ฌาน-สมาบัติ[1]
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ขอโอกาส หากว่าวันนี้บรรยายธรรมะไม่ถูกอกถูกใจ ขอท่านทั้งหลายให้อภัยด้วย
คือเมื่อวานนี้สะบักสะบอม เกือบจะไม่ฟื้น แทนที่วันนี้จะได้พักผ่อนหลับนอนสบายๆ ก็มีงานเปิดสอนบาลี เสร็จแล้วก็ไปงานบวชนาค ที่พี่น้องทางบ้านยางกระเดา กว่าจะบวชในงานปฏิบัติธรรมบ้านยางกระเดาเสร็จ แล้วก็แบ่งเวลาไปที่อุบลฯ ดั้นด้นมาถึงวัดพิชฯ เสร็จแล้วก็มาที่นี้ เพราะฉะนั้น การเทศน์การสอนในวันนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องของสังขารก็แล้วกัน
วันนี้ หลวงพ่อจะได้พูดเรื่อง ฌาน หรือ สมาบัติ
คำว่า ฌาน กับ สมาบัติ เป็นอันเดียวกัน คือ
คำว่า ฌาน ก็หมายถึง การเพ่ง คือเพ่งรูปนาม ที่เราทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เราเพ่งรูปนาม ขันธ์ห้า คืออาการพองอาการยุบเป็นต้น การเพ่งอย่างนี้เรียกว่า ฌาน
คำว่า สมาบัติ แปลว่า สมบัติของผู้ได้ฌาน ซึ่งหมายถึง ท่านผู้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน การได้ฌานอย่างนี้เขาเรียกว่า สมาบัติ คือสมบัติของผู้ได้ฌาน
สำหรับ ฌาน ก็ดี สมาบัติ ก็ดี ที่ท่านทั้งหลายเริ่มตั้งแต่วันปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ หลวงพ่อขอทายหรือขอให้คำปฏิญญา หรือให้ความมั่นใจกับท่านทั้งหลายว่า ที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมา บางท่านก็ได้ฌาน บางท่านก็ได้มรรคได้ผล แต่จะได้มากได้น้อย ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา
ครั้งแรก หลวงพ่อจะพูดเรื่องฌานเสียก่อน
พระเจ้าพระสงฆ์ที่ประพฤติวุฏฐานวิธีก็ดี ลูกเณรก็ดี อุบาสกอุบาสิกา ลูกน้อยๆ ทั้งหลายที่ทำสมาธิก็ดี
พูดโดยทั่วไปแล้ว ได้ฌานทุกคน หรือได้สมาบัติทุกคน แต่ว่าจะได้มากหรือได้น้อย
แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา คือ ท่านทั้งหลาย การอยู่ในฌานนั้น
บางท่านก็สามารถอยู่ในฌานได้นานๆ เป็น ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง จนถึง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง
หรือ ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ก็แล้วแต่
อำนาจของสติสมาธิที่เราได้สร้างสมอบรมมา
สำหรับฌานนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติที่เป็นพระภิกษุนี้ก็ได้ฌานเหมือนกัน แต่เรารักษาอารมณ์ของฌานไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะว่าฌานที่เราได้นั้น เราไม่สามารถที่จะอยู่ในฌานได้นานๆ บางท่านก็อาจอยู่ในฌาน ๑ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ๓๐ นาที ส่วนมากพระเราได้สมาธิได้ฌาน อย่างมากก็ ๔๕ นาที หลังจาก ๔๕ นาทีไป อีก ๑๕ นาที ต้องทนเอาเกือบตาย เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ เพราะจิตของเรามันออกจากฌานแล้ว เมื่อจิตออกจากฌานแล้วเราก็ปวด อาการปวดอาการเจ็บหรือเวทนามันเกิดขึ้นมา
เมื่อพูดถึงนี้ เราปฏิญญาตนได้เลยว่า เราได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน ถ้าหากว่าเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปตามลำดับๆ ตั้งแต่นาทีที่ ๑ ไปตามลำดับๆ จนถึง ๔๕ นาที เราไม่ปวด ไม่เจ็บที่โน้น ไม่ปวดที่นี้ นั่งสมาธิเพลินไปๆ โน้นอีก ๑๕ นาที (จะครบ ๑ ชั่วโมง) จึงรู้สึกว่าเจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ ลักษณะที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าฌานของเรามันหมดอายุแล้ว หมดพลังแล้ว เราก็ต้องทนทุกข์ทรมาน
ครูบาอาจารย์บอกว่าให้เรานั่ง ตอนนี้เรานั่ง ๑ ชั่วโมง พยายามทำให้ได้ เราก็ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ได้ ส่วนมากท่านทั้งหลายทำได้ถึง ๑ ชั่วโมง แต่ ๑ ชั่วโมงนี้ เราไม่ได้เต็มอัตรา เราอยู่ในสมาธิ ๒๐ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง ๔๕ นาทีบ้าง หรือว่า ๑ ชั่วโมงบ้าง แล้วแต่อำนาจของสมาธิเรา
ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราได้สมาธิ หลวงพ่อว่าได้สมาธิๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราได้สมาธิได้ฌาน ให้ท่านทั้งหลายจงสังเกต ในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น หรือเราว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ คิดหนอ โกรธหนอ อยู่นั้น อะไรอย่างนี้ เรากำหนดไปๆ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็จะละเอียดเข้าไปๆ จนสามารถจะควบคุมได้ ไม่คิดไปเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
