อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน สำหรับเมื่อวานนี้ ได้บรรยายธรรมะเรื่องอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วก็มีคำพูดค้างไว้ว่า การที่จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ นั้น ต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้นำเรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ มาบรรยายถวายความรู้ และเป็นเครื่องประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ในทางพระพุทธศาสนาของเรา พระบรมศาสดาทรงสอนทางดำเนินชีวิตไว้ ๘ ประการ คือ มรรค ๘ แปลว่า ทาง หมายถึง ทางปฏิบัติหรือทางดำเนินชีวิต
มรรค ๘ นี้ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทาอันยังผู้ปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ หมายความว่า เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงนิพพาน หรือบรรลุถึงนิโรธ อันเป็นความดับทุกข์อย่างสนิท พระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระนิพพานก็ด้วยทางสายนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ปฏิบัติตามทางสายนี้จึงได้บรรลุถึงนิพพาน
อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หมายความว่า ทางปฏิบัติของบรรดาเจ้าลัทธิอื่นๆ เมื่อว่าโดยย่อแล้วมี ๒ แบบ คือ แบบกามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้มัวเมาอยู่ในกาม ๑ และ อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบากเกินไป ๑
พวกแรกหย่อนยานเกินไป พวกหลังตึงเกินไป ส่วนมรรค ๘ นั้น เป็นข้อปฏิบัติพอเหมาะ ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป จึงเรียกว่า ทางสายกลาง
อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค แปลว่า มรรคมีองค์ ๘ หมายความว่า เป็นข้อปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ คือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราจะเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งนั้นไม่ได้ ต้องปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ ควบคู่กันไปจึงจะเป็นเหตุให้ได้บรรลุถึงพระนิพพาน
อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง ๘ ข้อนี้ ผู้ใดปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นก็จะหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนสภาพจากปุถุชนคนกิเลสหนามาเป็นอริยชนคือคนประเสริฐ เช่น อย่างพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย
มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ประการ ดังที่ได้บรรยายไปแล้ว
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือดำริในการที่จะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความลำบาก ๑ ความดำริทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ เว้นจากการพูดโกหก เราพูดแต่คำสัตย์คำจริง เว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทกันแตกร้าวสามัคคีกัน เราพูดแต่ถ้อยคำที่สมานสามัคคีระหว่างหมู่คณะ ชักจูงให้หมู่คณะมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เว้นจากการพูดถ้อยคำที่หยาบช้า เป็นคำที่แช่งชักหักกระดูก ทำให้ผู้ฟังไม่พอใจ ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจ เราพูดแต่วาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ชวนให้ดูดดื่มไว้ในจิตในใจของผู้ฟัง เราเว้นจากการพูดถ้อยคำที่หาสารประโยชน์มิได้ พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เราตั้งอยู่ในเมตตาความรักใคร่ เอ็นดู ปรานีสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เราตั้งอยู่ในสัมมาชีพ เลี้ยงชีวิตให้ถูกตามกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา เราเป็นผู้ประกอบไปด้วยสทารสันโดษ ยินดีเฉพาะในสามีภรรยาของตนเท่านั้น
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงาม
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน ได้แก่ เพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔ คือ
สังวรปธาน เพียรระวังบาป อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา
