อุปกิเลส ๑๑ ประการ

อุปกิเลส ๑๑ ประการ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำมาเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง อุปกิเลส ๑๑ ประการ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมสืบไป

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ท่านทั้งหลายก็ทราบดีแล้วว่า เป็นมรรคาดำเนินไปสู่อริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไป จนถึงชั้นได้เป็นพระอรหันต์

          แต่การดำเนินตามปฏิปทาเพื่อบรรลุสามัญผลนั้น ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางเป็นของธรรมดา การงานทุกอย่าง จะเป็นการงานทางโลกก็ตาม จะเป็นการงานทางธรรมก็ตาม ก็ย่อมมีอุปสรรค การศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จะเป็นนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอกก็ดี ธรรมศึกษาตรี โท เอกก็ดี หรือจะเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็ดี ต้องมีอุปสรรคกีดกันขัดขวางทั้งนั้น

          หากว่าคนเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วไม่มีอุปสรรคขัดขวาง ป่านนี้โลกทั้งโลกคงมีแต่ความร่มเย็น ไม่มีสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นมาแทรกแซง ทุกคนคงจะมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาสำหรับบำบัดโรค

          หากว่าทุกคนทำงานสำเร็จตามความประสงค์ ตามความตั้งใจทุกประการแล้ว โลกทั้งโลกคงเป็นแดนเทวโลกไป แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามต้องการของคนเรานั้น เพราะว่าการงานทุกอย่างทั้งทางโลกและทางธรรม มีอุปสรรคมากั้นกางขัดขวาง จึงไม่ได้ผลเต็มที่

          การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ตามปกติ ถ้าหากว่าผู้ไม่มีอุปสรรคขัดขวางในการปฏิบัติ เราปฏิบัติมาเดือนหนึ่งนั้น สามารถที่จะบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามีได้ เพราะว่ากฎเกณฑ์การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมูลและไม่มีอุปสรรคขัดขวางแล้ว ผู้เจริญตอนเช้าย่อมได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตอนเย็น ผู้เจริญตอนเย็นย่อมได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตอนเช้า

          หรือบางครั้งก็ผ่านไปวันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หรืออย่างมากที่สุด การได้บรรลุเป็นพระโสดาบันนี้ หากไม่มีอุปสรรคใดๆ ขัดขวาง ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน

          แต่ที่ไม่อาจเป็นไปตามที่กล่าวมานี้ได้ ก็เพราะว่ามีอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง อุปสรรคนั้นมีมากมายหลายประการ แต่จะได้นำมาบรรยายวันนี้ เพียง ๑๑ ประการ[1]คือ

          ๑.    วิจิกิจฉา ความสงสัย ความสงสัยนี้เราแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ

          ความสงสัยอย่างต่ำ ได้แก่ สงสัยในเรื่องบาปมีจริงไหม บุญมีจริงไหม เปรตมีจริงไหม อสุรกายมีจริงไหม นรก สวรรค์ พระนิพพาน มีจริงไหม นี้เป็นความสงสัยขั้นพื้นฐาน

          ความสงสัยอย่างกลาง ได้แก่ การสงสัยซึ่งเกิดขึ้นจากการเจริญสมถภาวนา สภาวธรรมใดๆ เกิดขึ้น มีความสงสัยเอะใจว่า นี้หรือท่านว่าเป็นฌาน เป็นสมาบัติ นี้เป็นปฐมฌานหรือทุติยฌาน ตติยฌานหรือจตุตถฌานหนอ หรือว่าอันนี้เป็นอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรืออย่างไร เป็นต้น จัดเป็นวิจิกิจฉาอย่างกลาง

          ความสงสัยอย่างละเอียด เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือเมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานไป จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม เป็นนิมิต เห็นป่าไม้ ภูเขา ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ก็ตาม เกิดปีติ เกิดโอภาสแสงสว่าง เกิดศรัทธา เกิดความเพียร เกิดอุปกิเลสอะไรก็ตาม มีความสงสัยเอะใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ นี่อะไรหนอ เพียงแต่เอะใจเท่านั้น ยังไม่ได้คิดอะไรเลย จัดเป็นวิจิกิจฉาแล้ว วิจิกิจฉาเกิดขึ้นมาแล้ว

