ปรับความเข้าใจผู้ปฏิบัติธรรม
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ มิใช่ว่าเราจะปฏิบัติไปรวดเดียวแล้วก็จะบรรลุอริยมรรคอริยผลถึงขั้นสุดยอดเลยทีเดียวนั้น เป็นไปไม่ได้
การปฏิบัตินี้ ต้องดำเนินไปตามลำดับของภาวนามยปัญญา คือจะต้องดำเนินไปตามหลักของวิปัสสนาญาณ
เมื่อเราปฏิบัติครั้งแรก มีสติมีสัมปชัญญะทันปัจจุบันรูปนามแล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หลังจากนั้นก็จะเกิดปัญญาญาณขึ้นมา ตั้งแต่ญาณที่ ๑ นี่ขอรวบรัดเอาเลย ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ แล้ว ก็ถือว่าเป็นที่สุดของญาณโลกีย์ เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ และกำลังวิปัสสนาของเรามีกำลังเต็มที่แล้ว หลังจากนั้นก็เข้าสู่มัคควิถีทันที
คำว่า มัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่อริยมรรค เมื่อเข้าสู่มัคควิถีแล้ว ก็จะดำเนินถึง สัจจานุโลมิกญาณ เมื่อถึงสัจจานุโลมิกญาณแล้ว จะตั้งอยู่ในสัจจานุโลมิกญาณ ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่ โคตรภูญาณ จะตั้งอยู่ในโคตรภูญาณอีก ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นก็เข้าสู่มัคคญาณ จะตั้งอยู่ในมัคคญาณ ๑ ขณะจิต เมื่อถึงมัคคญาณแล้ว ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาได้ตามกำลังของมรรค
ถ้าเกิดขึ้นครั้งที่ ๑ ก็สามารถจะละโลภะได้ ๔ ตัว สำหรับโทสะนั้นละไม่ได้ ละโมหะได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา และตั้งอยู่ในมัคคญาณนั้น ๑ ขณะจิต หลังจากนั้น ผลจิตก็จะเกิดขึ้น ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตามลักษณะของติกขบุคคลหรือมันทบุคคล ถ้าติกขบุคคลก็จะเกิดขึ้น ๓ ขณะจิต ถ้าว่าเป็นมันทบุคคลก็จะเกิดขึ้น ๒ ขณะจิต แล้วก็ดับลง เมื่ออยู่ในผลญาณ ๒ หรือ ๓ ขณะจิตแล้ว จิตของเราก็จะลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะเป็น ปัจจเวกขณญาณ คือเป็นญาณที่ ๑๖
เป็นอันว่า เมื่อเราประพฤติปฏิบัติถึงญาณที่ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เราก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว หลังจากนั้น หากว่าผู้ปฏิบัตินั้นได้เคยสั่งสมอบรมบารมีมา สมควรที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงๆ ขึ้นไป วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดขึ้นมาใหม่ โดยที่ละจากปัจจเวกขณญาณ
การที่ละจากปัจจเวกขณญาณนี้ มิใช่ว่าเราจะเลิกเองนะ ปัจจเวกขณญาณ คือการพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ตนละได้แล้วและยังเหลืออยู่ อันนี้เป็นภาคปริยัติ แต่สำหรับภาคปฏิบัติแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น
ในเมื่อถึงปัจจเวกขณญาณ บางรูปบางท่านอาจจะคิดว่า เอ อันนี้มันอะไรกันหนอ เอ ทำไมเมื่อตะกี้นี้มันหลับไป หรือว่ามันเป็นอะไรไป หรือบางทีสัปหงกวูบลงไป รู้สึกตัวขึ้นมา ทำไมมันงงๆ อย่างนี้ มันหลงทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เพียงแค่นี้แหละ ปัจจเวกขณญาณ เพียงแค่นี้
ไม่ใช่คิดว่า โอ บัดนี้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เราละกิเลสได้เท่านั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่เท่านั้นๆ อันนี้พิจารณาในด้านปริยัติ แต่ว่าด้านปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น
