สมาธิ (๑)

สมาธิ (๑)

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ท่านผู้ใจบุญทั้งหลาย วันนี้ ตามกำหนดการของพวกเราก็ถือว่าเริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก จนกว่าจะครบกำหนด หรือจนกว่าจะหมดความสามารถหรือกำลังสมาธิ

            คือผู้ที่ทำสมาธิได้แล้ว ๓๐ นาที ก็จะได้เริ่มฝึกสมาธิเป็น ๑ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๑ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๒ ชั่วโมงแล้ว จะได้ฝึกเป็น ๓ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๖ ชั่วโมง ผู้ที่ฝึกได้ ๖ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๑๒ ชั่วโมง ผู้ที่ฝึกได้ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒๔ ชั่วโมง

          วันพระนี้ ถือว่าเราทำได้มากกว่า ๒๔ ชั่วโมง วันพระก่อนมีรายการธรรมเทศนา เลยไม่ได้ฝึก ฉะนั้น วันนี้พวกเราทั้งหลายก็เริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก ก่อนอื่นที่จะได้ฝึกสมาธินั้น ก็ขอปรับความเข้าใจของบรรดาท่านทั้งหลายดังนี้

          การฝึกสมาธิ มีธรรมะที่จะต้องประกอบกัน ส่วนใหญ่ๆ นั้นมี ๓ ประการ คือ ๑) จิต ๒) สติ ๓) สมาธิ

          จิตกับสติ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน จิตกับสมาธิ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน คือสภาวะต่างกัน ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ คือทั้งจิตก็ดี ทั้งสติก็ดี ทั้งสมาธิก็ดีเป็นคนละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน

          ขอให้เราทั้งหลายเข้าใจ อย่าคิดว่า เอ สติตามระลึกได้นี้ก็เป็นจิต สมาธิคือความตั้งใจมั่นก็เป็นจิต ที่จริงไม่ใช่ เพราะ สติกับสมาธินั้นเป็นตัวเจตสิก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประกอบกับจิตเท่านั้น แต่ไม่ใช่จิต คือจิตนั้นเป็นสภาวะที่น้อมไปในอารมณ์ น้อมไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์

          จิต เป็นสภาวะที่คิดอารมณ์ ทั้งดี ทั้งชั่ว

          สติ มีหน้าที่ปกครองจิต มีหน้าที่ข่มจิต มีหน้าที่บังคับจิต มีหน้าที่อุปถัมภ์จิต มีหน้าที่เชิดชูจิต มีหน้าที่ยกย่องจิต

          สมาธิ มีหน้าที่ทำจิตใจให้สงบ ทำจิตใจให้ตั้งมั่น สมาธินี้ หมายถึงธรรมชาติที่สงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วประกอบอยู่กับจิตตลอดเวลา

          แต่ทำไมจึงไม่ช่วยในการจำ คือบางครั้ง แทนที่เราจะจำได้ดี เช่นว่า การที่เราท่องหนังสือ แทนที่เราจะท่องได้ดี หรือสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วแทนที่จะจำได้ดี จะคิดได้ดี แต่กลับจำไม่ดี หรือจำไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไร

          เพราะว่าจิตซึ่งเป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์ ถูกแต่งเติมเสริมแต่งให้เป็นไปตามลักษณะต่างๆ ของสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลครอบงำเหนือจิตใจ ถ้าจะชี้ชัดให้เข้าใจง่ายๆ ให้เปรียบเทียบเหมือนดัง น้ำบริสุทธิ์ เมื่อถูกแต่งเติมด้วยการนำสีมาใส่ น้ำบริสุทธิ์นั้นก็จะกลายเป็น น้ำสี ตามที่ถูกแต่งเติม ดังนั้น จิตที่คิดจะรับรู้อารมณ์จึงเหมือนดังน้ำที่ถูกใส่สีตลอดเวลา ยากที่จะแสดงสภาพที่บริสุทธิ์ออกมาให้เห็นได้

          แต่ถ้าเราพยายามไม่ผสมสีลงในน้ำนั้นอีก และในขณะเดียวกันก็พยายามกลั่นกรองน้ำเก่าให้บริสุทธิ์เช่นเดิม หรือมีสีน้อยลงไป น้ำนั้นก็จะสามารถกลับมาบริสุทธิ์ดังเดิม หรือมีความขุ่นมัวสกปรกน้อยลงได้ เมื่อความขุ่นมัวสกปรกน้อยลง สภาพความบริสุทธิ์เดิมของน้ำก็จะค่อยๆ ปรากฏตัวชัดขึ้น

          จิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อพยายามปรุงแต่งจิตของเราให้น้อยลง พยายามไม่ปล่อยให้สิ่งภายนอกมามีอิทธิพลครอบงำจิตเราให้มากนัก ให้จิตเรารับแต่สภาพ เช่นว่า เห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็นรูป ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยินเสียง ได้รสก็สักแต่ว่าได้รส ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้สัมผัสก็สักแต่ว่าได้สัมผัส คือให้รับก็สักแต่ว่ารับอารมณ์ รู้สึกก็สักแต่ว่ารู้สึก ไม่ปรุงแต่งต่อไปให้มากกว่านั้น คือไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง หรือลุ่มหลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

          เมื่อทำได้เช่นนี้ จิตย่อมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์เหล่านั้น จิตจะตั้งมั่นด้วยมีความรู้อยู่ตลอดเวลาว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น สมาธิที่ประกอบกับจิตจะมีโอกาสออกมาแสดงบทบาทในทางที่เป็นประโยชน์ และใช้งานได้อย่างดี ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ธรรมชาติของจิตนั้นคือ ความคิด ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ดังนี้

