเป็นการเพิกเครื่องปิดกั้นหรือเครื่องปิดบังอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ออกไป เมื่อใดเราเพิกเครื่องปิดบังอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ก็สามารถที่จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมทั้งอริยสัจ ๔ และวิโมกข์ ๓ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมมา

          อีกอย่างหนึ่ง ในขณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นนั้น ท่านทั้งหลายที่ไม่เคยได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่เคยได้ประพฤติปฏิบัติมา และไม่เคยฟังธรรมเรื่องแว่นธรรม ก็จะไม่รู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปฏิบัติกับภาคปริยัติไม่เหมือนกัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปริยัตินั้น เราท่องบ่นสาธยายกินเวลาไปตั้ง ๖ วัน ๑๐ วัน ก็ยังไม่จบ

          แต่มาปฏิบัติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิดเดียวเท่านั้นก็ผ่านไปแล้ว เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำ

          เหมือนกับเราเดินไปในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพฯ อย่างนี้ เราไม่รู้ว่าถนนสายนี้เขาเรียกชื่อว่าอย่างไร แต่เราก็สามารถที่จะเดินไปได้ หรือเราบริโภคผลไม้ชนิดที่ไม่เคยบริโภคเลย รสชาติผลไม้เป็นอย่างไรเราก็รู้ แต่ไม่รู้จักชื่อของผลไม้นั้นว่ามีชื่ออย่างไร ข้อนี้ฉันใด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ฉันนั้น

          ส่วนมาก เวลาเกิดขึ้น ถึงได้เคยฟังธรรมมาก็จริงอยู่ บางท่านได้ฟังเทศน์ในเรื่องแว่นธรรมตั้งหลายครั้งหลายหน แต่เมื่ออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ แล้วไม่รู้จักว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่า ธรรมะด้านภาวนาญาณไม่เหมือนกันกับสุตาญาณและจินตาญาณ

          สุตาญาณและจินตาญาณนั้น เราฟังเอาได้ คิดเอาได้ แต่สำหรับขั้นภาวนาญาณนี้ เราคิดเอาตามไม่ได้ คือถึงเวลาเกิดก็เกิดเองแล้วก็ดับเอง เราอยากให้เกิดก็ไม่เกิด คือไม่ถึงเวลา สภาวธรรมไม่สมบูรณ์เต็มที่ อินทรีย์ ๕ หย่อน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะไม่เกิด

          แต่หากว่าธรรมอันเป็นองค์คุณให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น คือมีสติทันปัจจุบันรูปนาม สามารถกำหนดรูปนามติดต่อกัน ไม่เผลอ เมื่อเราไม่เผลอ อินทรีย์ ๕ ก็จะสมดุลกันขึ้นมา ไม่มากก็น้อย เมื่อเป็นดังนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเกิดขึ้นทันที

          อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ส่วนมากจะเกิดไม่นาน เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น อย่างมากจะไม่ถึง ๑ นาที หรือผู้ที่เกิดชัดที่สุดก็ประมาณ ๑ นาที แล้วก็หายไป ไม่ใช่ว่าจะเกิดอยู่ตลอดเวลา บางท่านก็อนิจจังเกิดชัด บางท่านก็ทุกขังเกิดชัด บางท่านก็จะอนัตตาเกิดชัด แต่จะเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ทั้งนั้น

          เหตุนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัตินี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติมักจะใช้สติไปพิจารณาว่า อันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ก็อยู่ในขั้นจินตาญาณไปแล้ว ไม่ใช่ขั้นภาวนาญาณ

          ในขั้นภาวนาญาณนี้ ต้องเกิดขึ้นมาเอง เมื่อพระไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แบบชัดเต็มที่เมื่อใด เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ปฐมมรรคขึ้นไป ตามบุญตามกุศลที่ได้สั่งสมอบรมมา จะเป็นพระเป็นเณรก็ตาม เป็นปะขาวแม่ชีก็ตาม เป็นโยมผู้ชายผู้หญิงก็ตาม เป็นเด็กก็ตาม มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป ก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ดังตัวอย่างนางกุณฑลเกสีเถรี (ภิกษุณี)

