อินทรีย์ ๕
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อินทรีย์ ๕ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ มีอยู่ ๕ ประการคือ
๑. ศรัทธา เป็นใหญ่ในความเชื่อ เช่น
๑) กมฺมสทฺธา เชื่อกรรม คือเชื่อว่าการทำดี พูดดี คิดดี ถือว่าเป็นกุศลกรรม ย่อมทำให้ได้รับความสุข ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เป็นอกุศลกรรม ทำผู้ประพฤติให้ได้รับความทุกข์
๒) วิปากสทฺธา เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายที่ได้รับความสุขอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะเนื่องจากผลกรรมที่ตนได้ทำดีไว้ในอดีต สัตว์ทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ ก็เนื่องจากผลกรรมที่สืบเนื่องมาจากเหตุคือได้ประพฤติชั่วไว้ในอดีตที่ผ่านมา
๓) กมฺมสฺสกตาสทฺธา เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นของๆตน คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่เหมือนกัน บางคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว บางคนก็ร่ำรวยเป็นกุฎุมพี เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นอภิมหาเศรษฐี บางคนก็รูปขี้เหร่ ไม่สวย บางคนก็มีรูปสวย บางคนก็เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา บางคนก็มีสติปัญญาเฉียบแหลม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกรรมที่ทำไว้จำแนกให้เป็นไปต่างๆกัน ดังวจนะประพันธ์ธรรมภาษิตว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย กรรมแล ย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปต่างๆ คือเลวและประณีต
๔) ตถาคตโพธิสทฺธา เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า คือเชื่อว่าพระองค์เป็นพระสยัมภูผู้เป็นเองในทางตรัสรู้ เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระปัญญาคุณ คือมีปัญญาเฉลียวฉลาดเปรื่องปราดชาติกวี สามารถตรัสรู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ จนได้ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระองค์เป็นผู้มีพระบวรสันดานอันบริสุทธิ์สะอาดผ่องใส ปราศจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น พระองค์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง ทรงเอ็นดูปรานีสัตว์ทั้งหลายผู้เร่าร้อนอยู่ในเพลิงกิเลสและกองทุกข์ จึงได้นำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงบรรลุแล้วมาชี้แจงแสดงไข มาชี้แนะแนวทางให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้ปฏิบัติตาม เพื่อจะให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
สรุป คำว่า ศรัทธา นี้หมายความว่า เชื่อว่าทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง นี้เรียกว่า ศรัทธา คือเป็นใหญ่ในความเชื่อ
๒. วิริยะ เป็นใหญ่ในความเพียร คือมีความเพียรพยายามอันประกอบไปด้วยมหาปธาน ๔ ได้แก่ สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ปหานปธาน เพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ภาวนาปธาน เพียรพยายามให้บุญกุศลคือคุณความดีเกิดขึ้นมีขึ้นในขันธสันดานของตน อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลคือคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในความเพียรนี้ ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในการประพฤติปฏิบัติ ในการทำการทำงาน ถึงจะลำบากเหนื่อยยากสักปานใดก็ตาม พยายามกัดฟันทนสู้ตลอดไป ยอมตายดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป จนกว่าจะบรรลุผลที่ตนตั้งไว้จึงจะหยุด ผู้ที่มีความเพียรนี้ ย่อมประกอบไปด้วยองค์คุณสมบัติดังนี้
