สมาบัติ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
การเข้าอยู่ใน ฌาน หรือการเข้าอยู่ใน ผล หรือการเข้าอยู่ใน นิโรธ เรียกว่า สมาบัติ
การเข้าสมาบัติ อุปมาเหมือนกันกับหลบความร้อนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตนสร้างไว้ดีแล้ว หรืออุปมาเหมือนอาบน้ำเย็นๆ
สมาบัตินั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน ผู้จะเข้าฌานสมาบัติ ต้องเป็นผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป จนถึงจตุตถฌาน
ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ที่ทำฌานได้มีอยู่ ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ รวมกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการนี้ สามารถทำฌานได้ เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกสามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน
อีก ๑๐ ประการนอกจากนี้ ทำได้เพียงอุปจารสมาธิ อุปจารฌานเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ถึงอัปปนาสมาธิถึงฌานได้ เพราะกัมมัฏฐานทั้ง ๑๐ ประการนั้น เป็นกัมมัฏฐานที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ อันจิตและเจตสิกไม่สามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน
สำหรับกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ทำฌานได้นั้น ก็ยังมีอานุภาพต่างๆ กัน คือ
กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ ทำให้ได้ถึงจตุตถฌาน (จตุกกนัย)
อุเบกขาพรหมวิหาร ได้เฉพาะจตุตถฌานอย่างเดียว
เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ ประการนี้ ทำได้ถึงตติยฌาน (ตามจตุกกนัย มีองค์ ๒ คือ สุขและเอกัคคตา)
อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ทำให้ได้เพียงปฐมฌาน
ผู้ได้ฌาน เมื่อจะเข้าสมาบัตินั้น โดยมาคิดเห็นความทุกข์ยากลำบากที่จะต้องรับรู้ปริตตารมณ์ คืออารมณ์เล็กๆ น้อยๆ สู้มหัคคตารมณ์ คืออารมณ์ในฌานไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงนำเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งอันถูกกับอัธยาศัยของตนขึ้นมาบริกรรม จนเกิดอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เป็นอุปจารสมาธิ ได้ถึงอัปปนาสมาธิ มีองค์ฌานประกอบ ข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้ เป็นไปตามฌานชวนวิถี คือบริกรรมแล้วขึ้นสู่อนุโลม จากอนุโลมขึ้นสู่โคตรภูฌาน ข้ามโคตรกาม ถึงฌานแล้วแน่วแน่อยู่ในพระกัมมัฏฐาน
ตัวอย่าง การกำหนดอาการพองอาการยุบ โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ เพ่งนิ่งอยู่กับอาการพองอาการยุบ จนดับอารมณ์ทั้งปวงเสียได้ ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง ไม่มีง่วง ลืมจากอารมณ์ทั้งปวงเสียสิ้น มีแต่อิ่มใจอยู่ในฌานสุข แน่แน่วอยู่อย่างนั้น การเพ่งไม่ยอมปล่อยวางอยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน เป็นสันติสุขอยู่ในโลกนี้โดยแท้
ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ย่อมทำให้อรูปฌานเกิดขึ้นได้
จึงเป็นอันว่า ในกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ให้ได้ฌานนั้น กัมมัฏฐาน ๒๖ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ ให้สำเร็จรูปฌาน ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ให้สำเร็จเฉพาะอรูปฌาน
ทั้งรูปฌานและอรูปฌานนี้ เป็นโลกิยฌาน โลกิยสมาบัติ มีอยู่ ๘ ประการ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ซึ่งแยกออกแล้วก็เป็น ๒ ประเภท คือ
๑) อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งบัญญัติ ๔๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งจนได้ฌาน
๒) ลักขณูปนิชฌาน คือฌานที่เพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนดังท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้ฌานเพราะการเพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ อย่างนี้เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน
