โรค ๒ ประการ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
สำหรับวันนี้ ก่อนที่จะได้รับพร ก็ขอนำธรรมะบางสิ่งบางประการมากล่าว ในลักษณะที่ว่าเป็นสัมโมทนียกถา เป็นถ้อยคำที่กล่าวเพื่อให้เกิดความชื่นใจ ความดีใจ ความเบิกบานใจ ความปลื้มใจ ความปราโมทย์
วันนี้หลวงพ่อจะกล่าวเรื่อง โรค ๒ ประการ
โรค คือ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ดีมาเบียดเบียน
โรคมี ๒ ประการคือ๑) โรคกาย ๒) โรคใจ
สำหรับ โรคกาย ขอยกไว้ก่อน เอาไว้กล่าวตอนท้าย จะขอกล่าวเรื่องของโรคใจก่อน
คือ โรคใจ เป็นโรคที่รักษายาก ถ้าจะหายาไม่ว่าจะเป็นยามโหสถ ยาโรงพยาบาล ยาตามร้านค้า หรือเป็นยาที่วิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาบำบัดหรือรักษาโรคใจได้ แม้ว่าเขาจะศึกษาเล่าเรียนมาจนจบวิชาทางแพทย์โดยตรงก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะรักษาได้
แม้แต่ผู้ที่มีเดชานุภาพ มีอภิญญาจิต แม้ว่าผู้ที่มีกายทิพย์ มีใจทิพย์ เช่น เทพบุตร เทพธิดา ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจให้หายไปได้ แม้แต่ผู้ที่บำเพ็ญสมถภาวนาจนได้สมาบัติ ๘ ประการ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้จบสมาบัติ ๘ ประการ ได้จบอภิญญาจิต ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้
ถ้าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้ ผู้ที่ยังอยู่ในเมืองมนุษย์ มีศักดาเดชานุภาพ แม้ผู้ที่เป็นพระราชา มหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิราช ก็รักษาไม่ได้ หากว่าผู้ที่เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ทรงสมณเพศเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยมหันตคุณ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็รักษาโรคได้ครึ่งๆ กลางๆ รักษายังไม่ได้หมด ต่อเมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงจะรักษาโรคได้หมด
อีกอย่างหนึ่ง หากว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จด้วยทิพย์ หรือผู้มีกายทิพย์ มีใจอันเป็นทิพย์ มีอารมณ์อันเป็นทิพย์ มีอำนาจอันเป็นทิพย์ เช่น เทวดาในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจได้ เพราะเทวดาก็ยังมีโรคใจอยู่บางสิ่งบางประการ แม้แต่เป็นพระพรหมก็ดี จะเป็นรูปพรหมก็ดี เป็นอรูปพรหมก็ดี ถึงแม้จะได้ฌาน ได้อภิญญาจิต ก็ยังไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้ รักษาได้ก็เป็นบางส่วน รักษาได้ยังไม่หมด
โรคใจมีหลายอย่าง แต่หลวงพ่อจะสรุปสั้นๆ เพื่อให้เหมาะแก่เวลา
โรคใจประการที่ ๑ ความโลภคือโลภะ อันนี้ถือว่าเป็นโรคทางด้านจิตใจของเราเหมือนกัน เมื่อถูกโรคนี้เข้าเบียดเบียน ก็จะทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องกระเสือกกระสน ดิ้นรนหาสิ่งที่ต้องการ เพื่อมาป้อน มาบำรุงบำเรอ หนักๆ เข้าก็ประพฤติไม่ดีไม่งาม ล่วงเกินกฎหมายบ้านเมือง ล่วงเกินศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา
อย่างเช่น ไปเบียดเบียนเอาของเขา ไปยักยอกเอาของเขา ไปกดขี่ข่มเหงเอาของเขา หนักๆ เข้าก็ไปปล้นไปทำร้ายผู้อื่นจนถึงตายไปก็มี ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความโลภคือโลภะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทะเยอทะยานให้เกิดความอยากได้อยากมี ไม่มีที่สิ้นสุด อยากได้นี่ อยากได้นั่น เช่น อยากได้ทีวี พัดลม ตู้เย็น สเตอริโอ อยากได้ไปร้อยแปดพันประการ แม้จะได้เป็นร้อยล้านพันล้านก็ไม่พอ เป็นต้น
