ปีติสัมโพชฌงค์
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ปีติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ปีติสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือปีติ หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราทั้งหลายนั้น หากว่าขาดปีติเสียอย่างเดียว หรือว่าเวลาประพฤติปฏิบัติ ปีติไม่เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะปีตินี้เป็นอาหารของใจ สำหรับร่างกายนั้นมีกวฬิงการาหารอาหารคือคำข้าวเป็นเครื่องปรนเปรอให้ดำรงอยู่ได้
เมื่อใดใจของเราเกิดปีติหรือได้ปีติเป็นอาหารแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะดำเนินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จนลุถึงจุดหมายปลายทางคืออริยมรรคอริยผล
ปีตินี้ถ้าให้เข้าใจง่าย เรียกว่า เป็นอาการของจิต จิตแสดงอาการขึ้นมา คือเวลาปฏิบัติธรรมไป เมื่อใจของเราสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือในขณะนั้นนิวรณ์ธรรม ๕ ไม่ครอบงำจิตใจของเราได้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระแล้วก็แสดงอาการออกมา อาการที่จิตแสดงออกมานี้เรียกว่า ปีติ
ปีติ นี้แปลว่า ความเอิบอิ่ม ความอิ่มใจหรือความปราโมทย์ หรือแปลว่า ความตื้นตันใจ มีอยู่ด้วยกัน ๕ ประการ คือ
๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย มีลักษณะดังนี้คือ
๑) ในขณะที่เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น จะมีสีขาวเหมือนกันกับปุยนุ่นหรือสำลีมาปรากฏ คล้ายๆว่าจะมองเห็นแสงอะไรหรือมองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา แต่ก็ยังมองไม่เห็น
๒) บางทีก็มีอาการเยือกเย็นทั่วร่างกาย มีอาการขนลุก มึนตึง หนักๆ ตามร่างกาย
๓) บางทีก็ทำให้น้ำตาไหล หนังหัวพองสยองเกล้า
๔) บางทีก็มีอาการตัวชา คล้ายๆกับว่าเราจะเป็นโรคเหน็บชา บางทีปรากฏตัวของเราพองขึ้นๆจนเต็มกุฏิก็มี
๕) บางครั้งปรากฏเหมือนตัวของเราใหญ่ออกๆ หรือบางทีก็เล็กเข้าไปๆ เท่ากับเด็กๆก็มี
๖) บางครั้งก็ปรากฏว่า แขนยาว ขายาว ฟันยาว ออกไป
๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีลักษณะดังนี้
๑) จะมีสีแดงๆ ด่างๆ ปรากฏเฉพาะหน้า คล้ายกับสีจีวรของภิกษุสามเณรบ้าง คล้ายกับพระอาทิตย์แรกอุทัยบ้าง
๒) บางครั้งจะเกิดในจักษุทวารเหมือนกันกับสายฟ้าแลบ
๓) บางครั้งเป็นประกายเหมือนกันกับตีเหล็กไฟ
๔) บางทีมีอาการแสบทั่วร่างกาย บางทีก็ทำให้กายแข็ง คือร่างกายของเราแข็ง คล้ายกับว่ามีโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา เวลาจะก้มจะเงยก็เป็นไปไม่สะดวก
๕) บางครั้งเป็นดังแมลงมาจับแล้วไต่ตามตนตามตัว
๖) บางครั้งร้อนตามตัว แม้ฝนตกพรำอยู่ก็รู้สึกร้อนผิดปกติ
๗) บางทีก็ทำให้เกิดหัวใจสั่นๆ ไหวๆ คล้ายกับเป็นโรคหัวใจอ่อน
๘) ทำให้ขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก
๙) คันยุบยิบ คล้ายมดไต่ไรคลานตามหน้าตามตัว เราลูบข้างซ้ายก็ไต่มาข้างขวา ลูบข้างขวาไต่มาข้างซ้าย บางทีคล้ายๆกับจะไต่เข้าตาเข้าหู หรือไต่ขึ้นบนศีรษะของเราก็มี
๑๐) เป็นดังปลาตอด ดังเส้นเอ็นชัก มีอาการกระตุก
๑๑) มีอาการคล้ายๆกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน
๑๒) เหมือนกับปลาผุดขึ้นในเวลาโยนเศษอาหารลงไป
๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ มีลักษณะดังนี้
๑) ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลงไปมา
๒) มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า
๓) มีอาการสั่นๆ ไหวๆ บางทีมีอาการสูงๆ ต่ำๆ คล้ายกันกับว่าเตียงจะคว่ำ
๔) บางทีมีอาการคลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางทีอาเจียนออกมาจริงๆก็มี
๕) บางทีเป็นดุจระลอกซัด คือเหมือนเราไปยืนอยู่ในน้ำแล้วมีระลอกคลื่นเล็กๆซัดมาถูกตัวของเรา
๖) บางทีมีอาการสั่นระรัวๆ ดุจไม้ปักอยู่ในน้ำไหล
๗) กายโยกไปโยกมา
๘) มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว คล้ายจะเป็นไข้
๙) มีสีเหลืองอ่อนๆ มีสีดอกผักตบ
๑๐) บางครั้งมีอาการวูบวาบจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน บางครั้งวูบวาบจากข้างบนลงไปข้างล่าง เหมือนกับกลัวผีหลอก
