ญาณโลกุตตระ

ญาณโลกุตตระ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ญาณโลกุตตระ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่ว่าจะประพฤติปฏิบัติครั้งเดียวแล้วก็ผ่านไปเลย หรือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดเลยทีเดียวก็หาไม่ คือวิปัสสนาญาณต้องเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ครบทั้ง ๔ รอบ จึงจะถือว่าการประพฤติปฏิบัติของเรานั้นถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อประกอบการปฏิบัติ ยืนยันหลักฐานที่กล่าวมา จึงนำเรื่อง ญาณโลกุตตระ มาบรรยาย

          ญาณโลกุตตระ คือความตรัสรู้ชอบ ความตรัสรู้โดยตลอดในโลกุตตระพ้นจากโลก เป็นส่วนปฏิเวธธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เกิดขึ้นพร้อมกับโลกุตตรจิต ดับพร้อมกันกับโลกุตตรจิต มีอารมณ์อันเดียวกันกับโลกุตตรจิต มีวัตถุที่อาศัยอันเดียวกันกับโลกุตตรจิต

          ญาณโลกุตตระนี้ประชุมพร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรม ประกอบกับมัคคจิต เรียกว่า มัคคญาณ ประกอบกับผลจิต เรียกว่า ผลญาณ ฝ่ายมัคคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ต่างได้โลกุตตรอารมณ์ คือมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่รู้ มีพระนิพพานเป็นที่เห็น มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่พึ่ง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ เป็นความรู้ที่ต่างจากโลกีย์ ไม่มีอะไรในโลกีย์นี้จะไปเทียบกับโลกุตตระให้ตรงกับความเป็นจริงได้

          พระอริยเจ้าทั้งหลายจะไม่แสดงความเข้าไปรู้ไปเห็นของปุถุชนเลย เพราะไม่สามารถให้ปุถุชนรู้ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถึงให้บรรลุ การรู้ด้วยการอนุมาน ด้วยการฟัง ด้วยการคิด ด้วยการเจริญภาวนา แต่มัคคญาณผลญาณยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถจะรู้จริงได้ เมื่อใดได้มาเจริญพระกัมมัฏฐานจนข้ามโคตรปุถุชนไปสู่โคตรอริยะ เมื่อนั้น ได้มีญาณโลกุตตระเกิดขึ้นแล้ว ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในอารมณ์เหนือโลก ทิ้งสงสัยโดยไม่ต้องอนุมานเอาหรือคิดเอาคาดคะเนเอา

          เมื่อใดได้รู้ด้วยปัญญาในโลกุตตระแท้ๆ เมื่อนั้นก็สิ้นความสงสัยที่จะไปไต่ถามในสำนักใดๆ เพราะมารู้เฉพาะตนเสียแล้ว ผู้ใดปฏิบัติถูกทาง บรรลุถึง ผู้นั้นเป็นผู้รู้เฉพาะตน จะรู้แทนกันไม่ได้ ญาณความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส อันประกอบไปด้วยโลกุตตระ ๘ ได้นิพพานเป็นอารมณ์นั้น จะแสดงโดยลำดับไป

          ๑.     โสดาปัตติมัคคญาณ ปัญญาความรู้ที่ประกอบด้วยมัคคจิต เกิดขึ้นเพราะญาณโลกีย์เป็นปัจจัยส่งต่อกันมาถึงโคตรภูญาณโดยไม่มีระหว่างขั้น โสดาปัตติมัคคญาณก็เกิดขึ้นทันที ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ตั้งแต่เวียนว่ายตายเกิดมาในมหรรณพภพสงสาร เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ได้เห็นความสิ้นหมุนเวียน ไม่เกิดอีก ชื่อว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพาน ถึงกระแสพระนิพพานอยู่นั้นหนึ่งขณะจิต ไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง โสดาปัตติผลญาณก็เกิดขึ้นทันที

          ๒.    โสดาปัตติผลญาณ ปัญญาความรู้ที่ประกอบด้วยโสดาปัตติผลจิต เกิดขึ้นเพราะโสดาปัตติมัคคญาณส่งให้ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน เกิดขึ้น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นประเภทมันทบุคคลหรือติกขบุคคล

