อุเปกขาสัมโพชฌงค์
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง
อุเปกขาสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
อุเปกขาสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คืออุเบกขา หมายความว่า การที่เราทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ อุเปกขาสัมโพชฌงค์
หากว่าธรรมอย่างอื่นสมบูรณ์หมดทุกข้อ แต่เราขาดอุเปกขาสัมโพชฌงค์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ไม่สามารถจะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย เหตุนั้น อุเปกขาสัมโพชฌงค์ จึงเป็นองค์สำคัญในการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน
อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย หมายความว่า วางเฉยในรูปนาม โดยลักษณะ ๖ ประการ คือ
๑. ละความกลัว ละความยินดี มีใจเฉยอยู่กับรูปนาม
๒. ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ วางเฉยอยู่กับรูปนาม แต่มีสติมีสัมปชัญญะอยู่
๓. มีใจแน่วแน่อยู่กับการพิจารณารูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๔. มีใจเป็นสมาธิแน่วแน่ได้นานๆ
๕. ยิ่งกำหนดรูปนามเท่าไหร่ ยิ่งละเอียดสุขุม ดุจคนร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด ฉะนั้น
๖. มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปทางอื่น อยู่กับรูปนาม อยู่กับพระไตรลักษณ์มากที่สุด
อุเบกขานั้นมีอยู่ ๑๐ ประการคือ
๑. ฉฬงฺคุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของพระอรหันต์ คือความวางเฉยต่ออารมณ์ทั้ง ๖ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เมื่อกระทบกับอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดี และอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
๒. พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในพรหมวิหาร คือ การกระทำความเฉยๆในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสุข และทั้งที่เป็นทุกข์
๓. โพชฺฌงฺคุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในโพชฌงค์ คือความวางเฉยแต่สหชาตธรรมที่เกิดพร้อมกันในเวลาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้แก่ มีใจวางเฉยต่อรูปนาม พระไตรลักษณ์
๔. วิริยุเปกฺขา ได้แก่ ความวางเฉยของวิริยะ คือความเพียรที่พอดีๆ ความเพียรอย่างกลางๆ ในการปฏิบัติธรรม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ความเพียรอย่างกลางในมรรคมีองค์ ๘
๕. สงฺขารุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำจิตให้เฉยๆต่อรูปนาม ภายหลังที่อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ เกิดแล้ว ต่อนั้นก็เป็นสังขารุเปกขาญาณ
๖. เวทนูเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในเวทนา ๓ หรือเวทนา ๕ คือ ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา โทมนัสสเวทนา โสมนัสสเวทนา คือวางเฉยต่ออารมณ์ที่ตนเสวยอยู่
๗. วิปสฺสนูเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของวิปัสสนา คือความวางเฉยต่อวิปัสสนูปกิเลส หมายความว่า เมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเข้าเขตญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณอย่างแก่ แล้วเข้าเขตญาณที่ ๔ อย่างอ่อน
มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ๑๐ อย่าง ได้แก่ โอภาส แสงสว่าง ๑ ปีติ ความอิ่มใจ ๑ ปัสสัทธิ ความสงบ ๑ สุข ความสบาย ๑ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ๑ ปัคคาหะ ความเพียร ๑ อุปัฏฐานะ สติปรากฎชัด ๑ ญาณะ ความรู้ ๑ อุเปกขา ความวางเฉย ๑ นิกันติ ความใคร่ ๑ รวม ๑๐ อย่างนี้ วิปัสสนูปกิเลสอย่างที่ ๙ คือวิปัสสนูเปกขาในที่นี้