๑๑) บางทีคล้ายกับแล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำ
๑๒) บางทีจะรู้สึกว่าร่างกายของเราผิดปกติ
๔. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน มีลักษณะดังนี้คือ
๑) กายสูงขึ้น ตัวเบา ตัวลอย คือในขณะที่เรานั่งอยู่นั้น ปรากฏว่ากายของเราสูงขึ้นๆ จนเท่าต้นไม้ก็มี จนครึ่งฟ้าก็มี บางทีตัวของเราเบาผิดปกติ บางทีเบาจนพ้นจากพื้นไปคืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง บางทีก็ลอยไปค้างอยู่บนขื่อเรือนบ้าง ต้นไม้บ้าง บางทีนั่งอยู่ตามบริเวณลานวัด นั่งไปๆ ตัวลอยวับขึ้นไปอยู่บนกุฏิก็มี
มีโยมชาวบ้านใกล้ๆวัด กลับไปประพฤติปฏิบัติอยู่ที่เรือน เมื่อปีติชนิดนี้เกิดขึ้น ลอยวับขึ้นไปค้างอยู่บนขื่อเรือน แต่เวลาลง ลงไม่ได้ ต้องหาบันไดพาดให้ลงก็มี
๒) บางครั้งถ่ายท้อง ท้องเดิน เป็นบิด บางทีถ่ายออกมาเป็นเลือดได้เต็มกระโถนก็มี
๔) บางครั้งคล้ายกับมีคนมาผลักข้างหลัง หน้าคะมำลงไปก็มี บางทีคล้ายกับคนมาผลักข้างหน้า หงายไปข้างหลังก็มี
๕) บางทีเหมือนมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายกับคอของเราไม่มีกระดูก
๖) บางครั้งมีอาการปากงับๆบ้าง อ้าปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง หุบปากบ้าง ในเวลาที่กำลังนั่งกัมมัฏฐานอยู่
๗) บางทีมีอาการตัวไหว โยกไปเอนมาดุจลมพัดต้นไม้
๘) บางครั้งกายหกคะเมนถลำไป คือเดินจงกรมไม่ตรง เดินไปๆ มีอาการหกคะเมนถลำไป เซถลาไปก็มี
๙) บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไปเหมือนเหาะได้ก็มี
๑๐) กายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า
๑๑) กายเงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง
๑๒) บางครั้งปรากฏเห็นเป็นสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น
๑๓) บางทีมือของเราอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับให้คว่ำลงไป หรือบางทีมือของเราวางอยู่ในท่าคว่ำ คล้ายกับมีคนมาจับให้หงายขึ้น บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คล้ายกับว่านั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก บางทีหันหน้าไปทางทิศใต้ คล้ายกับว่าเราหันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นต้น
๑๔) เวลาเรานั่งอยู่ตรงๆ จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา คล้ายกับว่าเรานั่งไม่ตรง พอลืมตาดู ตัวของเราก็นั่งตรงๆตามเดิม คือคล้ายกับตัวโอนไปมา เหมือนต้นอ้อที่ลู่ไปตามลมฉะนั้น
๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน มีลักษณะดังนี้
๑) มีอาการเยือกเย็นไปตามร่างกาย
๒) มีอาการสงบไปเป็นพักๆ
๓) มีอาการคันยุบๆตามตัว
๔) มีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา ไม่อยากพูดจากับใครๆ
๕) ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่อยากมองซ้ายแลขวา
๖) บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากปลายเท้าถึงศีรษะ บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะจนถึงปลายเท้า บางคนมีจิตใจอ่อน คิดว่าภูตผีปีศาจมาสิงมาเข้าทรงก็มี
๗) ร่างกายเย็นดุจอาบน้ำ หรือดุจถูกน้ำแข็ง
๘) มีอาการยิบๆแย็บๆ เหมือนไรไต่หน้า
๙) มีสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต
๑๐) ทำให้เพลิดเพลิน ไม่อยากกระดุกกระดิก
๑๑) แม้เปลือกตาที่ปิดอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย
นี้เป็นปีติที่เกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติธรรมในเวลาปฏิบัติ ปีติทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ บางท่านก็เกิดครบหมดทุกอย่าง บางท่านก็เกิดเพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่จะเกิดเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ใช้ได้ แสดงว่ามีปีติเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว จิตใจของเรามีปีติเป็นอาหารแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะสามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ถึงจุดหมายได้