ปหานปธาน เพียรละบาปคือความโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเรา
ภาวนาปธาน เพียรพยายามอบรมสั่งสมบุญกุศล เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดานของตน
อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาคุณงามความดีที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้วให้ดำรงอยู่ ให้คงอยู่ เพียรรักษาศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ให้อยู่กับตัวของเรา
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาร่างกายของตนเองและบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ให้เห็นว่ากายนี้ก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ให้เห็นกายในกาย จนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นในร่างกายด้วยอุปาทานจิต
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเวทนา ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ทั้ง ๕ ประการนี้ว่า เวทนานี้ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จนเกิดความเบื่อหน่ายเวทนา ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จนเกิดความเบื่อหน่ายจิต ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาตามเห็นธรรม ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ที่บังเกิดกับใจ จนเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมเหล่านั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ได้แก่ การเจริญฌานทั้ง ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาสาระในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการโดยย่อ ถ้าจะบรรยายโดยพิสดารแล้วต้องบรรยายวันละข้อ อย่างน้อยก็ ๘ วันจึงจะจบ เพราะวิจิตรพิสดารกว้างขวางมาก จึงกล่าวโดยย่อ และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาสาระในด้านปริยัติ แต่ในด้านปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น
เวลามาประพฤติปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราเอาละเอียดเข้าไป มีปัญหาอยู่ว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ทำงานอย่างไร ใครเป็นผู้ทำงาน และบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้อย่างไร เราต้องศึกษาให้เข้าใจ
คือการทำงานของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น มรรคสัจเป็นผู้ทำงาน ทำอย่างนี้คือ นำเอาทุกขสัจคือรูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นทางเดิน เช่นที่เราทั้งหลายกำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดเวทนา ทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ ทั้งที่ดีใจ ทั้งที่เสียใจ ทั้งที่เฉยๆ กำหนดจิตที่คิดโน้นคิดนี้อยู่ตลอดเวลา กำหนดธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ นี้เรียกว่าเรากำหนดรูปนามขันธ์ ๕ มัคคสัจทั้ง ๘ นั้นเป็นผู้เดินทาง
พร้อมกันนั้นก็จะละสมุทัยคือตัณหาไปด้วย ละได้สิ้นเชิงเมื่อไร ทุกข์ก็ดับไปหมด ชื่อว่านิโรธสัจ ยกตัวอย่างเช่น เราอ้าปากพูดนี้เป็นตัวทุกขสัจแล้ว สติรู้ทันคือเราได้กำหนดเป็นมรรคสัจ หมายความว่าก่อนจะพูดนั้น เรากำหนดเสียก่อนว่าอยากพูดหนอๆ การที่มีสติรู้ทันอย่างนี้ เรากำหนดเสียก่อนแล้วจึงพูดอย่างนี้เป็นมรรคสัจ
ทีนี้ หากว่าเราไม่ได้กำหนด เราพูดไปตามธรรมชาติ พอดีอยากพูดก็พูดเลยทีเดียว ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นตัวสมุทัยสัจคือตัณหา ถ้าในขณะพูดเราตั้งสติกำหนด เว้นโมหะตัวเผลอ คือไม่เผลอไม่สะเพร่า ไม่หลงลืม เรามีสติระลึกรู้ทันเสียก่อนแล้วจึงพูด เป็นสัมมาวาจาพูดชอบ
เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ทำการใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นมรรคสัจ แต่ถ้าว่าเราไม่มีสติกำหนด เวลาเดินก็เดินไปตามธรรมชาติ จะนั่ง จะยืน จะนอน คู้ก็ดี เหยียดก็ดี หรือว่าเคลื่อนไหวทำงานใดๆ ก็ดี เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โมหะตัวเผลอก็เกิดขึ้นมา พร้อมกันกับสมุทัยคือตัณหาก็เกิดขึ้น ก็เป็นตัวสมุทัยสัจ
เหตุนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า จะยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี จะคู้ เหยียด เคลื่อนไหวใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนด ในขณะที่เรามีสติกำหนดอยู่นั้น โมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อโมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ สมุทัยคือตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ก็จัดเป็นสัมมากัมมันตะ คือทำการงานชอบ
เมื่อขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรู้รส ขณะรู้สัมผัส ขณะนึกคิด ขณะบริโภคอาหาร ขณะนุ่งห่ม เป็นต้น เรามีสติรู้ทัน เป็นมรรคสัจ พร้อมกับละสมุทัยคือความอยากเห็น อยากได้ยิน อยากรู้กลิ่น อยากรู้รส อยากรู้สัมผัส อยากนึกคิด อยากบริโภคอาหาร อยากนุ่งห่ม เป็นต้น เว้นโมหะตัวเผลอ เป็นสัมมาอาชีวะ คือเป็นอยู่ชอบ หมายความว่า ถ้าเราไม่ได้กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัยคือตัณหา แต่ถ้าเรามีสติกำหนดอยู่ทุกขณะ มีสติรู้ทัน ก็เป็นสัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ
องค์มรรคทั้ง ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี้จัดเป็นศีล เพราะเว้นโมหะคือตัวเผลอ ตัวหลง เป็นต้น
สติรู้ทันทุกขณะนั้นเป็นสัมมาสติ ระลึกชอบ ถ้ารู้ไม่ทันเป็นสมุทัย คือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ วิริยะความเพียร ตั้งสติรู้ทันบ่อยๆ เป็นสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายความว่า เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรารู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นสัมมาวายามะ เพียรชอบ ถ้ารู้ไม่ทัน คือเราไม่กำหนด ปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัย คือตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์
สมาธิมั่นคง ไม่เผอเรอ เป็นสัมมาสมาธิ
ตั้งใจมั่นชอบ คือในขณะใดที่เรามีสติ กำหนดในขณะนั้น เรียกว่าเรามีสมาธิ คือสมาธิมันเกิดพร้อม สมาธิขั้นนี้เราเรียกว่า
ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้กำหนด
สมาธิก็ไม่เกิด เหตุนั้น ขณะใดที่เราได้กำหนด ก็แสดงว่าสมาธิของเรามีอยู่ ไม่เผอเรอ จัดเป็นสัมมาสมาธิ
ตั้งใจมั่นชอบ
องค์มรรคทั้ง ๓ นี้คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้จัดเป็นสมาธิ เพราะมีสติกำหนดระลึกรู้ทันไม่เผลอ
ปัญญาอันเห็นรูปนามเกิดดับนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ วิตกรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยงต้องดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ ทนได้ยากต้องดับไป อนัตตา ไม่ใช่ตน ไม่มีอำนาจอันใดที่จะบังคับบัญชา บังคับไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วต้องดับไป การเห็นพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งติดอยู่กับรูปนามนั้นตลอดเวลา เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
ธรรมะด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ไกลกัน สัมมาสังกัปปะในด้านปริยัติท่านอธิบายว่า เราดำริในการออกจากกาม ในการไม่พยาบาท ในการไม่เบียดเบียน เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
แต่เมื่อมาถึงเวลาปฏิบัติแล้ว หมายเอาละเอียดกว่านั้น คือหมายความว่า ในขณะที่เรามีสติรู้ทันในการกำหนดรูปนามอยู่ตลอดเวลา การกำหนดรูปนามของเราได้ปัจจุบันดี เมื่อกำหนดทันปัจจุบันดีแล้ว ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์อย่างนี้ เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
องค์มรรคทั้ง ๒ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญา เพราะกำหนดทันปัจจุบันจนเห็นพระไตรลักษณ์ การเห็นรูปนามดับไปๆ กับพระไตรลักษณ์พร้อมๆ กันเช่นนั้น จนสิ้นอาสวะอันเป็นตัวสมุทัยเมื่อใด เมื่อนั้นทุกข์จะดับไปหมด ไม่เหลือให้เห็นในขันธสันดาน เรียกว่านิโรธสัจย่อมสมบูรณ์แล้วแก่พระอริยเจ้าอย่างแน่นอน ในด้านปฏิบัติถือเอาเนื้อความเท่านั้น
ก็พอสรุปได้ว่า หากว่าเรามีสติ กำหนดทันปัจจุบัน เรากำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่างก็ดี กำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี กำหนดเวทนา จิต ธรรม ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันปัจจุบันธรรม ก็ชื่อว่ากำหนดถูกอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ คือหากว่าเรามีสติรู้ทันขณะใด ขณะนั้น อริยมรรคทั้ง ๘ ประการก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