สรุปสั้นๆ ว่า แม้จะหาทรัพย์สมบัติในโลกมนุษย์นี้มากองพะเนินให้เต็มเรือนชานบ้านช่อง กองเต็มสถานที่ที่อยู่ก็ยังไม่พอ นี่แหละคือโรคความโลภ ที่เป็นเหตุให้ผู้มีความโลภหรือโลภะ เกิดความทุกข์ทรมานในจิตใจ เพราะความอยากได้นั่น อยากได้นี่ ไม่มีที่สิ้นสุด ได้มาแล้วยังไม่พอ ยังอยากจะได้อีก ยกตัวอย่าง เช่น มีภรรยาอยู่แล้วยังไม่พอ ยังอยากจะมีคนที่ ๒ อยากมีคนที่ ๓ อยากมีคนที่ ๔ มันอยากไม่สิ้นสุด
ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะรักษาโรคคือโลภะได้ เราจะรักษาได้อย่างต่ำๆ คือการให้ทาน เช่น ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ การให้ทานก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผ่อนคลายความโลภให้เบาบางลง แต่ยังไม่สิ้นสุด เพียงแต่ข่มไว้ไม่ให้มันรุนแรงเกินไป เมื่อเราบริจาคทานแล้วก็จะช่วยข่มความโลภได้ ข่มมัจฉริยะคือความตระหนี่ ให้เบาบางลงไปได้ แต่ว่ามันยังไม่หมด มันยังไม่ขาด เพียงแต่มันสงบตัวอยู่ ไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา
อุปมาเหมือนกับต้นหญ้า ถ้าเอาศิลาหรือก้อนหินไปทับเอาไว้มันก็เกิดไม่ได้ แต่เหง้ามัน รากมันยังไม่ตาย แต่เมื่อใดเรายกศิลาหรือก้อนหินออก หญ้านั้นมันก็เกิดขึ้นมาอีก ข้อนี้ฉันใด เมื่อเราทั้งหลายบำเพ็ญทานอยู่ขณะนี้ความโลภคือโลภะ มัจฉริยะคือความตระหนี่ มันก็สงบตัวอยู่ ไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา
ทีนี้ถ้าเราจะทำลายให้เด็ดขาดไป การเจริญสมถภาวนาจนได้ฌานก็ยังรักษาไม่ได้ เป็นแต่เพียงข่มไว้ ถ้าจะรักษาให้หายอย่างเด็ดขาด ต้องเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนกับครูบาอาจารย์พระสงฆ์องค์เณรที่มาเจริญอยู่ทุกวันนี้ เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนาไปตามลำดับขั้น ญาณในด้านวิปัสสนาญาณก็จะเกิด ภาวนามยปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาๆ เห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เมื่อใดที่เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น โลภะก็จะค่อยๆ หมดไปๆ ตามลำดับ เมื่อใดที่สำเร็จปฐมมรรค คือได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
โลภะทั้งหมดนั้นมีอยู่ ๘ ตัว เมื่อเราสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแล้ว โลภะทั้งหมดที่มีอยู่ ๘ ตัว ก็จะละได้ ๔ ตัว เหลืออีก ๔ ตัว เมื่อใดที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถละโลภะได้หมดทั้ง ๘ ตัว อันนี้พูดโดยย่อ
โรคใจประการที่ ๒ ความโกรธคือโทสะ มันทำให้จิตใจของเราเร่าร้อนกระวนกระวาย และเดือดดาลตลอดเวลา ไม่มีที่สิ้นสุด มีอะไรมากระทบนิดหน่อยก็จะเกิดความหงุดหงิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธขึ้นมา เห็นรูปที่ไม่งามก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความแห้งใจ ความคับแค้นใจ ความท้อใจ ความทุกข์ใจ
ทุกอย่างที่กล่าวมาคือตัวโทสะทั้งหมด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะทำให้ไม่พอใจในอารมณ์ ไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เช่น เห็นรูปไม่สวยก็ไม่พอใจ ได้ยินเสียงไม่เพราะก็ไม่ถูกใจ ได้ลิ้มรสอาหารที่ไม่อร่อยก็ไม่ถูกใจ ได้กลิ่นที่ไม่ดีก็ไม่ถูกใจ ได้สัมผัสถูกต้องเสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยที่ไม่ดี ก็ไม่ถูกใจ หนักๆ เข้าก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฆ่ากันให้เบียดเบียนกัน