          กิระ ดังได้สดับมาว่า มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่ง อยู่ในกรุงราชคฤห์ อายุ ๑๕–๑๖ ปี มีรูปสวยน่ารัก หญิงที่ตั้งอยู่ในวัยนี้ชอบมัวเมาใฝ่ใจโลเลในบุรุษเสมอ ฉะนั้น มารดาบิดาของเธอจึงให้อยู่บนปราสาทชั้น ๗ ให้นางทาสีคนหนึ่งคอยรับใช้บำรุง

          วันหนึ่ง พวกราชบุรุษจับโจรคนหนึ่งมา เฆี่ยนด้วยหวายทีละ ๔ ครั้งๆ นำไปสู่ที่ฆ่า ในลำดับนั้น ธิดาเศรษฐีได้ยินเสียงครวญครางของโจรจึงมองดูทางหน้าต่าง เห็นโจรนั้นแล้วเกิดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ อยากได้โจรนั้นมาเป็นสามี เธอจึงนอนอดอาหารอยู่บนเตียงในห้อง

          ฝ่ายมารดารู้เรื่องจึงเข้าไปหาธิดาแล้วสอบถาม ธิดาเศรษฐีนั้นจึงบอกว่า คุณแม่ พวกราชบุรุษจับโจรคนหนึ่งแล้วเฆี่ยนตีด้วยหวายไปเรื่อยๆ หากว่าลูกไม่ได้โจรคนนั้นมาเป็นสามี ลูกเห็นจะตายเป็นแน่ มารดาบิดาห้ามแล้วห้ามเล่า ธิดานั้นหาได้ยินยอมไม่ คงยืนกรานอย่างนั้น บิดาจึงให้ทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะแก่ราชบุรุษแล้วให้ปล่อยโจรมา ให้ฆ่าบุรุษอื่นแทน

          ครั้นธิดาเศรษฐีได้โจรมาเป็นสามีแล้วจึงขะมักเขม้นทำงานเพื่อให้ถูกใจสามี ปฏิบัติทุกอย่างเท่าที่ตนเองจะทำได้ เพื่อให้สามีรัก แต่แล้วสันดานโจรก็คงเป็นโจรอยู่วันยังค่ำ ครั้นพอได้โอกาสโจรก็ทำเป็นอดอาหารนอนอยู่บนเตียง ภรรยาผู้น่ารักจึงเข้าไปถามสามีด้วยความเป็นห่วงว่า พี่ พี่เป็นอะไรไป

          สามีเห็นได้โอกาสจึงรีบบอกว่า น้องรัก พี่ได้ทำพลีกรรมแก่เทวดาไว้ก่อน ที่ได้มาอยู่ร่วมกันกับน้องก็ด้วยอำนาจเทวดานั้น บัดนี้ก็ถึงเวลาทำพลีกรรมแก่เทวดาแล้ว

          โธ่พี่ เรื่องแค่นี้จะยากเย็นอะไร ของมีอยู่เต็มบ้าน พี่ต้องการอะไรก็บอกน้องมา น้องจะจัดแจงมาให้

          โจรก็กระหยิ่มอยู่ในใจว่า สิ่งที่เราต้องการจะสำเร็จวันนี้แหละ จึงได้บอกภรรยาถึงสิ่งที่ตนต้องการ

          ฝ่ายภรรยาก็กุลีกุจอ กลัวจะไม่ถูกใจสามี เมื่อจัดแจงสิ่งของเสร็จแล้วก็ได้เวลาเดินทาง สามีภรรยาพร้อมด้วยบริวารก็มุ่งหน้าไปสู่ภูเขาลูกหนึ่งอันเป็นที่ทิ้งโจร คือเขาฆ่าโจรแล้วก็นำไปทิ้งในเหวบนภูเขาลูกนั้น