เมื่อใด อริยมรรค ๘ นี้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็แสดงว่ากำลังของวิปัสสนาญาณของเราแก่เต็มที่ เมื่อวิปัสสนาญาณแก่เต็มที่ ก็จะเข้าสู่มัคควิถีทันที เมื่อเข้าสู่มัคควิถีในวินาทีใด วินาทีนั้นก็เป็นอันว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงขึ้นอรหัตมรรค อรหัตผล
อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ในแง่การปฏิบัตินี้นิดเดียวเท่านั้น เหตุนั้นก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงใช้สติสัมปชัญญะ พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม อย่าขี้เกียจ อย่าเบื่อหน่าย อย่าท้อใจ ต่อสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้
เพราะสภาวธรรมของวิปัสสนาไม่เหมือนกันกับสภาวะของสมถะ สมถะนั้น ยิ่งปฏิบัติไปยิ่งสงบไปๆ ตามลำดับ จนได้ฌาน เข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เพียงแต่ได้ปฐมฌาน ความทุกข์ความอะไรก็หมดไป ยิ่งไปถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงไม่มาปรากฏเลย เพราะเมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว ความรู้สึกก็หมดไป ลมหายใจหมดไป ร่างกายหยุดทำงานชั่วขณะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความสุขก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ความทุกข์ไม่มีปรากฏ ด้านสมถะเป็นอย่างนี้ ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีความสุข
แต่ด้านการปฏิบัติวิปัสสนาไม่เหมือนกันอย่างนี้ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราต้องเห็นรูปนาม เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม ต้องเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรูปนามแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะมีแต่ความทุกข์ อะไรเกิดขึ้นมาทางร่างกายก็มีแต่ทุกข์ เกิดขึ้นมาทางจิตใจก็มีแต่ทุกข์ วันทั้งวันคืนทั้งคืน เราจะหาความสุขสัก ๕ นาทีก็หายาก แทบจะว่าไม่มีความสุขเลย
เพราะยิ่งใช้สติกำหนดทันปัจจุบันมากเท่าไรๆ ยิ่งเห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม เห็นแต่ความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามนั้นเป็นของน่ากลัว จนเบื่อหน่ายในรูปนาม เกิดความอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปนาม ไม่มีความสุขเลย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากว่าท่านทั้งหลายไม่ท้อใจ เป็นนักปฏิบัติใจสิงห์ ตายก็ยอมตาย หากว่าไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดแล้ว จะไม่ยอมหยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงว่าเนื้อและเลือดมันจะเหือดแห้งไปก็ตามที มันเหลืออยู่แต่เอ็นกับกระดูกนี้ เราก็จะปฏิบัติร่ำไป จะไม่เลิกละการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราตั้งปณิธานจิตอย่างนี้แล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมได้
มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้ เวลาปฏิบัติมีแต่ทุกข์แต่โทษ เกือบจะว่าเอาชีวิตไม่รอด จนไปหาพึ่งพระพึ่งเณร ก็พึ่งไม่ได้ พระเณรเป็นสิบๆ มาล้อมก็ไม่สามารถที่จะให้มีความสุขได้ ไม่อาจที่จะระงับความกลัวได้ ไปนอนอยู่ที่ไหนๆ ทั้งกลางวันกลางคืนก็มีแต่ความกลัวมีแต่ความทุกข์ จะไปห้องน้ำก็ไม่กล้าไป จะเดินไปในบริเวณวัด จากกุฏินี้ไปหากุฏินั้น ห่างกัน ๒-๓ หลังเท่านั้น กลางวันแท้ๆ ก็ยังกลัว ไม่กล้าไป มันเป็นถึงขนาดนี้
สภาวะของวิปัสสนา ความทุกข์อะไรๆ มันโหมเข้ามาหมด ปรากฏชัดทั้งนั้น หากว่าใจไม่สู้จริงๆ แล้วไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ และพระรูปนั้นท่านก็ตั้งปณิธานจิต เพราะตอนนั้นนั่งไม่ได้แล้ว มีแต่เดินอย่างเดียว เหตุไรจึงนั่งไม่ได้ เพราะว่าเวลานั่งมันมีความกลัว สภาวะมันเกิดขึ้นมาเหมือนกับว่าแมลงผึ้งหรือว่าต่อแตนออกจากรังของมันแล้วก็โหมมาทิ่มมาแทงที่ร่างกายของเรา