คือเราไม่คิดเลย ไม่ได้คิดไปข้างหน้า เราไม่ได้คิดไปข้างหลัง เราไม่ได้คิดไปข้างซ้ายข้างขวา เราไม่ได้คิดขึ้นเบื้องบน เราไม่ได้คิดลงข้างล่าง แต่จิตใจของเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอ อยู่ตลอดเวลา และอารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้นก็ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันละเอียดเข้าไปๆ เกือบจะไม่ได้ยินเสียง คือเสียงมันละเอียดลดลงไป ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของท่าน
ขณะนั้น เรายังกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่ แต่เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี มันละเอียดเข้าไปๆ จนความรู้สึกของเรามันเหลืออยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดที่โน้นที่นี้ เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปได้เรื่อยๆ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้สมาธิได้ฌานแล้ว ได้ขั้นปฐมฌานแล้ว
ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เชื่อ อาจจะคิดว่าหลวงพ่อพูดปลอบใจ หลวงพ่อไม่ได้พูดปลอบใจ แต่พอที่จะสังเกตได้ ที่หลวงพ่อได้สอนพระกัมมัฏฐานมานานพอสมควร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้ มีผู้มาประพฤติปฏิบัติมากพอสมควร ส่วนมากพระเจ้าพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ลูกเล็กเด็กแดงทั้งหลาย ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ทำได้เหมือนกันทุกคน
แต่ว่าการอยู่ในอารมณ์ของฌานนั้น เราบังคับไม่ได้ บางทีชั่วโมงนี้สามารถอยู่ในสมาธิได้ แต่ช่วงหลังเราทำไม่ได้ คือเราไม่สามารถที่จะบังคับมันได้ เวลาเกิดมันก็เกิดเองอัตโนมัติ เวลาจิตของเรามันสงบมันก็สงบไป เวลาคิดมันก็คิดไป แต่เรากำหนดได้ ความคิดมันก็หมดไป ไม่คิด จิตใจของเรามันตั้งอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดเวลา
ถ้าทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌานแล้ว ปฐมฌานนี้ต้องมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกคือการตริ วิจารคือการตรอง คือยังมีวิตกวิจารอยู่ ยังได้ภาวนาอยู่ ยังได้กำหนดพองหนอยุบหนออยู่ แต่จิตของเราไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จิตใจของเรามันหนักแน่นมั่นคง อยู่กับอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานตลอดเวลา ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌานคือฌานที่ ๑ แล้ว ถ้าเราได้ฌาน เราเอาอารมณ์ของฌานนี้มาเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานเร็วขึ้น (หรือ) หากว่าเราจุติเพราะจิตดวงนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน คือจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานธรรมรักษาไว้
แต่หากว่าถึงคราวที่เราจะดับชีวิตของเรา คือเราจะตาย ในขณะที่เราตาย เราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม ก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลาย ก่อนที่จิตของเราจะดับลงไป คือเราจะตายลงไป เราไม่ลืมอารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อยๆ เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไป จิตของเรามันดิ่งลงไป ดิ่งเข้าๆ
ในขณะเดียวกันเราก็เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือก่อนจะตายนั้นล่ะ เห็นอารมณ์ของพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับปั๊บลงไป ถ้ามันดับลงไปลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายตายด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ คือจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจมัคคญาณ
ถ้าจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจของอริยมรรคอริยผลอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าเราสามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน วันหนึ่งข้างหน้าหรือชาติต่อๆ ไป หากเรามีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพานในวันข้างหน้า อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๑
ฌานที่ ๒ ทิ้งวิตก ทิ้งวิจาร เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเราปฏิบัติมาจนถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว อารมณ์ของฌานที่ ๒ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ฌานที่ ๒ กับฌานที่ ๑ ไม่เหมือนกัน ฌานที่ ๑ ยังมีคำบริกรรม พองหนอ ยุบหนออยู่ แต่ฌานที่ ๒ คือทุติยฌานนี้ จะไม่มีการบริกรรม