          ดังนั้น เมื่อคนเราประกอบไปด้วยกายกับใจ จึงทำให้คนเราต้องคิดไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา แต่โดยปกติ คนเรานั้นมักปล่อยให้ตนเองคิดไปตามความเคยชินของจิต นั่นคือมักคิดไปถึงเรื่องที่ผ่านเลยมาแล้วในอดีตบ้าง และคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงซึ่งเรียกว่าอนาคตบ้าง การที่จิตไปอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอดีตอนาคต เรียกว่า จิตถูกปรุงแต่ง

          ดังนั้น สมาธิที่ประกอบกับจิตซึ่งคิดถึงเรื่องอดีตและเรื่องอนาคต ก็จะติดอยู่กับเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น ซึ่งเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น จะปรุงแต่งจิตของเราให้เกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบกับเรื่องนั้นๆ ผลที่ตามมาคือความฟุ้งซ่าน คนที่คิดฟุ้งซ่านนานาประการนั่งอยู่ ๕ นาที หรือว่า เดินอยู่ ๕ นาที ก็คิดไปแล้วร้อยแปดพันประการ

          เพราะอะไร เพราะว่าเราปล่อยจิตของเราให้นึกถึงแต่เรื่องอดีตบ้าง นึกถึงแต่เรื่องอนาคตบ้าง เมื่อเรานึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ดี หรือเรานึกถึงเรื่องอนาคตที่ยังไม่มาถึงก็ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน คิดมากกลุ้มใจ หนักๆ เข้าก็นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้ ทำให้เกิดโรคความดันสูง ทำให้เกิดโรคประสาทได้ ความฟุ้งซ่านจะเกิด เมื่อเรานึกถึงเรื่องอดีตเรื่องอนาคต ความฟุ้งซ่านก็จะเกิดขึ้นทันที ถ้าเราไม่พยายามตั้งสติและมีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน

          อาจกล่าวได้ว่า ความฟุ้งซ่านเป็นทั้งสาเหตุ เป็นทั้งผลอันเนื่องมาจากการที่เราไม่มีสมาธิอยู่ในปัจจุบัน เช่น ในขณะปัจจุบันเรากำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนหนังสือ และปัจจุบันเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แต่ว่าในขณะเดียวกันเราขาดสติขาดสมาธิ ปล่อยให้จิตเราคิดไปถึงเรื่องอดีต ฟุ้งเฟ้อไปถึงเรื่องอนาคต ที่เรียกว่าฝันกลางวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน

          สมมติว่า เราเป็นนักเรียน ฟังครูผู้สอนก็ไม่รู้เรื่อง ครูพูดอะไรสอนอะไรมาบ้าง หรือเรากำลังทำอะไรอยู่ ก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ สมมติว่า ท่านทั้งหลายฟังหลวงพ่อบรรยายธรรมะเรื่องสมาธิอยู่ในขณะนี้ หากว่าเรามัวแต่คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต ก็จะกำหนดจดจำไม่ได้เลยว่า หลวงพ่อพูดเรื่องอะไร หรือพูดอย่างไร เราก็จำไม่ได้ หรือไม่รู้ความหมายของธรรมะที่บรรยาย ไม่รู้ความหมายของธรรมะที่เทศน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่สามารถจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี ทั้งนี้เพราะคุณภาพของจิตเราถูกบั่นทอนด้วยเรื่องอดีตเรื่องอนาคตเสียแล้ว

          สมมติว่า เราอ่านหนังสือจนจบบท จบเล่ม แต่ไม่รู้ว่าอ่านเรื่องอะไร ตาอยู่ที่ตัวหนังสือ แต่ใจไปอยู่ที่ไหน ใจไปอยู่ที่อื่นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราอ่านหนังสือจบแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ความหมาย จำไม่ได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สมาธิที่จะสามารถช่วยให้เกิดความจำได้ดีนั้น คือสมาธิจิตที่อยู่กับปัจจุบันคือในขณะนี้ เรียกได้ว่า ทันปัจจุบัน หรือว่าในขณะที่เราอ่านหนังสือ จิตของเราก็อยู่กับตัวหนังสือ นี้เรียกว่าปัจจุบัน

          ในขณะที่ฟังหลวงพ่อบรรยายธรรม หลวงพ่อเทศน์ จิตใจของเราก็จะจดจ่ออยู่กับพระธรรมที่หลวงพ่อบรรยาย ที่เรียกว่าปัจจุบัน เมื่อจิตของเรามีสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็สามารถที่จะกำหนดจดจำอะไรได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวดี เพราะว่าโดยปกติ สมาธิประกอบอยู่กับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เราไม่พยายามทำสิ่งดีซึ่งมีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น ในทางตรงกันข้าม ยังพลอยบั่นทอนพลานุภาพให้ลดน้อยถอยลงด้วยการปล่อยให้จิตของเราฟุ้งซ่านไปในเรื่องอดีตและเรื่องอนาคตเสียอีก

          เหตุนั้น ต่อไปนี้เราควรจะหันมาฝึกจิตของเราให้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน ที่เรียกว่า ฝึกสมาธิ เช่นพวกเราทั้งหลายจะเริ่มฝึกกันในวันนี้ต่อไป

          เพราะว่า การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องซึ่งเรากำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน ในขณะนี้ วินาทีนี้ และเดี๋ยวนี้ มีสติอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมมีพลานุภาพ ทำให้ความจำของเราดียิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาในขณะที่จิตมีสมาธิอยู่กับเรื่องปัจจุบันคือ สติ เมื่อสติกับสมาธิมีความสมดุลกัน สิ่งที่ตามมาก็คือปัญญาจะเกิดขึ้น ดังคำพูดที่เราพูดกันเสมอว่า สติปัญญา