          เมื่อไปถึงภูเขา โจรจึงหันมาพูดกับภรรยาของตนว่าให้บอกบริวารกลับไป ภรรยาก็บอกให้พวกบริวารนั้นกลับไป เหลือเพียงสองสามีภรรยาเท่านั้น ขึ้นไปบนยอดเขา ถึงแม้หนทางจะลำบากบ้าง นางก็อดทนเอาด้วยความรักและเป็นห่วงในสามี เมื่อถึงที่ทำพลีกรรมแล้ว นางจึงได้บอกให้สามีกระทำพลีกรรมตามความประสงค์

          แต่โจรกลับตวาดว่า ไม่ใช่เราจะทำพลีกรรมแต่อย่างใด หากแต่เราจะทิ้งเจ้าลงในเหวนี้ แล้วถือเอาสิ่งของของเจ้าเท่านั้น จงเอาสิ่งของของเจ้ามาโดยดี ฝ่ายภรรยาจึงอ้อนวอนขอชีวิตไว้ว่า หากว่าต้องการสิ่งใดในตัวดิฉันแล้ว ก็จงถือเอาสิ่งนั้นไปเถิด โจรไม่เอา กลับบอกว่าฉันจะฆ่าเธอ

          นางเห็นไม่ได้การจึงอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนอีกและกล่าวต่อไปว่า ถ้าจะฆ่าดิฉันจริงๆ แล้วละก็ ขอให้ดิฉันได้เวียนรอบสามีผู้เป็นที่รักของดิฉันสัก ๓ ครั้ง เป็นการกระทำประทักษิณสามีเสียก่อน

          โจรฟังแล้วจึงยอมตามใจของนาง เมื่อธิดาเศรษฐีได้โอกาสเช่นนั้นก็เวียนรอบสามี พอดีครบ ๓ รอบ ก็ทำทีเข้าไปกอดสามี รวบทั้งแขนซ้ายและขวาอย่างมั่นคง เมื่อนางกอดได้ที่เหมาะๆ และโจรแพ้กุศโลบายของนาง เผลอตัว นางจึงผลักโจรนั้นลงเหวตายไปอย่างน่าอเนจอนาถ

          เทวดาที่สิงอยู่ที่ภูเขานั้นได้ให้สาธุการว่า สาธุ บุรุษไม่ใช่จะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถาน แม้สตรีก็เป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถานเหมือนกัน

          ธิดาเศรษฐี ครั้นฆ่าโจรแล้วก็คิดว่า ถ้าเราจะกลับบ้าน มารดาบิดาก็คงจะลงโทษ เพราะว่าสามีนี้ มิใช่ว่าได้มาเปล่า ต้องเอาทรัพย์สมบัติแลกเอาจึงได้มา นางจึงตัดสินใจไม่กลับไปบ้าน ได้เดินทางไปในเมืองอื่น และนางได้เข้าไปสู่สำนักของปริพาชกลัทธิหนึ่ง ขอบรรพชาอยู่ในสำนักของปริพาชกนั้น พวกปริพาชกเหล่านั้นก็ให้นางบวชอยู่อย่างง่ายดาย

          ครั้นบวชแล้ว ธิดาเศรษฐีนั้นได้ถามวิธีปฏิบัติตามลัทธิของปริพาชก ทราบว่าในลัทธินั้นสอนการบริกรรมกสิณ ๑๐ จนได้ฌาน และการเรียนวาทะพันหนึ่ง

          นางคิดว่า เราคงไม่อาจที่จะทำฌานให้เกิดได้ จึงเลือกเรียนวาทะพันหนึ่ง เมื่อได้เรียนจบแล้ว พวกปริพาชกก็มอบกิ่งหว้าให้แล้วบอกให้นางออกเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อหาคนโต้วาทะ ถ้ามีผู้ที่สามารถที่จะตอบปัญหาวาทะได้ หากเป็นคฤหัสถ์ ก็ให้เป็นภรรยาของผู้นั้น หากเป็นนักบวชแก้ปัญหาได้ ก็ให้บวชในสำนักของท่าน

