แนะแนวทางการปฏิบัติ (๔)
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ขอกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ วันนี้ รู้สึกซาบซึ้ง ยินดี ปีติ ตื้นตันใจ เป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้จัดพิธีปฏิบัติธรรม ก็นับว่าท่านทั้งหลายมีจิตใจกว้างขวาง
เพราะผู้ที่มาปฏิบัติธรรมนี้ อยู่หลายจังหวัด ไม่ใช่ว่าอยู่เฉพาะจังหวัดอำนาจเจริญ และก็หลายๆ จังหวัดรวมกัน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
แต่ก่อนที่จะบรรยายธรรมะ หรือชี้แนะแนวทางของการปฏิบัติธรรม ก็ขอปรับความเข้าใจบางสิ่งบางประการ เผื่อว่าจะได้สะดวกแก่การฟังแก่การพูด หากว่าท่านผู้ใด หลวงปู่ หลวงตา หรือว่าอุบาสก อุบาสิกา มีอายุพรรษาตั้งแต่ ๗๐ กว่าไป ๗๓, ๗๔, ๗๕ ก็ขอยกไว้เป็นพ่อเป็นแม่ ฟังคำอะไรที่พูดไปก็ขอให้เข้าใจว่า วันนี้เราเป็นพ่อเป็นแม่ สำหรับท่านรูปใดที่อายุพรรษาอ่อนกว่า ๔๓ ปี ก็ถือว่าเป็นลูกศิษย์ลูกหา
ขอสรุปเอาสั้นๆ ว่า ไหนๆ เราก็จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันแล้ว ก็ขอใช้คำรวมๆ กันว่า หลวงพ่อ ก็แล้วกัน ในขณะที่เราฟังอยู่นี้ เราเป็นลูก เราเป็นโน้นเป็นนี้ ก็สมมติในจิตในใจเอา แต่ในขณะที่นั่งฟังอยู่ ก็ถือว่า ตอนนี้หลวงพ่อเป็นพ่อเป็นแม่ เราเป็นลูกเป็นหลาน ก็คิดเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน
ก่อนที่จะกล่าวธรรมะเพื่อเป็นการฉลองศรัทธาปสาทะของท่านทั้งหลาย ก็ขอปรับความเข้าใจเป็นบางสิ่งบางประการ โดยเฉพาะการพูดจาปราศรัย หลวงพ่อนั้นเป็นพระลูกทุ่ง ภาษาอีสาน พูดจาปราศรัยอะไร บางทีบางครั้งก็จะเป็นถ้อยคำที่ฟังไม่รื่นหู ก็ขออภัยหลายๆ ด้วย
อีกอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่หลวงพ่อเบื่อ (แพ้) แตงโม ตั้งแต่โน้นมาจนถึงบัดนี้ ประสาททางการพูดกระท่อนกระแท่น ภาษาที่เขาเรียกว่า ลิ้นพัน เหตุนั้น ถ้อยคำอันใดที่ฟังมาแล้วไม่รื่นหู ก็ขอให้นึกว่าเป็นสภาวะของสังขารก็แล้วกัน
สำหรับวันนี้ การปฏิบัติธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น พวกท่านทั้งหลายก็ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว เท่าที่สังเกต ทุกท่านถือว่าปฏิบัติกันมาพอสมควรแล้ว เว้นไว้แต่บางท่าน ในชีวิตนี้ที่ยังไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติรุ่นก่อนก็ถือว่าให้โอกาสให้เกียรติผู้ที่มาทีหลัง สำหรับการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น เราท่านทั้งหลายเข้าใจอยู่แล้วว่า ท่านปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ท่านทั้งหลายก็รู้มาแล้ว
เพราะว่า แนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมโดยพิสดารนั้น มีหลายสิ่งหลายประการ ถ้าคิดเป็นสำนักๆ แล้วก็มีอยู่เกือบ ๒๐ สำนัก (หรือ ๒๐ แนวทาง) การปฏิบัติหรือกุศโลบายของผู้ปฏิบัติของผู้เป็นครูบาอาจารย์นั้นไม่เหมือนกัน แต่ผลที่ต้องการนั้นเหมือนกันหมด คือต้องการให้ทุกคนนั้นได้พ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน แม้จะใช้ คำบริกรรม อย่างไรๆ ก็แล้วแต่ จุดหมายปลายทางเหมือนกันหมด แต่จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ปฏิปทาหรือบุญวาสนาบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมมา
ส่วนการภาวนา ถ้าเราได้รู้ได้เข้าใจแล้ว แม้เราจะภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่เราไม่อยากตายนะ แต่เราใช้คำบริกรรมว่า อยากตายหนอๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิให้ได้ฌาน ผลสุดท้ายสติปัญญาแก่กล้า ก็สามารถที่จะได้ถึงมรรคถึงผลได้เหมือนกัน