มีแต่ทุกข์แต่โทษอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่สามารถนั่งได้ และเมื่อนั่งไป เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็เย็น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดไปได้ เมื่อนั่งไม่ได้ จะทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติต่อไปได้ เพราะว่าไปหาครูบาอาจารย์ท่านก็แนะนำ พูดให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เป็นที่พอใจ ไม่ถึงอกถึงใจ คิดว่าทำไมหนอครูบาอาจารย์จึงแก้อารมณ์ของเราไม่ได้
ผลสุดท้ายท่านก็ตั้งปณิธานจิตอธิษฐาน เมื่อตั้งปณิธานจิตนั้นก็คิดว่า คำสัจจะที่ตั้งลงไปนั้นจะเป็นของที่ไม่แน่นอน จึงอธิษฐานเอาแผ่นดินทั้งแผ่นว่า
สาธุ ข้าพเจ้าขออธิษฐานแผ่นดินทั้งแผ่นนี้ให้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นที่แข็งเหมือนเพชรนี้ไม่ละลายเป็นน้ำไป ข้าพเจ้าจะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงตายก็ยอมตาย ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ เรามอบถวายแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มอบถวายแก่ครูบาอาจารย์หมดแล้ว ขณะนี้ เราเพียงแต่ยืมท่านมาใช้เท่านั้น ยืมมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อแลกเอาบุญเอากุศล แลกเอาโลกุตรธรรมเท่านั้น เหตุนั้น ถึงเมื่อมันจะตายก็ยอมตาย
พอดีตั้งปณิธานจิตอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย แทนที่สิ่งที่เป็นอยู่ทั้งหลายมันจะหยุดไป กลับไม่หยุดเสียแล้ว โหมเข้ามาๆ มีอะไรๆ ในโลกนี้ คิดว่ามันโหมเข้ามาหมด ท่านก็ตั้งว่า ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ามอบถวายพระรัตนตรัยครูบาอาจารย์หมดแล้ว จะตายในนาทีนี้ ชั่วโมงนี้ก็ยอมตาย ยอมเสียสละชีวิต เมื่อยอมเสียสละชีวิตแล้ว มันก็หมดปัญหา เมื่อปลงภาระแล้ว ไม่กลัวแล้วความตาย
เมื่อไม่กลัวความตาย ก็เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความกล้าหาญขึ้นมา ไม่ท้อใจ เมื่อสภาวะใดๆ เกิดขึ้นมาก็ยิ้มได้สู้ได้ ทำให้การปฏิบัติของท่านดำเนินไปตามลำดับๆ ผลสุดท้ายก็สามารถปฏิบัติถึงจุดหมายปลายทาง
นี้แลท่านทั้งหลาย อุทาหรณ์ที่นำมาบรรยายให้ฟังนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงเรื่องที่สร้างขึ้น เป็นเรื่องจริง มีตัวตนบุคคลจริงๆ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้อุตสาหะพยายามประพฤติปฏิบัติร่ำไป จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละจึงจะหยุดได้ ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ตราบใด ก็ยังขึ้นชื่อว่ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราจะประมาทไม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
ภิกฺขุ วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ
ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อใด ยังไม่ได้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะกิเลส อย่าพึ่งนอนใจ ดังนี้
แต่ถ้าไม่ได้ไม่ถึงที่สุดอย่างไร ก็ขอให้ได้ปฐมมรรคก็ยังดี เพราะว่าสามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว
เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะ เรื่องอริยมรรค ๘ ประการ มานี้ ก็สมควรแก่เวลา
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงถึงสุข นิราศทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด
ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้
ให้แก่บิดามารดาครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย
เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย
ถ้า
ตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป
ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วนี้
มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ขอจงได้เป็นพลวะปัจจัย
เป็นอุปนิสัยตามส่ง ให้เกิดปัญญาญาณ ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ
วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ ปัจจุปปันนัง
สญาณ อนาคตังสญาณ มโนมยิทธิ ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
ตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์ คือพระนิพพาน เทอญ.