อานิสงส์การเจริญสมาธิ (๒)
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
การทำสมาธิ ก็คือการรวมกระแสจิต คือจิตของเราก็มีกระแสเหมือนกันกับแม่น้ำ
แม่น้ำที่ไม่ได้รวมกระแส ก็จะไหลไปตามทางของมัน ไหลไปทางนั้นทางนี้ ไปตามห้วยหนองคลองบึง น้ำที่ไหลไปตามปกติธรรมชาติของมัน ไม่ได้รวมกระแสน้ำ น้ำก็จะไม่มีพลังหรือว่าไม่แรง ถ้าเรารวมกระแสน้ำให้ไหลไปทางเดียวกัน หรือในช่องเดียวกันตามที่เราต้องการ กระแสน้ำก็มีกำลังแรง สามารถนำไปใช้ในการเกษตรกรรมต่างๆ หรือสามารถที่จะเอามาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ดังที่พวกเราได้เห็นอยู่ทุกวันนี้ เช่น ไฟฟ้าที่ใช้อยู่บ้านเรา ก็ส่งมาจากเขื่อนโดมน้อยหรือเขื่อนสิรินธร ซึ่งน้ำโดมนั้นไหลอยู่ตลอดกาล ทั้งหน้าฝนหน้าแล้ง เขาก็รวมกระแสน้ำที่อยู่ในลำโดมน้อยทั้งหมดให้ไหลลงในช่องเดียวกันที่เขาต้องการ เมื่อไหลลงในช่องเดียวกันก็มีกำลังแรง จนสามารถที่จะผลิตกระแสไฟฟ้ามาให้เราใช้จนทั่วภาคอีสานได้
แม่น้ำที่รวมกระแสจะมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้เหลือที่จะพรรณนา แต่ถ้าไม่ได้รวมกระแส ก็จะไม่มีอานุภาพ ไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร และอาจจะไหลบ่าไปก่อให้เกิดความเสียหายได้อีกด้วย ข้อนี้ฉันใด จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าจิตใจไม่ได้รวมกระแส ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็ไม่มีกำลัง ไม่มีอานุภาพ
อะไรเป็นกระแสของจิต
ความคิด เป็นกระแสของจิต
ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วต้อง คิด ตื่นขึ้นมาก็ต้องคิดแล้ว ยังไม่ได้ลุกจากที่นอนก็คิดแล้ว อันนี้จิตของเราไม่ได้รวมกระแส มัวแต่คิดในเรื่องครอบครัว เรื่องสมบัติ เป็นต้น ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นไปในอนาคต ทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เมื่อกระแสจิตนี้ไหลไปอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มีอานุภาพ ไม่มีพลัง
เหมือนกับไฟฉายอย่างนี้ หากว่าเราไม่ใส่กรวยปรับแสง เราเปิดสวิตซ์ขึ้นมา ไฟก็สว่างเหมือนกัน แต่สว่างไม่ได้ไกล ไม่สามารถจะมองเห็นไกลๆ หากว่าเราเอากรวยปรับแสงใส่เข้าไป แสงสว่างก็เพิ่มขึ้นมาอีก แต่ยังไม่อาจมองดูได้ไกลเท่าไรนัก แต่เมื่อใดเราปรับกรวยให้รวมแสงกันเข้าไปๆ เมื่อรวมกันได้ถึงที่แล้ว ก็สามารถฉายไปได้ไกลๆ ส่องดูไกลๆ เห็นได้
จิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อใดที่เราทั้งหลายรวมกระแสจิตลงไปๆ คือรวมความคิดหลายๆ ความคิดนั้นให้เหลือความคิดเดียว เช่น เราเอาอาการพองอาการยุบมาเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า พุทโธๆ หรือ พองหนอ ยุบหนอๆ ร่ำไป จิตใจของเราก็อยู่ที่อาการพองอาการยุบตลอดไป ไม่คิดไปเรื่องอดีต ไม่คิดไปเรื่องอนาคต กำหนดแต่ปัจจุบันธรรม คือ เรากำหนดอาการพองอาการยุบนี้ได้อยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่าเรารวมกระแสจิตได้แล้ว
เมื่อใดเรารวมกระแสจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว กำหนดอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ได้อย่างนี้ คือสามารถทิ้งอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ได้ จะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ดี เราทิ้งอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นได้ ก็แสดงว่าเรารวมกระแสจิตได้มาก เมื่อรวมกระแสจิตได้มากแล้ว จิตก็จะเข้าสู่ฌานธรรมทันที คือฌานชวนวิถีจะเกิดขึ้นทันที เมื่อฌานชวนวิถีเกิดขึ้น ก็บรรลุถึงปฐมฌานคือฌานที่ ๑
