สิ่งที่วิปัสสนาควรละ (โอฆะ ๔)

สิ่งที่วิปัสสนาควรละ (โอฆะ ๔)

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา คณะแม่ชีทั้งหลาย หลายวันที่ผ่าน ๆ มา ท่านทั้งหลายก็พอที่จะสังเกตได้ว่า ภาคบ่ายนี้ ธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติจะไม่เกิดอาการเครียด คือจะไม่มีอารมณ์เครียด

          เพราะว่า ธรรมะที่นำมาบรรยายให้ฟังแต่ละวันๆ ก็เป็นธรรมะที่ทำให้เบาสมอง เป็นธรรมะที่ทำให้สบายใจ ไม่ต้องเครียด เป็นธรรมะที่นำท่านทั้งหลายได้ไปตรวจดูผลของการปฏิบัติของเราว่า นับตั้งแต่เราปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ เราปฏิบัติได้ผลอย่างไร และเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาไปได้อย่างไร อะไรทำนองนี้

          เหตุนั้น ธรรมะอาจจะไม่ได้กล่าวยืดยาว เพียงแต่หัวข้อเล็กๆ น้อยๆ ให้เบาสมอง เป็นวันๆ ไป สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่อง สิ่งที่วิปัสสนาควรละ มาให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา

          สิ่งที่ผู้เจริญวิปัสสนาควรละนั้นก็มีอยู่หลายประการ แต่สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่องของ โอฆะ ๔ ประการ มาบรรยายโดยสังเขปกถา ประมาณสักสามนาทีหรือห้านาทีก็แล้วแต่ คำว่า โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำ เพราะว่า เป็นสภาวะที่เหมือนกันกับกระแสน้ำท่วมใจสัตว์

          โอฆะนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

          ๑.    กาโมฆะ โอฆะคือกาม คือความใคร่อยู่ในรูปของมนุษย์ทั้งชายทั้งหญิงบ้าง หรือมีความใคร่ความพอใจอยู่ในรูปของสัตว์เดรัจฉาน ทั้งตัวผู้ตัวเมียด้วย หรือมีความใคร่ความพอใจในวัสดุต่างๆ ที่เราได้ประสบ หรือว่ามีความใคร่ความพอใจในเสียงที่ไพเราะ สรุปแล้วว่า มีความใคร่ความพอใจในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

          ความใคร่นี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์ ถอนได้ยาก การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่วนมากนั้น เราข้ามไม่ได้ เมื่อข้ามยากหรือทำจิตทำใจไม่ได้ เพราะจิตใจของเรานั้นมันถูกราคะท่วมจิตท่วมใจของเราอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ไปถูกรูปที่สวยๆ เช่น รูปของผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วทำให้เกิดความพอใจ ชอบใจ ติดใจ หลงใหลอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ความใคร่อย่างนี้ ท่านจึงกล่าวว่าเป็น ดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์

          สรุปง่ายๆ ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็ตาม มีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตาม เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เป็นของที่มีวิญญาณก็ตาม ไม่มีวิญญาณก็ตาม สิ่งใดที่ทำให้เกิดความใคร่ ความพอใจ คนชอบและติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น สิ่งนั้นแหละถือว่า เป็นกาโมฆะ โอฆะคือกาม

          กาโมฆะนี้ เป็นกระแสน้ำที่ท่วมทับใจสัตว์อยู่ ถอนได้ยาก เราทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า บางทีเราไปติดอยู่ในรูป เมื่อก่อนเรายังไม่บวช ก็ไปติด สมมติว่า ไปติดอยู่ในรูปของผู้หญิงอย่างนี้ เรามาบวชแล้วก็ยังไปติดอยู่ ถอนได้ยาก หากว่าเราไปชอบรูปผู้หญิง หรือชอบคนโน้น ชอบคนนี้ บางทีก็นอนไม่หลับ หนักๆ เข้าเป็นประสาท หนักๆ เข้าทำอัตตวินิบาตกรรม ฆ่ากัน ทำลายกัน อะไรจิปาถะ