          หมายความว่า สิ่งไรที่เกิดขึ้นมาทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี สภาวะที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า อันนี้อะไรหนอ เพียงแต่ว่า เอ๊ะ เท่านั้น ยังไม่ว่าอะไรหนอ เป็นวิจิกิจฉาแล้ว

          วิจิกิจฉานี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราลังเล ถ้าเป็นไปอย่างสูง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วทำให้จิตของเราพรากจากสมาธิ ตกจากสมาธิ เมื่อจิตของเราตกจากสมาธิ วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

          เหตุนั้น ครูบาอาจารย์จึงแนะนำพร่ำเตือนอยู่เสมอว่า มีอะไรเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตาม ขออย่าได้มองเฉยอยู่ ให้กำหนดตามอาการของมัน เช่น เจ็บหนอ คันหนอ ปวดหนอ หรือเฉยหนอ อะไรทำนองนี้

          ให้กำหนดตามอาการของมัน อย่าไปมองเฉยอยู่ ไม่รู้จักชื่อหรือไม่รู้จะกำหนดว่าอย่างไรก็ให้กำหนดว่า รู้หนอๆ เรียกว่ารู้อาการของมัน อย่าปล่อยให้เอะใจ เมื่อเอะใจก็ขาดการกำหนด ทำให้เป็นตัวโมหะ ทำให้กั้นกางสภาวธรรมของเราไม่ให้เจริญขึ้นได้ ขอให้สังวรระวังให้ดี

          ๒.    อมนสิการะ เมื่อปฏิบัติไป ทำใจไม่ดี ปกครองใจไว้ไม่ตรง จิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ ไม่ได้ประคับประคองจิต ไม่ได้เชิดชูจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขาดโยนิโสมนสิการ ไม่ได้เอา สติ หยั่งลงไปถึงที่เกิดที่ดับของรูป ของนาม ของอาการพองอาการยุบ

          หรือในเวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน ไม่ได้เอาจิต ไม่ได้เอาสติปักลงไปในขณะเดิน ตั้งแต่เริ่มยก กลางยก สุดยก เราไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้ตริตรอง ไม่ได้เอาจิตเอาสติหยั่งให้ถึงที่เกิดที่ดับ เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม เป็นต้น ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ

          เมื่อเราไม่ประคองใจ ปล่อยใจไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ในเวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ อยู่ก็ตาม ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา

          ๓.    ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นครอบงำจิต ทำให้การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง จิตจับอารมณ์ไม่ได้มั่นคง จิตไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้ เช่น เวลานั่งไป สัปหงกไปข้างหน้าข้างหลัง หรือข้างซ้าย ข้างขวา หรือหลับไป

          หรือบังเอิญเข้าสมาธิไป ก็ไม่สามารถที่จะจำได้ว่า สัปหงกหรือผงะไป หรือนั่งหลับไป ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก หรือตอนที่ภาวนาว่าอย่างไรก็ไม่รู้ จำไม่ได้ หรือว่าตอนเข้าสมาธินั้น เข้าไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ หรือกำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่าอย่างไรก็จำไม่ได้ ไม่สามารถตัดสินใจได้ ไม่สามารถที่จะจับปัจจุบันธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล

          ๔.     ฉัมภิตัตตะ จิตเกิดความสะดุ้ง หมายความว่า ในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น บางครั้งจิตของเรากำลังจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปรากฏนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เห็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว มีตะขาบบ้าง งูบ้าง แมงป่องบ้าง เห็นยักษ์ เห็นภูตผีปีศาจ พวกนี้เป็นต้น จิตก็เกิดความสะดุ้งเกิดความกลัวขึ้นมา บางทีกลัวจะเป็นอันตราย  กลัวจะเป็นบ้าเสียสติอะไรทำนองนี้