สมมติว่าเรานั่งอยู่บนสาดบนเสื่อน้ำมันนี้ เรามองดูบริกรรมว่า เห็นหนอๆ เพ่งอยู่ เพ่งไปๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌานเหมือนกัน หลวงพ่อได้ทดลองดูบางคนก็ได้สมาธิได้ฌานถึง ๒๔ ชั่วโมง หรือว่าเราจะใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง ก็ดี อิติปิ โส ภควา พองหนอ ยุบหนอ หรือจะใช้คำว่าอะไรก็ตาม
การบริกรรมการภาวนามันแตกต่างกันอยู่ ทั้งนี้ก็แล้วแต่กุศโลบายของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ แต่เมื่อสรุปแนวทางของการปฏิบัติ ทุกคนทุกท่านต้องการผลของการปฏิบัติเหมือนกัน คือต้องการจะพ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลนิพพาน
สำหรับพวกเราทั้งหลาย ที่ใช้คำภาวนาอยู่ในขณะนี้ ส่วนมากเราใช้สติปัฎฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะเหตุไรจึงใช้สติปัฏฐาน ๔ เพราะว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นธรรมที่ครอบจักรวาล เป็นธรรมหรือบทปฏิบัติที่รวมยอด ผู้ใดจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ตาม จะเป็น ๑๐ สำนัก ๑๐๐ สำนักก็ตาม แต่เมื่อรวมลงไปแล้วก็รวมลงในจุดเดียวกันคือ สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
สมมติว่า เรากำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ รสหนอ ถูกหนอ ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม หมายความว่า สิ่งใดที่เราสามารถสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นรูปธรรม สิ่งใดที่ไม่สามารถสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้ว่า สิ่งใดที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ก็คือ ใจ ของเรา ใจนี่เป็นนามธรรม
สรุปแล้วว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราเอารูปเอานามเป็นอารมณ์ สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เมื่อย่อลงไปแล้ว ก็มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น เช่นว่า อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม สำหรับใจที่รู้ ก็ถือว่าเป็นนามธรรม
ก็เป็นอันว่าสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เมื่อรวมกันแล้วได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรมเท่านั้น หากว่าจะขยายออกไปมากกว่านี้ เช่น เวทนานี้ เวลาเราเจริญพระกัมมัฏฐานว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ สุขหนอ เฉยหนอ อันนี้เป็นรูปเป็นนามอยู่ด้วยกัน เช่นว่า มันเจ็บก็ดี ปวดก็ดี เฉยก็ดี อันนี้ใครเป็นผู้เฉย ใจของเราเป็นผู้เฉย ใจนี้ก็ถือว่าเป็นนามธรรม หรือว่าเรากำหนด คิดหนอๆ ใครเป็นผู้คิด ใจของเราเป็นผู้คิด เราก็กำหนด คิดหนอๆ ก็ถือว่าเป็นนามธรรม สำหรับธรรมทั้งหลายทั้งปวง ธรรมที่เป็นกุศลก็ดี ธรรมที่เป็นอกุศลก็ดี เช่น ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี มันเป็นนามธรรม
หากว่าเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ สิ่งที่ได้ผลเร็วที่สุด คือเราใช้ จิตตานุปัสสนา เช่น เรากำหนดคิดหนอๆ ผู้ต้องการฌานต้องการสมาธินั้นจะได้ก่อนเพื่อน เพราะเหตุไร เพราะว่าเมื่อเราควบคุมระบบความคิดแล้ว เมื่อเราควบคุมได้แล้ว ความคิดของเราจะน้อยลงไปๆ ถ้าว่าเรากำหนด คิดหนอๆ ความคิดของเรามันจะหยุดลงไป เมื่อมันคิดใหม่ เราก็กำหนดใหม่ เรากำหนดได้ มันก็หมดพลังไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้
หากว่าในขณะเจริญพระกัมมัฏฐานมันคิดมากเกินไป เราก็พยายามกลั้นลมหายใจ เรากลั้นใจไว้ ประมาณสัก ๔ สัก ๕ หรือสัก ๓๐ วินาที หรือว่า ๔๐ วินาที แล้วค่อยๆ ปล่อยลมไปๆ หากว่ามันคิดอีก เราก็กลั้นใจไว้อีก มันคิดอีก กลั้นใจไว้อีก ไม่ช้าไม่นาน มันก็อ่อนกำลังลง ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้
