การฝึกสมาธิ (๒)
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คืนที่ผ่านมาหรือราตรีที่ผ่านมา หลวงพ่อได้พูดถึงเรื่องสมาธิ ว่าสมาธินั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
สำหรับ ขณิกสมาธิ คือสมาธิในขั้นบริกรรม เช่นเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ การกำหนดอย่างนี้เรียกว่า เป็นสมาธิในขั้นบริกรรมสมาธิ
สำหรับ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ถึงฌาน เราจะสังเกตเวลาเรานั่งสมาธิ เรานั่งไปๆ จิตของเราละเอียดเข้าๆ แล้วก็ถอยออกมา แทนที่จะขาดความรู้สึกยังไม่ขาด คืนไป มันไหลเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันก็น้อยเข้าไปๆ แล้วก็ถอย ถอยกลับมา คล้ายๆ กับเราเข้าฌาน
คล้ายๆ กับเราเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไป แล้วก็ถอยกลับมา แล้วก็ไปอีก แล้วก็ถอยกลับมา ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ได้ถึงฌาน แค่จวนๆ จะดับแต่ยังไม่ดับ อันนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ
สำหรับ อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิถึงจุดอันแน่นิ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่คิดไปเรื่องอดีต อนาคต ข้างหน้าข้างหลัง ไม่วิ่งไปหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ หรืออารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
แต่จิตของเราหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็หยุดอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐานนั้นๆ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ
อัปปนาสมาธิ นี้ก็เป็นขั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ในขั้นเดียว คือ อัปปนาสมาธินั้น พูดให้รวบๆ ก็ได้แก่
๑. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นปฐมฌาน
๒. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นทุติยฌาน
๓. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นตติยฌาน
๔. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นจตุตถฌาน
ถ้าพิสดารก็สมาธิอยู่ในขั้น ปัญจมฌาน เป็นขั้นๆ และประเภทที่สอง(อัปปนาสมาธิ) ที่เป็นอรูปฌาน หรืออรูปสมาธิ คือ
๑. อากาสานัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๑
๒. วิญญาณัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๒
๓. อากิญจัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๓
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๔
นี่เป็นขั้นๆ อยู่อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเรียกอัปปนาสมาธิแล้วจะเป็นสมาธิรวดเดียว อย่างเดียว ไม่ใช่
เพราะเหตุไร
เพราะว่า อัปปนาสมาธิแต่ละขั้นๆ นั้นไม่เหมือนกัน อานุภาพก็ไม่เหมือนกัน อานิสงส์ก็ไม่เหมือนกัน
แต่สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะไม่ได้กล่าวให้พิสดาร แต่จะแนะแนวทางอีกประการหนึ่ง คือ
ท่านทั้งหลาย การที่เราจะฝึกสมาธิดังที่ท่านทั้งหลายเคยฝึกมาแล้ว หรือขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฝึกอยู่ สมาธิที่จะนำมาฝึกนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะฝึกเอาเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอกท่านทั้งหลาย คืออย่างน้อยๆ เราก็ต้องปฏิบัติกัมมัฏฐานมา อาจจะ ๓ วัน หรือ ๔ วัน แล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อใดเราปฏิบัติไปๆ อัปปนาสมาธิเกิดขึ้น เพียงแต่ขั้นปฐมฌานอย่างเดียวก็ได้ หรือเป็นสมาธิขั้นแรกก็ได้