บางครั้งบางวันมีอาหารน้อย ได้ฉันภัตตาหารน้อย ได้รับประทานอาหารน้อย ก็จะพิจารณาว่า วันนี้เราบริโภคอาหารน้อย ร่างกายของเราเบาและคล่องแคล่วดี สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติ
แต่ถ้าวันไหนได้อาหารมากก็จะพิจารณาว่า วันนี้เราได้อาหารมาก มีอาหารมาก ฉันภัตตาหารได้มาก ร่างกายอุดมสมบูรณ์ ปราศจากความหิวความกระหาย สมควรแก่การปฏิบัติ แล้วลงมือปฏิบัติทันที
บางคน เวลาจะเดินทางไกลก็พิจารณาว่า วันพรุ่งนี้เราจะเดินทางไกล ในขณะเดินทางจะไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ควรที่เราจะประพฤติปฏิบัติเสียเดี๋ยวนี้ แล้วลงมือปฏิบัติทันที
บุคคลบางคน เมื่อเดินทางถึงที่แล้วก็จะพิจารณาว่า ในขณะที่เดินทางอยู่นั้น เราไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมชั้นสูงอย่างนี้เลย บัดนี้เราเดินทางถึงที่แล้ว สมควรแก่การปฏิบัติ ก็ลงมือประพฤติปฏิบัติทันที
หรือบางคน เมื่อมีอาพาธความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็จะมาพิจารณาว่า อาพาธเกิดขึ้นแก่เรานี้เป็นแต่เพียงอาพาธเล็กน้อยเท่านั้น ยังไม่เป็นอุปสรรคแก่การประพฤติปฏิบัติ หากว่าเราเกิดอาพาธหนักขึ้นไปกว่านี้ก็จะไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ควรที่เราจะลงมือปฏิบัติเสียเดี๋ยวนี้ แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติทันที
ทีนี้ เมื่อหายจากอาพาธแล้วก็จะพิจารณาว่า ในขณะที่เราอาพาธอยู่ ไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติเลย หรือประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้เต็มที่ บัดนี้เราหายจากอาพาธแล้ว สมควรที่จะประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติทันที นี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ประกอบไปด้วยความเพียร
แต่ถ้าคนเกียจคร้านแล้วจะไม่คิดอย่างนี้ ถ้ามีวันไหนได้ฉันอาหารน้อย ได้ทานอาหารน้อยก็คิดว่า วันนี้เราได้อาหารน้อย ร่างกายของเราอิดโรย มีความหิวมีความกระหาย เห็นควรที่จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ ก็ล้มลงนอนเสีย ไม่ประพฤติปฏิบัติ
ถ้าวันไหนได้อาหารมาก ฉันอาหารได้มากๆ มีของหวานมากๆ ก็ว่าวันนี้ได้ฉันมากไปหน่อย รู้สึกว่ามันอืดอาดเหลือเกิน ไม่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติ นอนเสียดีกว่า แล้วก็ล้มตัวลงนอน อะไรทำนองนี้ นี้เป็นลักษณะของคนที่ไม่มีความเพียร
๓. สติ เป็นใหญ่ในการระลึก สตินี้เป็นใหญ่ในการปกครองรักษาจิตไม่ให้เลินเล่อ ไม่ให้เผลอ ไม่ให้สะเพร่า ไม่ให้หลงลืม ให้รอบคอบ ไม่ให้หลงใหลไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ หรือราคะ ตัณหา อุปาทาน
สตินี้มีหน้าที่ระวังจิต รักษาจิต ไม่ให้ขัดเคืองในเมื่อประสบอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นรูปที่ไม่ดี ฟังเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ได้รสที่ไม่ดี ได้สัมผัสที่ไม่ดี ได้ธรรมารมณ์ที่ไม่ดี ก็ระวังจิตไว้ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้โกรธในอารมณ์เหล่านั้น
รักษาจิต ระวังจิต ไม่ให้พอใจ ดีใจ ชอบใจ ในเมื่อประสบกับอิฎฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ เช่น เห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์ ที่ดีๆ ก็ระวังรักษาจิตไว้ไม่ให้กำหนัดยินดี และสตินี้มีหน้าที่สำหรับกระตุ้นจิตให้ยินดีในการละอกุศลและหมั่นบำเพ็ญกุศล อันนี้เป็นหน้าที่ของสติ
