สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติสืบไป
คือเมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมท่านใดได้เข้าพิสูจน์ในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียรใช้สติระลึกรู้ทันทุกขณะของรูปธรรมนามธรรม จนเกิดญาณรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ชัดว่า รูปนามเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้
อาสวะที่ไหลแล้วไปหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ได้แก่ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิความเห็นผิด ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ น่าปรารถนา เมื่อมีความใคร่ในวัตถุกามมีรูปเป็นต้นแล้ว กามาสวะ อาสวะคือกามนั้นก็จะไหลเข้าสู่จิตใจ แล้วก็เก็บลงสู่ภวังค์เสมอ
ภวาสวะ อาสวะคือภพ ได้แก่ ความอยากมีอยากเป็น เช่นว่า อยากเป็นโน้นเป็นนี้ อยากเป็นข้าราชการ อยากเป็นกำนัน อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน อยากเป็นนายอำเภอ อยากเป็นปลัด อยากเป็นผู้แทนราษฎร อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายก อะไรจิปาถะ ความอยากมีอยากเป็นนี้ก็ถือว่าเป็นภวาสวะ อาสวะคือภพ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะไหลเข้าสู่จิตใจของเรา แล้วเก็บลงสู่ภวังค์
หมักดองไว้ในขันธสันดาน ได้ชื่อว่า ภวานุสัย อนุสัยคือภพบ้าง ภวาสวะ
อาสวะคือภพบ้าง
ก็เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์พระไตรลักษณ์ประหารอาสวะเหล่านี้อยู่เสมอ อาสวะที่เป็นภายนอกไหลเข้าไปไม่ได้ อาสวะที่เป็นภายในก็ถูกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์แทนมากขึ้นเท่าใดๆ อาสวะก็จะน้อยลงเท่านั้นๆ จนกระทั่งสิ้นอาสวะ คือเมื่อใดได้ผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร เมื่อนั้นชื่อว่า ถึงสันติลักษณะ สงบจากกองกิเลสาสวะและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถึงพระนิพพาน
หมายความว่า อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะก็ดี ทิฏฐาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต ภวังคจิตก็จะรักษาอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นไว้ในห้วงภวังค์ เป็นอนุสัยกิเลสนอนดองอยู่ เราไม่มีหนทางใดที่จะกำจัดได้ นอกจากการเจริญพระวิปัสสนาภาวนา
คือเราจะให้ทานจนหมดวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ เราจะรักษาศีลตั้งแต่รู้เดียงสาจนถึงวันตาย เกิดชาติใดก็รักษาศีลตลอดไป หรือเราเจริญสมถภาวนาจนได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิตก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำลายอาสวะทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ หรือไม่อาจที่จะทำลายอนุสัยเหล่านี้ให้หมดไปได้
เว้นไว้แต่ผู้ใดมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนที่พวกท่านทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อใด เมื่อนั้นพระไตรลักษณ์ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงไปสู่ห้วงแห่งภวังค์ ในขณะนั้น
