ไขข้อข้องใจเรื่องสมาบัติ

ไขข้อข้องใจเรื่องสมาบัติ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          สำหรับวันนี้ จะได้นำธรรมะเบ็ดเตล็ดมาแก้ความข้องใจสงสัย ในเรื่องบางสิ่งบางอย่าง มีเรื่องสมาบัติเป็นต้น หรืออานิสงส์ของสมาบัตินั้น มีอยู่หลายประการดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้ว

          แต่วันนี้ ก็ขอสรุปเอาแต่เพียงย่อๆ ว่า ถ้าผู้ที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล แต่ได้ฌานเสียก่อน เช่นรูปฌาน เมื่อได้รูปฌาน จุติในฌาน ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ตามกำลังของฌาน แต่ถ้าได้อรูปฌาน ๔ ประการ ฌานใดฌานหนึ่ง หากว่าฌานไม่เสื่อม จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดเป็นอรูปพรหม

          สำหรับพระอริยบุคคล อย่างเช่นพระโสดาบัน พระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน ถ้าพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้แม้แต่ปฐมฌาน เข้าผลสมาบัติก็ไม่ได้ เวลาจุติก็จุติจากโลกนี้ตามธรรมดาๆ เหมือนกับสามัญชน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ พระโสดาบันนั้น เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามภูมิ อาจจะเป็นมนุสสภูมิ เทวภูมิก็ได้ แต่ถ้าพระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

          แม้พระสกทาคามีก็เหมือนกัน ถ้าพระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามาวจรภูมิ อาจจะเป็นมนุษย์ หรือฉกามาวจรสวรรค์ ชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วแต่กำลังบุญกุศลที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้ แต่ถ้าพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

          สำหรับพระอนาคามี จะได้สมาบัติหรือไม่ได้สมาบัติก็ตาม จุติแล้วก็ต้องไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง เช่น ชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา แล้วก็จะมีโอกาสได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมชั้นนั้นๆ บางองค์ก็ไปบรรลุในชั้นที่อุบัติขึ้น บางองค์ก็ต้องเลื่อนไปตามลำดับๆ จนถึงชั้นอกนิฏฐา จึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

          สำหรับพระอนาคามีนั้น เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว จะไม่กลับมาสู่กามาวจรภูมิอีกต่อไป ถึงแม้จะมีการจุติอยู่ก็ตาม พรหมอนาคามี ไม่เหมือนพรหมจำพวกอื่น(ที่เมื่อ)จุติแล้ว ยังมีโอกาสมาบังเกิดในกามาวจรภูมิได้อยู่ เช่น จะมาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาบ้างได้อยู่ แต่สำหรับพรหมอนาคามีนี้ ไม่มาบังเกิดในกามาวจรภูมิอีก

          เพราะเหตุไร เพราะพระอนาคามีนั้น ตัดกามราคะและโทสะได้หมดแล้ว ออกจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพสู่กามภูมิอีก เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว ก็จะได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมนั่นเอง

          ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานล่ะ จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้อย่างไร

          ไปบังเกิดในสุทธาวาสได้อย่างนี้ คือ พระอนาคามีถึงจะได้ฌานหรือไม่ได้ฌานก็ตาม ก่อนที่ท่านจะมรณภาพนั้น แม้จะมรณภาพด้วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี หรือจะเกิดอุบัติเหตุ ถูกยิง ถูกแทง หรือตกเครื่องบิน หรือตกจากที่สูง หรือถูกยาพิษ อะไรทำนองนี้ หมายความว่า จะตายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม

          หากว่า มัคคสิทธิฌาณ ยังไม่เกิด ท่านจะไม่มรณภาพ เมื่อมัคคสิทธิฌาณเกิดขึ้นเสียก่อน ท่านจึงจะมรณภาพ เพราะว่า มัคคสิทธิฌาณนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดฌาน เมื่อฌานเกิดแล้วท่านจึงจะมรณภาพ จึงทำให้พระอนาคามีนี้สามารถไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้