๔. สมาธิ เป็นใหญ่ในการตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว คือถ้าผู้ใดมีสมาธิแล้ว สมาธินี้จะรักษาจิตไว้ ประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เมื่อใดจิตของเรามีอารมณ์เดียวแล้ว การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็สามารถที่จะได้ผลเร็ว สามารถที่จะได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน
แต่ถ้าคนที่ขาดสมาธิ ไม่มีสมาธิ จิตใจก็จะฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นานาประการ เดี๋ยวก็ไปจับอารมณ์นี้บ้าง เดี๋ยวก็มาจับอารมณ์นี้บ้าง นี่ก็เพราะว่าขาดสมาธิ
สมาธินี้ เมื่อมีแล้วย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามีพลัง มีอำนาจ มีอานุภาพ จนสามารถที่จะให้เกิดวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญาได้ สามารถที่จะนำไปทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ และสามารถที่จะรักษาจิตไว้ ประคองจิตไว้ ไม่ให้วิปริต และไม่ให้เกิดความวิปลาสไปต่างๆ นานา นี้เป็นลักษณะของสมาธิ
๕. ปัญญา เป็นใหญ่ในการรอบรู้กองสังขาร
อินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จะเป็นสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ต้องปรับปรุงอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ให้สมดุลกัน คือ ให้สมาธิกับความเพียรเท่าๆกัน และให้ศรัทธากับปัญญาเท่าๆกัน
ถ้าสมาธิกล้าความเพียรหย่อน ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตได้ และก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเกียจคร้านในการประพฤติปฏิบัติ ทำให้จิตใจท้อถอย ไม่กระฉับกระเฉง ไม่มีความอุตสาหะ ไม่มีความพากเพียรในการปฏิบัติ
เพราะว่าสมาธิเป็นฝักฝ่ายของโกสัชชะอยู่แล้ว คือคนที่มีสมาธิมากนี้ ส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าขาดสติเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน ความหดหู่ความเคลิบเคลิ้ม ย่อมเข้าครอบงำจิตใจได้ ผลสุดท้ายก็เป็นเหตุให้เกิดโกสัชชะความเกียจคร้านท้อถอยในการที่จะบำเพ็ญความเพียร
ทีนี้ ถ้าหากว่าความเพียรกล้าสมาธิหย่อน คือความเพียรมากกว่าสมาธิ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ คิดโน้นบ้างคิดนี้บ้าง จิตใจไม่สามารถที่จะจับอารมณ์เดียวได้นานๆ
เพราะว่าความเพียรนี้ก็เป็นฝักฝ่ายของอุทธัจจะอยู่แล้ว เราจะสังเกตได้ทันทีว่า ขณะใดที่ความเพียรของเรากล้า หรือว่าขณะใดความเพียรเกิดขึ้นมา จะเริ่มคิดทันที เดี๋ยวก็คิดโน้นคิดนี้ ก็ให้เข้าใจเถิดว่า ขณะนั้นความเพียรของเรากล้าแต่สมาธิหย่อนไป
ทีนี้ ถ้าหากว่าศรัทธากล้าแต่ปัญญาหย่อน ย่อมเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใส ย่อมลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่ควรลุ่มหลง คนที่มีศรัทธากล้าปัญญาหย่อนนี้ บางทีฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ก็เกิดปีติตื้นตันใจขึ้นมา ต้องน้ำตาคลอเบ้าหรือร้องไห้ขึ้นมา
หรือตัวเองจะพูดจะบรรยายธรรมก็เกิดศรัทธาขึ้นมา ทำให้การพูดการบรรยายธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเกิดความตื้นตันใจด้วยอำนาจปีติ และปีติก็เกิดด้วยอำนาจศรัทธา จึงไม่สามารถที่จะบรรยายธรรมต่อไปได้
คือคนที่มีศรัทธากล้ามักจะเป็นอย่างนี้ ชอบจะเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใส ลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่ควรลุ่มหลง สิ่งใดเลื่อมใสอยู่แล้วก็จะมีความเลื่อมใสยิ่งๆขึ้นไป ขาดการใคร่ครวญพิจารณา หรือว่าลุ่มหลงในอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น นึกว่าเป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน อยู่เรื่อย