หรือว่ายังไม่หาย ถ้าปานนี้มันยังไม่หายก็ลงน้ำไปเลย ดำอยู่ในน้ำนั่นแหละ เพราะอะไร เพราะว่าคนดำน้ำอยู่นั้นมันไม่คิด คิดไม่ได้ นี้วิธีที่จะทำลายความคิดเราให้อ่อนกำลังลงไป แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิ การเจริญพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ผลที่ได้ เมื่อสรุปลงแล้ว บางท่านที่ได้สร้างสมอบรมบารมีมาในการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน หรือว่าท่านทั้งหลายที่เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อน ตั้งแต่โน้น ตั้งแต่หลายปี หลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เราเจริญสมถกัมมัฏฐานมามาก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌานก่อน
แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมามาก คือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พ้นทางวิปัสสนา ทั้งๆ ที่ใช้คำบริกรรมเหมือนกัน คือ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ เหมือนกันหมด
แต่ว่าผลที่ออกมานั้น ไม่เหมือนกัน แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา ถ้าผู้ใดเคยบำเพ็ญในทางสมถกัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌาน ถ้าเคยเจริญวิปัสสนามาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้มรรคได้ผล แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา
ท่านทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานอยู่หรือ ในสมัยนี้ยังมีผู้ได้มรรคได้ผลอยู่หรือ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ เพราะเท่าที่ไปสอนธรรมะหลายๆ แห่ง กระแสต่อต้านก็มีหลายแห่งเหมือนกัน ส่วนมากผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อนเขาเห็นว่าสมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ผู้ได้ฌานไม่มี และคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เขาก็คิดกันอย่างนี้ เขาคิดว่า มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ผู้ได้ฌานได้สมาบัติไม่มี
แต่เรื่องนี้ก็พอจะชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่หลวงพ่อสอนกัมมัฏฐานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้ ผู้ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผู้ที่ได้สมาธิได้ฌานนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่นปีที่ผ่านมา ที่บ้านอีเติ่ง ก็มีผู้ทำสมาธิทำฌานได้ มีถึง ๓๐๐ เศษๆ เข้าได้ออกได้ตามอำนาจกำลังสมาธิของใครของมัน แล้วก็เอามาฝึกให้ทำสมาธิได้ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็ ๓๐ ชั่วโมง ที่บ้านอีเติ่ง
นอกจากนี้ สำนักหรือวัดต่างๆ ที่หลวงพ่อไปเทศน์ไปสอน ก็รู้สึกว่ามีผู้ที่สามารถทำสมาธิได้เป็นจำนวนมาก เป็นอันว่า เมื่อเราฟังมาถึงนี้ ก็ถือว่าหมดปัญหาที่จะคัดค้าน ในเมื่อผลของการปฏิบัติปรากฏอยู่อย่างนี้
ส่วนท่านทั้งหลายจะคัดค้านก็ถือว่าเป็นบาปเป็นบุญของท่าน หรือว่าท่านจะคัดค้านก็เป็นเรื่องของท่าน ท่านจะรักษาทิฏฐิมานะนี้ไว้ตลอดชีวิต หรือภพหน้าชาติหน้าก็จะรักษามิจฉาทิฏฐิไปก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย อันนี้ก็แล้วแต่เจตนารมณ์ของท่านผู้ปฏิบัติธรรม
แต่สำหรับผลของวิปัสสนานั้นเราบอกกันไม่ได้ เพราะรู้เฉพาะตน เพราะว่าผลของวิปัสสนานั้น หากว่าเราจะเอามาประกาศเอามาโฆษณาว่า ผู้นั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ฉันได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้วนะ ผู้นั้นเป็นสกทาคามีแล้ว โน้นสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าเราทำอย่างนี้คนก็หมั่นไส้ คนอื่นก็หมั่นไส้ เขาก็หาว่าเราอวดอุตริมนุสธรรม