เมื่อฌานที่ ๑ เกิดขึ้นแล้ว เราก็รวมกระแสจิตให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ทิ้งอารมณ์ที่เหลือออกไปอีก จิตก็จะเข้าสู่ทุติยฌาน คือฌานที่ ๒
เมื่อถึงฌานที่ ๒ แล้วก็รวมกระแสจิตให้ยิ่งเข้าไปอีก ทิ้งอารมณ์ออกไปอีก ผู้ใดทิ้งอารมณ์ได้มากเท่าไร และรวมกระแสจิตได้มากเท่าไร ก็สามารถเข้าสมาธิได้มากเท่านั้น จนกระทั่งถึงตติยฌาน คือฌานที่ ๓ จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ แล้วก็เข้าสู่อรูปฌานที่ ๑ คือ
อากาสานัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๓ คือ
อากิญจัญญายตนะ อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไปตามลำดับๆ
ทีนี้ หากว่าจิตของเราตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว อันเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ และพร้อมกันนั้น เราเคยได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านอนาคามิมัคคญาณ อนาคามิผลญาณ หรืออรหัตตมัคคญาณ อรหัตตผลญาณมาแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธได้
ผู้ที่เข้าสู่ สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว ชื่อว่าได้ ดับทั้งจิตทั้งเจตสิก ดับสัญญา ดับเวทนาได้ สามารถเข้าสมาธิอยู่ได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน โดยที่ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะอาหารที่เราบริโภคเข้าไป เกิดเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ ไม่ให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต
นี้เป็นเรื่องสมาธิโดยคร่าวๆ หรือโดยหยาบๆ
สมาธิที่เราได้นี้ มีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาล เหลือที่จะนับจะประมาณ ถ้าเราได้สมาธิในขั้นรูปฌาน ๔ นี้ สามารถที่จะให้เกิดอภิญญาจิตได้ เช่น เตวิชโช สามารถยังวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้ คือ
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติหนหลังได้ แต่จะระลึกได้กี่ชาตินั้น ก็ขึ้นอยู่ที่อำนาจสมาธิ และก็บุญญาวาสนาที่ได้สั่งสมอบรมมา
๒. จุตูปปาตญาณ สามารถรู้จักการตายการเกิดของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น คืออยากทราบว่าผู้นี้เขามาจากไหนจึงมาเกิดในที่นี้ ผู้นี้เขาตายแล้วจะไปเกิดในที่ไหน ก็สามารถรู้ได้
๓. อาสวักขยญาณ สามารถรู้วิธีหรือรู้หลักการที่จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง และอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานได้
นอกจากนี้ ก็สามารถให้เกิด อภิญญา ๖ คือ
๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ ดังตัวอย่างพระจูฬปันถกนี้รูปเดียว สามารถเนรมิตกายเป็นหลายๆ ร้อยรูปได้ คือสามารถแสดงฤทธิ์ได้ ล่วงสามัญชนธรรมดา
๒. ทิพพโสตอภิญญา คือสามารถที่จะฟังเสียงอมนุษย์ก็ได้ ฟังเสียงทิพย์ก็ได้ ฟังเสียงสัตว์เดรัจฉานก็ได้ คำว่า ฟังได้ ในที่นี้คือ รู้ความหมายของสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น นกร้องอย่างนี้ เราก็รู้ความหมายของมันว่าร้องอย่างไร รู้ภาษาของมันได้