ฌานที่บุคคลได้แล้วนั้น เมื่อจะจุติจากโลกนี้ไป ฌานไม่เสื่อม จุติด้วยอำนาจฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นตามกำลังของฌาน หมดอำนาจของฌานเมื่อไรแล้ว ก็จุติจากพรหมโลกมาเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลกอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามอำนาจของบุญกรรมที่สั่งสมอบรมไว้
พรหมสิ้นบุญ จุติจากพรหมโลกในชาติที่ ๑ นี้ จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิเป็นอันขาด เพราะอานิสงส์ของฌานยังรักษาไว้อยู่ แต่เมื่อมาเกิดในมนุษย์ หรือเกิดในเทวโลกแล้ว มีความประมาท ทำบาปทำกรรมต่อไปอีก หรือบาปกรรมเก่าให้ผล จึงจะไปสู่อบายภูมิในชาติต่อๆ ไป
เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจว่า แม้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา หากทำบาปทำกรรมแล้ว ก็ไม่พ้นจากอบายภูมิได้ ยกเว้นพระอนาคามีเสีย ผู้ไปเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกแล้ว เว้นชาติที่ ๑ หรือชาติที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว ก็ยังมีโอกาสไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้อยู่ หากว่าเกิดความประมาท
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราทั้งหลายผู้มีความมุ่งหวังตั้งใจอยากจะพ้นจากอบายภูมิ เหมือนดังโจรที่ไม่ต้องการจะไปอยู่ในเรือนจำ ติดคุกติดตะราง อยากมีความสุข อยากมีอิสระด้วยกัน ฉะนั้น
สรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกันทุกตัวตน ไม่ต้องการที่จะไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงได้สละความสุขทุกอย่างทางเนื้อหนัง ต้องข่มจิตข่มใจเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่า หนทางที่จะปิดประตูอบายภูมิได้นั้น มีหนทางเดียว ได้แก่ การเจริญพระวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว จึงจะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้
๒. ผลสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ที่ได้จากอริยมัคคญาณที่เกิดขึ้นแล้ว ผลสมาบัตินี้ ปุถุชนทั่วไปเข้าไม่ได้ แม้ว่าจะได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้วก็ดี ก็ไม่อาจที่จะเข้าผลสมาบัติได้ เข้าได้เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น
พระอริยบุคคลผู้ที่เข้าผลสมาบัติได้นั้น ก็เข้าได้เฉพาะผลของตนเท่านั้น เช่น
ผู้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมาเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระโสดาบันก็ไม่ได้ หรือพระโสดาบันจะไปเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอรหันต์ก็ไม่ได้
เพราะผลสมาบัติเป็นของใครของมัน เข้าของกันไม่ได้ อุปมาเหมือนกับพระราชาของเทวดาทั้งหลาย ย่อมมีทิพยสมบัติอันเป็นของส่วนพระองค์ เทวดาองค์อื่นนั้นไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาเสวยทิพยสมบัติของเทวราชานั้นได้ ข้อนี้ฉันใด แม้ผลสมาบัติก็เหมือนกันฉันนั้น เข้าได้เฉพาะของตนเอง เข้าของคนอื่นไม่ได้
การเข้าผลสมาบัตินั้น ความสุขที่ได้รับเป็นโลกุตตรสุข คือเป็นสุขที่พ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก เป็นความสุขที่พ้นจากโลกิยะทั้งหลายทั้งปวง เป็นความสุขที่เรียกว่า นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อิงอามิส เป็นความสุขที่อิงเนกขัมมะ
ท่านทั้งหลาย การที่เราจะถึงพระนิพพานนั้น ไม่ใช่ว่าตายแล้วจะไปถึงพระนิพพาน เราต้องถึงกันเดี๋ยวนี้เสียก่อน คือในภพนี้ชาตินี้ก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเสียก่อน การบรรลุอริยมรรคอริยผลก็หมายความว่า จิตของเราเข้าสู่กระแสของพระนิพพานแล้ว เห็นพระนิพพาน ๑ ขณะจิตบ้าง ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง
คือจิตของเราเข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ ๑ ขณะจิต หมายเอาเฉพาะมัคคจิต ถ้ารวมผลจิต ก็เข้าถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิตบ้าง ๔ ขณะจิตบ้าง อย่างนี้ชื่อว่า จิตของเราเข้าถึงโลกุตตรภูมิแล้ว