ปีตินี้มีความชื่นชมยินดีเป็นลักษณะ มีความอิ่มกายอิ่มใจซาบซ่านไปทั่วกายเป็นกิจ มีความฟูกายฟูใจเป็นผลปรากฏ มีนามขันธ์ทั้ง ๓ คือ เวทนา สัญญา วิญญาณ เป็นเหตุใกล้ชิด
ปีตินี้ หากว่ายังไม่เกิด จำเป็นจะต้องให้เกิด ถ้าเกิดแล้วต้องรักษาให้คงอยู่ เพื่อว่าจะได้เป็นแรงสนับสนุนให้การประพฤติปฏิบัติของเราได้ผลเร็ว
ปีตินี้อุปมาเหมือนกับเสบียงเดินทาง ตามธรรมดานั้น คนเดินทางต้องมีเสบียง เช่นว่า มีสตางค์มีเงินสำหรับซื้อข้าวปลาอาหาร เป็นต้น จึงจะเดินทางได้ ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่จะเดินทางไปสู่อมตมหานิพพานก็ต้องมีปีติเป็นอาหารมีปีติเป็นเสบียงเหมือนกัน จึงจะเดินทางไปได้
ปีตินั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยอุบายวิธี ๑๒ อย่าง คือ
ข้อที่ ๑ ทำด้วยอุบายวิธีแยบคาย คือเวลากำหนดให้เอาใจใส่ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม พระไตรลักษณ์ เช่น เวลากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เอาสติปักลงไป ตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เอาสติปักลงไปตั้งแต่เริ่มยกขึ้นจนถึงเหยียบลง นอกจากนี้ให้มีสติพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดถึงพิจารณาอานิสงส์ของการบรรลุอริยมรรคอริยผล ของพระนิพพาน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปีติเกิดขึ้น
ข้อที่ ๒ ทำความเพียรให้มากๆ คือหมั่นเจริญพระกัมมัฏฐานบ่อยๆ อย่าได้ขาด อย่าได้หยุด พยายามทำสติสัมปชัญญะให้ทันปัจจุบัน รูปนาม พระไตรลักษณ์
ข้อที่ ๓ พยายามระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ ว่าพระองค์เป็นผู้มีพระคุณเหลือล้นพ้นประมาณไม่สามารถจะนับได้ หรือระลึกว่า พระองค์เป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญา ชาญฉลาด สามารถตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง เป็นพระสยัมภู ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรม พ้นจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีพระบวรขันธสันดานบริสุทธิ์สะอาดหมดจดผ่องใส เป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเอ็นดูปรานีสัตว์ทั้งหลายที่เร่าร้อนไปด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ ได้นำเอาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วมาแนะนำพร่ำสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้รู้แจ้งเห็นตามได้ เมื่อเราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นได้
ข้อที่ ๔ พยายามระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ คือให้ระลึกว่าพระธรรมนี้เป็นสภาวะที่ดี สามารถทรงผู้ปฏิบัติไว้ รักษาผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว อยู่ในภพนี้ชาตินี้ก็ย่อมจะไม่มีโทษ ไม่มีภัย อยู่ที่ไหนก็จะมีความสุขใจอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมะรักษาไว้ ไม่ต้องได้รับโทษ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต
เมื่อตายไปแล้วพระธรรมก็ยังตามรักษาไว้ไม่ให้ตกไปสู่อบายภูมิมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และทำให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พระนิพพานสมบัติ เมื่อระลึกถึงพระธรรมอย่างนี้เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดขึ้นได้
ข้อที่ ๕ พยายามระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ เช่น สังฆคุณ ๙ ที่เราสวดอยู่ทุกวันก็ได้ หรือจะระลึกโดยย่อก็ได้ว่า พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีอุปการะมาก พระศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ก็ได้อาศัยพระสงฆ์ได้ช่วยกันศึกษาเล่าเรียนและช่วยกันเผยแผ่ธรรมอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสนาจึงดำรงมาจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าจะล่วงเลยมาถึงสองพันปีเศษ แต่ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ก็ยังบริบูรณ์ทุกประการ อันนี้ก็เพราะคุณของพระสงฆ์แท้ๆ เมื่อเราระลึกอย่างนี้เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นมาได้
