การปรับปรุงจิต

การปรับปรุงจิต

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง การปรับปรุงจิต เพื่อจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ได้ผลตามที่เราตั้งใจไว้

          การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ หากว่าเราไม่รู้จักการปรับปรุงจิต ไม่รู้จักการยักย้าย หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ฉลาดในการปฏิบัติแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้บรรลุสามัญผลตามที่เราต้องการได้

          เหตุนั้น จึงจักนำเรื่อง การปรับปรุงจิต มาบรรยายเพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

          การปรับปรุงจิตนั้น ดังนี้คือ

          ในขณะที่เราเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาอยู่ รู้สึกว่าจิตไม่ผ่องแผ้วมั่นคง เช่น มักจะเผอเรอ ท้อถอย ใจไม่สงบ สมาธิหย่อน จิตฟุ้งซ่าน ใจคอเหี่ยวแห้ง รู้สึกโงกง่วง หรือจิตใจยึดมั่นในตัวตน และไม่สามารถที่จะพิจารณากำหนดให้อารมณ์เหล่านี้หายไปได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องทำการปรับปรุงจิตดังต่อไปนี้ คือ

          ถ้าผู้ปฏิบัติมักจะเผอเรอในการกำหนด เพื่อที่จะให้มีสติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญสติ หรือเพิ่มสติให้มากๆ ดังนี้

          ๑.    ใช้สติติดตามอิริยาบถทั้ง ๔  คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่าได้ขาด

          ๒.    สติกำหนดนั้นๆ ต้องสม่ำเสมอและติดต่อกัน

          ๓.    เว้นจากการคบคนที่มีสติเผอเรอ

          ๔.    ควรคบกับคนที่มีสติมั่นคง

          แต่ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัตินั้นบรรลุถึงญาณต่างๆ ได้ช้า หมายความว่า เวลาประพฤติปฏิบัติ สภาวะแต่ละอย่างๆ นั้น เปลี่ยนไปช้ามาก ญาณต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงช้าหรือเกิดช้า ผู้ปฏิบัติต้องปรับปรุงจิต ดังนี้

          ๑.    หมั่นสอบถามวิธีปฏิบัติกับครูบาอาจารย์

          ๒.    ทำร่างกายและที่อยู่อาศัยตลอดทั้งเครื่องนุ่งห่มให้สะอาด

          ๓.    ทำอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ ให้สม่ำเสมอกัน เท่าๆ กัน ส่วนสตินั้นไว้กลางๆ

          ๔.    เว้นห่างจากคนที่ไม่มีปัญญาในด้านปฏิบัติ

          ๕.    คบกับคนที่มีปัญญา

          ๖.    พิจารณาให้เข้าใจรูปนามและปฏิจจสมุปบาท คือให้รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นต้น มิใช่ว่าเราจะกำหนดหยาบๆ เพียงแต่กำหนดอาการพอง อาการยุบว่า พุทโธ หรือยุบหนอ พองหนอ เท่านั้น ก็หามิได้ เราต้องรู้ว่า ในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เป็นต้น

          เมื่อทำอย่างนี้ก็ยังไม่สามารถทำสมาธิปัญญาให้เกิดขึ้น และผู้ปฏิบัติมีความเพียรน้อย ผู้ปฏิบัติต้องปลูกฝังความเพียรให้มากขึ้นด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

          ๑.    ระลึกถึงภัยในอบายภูมิ คือพิจารณาว่า ความทุกข์ที่ได้รับในขณะที่ทำความเพียรนี้ ถึงแม้จะเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ถ้าหากว่าเราประมาทเสีย  จุติแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิ ยิ่งจะได้รับความทุกข์ร้อนมากกว่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดความพยายามในการที่จะบำเพ็ญความเพียรต่อไป

          ๒.    เล็งเห็นว่า ความเพียรจะนำไปสู่มรรคผลนิพพาน คือต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในธรรมะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ว่าสามารถนำเราผู้ปฏิบัตินี้ให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้

          ๓.    ระลึกว่า เราจะต้องดำเนินไปตามทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าได้ดำเนินไปแล้ว ทางสายนี้ คนเกียจคร้านไม่สามารถดำเนินไปได้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดอุตสาหะในการบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นมา

          ๔.    สำหรับนักบวชควรระลึกว่า เราฉันอาหารที่ผู้มีศรัทธาถวายแล้ว ควรทำตนให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ประมาทว่า เราฉันอาหารของญาติโยม กว่าญาติโยมได้อาหารมาต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อุตสาหะหาอาหารมาถวาย