ทีนี้คำว่า ละจากการพิจารณา นั้น มิใช่ว่าเราจะคิดเอาว่า เออ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะละจากปัจจเวกขณญาณ ไม่พิจารณามรรคผลนิพพาน กิเลสที่ละแล้วหรือยังเหลืออยู่ จะไม่พิจารณาต่อไป บัดนี้เราจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆ ต่อไป มิใช่ว่าเราจะคิดเอาอย่างนี้
เป็นแต่เพียงว่า พอบรรลุถึงขั้นปัจจเวกขณญาณแล้ว หากว่าเรายังมีบุญญาวาสนาบารมี สมควรที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานต่อไป ปัจจเวกขณญาณก็จะไม่เกิดต่อไป ในขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นั่นแหละ ยังไม่ทันลุกเลยก็มี ล่วงไป ๑ ชั่วโมง ล่วงไป ๑ คืน ๑ วัน ๑ เดือน ๑ ปีก็มี คือจะละจากปัจจเวกขณญาณเองตามธรรมชาติ
หมายความว่า พอดีปัจจเวกขณญาณเกิดผ่านพับขึ้นไปแล้ว ถ้าผู้มีบุญมาก มีวาสนามาก วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นใหม่เลยทีนี้ แต่เริ่มเกิดทีหลังนี้ จะเริ่มเกิดตั้งแต่ญาณที่ ๔ ขึ้นมา สำหรับญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นั้น ทิ้งไปแล้ว เหลือแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เมื่อญาณที่ ๔เกิดขึ้นมา ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม
การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานครั้งที่ ๒ นี้ รูปนามนั้นเบามาก และละเอียดมาก แต่ถึงกระนั้น วิปัสสนาญาณก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดได้ตามความเป็นจริง คือวิปัสสนาญาณของเราจะคมกล้า สามารถที่จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นความดับไปของรูปนาม
เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของที่น่าเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปจากนาม จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ท้อถอย จะเอาจะบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ และก็มีความเฉยมาก เฉยต่อรูปนาม
วิปัสสนาญาณนี้จะคมกล้าเป็นพิเศษ คมกล้ากว่าครั้งที่ ๑ พอดีถึง สังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ แล้ว หลังจากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิด อาวัชชนจิต ทางมโนทวาร ๓ ขณะจิต คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๓ คืออาวัชชนจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะแล้วก็ขึ้นสู่ อนุโลมญาณ เมื่อขึ้นสู่อนุโลมญาณ ๑ ขณะจิตแล้ว ก็ผ่านโวทาน คือผ่านโวทานโคตร ของพระโสดาบัน แล้วก็จิตของเราจะอยู่ในอนุโลมญาณนั้น ๑ ขณะจิต จะอยู่ในโวทานนั้น ๑ ขณะจิต
หลังจากนั้น สกทาคามิมัคคจิต ก็จะเกิดขึ้นอีก ๑ ขณะจิต หลังจากสกทาคามิมัคคจิตดับลงไปแล้ว สกทาคามิผลก็เกิดขึ้น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง หรือว่าสกทาคามิมรรค สกทาคามิผลก็เกิดขึ้นทันที พอดีสกทาคามิผลเกิดขึ้นแล้ว ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วจิตของเราก็ลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์แล้ว พอดีขึ้นจากภวังค์มา ก็จะได้พิจารณาปัจจเวกขณญาณ และปัจจเวกขณญาณนี้ก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