          เมื่อจิตเกิดความกลัวเกิดความสะดุ้งเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เพราะผู้ปฏิบัติไม่กล้าตัดสินใจ หรือบางครั้งจิตก็เกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าเราทำกัมมัฏฐานไป ได้ฌาน ได้สมาบัติ เราจะไม่ได้สิกขาลาเพศไปอยู่กับลูกกับผัว ไปอยู่กับลูกกับเมียอีก นี้ก็คิดขึ้นมา

          หรือบางทีก็คิดว่า ถ้าเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปอย่างนี้ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เราคงไม่ได้ลูกได้เมียกับเขา เราคงไม่ได้ลูกได้ผัวกับเขา เพราะหลวงพ่อท่านว่า ถ้าใครบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว สามารถตัดความโกรธ ตัดกามราคะ ให้หมดไปจากขันธสันดาน ไม่มีการสร้างครอบครัวอีกต่อไป เรานี้เกิดขึ้นมาแล้วยังไม่ได้ลิ้มรสทางโลกกับเขาเลยว่าเป็นอย่างไร อย่ากระนั้นเลย เราหยุดเพียงแค่นี้ก็พอแล้ว

          เหมือนกันกับหลวงตารูปหนึ่งที่มาจากอำนาจเจริญ มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ได้สมาธิ นั่งสมาธิได้นานตั้ง ๖ ชั่วโมง หลังๆ มาแล้วไม่ยอมเดินจงกรม ไม่ยอมนั่งสมาธิ เลิกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ครั้งแรกนั้นตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ พอไปถามว่า ท่านหลวงตา ทำไมไม่เดินจงกรม ทำไมตอนนี้ถึงไม่ปฏิบัติ ท่านก็บอกว่า ผมคิดว่าถ้าผมได้สมาธิอย่างนี้ๆ สมาธิผมดีขึ้นเรื่อยๆ แก่กล้าขึ้นไป ผมคงจะไม่ได้สึก ผมกลัวจะไม่ได้ไปหาลูกหาเมียที่อยู่ทางบ้าน พอพูดเท่านั้นแหละ เพื่อนๆ ก็หัวเราะขึ้นมา เป็นอย่างนี้ กิเลสสามารถที่จะทำให้จิตใจของเราเปลี่ยนแปลงไปได้

          ๕.    อุพพิละ ความตื่นเต้น หมายความว่า แต่ก่อนเรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมดา เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สิ่งอันใดที่ยังไม่เคยรู้ก็รู้ ยังไม่เคยเห็นก็เห็น ยังไม่เคยเป็นก็เป็นขึ้นมา สิ่งอะไรลึกลับ เมื่อก่อนเราไม่ได้คิดถึงเรื่องอย่างนี้เลย ก็ปรากฏขึ้นมา

          บางครั้งก็เห็นแสงสว่าง เห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ บางครั้งนั่งไปก็เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทพบุตรเทพธิดา บางทีก็เห็นเปรต เห็นอสุรกาย บางครั้งนั่งไป เห็นคนที่ตายไปแล้ว บางครั้งนั่งไป เห็นพ่อเห็นแม่ เห็นครูบาอาจารย์ บางครั้งนั่งไป เห็นพระอรหันต์ เห็นพระพุทธเจ้า ก็เกิดความตื่นเต้นขึ้นมาว่า เราเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเกิดความตื่นเต้น จิตก็ตกจากสมาธิ วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

          ๖.    ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบ หมายความว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ตามปกติแล้ว ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไรจิตก็ยิ่งประณีตขึ้นไปตามลำดับๆ เพราะกิเลสตัณหามันลดลงไป จิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ

          ในทางตรงกันข้าม แทนที่กิเลสหยาบเหล่านี้จะลดลงไป เบาบางลงไป หรือสงบระงับลงไปจากขันธสันดาน ยิ่งปฏิบัติไปก็ยิ่งหยาบขึ้นมา ความโลภก็เกิดขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ความโกรธก็ทวีขึ้น ความหลงก็เพิ่มขึ้น

          พวกราคะ แทนที่จะเบาบางลง ยิ่งกลับเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราคิดดูแล้ว พวกราคะนี้ยิ่งรุนแรง เกิดขึ้นเป็น ๓๐ เท่า ๔๐–๕๐ เท่า บางทีเกิดราคะความกำหนัดอยู่ตั้ง ๓ วันก็มี ๕ วันก็มี ๗ วันก็มี

          บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินในนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น บางครั้งก็ให้ชอบใจพอใจในอารมณ์ต่างๆ นี่แหละ เมื่อเกิด ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบขึ้นมา ยิ่งปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปเท่าไร โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

          ๗.    อัจจารัทธวิริยะ ทำความเพียรเกินพอดี อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ความเพียรนี้เป็นของดี แต่หากว่ามันเกินพอดีก็ใช้ไม่ได้ เพราะทำให้เกิดความตึงเครียด ทำให้เป็นบ้าเสียสติได้

          เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่า ความเพียรเกินพอดี คือเวลาเดินจงกรมอยู่ก็ดี เวลานั่งสมาธิอยู่ก็ดี จะคิดมาก ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง บางที ๑๐ นาที คิดสร้างหนังสือแต่งหนังสือจบไปเป็นเล่มๆ หรือบางทีคิดอยากสร้างถาวรวัตถุ คิดสร้างกุฏิวิหาร ๑๐ นาที เสร็จไปหลายๆ หลัง สามารถที่จะเนรมิตกุฏิวิหารวัดวาอาราม อะไรร้อยแปดพันประการ สร้างวิมานในอากาศ สร้างสมบัติบ้าขึ้นมา

          ถ้าจิตของเราอยู่ในลักษณะดังนี้ แสดงว่าความเพียรเกินพอดีแล้ว เกิดความตึงเครียดขึ้นมาแล้ว คิดมากไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะควบคู่กันไป เพราะถ้าความเพียรมากเกินไป สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เสียสติเป็นบ้าไปได้ เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้น ท่านต้องเป็นผู้ฉลาด พยายามจำปัจจุบันธรรมให้ได้ จำอารมณ์ให้ได้

          ๘.    อติลีนวิริยะ มีความเพียรหย่อนเทิบทาบ นอกจากจะมีความเพียรเกินพอดีแล้ว หากว่าความเพียรของเราหย่อนจนเกินไป การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน

          อย่างไรเรียกว่าความเพียรหย่อนเทิบทาบ เช่นว่า วันหนึ่งนี้ควรที่จะปฏิบัติได้ ๘ ชั่วโมง หรือ ๑๐ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่การปฏิบัติของเราย่อหย่อนกว่านั้น หรือบางทีนอกจากชั่วโมงปฏิบัติกัมมัฏฐานไปแล้ว เราไม่ได้ตั้งสติกำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไป

          เราจะไปห้องน้ำห้องสุขา หรือจะเดินไปฉันภัตตาหาร หรือจะปัดกวาดวิหาร ลานพระเจดีย์ กุฏิที่อยู่อาศัย นุ่งสบงทรงจีวร เหล่านี้เป็นต้น เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีก็คลุกคลีด้วยหมู่คณะ คุยกัน ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

          ๙.    อภิชัปปา กิเลสกระซิบที่จิต ข้อนี้สำคัญ เวลามาปฏิบัติ ส่วนมาก หากว่าเรากำหนดไม่ทัน ก็ทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ คือบางทีเรานั่งพระกัมมัฏฐานไป มีเสียงมากระซิบว่า อย่านั่งๆ เรานอนกำหนดดีกว่า หรือว่าการกำหนดอย่างนี้ไม่ถูก กำหนดอย่างนั้นจึงจะถูก บางทีเวลาเดินจงกรมก็มีเสียงกระซิบว่า อย่าเดินๆ นั่งเอาดีกว่า