๘. ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือความทำจิตและเจตสิกให้สม่ำเสมอกันในกิจของตน ไม่มีการยิ่งหย่อน เช่น ทำอินทรีย์ ๕ ให้สม่ำเสมอกันเป็นต้น
๙. ฌานุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของท่านผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้จตุตถฌาน คือความวางเฉยในสุข ไม่ยินดียินร้ายต่อสุข คำว่า สุข ในที่นี้ได้แก่ สุขเอกัคคตาของจตุตถฌาน
๑๐. ปริสุทฺธุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของปัญจมฌานลาภีบุคคล ทำความวางเฉยต่อความสุขของฌาน อุเบกขาดวงนี้ได้ในจิตที่เป็นปัญจมฌานเท่านั้น
อุเบกขานั้น มีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐาน ดังนี้
จิตฺตเจตสิกานํ สมวาหิตลกฺขณา อุเบกขามีการทรงจิตเจตสิกไว้ให้เสมอภาคกัน คือทำให้จิตเจตสิกวางเฉยอยู่กับรูปนามเป็นลักษณะ
อูนาธิกตานิวารณรสา มีการห้ามความหย่อนและยิ่งของจิตและเจตสิกเป็นรส
มชฺฌตฺตปจฺจุปฏฺฐานา มีความวางเฉยของจิตและเจตสิกเป็นผลปรากฏ ดุจนายสารถีวางเฉยต่อม้าอาชาไนยที่วิ่งไปอย่างเรียบๆ ฉะนั้น
สมฺปยุตฺตปทฏฺฐานา มีสัมปยุตตธรรมที่ประกอบกันเป็นเหตุใกล้ชิด
เหตุให้เกิดอุเปกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ๗ ประการ คือ
๑. โยนิโสมนสิกาโร ทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่น เวลาเดินจงกรม ให้กำหนดรู้ตั้งแต่เริ่มยก จนกระทั่งเหยียบลง เพียรมีสติสัมปชัญญะ รู้ทุกขณะ
๒. พหุลีกาโร พยายามทำให้มากๆ อย่าขี้เกียจ อย่าประมาท อย่าเล่น อย่าคุยกัน อย่าอ่านหนังสือดูหนังสือ ตั้งอกตั้งใจทำอย่างจริงๆ ทำอย่างเต็มที่ จนสุดความสามารถของตน
๓. สตฺตมชฺฌตฺตตา วางตนเป็นกลางในสัตว์โดยอาการ ๒ อย่างคือ
๑) กมฺมสฺสกตาปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาซึ่งความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆตนอย่างนี้ว่า ท่านมาเพราะกรรมของท่าน และก็จะไปเพราะกรรมของท่านนั่นเอง แม้ผู้นี้เขาก็มาเพราะกรรมของเขา และก็จะไปเพราะกรรมของเขา จะมัวห่วงใยใคร
๒) นิสฺสตฺตปจฺจเวกฺขเณน พิจารณาโดยความไม่ใช่สัตว์บุคคลอย่างนี้ว่า ร่างกายนี้ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมัวห่วงใยใคร
๔. สงฺขารมชฺฌตฺตตา วางตนเป็นกลางในสังขารโดยอาการ ๒ อย่าง คือ
๑) อสฺสามิกภาวปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาโดยความเป็นของไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า เครื่องนุ่งห่มนี้ จักเข้าถึงความมีสีเปลี่ยนแปลง และเข้าถึงความเป็นของเก่าโดยลำดับ ต่อไปจะเป็นผ้าเช็ดเท้า เป็นของที่บุคคลต้องเอาปลายเท้าเขี่ยทิ้งแน่นอน ก็ถ้าเจ้าของมีอยู่จริง ก็จะไม่พึงปล่อยให้ฉิบหายดังนี้
๒) ตาวกาลิกภาวปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาถึงความเป็นของเป็นไปชั่วครู่ชั่วคราวเป็นไปชั่วขณะอย่างนี้ว่า เครื่องนุ่งห่มนี้เป็นของที่ไม่ยั่งยืน เป็นไปชั่วขณะ เป็นไปชั่วกาล เป็นไปชั่วครู่ เหมือนของยืมมาชั่วคราวฉะนั้น ในบริขารอื่นๆ มีบาตรเป็นต้น ก็ให้พิจารณาโดยทำนองเดียวกันนี้
๕. สตฺตสงฺขารเกลายนปุคฺคลปริวชฺชนตา เว้นจากบุคคลผู้ถือมั่นอุปาทานต่อสัตว์และสังขาร คือผู้ใด จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมยึดปิยชนมีบุตรธิดาเป็นต้น หรือศิษย์ของตนว่าเป็นของตนจริงๆ หรือบรรพชิตย่อมยึดเอาอันเตวาสิกและผู้ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น ว่าเป็นของตนจริงๆ ย่อมทำการงานต่างๆ ของชนเหล่านั้น มีการโกนผม เย็บผ้า ซักจีวร เป็นต้น ด้วยมือของตนแทบทุกอย่าง