          เมื่อโสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะแล้วดับลง พระพุทธองค์ทรงขนานนามผู้นั้นว่า พระโสดาบันอริยบุคคล ผู้เป็นหน่อแนวที่จะสิ้นทุกข์ ประหารโลภะที่จะนำไปสู่อบายภูมิได้สิ้น ทำให้สังสารวัฏเหี่ยวแห้ง ทำลายความเห็นผิดได้สิ้นเชิง ดับสิ้นจากเวรภัยทั้งหลาย เท่ากับเป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จะเกิดไปภายหน้าอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เป็นผู้มีศีล ๕ อันไม่หัก ไม่รั่ว ไม่ด่าง ไม่มีจุด ไม่ปรารถนาโลกิยะ ควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น เหมือนกันกับได้สมาธิอยู่

          อกุศลที่พระโสดาบันตัดได้เด็ดขาดไม่เกิดในสันดานอีกนั้น คือ จิตโลภที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ ดวง กับวิจิกิจฉาความสงสัยอีก ๑ ดวง และละอกุศลเจตสิกได้ ๕ ดวง คือ วิจิกิจฉา ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ

          ละสังโยชน์ได้ ๓ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด วิจิกิจฉา ความสงสัย สีลัพพตปรามาส คือเห็นนอกพระพุทธศาสนา

          ละนิวรณ์เครื่องกั้นได้ ๒ คือ วิจิกิจฉานิวรณ์ เครื่องกั้นคือความสงสัย และกุกกุจจนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความรำคาญใจ

          ละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ ๒ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด วิจิกิจฉา ความสงสัย

          ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นได้ ๓ คือ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความเห็น สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในศีลพรต อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในตน ถือตัวตน เช่น ถือว่าคำพูดของตนถูก ของผู้อื่นผิด

          ละคันถะเครื่องผูกมัดได้ ๒ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ การประชุมแห่งศีลพรตเป็นเครื่องผูกมัด และ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ การประชุมแห่งการยึดมั่นว่ามติของตนถูก ของผู้อื่นผิด

          ละโยคะเครื่องประกอบสัตว์ไว้ได้ ๑ คือ ทิฏฐิโยคะ เครื่องประกอบคือความเห็นผิด

          ละโอฆะ คือ ห้วงน้ำได้ ๑ คือ ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ

          และละอาสวะเครื่องดองได้ ๑ คือ ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดองคือทิฏฐิความเห็นผิด

          พระโสดาบันได้ความแตกต่างกันด้วยความยิ่งหย่อนแห่งอิทธิบาท แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก คือ

          ๑)    เอกพีชีโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วจะปฏิสนธิเกิดอีกเพียงชาติเดียวก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

          ๒)   โกลังโกละโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วจะเกิดอย่างมากอีกไม่เกิน ๖ ชาติ จากสกุลไปสู่สกุล จากภพไปสู่ภพ แล้วจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพาน

          ๓)    สัตตักขัตตุปรมะโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วต้องปฏิสนธิคือเกิดในกามสุคติภูมิอีกอย่างมากแค่ ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

          สรุปแล้วว่า ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว แม้จะมีความประมาทสักปานใดก็ตาม ก็จะเกิดอย่างมากอีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

          การที่คติของพระโสดาบันแตกต่างกันอย่างนี้ ก็เพราะด้วยอำนาจของอิทธิบาทภาวนา คือหมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วมีความเพียรอย่างเรี่ยวแรง เช่นว่า วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ถือเอาเป็นเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเสีย ๒๐ ชั่วโมง พระโสดาบันประเภทนี้จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

          แต่ถ้าท่านผู้ใดบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว มีความเพียรสืบต่อกันไปไม่ขาดระยะ ในวันหนึ่ง ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๑๒-๑๔ ชั่วโมง อยู่ในระดับนี้ จะเกิดอย่างมากอีกเพียง ๖ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน แต่ถ้าผู้ใดหลังจากได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ๒๔ ชั่วโมง ถือเป็นเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ก็จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

          ๓.     สกทาคามิมัคคญาณ ความรู้คือปัญญาเจตสิกที่เกิดขึ้นประกอบกับสกทาคามิมัคคจิต ด้วยการเลิกละจากปัจจเวกขณญาณที่พิจารณาโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล และกิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ ตลอดการพิจารณาพระนิพพานที่พระโสดาบันเข้าไปเห็นทั้ง ๕ อย่างนี้อันใดอันหนึ่ง ด้วยการเว้นเสีย ไม่พิจารณาอีกต่อไป

          กลับมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานใหม่ ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นั้นก็ดี ล่วงไปแล้ว ๑ วันก็ดี หรือในเวลาที่ล่วงไปแล้ว ๑ เดือนก็ดี ๑ ปีก็ดี ตั้งต้นมีสติกำหนดรู้ พิจารณารูปธรรมนามธรรมให้เห็นความเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏติดอยู่ที่รูปนามนั้น เบาละเอียดกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก แต่ถึงกระนั้นก็สามารถเห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน

          ผ่านญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณคือญาณที่ ๔ จนถึงสังขารุเปกขาญาณที่ ๑๑ แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ๑ ขณะ ขึ้นสู่อนุโลมญาณ ๓ ขณะ หลังจากนั้นก็ผ่านโวทาน ต่อจากนั้นไม่มีอะไรคั่นระหว่าง สกทาคามิมัคคจิตก็เกิดขึ้นทันที

          อันนี้ไม่เหมือนกับเราปฏิบัติครั้งแรก คือเราปฏิบัติครั้งแรก เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณ ผ่านอนุโลมญาณแล้วก็ขึ้นสู่โคตรภูญาณ ตัดขาดจากโคตรปุถุชนไปสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน แต่เมื่อสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว จะเข้าสู่สกทาคามิมรรค ไม่เรียกว่า
โคตรภู
เพราะโคตรปุถุชนหมดไปแล้ว สิ้นไปสูญไปแล้ว เรียกโคตรภูนั้นใหม่ว่า โวทานโคตร

          คำว่า โวทานโคตร คือโคตรอันบริสุทธิ์ เมื่อผ่านโวทานโคตรคือโคตรของพระโสดาบันแล้ว ไม่มีระหว่างคั่น สกทาคามิมัคคญาณก็เกิดขึ้นทันที ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นไม่มีระหว่างคั่น สกทาคามิผลก็เกิดขึ้นมาทันที

          ๔.     สกทาคามิผลญาณ ความรู้คือปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับสกทาคามิผลจิต ขณะที่สกทาคามิมรรคดับลงแล้วเมื่อใด ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นอกาลิกธรรม ไม่มีอะไรคั่นระหว่างกลาง สกทาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นทันที ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นประเภทมันทบุคคลหรือติกขบุคคล

          คือ ประเภทมันทบุคคล ผลจิตก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ประเภทติกขบุคคล ผลจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะ เมื่อผลจิตดับลงแล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า พระสกทาคามีอริยบุคคล โดยสมบูรณ์ ทำลายกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหาน

          พระสกทาคามีนี้ สามารถละกิเลสได้เท่ากันกับที่พระโสดาบันละไปแล้ว และทำ ราคะ โทสะ โมหะ ที่ยังเหลืออยู่ให้เบาบางลง

          คติของพระสกทาคามีนี้มีอยู่ ๕ ประการ คือ

          ๑)     อิธ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ หมายความว่า หลังจากได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้ว ก็เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้

          ๒)    อิธ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในเทวโลก หมายความว่า เมื่อได้เป็นพระสกทาคามีแล้ว จุติคือตายไปจากมนุษย์โลกนี้ เมื่อไปบังเกิดในเทวโลกแล้วก็จะได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในเทวโลกนั้น

          ๓)     ตตฺถ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จพระนิพพานในเทวโลกชาตินั้นเอง หมายถึงเทวดาที่มาฟังเทศน์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจากสาวกของพระองค์ แล้วได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี หลังจากนั้นเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในเทวโลกชั้นนั้น

          ๔)    ตตฺถ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จพระนิพพานเมื่อจากเทวโลกมาปฏิสนธิในมนุษย์โลกแล้ว คือหมายความว่า ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลก แต่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ไม่สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจากเทวโลกมาเกิดในมนุษย์โลก ก็ได้เจริญพระกัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

          ๕)    อิธ ปตฺวา ตตฺถ นิพฺพตฺติตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี คือท่านผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคลในมนุษย์โลกแล้วไปเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกมาเกิดในมนุษย์โลกอีก แล้วเจริญพระกัมมัฏฐาน บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วดับขันธ์ปรินิพพาน