อาสวะหรืออนุสัยกิเลสที่มีอยู่ในห้วงแห่งภวังค์ก็จะหมดไปตามลำดับ อาสวะใหม่หรืออนุสัยใหม่ก็เข้าไปไม่ได้ เมื่อพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลลงมากเท่าไหร่ อาสวะหรืออนุสัยก็หมดไปมากเท่านั้น จนกระทั่งหมดสิ้นอาสวะหรืออนุสัยเมื่อใด เมื่อนั้นท่านผู้ปฏิบัติได้ชื่อว่าผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร คือโคตรของพระอริยบุคคลโสดาบัน โดยสันติลักษณะ มีลักษณะสงบจากกิเลสาสวะและกองทุกข์ทั้งปวง คือพระนิพพาน
พ้นจากโลกีย์ไปสู่โลกุตตระ ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ เพราะเห็นอนิจจังชัด พ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะเห็นทุกขังชัด พ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะเห็นอนัตตาชัด ถึงพระนิพพาน ดับนามรูป ถึงสันติอันถาวร เที่ยง เป็นบรมสุขแน่นอน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ได้ถึง ได้บรรลุ ซึ่งพระนิพพาน เป็นผู้ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงธรรมรัตนะ แก้วคือพระธรรม จตูหปาเยหิ ปิดประตูอบายภูมิทั้ง ๔ ตั้งแต่ถึงกระแสนิพพาน
นิพพานนี้มีความสงบหรือความสุขเป็นลักษณะ มีความไม่แตกดับหรือเคลื่อนคลาดแปรผันเป็นกิจ มีความออกจากภพหรือไม่มีนิมิตเครื่องหมายเป็นอาการปรากฏ
พระนิพพานนี้มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่นว่า
วิราโค ความคลายกำหนัด
นิโรโธ ความดับ คือดับตัณหา
จาโค ความสละ ได้แก่ สละอุปธิคือกิเลส
ปฏินิสสัคโค การละเลิก การสละทิ้ง
มุตติ ความพ้น
อนาลโย ความไม่เกาะเกี่ยว ไม่อาลัย
มทนิมมทโน การย่ำยีความเมาเสีย
ปิปาสวินโย การกำจัดความหิวกระหาย
อาลยสมุคฆาโต การถอนเครื่องเกาะเกี่ยวเสีย
วัฏฏูปัจเฉโท การตัดเครื่องหมุนเวียน
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นของเยี่ยม นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขนอกจากพระนิพพานไม่มี
พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอายตนะอยู่ชนิดหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่
อากิญจัญญายตนะ หรือเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ อายตนะชนิดนั้น เราไม่กล่าวว่าเป็นที่มาถึง เป็นที่ไปถึง เป็นที่ตั้งอยู่ ไม่เคลื่อน ไม่เกิด ไม่มีที่ตั้งอยู่ ไม่เป็นไป ไม่มีอารมณ์ อายตนะนั้นแหละเป็นที่สุดของทุกข์ คือพระนิพพาน
ธรรมคือพระนิพพานนั้นเป็นของลึก อันบุคคลเห็นได้ยาก อันบุคคลตรัสรู้ได้โดยยาก อันบุคคลตรัสรู้ตามโดยยาก เป็นของระงับ เป็นของประณีต ไม่เป็นที่หลงเที่ยวไปแห่งวิตก หมายความว่า ปุถุชนจะตรึกนึกคาดคะเนเอาเองไม่ได้ว่า พระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเป็นอย่างนี้ ความคิดหรือความตรึกของปุถุชนนั้นไกลกันแสนไกล ก็ฟ้ากับดินถึงจะไกลกันแสนไกล แต่เราก็สามารถมองเห็นได้ แต่ความคิดว่าพระนิพพานเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ของปุถุชนนั้น ไกลกันแสนไกล จนไม่สามารถมองเห็นได้
เพราะพระนิพพานนี้เป็นของละเอียด เป็นของบัณฑิต พระอริยะพึงรู้แจ้ง ปุถุชนไม่รู้แจ้ง เรื่องพระนิพพานนี้ จะพูดให้ปุถุชนฟังอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ อุปมาเหมือนกันกับปลาและเต่า ปลาเป็นสัตว์ถิ่นเดียว แต่เต่าเป็นสัตว์สองถิ่น อยู่ในน้ำก็ได้ บนบกก็ได้ วันหนึ่งปลามีความประสงค์อยากรู้ว่าบนบกนั้นเป็นอย่างไร จึงถามเต่าว่าเป็นอย่างไร บนบกมีการกระเพื่อมไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี บนบกมีสาหร่ายไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี มีอย่างนั้นมีอย่างนี้ไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี เพราะว่าปลาเอาแต่สิ่งที่ตนเห็นอยู่ในน้ำมาถาม เต่าจึงตอบว่าไม่มีร่ำไป