เหตุนั้น เราจึงพูดกันในลักษณะอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราสังเกตเอากิริยาอาการต่างๆ การไปการมา การพูดจาปราศรัย สังเกตให้มากๆ หน่อยว่า กิเลสเขามีมากน้อยแค่ไหน เพียงใด เราก็สังเกตได้
หากพูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายยังไม่สบายใจ หรือไม่ปักใจเชื่อ หลวงพ่อก็จะขอน้อมนำเอาธรรมะที่กล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาคที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ (ดูเรื่อง องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม)
ท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ บางท่านก็ไม่เชื่อ เพราะเหตุใด เพราะว่าเราได้ฟังตำรับตำราของครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านแต่งมาเขียนมา (ในยุคหลังๆ) เช่นว่าหนังสือความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นมีตอนหนึ่งว่า พระศาสนาล่วงเลยไปถึง พ.ศ. นั้น เป็นอย่างนั้นๆ เป็นต้น มีเขียนแทรก(เพิ่มเติม)อยู่ในหนังสือนั้น ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ หรือศึกษามาน้อยก็จะเชื่อว่า สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพาน
มีโยมคนหนึ่งที่มาทอดกฐินที่วัดหลวงพ่อ ทั้งๆ ที่เขาเป็นเจ้าภาพที่จะทอดกฐิน มาทีไรๆ ก็จะพูดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพานดอก สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพาน อย่าคิดอะไรให้ลำบาก เอาแต่เพียงให้ทานรักษาศีลก็พอแล้ว เขาก็พูดอยู่นั่นแหละ
เพราะว่าตอนที่จะทอดกฐินก็ได้คุยกันไม่กี่ครั้ง หลวงพ่อก็คิดว่า เอ เราจะเอาอย่างไรหนอ หากว่าเราไม่สามารถจะทำลายทิฏฐิมานะของโยมคนนี้ได้ เราก็จะไม่รับกฐินเลย รับไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าเขายังเป็นเจ้ามานะทิฏฐิอยู่
พอดีใกล้ๆ วันจะทอดกฐิน เขาก็มาพูดอีกว่า หลวงพ่อ สมัยนี้มรรคผลนิพพานไม่มีดอก พระโสดาบันก็ไม่มี พระสกทาคามี พระอนาคามีก็ไม่มี หลวงพ่อก็เลยได้โอกาส ก็เลยถามว่า คุณโยมเคยปฏิบัติมาหรือยัง คุณโยมได้ปฏิบัติมาหรือไม่ ตอบว่าไม่เคยปฏิบัติมา ถ้าว่าไม่เคยปฏิบัติจะรู้อย่างไรว่า มรรคผลนิพพานไม่มี เขาก็เก้อ เขาก็พูดไม่ได้ หลวงพ่อก็เลยบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ (๑) อย่าเพิ่งปฏิเสธ (๒) อย่าเพิ่งรับ ทุกสิ่งทุกอย่าง หากว่าเราไม่พิสูจน์ด้วยตัวเองก็อย่าเพิ่งเชื่อ หรืออย่าเพิ่งปฏิเสธ ขอให้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาตริตรองเสียก่อน แล้วจึงตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ ผลสุดท้ายโยมที่จะมาทอดกฐินนั้นก็ยอมแพ้ ละทิฏฐินั้น
เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้ปัญญาพิจารณาตริตรองให้รอบคอบว่า เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย แต่หลวงพ่อเชื่อ
เพราะเหตุไร หลวงพ่อจึงเชื่อ
เพราะว่าองค์สมเด็จพ่อท่านตรัสไว้
ท่านตรัสไว้ที่ไหน
ท่านตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เรื่องมรรคเรื่องผล ในสูตรนั้นบ้าง สูตรนี้บ้าง เหตุนั้น หลวงพ่อจึงเชื่อ ตกลงก็เป็นอันว่า สมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพาน มีอยู่นะท่านทั้งหลาย เพราะหลวงพ่อได้พยายามแนะนำพร่ำสอน แนะนำพร่ำเตือนลูกศิษย์ลูกหามาหลายๆ พันรูป หลายพันคนแล้ว