          การได้มาซึ่งสกทาคามิมัคคญาณ สกทาคามิผลญาณนั้น อุปมาเหมือนกับบุรุษผู้ปรารถนาจะถากถางทำสถานที่ให้เตียน จึงใช้มีด จอบ และเสียม ทำการถากถาง ขุดต้นไม้ต้นหญ้าให้ราบเตียนครั้งหนึ่งแล้ว แต่รากเหง้ายังไม่หมด เมื่อฝนตกพรำลงมา ไม่ช้าไม่นานรากเหง้านั้นก็เป็นปัจจัยให้เจริญเป็นต้น แตกกิ่งก้านสาขาใบขึ้นอีก บุรุษนั้นจึงนำจอบเสียมมาขุดรากเหง้าต่ออีก เพื่อจะให้รากเหง้าหมดสิ้นไปครั้งที่ ๒ และทำความสะอาดโล่ง ก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ อีก ข้อนี้ฉันใด

          พระโยคาวจรผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ญาณบังเกิดขึ้นจนถึงขั้นโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ สิ้นอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ละไปบ้างแล้วแต่ยังไม่หมด ต่อมาจึงเจริญพระวิปัสสนาจนบรรลุพระสกทาคามิมรรคพระสกทาคามิผล ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง ฉันนั้น

          ๕.     อนาคามิมัคคญาณ ญาณความรู้คือองค์ปัญญาประกอบกับอนาคามิมัคคจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อปัจจเวกขณญาณพิจารณาสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ มีความปรารถนาที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมเบื้องสูงยิ่งๆขึ้นไป จึงละจากปัจจเวกขณะ เริ่มบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานใหม่ วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ ๔ เป็นต้นขึ้นไป เห็นรูปนามเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้รูปนามชั้นนี้จะละเอียดมาก แต่มีญาณเข้าไปรู้ชัดแจ่มแจ้งเหมือนกัน

          เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ๑ ขณะ แล้วขึ้นสู่อนุโลมญาณ ผ่านโวทาน ข้ามโคตรของพระสกทาคามีไปสู่อนาคามิมัคคญาณ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พร้อมกับความสิ้นไปแห่งกามราคะ พยาบาท สิ้นสุดลงเด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีก

          ๖.     อนาคามิผลญาณ ความรู้คือองค์ปัญญาที่ประกอบกับอนาคามิผลจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งต่อเนื่องมาจากอนาคามิมัคคญาณ เมื่ออนาคามิมัคคญาณดับลงโดยไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง อนาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นทันที มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะจิต สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล ละอกุศลธรรมได้เป็นสมุจเฉทปหาน

          พระอนาคามีละกิเลสได้เพิ่มจากที่พระโสดาบันและพระสกทาคามีละแล้วอีก ดังนี้ คือ

ละโทสมูลจิตได้ ๒ ดวง และละโทสเจตสิกได้เด็ดขาดไม่กลับเกิดอีก

          ละอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้เด็ดขาด ๓ คือ ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด ผรุสวาจา พูดคำหยาบ และพยาบาท คิดปองร้าย

          ละกิเลสคือโทสะกิเลสได้เด็ดขาด

          ละสังโยชน์ได้ ๒ คือ กามราคสังโยชน์ ผูกความรักใคร่ในกามารมณ์ และปฏิฆสังโยชน์ การผูกโกรธ ได้เด็ดขาด

          ละอนุสัยได้ ๒ คือ กามราคานุสัย ความรักใคร่ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ปฏิฆานุสัย ความกระทบกระทั่งแห่งจิตด้วยอำนาจโทสะ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

          ละนิวรณ์ได้ ๒ คือ กามฉันทนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความรักใคร่พอใจในกาม พยาบาทนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความชัง เสียสิ้น ไม่มาเป็นเครื่องกั้นได้อีกเลย

          ละคันถะ คือ พยาปาทกายคันถะ เครื่องผูกมัดคือความโกรธ ได้เด็ดขาด

          ละโยคะ คือ กามโยคะ การประกอบสัตว์ไว้ในกาม เสียได้

          ละโอฆะ คือ กาโมฆะ ห้วงน้ำคือความใคร่ ได้เด็ดขาด

          ละอาสวะ คือ กามาสวะ เครื่องหมักดองคือกาม ได้เด็ดขาด

          พระอนาคามีไม่กลับไปสู่บ้านเรือนสู่กามสุคติภูมิอีก มีพรหมโลกชั้นสุทธาวาสเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หมายความว่า เมื่อบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ก็ถือว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของพระอนาคามี คือพระอนาคามีจุติแล้วจะไม่มาเกิดในกามภพคือมนุษย์โลกและเทวโลกอีก จะไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ตามความแก่กล้าของอินทรีย์ทั้ง ๕ แห่งตน