หากว่าผู้นั้นมีบุญวาสนาบารมี สมควรที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นสูงๆ อีกต่อไป และได้สั่งสมอบรมบารมีมามาก บารมีแก่กล้า จะอยู่ในปัจจเวกขณญาณนั้น อาจจะอยู่เพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที จะอยู่ ๑ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ๑ ปี ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมี
ถ้าผู้มีบุญวาสนามาก พอดีผ่านปัจจเวกขณญาณแล้วเท่านั้นแหละ วิปัสสนาญาณก็เกิดต่อเลยทีเดียว คือจะย้อนไปเอาญาณที่ ๔ มาใหม่อีก ทีนี้เมื่อย้อนไปถึงญาณที่ ๔ นี้ รูปนามนั้นยิ่งเบากว่าเดิม ยิ่งเบากว่า ยิ่งละเอียดกว่า เพราะเหตุไร เพราะว่ากิเลสตัณหาเบาบางไปเป็นจำนวนมากแล้ว
เมื่อกิเลสตัณหาเบาบางไปเป็นจำนวนมาก รูปนามของเราก็ละเอียด รูปนามของเราก็เบา ทุกสิ่งทุกอย่าง การประพฤติปฏิบัติทั้งทางกายทั้งทางจิตใจของเราก็คล่องแคล่วในการประพฤติปฏิบัติ แต่ว่าถึงรูปนามนั้นจะเบาหรือละเอียดสักปานใดก็ตาม วิปัสสนาญาณของเราก็จะคมกล้า เหมือนกันกับดาบที่ลับแล้วเป็นพันๆ ครั้ง สามารถที่จะพิสูจน์เห็นความเกิดดับของรูปนาม ตลอดถึงทุกข์โทษของรูปนาม ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
วิปัสสนาญาณก็จะผ่านไปตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ พอถึงที่ ๑๑ แล้ว หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่มัคควิถีทันที เมื่อขึ้นสู่มัคควิถี พอดีเข้าสู่มัคควิถีพับเท่านั้นหละ อาวัชชนจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นมา ๓ ขณะจิต แล้วก็ดับลง ดับลงแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอนุโลมญาณอีก ๑ ขณะจิต แล้วดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวทานจิตก็เกิดขึ้นมาอีก ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว มัคคจิตก็เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นมา ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็จะลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะเป็นปัจจเวกขณญาณ เมื่อผ่านได้อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลสมบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว
ทีนี้ หากว่าผู้มีบุญวาสนาบารมีแก่กล้า สมควรจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภพนี้ชาตินี้ วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดต่ออีกทันที เริ่มเกิดเลย ในขณะที่เรานั่งอยู่นั้นก็ได้ หรือล่วงไปวันหนึ่งสองวันก็ได้ แล้วแต่บุญวาสนา หรือ ขิปปาภิญญา หรือว่า ทันธาภิญญา คือตรัสรู้เร็วหรือตรัสรู้ช้า ในปฏิปทา ๔
พอดีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครั้งนี้ วิปัสสนาญาณนั้นก็ยิ่งละเอียด ยิ่งเบายิ่งละเอียดกว่าเดิมเป็นอันมาก ถึงกระนั้น วิปัสสนาญาณก็มีความคมกล้า สามารถที่จะไปพิสูจน์เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดถึงเห็นความเกิดดับของรูปนามเป็นต้น ผ่านญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อถึงที่ ๑๑ แล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี
แล้วทีนี้ ถ้ากำลังพอก็ขึ้นสู่มัคควิถีทันที เมื่อขึ้นสู่มัคควิถี อาวัชชนจิตก็เกิดขึ้น ๓ ขณะ แล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้ว อนุโลมญาณก็เกิดขึ้นอีก ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้ว ก็เกิดโวทานจิต ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อโวทานจิตดับลงไปแล้ว มัคคจิตก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นมา ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ก็ลงสู่ภวังคจิต ๑ ขณะ แล้วก็ขึ้นจากภวังค์มา ก็เป็นปัจจเวกขณญาณ แล้วก็จึงจะได้พิจารณามรรคผลพระนิพพาน
เมื่อผ่านมาได้ถึง ๔ ครั้งอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันตบุคคล เป็นผู้มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว มีธรรมอันเกษมล่วงส่วนแล้ว เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของพระอรหันต์ จุติแล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน
หากว่าท่านยังไม่จุติ ขันธ์ของท่านก็เป็น วิสุทธิขันธสันดาน คือมีขันธสันดานอันบริสุทธิ์ เหมือนน้ำมันซึ่งกรองแล้วเป็นพันๆ ครั้ง เป็นขันธสันดานที่ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นขันธสันดานอันบริสุทธิ์ ถ้าหากว่าผ่านได้ถึง ๔ ครั้งอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงขั้นสูงสุดยอดแล้ว หมดกิจที่จะต้องทำแล้ว คือหมดกิจที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อไปแล้ว หน้าที่ของเราก็มีแต่แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมให้รู้ตามให้ได้บรรลุตามเท่านั้น
แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติครั้งที่ ๑ นี้ก็ไม่ลำบากเท่าไร ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไปในรอบที่ ๒ หลังจากวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครั้งที่ ๒ นี่ ความเกิดดับก็ชัดกว่าเดิม หากว่าเวทนาคือความทุกข์ก็จะทุกข์มากกว่าเดิม ถ้ามีสุขก็จะสุขมากกว่าเดิม แต่ว่าความสุขนี่หาได้ยาก หาได้ยากที่สุด จะมีเวทนาก็มีเวทนามากกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้าคิดก็คิดมากกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้าเบื่อก็เบื่อกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้ากลุ้มใจก็กลุ้มใจกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว
ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ก็เข้มแข็งกว่าเดิมเป็น ๓ เท่าตัว บางทีนั่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี เดินจงกรม ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี มันเป็นอย่างนี้ สำหรับความเฉยมีนิดเดียวเท่านั้น คือหาความสุขได้เพียงนิดเดียว ส่วนมากมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น นี่ท่านทั้งหลายพึงสังวร
ทีนี้ หากว่าเราปฏิบัติในอันดับที่ ๓ หากว่าเราปฏิบัติในรอบที่ ๓ นี่ เวทนาก็จะเกิดขึ้น ๓ เท่าตัว ถ้าคิดก็จะคิดเป็น ๓ เท่าตัว ความเกิดดับก็จะเห็นชัดเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าเกิดความกลัวก็จะกลัว ๓ เท่าตัว ถ้าเจ็บนี่ปวดโน่น ทุกขเวทนาก็จะมีมากเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าเบื่อหน่ายก็เบื่อหน่ายเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าหากว่ากลุ้มใจก็จะกลุ้มใจเป็น ๓ เท่าตัว แต่สำหรับความเฉยนั้น มีนิดเดียว นี่พึงสังวรระวัง