          สัตว์โลกทั้งหลายเกิดความวุ่นวายทำการประหารกันอยู่ทุกวันๆ นี้ เพราะเรื่องกาโมฆะเป็นสิ่งสำคัญ บางทีเราเองก็ไปติดเขา เด็กผู้หญิงอายุ ๑๐ ปี ๑๑ ปี หรือ ๑๒ ปี ก็ต้องเป็นผู้ขายตัวแล้ว นี่มันติดกันอยู่อย่างนี้ เด็กผู้ชาย ๑๑ ปี ๑๒ ปี ไปสุงสิงติดอยู่ในรูปที่เป็นสภาคารมณ์ คือรูปผู้หญิง ถอนตัวได้ยาก เพียงแต่รูปอย่างเดียวเกือบตายแล้ว

          พวกเราเจริญพระกัมมัฏฐาน แทนที่จะได้ผ่านไปได้เร็วๆ กลับมาติดอยู่ในรูปนี้ บางทีพรรษาทั้งพรรษา ปีทั้งปี ก็ยังไม่สามารถที่จะยกจิตยกใจให้พ้นจากกระแสของกามนี้ไปได้ หลงใหลลุ่มหลงอยู่ตลอดเวลา คือว่าเป็นของที่รุนแรงพอสมควร

          เพียงพูดย่อๆ อย่างนี้ เราทั้งหลายก็คงพอที่จะรู้ว่า เพียงแต่รูปอย่างเดียวก็เกือบตายแล้ว บางทีอยู่ไม่ได้ต้องลาสิกขาลาเพศไป บางทีต้องทำบาปทำกรรมในขณะที่เรายังเป็นพระ เป็นเณร เป็นชีอยู่ ถ้าเราตกอยู่ในอำนาจของรูป เพราะมีความใคร่ในรูปนี้

          ๒.    ภโวฆะ โอฆะคือภพ คืออยากอยู่ อยากเป็น อยากมี อยากเกิด ในภพที่ตนชอบ ที่ตนเห็นว่าเป็นสุข เช่น อยากอยู่ อยากเป็น อยากเกิดในภพทั้ง ๓ ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าหากยังมีความเกิดอีก ก็ขอให้เกิดในมนุษย์นี้

          บางคนก็ว่า ถ้าหากข้าพเจ้ายังเกิดอีก ก็ขอให้ไปเกิดในเทวโลก หรือหากว่าข้าพเจ้ายังเกิดอีก ก็ขอให้เกิดอยู่ในพรหมโลก แต่ก็ไม่มีใครปรารถนาที่จะไปเกิดในอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

          ส่วนมากก็อยากไปเกิดในมนุษย์บ้าง เกิดในเทวโลกบ้าง เกิดในพรหมโลกบ้าง ทำบุญสุนทานอะไรๆ ก็ตาม ก็ปรารถนาแต่อยากไปเกิดในภพในภูมินั้นๆ โดยไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่าภพทั้ง ๓ ก็เหมือนกันกับหลุมถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว พร้อมที่จะเผาไหม้สรรพสัตว์ทั้งหลายให้เกรียมไปหมดไป

          ภพทั้ง ๓ ที่ท่านว่าเป็น โอฆะ ก็เพราะว่าภพทั้ง ๓ ยังมีเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ แม้ว่าจะไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา เป็นพรหมก็ยังมีเกิดมีแก่อยู่ ยังมีทุกข์ ยังเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาสภาวะที่บังคับบัญชาไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเราขาดการพิจารณา เพราะตกอยู่ในอำนาจของภวตัณหา เหตุนั้น ความปรารถนาภพหรือความข้องอยู่ในภพ ติดอยู่ในภพ จึงจัดเป็นโอฆะ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมทับใจของสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลา

          ๓.    ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ หมายถึง มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เช่น สัสสตทิฏฐิ คือ เห็นว่าสัตว์โลกนี้เป็นของเที่ยง สมมติว่า คนเรานี้เที่ยง เกิดเป็นอะไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น เกิดเป็นคนก็จะเป็นคนอยู่อย่างนั้นตลอดไป เกิดเป็นสัตว์ก็เป็นสัตว์อยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ

          บางพวกก็เห็นว่าเป็น อุจเฉททิฏฐิ เห็นผิดว่าขาดสูญ คือเห็นว่าเกิดมาเป็นคนนี้ หากว่าตายแล้วก็ขาดสูญ ไม่เกิดในภพหน้าชาติหน้าอีกต่อไป

          บางทีก็เป็นประเภท อกิริยทิฏฐิ เห็นว่าไม่เป็นอันทำ เห็นว่าคนฆ่ากันทำลายกันก็ไม่เป็นบาป เป็นแต่ธาตุแต่ละธาตุๆ ที่มันเป็นปฏิปักษ์กันก็ทำลายกัน เช่น ธาตุน้ำกับธาตุไฟ มันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันก็ทำลายกัน หรือธาตุใดที่เกื้อกูลกัน เช่น ธาตุดินธาตุน้ำอย่างนี้ มันก็เกื้อกูลกัน เมื่อเกื้อกูลกันแล้วก็ทำลายกัน ก็ไม่เป็นบาป ฉะนั้น การฆ่ากันเบียดเบียนกัน ก็ถือว่าไม่เป็นบาป เป็นเพียงธาตุแต่ละธาตุๆ ที่มันเป็นปฏิปักษ์กันเกื้อกูลกันแล้วก็ทำลายกัน อะไรทำนองนี้ เขาเรียกว่าเป็นพวกอกิริยทิฏฐิ

          บางทีก็เป็นประเภท อเหตุกทิฏฐิ คือหาเหตุไม่ได้ ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ถือว่าหาเหตุไม่ได้ เมื่อมันถึงคราวสุขมันก็สุขเอง ถึงคราวทุกข์มันก็ทุกข์เอง ผลของบุญของบาปนั้นไม่มี

          บางทีก็เป็นประเภท นัตถิกทิฏฐิ คือเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มี ขอพูดย่อๆ

          มิจฉาทิฏฐินี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์ ถอนได้ยาก เหตุนั้น ท่านจึงจัดเป็นโอฆะประการหนึ่ง

          ทิฏฐิ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ หากว่ายังไม่สามารถที่จะละได้ ก็ถือว่าเป็นการปิดกั้นพระนิพพาน คือผู้ปฏิบัติ หากว่ามีทิฏฐิดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ถึงจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างไร ก็ไม่สามารถได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน แต่ไม่ห้ามสวรรค์ คือผู้มีทิฏฐิประเภทนี้ยังไปสวรรค์ได้อยู่ และมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อยู่ ไปเกิดในเทวโลกได้อยู่ แต่ว่าจะไปพระนิพพานนั้นไม่ได้ หากว่ามีทิฏฐิอยู่อย่างนี้

          ๔.    อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา ความโง่ ความเขลา ความไม่ฉลาด ความไม่รู้ โดยใจความก็คือไม่รู้อริยสัจ ๔ คือไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย คือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ไม่รู้มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยมีอวิชชาเป็นรากเหง้า เป็นรากแก้วของกิเลสทั้งหลาย เป็นต้นสายของกิเลสทั้งปวง เป็นสภาวะที่พาให้สัตว์จมอยู่ในวัฏฏะ ล่องลอยอยู่ในสงสารสาคร มองไม่เห็นฝั่งคือพระนิพพาน เหตุนั้น อวิชชาจึงจัดว่าเป็น โอฆะ คือเป็นดุจกระแสน้ำท่วมทับใจสัตว์อยู่ประการหนึ่ง