เมื่อก่อนเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ แต่พอมาถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว เราไม่ได้ว่า เรานั่งเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ ถ้าหากว่าในขณะใดเรายังกำหนด พองหนอ ยุบหนอ แสดงว่าฌานที่ ๒ นั้นมันเสื่อมลงไปแล้ว ลงถึงฌานที่ ๑ แล้ว แต่เรากำหนดไปๆ จิตของเราก็ขึ้นสู่ฌานที่ ๒ อีก เมื่อถึงฌานที่ ๒ จิตใจของเราก็หนักแน่นมั่นคงแล้วก็ไม่บริกรรม พองหนอ ยุบหนอ นี่ไม่ได้ว่าเลย จิตใจหยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐาน
เมื่อถึงฌานนี้แล้ว ความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คือมันละเอียดไปแล้ว เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี เหลืออยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๒ แล้ว ถ้าว่าฌานที่ ๒ นี้ไม่เสื่อม เวลาจุติในฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน
หากว่าเอาจิตดวงนี้มาเป็นพื้นฐานรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา เราก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น นี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ นี้ ถ้าหากว่าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาพอสมควรแล้ว ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ปีนี้หรือปีต่อไป หรือถึงวันสุดท้ายก่อนที่เราทั้งหลายจะจากโลกนี้ ท่านทั้งหลายคงเคยตายแล้วก็มี ผู้ไม่เคยตายก็มี
สมมติว่า ตอนที่จิตใจของเรามันจะดับจากโลกนี้ไป เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ดังที่เราทั้งหลายเห็นปู่ย่าตายายของเรา ลูกๆ ก็อยู่ใกล้ๆ หลานๆ ก็อยู่ใกล้ๆ อย่าลืมเด้อ อย่าลืมพุทโธเด้อ อย่าลืม พองหนอ ยุบหนอเด้อ เตือนอยู่ตลอดเวลา หากว่าในขณะนั้น คนเรามันไม่มีที่พึ่งแล้ว ผัวเมียก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ ลูกๆ หลานๆ ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ หาอะไรๆ ที่จะเป็นที่พึ่งของเราหาไม่ได้ เหลือแต่บุญที่เราสร้างสมอบรมไว้ เราก็ตั้งจิตตั้งใจ พุทโธๆ ไป บางทีก็ลูกๆ หลานๆ พี่ๆ น้องๆ ผู้เป็นผัวเป็นเมีย ก็ช่วยกำหนด พุทโธๆ หรือพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ
ในขณะที่จิตของเรามันจะดับปั๊บลงไป หากว่ามันดับด้วยอำนาจของฌาน ดับแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ว่าถ้าจิตของเรามันดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ก่อนที่จิตของเราจะดับ มีพระไตรลักษณ์เกิดขึ้น คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น
และในขณะที่กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น มัคคญาณผลญาณเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ดับปั๊บลงไป ก็แสดงว่าจิตของเรามันตายในมรรค หรือว่าดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ถ้าจิตของเราดับด้วยลักษณะอย่างนี้ ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจมัคคญาณผลญาณ เราไม่ได้ตายอยู่ในโลกีย์ จิตของเรามันพ้นจากโลกีย์แล้วไปสู่โลกุตตระ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่ได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง
หากว่าบุญวาสนาบารมีของเราได้สร้างสมอบรมมามีพอสมควร เกิดภพใหม่ชาติใหม่ก็มีโอกาสจะได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ เมื่อฌานที่ ๒ แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๓
ท่านทั้งหลายจะรู้ได้อย่างไรว่า ฌานที่
๓ นั้นมันเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เพราะเราไม่ได้เรียนมา อีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้รู้ชื่อของมัน
คือฌานที่ ๓ มันเป็นอย่างไร เราก็ไม่ได้รู้ แต่เรารู้สภาวะของการอยู่ในฌาน แต่เราเองไม่รู้ความหมายของมัน
เหมือนกันกับเราไม่เคยบริโภคผลไม้ต่างๆ สมมติว่า ทุเรียน หรือแอปเปิ้ล น้อยหน่า
อะไรทำนองนี้ เราไม่รู้ชื่อของมัน แต่เราก็บริโภครสชาติของมันเราก็รู้ว่า (รส) มันเป็นอย่างนี้ๆ
แต่เราไม่รู้จักชื่อของมัน
ข้อนี้ฉันใด
การที่จิตของเรามันจะถึงฌานที่ ๓ นี้ หมายความว่า จิตของเราเข้าถึงฌานที่ ๓ แล้ว เมื่อก่อนโน้นเรานั่งไม่ตรง เมื่อถึงฌานที่ ๓ นี้นั่งตรง เราจะก้มก็ไม่ได้ เราจะเงยก็ไม่ได้ เราจะมองซ้ายแลขวา ก็มองไม่ได้ เราจะกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้าก็ไม่ได้ ตัวของเรานั่งตรงตลอดเวลา เหมือนกันกับเอาไม้แหลมๆ หรือเหล็กแหลมๆ มาตอกลงที่ศีรษะของเราไปตรึงให้แน่นกับพื้น เรากระดุกกระดิกไม่ได้