ดังที่เราเห็นกันอยู่ เช่น สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี แม่ฆ่าลูกตั้งแต่อยู่ในท้องหรือคลอดออกมาแล้ว ก็สามารถที่จะฆ่าได้ เพราะโทสะสามารถฆ่าได้แม้กระทั่งสามีตัวเอง ภรรยาตัวเอง ลูกตัวเอง สามารถที่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ สามารถที่จะฆ่าแม้ครูบาอาจารย์ได้ สามารถที่จะฆ่าผู้ที่มีพระคุณได้
การพูดจาปราศรัยสามารถจะด่าได้หมด ด่าได้แม้กระทั่งแดด ด่าลม ด่าแผ่นดิน แผ่นฟ้า ด่าพระอาทิตย์ ด่าพระจันทร์ ด่าดวงดาว ด่าได้แม้กระทั่งพระเณร พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ด่าไปได้หมด ทำไมถึงด่าได้ ที่ด่าได้ก็เพราะโทสะ ถ้าคิดดูดีๆ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่ไม่ดี ไม่พอใจต่างๆ ที่เกิดมาก็คือโทสะทั้งหมด ฉะนั้น เราจะต้องหาวิธีแก้ วิธีทำลาย
ตัวโทสะจะมีอยู่ ๒ ตัว คือ
๑) ความโกรธที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งกระตุ้น เช่น มีผู้มายุยงให้โกรธ ได้ยินสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ทำให้โกรธ เป็นต้น
๒) ความโกรธที่เกิดขึ้นเองโดยลำพังมันนอนอยู่ในจิตในใจของเรา เช่น นอนสบายๆ อยู่เฉยๆ ก็เกิดความโกรธขึ้นมาเอง คิดเกลียดคนนั้น คิดเกลียดคนนี้
หนักเข้าพอตื่นเช้าขึ้นมา แทนที่จิตใจจะร่าเริงแจ่มใสเบิกบาน ได้ยินเสียงต่างๆ กลับไม่พอใจไปหมด เช่น ได้ยินเสียงเมียตื่นขึ้นมาหุงข้าวก็ไม่พอใจ หาว่าทำเสียงดัง เราจะหลับจะนอน ได้ยินเสียงลูกหลานเปิดเพลง เปิดวีดีโอ ก็ไม่พอใจแล้ว ได้ยินเสียงระฆังที่วัด ก็ไม่พอใจว่า ทำไมถึงตีตั้งแต่เช้า คนกำลังหลับกำลังนอน นี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาทำให้ไม่พอใจ จึงเกิดความโกรธ เป็นต้น
วิธีรักษาความโกรธ อย่างต่ำคือการรักษาศีล เหมือนกันกับญาติโยมทั้งหลายสมาทานรักษาอยู่นี้ เช่น การรักษาศีล ๕ การรักษาศีล ๘ การรักษาศีลอุโบสถ การรักษาศีล ๑๐ การรักษาศีล ๒๒๗ ก็เป็นการผ่อนคลายความโกรธให้เบาบางลง แต่ยังรักษาได้ไม่หมด ถึงแม้จะได้ฌาน ได้สมาบัติ แม้จะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช ก็ยังรักษาไม่ได้หมด
อีกอย่าง คือการเจริญเมตตาปรารถนาให้สรรพสัตว์มีความสุขทั่วหน้ากัน เช่น เมื่อนึกถึงบุคคลที่ทำให้เราไม่พอใจ ที่มันผ่านมาหลายวันแล้วก็ตาม ให้เรานึกถึงหน้าเขาแล้วเจริญเมตตา ขอให้บุคคลที่เรานึกถึงนั้นจงมีความสุขเถิด ขอท่านจงมีความสุขเถิด
เราทำอย่างนี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความโกรธได้ ถ้าเราคิดได้ตอนไหน ก็ให้เจริญเมตตาทุกเวลาๆ ที่คิดได้ ถ้าเราเห็นใครไม่ถูกใจ ก็ให้เจริญเมตตา ขอให้คุณจงเป็นผู้มีความสุขเถิด ถ้าเจริญเมตตาอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ความโกรธนี้เบาบางลงไปเรื่อยๆ อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ มันจะเป็นอุปนิสัย ถ้าเราหัดอยู่แบบนี้ เจริญเมตตาอยู่แบบนี้ไป ถึงจะมีโกรธอยู่ ยังไม่หมด นี่แหละ คือวิธีบรรเทา
ถ้าจะรักษาให้หายอย่างเด็ดขาด ก็ให้เจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่กำลังเจริญอยู่ในขณะนี้ เมื่อเจริญไปๆ ผ่านปฐมมรรค ความโกรธก็จะเบาบางลงไป และเมื่อผ่านทุติยมรรค ความโกรธก็จะเบาบางลงไปอีก และเมื่อผ่านตติยมรรค คือปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณได้ ๓ ครั้ง ความโกรธก็หมดเลย ไม่มีเหลืออยู่ในใจอีกเลย นี่แหละคือวิธีแก้อย่างเด็ดขาด