ตลอดถึงสัตว์ทุกประเภท พวกจิ้งจก ตุ๊กแก พวกไก่ พวกสุนัข ที่เห่าหอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เราสามารถฟังมันรู้เรื่องว่า มันหอนเรื่องอะไร มันว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในอภิญญาขั้นนี้ เสียงสัตว์ร้องจะเป็นเสียงมนุษย์ไปหมด
๓. เจโตปริยญาณ รู้ความคิดของผู้อื่นว่า ขณะนี้เขามีจิตใจเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเขา หนาบางเท่าไร เป็นผู้ที่พอแนะนำได้หรือไม่ การประพฤติปฏิบัติสามารถที่จะบรรลุได้ขั้นไหนหรือไม่ ก็สามารถที่จะรู้ได้ สามารถที่จะคำนวณได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้
๕. ทิพพจักขุอภิญญา มีตาทิพย์ คือ สามารถมองดูสิ่งที่สามัญชนมองไม่เห็น และสามารถจะมองเห็นนรก เห็นเปรต เห็นอสุรกาย เห็นเทวโลก เห็นพวกพรหม เห็นสิ่งเร้นลับ ที่มีอยู่ตามบ้านตามเมือง เห็นพวกภูตฝีปีศาจ พวกอมนุษย์ ซึ่งปกติคนธรรมดาไม่สามารถเห็นได้ เพราะว่าเป็นพวกที่มีร่างกายทิพย์ เรียกว่า อทิสสมานกาย ตาธรรมดานี้มองไม่เห็น แต่ทิพพจักขุอภิญญาสามารถทำให้มองเห็นได้
๖. อาสวักขยญาณ รู้วิธีการทำอาสวะให้หมดไป
วิชชา ๓ และอภิญญา ๖ นี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะผู้ที่ได้รูปฌานที่ ๔ เท่านั้น เพราะสมาธิมีกำลังกล้า แต่หากว่าเราเอาสมาธิในขั้นรูปฌานทั้ง ๔ ฌานใดฌานหนึ่งมาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุซึ่งมรรค ผล นิพพาน เร็วขึ้น ตามลำดับของฌาน
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รูปฌานทั้ง ๔ นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผิวพรรณผุดผ่องละอองใส เกิดโลหิตแดงมาหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ คือเรามองดูหน้าตาก็อิ่มเอิบ ร่าเริงเบิกบานไม่เศร้าโศกเหมือนคนธรรมดา นี้เป็นอานิสงส์โดยย่อของการได้รูปฌาน ๔
ทีนี้หากว่าเราได้อรูปฌาน ๔ ด้วย ก็ยิ่งมีพลังมาก มีอานุภาพมาก เพราะอรูปฌาน ๔ สามารถให้เกิดปฏิสัมภิทา ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ นี้ หากว่าเราได้แต่รูปฌานอย่างเดียว ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดได้
อรูปฌานทั้ง ๔ นี้แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ คือสามารถที่จะอธิบายธรรมย่อๆ ให้พิสดารได้ เทศน์ทั้งวันทั้งคืนไม่รู้จักจบ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม คือสามารถที่จะรวบรวมธรรมที่ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารกว้างขวางนั้น ให้เหลือแต่เพียงย่อๆ กล่าวย่อๆ เพียงบรรทัดเดียวหรือสองบรรทัด ก็ทำให้รู้ความหมายของธรรมนั้นได้ สามารถย่อความหรือสรุปความของธรรมะที่เทศน์มาตั้ง ๓, ๔, ๕ ชั่วโมง ให้เหลือเพียงย่อๆ แค่บรรทัดเดียว หรือ ๒-๓ บรรทัดก็จบแล้ว ตีความหมายควบไปหมดแล้ว นี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติ หมายความว่า รู้วิธีพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น ธรรมะเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง สุขุม คัมภีรภาพ คนธรรมดาเข้าใจยาก ฟังยาก ก็สามารถที่จะพูดให้เข้าใจได้ง่าย
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ หมายความว่า จะเทศน์ปฏิภาณโวหาร หรือขบคิดปัญหาอะไรก็ได้ฉับไว มีอะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็สามารถแก้ปัญหาได้คล่องแคล่วว่องไว สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ทะลุปรุโปร่ง
อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดจากอรูปฌาน ๔ หากว่าเราเอาสมาธิขั้นนี้มาเป็นเครื่องรองรับในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ยิ่งได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น เพราะเหตุไร เพราะว่า อรูปฌานทั้ง ๔ นี้ มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณ คืออรูปฌานนี้ก็สอนให้ละรูปทิ้งไปแล้ว เมื่อมาถึงฌานขั้นนี้ รูปไม่เกี่ยว เกี่ยวเฉพาะนามเท่านั้น เวลาเจริญ เอานามคือพวกอากาศ วิญญาณ สัญญา มาเป็นเครื่องบริกรรมจนได้ฌาน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราเอาสมาธิขั้นนี้มาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนา ก็เป็นเหตุให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น
สมาธิที่เราได้นั้น ในขณะที่เราเข้าสมาธิอยู่ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ คือจะเป็นพระ เป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชี หรือจะเป็นคฤหัสถ์ชาวบ้าน ผู้ชายผู้หญิงก็ตาม แต่ว่าจิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว ถ้าเราจุติคือตายเพราะจิตอย่างนี้ คือเวลาตาย ตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม เมื่อจุติแล้วก็จะไปเกิดในพรหมโลก ตามกำลังของฌาน
ถ้าได้ปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๑ ปฐมฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๒ ปฐมฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๓
ถ้าได้ทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมที่ ๔ ทุติยฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๕ ทุติยฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๖
ถ้าได้ตติยฌาน คือฌานที่ ๓ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ชั้นที่ ๗ ตติยฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๘ ตติยฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๙
ถ้าได้จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็จะไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๑๐ และถ้าผู้ได้จตุตถฌานนี้ เป็นพระอนาคามีด้วย ก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น อันเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๒-๑๖ ถ้าไม่เป็นพระอนาคามี ถึงแม้จะได้จตุตถฌาน ก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมไม่ได้
ทีนี้หากว่าผู้ใดได้อรูปฌานที่ ๑ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑
ผู้ได้อรูปฌานที่ ๒ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒
ผู้ได้อรูปฌานที่ ๓ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓
ผู้ได้อรูปฌานที่ ๔ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ ตามกำลังของฌาน
ทีนี้ ในพรหมทั้งหมดนั้น มีพรหมประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า อสัญญีพรหม หรืออสัญญีสัตว์ อสัญญีพรหมนี้ ได้ธรรมะขั้นไหน จึงได้ไปบังเกิดในอสัญญีภูมิ (รูปพรหมชั้นที่ ๑๑)