          ท่านแบ่งคติของพระอนาคามีไว้ ๕ ประเภท ดังนี้

          ๑)    อันตราปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสเมื่อกึ่งอายุแรก คือเมื่อไปเกิดในชั้นอวิหา และก็บำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในกึ่งอายุแรก

          ๒)    อุปหัจจปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสเมื่อกึ่งอายุหลัง

          ๓)    สสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานด้วยความเพียรเผากิเลสมาก

          ๔)    อสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานด้วยความเพียรเผากิเลสไม่มากนัก

          ๕)    อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี สำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อปฏิสนธิไปจนถึงชั้นอกนิฏฐภูมิ

          หมายความว่า เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไปบังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา เมื่อบังเกิดในชั้นอวิหาแล้ว เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เกิดในชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คือชั้นอตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐพรหมชั้นสุดท้าย แล้วจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในชั้นอกนิฏฐภูมินั้นเอง

          การปฏิบัติได้มาซึ่งพระอนาคามี อุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่พิจารณาเห็นความทุกข์ยากลำบากเป็นทาสของตัณหาและโทสะ จึงสลัดตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ละจากเคหสถานบ้านเรือนไปสู่สำนักบรรพชิต แล้วบำเพ็ญสมณธรรม ได้รับความสงบแล้วไม่กลับมาอีกเลย ฉันใด ผู้เจริญวิปัสสนาจนได้เป็นพระโสดาบันพระสกทาคามีแล้ว แต่ยังมีความรักความชอบใจในกามอยู่ ต่อมาเห็นภัยในความรัก ความใคร่ ความอาลัย จึงเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ฉันนั้น

          ๗.    อรหัตตมัคคญาณ ญาณความรู้อันเป็นองค์แห่งปัญญาเจตสิกประกอบด้วยอรหัตมัคคจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อมีความปรารถนาที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมให้ถึงที่สุด จึงละปัจจเวกขณญาณที่พิจารณาอนาคามิมรรค อนาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่เสีย

          เริ่มเจริญพระวิปัสสนากรรรมฐานในเวลาที่กำลังนั่งอยู่บ้าง ล่วงไปแล้ว ๑ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปีบ้าง ในสุทธาวาสชั้นนั้นบ้าง เป็นต้น พิจารณารูปนามได้ด้วยวิปัสสนาญาณจนเกิดญาณหยั่งรู้รูปนาม แม้รูปนามละเอียดอ่อนสักปานใดก็ตาม วิปัสสนาญาณนั้นก็จะคมกล้า สามารถที่จะเห็นรูปนามได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

          ทุกเมื่อทุกขณะที่รูปนามเกิดดับ มีอนิจจลักษณะ  ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ ติดอยู่ ปรากฏอยู่ ผ่านอุทยัพพยญาณไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ หลังจากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ขึ้นไปสู่อนุโลมญาณ ออกจากอนุโลมญาณ ผ่านโวทาน ข้ามโคตรของพระอนาคามี โดยไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง อรหัตตมัคคญาณก็เกิดขึ้น ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ สิ้นอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ประหนึ่งว่าสายฟ้าได้ผ่าลงสู่วัตถุธาตุมีต้นไม้เป็นต้นให้ขาดสะบั้นลงฉะนั้น แม้แต่โคตรเพชรที่ว่าแข็งสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องแตกเป็นจุลไป ในเมื่ออรหัตตมรรคเกิดขึ้น ๑ ขณะจิต โดยไม่มีคั่นในระหว่างกลาง เป็นอกาลิกธรรม ในขณะนั้นพระอรหัตตผลญาณก็เกิดขึ้นทันที

          ๘.    อรหัตตผลญาณ ความรู้คือองค์แห่งปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับอรหัตตผลจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง ตามกำลังของมันทบุคคลหรือติกขบุคคล เป็นพระอรหันต์อริยบุคคลผู้ขีณาสพ มีกิเลสตัณหาอันสิ้นแล้ว ชาตินั้นเป็นชาติสุดท้าย ดับขันธ์แล้วจะเข้าสู่พระนิพพาน เป็นบรมสุข ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป

          เมื่อเป็นพระอรหันตบุคคลแล้ว กิเลสที่เหลือจากพระอริยบุคคล ๓ เบื้องต้นที่ยังประหารไม่ได้ก็จะถูกประหารให้หมดสิ้นไปโดยเด็ดขาด ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดานของพระอรหันต์ ขันธ์ของพระอรหันต์ที่ยังไม่ดับเรียกว่า วิสุทธิขันธ์ ดุจน้ำมันที่กลั่นแล้วร้อยครั้งพันครั้งฉะนั้น

          สรุปความแล้วว่า พระอรหันต์นั้นละกิเลสได้ทุกอย่าง ละอกุศลธรรมได้ทั้งหมด ยกเว้นพระอรหันตสาวก ละวาสนาที่ตนประพฤติจนชินแต่อดีตชาตินั้นไม่ได้ ส่วนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ละได้ทั้งกิเลส ละได้ทั้งวาสนา สิ้นเชิงแน่นอน

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย กิเลสที่ไม่มีแล้ว แสนที่จะสบาย ไม่มีอะไรเปรียบได้ พระอรหันต์ทั้งหลายได้สร้างบารมีมาในอดีตชาติไม่เหมือนกัน เหตุนั้นจึงมีคุณพิเศษไม่เหมือนกัน ซึ่งแยกออกเป็น ๔ ประเภท คือ

          ๑.    ปฏิสัมภิทัปปัตโต      พระอรหันต์ผู้สำเร็จพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ คือ

                 ๑)    อัตถปฏิสัมภิทา       แตกฉานในอรรถ

                 ๒)    ธัมมปฏิสัมภิทา        แตกฉานในธรรม

                 ๓)    นิรุตติปฏิสัมภิทา    แตกฉานในภาษา

                 ๔)    ปฏิภาณปฏิสัมภิทา  แตกฉานในปฏิภาณ

          เหล่านี้ จะเกิดขึ้นพร้อมกันกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์

          ๒.    ฉฬภิญโญ พระอรหันต์ที่สำเร็จพร้อมด้วยอภิญญา ๖ คือเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว อภิญญา ๖ สามารถที่จะเกิดพร้อม คือ

                 ๑)    อิทธิวิธิ                    แสดงฤทธิ์ได้

                 ๒)   ทิพพโสตะ              มีหูทิพย์

                 ๓)    เจโตปริยญาณ         การรู้จักวาระจิตของผู้อื่น

                 ๔)    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

                 ๕)    ทิพพจักขุ                มีตาทิพย์

                 ๖)    อาสวักขยญาณ        ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้น

          อภิญญาทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้บำเพ็ญบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน

          ๓.     เตวิชโช พระอรหันต์ผู้สำเร็จวิชชา ๓ ประการคือ

                 ๑)    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

                 ๒)    จุตูปปาตญาณ ปัญญาพิจารณาการเกิดและการตายของบุคคลอื่นสัตว์อื่นได้

                 ๓)    อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้น

          ๔.     สุกขวิปัสสโก พระอรหันต์ผู้สำเร็จวิปัสสนาญาณโดยแห้งแล้ง หมายความว่า ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นแต่เพียงสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน แต่ไม่สามารถยังคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาทางนี้

          ญาณในโลกุตตระทั้ง ๘ ประการนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องจากญาณโลกีย์ทั้งหมด เมื่อรวมกันเข้าแล้วได้ ๒ คือ มัคคญาณ ผลญาณ รวมทั้งญาณโลกีย์ ๑๔ เป็น ๑๖ ด้วยกัน

          ญาณทั้ง ๑๖ นี้ย่อมเป็นปัจจัยส่งต่อให้กัน คือ ญาณที่ ๑ ส่งต่อให้ญาณที่ ๒ ญาณที่ ๒ ส่งต่อให้ญาณที่ ๓ ส่งต่อกันไปตามลำดับจนถึงญาณที่ ๑๖ โดยอาศัยวิปัสสนาญาณเป็นบรรทัดฐาน ดังจะขอยกอุปมาเป็นบุคคลาธิษฐาน ดังต่อไปนี้ คือ