เมื่อจิตใจของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ คือได้สมาธิหรือได้ฌาน เราก็นำมาฝึกให้ชำนาญในวสี คือชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้เข้าก่อนเวลา รักษาสมาธิไว้ไม่ให้เลยเวลาไป ฉลาดในการพิจารณาองค์ฌานนั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วเอาไปฝึกเลยไม่ได้
ส่วนมากลักษณะอย่างนี้จะเกิดขึ้นสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ พอปฏิบัติแล้วก็อยากให้ฝึกสมาธิทันที เป็นไปไม่ได้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ปฏิเสธ แต่อยู่ที่เหตุปัจจัยของผู้ที่จะรับฝึก
เมื่อใดเราบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานจนสามารถทำจิตใจให้สงบอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ก็จะฝึกให้ วิธีฝึกก็คือ ฝึกให้ชำนิชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ ดังท่านทั้งหลายก็เคยศึกษามาแล้ว แต่หลวงพ่อจะไม่กล่าวถึงอีก วิธีฝึกนั้น ครูบาอาจารย์ต้องเป็นผู้ฉลาดในการฝึก ครั้งแรกเราเตือนให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายทราบว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อาจารย์หรือหลวงพ่อจะได้ฝึกสมาธิให้แล้วนะ
แต่การฝึกสมาธินี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการทำลายหรือเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม ไม่ใช่ทำในเรื่องอกุศลอะไร ก็พูดให้เขาเข้าใจแล้วก็เริ่มฝึก ให้เขาอธิษฐานเสียก่อน เช่นให้ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เกรงว่ามันจะไม่ได้เราก็ให้อธิษฐานว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที
หลังจากนั้นก็ให้ผู้ปฏิบัติกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อย พอถึง ๕ นาที เราเตือนว่า ได้เวลาแล้ว ฟังให้ดีนะ ในขณะที่ได้เวลาแล้ว ก็ให้ผู้ปฏิบัติน่ะคลายออกจากสมาธิ ลืมตาขึ้นมา แต่ถ้าว่ายังไม่คลายออกจากสมาธิ คือสมาธิมาก มันเลยเวลาไป อาจารย์ต้องกำหนดให้ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไป
เสร็จแล้วก็ให้เข้าอีก ๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที ฝึกให้ชำนิชำนาญไปเสียก่อน จนสามารถเข้าได้ออกได้ภายใน ๕ นาที สามารถเข้าได้ภายใน ๑ นาที สามารถจะเข้าออกได้ภายใน ๕ นาที ให้ชำนาญเป็นขั้นๆ ไป
เมื่อเราชำนาญในขั้นนี้แล้ว ต่อไปอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๐ นาทีขณะนั้นเราจับเวลาไว้นะ จับเวลาไว้ พอดีครบ ๑๐ นาทีแล้วก็ ได้เวลาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะกำหนดจิตออกจากสมาธิ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ตามลำดับๆ มา
ถ้าหากว่า ๑๐ นาทีนี้ยังออกไม่ได้ คือมันเลยเวลาไป เราก็ต้องช่วยด้วย กำหนดว่า อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ มา ครบ ๑๐ นาที ฝึกอยู่อย่างนี้ มิใช่ว่าวันเดียวก็เอาละใช้ได้ ต้องฝึกให้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็ฝึกอยู่นี้ ๑๐ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ ๕ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ จนชำนาญ เข้าได้ออกได้ๆ ตามเจตนารมณ์ แล้ววันต่อๆ ไป เราก็จึงฝึก ๑๐ นาที
เมื่อฝึก ๑๐ นาทีชำนิชำนาญแล้ว เข้าได้ออกได้ๆ ไม่ก่อนเวลาและก็ไม่หลังเวลา ออกก่อนก็ไม่ได้ ออกหลังก็ไม่ได้ ต้องให้ออกให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อฝึกชำนิชำนาญอย่างนี้แล้วก็ฝึก ๑๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เราก็กำหนดเหมือนเดิม พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ จนถึง ๑๕ นาที