          เราบริโภคอาหารของผู้มีศรัทธาแล้วไม่ควรที่จะประมาท ควรจะรีบเร่งบำเพ็ญความเพียรเพื่อจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เพื่อจะยังสามัญผลให้เกิดขึ้นในตน เพื่อจะทำให้บุญกุศลของญาติโยมซึ่งถวายอาหารนี้ มีอานิสงส์มาก มีบุญมาก

          ๕.    ระลึกว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ตั้งอยู่ในความเพียร เราควรปฏิบัติตาม จึงจะได้ชื่อว่าบูชาพระองค์ท่าน

          ๖.    พระธรรมเป็นมรดกตกทอดมาจากพระพุทธองค์ เราควรรับเอาไว้ ซึ่งจะรับได้ก็ด้วยมีความเพียรเท่านั้น ถ้าว่าเราขาดความเพียรแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรับมรดกธรรมได้

          ๗.   เว้นจากการคบคนเกียจคร้าน

          ๘.    คบคนที่มีความเพียร

          ๙.    ทำความเพียรให้มากๆ

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุให้มีความเพียรเกิดขึ้น

          แต่ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเลื่อมใสในการปฏิบัติน้อย ต้องปฏิบัติดังนี้

          ๑.    ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

          ๒.    ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

          ๓.    ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์เจ้าเนืองๆ

          ๔.    ระลึกถึงคุณของศีลเนืองๆ

          ๕.    ระลึกถึงการบริจาคเนืองๆ

          ๖.    ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาเนืองๆ

          ๗.   ระลึกถึงคุณของพระนิพพานเนืองๆ

          ๘.    เว้นจากการคบคนที่ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย

          ๙.    คบหาสมาคมกับคนที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

          ๑๐.  เตือนใจให้เลื่อมใสในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้อยู่เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปสาทะศรัทธา เกิดอุตสาหะวิริยภาพอย่างแรงกล้า ในการที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปได้

          แต่ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติมีใจกระวนกระวายไม่สงบ ต้องดำเนินตามปฏิปทาดังต่อไปนี้

          ๑.    บริโภคอาหารอันประณีตที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เว้นจากของที่แสลงต่อโรคภัยไข้เจ็บของตนเสีย

          ๒.    อยู่ในที่สบาย

          ๓.    เคลื่อนไหวอิริยาบถให้สบาย

          ๔.    ปฏิบัติแต่พอเหมาะ อย่าให้เคร่งเครียดจนเกินไป

          ๕.    เว้นจากการคบคนที่มีจิตใจกระสับกระส่าย

          ๖.    คบกับคนที่มีกายใจสงบ

          ๗.   พยายามรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อยอยู่เสมอ

          ๘.    เตือนใจให้ตั้งอยู่ในความสงบ

          เมื่อประพฤติปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็จะสามารถที่จะระงับความที่จิตไม่สงบ ระงับความฟุ้งซ่าน ระงับความกระวนกระวายในจิตลงได้

          แต่ถ้าผู้ปฏิบัติรู้ว่า สมาธิของตัวหย่อนไป หรือไม่มีสมาธิเลยในเวลาปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติดังนี้ คือ

          ๑.    รักษาความสะอาด ทั้งร่างกายตัวเอง ตลอดทั้งเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่

          ๒.    มีความฉลาดรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นว่า อารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น ให้รีบกำหนดทันที ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งไม่หาย ก็ให้เข้าใจว่า สติสมาธิของเราหย่อน ควรลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มสัก ๕-๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป สมาธิ ญาณ จะดีขึ้นและจะได้เกิดขึ้น

          ๓.    พยายามรักษาอินทรีย์ ๕ ให้สม่ำเสมอกัน

          ๔.    ถ้าจิตท้อถอยหรือเกิดเบื่อหน่ายคลายความเพียร ต้องทำจิตให้ดีขึ้น คือพยายามนึกถึงพระพุทธเจ้าเหล่าพระสาวกทั้งหลาย ให้เป็นทิฏฐานุคติเป็นตัวอย่าง หรือมิฉะนั้นก็นึกถึงคุณงามความดีของตน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความอุตสาหะ และให้เกิดสมาธิขึ้น