          บางทีก็กระซิบว่า ขณะนี้เจ้าบรรลุโสดาปัตติผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าบรรลุสกทาคามิผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าบรรลุอนาคามิผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าเป็นพระอรหันต์แล้วนะ เจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นะ เจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทโพธิสัตว์นะ อะไรทำนองนี้

          หรือบางทีก็กระซิบว่า เจ้านี้เมื่อก่อนทำบาปทำกรรมไว้มาก เอาเป็ดเอาไก่มาฆ่า หากว่าอยากได้ผลจากการปฏิบัตินี้ ต้องไปเอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ไปหาซื้อไก่ซื้อเป็ดมา หรือไปหาขอเอาไก่เอาเป็ดชาวบ้านมาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย หรือกระซิบว่า แต่ก่อนนั้นเจ้าได้ฆ่าหมู หากว่าอยากได้ผลจากการปฏิบัติ ต้องเอาหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรม ถึงเวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะจูงหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

          ดังแม่ชีคนหนึ่งที่มาจากอำเภอตระการพืชผล บางทีก็เอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม บางทีก็เอาหมูมาฟังธรรม บางครั้งก็เอานกมาฟังธรรม อภิชัปปา นี้ หากว่าเราทำไปตามอำนาจของมัน ก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้

          บางที เรานั่งขัดสมาธิดีๆ มันก็มากระซิบว่า นั่งอย่างนี้ไม่ดี ไปหาหมอนมาพิงจะดีกว่า เหมือนกันกับหลวงปู่เดชา ที่ท่านกลับไปวัดแล้ว เวลาปฏิบัติ อภิชัปปา มากที่สุด เดี๋ยวให้ทำไปอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ท่านหลวงปู่ก็ทำไปตามนั้น แล้วมาเล่าให้ฟัง ก็คิดว่า อย่างนี้ไม่ได้การแล้ว ปล่อยไว้นานจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ ก็เตือนไปว่าอย่าทำอะไรตามจิตสั่ง อย่าทำตามอำนาจของกิเลสกระซิบที่จิตเรา กำหนดไม่ทันจะทำให้เสียผู้เสียคน ให้ทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตายก็ได้ ชี้แจงแสดงไขไปหลายสิ่งหลายประการ ท่านก็ตั้งอกตั้งใจกำหนด ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้

          อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติ พวกอภิชัปปานี้เราพึงสังวรระวังให้มาก บางทีจะกระซิบว่า หยุดการปฏิบัติเสียเถิด ปฏิบัติในชาตินี้เพียงเท่านี้ก็พอ ขั้นสังขารุเปกขาญาณนี้พอแล้ว ไม่สามารถจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรอก เพราะว่าเราได้ปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้ว เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องออกไปบำเพ็ญบารมี ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนจึงจะได้ตรัสรู้ ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานชาตินี้พอแค่นี้ก่อน เพราะเต็มเปี่ยมแล้ว เราทำบุญทำทานอย่างอื่น บำเพ็ญบารมีอย่างอื่นไป อย่างนี้ก็มี

          หรือบางทีก็กระซิบว่า ไม่สามารถที่จะทำไปได้หรอก เพราะยังขาดผู้บำเพ็ญบารมีร่วมกัน ถ้าอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลต้องกลับไปโปรดเขาเสียก่อน ก็ต้องสะพายบาตรแบกกลดไปเที่ยวโปรดเขา

          บางทีกระซิบมาว่า ไม่ได้ๆ ต้องไปโปรดพ่อแม่เสียก่อน พ่อแม่นี้ได้ทำบุญร่วมกันมา ได้ปรารถนาร่วมกันมา ต้องไปโปรดพ่อแม่ก่อนจึงจะได้ผล เราก็ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง เป็นภาระต้องออกจากห้องปฏิบัติไปขอร้องพ่อแม่ให้มาประพฤติปฏิบัติ