อาการเช่นนี้เกิดขึ้นมา ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า จะทุรนทุราย เหมือนกันกับใจจะหลุดจะขาดอะไรลักษณะนี้ ไม่มี นั่งสมาธิได้สบายๆ ตอนนี้ได้เสวยสุข เป็นสุขในฌาน สุขในฌานนี้ถือว่าเป็นสุขขั้นสูงสุดยอดในทางโลกิยะ
เมื่อก่อนเคยปวดโน้นปวดนี้ เมื่อมาถึงนี้ไม่ปวดแล้ว และความรู้สึกก็ดี เสียงที่ได้ยินก็ดี จะเหลือประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เกือบจะหมดแล้ว ถ้าหากท่านทั้งหลายสามารถทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๓ แล้ว ถ้าหากว่าฌานที่ ๓ ไม่เสื่อม เราจุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน
อีกอย่างหนึ่ง หากว่าก่อนที่เราจะตาย เราได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะนั้น จิตของเรามันเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป ถ้าในลักษณะดังนี้ แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ คือว่าตายในมรรคตายในผล ถ้าจุติในลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วจะไม่บังเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างน้อยเราก็ไปบังเกิดในพรหมโลก เมื่อมีโอกาสมีเวลาได้กลับมายังโลกนี้ หรือได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่พรหมโลกนู้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๓
เมื่อฌานที่ ๓ แก่กล้าสมบูรณ์แล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๔ ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้ฌานที่ ๔ ลักษณะของฌานที่ ๔ มันเป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นแก่เรานั้นอย่างไร เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้ คือเมื่อเราถึงฌานที่ ๔ แล้ว จะไม่มีลมหายใจ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้นมันไม่มี มีพระบาลีกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า
บุคคล ๔ ประเภท จะไม่มีลมหายใจ คือ
๑. คนตายก็จะไม่มีลมหายใจ
๒. เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาก็จะไม่มีลมหายใจ
๓. บุคคลผู้ดำน้ำก็จะไม่มีลมหายใจ
๔. ผู้เข้าถึงจตุตถฌานคือฌานที่ ๔ ก็ไม่มีลมหายใจ
บุคคล ๔ ประเภทนี้เรียกว่า ไม่มีลมหายใจ ถ้าหากว่าเราได้สมาธิหรือว่าได้ฌานอย่างนี้ ก็แสดงว่า ท่านทั้งหลายถึงจตุตถฌานแล้ว หากว่าเอาฌานนี้มาเป็นบาทรับรองในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น อีกอย่าง หากว่าเราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม เราตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน
อีกอย่างหนึ่ง ก่อนที่เราจะดับจิต จิตของเราจะดับไปจากโลกนี้ เราไม่ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอๆ หรือ พุทโธๆ สัมมาอรหังๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เรากำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดจนพระไตรลักษณ์ปรากฏ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว จิตของเราเข้าไปยึดแล้วก็ดับลงไป ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจอริยมรรคอริยผล จุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิคือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง
หากว่ามีบุญวาสนาบารมี เราก็จะได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่โน้น อยู่ในพรหมโลก บางทีก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แต่บางท่านบารมียังไม่แก่กล้า อาจจะจุติลงมายังโลกมนุษย์ แล้วก็ได้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๔
ท่านทั้งหลาย อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการ นี้มีพลัง มีอานุภาพ ที่จะให้เราผู้ฝักใฝ่ในการเจริญพระกัมมัฏฐาน คือวิปัสสนากัมมัฏฐาน อานิสงส์ของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกเราทั้งหลายได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ตามบุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้สร้างสมอบรมไว้