          เมื่อสติปัญญาจะเกิด ก็ต้องอาศัยสมาธิเสียก่อน เมื่อมีสมาธิเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็สามารถจำแนกความผิดชอบชั่วดีได้ รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ความชั่วจะเกิดขึ้นไม่ได้ ความดีย่อมเกิดขึ้นได้ฝ่ายเดียว

          ในขณะที่เรามีสมาธิดี มีสมาธิเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับ ทำให้สติปัญญาเกิดขึ้นมา เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ความชั่วก็ไม่มีโอกาสจะไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา มีแต่คุณงามความดีคือ ศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา นี้ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ

          เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า จิตของเราเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ หรือลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นเป็นอย่างไร ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ประการ บรรดาลูกๆ ทั้งหลายจำไว้นะ บางทีปัญหานี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รับความรู้ความฉลาด หรือได้สิ่งที่เราต้องการขึ้นมาก็เป็นไปได้

          บรรดาลูกๆ ทั้งหลายก็ลองคิดดูว่า บางสิ่งบางอย่างเราไม่นึก ไม่ฝึก แต่ตอบปัญหาหลวงพ่อได้เพียงนิดเดียว ก็ได้สร้อยทองคำหนักเป็นสองสลึงหรือเป็นบาทก็มี บางคนตอบปัญหาที่หลวงพ่อถามบางสิ่งบางประการได้ ก็ได้หัวใจหลวงพ่อไปครองก็มี เหตุนั้น การฟังธรรมะ ต้องฟังให้เป็น ฟังแล้วจำไว้ หรือว่าหากมีโอกาสมีเวลา จะได้นำเอามาใช้ให้
เป็นประโยชน์

          ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

          ๑. แข็งแรงดี มีพลังมาก เหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมกัน ย่อมมีกำลังมากกว่าที่ปล่อยให้กำลังน้ำไหลกระจัดกระจายไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมดาของน้ำนี้ ถ้าเราบังคับให้มันไหลพุ่งไปในทางเดียวกันนี้ กระแสของน้ำจะมีพลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้

          อย่างเช่นไฟฟ้าที่พวกเราทั้งหลายใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เขาก็เอาพลังน้ำที่พุ่งลงไปนั้นเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก็ผลิตไฟฟ้ามาใช้อยู่ในทุกวันนี้ ทีนี้น้ำนั้น ถ้าเราปล่อยให้ไหลบ่าไปตามธรรมชาติของมัน เหมือนกับคลองที่ข้างวัดของเรานี้ ก็ไม่มีกำลังมาก เอามาใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้เท่าที่ควร

          หรือเหมือนกันกับไฟฉาย ไฟฉายนี้ ถ้าว่าเราไม่ใส่กรวยปรับแสง เราใส่หัวเทียนเข้าไปแล้วเปิดสวิทซ์ก็จะสว่างเหมือนกัน แต่สว่างไม่ได้มาก ถ้าเราเอากรวยปรับแสงเข้าไป แต่ว่าเรายังไม่ได้ปรับแสงสว่างให้เพิ่มขึ้นจะไม่มีพลังมาก แต่ถ้าเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ที่เขามีไว้ให้เราปรับแสงสว่างของไฟฟ้านั้น เราปรับเข้าไปตามลำดับๆ เมื่อปรับได้ถึงที่แล้ว ไฟฉายของเราก็มีแสงสว่างมาก สามารถส่องดูสถานที่ไกลๆ ได้ ข้อนี้ฉันใด

          จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้คิดไปแต่เรื่องอดีตอนาคตไป ร้อยแปดพันประการ จิตใจของเราก็ไม่มีพลังไม่มีอำนาจ แต่ถ้าเราคุมกระแสจิตของเราให้เหลือเป็นความคิดเดียว ยิ่งถ้าเรารวมให้เหลือน้อยได้เท่าไร จิตก็จะยิ่งมีพลังมาก

          ๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนกันกับกระแสน้ำในบึงที่สงบนิ่ง ไม่มีสิ่งใดมารบกวนให้เคลื่อนไหวได้

          ๓. ใสกระจ่าง ชัดเจน เหมือนน้ำที่บริสุทธิ์ ถึงแม้จะมีฝุ่นละอองอยู่บ้าง เมื่อตกตะกอนหมดแล้ว สภาพความบริสุทธิ์ย่อมกลับมาแสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง

          ๔. นุ่มนวล ควรแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่นวาย ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย ไม่ฟุ้งซ่าน

          ทีนี้มาว่าถึงความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิว่า เพราะเหตุไรจึงพากันฝึกสมาธิ หรือเพราะเหตุไรจึงพากันเจริญสมถกัมมัฏฐานทำจิตใจให้เป็นสมาธิ เพราะเหตุไรจึงเจริญวิปัสสนาภาวนา มีความมุ่งหมายอย่างไร หรือประโยชน์ที่เกิดจากการมีสมาธิมีอย่างไร

          จุดมุ่งหมายหลักในการฝึกสมาธิก็คือ

          ต้องการประโยชน์อย่างสูงสุด โดยมีพระนิพพานเป็นที่สุด มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง

          คือการฝึกสมาธิ ครั้งแรกเราก็ต้องเตรียมจิตให้พร้อมน้อมไปสู่การเกิดของปัญญา พิจารณาสิ่งต่างๆ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมชาติที่มีที่เป็น เป็นการที่จิตน้อมกลับไปสู่สภาพเดิม