          ๕.    ถ้าจิตฟุ้งซ่าน ต้องข่มจิตลง

          ๖.    ถ้าจิตเหี่ยวแห้ง ต้องทำจิตให้ร่าเริงสดชื่น

          ๗.   ถ้าจิตวางเฉย ไม่หดหู่ ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่ท้อถอย ก็ให้ประคับประคองจิตไว้ ให้อยู่ในลักษณะนั้นตลอดไป

          ๘.    เว้นจากบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น

          ๙.    คบกับคนผู้มีจิตตั้งมั่น

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้น

          แต่ถ้าจิตของผู้ประพฤติปฏิบัติเกิดท้อถอยขึ้นมา ไม่มีอุตสาหะในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน มีความท้อใจ มีความอ่อนใจ บางทีก็คิดจะเลิกการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องแก้ไขดังนี้คือ

          ๑.    เอาใจใส่ในการปฏิบัติวิปัสสนา หมายความว่า ต้องอดต้องทน ต้องข่มใจในการปฏิบัติ

          ๒.    ทำความเพียรให้มากๆ อย่าเกียจคร้าน ทำความเพียรร่ำไป ถึงจะมีความอ่อนใจ หรือท้อถอยอย่างไร ก็จะต้องข่มใจ

          โดยบางครั้งอาจตั้งสัจจะปฏิญญาว่า เราจะทำความเพียรอย่างนี้ตลอดไป จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน เมื่อใดยังไม่ได้บรรลุ จะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าเลือดจะหมดไป เนื้อหนังจะเหี่ยวแห้งเหลือแต่กระดูกก็ตาม ก็จะไม่ละความเพียรเป็นเด็ดขาด

          ๓.    พยายามปฏิบัติให้ก้าวหน้า

          ๔.    อย่ารับประทานอาหารมากเกิน ควรให้บริโภคแต่พอดีๆ

          ๕.    เปลี่ยนอิริยาบถเสียบ้าง คืออย่านั่งอย่างเดียว ถ้านั่งถึงกำหนดแล้ว ก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรม แล้วจึงมานั่งต่อ

          ๖.    เพ่งดูแสงจันทร์ แสงไฟคบเพลิง หรือแสงอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นอ่อนๆ หรือก่อนจะอัสดงตกไป ห้ามเพ่งแสงอาทิตย์เวลากล้า

          ๗.   อยู่ในที่แจ้ง อย่าไปนั่งในห้องนอน

          ๘.    คบมิตรที่ดี

          ๙.    สนทนาแต่เรื่องที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ

          ๑๐.  เตือนใจไม่ให้ท้อถอย

          เมื่อเรานึกอย่างนี้ หรือปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะทำให้ความท้อถอยนั้นหมดไป และให้เกิดอุตสาหะในการปฏิบัติต่อไป

          แต่ถ้าจิตใจของผู้ปฏิบัติฟุ้งซ่านคิดมาก ต้องปฏิบัติดังนี้

          ๑.    เจริญปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขาให้มาก หมายความว่า พยายามกำหนดบทกัมมัฏฐานให้สั้นๆ ลงไป อาจจะเหลือแต่หายใจเข้ากำหนดท้องพองว่า พุท ท้องยุบลงไปกำหนดว่า โธ อย่างนี้ก็ได้ หรือท้องพองขึ้นมากำหนดว่า พอง ท้องยุบลงไปกำหนดว่า ยุบ พองยุบๆ ร่ำไปก็ได้ คือพยายามเพิ่มสมาธิให้มากๆ ลดความเพียรลง

          ๒.    เอาใจใส่ในการปฏิบัติวิปัสสนา

          ๓.    สอบถามอารมณ์กับครูบาอาจารย์บ่อยๆ

          ๔.    คบแต่คนดีๆ

          ๕.    สนทนาแต่สิ่งที่ชอบที่ควร ที่เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรม

          สำหรับในเรื่องสนทนาแต่สิ่งที่ชอบที่ควรอันจะเป็นอุปการะแก่การปฏิบัตินั้น มีเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง คือมีคนมาบวชและได้มาปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่ในที่นี้ แล้วก็มีอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติควบคู่กัน อาจารย์รูปนั้นคิดอะไรร้อยแปดพันประการ คิดจนผอม นั่งอยู่ ๕ นาทีคิดจะสร้างแต่บุญแต่กุศล ส่วนมากก็คิดแต่เรื่องที่ดีๆ คิดว่าเอากฐินไปทอดวัดนั้นวัดนี้ ไปทอดแล้วไม่มีผู้เทศน์ผู้ฉลองก็จะขึ้นเทศน์เองอย่างนั้นอย่างนี้ คิดไปเรื่อยเปื่อย คิดจนตัวคล้ำไป