ถ้าปฏิบัติในรอบที่ ๔ คือ รอบสุดท้าย รอบที่ ๔ นี้ถือว่าเป็นรอบสุดท้าย การปฏิบัติในรอบที่ ๔ นี้ อะไรๆ ที่มีอยู่มันโหมขึ้นมาทั้งหมด กิเลสตัณหาเหล่าใดที่มันยังเหลืออยู่ มันก็แสดงปฏิกิริยามาทั้งหมด ความเกิดดับของรูปนามก็ชัดกว่าเดิม
ถ้าเกิดความกลัวก็กลัวมากกว่าเดิม บางทีอยู่ในห้องกัมมัฏฐานจะเดินมากุฎีหลวงพ่อนี่รูปเดียวไม่ได้ อยู่ในห้องชีจะเดินมากุฎีหลวงพ่อนี้ คนเดียวนั้นเดินมาไม่ได้ หรือจะเดินมาหน้าโบสถ์นั้น ก็เดินมาไม่ได้ กลางวันแสกๆ ก็ไม่สามารถที่จะเดินมาได้ คล้ายกับคนเป็นโรคประสาท จะเดินเข้าไปในโบสถ์คนเดียวก็ไม่ได้ บางทีมีเพื่อนๆ มานอนล้อมอยู่ตั้ง ๖๗ รูป ก็ยังมีความกลัวอยู่ ทำอย่างไรๆ ก็ยังมีความกลัวอยู่ ความกลัวเท่าไรมันมีอยู่ มันจะโหมโรงเข้ามาทั้งหมด
ถ้าหากว่าเกิดความเบื่อหน่าย ก็เบื่อหน่ายจนไม่อยากปฏิบัติต่อไปนั่นแหละ บางทีอาเจียนอยู่ทั้งวันก็มี บางทีน้ำสุกกะนี่มันไหลออกไป เหมือนกับเราไปฟันต้นโพธิ์ต้นไทร เอาพร้าหรือเอามีดไปกรีดที่ต้นโพธิ์ต้นไทรหรือต้นยางนี่ มันไหลตลอดทั้งวัน เราไม่ได้ไปแตะไปต้องมันก็ไหลตลอดทั้งวัน มันน่าเบื่อหน่ายจริงๆ
บางทีมันไม่เป็นอย่างนั้น น้ำสุกกะนี่มันไหลออกมาทางปากเลย ไหลออกมาทางปาก หลั่งไหลออกมาทางปาก แล้วก็อาเจียนออกไป แล้วก็ไหลขึ้นมาอีก อาเจียนออกไป แล้วก็ไหลขึ้นมาอีก อาเจียนออกไป บางทีอาเจียนอยู่ตั้ง ๒ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันก็มี เมื่อถึงลักษณะอันเบื่อหน่ายมันเป็นอย่างนี้
บางคนต้องร้องห่มร้องไห้ นึกว่า โอ ถ้าประพฤติปฏิบัติ เราปฏิบัติรอบที่ ๓ นี้ เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก อายุของพรหมนี่มันช่างยืนยาวเหลือเกินหนอ เราจะไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในชั้นพรหมนี้ ไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ จึงจะพ้นได้ นึกถึงจะไปอยู่ในชั้นพรหมก็เกิดความน้อยใจขึ้นมา บางทีร้องห่มร้องไห้ เพราะพิจารณาเห็นทุกข์ในการที่ตนจะไปทรมานอยู่ในชั้นพรหม ก็เกิดร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา อยากถึงพระนิพพานแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น นี่มันเบื่อจริงๆ
เมื่อก่อนนั้น ไม่เบื่อเท่าไร แต่ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้ว เบื่อทั้งเมืองมนุษย์ เบื่อทั้งเมืองเทวดา เบื่อทั้งเมืองพระพรหม จะปรินิพพานอย่างเดียวเท่านั้นดี นอกนั้นไม่มีอะไรดีเลย นี่มันเป็นลักษณะอย่างนี้ พอดีถ้ามีความเข้มแข็งก็มีความเข้มแข็งเป็น ๔ เท่าตัว แต่สำหรับความเฉยนั้นมันนิดเดียว คือความสบายมีนิดเดียว
ก็ขอสรุปสั้นๆ ว่า เมื่อเราปฏิบัติครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นี้ ความสุขนั้นหาได้น้อยที่สุด เกือบจะเห็นว่าไม่มีความสุขเสียเลย มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว เห็นแต่ทุกข์แต่โทษอย่างเดียวเท่านั้น
หากว่าท่านรูปใดหรือท่านผู้ใดจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่รักในการที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ บางทีก็ถอยเลย ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติต่อไป แต่ถึงอย่างไร หลวงพ่อคิดว่า ท่านทั้งหลายที่ตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติในครั้งนี้ก็คงจะมีสัจจปฏิญาณอันแน่วแน่ในการที่จะปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดยอด อย่างน้อยที่สุดก็ได้ขั้นปฐมมรรค อันนี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจตามนี้ด้วย