คนที่มีศรัทธากล้าปัญญาหย่อนนี้ ส่วนมากมักตกอยู่ในอัตตกิลมถานุโยค ชอบจะทรมานตนให้ลำบาก บางทีก็ทำความเพียรตลอดทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมนอนเลยก็มี บางทีก็อดอาหาร ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน ๗ วัน ไม่ยอมฉันอาหาร ไม่บริโภคอาหาร บางทีก็นั่งตากแดด บางทีก็นั่งตากฝน บางทียืนขาเดียว เป็นต้น ชอบทรมานตนให้ได้รับความลำบากด้วยอำนาจของโลภะ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี
แต่ถ้าปัญญากล้าศรัทธาหย่อน คือปัญญามากกว่าศรัทธา ย่อมตกไปในฝ่ายเกเรเยียวยาได้ยาก ปัญญานี้เป็นของที่ต้องการมากในการเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าปัญญามากเกินไป ศรัทธาหย่อน เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็มักจะไม่ตั้งอยู่ตามกฎเกณฑ์ ไม่ตั้งอยู่ในหลักวิชาการที่ท่านครูบาอาจารย์แนะนำ
เช่นบอกว่าขณะนี้ให้เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง กลับเดินเพียง ๔ นาที ๕ นาที แล้วก็ไปนั่งเสีย ๒๐ นาที บางทีก็ไม่ยอมเดินจงกรม นั่งอย่างเดียว บางทีเดินจงกรมแล้วไม่นั่ง นอนกำหนดเอาอย่างเดียว บางทีเวลานั่งก็ไปนั่งพิงต้นไม้บ้าง พิงเสาพิงฝาผนังบ้าง หาแต่ความสบายใส่ตัวเอง ใครอยากไปนิพพานก็ไปเถิด เราไม่ไปดอก เท่านี้ก็พอแล้ว อะไรทำนองนี้
พวกนี้ส่วนมากเราเยียวยาได้ยาก บางทีก็เยียวยาไม่ได้เลย อยู่ตลอดพรรษา ประพฤติปฏิบัติตลอดพรรษาไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาบัติ ไม่ได้มรรค ไม่ได้ผล พวกนี้อุปมาเหมือนกับคนที่แพ้ยาวิตามิน สมมติว่ายาวิตามินเป็นยาบำรุงอย่างนี้ แต่บังเอิญไปแพ้ยาวิตามินเข้า ก็ไม่รู้ว่าแพทย์จะทำอย่างไร หรือบางทียาขนานนี้เป็นยาที่ฉีดกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจทำงาน ทำให้หายจากช็อก แต่พอไปฉีดยากระตุ้นหัวใจเข้าเท่านั้น เกิดแพ้ยากระตุ้นหัวใจ แพ้ยาบำรุงหัวใจ หมอก็จนด้วยเกล้า ไม่รู้จะทำวิธีไหนจึงจะฟื้นขึ้นมาได้ ข้อนี้ฉันใด
ผู้มีปัญญากล้าศรัทธาหย่อนก็เหมือนกันฉันนั้น ส่วนมากตกในฝ่ายเยียวยาได้ยาก บางทีก็เยียวยาไม่ได้เสียเลย การประพฤติปฏิบัติมักไม่ค่อยได้ผล ไม่สามารถบรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน และมักตกไปในฝ่ายกามสุขัลลิกานุโยค คือหาความสุขความสบายใส่ตัวเอง
อินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ หากสมดุลกันเมื่อใด สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน ย่อมบังเกิดขึ้น แต่ถ้าว่าอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ไม่สมดุลกัน เราจะทำอย่างไรๆก็ตาม ไม่สามารถที่จะทำสมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นได้เลย
วิธีปฏิบัติในอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ หรือว่าวิธีที่จะทำให้อินทรีย์ทั้ง ๕ นี้สมดุลกัน จะทำอย่างไร ทำอย่างนี้คือ
ถ้าสมาธิกล้าความเพียรหย่อน พยายามลดสมาธิเพิ่มความเพียรขึ้น โดยกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้กว้างๆออกไป เช่นว่า เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เพิ่มอาการนั่ง อาการถูก ถูกก้นย้อยข้างขวา ถูกก้นย้อยข้างซ้าย ถูกเข่าขวา ถูกเข่าซ้าย ถูกตาตุ่มขวา ถูกตาตุ่มซ้าย กำหนดถูกที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง ภายในร่ายกายของเรา คือกำหนดให้กว้างๆออกไป เมื่อกำหนดอย่างนี้ ความเพียรก็จะกล้าขึ้นมาๆ ผลสุดท้ายก็จะเท่ากับสมาธิ และทำให้ความง่วงเหงาหาวนอนนั้นหมดไปได้