          อะไรเป็นสภาพเดิมของจิต

          สภาพเดิมของจิตก็คือความบริสุทธิ์นั่นแหละ เป็นสภาพดั้งเดิมของจิต เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว จิตก็จะสะอาด สว่าง สงบ และเมื่อนั้นเราก็จะได้รับความสุขแท้จริง ซึ่งเป็นความสุขอันเกิดจากการที่จิตเกิดความสงบ ร่มเย็น เบา และปลอดโปร่ง

          จุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่นำมาใช้ในปัจจุบันคือ เมื่อเราฝึกสมาธิได้แล้วก็นำสมาธิมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ที่เกิดจากสมาธิก็มีอยู่หลายอย่าง ดังนี้ คือ

          ๑. เพื่อช่วยทำให้จิตใจได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด เกิดความสงบ หายความกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความวิตกกังวล ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ได้รับการพักผ่อน ทำให้ใจสบาย และมีความสุข เมื่อส่วนใจรู้สึกสบายและมีความสุข ก็จะส่งผลให้ส่วนกายได้รับความสุขตามไปด้วย เช่น ในเวลาที่จำเป็นต้องรอคอย หรือไม่มีอะไรจะทำ เวลาเราทั้งหลายไปกับรถโดยสารอย่างนี้ หรือไปกับรถประจำทาง ในขณะที่รถเกิดติด

          ถ้าเราปล่อยจิตให้คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกโกรธหรือเกิดอาการเครียดขึ้นมา แต่ถ้าเราหันมากำหนดลมหายใจเข้าออก เช่น หายใจเข้าเรานับ หนึ่ง หายใจออกเรานับ สอง หรือหายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนา พุทโธ อย่างนี้เป็นต้น สลับกันเรื่อยไป เราจะไม่เกิดความเครียด หรือจะไม่เกิดความชอบ หรือจะไม่เกิดความชังกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะว่า เราไม่ได้เอาใจของเราไปจดจ่อกับสิ่งภายนอกที่กำลังวุ่นวายสับสนอยู่ในขณะนั้น หรือจะใช้วิธีที่ปฏิบัติสลับแทรกไปในขณะที่เราต้องทำงานด้วยการใช้สมองอย่างหนัก

          เช่นบางครั้งเราอ่านหนังสืออย่างนี้ เราเอามาใช้ในเวลาอ่านหนังสือได้ สมมติว่า เราอ่านหนังสือไปได้สักสอง สามหน้า หรือสี่หน้าอย่างนี้ เราหยุดเสียก่อน หยุด ทำจิตใจของเราให้เป็นสมาธิ โดยขณะนั้นเราหยุดเรื่องการอ่านหนังสือเสีย โดยที่เรามาภาวนา พุทโธๆ หรือว่าหายใจเข้านับ หนึ่ง หายใจออกนับ สอง หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุท ท้องยุบลงภาวนาว่า โธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงมาภาวนาว่า ยุบหนอ อย่างนี้สัก ๓ นาที หรือ ๕ นาที เราค่อยอ่านหนังสือใหม่

          การอ่านหนังสือของเราจะมีประสิทธิภาพ ทำให้จำได้ง่ายและไม่เกิดความตึงเครียด ไม่ทำให้ปวดศีรษะ หรือเวลาเราท่องหนังสือก็เหมือนกัน เมื่อเราท่องหนังสือไป เราใช้เวลาท่องหนังสืออยู่ ๑๕ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที ประมาณนี้ แต่ละครั้งๆ ท่องหนังสือนี้ไม่เกิน ๓๐ นาที

          เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาที เราตั้งอกตั้งใจท่องหนังสือจริงๆ ไม่คิดเรื่องอดีต ไม่คิดเรื่องอนาคต เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาทีแล้ว เราทวนตั้งแต่ต้นถึงปลาย จำได้แม่นยำแล้วก็พักเสียก่อน ปล่อยวางการท่องหนังสือนั้น หันมาทำจิตใจให้เป็นสมาธิ โดยหายใจเข้าจะภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้

          หรือท้องพองขึ้นมากำหนด พุทโธ ท้องยุบลงไปกำหนด พุทโธ ท้องพองขึ้นมากำหนด พองหนอ ท้องยุบลงไปกำหนด ยุบหนอ ก็ได้ ทำจิตใจให้เป็นสมาธิสัก ๕ นาที ครบกำหนดแล้ว หลังจากนั้นก็ท่องหนังสือต่อไปอีก ๓๐นาที เราปฏิบัติสลับกันไปอยู่อย่างนี้ จะทำให้การท่องหนังสือนั้นจำได้ง่าย จะไม่เกิดความตึงเครียด จะไม่เกิดอาการปวดศีรษะ นี้ทำให้มีประสิทธิภาพในการท่องหนังสือหรือการทำงานทุกอย่าง

          เราอาจจะใช้เวลานิดๆ หน่อยๆ หยุดพัก เวลาเราปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สลับกันไปกับการอ่านหนังสือ การท่องหนังสือ ถ้าทำได้เช่นนี้ จะทำให้สมองและจิตของเราได้รับการพักผ่อน ไม่เกิดการตึงเครียด ไม่ปวดศีรษะ ไม่กลุ้มใจ ไม่เกิดโรคประสาท ไม่เกิดความดันสูง

          ๒. ประโยชน์ของสมาธิที่จะต้องนำมาใช้ในปัจจุบัน ก็เพื่อช่วยส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การศึกษา การเล่าเรียนและการกระทำกิจต่างๆ ทำให้มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการกระทำนั้นๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอย ช่วยให้การกระทำทุกอย่างนั้นถูกต้อง ทำให้คำพูดทุกอย่างนั้นถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ไม่พลั้งเผลอ และทำให้ความคิดทุกสิ่งอย่างเป็นไปอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพ

          คนที่มีจิตไม่เป็นสมาธิ ความคิดนั้นย่อมไม่เป็นระเบียบ ไม่ราบเรียบ บางทีคิดเรื่องนี้ยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องนั้นยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องโน้นแล้ว อะไรร้อยแปดพันประการ นี่เขาเรียกว่า ความคิดไม่มีระเบียบ ไม่มีระบบ เมื่อความคิดไม่มีระบบและไม่มีระเบียบ ความคิดนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีปัญหาอะไร เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ก็ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาได้

          แต่เมื่อใดเรามีสมาธิเป็นเครื่องควบคุมจิต ความคิดของเราย่อมมีระบบ หรือว่าความคิดของเราย่อมมีระเบียบตามที่เราคิดไว้ ที่เราวาดภาพไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดของเราก็มีประสิทธิภาพ การทำงานก็จะได้รับผลดี การงานเป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ผลดี

          เช่นเราขับรถอย่างนี้ ถ้าจิตของเรามีสมาธิดี ไม่พลั้งเผลอ การขับรถก็ปลอดภัย เพราะเมื่อจิตมีสมาธิแล้ว แสงสว่างของจิตก็จะเกิดขึ้นมา จิตของเราก็จะมีกำลัง สามารถที่จะช่วยส่งเสริมการงานทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปโดยดี ได้ผลดี หรือมีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป

          ๓. ประโยชน์ของสมาธิที่เราจะต้องได้ในปัจจุบัน ก็เพื่อช่วยเสริมสุขภาพร่างกาย แก้ไขโรคภัยไข้เจ็บได้ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า บุคคลประกอบไปด้วย๒ส่วน คือ ๑) ส่วนกาย ๒) ส่วนจิตใจ ร่างกายและจิตใจต่างอาศัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกัน และมีอิทธิพลต่อกัน

          กล่าวคือ เมื่อส่วนของร่างกายไม่ผ่องใส จิตใจของเราก็จะอ่อนแอ ขุ่นมัวไปด้วย เมื่อส่วนจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือขาดกำลังใจ ก็ยิ่งจะทำให้การกระทบกระเทือนโรคทางกายให้ทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติก็ตาม แต่พอได้ประสบเรื่องราวที่ทำให้จิตใจของเราเศร้าโศกเสียใจหรือผิดหวังอย่างแรง ก็อาจทำให้ต้องเป็นไข้ล้มป่วยลงไปก็ได้

          ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ ถึงจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บป่วยไม่สบายเฉพาะร่างกายเท่านั้น ส่วนจิตใจนั้นไม่พลอยต้องป่วยไปด้วย คือป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วย พร้อมกันนั้น ก็ใช้ใจที่สบายและเข้มแข็งนั้นมาช่วยสร้างกำลังใจและส่งอิทธิพล บรรเทาหรือผ่อนเบาโรคภัยไข้เจ็บทางกายนั้น ทำให้โรคทางกายนั้นหายง่าย หายไว หายเร็วขึ้นด้วย

          ท่านทั้งหลายคงจะสังเกต เวลาหลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนี้ นี่ไม่ใช่ว่าสร้างอนุสาวรีย์ให้หลวงพ่อเองนะ ขออย่าเข้าใจอย่างนี้ และก็ไม่ได้หักดอกไม้บูชาตัวเอง และก็ไม่ใช่ว่าเป็นการเชิดชูตัวเอง ขอให้บรรดาครูบาอาจารย์ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ทราบไว้ด้วย อันนี้ยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รำลึกถึงว่ามันเป็นจริงหรือไม่

          เวลาที่หลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย เช่นว่า ในปีที่ผ่านมา เลือดกำเดาออกอย่างแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล ถึงแม้การป่วยหนักถึงขนาดนั้นก็คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้ป่วยอะไร มันอยู่เฉยๆ ญาติโยมไปมาหาสู่ไปเยี่ยมไข้ ก็เฉยๆ อยู่ เหมือนกับว่าหลวงพ่อไม่ได้ป่วยอะไร ใครไปหาก็พูดคุยด้วย หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด มาหาก็พูดคุยด้วย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาไปหาก็พูดคุยกัน เหมือนกับไม่ได้เป็นอะไร

          เวลาแพทย์เวลาหมอมาตรวจเช็คร่างกาย ก็พูดธรรมดา เขาถามว่าเป็นอย่างไรหลวงพ่อ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ธรรมดา เพราะมันธรรมดาจริงๆ คือร่างกายนั้นมันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สำหรับจิตใจมันก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่แยกกันอยู่ นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ถ้าว่าจิตใจของเราเป็นสมาธิ จิตใจของเราก็เข้มแข็ง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย สำหรับจิตใจของเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วย แล้วก็นอกจากนี้ ยังสามารถทำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นรักษาโรคภัยไข้เจ็บของเราให้เบาบางลงไป หรือทุเลาลงไปและให้หายเร็วขึ้น

          หลวงพ่อเลือดกำเดาออกอย่างหนัก แต่นอนพักที่โรงพยาบาลเพียงสองคืนเท่านั้นก็ออกมาได้ นี่เป็นเพราะว่าจิตใจของเรานั้นได้ฝึกฝนอบรมมาแล้ว ญาติโยมทุกท่านก็เหมือนกัน คนใดที่มีสมาธิแล้ว สามารถนำเอาสมาธิของตนมาใช้ มันก็ได้ประโยชน์ มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เช่นว่า โรคประสาทอย่างนี้