ถ้าว่าความโกรธหาย แต่ทำไมหลวงพ่อจึงชอบด่าจัง ใช่สิพอหลวงพ่อพูดอะไรก็ว่า หลวงพ่อด่า หลวงพ่อชี้แนะแนวทางก็ว่าแต่หลวงพ่อด่า ทั้งๆ ที่เวลาที่หลวงพ่อพูดไปไม่ได้มีจิตมีใจที่จะด่าเลย มีแต่ญาติโยม พระสงฆ์องค์เณร คิดไปเองว่าหลวงพ่อด่า เพียงแค่สำนวนสำเนียงที่พูดออกไปมันไม่รื่นหู ที่พูดไปมันฟังไม่รื่นหู ก็เลยคิดเอาว่าหลวงพ่อด่า
สรุปสั้นๆ ว่า เราจะแก้ความโกรธให้มันหายไปหมดก็ต้องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณได้ ๓ ครั้ง ความโกรธมันถึงจะหมดไป
โรคใจประการที่ ๓ โมหะคือความมืดบอด ความหลง ความไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่ง คือไม่รู้จักมรรคผลพระนิพพาน มืด ๘ ด้าน ไม่รู้ว่าบุญเป็นยังไง ไม่รู้ว่าบาปเป็นยังไง
ถ้าพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์ก็ไม่รู้จัก พูดถึงเรื่องมรรค ผล นิพพานก็ไม่รู้จัก เป็นผู้ตัดเสียซึ่งประโยชน์โลกนี้ เป็นผู้ตัดเสียซึ่งประโยชน์โลกหน้า และก็ตัดเสียซึ่งประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรค ผล พระนิพพาน อันนี้แหละคืออำนาจของโมหะ เป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญา อยู่ในสังคมใดก็ไม่ฉลาด ไม่ทันคนอื่นเขา นี่แหละตัวโมหะ
ทีนี้โมหะนี้ทำอย่างไรมันถึงจะหมดเบาบางลงไป วิธีที่จะทำมีอยู่ ๒ ประการคือ
วิธีที่ ๑ ทำให้เบาบางลง การที่จะทำให้เบาบางลงก็คือการอ่านตำรับตำราธรรมะ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาหนังสือเล่มโน้นเล่มนี้มาอ่าน อ่านทั้งทางโลกและทางธรรม ก็จะทำให้มันเบาบางลงเหมือนกันกับครูบาอาจารย์ที่มีความรู้อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะเราบำเพ็ญตัวนี้ และจากการศึกษาเรียนรู้มาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่แนะนำเรา เราก็รู้ เราไปโรงเรียนประถม มัธยม ก็ทำให้เราเกิดความรู้ขึ้นมา จึงทำให้โมหะเบาบางลงไป เรียนไปจนถึงปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็จะทำให้โมหะค่อยๆ เบาบางลงไปเรื่อยๆ
สรุปแล้ว ถ้าสิ่งไหนไม่รู้ก็ให้เรียนสิ่งนั้นๆ ก็จะทำให้ความโง่ความไม่รู้เบาบางลงไปๆ
วิธีที่ ๒ ให้ถามครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ ท่านผู้รู้ ไต่ถามสิ่งที่เราไม่เข้าใจ สิ่งที่เราข้องใจสงสัย ให้ท่านอธิบายชี้แจงให้ฟังจนหมดความสงสัย นี่อย่างต่ำ อย่างสูงก็ให้เจริญวิปัสสนาภาวนาเหมือนที่พากันเจริญอยู่ทุกวันนี้ เจริญไปๆ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์โน่นแหละจึงจะหมดโมหะ ซึ่งจะมีอยู่ ๒ ตัวคือ
๑) หลง ด้วยอำนาจอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน คือหลงเพราะคิดมาก คิดมากก็ทำให้เกิดความหลงได้
๒) หลง ด้วยอำนาจวิจิกิจฉาคือความสงสัย ความสงสัยก็เป็นเหตุให้เกิดโมหะ
จิตใจฟุ้งซ่านมากก็เป็นเหตุให้เกิดโมหะ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล ก็ยังละโมหะได้เพียงตัวเดียว คือวิจิกิจฉา ความลังเลความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บุญบาป โลกนี้โลกหน้า นรกสวรรค์ มรรคผลพระนิพพาน ความสงสัยเหล่านี้มันหมดไป (คือละได้แล้ว)
ต่อเมื่อเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณที่ ๑๖ ครั้งที่ ๔ จึงจะสามารถละโมหะได้หมด คือละตัวอุทธัจจะความคิดมากนี่ก็จะหมดไป จะไม่คิดจนเป็นบ้าเหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนนี่คิดจนเป็นบ้า คิดจนเป็นโรคประสาท คิดจนความดันสูง แต่พอผ่านวิปัสสนาญาณไปจนครบแล้ว ความคิดดังกล่าวมันก็หมดไปจากขันธสันดาน