พอถึง ๑๕ นาที ก็จะออกจากสมาธิ คลายตัวออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป คือเคลื่อนมือเบื้องขวาไปวางที่บนเข่าขวา เสร็จแล้วก็ให้เอามือข้างซ้ายออกว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ แล้วเลื่อนมือไปวางที่เข่าซ้าย
หลังจากนั้นก็กำหนดเอาเท้าออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป เหยียดขาขวาออกไปๆ เสร็จแล้วก็กำหนดเท้าซ้าย ขาซ้าย อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไปจนวางได้ที่ หลังจากนั้นก็กำหนด อยากลืมตาหนอๆ แล้วกำหนดว่า ลืมตาหนอๆ ค่อยๆ ลืมตาขึ้นๆ เมื่อลืมตาแล้ว ดูว่ามันยังไม่ได้ที่ ให้กำหนดตามแข้งตามขา กำหนดนวดแข้งนวดขาให้
แต่ในขณะที่นวดอยู่นั้น อย่าเพิ่งไปกำหนดนะว่า รู้หนอๆ หรือว่า ปวดหนอๆ ถ้าเรากำหนดอย่างนี้ มันเข้าอีกนะ เข้าสมาธิไปอีก คือสมาธิมันยังมากอยู่ ยังมียังสูงอยู่ มันก็จะเข้าอีก เหตุนั้น ในลักษณะอย่างนี้อย่าไปกำหนด ให้ออกไปตามที่กำหนดไว้ ออกแล้วก็แล้วไป อย่าไปกำหนดอีก เมื่อกำหนด ๑๕ นาทีได้แล้ว เรานั่งอธิษฐานใหม่ ตั้งใจใหม่ อธิษฐานใหม่ว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที
เราฝึกอยู่อย่างนี้ กลับไปกลับมา จนสามารถเข้าได้ออกได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อชำนิชำนาญแล้วก็ฝึกขั้น ๒๐ นาที ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๐ นาที ลักษณะทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันดังกล่าวมาแล้ว คือเหมือนเดิม
สำคัญนะการออก คือออกก่อนเวลาก็ไม่ได้ ออกเลยเวลาก็ไม่ได้ ต้องให้เข้าได้ออกได้ตามที่กำหนดไว้ทุกอย่างทุกประการ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ชำนาญในวสี คือ ชำนาญในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ชำนาญในการนึก ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการพิจารณา
เมื่อชำนาญได้อย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ เรียกว่าชำนาญแล้ว เมื่อได้ ๒๐ นาทีแล้ว ฝึกให้ครบ ๓๐ นาที ทุกอย่างเหมือนเดิม ให้ครบ ๓๐ นาที เมื่อครบ ๓๐ นาทีแล้ว วันนั้นเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้นนะ ๓๐ นาทีนี้ เราอาจจะใช้เวลาฝึก ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วันก็แล้วแต่
ถ้าหากว่ายังไม่ชำนาญในการเข้าการออกอยู่อย่างนี้ ก็ฝึกร่ำไปจนกว่าจะชำนิชำนาญทุกอย่าง ที่ฝึกอย่างนี้ก็เพื่อให้ชำนาญ คือสามารถที่จะใช้สมาธิ สามารถที่จะเข้าสมาธิตามเจตนารมณ์ทุกประการ และก็พร้อมที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
ถ้าเราไม่ชำนาญอย่างนี้ บางทีเราอยู่ตามกุฏิก็ดี หรือศาลาก็ดี หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ดี เราเข้าไปๆ มันเลยเวลาไป เช่นว่า เวลาที่มันเลยไปนั้น เราจะไปทำธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไปสวดมาติกา ไปเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะไปเทศน์ที่โน้นที่นี้ เราเข้าสมาธิอยู่ ไม่ออกตามเวลา ก็เสียการเสียงาน
เด็กๆ เมื่อก่อนโน้นมาฝึกอยู่ที่นี่ เวลาเขาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตอนนี้แหละ ตอนเกี่ยวข้าว ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแล้วก็ว่า วันนี้เรามานั่งสมาธิด้วยกัน ไปนั่งสมาธิ ตอนนั้นก็ปล่อยควายไว้ ปล่อยวัวไว้ ก็พากันนั่งสมาธิ คิดว่าจะเข้าสมาธินิดเดียว คราวเดียว