สมัยนี้สมาธิสมาบัติก็ยังมีอยู่ เพราะว่ายังมีผู้สามารถทำสมาธิทำฌานได้ ตั้งแต่ ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมงไปจนถึง ๗๒ ชั่วโมง ก็ยังมีอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ได้ผลทางวิปัสสนา ก็พอที่จะเห็นได้ พอที่จะสังเกตได้ จะสังเกตได้จากลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัตินั้น ว่าคนนี้ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงใด เราพอที่จะพิสูจน์ได้ เมื่อพิสูจน์ได้อย่างนี้ ก็พอที่จะพิสูจน์ได้ว่า สมัยนี้ยังมีมรรคผลนิพพานอยู่
ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน เราอยู่ไม่เหมือนกัน บางท่านก็เป็นครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์ บางท่านก็เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา แต่คำภาวนาคำบริกรรมนี่ เราใช้เหมือนกันหมด มันจะได้มรรคผลนิพพานอย่างไร ท่านทั้งหลาย การภาวนานั้นจะใช้คำไหนอย่างไรก็ตาม จะเป็นพระก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกา สามเณรก็ตาม ได้ผลเหมือนกันหมด บางทีก็จะคิดว่า เอ หลวงพ่อชักพูดไปกันใหญ่แล้ว มันได้ผลเหมือนกันอย่างไร
ท่านทั้งหลาย เราเจริญพระกัมมัฏฐาน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนออยู่นั้น อะไรมันเกิด สติของเรามันเกิดแล้ว นี่สติของเรามันจะสมบูรณ์ขึ้นๆ
เมื่อสติของเราสมบูรณ์มีพลังมีอำนาจ เราก็เอาสตินี่แหละไปทำลายกิเลสตัณหา ก่อนที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานนั้น เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ
๑. อนิจจัง สภาวธรรมที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป
๒. ทุกขัง สภาวธรรมที่เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
๓. อนัตตา สภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันแล้ว ในขณะที่เราเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ก็จะคิดจะนึกจะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไป ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ ๑ ขณะจิตคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดมาพิจารณาพระไตรลักษณ์ ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพอารมณ์พระไตรลักษณ์ เสวยอารมณ์พระไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป
หมายถึงว่า มาถึงชวนจิตดวงที่ ๕ เป็นจิตที่เสวยอารมณ์พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันกับเราได้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาทมา ใบละ ๑,๐๐๐ บาทนั้นเป็นของมีราคาค่างวด เราต้องใคร่ครวญตริตรอง พิจารณาว่ามันปลอมไหม มันใช้ได้ตามกฎหมายไหม เราก็พลิกไปพลิกมา กลับหน้ากลับหลังดูว่า เออ มันใช้ได้ตามกฎหมาย แล้วก็เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ข้อนี้ฉันใด
เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามลำดับๆ จนถึงจิตดวงที่ ๕ แล้ว เมื่อจิตดวงที่ ๕ ดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเก็บลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เมื่อลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๗ ก็จะรักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์ไว้ในภวังค์ หรือว่า ภวังค์นี้เป็นผู้รักษาพระไตรลักษณ์
สรุปแล้วว่า สมมติเราทำบาป เช่นว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็จะ ปวัตติ ไป คือหมุนไปตามวิถีของจิต ตั้งแต่จิตดวงที่ ๑ จนถึงดวงที่ ๗ แล้วภวังคจิตก็จะรักษาบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไว้ และบาปที่อยู่ในภวังคจิตนั้นก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปทำลายได้ เราจะทำลายด้วยการให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เมตตา ภาวนา ก็ไม่สามารถที่จะทำลายได้ มันก็อยู่ในจิตในใจของเรานั้นตลอดเวลา