เมื่อไม่เห็นสักครู่หนึ่งก็คิดว่า สามเณรองค์โน้นไปไหนหนอ ภิกษุรูปนั้นไปไหนหนอ แล้วแลดูข้างโน้นข้างนี้ เหมือนเนื้อตระหนกตกใจหนีศัตรูฉะนั้น ถึงแม้ผู้อื่นจะขอว่า ให้ท่านส่งสามเณรมาผมจะช่วยปลงผมให้ดังนี้ ก็ไม่ยอมให้เขาทำให้ พูดคัดค้านว่า ผมไม่ให้พวกท่านทำ พวกท่านจะลำบาก อันนี้เรียกว่า ผู้มีความเกาะเกี่ยวในสัตว์ มีอุปาทานยึดมั่นในสัตว์
ส่วนผู้ใดยึดถือเอาจีวร บาตร ถลกบาตร ไม้เท้า ตลอดถึงเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นว่าเป็นของตนจริงๆ ใครๆจะมาขอยืมสักครู่ก็ไม่ได้ คอยห้ามไว้ว่า อันนี้ฉันเอาทรัพย์ของฉันซื้อมา ยังไม่ได้ทันใช้สอย จักให้ท่านเอาไปใช้ได้อย่างไร ผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเกาะเกี่ยวในสังขาร มีอุปาทานยึดมั่นในสังขาร ให้เว้นจากบุคคลผู้มีความยึดมั่นในสัตว์และสังขารเห็นปานนั้นเสีย ให้ห่างไกล
๖. สตฺตสงฺขารมชฺฌตฺตปุคฺคลเสวนตา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขารดังกล่าวมาแล้ว
๗. ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปในอิริยาบถทั้ง ๔ และทุกๆอารมณ์ที่ตนกำหนด เพื่อยังอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น
เมื่อบุคคลประพฤติได้ตามนี้แล้ว อุเปกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาที่จะให้รู้แจ้งแทงตลอดมรรค ผล นิพพาน ก็จะเกิดขึ้นตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตน
อุเปกขาสัมโพชฌงค์เกิดแล้วมีประโยชน์อย่างนี้คือ
๑. ทำใจให้วางเฉยต่อรูปนาม
๒. มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสมาธิดี
๓. ตั้งใจมั่นอยู่กับรูปนามได้นานๆ
๔. ทุกขเวทนาไม่รบกวน นั่งสบายเพลิดเพลินจนลืมเวลาก็มี
๕. ไม่อิ่มไม่เบื่อต่อการประพฤติปฏิบัติ
๖. โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคความดันสูง โรคประสาท โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น พลันหายไป
๗. ศีล สมาธิ ปัญญา แก่กล้าขึ้นตามลำดับ
๘. สามารถขยับขยายไปสู่ขั้นสูงๆขึ้นโดยง่าย จนถึงมรรค ผล นิพพาน เป็นปริโยสาน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นประโยชน์ของอุเปกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อใดอุเปกขาสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสามารถที่จะยังญาณขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน แล้วก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาบารมีที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้แล้ว
สรุปความสังเขปของโพชฌงค์แต่ละข้อตั้งแต่ได้บรรยายมาครั้งแรก คือได้เริ่มบรรยายตั้งแต่เรื่องสติสัมโพชฌงค์เป็นลำดับๆมาจนถึงวันนี้ ก็ครบทั้ง ๗ ข้อพอดี จึงขอสรุปเนื้อความโดยสังเขปในสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนั้น ดังนี้คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์ คือในขณะนั้น จิตมีสติระลึกได้อยู่ว่า ตนกำลังปฏิบัติอย่างไร เช่น กำลังกำหนดอาการพองอาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก กำหนดเวทนา ตลอดถึงอาการคิดเป็นต้น ก็ระลึกถึงวัตรของตนได้โดยไม่เผลอในขณะนั้น เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือในขณะนั้น ปัญญาหรือวิจารณญาณก็ทำงานอยู่ หมายความว่า ได้ใช้ปัญญาวิจัยธรรมที่เกิดขึ้น มิใช่มัวคิดเพลินไปทางอื่นหรือไม่ได้กำหนดอะไรเลย เช่น เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน หรือกำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมก็ดี เราก็รู้ว่าอาการพองอาการยุบเป็นต้นของเรานั้นมันเป็นอย่างไร มีความรู้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเพียรพยายามในการใช้ปัญญาพิจารณา ที่เรียกว่าวิปัสสนานั้น จิตไม่ซบเซาเกียจคร้าน ไม่ท้อแท้ มีแต่ความอิ่มใจในความเพียรทุกขณะ