          พอเดินไปเดินมา ไปเจอเอาภิกษุนวกะรูปนั้นเข้า ภิกษุนวกะรูปนั้นก็พูดขึ้นว่า คนที่ไปตกนรกมากๆ นั้น ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละ คนที่เป็นบ้า ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละ พอพูดอย่างนั้น พระรูปนั้นก็ได้สติขึ้นมาทันที ก็หายจากอาการฟุ้งซ่าน จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

          อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติหดหู่ เหี่ยวแห้ง จิตใจไม่ร่าเริงเบิกบาน จะต้องปฏิบัติดังนี้คือ

          ๑.    ให้เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ให้มากๆ คือใคร่ครวญ พิจารณาธรรมที่ได้ฟังมา แล้วก็พยายามบำเพ็ญความเพียร พยายามนึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เพื่อให้เกิดความปีติอิ่มใจ ปราโมทย์ รื่นเริง บันเทิงใจ ในขันธสันดานของตน

          ๒.    ให้พิจารณาถึงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ และความทุกข์ในอบาย ตลอดถึงความทุกข์ในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ที่เราได้รับอยู่ เช่น เราพิจารณาว่า การเกิดบ่อยๆ นี้เป็นทุกข์

          การที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความชราภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นทุกข์ เกิดขึ้นมาแล้วมีความเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรนานัปการเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ การไปเกิดในอบายภูมิเป็นทุกข์ เรานี้โชคดีที่ได้มีโอกาสปฏิบัติ เพื่อดำเนินไปสู่ทางพ้นทุกข์เหล่านี้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้จิตของเราเกิดความร่าเริงเบิกบาน หายจากอาการหดหู่เหี่ยวแห้ง

         ๓.     ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเนืองๆ

          อีกอย่างหนึ่ง ถ้าใจของผู้ปฏิบัติยึดมั่นในตัวตน คือยึดมั่นในร่างกายของตัวเองและบุคคลอื่นว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นต้น จะต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาวางตัวเป็นกลาง ดังนี้

          ๑.    วางตัวเป็นกลางในสัตว์ในบุคคล คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในบุคคลโน้นบุคคลนี้ว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา

          โดยคิดว่า สัตว์ก็ดี บุคคลก็ดี เขาก็มาตามบุญกรรมบาปกรรมของเขา เมื่อจากโลกนี้ไป เขาก็ไปเพราะบุญเพราะบาปของเขา เราจะไปห่วงใยเขาเพื่อประโยชน์อะไร เพราะว่าเราก็มาเพราะบุญบาปของเรา เมื่อคิดดังนี้ ก็จะหมดความยึดมั่นถือมั่นไปได้

          ๒.    วางตนเป็นกลางในสังขาร คือเห็นว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของว่างเปล่า

          สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ มันเป็นสมบัติส่วนกลางของโลกอยู่อย่างนี้ตลอดไป แม้เรายังไม่มาเกิด มันก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อเราตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ก็ทิ้งอยู่ในโลกนี้ ปล่อยให้เป็นสมบัติของผู้อื่นต่อไป ไม่สามารถที่จะติดตามตนไปในสัมปรายภพได้

          ๓.    เว้นจากบุคคลผู้มีความยึดมั่นถือมั่นในสัตว์ บุคคล และสังขาร

          ๔.    คบกับบุคคลที่ไม่มีความยึดมั่นในสัตว์ บุคคล และสังขาร

          เมื่อเราทำเราประพฤติอย่างนี้ ก็จะทำให้ความยึดมั่นในตัวตนว่าเป็นเรา เป็นของเราหมดลงไปได้ และก็จะทำให้เกิดความอุตสาหะในการเจริญวิปัสสนาต่อไป

          ทั้งหมดนี้ เป็นการนำมาปรับความเข้าใจ หรือชี้แนะแนวทางแก่ท่านทั้งหลาย ในเรื่องการปรับปรุงจิตนี้ เป็นแต่เพียงส่วนย่อๆ ไม่ได้อธิบายให้พิสดาร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายไปใคร่ครวญพิจารณา ท่านผู้ใดที่เป็นในลักษณะไหน ก็ขอให้ดัดแปลงแก้ไข พยายามปรับปรุงจิตของตนเองให้เข้ารูปเข้ารอย เพื่อว่าจะให้การปฏิบัติได้ผล.