แวบเดียวเท่านั้น ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย สมาธิที่ไม่ฝึกให้ชำนิชำนาญ เลยเวลาไป บางคนก็ ๑ ชั่วโมง บางคนก็ ๒ ชั่วโมง รู้สึกตัวขึ้นมา วัวของเราหายไปไหน ควายของเราหายไปไหน ตามหาวัวควาย วัวควายไปกินข้าวเขาหมดแล้ว ตกลงเป็นได้รับโทษอีก เขาต้องปรับไหม เพราะข้าวเขาถูกวัวกินถูกควายกิน ถูกปรับไหมใส่โทษ เพราะฉะนั้น ต้องฝึก
หรือบางครั้ง เราอยู่ที่วัดของเรา อยู่ในกุฏิของเรา เราเข้าสมาธิไป ในขณะที่เข้าสมาธิไปบังเอิญไฟไหม้กุฏิของเรา หรือที่ตูบกัมมัฏฐาน (กุฏิกัมมัฏฐาน) ของเรา แต่ว่าเรายังไม่ได้ออกจากสมาธิ คือสมาธิยังไม่คลายตัว ไม่ได้ออกมาเลย ก็ถูกไฟไหม้ตายเท่านั้น ถ้าเราไม่อธิษฐานจิต มันเป็นนะ ถ้าเราอธิษฐานจิต ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น เราจึงต้องให้ชำนิชำนาญดังนี้
เมื่อเราชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ฝึกให้เข้าภายใน ๑ ชั่วโมง จนชำนิชำนาญ ๑ ชั่วโมงนี้ เข้าได้ออกได้ๆ ชำนาญแล้วท่านทั้งหลาย ทำชำนาญแล้วอย่างนี้แล้ว วันหลัง เราจะฝึกต่อทีนี้ เราก็เพิ่มเป็น ๒ ชั่วโมง พอดีเดินจงกรมเสร็จแล้วก็มานั่งอธิษฐานว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒ ชั่วโมงหลักการปฏิบัติเหมือนกันทุกอย่าง แต่ว่าต้องทำให้ได้ตามเวลา คือสามารถเข้าได้ การเข้านี้ บางท่านก็ใช้เวลามาฝึกครั้งนี้ บางคนก็ใช้เวลา ๒ นาที หรือ ๓ นาทีจึงเข้าได้ บางคนก็เข้าได้ภายใน ๑ นาที บางคนยังไม่ถึง ๑ นาทีเลย มันเข้าไปก่อน คือสมาธิมันมีมาก ก็เข้าไปก่อน เพราะฉะนั้น เราต้องให้ชำนาญ
และก็ถึงเวลา ๑ ชั่วโมงแล้ว จะออกจากสมาธิ แต่เราจับเวลา มันออกไม่ได้ ยังไม่ออกเลย เราก็กำหนดให้ดังกล่าวมาแล้วว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ มาเรื่อย แต่ถ้ามันออกก่อนเวลาก็ไม่เอา ไม่ให้ลุก ถึงรู้สึกตัวขึ้นมาก็ไม่ลุก นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ให้กระดุกกระดิก ถ้ากระดุกกระดิกแล้วก็ถือว่า ทำไม่ถูก ทำไม่ได้
เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย เมื่อชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ค่อยเพิ่มเข้าไป ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมงทีนี้เพิ่มเป็น ๓ ชั่วโมง หลักการทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนกัน แต่เวลาเข้าเวลาออกก็ต้องให้ตรงเวลา โดยเฉพาะเวลาออกนั้น ออกให้ตรงเวลา ถ้าออกไม่ตรงเวลาก็ฝึกไปอย่างนั้นแหละ จนตรงเวลา
เมื่อครบ ๓ ชั่วโมงแล้ว ให้พักทีนี้ ให้พัก ๓ วัน จำให้ดีนะ หากเข้าสมาธิได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังให้หยุด ไม่ฝึก ให้พักอยู่ ๒–๓ วัน ช่วงที่พักนี้ เลี้ยงไว้ ให้เลี้ยงอารมณ์ไว้ หากว่าจะไปที่โน้นจะไปที่นี้ ก็ต้องประคับประคองสติของเราให้ดี อย่าให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปด้วยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ถ้าจะเข้าสมาธิ (ช่วงพัก) ตอนนี้ ก็เข้าได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ๒๐ นาที เข้าอยู่ในขั้นนี้ ไม่ให้ถึงชั่วโมง อย่าเพิ่งให้ถึงชั่วโมง หรือหากจำเป็นที่จะให้ถึงชั่วโมง ก็ให้ถึงได้ แต่ว่าไม่ให้เลย ๒ ชั่วโมง หากว่าอยู่ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้เข้าได้ แต่ไม่ให้เลยถึง ๒ ชั่วโมง เพราะว่าวันหลังเราจะฝึกอยู่แล้ว ดังนี้ก็เรียกว่าเราเลี้ยงอารมณ์ไว้