          โอฆะทั้ง ๔ นี้ บางทีก็เรียกว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ บางทีก็เรียกว่า
อาสวะ
เพราะเป็นสภาพหมักดองอยู่ในขันธสันดาน เป็นสิ่งที่วิปัสสนาควรละ นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังมีอีก คือเรียกอีกหลายประการ บางทีก็เรียกว่า คันถะ เพราะเป็นเครื่องร้อยรัดใจของสัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา เช่น

          อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ พยาบาท ความปองร้าย อิทังสัจจาภินิเวส ความยึดมั่นว่าสิ่งนี้มีจริง สีลัพพตปรามาส ความยึดถือศีลพรต คือเห็นว่า(ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วแห่งดวงจิต)มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างโน้นอย่างนี้

          สีลัพพตปรามาส นี้ถือว่าเป็นความเห็นผิดจากหลักธรรมของพระศาสนา ดังมีบาลีอภิธรรมว่า เอเตน สีเลน สุทฺธิ   เอเตน วตฺเตน สุทฺธิ ฯเปฯ

          การสำคัญผิดว่า ถ้าเราประพฤติศีลอย่างนี้ ประพฤติพรตอย่างนี้ จะบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสตัณหา

          ความคิดอย่างนี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ดังที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเรื่องปริพาชกสองคน คนหนึ่งชื่อ ปุณณะ คนหนึ่งชื่อ เสณียะ

          คนหนึ่งประพฤติอย่างนี้ คือไม่กินข้าว กินแต่หญ้า ไม่นุ่งไม่ห่ม เปลือยกายล่อนจ้อน ที่นอนไม่นอน ชอบนอนกับดิน ลงโคลนลงเลนไป เหมือนกันกับวัว

          อีกคนหนึ่งกินข้าว แต่ไม่กินเหมือนคน เอาปากขม้ำกินเหมือนกันกับสุนัข ผ้าก็ไม่นุ่ง ไม่ห่ม เวลาจะนอนก็ไปเดินวนก้อนเส้าเตาไฟเหมือนสุนัขเสียก่อน

          การที่พวกเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ เพราะมีความเห็นว่า คนที่นุ่งผ้า ห่มผ้า กินข้าวอย่างนั้นเป็นคนมีกิเลส ต้องทำอย่างเขาจึงจะหมดกิเลส

          ความเห็นความประพฤติอย่างนี้แหละเรียกว่า สีลัพพตปรามาส ความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จัดเข้าในทิฏฐิสังโยชน์ ดังบาลีว่า ทิฏฺฐิคตํ ทิฏฺฐิคหนํ เป็นต้น ใจความว่า ทิฏฐิ คือความเห็นผิด ความเห็นตกไปในทางสีลัพพตปรามาส การถือมั่นศีลและพรตว่า(ความบริสุทธิ์)มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้

          สรุปแล้ว ที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาสนี้ คือความประพฤติใดๆ ก็ตามที่ขัดจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ  สิ่งนั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส หากว่าเรายังละไม่ได้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานได้เลย

          สรุปว่า โอฆะทั้ง ๔ ประการ คือ กาโมฆะ โอฆะคือ กาม ภโวฆะ โอฆะคือภพ ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา โอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจของสรรพสัตว์อยู่ ละได้ยาก

          เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องละโอฆะคือสภาวะที่ลามกท่วมจิตใจสรรพสัตว์อยู่นี้ให้หมดไปสูญไปจากขันธสันดาน ถ้าว่าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าโอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ยังท่วมจิตใจของเราอยู่ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะพ้นจากสังสารจักรไปได้ อุปมาเหมือนดอกบัวที่พ้นขึ้นมาจากน้ำแล้ว หากไม่มีแสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถที่จะบานได้ ข้อนี้ฉันใด พวกเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากว่าเราไม่พยายามละโอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ให้หมดไปจากขันธสันดานแล้ว โอกาสที่จะบรรลุอริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพานนั้น ไม่ได้เป็นอันขาด

          เอาละท่านทั้งหลาย สำหรับเรื่อง โอฆะ หลวงพ่อก็ขอพูดแต่ย่อ ๆ แต่เพียงแค่นี้.