          เหตุนั้น ขอให้สังวรระวังให้ดี อย่าตกอยู่ใต้อำนาจของมัน และการกระซิบของ อภิชัปปา นี้ บางทีก็เป็นแบบฉุกคิดขึ้นมาเอง ไม่มีเสียง บางทีก็เป็นเหมือนมีผู้มาพูดอยู่ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง ข้างหน้าบ้าง หรือเหมือนเทวดาเหาะมาพูดอยู่ข้างบนก็มี หรือมาพูดอยู่ใต้ที่นั่ง ใต้แคร่ใต้เตียงก็มี ได้ยินเสียงพูดมาจากนอกตัวเรา

          แต่บางทีมันเกิดขึ้นอย่างแก่กล้า ก็จะมีเสียงดังขึ้นที่หัวใจของเราทีเดียว เกิดขึ้นที่ หทัยวัตถุ ของเรา เหมือนกันกับเราเอาวิทยุไปไว้ภายในอกของเรา ถ้าสภาวธรรมแก่กล้า สมาธิก็แก่กล้าแล้ว เพียงแค่คนอื่นคิดเท่านั้นก็มาดังอยู่ที่หัวใจของเราแล้ว บางทีก็เข้าใจผิดคิดว่าเราได้ ปรจิตตอภิญญาขึ้นมา อภิชัปปานี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าทำตามอำนาจของอภิชัปปาก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ได้บรรลุสามัญผลได้

          ๑๐.  นานัตตสัญญา เมื่อปฏิบัติไป จิตมุ่งไม่แน่ คือมุ่งอารมณ์นั้นบ้าง อารมณ์นี้บ้าง หลายอย่าง สับสน จับอารมณ์ไม่มั่น เช่น กำหนดว่า พุทโธๆ อย่างนี้ก็คิดว่าใช้ไม่ได้ สู้พองหนอยุบหนอไม่ได้ ก็กำหนดพองหนอยุบหนอไป แล้วก็คิดอีกว่า พองหนอยุบหนอไม่ดี สู้กำหนดว่ารู้หนอๆ ไม่ได้ ก็กำหนดรู้หนอๆ ไป

          กำหนดรู้หนอๆ ไปแล้วก็คิดจะกำหนดอย่างอื่นไปอีก บางทีก็กำหนดว่า สัมมาอะระหังๆ บางทีก็กำหนดว่า นะมะพะทะๆ เปลี่ยนไปเรื่อย เดี๋ยวก็ภาวนาบทนั้น เดี๋ยวก็ภาวนาบทนี้ บางทีก็คิดว่า การภาวนาการบริกรรมนี้ใช้ไม่ได้ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ สู้มองดูความเคลื่อนไหวของรูปนามเฉยๆ ไม่ได้ การตั้งสติจับอยู่หรือดูอยู่พิจารณาอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปรมัตถ์แท้

            ผลสุดท้ายก็นั่งอยู่เฉยๆ ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ภาวนา ไม่ได้กำหนดเลย เมื่อจิตจับอารมณ์ไม่มั่น สับสนอย่างนี้ หรือปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจจิตอย่างนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

          ๑๑อตินิชฌายิตัตตา เพ่งเกินไป เร่งเกินไป คือเวลาทำกัมมัฏฐานก็ตั้งไว้ในจิตในใจว่า นั่งคราวนี้ เราจะทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น นั่งคราวนี้ จะทำสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้น เราจะให้ได้อย่างนี้ๆ ในชั่วโมงนี้แหละ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเพ่งเกินไป เร่งเกินไป เพ่งเกินควร

          หากว่าการปฏิบัติของเราตึงเครียดเกินไปอย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานอะไรได้ หนักๆ เข้าก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้

          เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อุปกิเลส ๑๑ ประการ มาบรรยายแล้วนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


[1]  (สุตฺต. ม. อุปริปณฺณาสก ๑๔/๔๕๙-๔๖๓/๓๐๗)