ทีนี้ ถ้าความเพียรกล้าสมาธิหย่อน เราจะทราบได้อย่างไรว่าความเพียรกล้า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การที่เราทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวันนั้น อันนี้ยังไม่นับว่าเป็นความเพียรกล้า ความเพียรกล้าในที่นี้หมายความว่า มันเกิดขึ้นด้วยอำนาจการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือจะเดินจงกรมเพียง ๓๐ นาทีก็ตาม มันจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ว่าเราตั้งอกตั้งใจว่าจะเดินทั้งวันจะเดินทั้งคืน หรือว่าจะนั่งสมาธิทั้งวันนั่งสมาธิทั้งคืน อันนี้เป็นขั้นปริยัติอยู่
แต่ความเพียรกล้าในที่นี้ หมายความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นด้วยภาวนาญาณ เป็นภาวนาญาณ เมื่อความเพียรกล้าเกิดขึ้นแล้ว เราสังเกตได้ง่ายๆ คือจะคิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปเป็นพันๆเรื่อง แต่งหนังสือจบเป็นเล่มๆ บางทีเดินจงกรมก้าวไป ๒ ก้าว ๓ ก้าวเท่านั้น คิดไปหลายๆเรื่อง นี่แสดงว่าความเพียรกล้าสมาธิของเรามันหย่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้ลดความเพียรลงและเพิ่มสมาธิขึ้น วิธีเพิ่มสมาธิก็คือ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้สั้นลงหรือให้น้อยลง เช่น เมื่อก่อนเราเคยกำหนดอาการพองอาการยุบ อาการนั่งอาการถูก ถูกก้นย้อยข้างขวาข้างซ้าย เข่าขวาเข่าซ้าย ตาตุ่มขวาตาตุ่มซ้าย เราตัดออก เหลือแต่อาการพองอาการยุบ ท้องพองขึ้นมากำหนดว่า พุท ท้องยุบลงไปกำหนดว่า โธ หรือท้องพองกำหนดว่า พองหนอ ท้องยุบกำหนดว่า ยุบหนอ
ถึงขนาดนี้ยังคิดมากอยู่ เราก็กำหนดว่า พองยุบๆ กำหนดอย่างนี้ยังลดความเพียรลงไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ใช้กำหนดจิตอย่างเดียว ตั้งสติเอาไว้ที่หทัยวัตถุคือใต้ราวนมข้างซ้ายประมาณ ๒ นิ้ว จี้เข้าไปเท่าเหรียญบาทแล้วกำหนดว่า คิดหนอๆ เมื่อกำหนดอย่างนี้ร่ำไป สมาธิจะสูงขึ้นๆ ความเพียรจะลดลงไป ผลสุดท้ายความเพียรกับสมาธิก็จะเท่ากัน
ถ้าหากศรัทธากล้าปัญญาหย่อน ก็ให้พิจารณาว่า เราคิดว่าอย่างไร ศรัทธาของเราจึงเกิดกล้าขึ้นมาถึงปานนี้ จนทำให้ปัญญาหย่อนไป เกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงคุณพระพุทธเจ้ามากเกินไป หรือเกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงคุณพระธรรมมากเกินไป หรือเกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงคุณพระสงฆ์มากเกินไป หรือเกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงครูบาอาจารย์มากเกินไป หรือมันเกิดขึ้นเพราะเรานึกถึงคุณงามความดีที่เราได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน นึกถึงศีลถึงทานถึงการเจริญภาวนาที่ตนทำแล้ว จึงเป็นเหตุให้ศรัทธากล้าขึ้นมา
เมื่อเราสำรวจหรือพิจารณาอย่างนี้ก็จะรู้ได้ว่า เราคิดอย่างนี้ศรัทธาของเราจึงกล้าขึ้นมา จนทำให้ปัญญาหย่อนไป เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ก็พยายามอย่านึกไปถึงอารมณ์เช่นนั้นอีกต่อไป ให้ปล่อยวางอารมณ์เช่นนั้นเสีย คือศรัทธากล้านี่มันสำคัญ บางทีเรานึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์ของเราเท่านั้น น้ำตามันคลอเบ้าไหลออกมาแล้ว หยิบกระดาษมาเขียนจดหมาย เขียนไปร้องไห้ไปด้วยๆ