ต่อไปก็ขอเตือนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า วันพรุ่งนี้ก็จะพากันออกไปเทศนาโปรดญาติโยมแล้ว ถ้าว่าการไปนี้ หลวงพ่อว่า ถ้าวัดไหนมันใกล้ๆ ก็เดินเอา เช่นว่า วัดนาหนองทุ่ง วัดนาแมด วัดห่องไผ่ วัดนาขนัน อย่างนี้ มันใกล้ๆ เราก็เดินเอา ต่างออกกำลัง เพราะเราอยู่กับที่มานานแล้ว ออกกำลังเอา ทีนี้ถ้าว่าวัดไหนมันอยู่ไกลก็ให้รถนำไปส่ง ตอนกลับก็ให้รถนำกลับเอา
ผู้ใดที่จะกลับพร้อมรถให้รถมารับก็บอกรถเขาไว้ ถ้าว่าจะเดินเอาก็แล้วแต่ ต้องบอกเขาไว้ ค่ำคืนวันนี้ก็เตรียมซะ แต่หลวงพ่อว่าถ้าพอเป็นไปได้ ขอให้เทศน์ธรรมะในภาคปฏิบัติทุกบ้านนั่นแหละ ไม่เป็นไรหรอก เราเทศน์กัณฑ์เดียวกันนั่นล่ะ ถ้าพอเป็นไปได้ก็ขอให้เทศน์ธรรมะในภาคปฏิบัติ เหมือนกันกับหลวงพ่อบรรยายธรรมะเป็นสัมโมทนียกถาในภาคปฏิบัติ ที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วนั่นแหละ
การเจริญภาวนานั้นเป็นของง่ายนิดเดียว เพียงแต่เราจะทำอะไรก็ขอให้มีสติสัมปชัญญะ ว่าไปตามลำดับๆ จนโน้น ถึงเราจะนั่งอยู่ภาวนาอยู่ก็ดี ก็ขอให้จำได้ มันจะนั่งหลับไปตอนไหน ตอนพองหรือตอนยุบ ก็ขอให้จำได้ เราจะนอนหลับไปตอนท้องพองท้องยุบ ก็ขอให้จำได้
เราเทศน์ในภาคปฏิบัตินั้นจะดีมาก เพราะว่าญาติโยมที่มารักษาอุโบสถศีลนั้น จะได้ถือเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แต่สำหรับผู้ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ไม่ยากหรอก ทีนี้เราเผื่อว่า บรรดาญาติโยมทั้งหลายที่มาสมาทานอุโบสถศีลใหม่ มาปฏิบัติใหม่ เพื่อจะให้เป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ขอให้เตือนสติญาติโยมว่า
การประพฤติปฏิบัตินี้ องค์คุณของผู้ปฏิบัติ
๑. ต้องมีสติ (สติมา)
๒. มีสัมปชัญญะให้ทันปัจจุบัน (สัมปชาโน) แล้วก็
๓. มีความเพียร (อาตาปี)
๔. อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น
ถ้าเรามีความต้องการเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นตามความประสงค์ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิมานะ เกิดความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว บางทีเห็นว่าครูบาอาจารย์ก็สู้เราไม่ได้ ถ้ามันไม่เกิดตามความคิด ก็จะให้เกิดโทมนัส หรือเกิดความโกรธ ความท้อแท้ใจ ความแห้งผากใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความขี้เกียจ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติต่อไป แล้วก็
๕. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ
๖. อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ
ก็ขอให้แนะนำญาติโยมไว้อย่างนี้ เราพูดเอาง่ายๆ เพราะการพูดเอาง่ายๆ มันได้ประโยชน์กว่า เราเทศน์จบแล้วก็ให้โอกาสแก่ญาติโยมได้สนทนาปัญหา ได้ไต่ถาม ข้อไหนญาติโยมสงสัย ก็เปิดโอกาสให้โยมได้ไต่ถามได้ซักถาม เราก็แนะนำเอา อันนี้ก็ขอให้ไปเทศน์ในแนวนี้
เอาละ ที่บรรยายมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ด้วยกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จงทุกท่านๆ เทอญ.