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเอิบอิ่มใจในการบำเพ็ญวิปัสสนา เป็นความอิ่มใจที่ไม่อิงอามิส ไม่ข้องเกี่ยวกับกามารมณ์ ไม่ข้องติดในลาภ ยศ สรรเสริญ หรืออิฏฐารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความเอิบอิ่มแห่งจิตอันบริสุทธิ์แท้ๆ
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความสงบระงับที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและจิตใจ ไม่มีอาการกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความตั้งมั่นแห่งจิต คือในขณะนั้น จิตหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว ไม่วอกแวก ไม่ดุกดิก ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน หากมั่นอยู่ในวิปัสสนา คือตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ที่ตนกำหนด เช่น อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่ซัดส่ายไปถึงเรื่องอดีตอนาคต
๗. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความวางเฉยของจิต ตั้งอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ไม่กระเดียดไปข้างอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา ไม่กระเดียดไปข้างอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา แต่มีความวางเฉย ดุจยานพาหนะที่แล่นไปบนทางอันราบเรียบได้ที่แล้ว สารถีวางเฉยในการควบคุมได้
จากโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็จะเห็นได้ว่า จิตจะเข้าสู่จุดตรัสรู้และการบรรลุอริยมรรคอริยผลนั้นมีอาการเป็นอย่างไร จิตจะเข้าไปสู่จุดตรัสรู้และบรรลุมรรคผลนั้น แท้ที่จริงไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่นึกเดา ไม่ใช่คาดคะเน และไม่แฝงด้วยความทะเยอทะยานใดๆทั้งสิ้น
ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนำเอาสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ไปเปรียบเทียบว่า นับตั้งแต่เราปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาถึงวันนี้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราเข้าในลักษณะของสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้หรือไม่ ถ้าเข้าลักษณะ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนาได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ขั้นปฐมมรรค
แต่ว่า ถ้ารูปใดพิสูจน์แล้วว่า การประพฤติปฏิบัติของเรามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่เข้าหลักเข้าเกณฑ์ของสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ดังที่หลวงพ่อนำมาบรรยายให้ฟังนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจ ได้แก้ตัว เพราะว่าเวลายังมีพอสมควร เราพอมีโอกาสที่จะแก้ตัวได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายขะมักเขม้น อย่าได้ประมาท พยายามทำไปจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งไว้
เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อุเปกขาสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.