การที่จะเข้าผลสมาบัตินั้น โดยที่พระอริยเจ้ามาพิจารณาเห็นว่า ความสุขในชั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ สู้ความสุขในชั้นโลกุตตระไม่ได้ เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ยกเอารูป นาม พระไตรลักษณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวกำหนด จนสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ ๔ ขึ้นไปถึงอนุโลมญาณแล้วผ่านโวทาน ดับอารมณ์โลกิยะ ถึงผลสมาบัติ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์
การเข้าสมาบัติโดยพิจารณารูปนาม เกิดวิปัสสนาญาณตามลำดับ จนถึงผลสมาบัตินั้น มัคคจิตเกิดไม่ได้ หมายความว่า แม้จะได้อัปปนาสมาธิเพราะอำนาจของวิปัสสนาดังกล่าวแล้วก็ตาม อัปปนาสมาธินั้นจะไม่เกิดในลำดับมัคควิถีเป็นอันขาด อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในลำดับผลชวนวิถี คือเกิดในลำดับแห่งผล เมื่อเข้าถึงที่แล้วก็เป็นผลสมาบัติ เหตุที่มัคคจิตไม่เกิดขึ้นนั้น เพราะว่าอัชฌาสัยน้อมไปในผลสมาบัติแล้ว
การเข้าผลสมาบัตินั้น เป็นทิฏฐธัมมสุขวิหาร เป็นบรมสุขในปัจจุบันนี้โดยแท้ เป็นพระนิพพานอันสืบเนื่องมาแต่อารมณ์ของผลจิต
อนึ่ง พระอริยเจ้า เมื่อแรกได้บรรลุอริยมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ตั้งอยู่ในปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อริยผลที่ต่อเนื่องมาในมัคควิถีก็เป็นปฐมฌานด้วย และเมื่อเข้าสมาธิ ผลจิตอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นก็เป็นปฐมฌานเช่นเดียวกัน
หากว่าอริยมรรคที่ได้นั้นประกอบด้วยทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน อันใดอันหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ผลสมาธิ ก็เข้าด้วยฌานนั้นๆ (องค์ฌาน เมื่อแสดงตามปัญจกนัย : ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา, ตติยฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา, จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา, ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ เอกัคคตา อุเบกขา)
สภาวะที่ตั้งอยู่ในผลสมาบัติ คือ ไม่เอาใจใส่ในนิมิตทั้งปวง ได้แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์นั้น ตั้งอยู่ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ
๑) ไม่เอารูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์
๒) กำหนดเวลาเข้า และกำหนดเวลาออก
๓) เมื่อยังไม่หมดเวลาที่กำหนดไว้ ก็ยังอยู่ในผลสมาบัติ จนกว่าจะหมดเวลา
ในการที่จะออกจากผลสมาบัตินั้น เมื่อจะออกจากผลสมาบัติ จิตก็จะได้อารมณ์ นิมิต รูปนาม อันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิตเป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์แห่งภวังคจิต อันติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตไปยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน เหมือนในขณะนี้
การเข้าผลสมาบัตินั้น ก็คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ซึ่งผู้ปฏิบัติได้บรรลุแล้ว เห็นแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ผลจิตจะเกิดขึ้นติดต่อกัน โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดังนั้น ผลจิตจึงได้เกิดขึ้นในหลายลำดับ
ผลจิตนี้ บางทีเกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรคก็มี หมายความว่า ในขณะที่บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มัคควิถีย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วมัคคจิตก็จะเกิดขึ้น หลังจากนั้น ไม่มีอะไรมาคั่นในระหว่างกลาง ผลจิตก็จะเกิดขึ้นทันที ผลจิตดวงนี้ เรียกว่า เกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรค
อีกอย่างหนึ่ง ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า เมื่อผลจิตเกิดขึ้นต่อจากมัคคจิต โดยไม่มีระหว่างคั่นแล้ว ถ้าเป็นมันทบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นอีกหนึ่งขณะ ถ้าเป็นติกขบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นต่อไปอีก ๒ ขณะ ผลจิตที่เกิดขึ้นต่อจากผลจิตดวงแรกที่ต่อจากมัคคจิตนั้น ชื่อว่า ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผล คือผลในดวงหลังๆ เกิดในลำดับแห่งผลดวงก่อนๆ
บางทีผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งโคตรภูก็มี อันนี้หมายถึงการเข้าผลสมาบัตินั่นเอง หมายความว่า เมื่อต้องการจะเข้าผลสมาบัติ ก็ตั้งใจกำหนดรูปนามจนเห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ผลจิตดวงแรกนั้นก็เกิดในลำดับแห่งโคตรภู ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยมาจากอนุโลมจิต อนุโลมจิตของพระอรหันต์ ก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระอรหันต์ อนุโลมจิตของพระเสขบุคคล ก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระเสขบุคคล (อนันตรปัจจัย แปลว่า ธรรมที่ช่วยอุดหนุนโดยไม่มีระหว่างคั่น อนึ่ง คำว่า โคตรภู ในผลสมาบัติวิถีนั้นไม่เรียกชื่ออย่างนั้น คงมีแต่ชื่อว่า อนุโลม เหมือนกันทั้งหมด)
บางทีภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า หลังจากที่ผลจิตเกิดขึ้นครบกำหนด ๒ หรือ ๓ ขณะจิตในมัคควิถี หรือหลังจากเข้าผลสมาบัติครบตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผลจิตที่เกิดติดต่อกันมาก็เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นต่อกันทันที คือออกจากผลสมาบัติแล้วจิตก็จะลงสู่ภวังค์ อย่างนี้เรียกว่า ภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผล
บางทีผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะก็มี อันนี้หมายถึงผลจิตที่เกิดขึ้นอยู่ในนิโรธสมาบัติวิถี คือเมื่อจะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องเข้าฌานสลับกับเจริญวิปัสสนา ตั้งแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นมาตามลำดับจนถึงฌานขั้นสุดท้าย คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ จะเกิดขึ้นเพียง ๒ ขณะจิต แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นนิโรธสมาบัติ เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตจึงลงสู่ภวังค์ ผลจิตที่เกิดขึ้นภายหลังเนวสัญญานาสัญญายตนะอย่างนี้ เรียกว่า ผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะว่า นิโรธสมาบัติที่เกิดขึ้นในระหว่างกลางนั้น เป็นการดับจิตและเจตสิกไปหมด จึงไม่นับว่ามีจิตอื่นคั่นในระหว่าง
๓. นิโรธสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในความดับจิตและดับเจตสิก หมายถึงการเข้าฌานตามลำดับ ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้น
เมื่อออกจากปฐมฌานแล้ว ก็พิจารณาปฐมฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าทุติยฌาน ออกมาก็พิจารณาทุติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าตติยฌาน ออกมาก็พิจารณาตติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไปทุกๆ ฌาน จนกระทั่งถึงอากิญจัญญายตนฌาน
เมื่อออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ไม่ต้องเจริญวิปัสสนา คือไม่ต้องพิจารณาให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ต้องทำบุพพกิจ ๔ ประการ คือ
๑) อธิษฐานว่า บริขารทั้งหลายทั้งปวงอย่าได้เป็นอันตรายไปด้วยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
๒) อธิษฐานว่า ถ้าในระหว่างที่อยู่ในนิโรธสมาบัตินี้ ถ้ามีประชุมสงฆ์ สงฆ์ต้องการตัว ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด
๓) อธิษฐานว่า ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะรับสั่งหา ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด
บุพพกิจข้อ ๓ นี้ ในปัจจุบันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ เพราะพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว
๔) ต้องพิจารณาอายุสังขารของตน ถ้าอายุสังขารจะเป็นไปไม่ได้เกิน ๗ วัน ไม่ควรเข้านิโรธสมาบัติ
ในบุพพกิจทั้ง ๔ ข้อนี้ ๓ ข้อต้นไม่ต้องทำก็ได้ แต่ข้อ ๔ ผู้เข้านิโรธที่อยู่ในมนุสสภูมิต้องทำ ถ้าอยู่ในรูปภูมิ ไม่ต้องทำบุพพกิจก่อนเลยก็ได้
หลังจากทำบุพพกิจเสร็จแล้วก็เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ โดยมีวิถีจิตเกิดดังนี้ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วเนวสัญญานาสัญญายตนะก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ต่อจากนั้น จิตเจตสิก จิตตชรูป (รูปที่เกิดจากมีจิตเป็นเหตุให้เกิด) ก็ดับลง เป็นอันว่าสำเร็จการเข้านิโรธสมาบัติทุกประการ