เมื่อเราได้ฌานอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย หากว่าเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอภิญญาจิต เช่นว่า แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ สามารถทำอาสวะให้หมดไปสิ้นไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ ประการ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถที่จะเกิดขึ้นแก่เราผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน
และสามารถที่จะได้วิชชา ๓ คือระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นว่า ผู้นี้เขามาจากไหน เขามาเกิดในที่นี้ และเมื่อตายแล้วเขาไปเกิดในที่ไหน และก็สามารถทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน วิชชา ๓ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อน เช่น เมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้นได้ทำบุญทำทานอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ และก็ปรารถนาหรือตั้งใจ ดังที่เราทั้งหลายตั้งอธิษฐานจิตอยู่ทุกวันนี้ว่า
สาธุ ด้วยอานุภาพนี้ ด้วยอำนาจของการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ขอจงได้เป็นพลวปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน
เราได้ตั้งจิตตั้งใจไว้อย่างนี้แต่ภพก่อนชาติก่อน ได้ตั้งใจไว้อย่างนี้ เมื่อถึงโอกาสได้เวลา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราได้มาบวชในพระพุทธศาสนา เราได้โอกาสเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ประการ ตามบุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมไว้
แต่อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ คืออำนาจของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานนี้ ไม่สามารถที่จะทำให้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือความแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และปฏิภาณ ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นแก่เราผู้ได้สำเร็จเพียงขั้นจตุตถฌาน
เมื่อใดเราได้เจริญพระกัมมัฏฐานต่อจนได้อรูปฌาน ๔ คืออากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อเราได้ทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ฌานทั้ง ๘ ประการนี้ มีอำนาจ มีพลัง มีอานุภาพ สามารถที่จะทำให้เราได้สำเร็จปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้
ท่านทั้งหลาย เมื่อเราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมบารมีสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานทำให้เราไปบังเกิดในพรหมโลก บางท่านก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แล้วแต่บุญวาสนาบารมี แต่บางท่านอาจจุติมาเกิดในโลกมนุษย์บ้าง ในเทวโลกบ้าง แต่ว่าจะไม่ไปบังเกิดในอบายภูมิ
คือหมายความว่า ถ้าพรหมหมดบุญแล้วก็จะมาเกิดในโลกนี้ ไม่จมไปสู่อบายภูมิ ไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เพราะอะไร เพราะกำลังฌานรักษาไว้ ไม่ให้เราไปสู่อบายภูมิได้ นี่เป็นอานิสงส์ของฌาน
ผู้ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หากว่าฌานสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานนี้จะสามารถรักษาไว้ถึง ๗ วัน ๗ คืน ไม่ตาย เพราะสมาธิหรือฌานนี้สามารถที่จะอยู่ได้ ๗ วัน ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต
เพราะว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้วเกิดขึ้นเป็นโอชะ หล่อเลี้ยงร่างกายไว้ไม่ให้ตาย เมื่อถึงเวลาก็ออกจากฌาน และผู้ที่ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จะเกิดเลือดฝาดหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีฉวีวรรณผุดผ่อง คนที่ได้ฌานนั้น หน้าตาอิ่มเอิบ เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เศร้าๆ โศกๆ เรามองดูก็น่าดู น่าชม น่ารัก น่านับถือ น่าบูชา เพราะเหตุไร เพราะอำนาจของฌานที่รักษาไว้ อันนี้เป็นลักษณะของฌาน
สรุปแล้วว่า ผู้ที่ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌานแล้ว หากว่าไปเกิดในภพใดภพหนึ่ง ก็ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิ คือไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานรักษาไว้
เมื่อเราได้สร้างสมอบรมบารมีจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตามบุญญาวาสนาบารมีที่เราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา
เอาละท่านทั้งหลาย
เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ฌาน-สมาบัติ มาโสรจสรงองค์ศรัทธาของท่านทั้งหลาย
เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
[1] หลวงพ่อบรรยายที่วัดโคกสว่าง