เมื่อครบ เมื่อทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังจะทำต่อ คือหมายความว่า เราพัก ๒ วันแล้ว วันหลังจะทำต่อ ก็ให้อธิษฐานจิตใหม่เหมือนดังกล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๖ ชั่วโมง ทีนี้เอา ๖ ชั่วโมงแล้วนะ การเข้าการอธิษฐานทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อครบ ๖ ชั่วโมงแล้วยังไม่ออกจากสมาธิ เราก็ช่วยกำหนดให้ อยากออกหนอๆ เหมือนที่กล่าวมานั่นแหละ ฝึกขั้นนี้ก็เหมือนกัน
การเข้า การออก ท่านทั้งหลายอย่าให้ออกก่อนเวลา และก็อย่าให้เกินเวลาไป จนชำนิชำนาญ เมื่อชำนิชำนาญได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย ต่อไปเราจะฝึกให้สูงขึ้นไป ครั้งนี้นะให้พักนะ ให้พักอยู่ ๕ วัน ขั้นที่ ๖ ชั่วโมงนี้ ให้พักอยู่ ๕ วัน ภายใน ๕ วันนี้ เราเลี้ยงอารมณ์ไว้ให้เข้าสมาธิไปตามปกติธรรมดา
เมื่อครบแล้ว จะฝึก ๑๒ ชั่วโมง อธิษฐานจิตเหมือนที่กล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๒ ชั่วโมง เมื่อถึง ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออกจากสมาธิออกจากฌาน เราก็ช่วยกำหนดให้ออก ให้ได้ออกทันเวลา
ถ้าว่าทำไม่ได้ ยังไม่ครบกำหนด ออกก่อนเวลาบ้าง เลยเวลาบ้าง หลังจากพักอยู่ ๗ วัน ขั้นนี้ก็พัก ๗ วันนะ ได้แต่เลี้ยงอารมณ์ไว้ จะเข้าใหม่ทีนี้ ก็ต้องเข้า ๑๒ ชั่วโมง เพราะขั้นนี้ยังไม่เรียบร้อย ขั้นนี้ยังไม่สามารถทำได้ สำหรับขั้นที่ผ่านๆ มาก็เหมือนกัน ๒ ชั่วโมงก็ดี ๓ ชั่วโมงก็ดี และก็ ๖ ชั่วโมงก็ดี
ถ้าเราทำแล้วยังไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ เราก็ฝึกใหม่ ฝึกชำนิชำนาญแล้วจึงฝึกขั้น ๑๒ ชั่วโมง ฝึก ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เข้าไม่ได้ออกไม่ได้ตามเจตนารมณ์ ตามที่เราฝึก ตามที่เราต้องการ ก็ให้ฝึกครบ ๗ วัน แล้วก็เข้า ๑๒ ชั่วโมงอีก ยังไม่ชำนิชำนาญการเข้า ครบ ๗ วันแล้วก็ฝึกอีก ให้เข้าอีกจนชำนิชำนาญ เข้าได้ออกได้ตามเจตนารมณ์ครบ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เราจะฝึกต่อ
คือเราพักอยู่ ๗ วันแล้วเราจะฝึกต่อ การอธิษฐานจิตเหมือนเดิม ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็นั่งสมาธิไป การกำหนด การปฏิบัติ เหมือนกันทุกอย่าง ต่างแต่ว่าให้ได้ครบ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อถึง ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออก (ตามเวลา) เราก็ต้องกำหนดออกให้ อยากออกหนอๆ เสียก่อน ถ้าว่ามันออกก่อน ก็ไม่ได้ เลยเวลาไปก็ไม่ได้ ฝึกอยู่อย่างนั้นให้ชำนิชำนาญ
นี่หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลวงพ่อไปฝึกมาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณ พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดมหาธาตุฯ ท่านแนะวิธีให้ สอนให้ หลวงพ่อก็นำมาใช้จนตราบเท่าทุกวันนี้
ถามว่า ทีนี้สามารถเข้าได้ออกได้ ๗ วัน ไม่ใช่ของธรรมดานะ ถ้าฝึกให้ชำนิชำนาญแล้วทำได้ ๗ วันนี้ ตามหลักวิชาการที่ท่านแนะนำให้ แต่หลวงพ่อฝึกลูกศิษย์ลูกหาอย่างมากก็ ๓๐ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมงแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าหมดความสามารถแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น
เมื่อว่าถึง อานิสงส์ ที่ท่านทั้งหลายจะได้นั้น คือ
๑) กามฉันทะ พอใจใฝ่หากามคุณ
๒) พยาบาท ไม่พอใจ แค้นเคืองคิดร้ายเขา
๓) ถีนมิทธะ ความท้อแท้ ง่วงเหงา หดหู่ ซึมเซา กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง
๔) อุทธัจจกุกกุจจะ คิดมาก ฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ
นิวรณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ สามารถที่จะข่มไว้ไม่ให้เกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิตใจของเราได้ ในขณะที่อยู่ในสมาธิ หรืออยู่ในสมาธิของเราไม่เสื่อม
สิ่งที่เกิดขึ้นมาทดแทนก็คือความสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุข ยืนอยู่ก็มีความสุข เดินไปเดินมาก็มีความสุข ทานอาหารฉันอาหารอยู่ก็มีความสุข นอนอยู่ก็มีความสุข มีแต่สุขกับสุข ถ้าอยู่ในขั้นนี้ ถือว่าเป็นความสุขในฌาน ความสุขขั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขชั้นสูงสุดยอดในทางสมถะ เมื่อสมาธิของเราหรือฌานของเราแก่กล้าแล้วจึงค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนา เพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน
สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า สมาธินั้น หรือฌานนั้น มี ๒ประการ คือ
๑. อัปปนาสมาธิ ญานที่เกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นเป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับ สมาธิขั้นนี้ยังไม่สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปได้ ต่อเมื่อปฏิบัติวิปัสสนา อย่างน้อยยังขั้นปฐมมรรคให้เกิดขึ้นก่อนแล้วนั่นแหละ จึงจะสามารถทำลายกิเลสได้
๒. อัปปนาสมาธิ ที่เกิดในลำดับของมัคควิถี ก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถี สมาธินั้นก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าว่าเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
ถ้าเกิดในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๒ สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับมัคควิถีครั้งที่ ๓ อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอนาคามิมรรค อนาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดครั้งที่ ๔ อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่อานิสงส์ที่ได้จากการเกิดของอัปปนาสมาธิมีอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย
สรุปแล้วว่า อัปปนาสมาธิ นี้เกิดขึ้นในลำดับของ ๒ วิถี คือ ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
ถ้า อัปปนาสมาธิ เกิดขึ้นในลำดับของ มัคควิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นมรรค เป็นผล เป็นโลกุตตระ หรือว่าถึงขั้นโลกุตตระ ขั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ตามลำดับๆ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักวิชาการที่ท่านทั้งหลายจะนำไปใช้เพื่อตัวเองด้วย และเพื่อสังคม ลูกศิษย์ลูกหา พระสงฆ์องค์เณร อุบาสกอุบาสิกา ที่มีปสาทะศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส อยากประพฤติปฏิบัติ
เมื่อเขาต้องการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอนุเคราะห์เขาช่วยเหลือเขา ตามโอกาสตามเวลาที่มีอยู่ เราอย่าไปนอนหลับทับสิทธิ์ ดาบมีอยู่ในมือก็ใช้ดาบนั้นให้เป็น อาวุธมีอยู่ในมือใช้อาวุธนั้นให้เป็น สิ่งใดเป็นของที่ดีเป็นมงคลมีอยู่ในตัวของเรา ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ดังนี้ เพื่อเราด้วยและเพื่อสังคมด้วย
นอกจากนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงใจ สงสัย ยังไม่เข้าใจ โอกาสหน้ามีอยู่ ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลาย ขอเชิญท่านทั้งหลายได้มาไต่ถามความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้หมดไป
เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะมา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.