ในมนุสสภูมินี้ สามารถที่จะเข้าอยู่ในนิโรธสมาบัติได้ถึง ๗ วัน โดยไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะอาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว เกิดเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ ส่วนในรูปภูมิ สามารถเข้าได้โดยไม่จำกัด และเมื่อออกจากนิโรธ ผลจิตย่อมเกิดขึ้นก่อน ๑ ขณะ
ต่อจากนั้นก็จะได้อารมณ์นิมิตรูปนามอันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิตเป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์ของภวังคจิต ที่ติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากออกจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน คือหมายความว่า เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตก็ลงสู่ภวังค์ เปลี่ยนจากอารมณ์พระนิพพานมาเป็นอารมณ์ของภวังค์ มีกรรมนิมิตอารมณ์เป็นต้น
การเข้านิโรธสมาบัตินี้ เข้าได้เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น คือต้องได้สมาบัติ ๘ ด้วย ถ้าเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ที่ไม่ได้ฌานไม่ได้สมาบัติมาก่อน ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ สมาบัติหรือฌานนี้ ได้ด้วยการเคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อน หรือเกิดขึ้นมาพร้อมตอนได้บรรลุมรรคผล ก็ใช้ได้เหมือนกัน
ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องประกอบด้วยปัญญาวสีสามารถชำนาญใน สัมปทา ๔ คือ
๑) มีกำลังในวิปัสสนา และมีกำลังในสมถะ
๒) ระงับไตรพิธสังขาร คือ กายสังขาร ระงับลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร ระงับวิตกวิจาร จิตตสังขาร ระงับสัญญาเวทนาเสียได้
๓) ประพฤติเป็นไปในโสฬสญาณ คือต้องผ่านญาณ ๑๖ มาแล้ว จนได้เป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์
๔) ประพฤติเป็นไปใน นวานุปุพพวิหารสมาบัติ คือต้องได้สมาบัติ ๘ มาแล้ว จึงจะขึ้นสู่สมาบัติที่ ๙ ซึ่งเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธได้
การเข้าสู่สมาบัตินั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของ ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการสะกดจิต ไม่ใช่เป็นการนอนหลับ และในขณะที่เข้าอยู่ในสมาบัตินั้น จะเป็นฌานสมาบัติก็ตาม ผลสมาบัติก็ตาม นิโรธสมาบัติก็ตาม ไม่ใช่ว่า จิตลงสู่ภวังค์ หรืออยู่ในภวังค์
ส่วนมากนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจผิดว่า การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี หรือนิโรธสมาบัติก็ดี ก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์ ถ้าเข้าใจดังนี้ ชื่อว่าเข้าใจผิด เพราะการที่คนทั้งหลายนอนหลับสนิท จึงชื่อว่า จิตลงสู่ภวังค์ ถ้าจิตขึ้นจากภวังค์ก็เรียกว่า ตื่น ถ้าว่าการเข้าสมาบัติก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติให้เหน็ดเหนื่อย เพราะว่า ตั้งแต่เราปฏิสนธิมาจนถึงบัดนี้ เรานอนทุกวันทุกคืน จิตก็เข้าสู่ภวังค์ทุกวันทุกคืนอยู่แล้ว
สรุปว่า การเข้าฌานสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบด้วยองค์ฌาน มีพระกัมมัฏฐานที่ตนใช้บริกรรมเป็นอารมณ์
การเข้าผลสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบไปด้วยองค์ฌาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
การเข้านิโรธสมาบัติ ก็คือ การที่จิต เจตสิก และจิตตชรูป (รูปที่เกิดจากจิต) ดับลง เป็นสภาพที่ปราศจากรูปนามโดยแท้ เป็นการเข้าสู่พระนิพพานในปัจจุบันนี้เลยทีเดียว ต่างจากผลสมาบัติ คือผลสมาบัตินั้นเป็นเพียงจิต คือผลจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น
อนึ่ง ในการเข้าฌานสมาบัตินั้น จิตที่ประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้น เป็นกุศลชาติ เป็นกุศลจิต เป็นตัวกรรมที่สามารถให้เกิดผลได้ แต่การเข้าผลสมาบัติ จิตคือผลจิตประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้นนั้น เป็นวิปากชาติ เป็นวิปากจิต เป็นตัวผลของกรรมที่ได้รับผลมาจากการได้บรรลุถึงมัคคจิต จึงมิได้เป็นตัวส่งผลที่จะให้ไปเกิดในภพภูมิใดๆ ตัวผลจิตเองเป็นผลที่ได้รับเท่านั้น
เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ ในเรื่อง สมาบัติ มา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.