ข้อที่ ๖ พยายามระลึกศีลที่ตนรักษาไว้แล้วเนืองๆ คือระลึกว่า เรานี้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าเราผิดพลาดไปบ้างเป็นบางครั้งบางคราว เราก็ได้ปลงอาบัติ หรือประพฤติวุฏฐานวิธี เป็นโชคดีของเราแล้วหนอที่ได้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ดี เมื่อระลึกดังนี้ก็จะทำให้เกิดปีติธรรมขึ้นมา
ข้อที่ ๗ พยายามนึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้วเนืองๆ ว่าเรานี้โชคดีแล้วที่ได้บริจาคทาน เพราะเป็นเหตุให้สมานมิตรไมตรีไว้ได้ อยู่ในโลกนี้ก็ไม่ว้าเหว่ มีมิตรมีสหายมาก มีผู้รักใคร่เอ็นดู ไปที่ไหนก็มีคนคบหาสมาคมยกย่องสรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไป หรือเราตายแล้วไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ก็จะเป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยสมบัตินานาประการ เป็นต้น เมื่อเราระลึกอยู่เนืองๆ ก็จะทำให้ปีติเกิดขึ้นได้
ข้อที่ ๘ พยายามระลึกถึงธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นเทวดาเนืองๆ เช่น ระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะการสดับรับฟังมาก จาคะการเสียสละ ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ เมื่อเราระลึกถึงก็จะเห็นได้ว่า เรานี้ก็เป็นคนมีศรัทธาเหมือนกัน มีศีลเหมือนกัน มีสุตะเหมือนกัน มีจาคะเหมือนกัน มีปัญญาเหมือนกัน
เมื่อเรามีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อยู่ในโลกนี้ก็เท่ากับว่าเราเป็นเทวดาแล้ว หากว่าการปฏิบัติธรรมของเรา ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาบัติ ไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เราก็จะไปเกิดในเทวโลก ในฉกามาวจรสวรรค์ เพราะว่าเรามีคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา เมื่อระลึกอย่างนี้เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้ปีติเกิดได้
ข้อที่ ๙ พยายามระลึกถึงคุณของพระนิพพานอันเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์เนืองๆ คือระลึกว่า พระนิพพานนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเอกันตบรมสุข เข้าถึงพระนิพพานแล้วก็พ้นจากชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณทุกข์ ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป เมื่อระลึกอย่างนี้เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดได้
ข้อที่ ๑๐ เว้นบุคคลผู้ไม่เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย
ข้อที่ ๑๑ สมาคมกับบุคคลผู้ที่เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย
ข้อที่ ๑๒ พิจารณาพระสูตรที่เป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใส เช่น พระสูตรใดที่เราได้ฟังได้ศึกษาเล่าเรียนมา ก็นึกถึงพระสูตรนั้นๆ สมมติว่าเรานึกถึงเรื่องสังกิจจสามเณร เขาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นเด็ก หรือบัณฑิตสามเณร อายุ ๗ ปีเท่านั้น เขาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะเขาได้สั่งสมอบรมบุญกุศลไว้มาก เมื่อระลึกไปๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติได้
ทั้ง ๑๒ ข้อนี้ เป็นอุบายวิธีทำให้ปีติเกิดขึ้น
อีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถที่จะระลึกถึงได้ดังกล่าวมานี้ เราจะหวนมาระลึกในระหว่างตัวเรากับครูบาอาจารย์ก็ได้ เช่น นึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ว่า ท่านนี้มีเมตตาธรรม มุ่งความสุขความเจริญ มุ่งประโยชน์แก่ศิษย์จริงๆ เราเห็นคุณงามความดีของครูบาอาจารย์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็น้อมเอามานึกถึง ก็จะเป็นเหตุให้ปีติเกิดได้
หรือมิฉะนั้นก็นึกถึงคุณของบิดามารดา หรือเพื่อนสหธรรมมิกที่ได้ชักชวนตนให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดี หรือให้ได้เข้าประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อเรานึกไปๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นได้