ทีนี้ทำอย่างไรเราจะทำลายมันได้ มีหนทางเดียวท่านทั้งหลาย คือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์แล้ว บุญกุศลที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์นี่แหละก็จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ในภวังคจิต ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน มันทำลายกันอยู่ตรงนี้
ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า
หลวงพ่อ มันเชื่อไม่ได้ๆ จะเชื่อได้หรือไม่ได้ ก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย ขอร้องแต่ว่าให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไปเถอะ
ผลสุดท้ายแล้วก็จะรู้เองว่า มันทำลายกันได้อย่างไร คือเมื่อเราทั้งหลายเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ
เช่น กำหนดพองหนอยุบหนอไปอย่างนี้
เราจะสังเกตได้ง่ายๆ
ว่าเมื่อเราปฏิบัติไปๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา
มันจะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ อ่อนกำลัง
ลงไปๆ เช่นว่า คนที่ชอบโกรธ ผลสุดท้ายก็ไม่โกรธ คนที่อยากได้ด้วยความทะยานอยากที่ว่าตัณหามาก
เมื่อปฏิบัติไปอย่างนี้ความอยากได้มันจะอ่อนกำลังลงไปๆ เรื่อยๆ
ผลสุดท้ายมันก็หมดสิ้นเชื้อสิ้นยางไป ด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา
นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำลายบาปที่ท่านกล่าวว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ที่ติดตามมาแต่หลายภพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ มันจะหมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะรู้ได้ว่า การปฏิบัติธรรมของเราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงใด แต่ว่าท่านทั้งหลายต้องมีองค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติ เมื่อไม่มีองค์คุณสมบัติ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล
เหมือนกับคนที่ต้องการจะทำปริญญา เช่นว่า ต้องการที่จะเป็นผู้บริหาร เป็นครู อะไรทำนองนี้ เราต้องเรียนให้จบเสียก่อน จึงจะสามารถเป็นครูได้ จึงจะทำงานประเภทนั้นๆ ได้ แต่ถ้าเราเรียนไม่จบ เขาประกาศว่า ต้องการปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่เราไม่ได้ปริญญาอะไร ก็เป็นครูกับเขาไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด เราก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าไม่มีองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี้ ก็ปฏิบัติไม่สำเร็จ
องค์คุณของนักปฏิบัติธรรมนั้น มีอยู่ ๔ ประการคือ
๑. ฉันทะ ความพอใจในการปฏิบัติ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม พอใจเดินจงกรม พอใจนั่งสมาธิ พอใจในการกำหนด
๒. วิริยะ แข็งใจปฏิบัติ การปฏิบัติจะลำบากยากเย็นเพียงใดก็แข็งใจ กัดฟัน อดทนต่อสู้ ยอมตายดาบหน้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมลดละการปฏิบัติเป็นอันขาด เป็นนักปฏิบัติใจสิงห์
๓. จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจกำหนด คือเราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด จะทำกิจใดๆ ก็ตาม เราก็พยายามตั้งใจกำหนดตามอิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันก็ไม่ได้ผลอะไร คือ เห็นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ได้กลิ่นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ได้รสก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กายถูกต้อง อาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เมื่อเราปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การปฏิบัติมันก็ไม่ได้ผล เรียกว่าไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติ คือไม่ตั้งใจ