เมื่อเป็นเช่นนั้น ปลาจึงถามเป็นการรวบรัดว่า ถ้าเช่นนั้น อะไรมีอยู่บนบก เต่าก็ตอบว่า สิ่งใดไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า ปลาจะหายความสงสัยหรือไม่หายสงสัย ปลาย่อมนึกไม่ออกว่าบนบกนั้นมีอะไรบ้าง ก็มีความสงสัยร่ำไป ข้อนี้ ฉันใด พระนิพพานก็เหมือนกัน ปุถุชนที่ยังไม่รู้ไม่ได้บรรลุนั้น จะคาดคะเนเอา เดาเอา คิดเอา ย่อมไม่รู้ได้ นอกจากมาประพฤติปฏิบัติได้บรรลุแล้วเท่านั้นจึงรู้ได้
อนึ่ง ธรรมชาตินั้นที่มีอยู่โดยแท้คือ อชาตํ ไม่เกิดอีก อภูตํ ไม่เป็นอีก อกตํ ไม่กระทำต่อไปอีก อสงฺขตํ ไม่ปรุงแต่งอีกต่อไป อชรํ ไม่เข้าถึงความแก่ อมรณํ ไม่ตายอีก นั้นเป็นมหาสันติสุขคือพระนิพพาน
พระนิพพานนั้น ถ้ากล่าวโดยอาการบรรลุมี ๓ ประการ คือ
๑. อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า พ้นด้วยการหาอะไรเป็นนิมิตเครื่องหมายมิได้ หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ ถึงญาณที่ ๓ ได้เห็นอนิจจังชัด ถึงญาณที่ ๔ ก็เห็นอนิจจังชัด ถึงญาณที่ ๑๒ ก็เห็นอนิจจังชัด เมื่อเห็นอนิจจังชัดอย่างนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า อนิมิตตนิพพาน ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตไม่ได้
๒. อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า พ้นด้วยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขณะที่ปฏิบัติอยู่ในญาณที่ ๓ ญาณที่ ๔ ญาณที่ ๑๒ เห็นทุกขังชัดกว่าอนิจจังและอนัตตา และอาศัยอารมณ์คือทุกขังเข้าสู่พระนิพพาน บรรลุพระนิพพาน เพราะเห็นทุกขังชัดอย่างนี้ พระนิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งมิได้
๓. สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า พ้นโดยอาการว่างเปล่า หมายความว่า ผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในญาณที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑๒ เห็นอนัตตาชัดกว่าอนิจจังและทุกขัง แล้วบรรลุพระนิพพาน เพราะการเห็นอนัตตาชัดอย่างนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า สุญญตนิพพาน ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างเปล่าจาก ราคะ โทสะ โมหะ
พระนิพพาน ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หมายความว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน นั้นดับไปหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดาน มีขันธสันดานอันบริสุทธิ์ มีจิตใจบริสุทธิ์ หมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน อย่างนี้ชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับทั้งกิเลส ดับทั้งเบญจขันธ์ คือ กิเลสก็ดับ เบญจขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ดับ ไม่มีเหลือ คือพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว
เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว ก็ถือว่าถึงสันติคือความสงบสุข ความสุขนี้เรียกว่า เอกันตบรมสุข เป็นสุขอย่างยอดเยี่ยม เป็นสุขอย่างเอก ไม่มีสุขใดจะเสมอเหมือนได้ เหตุนั้น ในขณะนี้เวลาของเรายังพอมีอยู่ ที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้บรรลุถึงอริยมรรคอริยผลตามสมควรแก่วาสนาบารมี ก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจ
การประพฤติปฏิบัตินี้ เท่าที่หลวงพ่อได้สังเกตมา บางท่านปฏิบัติ ๓ วันอย่างนี้ ก็สามารถผ่านการปฏิบัติขั้นปฐมมรรคได้ บางท่านก็ใช้เวลา ๕ วัน บางท่านก็ ๗ วัน หรืออย่างช้าที่สุดก็ไม่เกิน ๑ เดือน ก็สามารถผ่านการปฏิบัติขั้นปฐมมรรคได้
แต่ทั้งนี้ก็หมายความว่า มีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลนิพพานจริงๆ แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาอย่างเต็มความสามารถ อย่างช้าที่สุดเดือนหนึ่ง สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นปฐมมรรคได้ เมื่อผ่านขั้นที่หนึ่งไปแล้ว ขั้นที่ ๒ คือทุติยมรรคนี้ เท่าที่ประสบการณ์มา อย่างเร็วที่สุดก็ใช้เวลา ๙ วัน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๑๙ วัน และบางท่านก็ใช้เวลา ๒๐ วัน จึงสามารถที่จะผ่านไปได้ อันนี้เท่าที่ประสบการณ์มา
แต่สำหรับขั้นที่ ๓ คือการที่จะบรรลุอนาคามิมรรค อนาคามิผล (ตติยมรรค) นี้ ต้องใช้เวลาพอสมควร บางท่านก็ใช้เวลา ๒ เดือน บางท่านก็ใช้เวลา ๓ เดือน บางท่านก็ใช้เวลาเป็นพรรษาๆ จึงจะสามารถบรรลุขั้นนี้ได้ คือมันจะยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันกับสอบนักธรรมหรือสอบเปรียญธรรมอย่างนี้แหละ ชั้นสูงๆก็มีผู้สอบได้น้อย แต่ชั้นต่ำๆก็มีผู้สอบได้มาก
ทีนี้ หากว่าถึงขั้นสุดท้ายคือขั้นที่ ๔ (จตุตถมรรค) นี้ ต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ เท่าที่สังเกตลูกศิษย์ลูกหาที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ส่วนมากที่ปฏิบัติผ่านขั้นนี้ไปได้ บางรูปต้องใช้เวลา ๓ พรรษา บางรูปก็ต้อง ๔ พรรษา แต่หาได้น้อยมาก เกือบจะหาไม่ได้เสียเลย ผู้ที่ผ่านขั้น ๔ นี้ได้ เป็นของที่ทำได้ยาก เหมือนกับสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคอย่างนี้แหละ แต่ส่วนมาก ผู้ประพฤติปฏิบัติผ่านไปแล้ว ก็มรณภาพไปแล้วเสียเป็นส่วนมาก ที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เกือบจะไม่มีในทุกวันนี้ ก็ยังพอจะหาได้อยู่ แต่เกือบจะไม่มี
อย่างไรก็ตาม ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สำหรับท่านผู้ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ขออย่าได้ชะล่าใจ อย่าได้ท้อใจ พยายามบุกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันสุดท้าย เพราะความเพียรนี้ แม้เทวดาก็พยากรณ์ไม่ได้ มีความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ส่วนผู้เพิ่งมาปฏิบัติในระยะ ๒-๓ เดือนนี้ หลวงพ่อว่าไม่เหลือวิสัยที่จะทำได้ เพราะว่า ๓ เดือนนี้ หากว่าเราตั้งอกตั้งใจจริง มีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง สามารถที่จะทำได้
ข้อสำคัญมีอยู่ว่า ต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนให้ เช่นว่า เวลานอนนี้ พยายามจำให้ได้ว่า นอนหลับไปตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ตอนหายใจเข้าหรือหายใจออก ต้องพยายามจำจริงๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง ยังจำไม่ได้ ก็พยายามจำไป อย่าชะล่าใจ อย่าท้อแท้ใจ