          คนที่เป็นโรคประสาทนี้ จะมาบอกว่าตนได้สมาธินั้น ขัดกันทั้งเพ คือเหตุผลไม่ตรงกัน คนที่ได้สมาธินั้นจะเกิดโรคประสาทได้อย่างไร เกิดไม่ได้ คนที่เป็นความดันสูง แต่บอกว่าตนสามารถนั่งสมาธิได้ถึง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ ขัดต่อหลักการ ขัดต่อวิธีการ

          เพราะว่าคนที่ฝึกสมาธิ ที่ได้สมาธิแล้ว จะไม่มีความดันสูง เพราะว่า ถ้าความดันสูงเกิดขึ้นมา ถ้าจิตมีสมาธิอยู่ ความดันมันเกิดขึ้นไม่ได้ หรือว่าหากมีบ้างเป็นบางครั้งบางคราวเพราะการทำงาน เครียดกับการงานมาตลอดทั้งวัน เราก็นั่งสมาธิ ทำสมาธิ ความดันนั้นก็ลดลงไป

          เหตุนั้น จิตใจที่เป็นสมาธิจึงสามารถรักษาความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้ รักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะเหตุใดจึงสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะโรคกระเพาะอาหารนี้เกิดจากความคิด คนคิดมากเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระเพาะอาหารเกิดอาการเกร็งตัวขึ้นมา ทำให้ลำไส้เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา เมื่อมันเกิดความเกร็งตัวขึ้นมา ก็เป็นโรคลำไส้ได้ เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่คนที่มีสมาธินี้ โรคกระเพาะอาหารไม่มี โรคลำไส้ไม่มี

          ญาติโยมทั้งหลายทดลองคิดย้อนหลัง จากอดีตถึงปัจจุบันที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มาอยู่กับญาติโยมทั้งหลาย หลวงพ่อบางครั้งไม่ฉันเลย ไม่ฉันตั้ง ๗ วัน นี่เฉยๆ ไม่ได้ฉันข้าวปลาอาหารเลย ทำไมไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ทำไมไม่เกิดโรคลำไส้ แพทย์เขาบอกว่าโรคกระเพาะนี้เกิดเพราะฉันอาหารน้อย เกิดเพราะฉันอาหารไม่เป็นเวลา มันก็จริงตามกับแพทย์เขาบอกอยู่

          แต่ถ้าเรามีสมาธิแล้ว ๗ วันเราไม่ฉันไม่เป็นไร ๑๕ วันไม่ฉันยังไม่เป็นไร เดือนหนึ่งไม่ฉันยังอยู่ได้ ๓ เดือนไม่ฉันก็ยังอยู่ได้ ไม่เกิดโรคลำไส้ ไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่ายืมตำรับตำรามาพูด หรือไม่ใช่เรายืมคำของครูบาอาจารย์ที่เล่าสู่มาพูด แต่ว่าได้ทดลองมาด้วยตนเอง จิตใจของเราที่เป็นสมาธินี้แหละสามารถรักษาโรคได้ รักษาโรคกระเพาะได้ รักษาโรคลำไส้ได้ รักษาโรคความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้

          เหตุนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจเถิดว่า ที่เราบอกว่า เราฝึกสมาธิได้ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แต่มีข่าวเกรียวกราวที่โน้นที่นี้ ที่อยุธยาเขามียาดี ที่พิจิตรเขามียาดี ที่อุทัยฯ มียาดี ที่สกลนคร นครพนม เขามียาดี ก็เฮโลกันไป เสียสะตุ้งสตังค์ ของดีที่ตนมีอยู่ใช้ไม่ได้ ของดีที่ตนมีอยู่ไม่นำมาใช้ประโยชน์

          เราจะฝึกทำไม เมื่อฝึกสมาธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว เวลาจำเป็นที่จะต้องใช้ เราไม่ใช้ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เวลาลูกผัวญาติพี่น้องล้มป่วย ล้มหายตายจากไป เรากลับมาร้องไห้โฮจนแทบจะหมดน้ำตา ตาแดงตาบวม คนที่ได้สมาธิ คนที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มาร้องห่มร้องไห้ มันก็เสียเกียรติของนักปฏิบัติ เสียภูมิของผู้ปฏิบัติธรรม

          เหตุนั้น หลวงพ่อขอกระซิบครั้งหนึ่งว่า สมาธิที่ฝึกไปแล้ว ขอให้นำมาใช้ คนที่มีของดีแล้ว ก็ขอให้ฉลาดใช้ มันก็ได้ผลประโยชน์ คนที่มีของดีอยู่แล้วไม่รู้จักใช้ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็วกเข้ามาอีกว่า คนที่สมาธิดีแล้ว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วยด้วย มิหนำซ้ำ นำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นมาช่วยรักษาโรคทางกายนั้นให้หายเร็วขึ้น ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด

          ผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างที่กล่าวมานี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฝึกสมาธิมาพอสมควรทีเดียว และในปัจจุบัน ดังที่เราได้ทราบกันดีว่า เรื่องสมาธินั้น ยังใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย สำหรับผู้ที่มีจิตใจผ่องใสเบิกบานอยู่แล้ว พลังของสมาธิก็ยังช่วยทำให้ร่างกายของเราเอิบอิ่ม ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพร่างกายดี มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย เราทั้งหลายนึกดูว่า เราออกไปสอนกัมมัฏฐานในภาคฤดูหนาว มันหนาวเหน็บจริงๆ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ นี่มันหนาวจริงๆ

          แต่ทำไมคนที่ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่เป็นหวัดกัน ไม่เป็นไข้หวัด ตามปกติทุกวันนี้เราเป็นหวัดกัน เมื่อวัน ๑๕ ค่ำที่ผ่านมา น้ำค้างลงมานิดเดียวเท่านั้น ไข้หวัดกันทั้งบ้าน จับไข้กันเกือบทั้งวัด เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าจิตใจขาดสมาธิ จิตใจไม่เข้มแข็งพอ แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งพอแล้ว จะไม่เป็นอย่างนี้