อสัญญีพรหมนี้ ได้ประพฤติปฏิบัติจนได้จตุตถฌาน คือได้รูปฌานที่ ๔ เมื่อครั้งเป็นเทวดาหรือมนุษย์อยู่ (จตุตถฌานที่ได้นี้ เกิดจากการเพ่งวาโยกสิณ) หลังจากได้จตุตถฌานแล้ว ก็มาพิจารณาเห็นโทษของนามธรรม อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกง่ายๆ ก็คือ จิตใจ นี้เองว่า ความดีใจ เสียใจ ความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจ ก็เกิดขึ้นเพราะมีจิตใจนี้ หรือเมื่อได้รับบาดเจ็บหรือไม่สบายทางกาย ก็เพราะมีจิตใจนี้จึงได้รู้สึกเจ็บปวด ถ้าหากเราไม่มีจิตใจ ไม่มีความจำรู้สึกนึกคิดอะไร ก็คงจะไม่ทุกข์
เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็เกิดความเบื่อหน่ายในนามธรรมนั้น ไม่อยากจะมีนาม จึงปรารถนาที่จะไม่มีนามอีกต่อไป แล้วก็เฝ้าคิดเฝ้าปรารถนา เฝ้าภาวนาอยู่ว่า อสัญญีๆ ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีสัญญาๆ แล้วก็เข้าจตุตถฌานนั้นอีก หมายความว่า เมื่อผู้ได้จตุตถฌาน (เกิดจากเพ่งวาโยกสิณ) แล้ว มีความชอบใจพอใจในการไม่มีจิตใจขึ้นมา ก็พยายามรักษาจตุตถฌานไว้ ไม่ให้เสื่อม พอออกจากฌานมา ก็มีความเกลียดชังจิต ให้เกิดเบื่อหน่ายในจิตของตน เฝ้านึกเฝ้าภาวนาอยู่ว่า ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีสัญญาเถิดๆ
พูดง่ายๆ ก็คือก่อนเข้าจตุตถฌานก็ปรารถนาไม่อยากจะมีนาม เข้าจตุตถฌานแล้ว ออกมาแล้ว ก็มีความปรารถนาที่จะไม่มีนามเหมือนกัน จตุตถฌานที่เกิดขึ้นมาด้วยอาการอย่างนี้นั้น ชื่อว่า เกิดขึ้นพร้อมด้วย สัญญาวิราคภาวนา (การบำเพ็ญเพื่อที่จะละนามธรรมนี้นั้น แม้ว่าจตุตถฌานที่บุคคลได้แล้วจะสำเร็จได้มาด้วยการเพ่งกสิณอย่างใดก็ตาม แต่เมื่อปรารถนาต้องการที่จะได้ภพชาติที่ไม่มีนามธรรมแล้ว จตุตถฌานที่ได้นั้นต้องสำเร็จมาจากการเพ่งวาโยกสิณเสมอไป มีอาจารย์บางท่านกล่าวว่า จตุตถฌานที่สำเร็จมาจากอากาสกสิณ ก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้เหมือนกัน…จาก สมถทีปนี)
เมื่อผู้เจริญสัญญาวิราคภาวนา หมั่นเจริญ หมั่นนึกอธิษฐานอยู่อย่างนี้ เมื่อตายแล้วก็จะไปบังเกิดใน อสัญญสัตตภูมิ อันเป็นภูมิที่ไม่มีนาม มีแต่รูปขันธ์อย่างเดียว สมความปรารถนา
เกี่ยวกับเรื่องขันธ์ของสัตว์ทั้งหลายนี้ ที่พวกเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ เขาพากันสวดอยู่ทุกวันนี้ว่า สัตว์เหล่าใดมีขันธ์ ๕ ขันธ์ มีขันธ์ ๔ ขันธ์ มีขันธ์ขันธ์เดียว ขอจงได้รับบุญกุศลนี้เถิด เมื่อสวดแล้วหลวงพ่อก็ออกปัญหาถามพวกเด็กๆ ว่า สัตว์ประเภทใดมี ๕ ขันธ์ สัตว์ประเภทใดมี ๔ ขันธ์ สัตว์ประเภทใดมีขันธ์ขันธ์เดียว คือขันธ์ ๕ ขันธ์นั้นมีขันธ์ไหนบ้าง ขันธ์ ๔ ขันธ์นั้นขันธ์ไหนบ้าง ขันธ์ขันธ์เดียวได้แก่ขันธ์อะไร เด็กๆ บางคนก็ตอบได้
ขันธ์ ๕ ขันธ์ ก็หมายความว่า พวกที่มีขันธ์ ๕ คือมีทั้งรูป มีทั้งเวทนา มีทั้งสัญญา มีทั้งสังขาร มีทั้งวิญญาณ ครบหมด ได้แก่พวกสัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ พวกมนุษย์ พวกเทวดา และก็พวกรูปพรหม ยกเว้นอสัญญีพรหม พวกเหล่านี้จะมีขันธ์ ๕ ขันธ์
ทีนี้พวกไหนมีขันธ์ ๔ ขันธ์ ก็ได้แก่พวกอรูปพรหม มี ๔ ขันธ์ คือไม่มีรูปขันธ์ มีแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น
ส่วนสัตว์ที่มีขันธ์เดียว ก็คือ อสัญญีพรหม มีแต่รูปขันธ์เท่านั้น
ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเรื่องของอำนาจสมาธิ ผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ กัน