          นางได้เที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ จนไม่สามารถที่จะหาคนโต้ตอบปัญหากับนางได้ ชื่อเสียงของนางเป็นที่เล่าลือ เหตุนั้น นางมีชื่อว่าชมพูปริพาชิกา เพราะนางเที่ยวเอากิ่งหว้าไปปักไว้ในที่ต่างๆ ประกาศว่า ถ้าใครต้องการที่จะได้โต้ปัญหาวาทะกับนาง ก็ให้ทำลายกิ่งหว้านั้น แม้แต่พวกเด็กๆ ก็ไม่มีใครกล้าทำลาย

          วันหนึ่ง นางได้เอากิ่งหว้าไปปักไว้ที่กองทรายใกล้กับประตูเมือง ขณะนั้นเวลาเช้า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาต ไปถึงที่นั้นแล้วเห็นกิ่งไม้นั้นจึงถามพวกเด็กๆ ดู พอทราบความแล้วก็สั่งให้พวกเด็กๆ ทำลาย พวกเด็กๆ ก็ทำตาม นางมาถึง มีความโกรธเป็นกำลังที่ถูกพวกเด็กๆ ทำลายกิ่งไม้ของตนที่ปักไว้ พวกเด็กจึงบอกว่า พระเถระเป็นผู้ใช้ให้ทำลาย นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นดีแล้ว เราจะได้ถามปัญหากับพระเถระ

          ประชาชนชาวเมืองสาวัตถีก็ได้มีความแตกตื่น เพราะจะได้ฟังสองบัณฑิตโต้ปัญหากัน จึงพากันมาฟังเป็นจำนวนมาก ครั้นได้โอกาส นางปริพาชิกาจึงเริ่มถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรเถระเจ้า นางถามจนหมดวาทะพันหนึ่งที่ตนได้ร่ำเรียนมา พระสารีบุตรเถระเจ้าก็แก้ได้ทั้งหมด นางจึงอ่อนใจ

          ดังนั้น พระเถระเจ้าจึงได้ถามเป็นปฐมปัญหาแก่นางว่า อะไรชื่อว่าพุทธมนต์

          นางตอบปัญหาของพระเถระเจ้าไม่ได้เลย จึงขอบวชในสำนักของท่าน ท่านส่งไปในสำนักของนางภิกษุณี บวชแล้วได้มีชื่อว่า กุณฑลเกสีเถรี นางได้ทำความเพียรโดยที่ล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔

          วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า การฟังธรรมของนางกุณฑลเกสีเถรีมีนิดเดียวเท่านั้น ทำไมจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนาเรื่องอะไรกัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้น พระองค์จึงตรัสว่า

          ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เรากล่าวแล้ว พวกเธออย่าได้กำหนดว่าน้อยหรือมาก บทตั้งร้อยบทที่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ประเสริฐ สู้บทแห่งธรรมที่ประกอบด้วยประโยชน์แม้บทเดียวก็ไม่ได้

          นางกุณฑลเกสี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะว่านางได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ปลงปัญญาลงสู่ไตรลักษณ์ คือได้พิจารณารูปนามให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น จึงสามารถได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นขันธวิมุตติพ้นจากขันธ์ ๕ เป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

          เหตุนั้น พวกเราประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมกันทุกวันนี้ สิ่งที่เราต้องการก็คืออยากพ้นไปจากเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาชาติเดียวก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้ดี เป็นผู้น้อยก็ทุกข์สมผู้น้อย เป็นผู้ใหญ่ก็ทุกข์สมเท่ากับผู้ใหญ่ เป็นสามเณรก็ทุกข์เท่ากับฐานะที่เป็นสามเณร เป็นพระก็ทุกข์เท่าเป็นพระ เป็นหลวงปู่หลวงตา ก็ทุกข์สมเท่ากับหลวงปู่หลวงตา