          ทีนี้ สำหรับพระอรหันต์ แม้จะได้ฌานเพียงแต่ขั้นปฐมฌานก็ตาม หรือจะได้ครบทั้งสมาบัติ ๘ ก็ตาม การเข้าฌานของพระอรหันต์นั้น เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือเป็นเพียงสักว่าเข้าฌานออกฌานเท่านั้น

          เพราะเหตุใดจึงเป็นเพียงสักว่ากิริยา

          เพราะผลของฌานนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้พระอรหันต์ไปเกิดในกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพได้

          เพราะเหตุไร

          เพราะเมื่อท่านจุติจากอัตภาพนี้แล้ว ท่านก็เข้าสู่นิพพานเลย คือว่า การทำบุญทำทานของพระอรหันต์นั้น ถึงท่านจะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม การทำบุญทำทานนั้นก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา ผลของการทำบุญทำทานนั้นไม่สามารถที่จะอำนวยให้ท่านไปเกิดในกามภพ เช่นว่า โลกมนุษย์ หรือว่าเทวโลกได้(อีกต่อไปแล้ว)

          เพราะเหตุไร

          เพราะว่าท่านพ้นแล้วจากภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีอย่างเดียวเท่านั้น คือพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง

          เหตุนั้น แม้ (พระอรหันต์) จะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม ก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือการทำบุญสร้างสมคุณงามความดี แต่ถึงกระนั้นท่านก็ต้องทำบุญ เพราะว่า วิสัยของนักปราชญ์ ท่านย่อมเป็นผู้ฉลาด ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านก็รู้แล้วว่าการทำบุญนี้ ก็สักแต่ว่าเป็นการทำบุญ ไม่สามารถที่จะนำไปเกิดในกามภพได้ หรือว่าการรักษาศีลนี้ ก็เป็นแต่เพียงการรักษาศีล หรือว่าการเข้าฌาน ก็เป็นแต่เพียงการเข้าฌาน เป็นแต่เพียงสักว่ากิริยา ไม่สามารถที่จะทำให้ไปบังเกิดในภพในภูมิอีกต่อไปได้ ท่านก็ต้องทำ

          เพราะเหตุไร  เพราะเพื่อพระศาสนา เพื่อสงเคราะห์แก่ ปัจฉิมภวิกชน คือท่านทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อพระศาสนา  เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เหตุนั้น แม้ท่านรู้อยู่ท่านก็ต้องทำ เมื่อท่านจุติจากอัตตภาพนี้แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพทั้งหลายทั้งปวง

          ทีนี้สมาบัติ คำว่า สมาบัติ กับคำว่า ฌาน นั้นเป็นอันเดียวกัน ฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี ก็แบ่งออกเป็นขั้นๆ คือว่า

          ฌาน นี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ ขั้น คือ

          ๑.    ฌานที่เป็นขั้นโลกิยะ

          ๒.    ฌานที่เป็นขั้นโลกุตตระ

          แยกกันได้อย่างไร แยกกันได้อย่างนี้คือ หากว่าฌานหรือสมาบัติของผู้ที่ได้นั้น หากผู้นั้นยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล แม้แต่ขั้นพระโสดาบันก็ยังไม่ได้บรรลุ แม้จะเข้าสมาบัติทั้ง ๘ ประการได้ สมาบัตินั้นก็ยังเป็นขั้นโลกิยะ เป็นขั้นธรรมดาอยู่

          แต่ถ้าหากว่าผู้ที่ได้ฌานนั้นได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล อย่างน้อยที่สุดก็ได้เป็นพระโสดาบัน ฌานที่ได้หรือสมาบัติ ๘ ที่ได้นั้นก็เป็นโลกุตตระ คือจะเป็นโลกิยะหรือโลกุตตระนั้นตามภูมิของจิต

          ถ้ายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเลย สมาบัติ ๘ ประการ หรือฌานใดฌานหนึ่งนั้น ก็ยังเป็นโลกิยะอยู่ แต่ถ้าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันแล้ว ฌานนั้นก็เป็นโลกุตตระไป ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้ด้วยว่าแยกกันตรงไหน (ระหว่าง) โลกิยฌานกับโลกุตตรฌาน แยกกันตามภูมิของจิต