หรือว่าในเวลานั่ง ถ้าอยากหลับก็ให้หลับไปเวลานั่งนี้ ไม่ว่าอะไร อย่าไปพิงเสา อย่าไปพิงต้นไม้ อย่าไปพิงอะไร แต่พยายามจำให้ได้ว่า สัปหงกหรือผงะไปตอนอาการพองหรืออาการยุบ หรือขณะหายใจเข้าหรือหายใจออก และนอกจากนี้ เวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ขอให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดให้ติดต่อกันไป อย่าให้ขาดสายขาดระยะ ถ้าว่าเราทำตามหลักวิชาการดังกล่าวมาแล้วย่อๆนี้ หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เหลือวิสัยเราสามารถทำได้
หากว่าในไตรมาสพรรษา ๓ เดือนนี้เราทำไม่ได้ ก็มีผลเสียหลายอย่าง เช่นว่า เราก็เสียเวลาไปเปล่าๆ ทั้งไม่ได้ความภูมิใจในการที่มาประพฤติปฏิบัติ เมื่อไปถึงบ้านถึงวัดแล้วก็ท้อใจ ไม่อยากสอนญาติโยม ไม่อยากสอนลูกศิษย์ลูกหา ด้วยว่าเรามีปมด้อย ถ้าหากสอน เมื่อลูกศิษย์ลูกหาประพฤติปฏิบัติได้มากกว่าตัว หรือบางทีลูกศิษย์ลูกหาได้สมาธิไป ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว บางทีเกิดความเห็นผิดก็มี
ตัวอย่างท่านพระอาจารย์รูปหนึ่ง เวลาทำวัตรแล้วก็นั่งสมาธิ เผอิญพระลูกศิษย์นั่งสมาธิ ๓๐ นาที เกิดได้สมาธิขึ้นมา อาจารย์ท่านก็ทึกทักโมเมขึ้นมาว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูก อันนี้ไม่ใช่สมาธิ เป็นผีสิง อะไรทำนองนี้ ว่ากันไปว่ากันมา ทำไมมานั่งสมาธิเพียง ๓๐ นาทีจะมาได้สมาธิ ผมนี้ปฏิบัติมาตั้ง ๕-๖ ปีแล้วยังไม่ได้ คุณมาปฏิบัติ ๓๐ นาที จะไปได้อย่างไร อันนี้เป็นของปลอม ก็ว่าไป ผลสุดท้ายหลวงพ่อไปเทศน์โปรดเอา แล้วได้แนะนำให้มาประพฤติปฏิบัติ มาอยู่ที่นี้จึงเกิดความเชื่อปลงใจเชื่อ
นี่แหละท่านทั้งหลาย หากเราประพฤติปฏิบัติไม่ได้นี้ ทำให้มีปมด้อยอยู่ในตัวเอง และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเราปฏิบัติไม่ได้ เวลาไปเทศน์ไปสอนก็พูดไม่ได้เต็มปาก เราจะเทศน์เรื่องมรรคผลนิพพานนี้ เราก็มีความกระดากละอายในใจของตัวเอง ไม่มีความองอาจกล้าหาญ เกิดความวิปฏิสารอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าคนนั้นจะถามอย่างนี้ คนนี้จะถามอย่างนั้น เกรงว่าเขาจะมองเราในแง่ผิด
แต่หากว่าเราประพฤติปฏิบัติไปได้พอสมควรแล้ว เราเทศน์ธรรมะภาคปฏิบัตินี้ได้สบาย ไม่ต้องสะทกสะท้านเดือดร้อน ไม่ต้องเกรงใครจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ และก็ทำให้เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความองอาจกล้าหาญขึ้นมา
เหตุนั้น เวลาเหลืออยู่หลายวัน ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ตลอดนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ พยายามอดทนกัดฟันต่อสู้ไป จนกว่าจะผ่านการประพฤติปฏิบัติไป อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้ขั้นปฐมมรรค หลวงพ่อก็พอใจแล้วดีใจแล้ว ที่ท่านทั้งหลายไม่เสียทีที่มาปฏิบัติ สามารถได้คุณธรรมวิเศษเป็นสมบัติของตัวเอง เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกด้วย และก็เป็นศรีของพระศาสนาด้วย
เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายโดยย่อ ในเรื่อง สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.