          อีกอย่างหนึ่ง เป็นครูบาอาจารย์ผู้บริหารเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ก็ต้องมีความทุกข์มากขึ้น เป็นแม่ชีก็มีความทุกข์มากเหมือนกัน ไหนจะทำนั้นทำนี้ ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี ๓ ต้องทำกับข้าว นึ่งข้าวปรุงอาหาร เพื่อจะถวายแก่พระสงฆ์สามเณร เสร็จแล้วก็ต้องขัดต้องล้าง อยู่ในวัดก็ต้องทำ ออกจากวัดไปอยู่บ้านเราก็ทำกันอยู่อย่างนี้ ไม่มีเวลาไหนที่จะไม่มีความทุกข์ ยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดทั้งวันทั้งคืน มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น

          เราเกิดมาชาติเดียวนี้ เราก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว ยิ่งมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ความทุกข์ก็มีมากขึ้น บางทีเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เงินทองที่จะรักษาพยาบาลก็ไม่มี บางทีมีครอบครัวก็ต้องหย่าร้างกัน ต้องทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน ต้องแตกร้าวสามัคคีกัน ต่างคนต่างอยู่ บางทีสามีจากไป ลูกตั้งห้าคนหกคน ไหนจะต้องหาเลี้ยงลูก ไหนจะเลี้ยงตนเอง

          การเกิดมาภพชาติเดียวนี้เป็นทุกข์เหลือเกิน เป็นทุกข์เหลือทนจริงๆ ส่วนมากคนทั้งหลายไม่ได้คิดกัน เหตุที่ไม่คิด ก็เพราะว่ามีเครื่องกีดกัน มีเครื่องกำบังอนิจจังความไม่เที่ยง

          อะไรบังไว้ ? สันตติ ความสืบต่อปิดบังอนิจจังไว้ ทำให้เรามองไม่เห็น

          สมมุติว่า ผมของเรา ถ้าไม่ได้ตัดออก จะยาวแค่ไหนเพียงไร ของทุกอย่างเป็นของใหม่หมด ของเก่าหายไป ของใหม่เกิดขึ้น หรือว่าเล็บอย่างนี้ มีแต่ของใหม่ ของเก่าหมดไปแล้ว ตั้งแต่เป็นเด็กมันหมดไปแล้ว กี่วันเราตัดเล็บ ๕ วัน ๖ วัน เราตัดเล็บทิ้งไปเรื่อยๆ เรามองครั้งใดๆ ก็เห็นแต่เล็บเท่าเดิม แต่ว่ามันเป็นของใหม่ ของเก่าหมดไปแล้ว

          สันตติ มันสืบต่อกันไว้อย่างนี้ ผมก็เหมือนกัน เส้นเก่าหมดไป เหลือแต่เส้นใหม่เท่านั้น เนื้อหนังของเราก็เหมือนกัน เซลล์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแรกหมดไปๆ เซลล์ใหม่เกิดแทนขึ้นมา เป็นอยู่อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ความเป็นเด็กหายไป ความเป็นหนุ่มเป็นสาวเกิดขึ้นมาแทน ความเป็นหนุ่มเป็นสาวหายไป ความเป็นคนแก่เกิดขึ้นมาแทน สันตติสืบต่อกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เราเลยไม่เห็นอนิจจังความไม่เที่ยงของสังขารซึ่งเปลี่ยนแปลงไป

          อีกอย่างหนึ่ง ลมหายใจเข้าหายใจออกอย่างนี้ ก็สืบต่ออยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็หายใจออก ลมที่หายใจเข้าไปเก่าหมดไปๆ ลมที่หายใจเข้าไปใหม่ก็ทดแทนอยู่ตลอดเวลา

          คนส่วนมากไม่ได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จึงไม่สามารถจะเห็นอนิจจังได้ เพราะถูกสันตติปิดบังไว้ ที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เพื่อให้เห็นสันตติ เพิกสันตติออก