๔. วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ
เมื่อเราตั้งอยู่ในองค์คุณของการปฏิบัตินี้ การปฏิบัติของเรามันก็ได้ผล
ต่อไปก็ ขอเตือนสติ ท่านทั้งหลายว่า การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ
๑. เราต้องมีศรัทธา พูดง่ายๆ ว่าต้องเป็นนักปฏิบัติใจสิงห์ และสิ่งใดที่จะทำให้เกิดศรัทธา เราก็หาวิธีที่จะทำให้เกิดศรัทธา เพราะว่าคนเรานี้ ถ้าไม่มีศรัทธาแล้วจะทำอะไรมันก็ไม่ได้ผล เรียนก็ไม่ได้ผล เช่นว่า เรียนบาลีประโยคนั้นประโยคนี้ ถ้าไม่มีศรัทธาก็เรียนไม่จบ ผู้ทำการงานแผนกนั้น แผนกนี้ ถ้าไม่มีศรัทธา การทำงานก็ไม่ได้ผล
สรุปว่า งานทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นงานทางโลกก็ตาม ทางธรรมก็ตาม หากไม่มีศรัทธา ผลก็ไม่เกิด แต่ถ้ามีศรัทธาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เหลือวิสัย งานทุกอย่างก็สามารถที่จะทำสำเร็จได้ เช่น พวกเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ ถ้าว่าเรามีศรัทธาความเชื่อมั่นแล้ว ผลของการปฏิบัติมันก็เกิดมาเป็นธรรมดา
๒. อย่าเร่งจนเกินไป หมายความว่า อยากได้มากเกินไป เช่นว่า เดินจงกรมจะให้ได้สมาธิ เดินจงกรมให้ได้มรรค ผล นิพพาน หรือเดินจงกรมในขณะนี้จะได้ตาทิพย์ รู้วาระจิตผู้อื่น ดังนี้เป็นต้น ก็อย่าเร่งเกินไป
ถ้าเราเร่งจนเกินไป ต้องการที่จะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ เดินจงกรมจะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ นั่งสมาธิจะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ หรือว่านั่งสมาธิไป จะให้ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ นั่งสมาธิไปจะได้เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้ว นั่งสมาธิไปจะได้เห็นเทพบุตร เทพธิดา เห็นพระอรหันต์ เห็นพระพุทธเจ้า หรือนั่งสมาธิจะเห็นพระอินทร์ อะไรทำนองนี้ เรียกว่า เราเร่งเกินไป
หากว่าเราเร่งเกินไป อะไรมันเกิดขึ้น คือสติของเราไม่สมบูรณ์ ถ้าเป็นคนคิดมาก สติของเราก็ไม่สมบูรณ์ สติไม่มี นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่องเหตุนั้น การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่เราอย่าเร่ง ถ้าเราเร่งเกินไป ใจของเราก็ไม่สงบ เราก็ไม่สามารถควบคุมจิตของเราได้
๓. อย่าหย่อนเทิบทาบจนเกินไป ถ้าเราหย่อนเทิบทาบจนเกินไป เช่นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเราปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็ไม่ได้ผล
๔. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษนี้ ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน ที่มาปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ไม่ได้อะไรเลย มิหนำซ้ำจะทำให้เป็นบ้า เพราะว่าคนคิดมากนี่จะเป็นบ้า คนที่เป็นบ้าเพราะคิดมาก เหตุนั้น ผู้ที่มาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่อยากเป็นผู้วิเศษนั้น ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน มันไม่ได้ผล มิหนำซ้ำก็เกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา
เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจแนวทางปฏิบัติโดยย่อที่หลวงพ่อได้น้อมนำมาบรรยายถวายความรู้ ขอให้ท่านทั้งหลาย ได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาแนวทางของการปฏิบัติ
หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมะมาโสรจสรงองค์ศรัทธาชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.