          ยังมีบุรุษเจ้าของเรือนคนหนึ่ง รับประทานอาหารเย็นแล้วก็ขึ้นไปสู่ที่นอน นอนหลับไป ในคืนนั้นเกิดไฟไหม้ขึ้นในเรือนเป็นอันมาก บังเอิญบุรุษนั้นตื่นขึ้นมาเห็นไฟไหม้อยู่ในเรือนกำลังลุกโชติช่วงอยู่ก็สะดุ้งตกใจรำพึงว่า อนิจจา! เรานี้อยู่ท่ามกลางไฟทีเดียว จะตายเสียในกองไฟนี้ ทำอย่างไรหนอจึงจะออกจากไฟได้ ทางไหนหนอๆ เมื่อดำริดังนั้นแล้วก็ลุกออกจากที่แล้วรีบวิ่งออกไปโดยเร็วพลัน พอพ้นจากเพลิงไหม้แล้ว บุรุษนั้นก็ยืนอยู่ในที่ที่ไฟไหม้ไม่ถึง อันนี้ฉันใด

          ท่านผู้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไปตามลำดับญาณ ๑๖ ก็ฉันนั้น คือขณะเจ้าของเรือนพักอยู่ในเรือน เปรียบด้วยการปกครองรูปนามอยู่ ขณะที่เจ้าของเรือนบริโภคอาหารแล้วนอนในกลางคืนนั้น เปรียบเหมือนผู้ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างอ่อน คือ มีญานที่ ๑ เห็นรูปนามเปรียบเหมือนกำลังนอน จนผ่านไปถึงญาณที่ ๒ เห็นปัจจัยของรูปนาม เหมือนกับใกล้จะตื่น จนผ่านไปถึงญาณที่ ๓ เห็นลักษณะของรูปนาม เหมือนตื่นขึ้นเห็นแสงไฟ ญาณที่ ๔ เห็นรูปนามเกิดดับ เหมือนเห็นไฟกำลังลุก

          ญาณที่ ๕ เห็นรูปนามดับไป เหมือนกับเห็นไฟลุกใกล้เข้ามา ญาณที่ ๖ เห็นรูปนามเป็นภัย เหมือนเห็นไฟนั้นจะไหม้ น่ากลัว ญาณที่ ๗ เห็นรูปนามเป็นโทษ เหมือนเห็นไฟนั้นมีโทษอย่างร้ายกาจ ญาณที่ ๘ เห็นรูปนามน่าเบื่อหน่าย เหมือนเบื่อหน่ายต่อไฟนั้น ญาณที่ ๙ เห็นรูปนามใคร่อยากหนี เหมือนหาทางหนีจากไฟนั้น ญาณที่ ๑๐ เห็นรูปนามน่าเบื่อหน่าย อยากออกอยากหนีแล้ว ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง เหมือนตั้งใจหนีออกจากไฟ

          ญาณที่ ๑๑ มีใจวางเฉยต่อรูปนาม เหมือนกับหาทางหนียังไม่ได้ ยืนดูไฟรำพึงอยู่ ญาณที่ ๑๒ เห็นรูปนามมีกำลังชัดยิ่งขึ้น เหมือนกับเห็นไฟใกล้เข้ามา ญาณที่ ๑๓ เห็นทางไปพระนิพพาน เหมือนเห็นทางออกจากไฟ ญาณที่ ๑๔ เห็นพระนิพพาน เหมือนกำลังวิ่งออกจากไฟ ญาณที่ ๑๕ เห็นพระนิพพาน เหมือนพ้นไฟแล้ว ญาณที่ ๑๖ พิจารณามรรคผลนิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ เหมือนบุรุษผู้ยืนดูไฟอยู่ รู้ว่าตนพ้นแล้ว ฉะนั้น

          ญาณทั้ง ๑๖ ประการนี้ ย่อมเป็นปัจจัยของกันและกัน บางญาณก็เกิดในวิถีเดียวกัน เช่น ญาณที่ ๑๒ ถึงญาณที่ ๑๖ นี้ก็เกิดในวิถีเดียวกัน ถ้าญาณที่ ๑๒ เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นประมาณลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ญาณที่ ๑๖ ก็เกิดขึ้นสมบูรณ์เต็มที่

          สรุปแล้วว่า ญาณทั้ง ๑๖ ประการนี้ ก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เมื่อใดปฏิบัติจนผ่านญาณทั้ง ๑๖ ไปแล้ว ก็ชื่อว่าบรรลุปฏิเวธธรรมคือมรรคผลนิพพานนั่นเอง.