บางทีนึกถึงคุณงามความดีของตนขึ้นมา ว่าเรานี้ก็เป็นผู้ที่มีโชคดี เกิดขึ้นมาแล้วมีศรัทธาได้มาบวชในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ประกอบไปด้วยสัมมาทิฎฐิ ได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่เสียชาติเกิดที่เราได้มาบวชมาปฏิบัตินี้ นึกถึงคุณงามความดีของตนก็เกิดตื้นตันใจขึ้นมา น้ำตาคลอเบ้าร้องไห้ขึ้นมาก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็พยายามอย่านึกถึงอารมณ์เหล่านี้อีก พยายามปล่อยวางเสีย ศรัทธาจะได้ลดลง ปัญญาจะได้เพิ่มขึ้น
แต่ถ้าปัญญากล้าศรัทธาหย่อน ก็ให้เราพิจารณาว่า เราคิดเราตั้งใจเราพิจารณาอย่างไร ปัญญาจึงเกิดขึ้นมา ทำให้การปฏิบัติของเราย่อหย่อน เมื่อเราพิจารณาไปก็จะรู้ได้ว่า เราได้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มากเกินไป เราพิจารณาแต่ว่า รูปนามนี้ คำว่า ตัวตน บุคคล เรา เขา นั้นไม่มี มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น หรือว่าเราคิดมากเกินไปว่า รูปนามนี้มันไม่คงที่ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมาตั้งอยู่นิดหนึ่งก็ดับไป
หรือว่าเราพิจารณาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พิจารณาธรรมะข้อใด ปัญญาของเราจึงเกิดขึ้นมากถึงขนาดนี้ เมื่อเรารู้เช่นนี้ ก็พยายามอย่าพิจารณาถึงข้อนั้นอีกต่อไป
อันนี้เคยเจอมาเหมือนกัน ลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัติอยู่ที่นี้ ปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วคล้ายๆกับว่าจะพลิกแผ่นดินได้ บางท่านคิดแต่เพียงจะเทศน์เรื่องอวิชชาอย่างนี้ คิดอยู่ตั้ง ๖-๗ วันยังไม่จบ คิดจะแต่งโคลงแต่งฉันท์แต่งกาพย์แต่งกลอนก็แต่งได้ นั่งไปเดินไปก็มีแต่แต่งกาพย์แต่งกลอน สรภัญญ์ที่ลูกๆหลานๆเขาสวดอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้จากพระอาจารย์ดำรง ที่ท่านอยู่ในห้องกัมมัฏฐานนี้เป็นผู้แต่ง เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วก็แต่งได้ดี แต่งขึ้นมาก็ไม่ผิดพลาด สัมผัสอะไรๆก็ถูกต้องทุกประการ
นี่แหละท่านทั้งหลาย ถ้าปัญญามากกว่าศรัทธาเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เรารู้แล้วก็อย่าคิดเรื่องนั้นอีกต่อไป สำหรับสตินั้นให้อยู่กลางๆ คอยประคับประคองสมาธิกับความเพียร และศรัทธากับปัญญา ให้สม่ำเสมอกัน สตินี้มีมากเท่าไรยิ่งดี เพราะการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นต้องการสติมากที่สุด ถ้าผู้ใดมีสติมากกำหนดได้มาก ก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เร็ว
สตินี้ท่านต้องการมากที่สุด อุปมาเหมือนกันกับเกลือในรสอาหาร อาหารทุกชนิด แม้อาหารคาวก็ต้องการเกลือ อาหารประเภทของหวานก็ต้องการเกลือเหมือนกัน
หรืออุปมาเหมือนกันกับพระราชาต้องการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อมีอะไรๆเกิดขึ้น ผู้ที่ต้องการมากที่สุดก็คือผู้ที่มีความสามารถทำราชการแทนพระองค์ได้ หรือว่าเกิดสงครามขึ้นมาก็ต้องการทหารผู้กล้าหาญแกล้วกล้า ต้องการตำรวจผู้แกล้วกล้า ต้องการนักรบผู้แกล้วกล้าสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ข้อนี้ฉันใด สตินี้ก็เป็นที่ปรารถนาเป็นที่ต้องการมากเหมือนกันฉันนั้น ในการที่จะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้สมดุลกันเมื่อไร เมื่อนั้น ขณะนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ สามารถที่จะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพยายามปรับปรุงอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ให้สมดุลกัน ให้สม่ำเสมอกัน เมื่อเสมอกันแล้วเราก็สามารถบรรลุสามัญผลตามต้องการ.