สมาธินั้น หรือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น มิใช่ว่าเราจะเดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดทั้งวันทั้งคืนจึงจะได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้ความเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ และมีศรัทธาจริงแล้วก็ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง อยากได้จริงๆ แล้ว ก็สามารถที่จะทำได้
หากว่ามีศรัทธาครึ่งๆ กลางๆ ทำบ้างไม่ทำบ้าง เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ บางทีมาประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน
แต่ไม่เชื่อ ทำอยู่ก็ไม่เชื่อ เดินอยู่ก็ไม่เชื่อ นั่งอยู่ก็ไม่เชื่อ หนักๆ เข้าก็พูดว่า ถ้าไม่เห็นเหาะมาบนฟ้าแล้วจะไม่เชื่อ ถ้ามีผู้ปฏิบัติจริงได้ผลจริง เหาะมาให้ดูจึงจะเชื่อ
อะไรทำนองนี้ ก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ ถ้าหากเรารู้วิธีทำ ก็ได้สมาธิในขณะที่นั่งฟังอยู่นี่แหละ
นั่งฟังทุกวัน วันละ ๒๕ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง
ก็สามารถทำสมาธิได้
เราเคยได้ฟังมาในครั้งพุทธกาลว่า ผู้ที่ไปฟังเทศน์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในขณะที่ฟังธรรมของพระองค์ นี่เราได้ฟังเรื่องในครั้งพุทธกาลเป็นส่วนมาก แต่ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่ได้สมาธิในขณะฟังการบรรยายธรรม ในขณะฟังเทศน์นี้ หลวงพ่อคิดว่านับไม่ถ้วน เป็นพันๆ คน บางปีก็ได้มาก บางปีก็ได้น้อย เช่น ในปีที่ผ่านมา ปี ๒๕๒๔ นั้น บรรยายธรรมเสร็จแล้ว เดินไปดูบรรดาสามเณร สามารถได้สมาธิทั้งหมด ๓๕ รูป ได้ในเวลาฟังบรรยายธรรมะ
ในขณะที่ทำวัตรสวดมนต์อยู่ ผู้บวชใหม่ทำวัตรไม่ได้ก็นั่งสมาธิเอา นั่งสมาธิฟังครูบาอาจารย์และเพื่อนๆ ทำวัตรสวดมนต์ พอสวดมนต์เสร็จมาดู ได้สมาธิกันแล้ว และก็เอาสามเณรน้อยๆ อายุ ๑๒ ปีนี้แหละ ได้สมาธิแล้ว ก็เอามาฝึกจนสามารถได้สมาธิถึง ๒๔ ชั่วโมง อยู่ที่บ้านเหมือดแอ่ และก็มีสามเณรอีกรูปหนึ่งอยู่ที่บ้านอีเติ่ง ในขณะที่ทำวัตรนี้ ก็นั่งสมาธิไปกำหนดไปๆ จนได้สมาธิ ก็เลยเอามาฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ จนได้สมาธิถึง ๒๔ ชั่วโมง อายุเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น สามารถได้สมาธิตั้ง ๒๔ ชั่วโมง
นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หากว่าเรามีศรัทธา คือมีความเชื่อมั่นอย่างจริงจัง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะสามารถได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ได้ในขณะที่เราฟังนี้
แต่ส่วนมากที่ผ่านๆ มา เราฟังเทศน์ฟังธรรมไม่เป็น โดยเฉพาะเวลาเราไปในงานต่างๆ จะเป็นงานเทศกาล งานบุญมหาชาติ งานบุญบ้าน งานอะไรๆ ก็ตาม เวลาฟังเทศน์ส่วนมากคนเรานี้ไม่ค่อยสนใจ พระเณรก็เทศน์กันไป โยมก็คุยกันไป คนโน้นคุยกับคนนี้ คนนี้คุยกับคนนั้น ผู้ทำอาหารทำครัวก็ทำไป ผู้กินเหล้าก็กินไป เสิร์ฟเครื่องดื่มก็เสิร์ฟไป ผู้ถวายน้ำร้อนน้ำเย็นก็ถวายไป
หรือบางที พระแสดงธรรมอยู่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุ สามเณร ที่นั่งอยู่รอบๆ ก็พากันสูบบุหรี่ควันโขมงไปหมด หรือบางทีโยมชาวบ้านบางคนก็พากันสูบบุหรี่ บ้างก็พากันโขลกหมากด้วยกินหมากด้วย พร้อมๆ กันกับฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ได้เคารพในพระสัทธรรม ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจฟังพระสัทธรรม
เมื่อเราไม่รู้วิธีฟังธรรม หรือว่าฟังธรรมไม่เป็นอย่างนี้ เราจะได้สมาธิมาจากไหน จะบรรลุได้อย่างไร แต่ถ้าเราฟังเป็น ก็สามารถที่จะได้สมาธิได้
สมาธิที่บุคคลได้แล้วนั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ ถ้าสมาธิที่ได้เกิดขึ้นในลำดับแห่งฌานวิถี สมาธิที่ได้ก็เป็นฌานไป คือ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และก็เป็นอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปตามลำดับ
แต่ถ้าอัปปนาสมาธิที่เกิดนั้น เกิดในลำดับแห่งมัคควิถี ก็เป็นอริยมรรคอริยผลไป ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ การบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ อาจจะใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที ก็สามารถบรรลุได้ อันนี้แล้วแต่ประเภทว่าเป็น ขิปปาภิญญา หรือ ทันธาภิญญา คือตรัสรู้เร็ว ตรัสรู้ช้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้
สำหรับวันนี้เป็นการบรรยายคร่าวๆ เป็นการทดสอบดูว่า บรรดาลูกพระลูกเณรที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่นี้ ได้สมาธิมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เมื่อทดสอบดูแล้วก็เห็นว่าได้สมาธิพอสมควร ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีอนุโมทนาสาธุการ
คือการทดสอบนี้ หากว่ายังไม่มีผู้ได้สมาธิขณะที่ฟังนี้ เราก็จะจัดการอีกอย่างหนึ่ง มีหลักการที่จะประพฤติปฏิบัติฝึกหัดกันไปอีกทอดหนึ่ง ที่อยากให้ได้สมาธินี้ก็เพราะว่า สมาธินี้จะเป็นพื้นฐานในการศึกษาเล่าเรียน ทำให้การศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี ทำให้จิตมีสมรรถภาพดี มีพลังมีอานุภาพ การงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการงานทางโลกทางธรรม ก็สำเร็จผลได้ตามต้องการ จึงต้องการให้ได้สมาธิกัน
แต่ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเข้าใจว่า เวลาปฏิบัตินี้ ถึงแม้เราจะฟังธรรมกัณฑ์เดียวกันก็จริง แต่ก็แยกออกเป็น ๒ ประเภท ครูบาอาจารย์ที่อยู่ในห้องกัมมัฏฐานตลอดจนถึงคณะแม่ชีที่ประพฤติปฏิบัติเราก็หนักไปทางด้านวิปัสสนา คือต้องการที่จะปฏิบัติให้หมดกิเลส แต่สำหรับทางลูกพระลูกเณรที่นั่งฟังอยู่ในศาลา หรือพระที่มาบวชทีหลัง โยมที่มาบวชทีหลัง ก็หนักไปทางสมถะก่อน คือต้องการให้ได้สมาธิก่อน แล้วจึงค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนาในภายหลัง จึงไม่เหมือนกัน
ครูบาอาจารย์อาจคิดว่า เราปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน ไม่เห็นได้สมาธิ ไฉนหนอ สามเณรตัวเล็กๆ มาฟังธรรมเพียงวันละ ๒๕ นาที ๓๐ นาที ก็ได้สมาธิไป อันนี้ขึ้นอยู่กับหลักการ วิธีที่ประพฤติปฏิบัติ มันแยกกันอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับระบบการควบคุม
เหมือนกับเขาส่งยานอวกาศไปสำรวจอวกาศ สำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร เป็นต้น เขาส่งยานไปสู่อวกาศ แต่สำหรับผู้ควบคุมอยู่ทางมนุษย์โลก อยู่ที่สถานีควบคุม อันนี้ก็เหมือนกัน หรือว่าการส่งคลื่นวิทยุก็ดี โทรทัศน์ก็ดี คลื่นมันมาที่นี้ แต่ผู้ควบคุมอยู่ที่สถานีส่ง แต่เสียงหรือภาพของมันกระจายไปทั่ว ตามกำลังส่งรัศมีของมัน ข้อนี้ฉันใด
เรื่อง สมถะ วิปัสสนา ก็เหมือนกันฉันนั้น อยู่ที่หลักการและวิธีการปฏิบัติ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจตามนี้ด้วย
เอาละพอสมควรแก่เวลา.