หรือมิฉะนั้นเราก็นึกน้อมเข้ามาหาตัวเราเอง ว่าเรานี้เป็นผู้ที่มีโชคดีแล้วหนอ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ยังมีโอกาสเข้ามาบวช เมื่อบวชแล้วก็ยังได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดิน เมื่อเราระลึกอยู่อย่างนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปีติได้
อนึ่ง ปีติจะเกิด จะต้องประพฤติปฏิบัติในความบริสุทธิ์ ๔ ข้อ
๑. สำรวมอินทรีย์ ๖ ได้แก่ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือให้มีสติสัมปชัญญะ ระวังไว้ให้ดี เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ ระวังอย่าให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน เข้าไปในจิตใจของเราได้ เมื่อเราระวังอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ใจของเราก็จะเป็นอิสระจากกิเลส ใจของเราสะอาดผ่องใสบริสุทธิ์พอสมควรแล้วก็จะปรากฏปีติธรรมขึ้นมา
๒. แสวงหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ด้วยศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา และไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง
๓. พิจารณาปัจจัย ๔ เสียก่อนแล้วจึงค่อยบริโภคใช้สอย คือ พิจารณาเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เสียก่อนที่เราจะใช้สอยสิ่งนั้นๆ
๔. แสดงอาบัติหรือสมาทานศีลใหม่ หมายความว่า เมื่อเราเห็นว่าศีลของเรามันขาดตกบกพร่องไป เพลี่ยงพล้ำไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เห็นว่าเป็นอาบัติ เห็นว่าไม่บริสุทธิ์เท่าที่ควร ก็ปลงอาบัติเสีย หากว่าเรามีโอกาสมีเวลาก็ประพฤติวุฏฐานวิธีเสีย
เมื่อใดเราตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๔ ประการอันเป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์นี้ และตั้งอยู่ในอุบายวิธีให้เกิดปีติ ๑๒ ประการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดได้
ปีติ นั้น มีทั้งอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง
ปีติอย่างต่ำ เกิดขึ้นจากการนึกถึงคุณงามความดี ของตนบ้าง ของผู้อื่นบ้าง ระลึกถึงทาน ถึงศีลที่ตนรักษาบ้าง หรือเกิดขึ้นเพราะอุบายวิธี ๑๒ ประการ และความบริสุทธิ์ ๔ ข้อดังกล่าวมาแล้วนั้น
ปีติอย่างกลาง เกิดขึ้นเพราะการเจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน (จตุกนัย) หรือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนถึงญาณที่ ๓ อย่างแก่ และญาณที่ ๔ อย่างอ่อน ก็จะเกิดปีติขึ้น
ปีติอย่างสูง ได้แก่ ปีติในสัมโพชฌงค์ เมื่อเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
ปีติสัมโพชฌงค์นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อจิตของเราเข้าสู่มรรควิถี คือจะเกิดขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕
ปีติที่เกิดขึ้นในญาณทั้ง ๔ ญาณนี้ จึงเป็นปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันว่า ผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรคอริยผล อย่างน้อยที่สุดก็ได้ปฐมมรรค คือได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หากว่าปีติดังกล่าวมานี้ยังไม่เกิดขึ้น ก็จงพยายามให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้ดี อีกอย่างหนึ่ง ต้องพยายามข่มให้ได้ด้วย เพราะบางทีมันเกิดขึ้นมารุนแรงเกินไป เช่น อาการสั่น หรืออาการตื้นตันใจจนน้ำตาไหลอย่างนี้ ก็ทำให้ร้องไห้ขึ้นมา บางทีก็ทำให้เกิดการหัวเราะ เดินจงกรมก็หัวเราะ เหมือนกับคนเป็นบ้า เพราะจิตของเราเกิดปีติขึ้นมา ต้องพยายามข่มไว้
จะเป็นปีติอย่างต่ำอย่างกลางก็ตาม ต้องข่มไว้ ถ้าข่มไม่ได้ก็ไม่สามารถบรรลุถึงปีติอย่างสูง คือไม่สามารถยังปีติสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเมื่อใดเราสามารถข่มปีติอย่างต่ำอย่างกลางได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ปีตินั้น ละเอียดเข้าไปๆ ตามลำดับๆ เมื่อปีติถึงที่แล้วก็จะเป็นปีติสัมโพชฌงค์ เข้าสู่มรรควิถี ดำเนินไปสู่มรรควิถี แล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ปีติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็คิดว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.