          สำหรับ ผลสมาบัติ นั้นเป็นโลกุตตระ เพราะการเข้าผลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง ผลสมาบัติจึงเป็นโลกุตตระ และนิโรธสมาบัติ ก็เป็น
โลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิโรธสมาบัตินี้ก็ยิ่งละเอียด เพราะว่าปุถุชนทั่วไปตลอดถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามีเข้าไม่ได้ เข้าได้แต่เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ เหตุนั้น นิโรธสมาบัติก็จึงเป็นโลกุตตระด้วย

          สำหรับการเข้าฌานสมาบัติก็ดี การเข้านิโรธสมาบัติก็ดี บางท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นวิชชา หลวงพ่อคงใช้วิชชาแล้ว เพราะว่าเวลาจะเจริญกัมมัฏฐานทุกวันๆ นั้น ก็พากันสมาทานกัมมัฏฐานทุกวันๆ คงจะเป็นการเรียนวิชชา ใช่ เป็นวิชชาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องวิชชาหรือไสยศาสตร์อย่างที่ท่านทั้งหลายเข้าใจ

          หมายความว่า ไม่ได้สำเร็จด้วยเวทมนต์กลคาถาใดๆ ไม่แฝงด้วยมารยาสาไถยใดๆ ทั้งสิ้น การสมาทานของเรานั้นเป็นแต่เพียงหลักการหลักวิชาการเท่านั้น เป็นแต่เพียงรูปแบบ เป็นแต่เพียงว่าทำให้จิตใจเข้มแข็ง เกิดความอุตสาหะ เกิดความมั่นใจว่า เราได้มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แก่ครูบาอาจารย์แล้ว

          สรีระร่างกายของเราในขณะนี้ เพียงแต่ยืมท่านมา ยืมจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ยืมจากครูบาอาจารย์ (ยืม)มาสร้างสมอบรมคุณงามความดีเท่านั้น ที่จริงแล้วเรามอบถวายท่านหมดแล้ว เพื่อว่าจะได้มีกำลังจิตกำลังใจ และเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เกิดความอุตสาหะ

          เช่นการเจริญเมตตาอย่างนี้ เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เรามีเมตตาธรรมต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย การเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เรานั้นมีความรักในผู้อื่น มีความสงสารต่อผู้อื่น ให้รู้จักสงสารกันและช่วยเหลือกัน การเจริญอุเบกขาว่า กัมมัสสโกมหิ กัมมทายาโท (เป็นต้นนี้) ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่า เราเกิดมานี้เพราะกรรม ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว อาศัยกรรมเป็นสิ่งที่นำมาเกิด เราเกิดมานี้ก็ต้องรับมรดกของกรรม มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เราได้พิจารณาว่า คนเรานี้เกิดมาเพราะกรรม จากโลกนี้ไปก็เพราะกรรม จะได้ละกรรมชั่วเสีย กระทำแต่กรรมดีต่อไป เพื่อให้เป็นแบบอย่าง

            ก็การที่เรากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพื่อให้เกิดปีติ เกิดความเอิบอิ่มใจ เกิดความปราโมทย์ เกิดความตื้นตันใจว่า เราได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยอดเยี่ยม เราได้บูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัติธรรม เป็นการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์อย่างแท้จริง เราจะได้เกิดปีติในการประพฤติปฏิบัติธรรม

          การเจริญธัมมานุสตินี้ ก็เพื่อให้เราได้พิจารณาว่า เราเกิดมานี้ ทางที่จะให้พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารนั้น มีทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการแล้ว ไม่มีหนทางที่จะถึงพระนิพพานได้

          ส่วนการเจริญสังฆานุสติ คือระลึกถึงพระอริยสาวก ๘๐ องค์ ตลอดถึงอรหันตสาวกทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อให้เรานี้ได้ยึดถือไว้เป็นทิฏฐานุคติ คือเอาเป็นตัวอย่างในการบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะได้เกิดความพากเพียรอุตสาหะพยายามในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี เพื่อให้จิตใจของเราเข้มแข็งสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

          สำหรับการเจริญมรณัสสติ ก็เหมือนกัน อัทธุวัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเราไม่แน่นอน เราต้องตายแน่ เพราะชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตไม่เที่ยง ความตายเที่ยง  เป็นโชคดีที่เราได้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ก็เพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่า เรานี้ แม้จะมีอายุยืนตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องตาย ทำอย่างไรๆ ก็ต้องตาย

          แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเรา พระองค์ยังปรินิพพาน นับประสาอะไรกับเราที่เป็นปุถุชนแท้ๆ หรือเป็นกัลยาณชนแท้ๆ จะไม่ตายเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเกิดความอุตสาหะพยายามในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อบำเพ็ญบารมีก่อนที่ความตายจะมาถึงเรา นี่เพื่อให้เป็นความมั่นใจเท่านั้น

          แต่สำหรับผู้มีธรรมเป็นเรือนใจแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องอธิษฐานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสมาทานก็ได้ อันนี้เราทำเพื่อให้จิตใจของเราเกิดสมรรถภาพ เกิดความเข้มแข็ง ในการที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติเท่านั้น

          เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชชาหรือเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องเวทมนต์กลคาถาที่คนทั้งหลายเข้าใจ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องสะกดจิต การเข้าสมาธิของบรรดาลูกเณรทั้งหลาย ตลอดถึงบรรดาแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่มาฝึกสมาธิ เป็นเรื่องสะกดจิต ใช่ เป็นการสะกดจิตเหมือนกัน

          แต่ว่าไม่ได้สะกดจิตเหมือนดังที่คนทั้งหลายเข้าใจ แต่ว่าเราสะกดจิตแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย สมเด็จพ่อของพวกเรานั้นแหละเป็นอัจฉริยบุรุษ เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต เราลองคิดดูซิว่า ก่อนโน้น ตอนที่พระองค์ยังเป็นสิทธัตถกุมาร ครองราชสมบัติอยู่ถึง ๒๙ ปี จึงเสด็จออกทรงผนวช เมื่อทรงผนวชแล้วก็ยังใช้วิธีสะกดจิตอยู่ตั้ง ๖ ปี

          สะกดจิตอย่างไร

          การสะกดจิตของพระองค์นั้น พระองค์สามารถสะกดจิตของพระองค์เองให้หมดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน วิธีการสะกดจิตของพระองค์นั้น สามารถทำให้จิตของปุถุชนนี้ดับไป จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

          เพราะเหตุไรพระองค์จึงได้ตรัสรู้

          เพราะพระองค์เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

          เหตุนั้น หลวงพ่อจึงได้นำเอาหลักการหรือวิธีการของสมเด็จพ่อมาแนะนำพร่ำสอนชี้แนะแนวทางให้ท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตาม คือสอนให้ท่านทั้งหลายสะกดจิตตัวเอง แต่ไม่ใช่หลวงพ่อสะกดจิตให้

          ท่านทั้งหลายต้องสะกดจิตตัวเอง คือสะกดให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน มันดับไป สิ้นไป สูญไปจากจิตจากใจของท่านทั้งหลาย จิตใจของท่านทั้งหลายจะได้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา

          อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมการเข้าสมาบัตินี้ เพียงแต่เข้าถึงขั้นปฐมฌานเท่านั้น ทั้งๆ ที่หูของเราก็ยังได้ยินเสียงอยู่ ใจของเราก็ยังรู้อยู่ แต่ทำไมพอมีเสียงอะไรๆ ดังขึ้นมา จึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง จึงไม่ตื่น แม้มะพร้าวหรือกิ่งไม้มันร่วงลงมาถูกสังกะสีก็เฉย ใครจะปิดประตูหน้าต่างแรงๆ ก็เฉย

          เขาจะยิงปืน จุดประทัดดังเปรี้ยงๆ ก็ยังเฉยอยู่ ทำไมมันยังเฉยอยู่ได้ ไม่ตื่น ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกามแล้ว พ้นจากนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้ว ถึงแม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อยู่ก็ตาม แต่จิตใจของเราไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์เลย

          เมื่อใจไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะพ้นจากอำนาจของกามแล้ว เมื่อพ้นจากอำนาจของกามแล้ว แม้มีอะไรเกิดขึ้นจึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง

          อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า ทำไมเวลาเข้าฌานเข้าถึงที่แล้วจึงไม่รู้สึก การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกาม ยิ่งถ้าเป็นขั้นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ยิ่งพ้นจากขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อฌานนั้นพ้นจากขันธ์ ๕ แล้ว จะมารู้สิ่งภายนอกได้อย่างไร เพราะว่าฌานนั้นก็เป็นขันธวิมุติ คือพ้นจากขันธ์ ๕ เหมือนกัน ถ้ายังมีขันธ์เหลืออยู่แม้ขันธ์เดียว ก็เป็นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติไม่ได้ ถ้ายังข้ามพวกกามไม่ได้ก็ยังเป็นฌานไม่ได้

          เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี เมื่อเข้าถึงที่แล้วจึงไม่มีความรู้สึก แต่จะบอกอีกอย่างหนึ่งว่า เวลาอยู่ในฌานนั้นรู้ไหม ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ เวลาอยู่ในฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี นี้พูดถึงว่าเข้าถึงที่แล้วนะ ถ้าเป็นฌานก็เข้าถึงจตุตถฌานแล้ว

          ที่ตอบว่ารู้ ก็คือรู้ในอารมณ์ของฌาน แต่ว่าไม่รู้โลกีย์อย่างคนธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่มันรู้อารมณ์ฌาน ถ้าอยู่ในผลสมาบัติ หรือนิโรธสมาบัติ ก็รู้ หมายความว่า รู้อารมณ์ของพระนิพพาน ไม่รู้อย่างคนธรรมดา คือคนธรรมดานั้นก็จะไม่รู้ ส่วนที่ว่ารู้นั้น หมายความว่า รู้อารมณ์เหนือพวกกาม รู้อารมณ์พระนิพพาน แต่ว่าคนทั้งหลายในโลกนี้จะเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขา (ผู้ได้ฌาน) นั้นรู้ คือรู้อารมณ์ของฌาน รู้อารมณ์ของพระนิพพาน

          เราทั้งหลายลองคิดดูสิว่า อันนี้ยังเป็นขั้นฌาน ขั้นผลสมาบัติ หรือขั้นนิโรธสมาบัติ มันเป็นธรรมสูงสุดแล้ว เมื่อเราต้องการที่จะรู้อย่างคนธรรมดาๆ มันก็เป็นฌานไม่ได้ เป็นผลสมาบัติไม่ได้ เป็นนิโรธสมาบัติไม่ได้ เพียงแต่เป็นขั้นโลกีย์ตามธรรมดาๆ

          ส่วนมากคนเราก็ยังไม่รู้กัน เราลองคิดดูว่า เวลานอนหลับอย่างนี้ การนอนหลับเป็นแต่เพียงจิตของเราลงสู่ภวังค์เท่านั้น ไม่ใช่จิตเข้าฌาน ขนาดจิตลงภวังค์เท่านั้นเราก็ยังไม่รู้ ยุงมากัดก็ยังไม่รู้ เฉยอยู่ตลอดเวลา จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดเกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้ ขั้นธรรมดาๆ ที่เป็นขั้นโลกีย์ก็ยังไม่รู้ นับประสาอะไรถึงขั้นสูงกว่านี้ ซึ่งเป็นฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติแล้วเราจะไปรู้กัน

          เรื่องสมาบัติเราคิดเอาเองไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้ นอกจากจะทำได้เหมือนกัน เช่นว่า เห็นเขาเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เราก็ต้องเข้าให้ได้เหมือนเขาจึงจะรู้กันได้ แต่ถึงกระนั้น การเข้าสมาบัติก็ยังไม่เหมือนกัน

          เช่นว่า ผู้ที่เข้าสมาบัติได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง หรือ ๗๐ ชั่วโมงก็ตาม จะไม่เหมือนกัน มีความหยาบความละเอียดกว่ากัน เหตุนั้น เรื่องฌานนี้เราอยากจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร นั่ง ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๒๔ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมงเป็นอย่างไร เราก็ต้องทำให้อยู่ในภูมิธรรมเดียวกัน อยู่ในขั้นเดียวกันจึงจะรู้ได้ หากว่าเราไม่สามารถทำได้อย่างนี้ ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่รู้