          ในภาคฤดูหนาวเราไปสอนกัมมัฏฐาน ไปฝึกกัมมัฏฐานให้กับลูกศิษย์ลูกหาให้ญาติโยม มันหนาวเหน็บจริงๆ ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี ๓ ครึ่ง บางวันก็ตื่นตั้งแต่ตี ๓ กว่าจะได้นอนก็ ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่มจึงจะได้นอน แต่เราไม่เป็นไข้หวัดกัน ก็เพราะอำนาจของจิตที่เป็นสมาธิช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้เบาบางลง หรือว่าให้หายไป

          ในปัจจุบันได้พิสูจน์เป็นที่แน่นอนแล้วว่า โรคทางกายหลายโรค ก็เป็นเรื่องกายสัมผัส คือเกิดจากความแปรปรวนของจิตใจ เช่น เป็นคนมักโกรธหรือเป็นคนชอบวิตกกังวล ความโกรธและความวิตกกังวลนั้นจะทำให้ใจและสมองเกิดอาการตึงเครียด จึงทำให้เกิดโรคปวดศีรษะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

          แต่เมื่อปรับปรุงคุณภาพจิตใจให้ดีขึ้นแล้ว ไม่เป็นคนมักโกรธหรือชอบวิตกกังวลคิดมากจนเกินขอบเขต เป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีสมาธิมีสติอยู่ในเรื่องปัจจุบัน ไม่คำนึงถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ถ้าอดคิดไม่ได้จริงๆ ก็คิดเพียงเพื่อนำสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วมาเป็นครู สิ่งที่ไม่ดีก็เลิกละเสีย สิ่งที่ดีก็ทำต่อไป หรือเรื่องของอนาคต ก็คิดเพียงเพื่อเป็นจุดมุ่งหมายให้เราเดินไปและเป็นกำลังใจให้เราก้าวเดินไป และจะสำเร็จหรือไม่ ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต

          แต่ว่าให้คำนึงถึงเรื่องที่เป็นปัจจุบันนี้ว่า เราเป็นใคร มีหน้าที่อะไร และเราได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง เราปฏิบัติอย่างสุดความสามารถของเราที่มีอยู่แล้วหรือยัง เมื่อปัจจุบันดีอนาคตก็ดีเอง คิดเพียงเท่านี้ และลงมือปฏิบัติทันที จิตใจของเราจะมีสมาธิอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ไม่วิตก ไม่กังวล ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความรู้สึกชอบ ไม่เกิดความรู้สึกชัง อันจะทำให้เราต้องปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านมากขึ้นไปอีก

          วิธีฝึกสมาธิที่เราทั้งหลายทำอยู่ทุกวันนี้ก็พอจะเป็นแบบอย่างในการฝึกได้ดีแล้วแต่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง การฝึกสมาธินี้ หรือการฝึกจิต อาจทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เราทำกันอยู่นี้ เรากำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเรียกว่า อานาปานสติ แต่อานาปานสตินี้ เราใช้อยู่ ๓ วิธี คือ

          วิธีที่ ๑ เอาต้นลมมาบริกรรม ต้นลมนั้นหายใจเข้า หายใจออก เราหายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนาพุทโธ นี้กำหนดต้นลม หายใจเข้ากำหนดว่า รู้หนอ หายใจออกกำหนดว่า รู้หนอ ใช้การนับก็ได้ แบบต้นลม

          วิธีที่ ๒ เอากลางลมมาบริกรรม กลางลมก็อยู่ที่หัวใจของเรา อยู่ที่ทรวงอกของเรา แต่กลางลมนี้ละเอียดมาก ส่วนมากไม่นิยมการปฏิบัติ เพราะถ้าผู้ที่ไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะกำหนดได้

          วิธีที่ ๓ เราเอาที่สุดลมมาบริกรรม ที่สุดลมคือ ท้องพอง ท้องยุบ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพราะเหตุใดจึงหันมาใช้ท้องพองท้องยุบอันเป็นที่สุดลมนี้ เพราะว่า ท้องพองท้องยุบนี้ เมื่อเรากำหนดไปเท่าไรๆ ยิ่งชัดยิ่งขึ้น จิตและเจตสิกของเราก็สามารถตั้งอยู่แนบสนิทได้นาน สามารถทำสมาธิได้ง่าย

          เหตุนั้น เมื่อเราฝึกสมาธิ เราจะจับที่ต้นลมหรือที่สุดลมก็ได้ เราทำอยู่อย่างนี้ร่ำไป ผลสุดท้ายก็จะทำให้จิตใจของเราเป็นสมาธิ สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการของเรา

          ทีนี้ประโยชน์ของสมาธิที่เราได้ฝึกนั้น มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจะรู้สึกแปลกใจ ครั้งแรกๆ ก็จะเกิดความแปลกใจอยู่ ธรรมดา คือจิตใจของเรานั้นจะเกิดอาการดิ้นรนนานัปการ คือเมื่อก่อนโน้น เราปล่อยใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ คิดเรื่องอดีตอนาคต ร้อยแปดพันประการ

          แต่ขณะที่เรามาฝึกสมาธินี้ เราตั้งใจฝึกจิตของเราให้อยู่กับอาการพองอาการยุบ อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราก็จะเกิดความดิ้นรน พยายามจะออกไปภายนอกร่างกาย เมื่อได้ยินเสียงภายนอก จิตก็จะไปเกาะอยู่กับเสียงนั้น หรือเมื่อเราเห็นรูป จิตก็จะออกไปเกาะอยู่กับรูปนั้น ทำให้กระวนกระวาย ไม่สามารถจะสงบได้ง่ายๆ บางครั้งอาจทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ หรือเกียจคร้านขึ้นมาก็มี บางทีก็ทำให้เกิดความผิดหวังขึ้นมา

          ถ้าเราพยายามอดทนและปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลาสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีบ้าง ดังที่เราทั้งหลายเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็จะทำให้สามารถเพิ่มพูนสมาธิจิตให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อการประพฤติปฏิบัติดำเนินไปได้เป็นเวลานานพอสมควร จะทำให้เกิดความชำนาญ มีผลทำให้เกิดความสงบทางจิตใจ และมีพลังจิตสูงขึ้นตามลำดับๆ

          ข้อสำคัญคือ อย่าลืมว่า ถ้าการปฏิบัตินี้ปราศจากสติสัมปชัญญะคอยควบคุมกำกับแล้ว จะปราศจากความตั้งใจที่แน่วแน่ จะไม่สามารถทำให้เกิดสมาธิจิตได้เลย สมาธิเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว คือทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีสมาธิด้วยกันทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่ที่พื้นเพ และสิ่งแวดล้อม ถ้ามีพื้นเพดีและสิ่งแวดล้อมดีก็จะทำให้จิตใจของเรามีสมาธิได้ง่าย

          สมมติว่า ภายในครอบครัวของเรานี้ ครอบครัวของเราไม่ค่อยทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ค่อยผิดเถียงกัน อะไรๆ เกิดขึ้นก็ลงเอยกันด้วยดี เข้าใจกันได้ดี อันนี้เรียกว่า พื้นเพของเราดี อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติจิตใจของเราก็เป็นธรรมชาติที่เยือกเย็นสุขุมลึกซึ้งอยู่แล้ว ประกอบกับสิ่งแวดล้อมคือบรรดาญาติมิตร ครอบครัวของเราทุกคนล้วนแต่สนใจในเรื่องการทำสมาธิ ภายในบ้านของเราทุกคนสนใจเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ในวัดของเราสนใจในการประพฤติปฏิบัติ อย่างที่วัดของเราหรือบ้านของเรานี้ เรียกว่า สิ่งแวดล้อมดี พื้นเพบางอย่างในครอบครัวอาจจะไม่ดี แต่สิ่งแวดล้อมดี ถ้าสิ่งแวดล้อมดีอย่างเดียว แต่ภายในครอบครัวพื้นเพไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการ แต่ถ้าว่าพื้นเพดี แต่สิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการเช่นกัน

          เมื่อเราประกอบกันทั้งสองอย่าง คือพื้นเพดีด้วย สิ่งแวดล้อมดีด้วย ก็พลอยให้การทำสมาธิมีผลที่ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสมาธิที่ได้ก็เป็นสมาธิที่ถูกต้อง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายสิ่งหลายประการ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

          สมาธินี้ นอกจากจะใช้ในการรักษาโรคแล้ว ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพลังเกิดอานุภาพ คือ เกิดวิชชาเกิดปฏิสัมภิทา เกิดอภิญญาได้ เช่น

          ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติหนหลังได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

          ๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นได้

          ๓. อาสวักขยญาน ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

          นี้ผลที่เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจะทำวิชชาทั้ง ๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้เลย หรือคนที่แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา ก็เกิดขึ้นจากสมาธิ

          ถ้าคนไม่ได้สมาธิถึง ๘ ขั้น หรือสมาบัติ ๘ จะไม่สามารถทำปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นได้เลย เพียงเราได้รูปสมาบัติ ๔ คือได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดสมาบัติ ­๘ ได้ ปฏิสัมภิทา ๔ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราได้สมาบัติ ๘ คือได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

          เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว สามารถจะทำให้เกิดปฏิสัมภิทา ๔ ได้ ส่วนคนที่ได้อภิญญา ๖ เช่นว่า มีหูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ได้ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ก็เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิแล้ว อภิญญาจิตทั้ง ๖ ประการก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย

          สรุปความว่า สมาธินี้มีประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีประโยชน์ตั้งแต่ขั้นต่ำที่สุดจนถึงขั้นสูงที่สุด

          ขั้นต่ำ ก็สามารถใช้ในการประกอบการงาน สามารถใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้หายไปได้

          ขั้นกลาง ก็สามารถทำให้จิตใจสงบสุข ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อจุติเพราะจิตดวงนี้ ก็สามารถไปบังเกิดในพรหมโลกได้ ตามกำลังของสมาธิ

          ขั้นสูง สามารถทำให้เกิดปัญญา สามารถนำไปทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดาน สามารถได้บรรลุอริยมรรค อริยผล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็เพราะอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน อบรมบ่มปัญญาให้เกิดขึ้นจนสามารถได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะอาศัยสมาธิ เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามทำให้สมาธิเกิดขึ้นมาในขันธสันดานของตน

          ขอให้ภูมิใจดีใจว่า เราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เป็นโชคดีของเราแล้วหนอ ที่พื้นเพและสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของเราดีครบหมดทุกอย่าง มีโอกาสได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล มีโอกาสได้ฝึกสมาธิ     มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ช่วยแนะนำ ชี้แนะแนวทางให้ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่เสียชาติเกิด ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วยังได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมขั้นสูง

          ขอให้เราได้นึกถึงคุณงามความดีของเราอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จะได้เกิดความอุตสาหะในการบำเพ็ญคุณงามความดีในการฝึกสมาธิ

          เอาล่ะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำธรรมะเรื่องสมาธิ มาบรรยาย เพื่อประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.