ถ้ามันหมดทั้ง ๓ ตัว ตัวอื่นไม่ต้องกล่าวถึง ตัวนี้เป็นพ่อมัน แม่มัน ปู่มัน ย่ามัน ถ้าเราฆ่ามันแล้ว ฆ่าปู่ฆ่าย่าฆ่าพ่อฆ่าแม่มันแล้ว ตัวอื่นมันก็ตายหมด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราฆ่าหัวหน้าทัพมันแล้ว ลูกน้องมันก็ตายหมด นี่คือวิธีรักษา
ถ้าเราฆ่ามันหมดจากจิตจากใจของเราแล้ว เราก็มีใจที่สบายๆ อยู่ในโลกนี้ก็เหมือนกับได้บรรลุพระนิพพานแล้ว เหมือนกับอยู่ในปรินิพพาน เพราะว่าพระนิพพานเป็นโลกุตตรสุข ไม่เหมือนสุขของโลก ไม่มีความเสียใจดีใจ เฉยๆ อยู่ตลอดเวลา มีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน ชุ่มเย็นอยู่ตลอด ได้กระทบอารมณ์ใดๆ ก็ตาม อารมณ์ที่ดีก็ตาม อารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม ก็มีใจสบายๆ ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว
หลวงพ่อคิดว่า พ่อออกแม่ออกบ้านเรา คงจะดีใจ พอใจ อิ่มใจ ปลื้มใจ หรือเต็มใจในการรักษาโรคใจ ๒ ประการ ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะว่าพวกเราก็ได้ประพฤติปฏิบัติกันมา แต่ปีนี้หรือในยุคสมัยไอเอ็มเอฟนี้ ไม่ค่อยกระตือรือร้นสักเท่าใด
เพราะว่าปีนี้ไม่ค่อยสัปปายะ ไม่ว่าอาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไม้สอย เงินทองกองแก้วก็ไม่สัปปายะ หนักๆ เข้า มาปีนี้ อากาศก็ไม่สัปปายะ เพราะว่าความร้อนมันไม่เหมือนทุกปี ปีนี้รู้สึกว่าร้อนๆ เหมือนกับเหงื่อมันจะมาเผาเนื้อเผากายเราให้สุก มันไม่สัปปายะ
การประพฤติปฏิบัติก็ไม่สะดวกสบายเหมือนทุกปี ครูบาอาจารย์ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ลำบากลำบน เพราะมันร้อนมาก ก็เลยบอกว่า ผ้านี่ไม่ต้องห่มต้องคลุมดีมากหรอก ในห้องกัมมัฏฐานนี่ เอาผ้าจีวรพาดบ่าเอาเลยมันถึงจะสะดวก สำหรับโรคใจก็ขอพักไว้เพียงเท่านี้ ไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว โรคใจคือกิเลสที่กล่าวมาข้างต้น
ทีนี้สำหรับ โรคกาย
กายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้เราจะรักษาอย่างไร โรคกายของเรา
วิธีรักษาเราก็จะต้องไปหามดหาหมอ โรงพยาบาลใดมีหมอดี ที่ไหนมียาดี
เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเราก็ไปหาท่าน โรคกายรักษาได้ด้วยหยูกยา หากว่าเราจะรักษาด้วยธรรมะ
เราก็บำเพ็ญ เราก็เว้นจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นบุคคลอื่น
และก็เว้นจากการฆ่าบุคคลอื่นสัตว์อื่น เป็นผู้มีจิตใจอันประกอบไปด้วยเมตตา
ก็สามารถที่จะผ่อนคลายโรคกายนี้ให้เบาบางลงไปได้ สำหรับโรคกายรักษาได้ด้วยยา
แต่ถ้าเราจะเอาธรรมะไปรักษาด้วย เราก็ต้องเจริญเมตตาไปด้วย เช่น ไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ข่มเหงกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ทรมานกัน ก็จะสามารถเบาบางลงไปได้
แต่สำหรับโรคกายต้องรักษาด้วยยา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า อาโรคฺยปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง สำหรับยาก็พอจะหาแพทย์หาหมอได้ สำหรับโรคกายก็ให้พากันรักษาเอา แต่อย่าให้มากเกินไปนัก มันทำให้เสียสุขภาพทีหลัง บางทีเราคิดไม่ถ่องแท้ มันก็เสีย
เอาล่ะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แจงแสดงไขในเรื่อง โรคใจ ๒ ประการ พร้อมทั้งเตือนสติมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.