          ดังที่ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนปลากับเต่า เต่านั้นเป็นสัตว์สองถิ่น คือ อยู่ในน้ำก็ได้ อยู่บนบกก็ได้ แต่ปลานั้นเป็นสัตว์ถิ่นเดียว คือ อยู่แต่เฉพาะในน้ำเท่านั้น วันหนึ่งปลามีความประสงค์อยากจะทราบความเป็นไปบนบกนั้นว่ามีอะไรบ้าง จึงถามเต่าว่าเป็นอย่างไร บนบกมีการกระเพื่อมมั้ย มีการไหวมั้ย มีสาหร่ายมั้ย ปลาก็เอาแต่ของที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า

          เต่าก็ตอบว่า ไม่มีๆ เรื่อยไป ปลาก็เลยถามเป็นประโยคสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรบ้างมีอยู่บนบก เต่าก็เลยตอบว่า สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูสิว่า ปลามันจะหมดความสงสัยไหม อันนี้ก็เหมือนกัน พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน

          การเข้าสมาธิ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เป็นอย่างไร แม้บอกกันก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าการบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร บอกกันไม่ได้เลย คือคิดตามไปดูด้วยก็ไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้

เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสไว้ว่า เป็นอจินไตย เรื่องที่ไม่ควรคิด มีอยู่ ๔ ประการคือ

          ๑.    พุทธวิสัย คือ วิสัยของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ นอกจากว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าประเภทเดียวกัน

          ๒.    ฌานวิสัย คือวิสัยของผู้ได้ฌาน ว่าการเข้าฌานเป็นอย่างไรหนอ การเข้าสมาบัติเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ เราเดาเอาก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด

          ๓.    กรรมวิบาก คือผลของกรรม เช่น เราเห็นคนทั้งหลาย ผู้นี้เขาทำกรรมอย่างไรหนอ เขาจึงมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ ผลของกรรมที่เขารับอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะกรรมที่เขาทำไว้อย่างไรหนอ ที่เขาได้เป็นนั่นได้เป็นนี่ก็ดี เขาได้รับความทุกข์ยากลำบากนานัปการก็ดี นี้เป็นผลของกรรม เขาทำกรรมอย่างไรไว้หนอในอดีตนั้น คิดไม่ได้ หรือว่าผู้ที่ทำกรรมอย่างนี้แล้ว ตายแล้วเขาจะเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้

          ๔.    เรื่องโลก คือเรื่องความเป็นไปของโลก ตลอดถึงการมองเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวที่เป็นอยู่นี้ มันอยู่ได้อย่างไร โลกของเรานี้ตั้งอยู่ได้อย่างไร เราคิดอย่างไร มันก็ไม่หมดความสงสัย

          เหตุนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เรื่องทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด คือ ๑) พุทธวิสัย ๒) ฌานวิสัย ๓) เรื่องวิบากคือผลของกรรม ๔) เรื่องโลกเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด ถ้าผู้ใดคิด พระองค์ตรัสว่า มีคติแห่งความฟุ้งซ่าน ความเป็นบ้า

          พระองค์ยังตรัสไว้อีกว่า

          เมื่อใดพุทธบริษัททั้งหลายยังพากันประพฤติมั่นอยู่ในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอริยมรรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือในสถานที่แห่งใดยังมีการสนทนาปราศัยกันเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องสมถะ และวิปัสสนาอยู่ สถานที่นั้นๆ ก็ยังมีผู้ทรงศีลทรงธรรม ยังมีผู้ที่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอยู่

          ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบใด ยังมีผู้เจริญสมถะอยู่ เจริญวิปัสสนาอยู่ และยังรักษาพระวินัยอยู่ หรือยังคลุกคลีกันด้วยการสนทนาเรื่องการปฏิบัติอยู่ พูดถึงการเข้าฌานบ้าง การออกจากฌานบ้าง พูดถึงการเข้าผลสมาบัติบ้าง พูดถึงการเข้านิโรธสมาบัติบ้าง สถานที่นั้นก็จะเจริญไปด้วยความสันติสุข คือมีความสงบเย็น มีความผาสุก

          ดังที่ท่านทั้งหลายเห็นอยู่ทุกวันนี้ ความสุขที่ได้รับก็เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม

          เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สมาบัติ มาแก้ข้อข้องใจของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.