          นอกจากอนิจจังแล้วก็ยังเป็นทุกขัง คือทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ เราอยากให้อยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็อยู่ไม่ได้ เราอยากจะเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็อยู่ไม่ได้ อยากมีความสุขความสบายตลอดไป ก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับพระอาทิตย์อุทัยขึ้นในตอนเช้า แล้วก็ผ่านไปๆ เคลื่อนไปๆ และก็อัสดงไปในเวลาเย็น ข้อนี้ฉันใด รูป นาม ขันธ์ ๕ ก็เหมือนกันฉันนั้น เราอยากอยู่อย่างนี้ตลอดไปก็อยู่ไม่ได้

          แต่พวกเราส่วนมากมองไม่เห็น เพราะเหตุไร เพราะว่าอิริยาบถทั้ง ๔ ปิดบังไว้ จึงไม่เห็นทุกข์ นั่งนานเข้าเป็นทุกข์ เราก็ลุกขึ้นยืน ยืนนานเป็นทุกข์ ก็เปลี่ยนเป็นเดิน เดินนานไปเมื่อยก็เปลี่ยนเป็นนั่ง นั่งนานเกินไปเมื่อยอีก ก็นอน นอนนานเมื่อยก็ลุกขึ้น

          อิริยาบถทั้ง ๔ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยืนเดิน นั่ง นอนอยู่อย่างนี้ เมื่อเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ บังอยู่อย่างนี้ เราเลยไม่เห็นตัวทุกขัง เมื่อไม่เห็นทุกขัง ก็เหมาเอาว่าเป็นสุข เกิดมาแล้วมีความสุข

          สำหรับอนัตตาก็เหมือนกัน คนส่วนมากถ้าไม่ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว จะไม่รู้ไม่เห็นตัวอนัตตา เพราะอะไร เพราะว่าคนเราเกิดมาก็มีความสำคัญอยู่อย่างหนึ่งว่า ร่างกายนี้เป็นก้อน เป็นตัว เป็นตนที่เรียกว่า ฆนสัญญา และยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรามาเจริญกัมมัฏฐานแล้ว จะเห็นว่าไม่เป็นเรา ไม่เป็นของเรา ถ้าเราได้เรียนเรื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาแล้วปฏิบัติพร้อมกันไป จึงจะเห็นว่า รูปนามขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงแต่รูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น

          เมื่อใด เราสามารถเพิกเครื่องปิดบังพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ได้แล้ว เราก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดด้วยปัญญา พร้อมทั้งเห็นอริยสัจ ๔ ควบคู่กันไปด้วย และในขณะเดียวกัน วิโมกข์ ๓ ก็จะเกิดขึ้นมา ทั้งที่เป็นอนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และสุญญตวิโมกข์

          เมื่อใด เรามีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน จนสามารถเพิกสันตติ เพิกอิริยาบถ และเพิกฆนสัญญา ให้หมดไปจากจิตใจของเรา ให้มีแต่ปัญญาแจ่มแจ้ง สว่างไสว ได้เกิดญาณ คือเริ่มแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ไปตามลำดับๆ จนถึง มัคคญาณ ผลญาณแล้ว ชื่อว่าทำลายเครื่องปิดกั้นได้เต็มที่ และในขณะเดียวกันก็จะเห็นอริยสัจ ๔ พร้อมทั้งวิโมกข์ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้น เราก็จะสามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

          เหตุนั้น ท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อย่าได้เข้าใจว่า การกำหนดบทกัมมัฏฐานนี้เป็นของทำเล่น ท่านให้กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ให้กำหนด

          เมื่อกำหนดอย่างนี้ นอกจากจะเป็นการทำลายตัวอุปาทานแล้ว ยังเป็นกุศโลบายทำลายเครื่องปิดกั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้หมดไป เมื่อใดเราทำลายเครื่องปิดกั้นพระไตรลักษณ์ได้หมดไปแล้ว เมื่อนั้นแหละ เราจึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไปได้.