สมาทานสัมมาทิฏฐิ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ญาติโยมทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า
สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา
บุคคลจะพ้นจากปวงทุกข์ได้ด้วยการสมาทานสัมมาทิฏฐิ
คำว่า ทุกข์ ในที่นี้หมายถึง ความทนได้ยาก ซึ่งเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลาย แต่ทุกข์นั้นเมื่อสรุปลงสั้นๆ พอจำง่ายก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ ๑) ความทุกข์ทางกาย ๒) ความทุกข์ทางใจ คือเป็นของที่เราต้องอดต้องทนอยู่ตลอดเวลา
๑. ความทุกข์ทางกาย ก็เพราะว่า ความทุกข์ทางกาย เมื่อได้รับเวทนาคือความเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดนั้นปวดนี้ ในตนที่มีในร่างกายของเรา ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนหาหยูกหายามารักษามาพยาบาล กว่าจะหายได้ ก็ต้องเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมากพอสมควร บางทีก็ไม่หายเสียเลย อันนี้เป็นความทุกข์ทางกาย ซึ่งทุกๆ คนก็ได้รับเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่ไม่ได้รับ จะเป็นพระเป็นเณร เป็นญาติเป็นโยม ก็ได้รับด้วยกันทั้งนั้น
๒. ทุกข์ใจ ทุกข์ใจนี้คือทุกข์เพราะไฟกิเลสมาเผาผลาญ ทุกข์เพราะไฟคือราคะ ทุกข์เพราะไฟคือโทสะ ทุกข์เพราะไฟคือโมหะ มาเผาอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตใจของเรานี้ไหม้และเหี้ยมเกรียมไป เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในจิตในใจ ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูว่า เวลาราคะคือความกำหนัดชอบพอในเพศตรงกันข้ามเกิดขึ้น มันทุกข์เท่าใด
มันทุกข์จนเหลือทน บางคนก็ต้องเสียผู้เสียคนไป เกิดขึ้นมาแล้วลืมผัวลืมเมีย ลืมพ่อลืมแม่ ลืมลูกลืมหลาน ผลสุดท้ายก็ร่วมสังวาสกันเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ทั้งนี้ก็เพราะถูกอำนาจไฟราคะเผาผลาญ
ทีนี้ ถ้าถูกไฟคือโทสะความโกรธเผาผลาญ มันจะเป็นอย่างไร ถ้าไฟโทสะเผาผลาญ ยิ่งได้รับความทุกข์ขึ้นไปอีกกว่านี้นะ ยิ่งขณะมีความโกรธขึ้นในจิตในใจ เราจะรู้สึกว่า จิตใจของเราจะทุรนทุรายร้อนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราจะพูดจาปราศรัยกัน หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เริ่มตั้งแต่ไม่น่าดูไม่น่าฟัง การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นที่น่ากลัว น่าขยาด น่าเกรงขาม เพราะไฟโทสะมันเผาผลาญ
หากว่าไฟคือโมหะมาเผาผลาญจิตใจของเรา เราก็จะเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี อย่างที่ชาวบ้านชาวเมืองเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำไมจึงพากันกิน พากันสูบยา ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันเคี้ยวหมาก เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันสูบกัญชา ก็เพราะคิดว่ามันดี
ทำไมจึงพากันสูบฝิ่น ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันสูบผงขาว กินยาม้า ดมกาว ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันฆ่ากัน ตีกัน เบียดเบียนกัน ข่มเหงกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ทำไมจึงพากันลักขโมยกัน ปล้นจี้กัน ทำไมจึงพากันพูดโกหกพกลมต้มตุ๋นกัน
ทำไมจึงพากันพูดจาไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง พูดคำหยาบ ทำไมจึงพูดคำส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นแตกความสามัคคี ผิดกัน ทำไมจึงพูดถ้อยคำที่ไม่มีสารประโยชน์ ก็เพราะเราคิดว่ามันดี มันถูกแล้ว ทำไมมันไม่ดีจึงเห็นว่ามันดี ก็เพราะอำนาจของโมหะมันครอบงำจิตใจของเรา มันจึงเป็นเหตุให้เราคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว นานัปการ
จึงสรุปลงสั้นๆ ว่า ถ้าไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มันเผาจิตใจของเราในขณะใด ในขณะนั้นมีความร้อนเหลือทน ทำให้เราคิด เราทำ เราพูด ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นี้ไฟที่เกิดขึ้นทางใจ ได้แก่ ไฟคือกิเลส มันเกิดขึ้นทางใจ
สรุปแล้วว่า ไฟคือความทุกข์ ไฟคือกิเลส ที่มันเผาจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา ทีนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ องค์สมเด็จพระสุคตเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา เราต้องสมาทานสัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ ความเห็นถูก
คำว่า ทิฏฐิ นี่แปลว่า ความเห็น แต่ถ้าแปลตามความหมายก็จะแปลได้ ๒ อย่างคือ ๑)มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ๒)สัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกเห็นชอบ
คนเราจะทำดีจะละชั่วแล้วทำดีได้ก็เพราะมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกเสียก่อน ถ้าหากว่ามีความเห็นถูกแล้ว ก็สามารถที่จะคิดในทางที่ดีที่ชอบได้ เช่นว่า
ทานสัมมาทิฏฐิ เห็นว่าการให้ทานนี่ดี มีผล อย่างน้อยที่สุด ทำให้เรามีความสุขใจ เรามีความสบายใจ เรามีความร่าเริงบันเทิงใจ เรามีปีติ เรามีความปราโมทย์ เบิกบาน ในเมื่อได้ทำบุญทำทานไว้แล้ว นี่ก็ต้องมีความเห็นถูกเสียก่อน ต่อไปเราก็จะคิดว่า การให้ทานนี่ดี สามารถทำให้ผู้อื่นรักได้ เป็นเสน่ห์ขั้นพิเศษ สามารถผูกมิตรไมตรีจิตของกันและกันไว้ได้ เพราะผู้ให้ก็ต้องเป็นที่ถูกใจของผู้รับ ผู้รับย่อมมีความรักใคร่นับถือผู้ให้
ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูสิว่า เราอยู่ด้วยกันทุกวันนี้ สามีภรรยาอยู่ด้วยกันได้ ก็ต้องอาศัยการให้กัน ให้สิ่งของกัน ระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ หลานๆ รักใคร่นับถือกันก็เพราะว่ามีการให้กัน มีการเสียสละระหว่างเพื่อนบ้านของเรา ตลอดถึงตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลกทั้งโลกนี้ จะมีความเคารพนับถือกัน มีความรักกัน ไม่ทำสงครามประหัตประหารกัน ก็เพราะว่าอาศัยการให้กัน การเสียสละ การให้กัน จึงอยู่เป็นสุข นี่เราต้องมีความเห็นอย่างนี้เสียก่อน จึงจะให้ทานได้
หรือสูงๆ ขึ้นไป เราก็จะเห็นว่า การให้ทานนี่ดี สามารถทำลายความโลภ ทำลายมัจฉริยะคือความตระหนี่ลงได้ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราทำได้อย่างดี ประกอบด้วยไตรเหตุ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จซึ่งสุคติ โลกมนุษย์ สวรรค์ ตลอดถึงพระนิพพาน
ในเมื่อเราเห็นถูกอย่างนี้แล้ว เราจึงจะสามารถทำบุญทำทานได้ แต่ถ้าเรามีความเห็นว่า ทำทานไปทำไมหนอ ทำทานไปก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร ทำทานไปแล้ว ไปวัดยามใดๆ ทำทานไปแล้วมีแต่พระเณรฉันหมด เหลือมาแต่กล่องเปล่า เหลือมาแต่กระติบข้าวเปล่า เหลือมาแต่ถ้วยเปล่า มิหนำซ้ำถ้วยเราก็แตก ถ้วยเราก็หาย
ตะกร้าเราก็หาย กล่องข้าวเราก็หาย ให้ทานไปแล้วก็ไม่เห็นได้บุญสักที มาซื้อเลขก็ไม่ถูกสักที ไปทำมาค้าขายก็ไม่ร่ำรวยสักที ว่าจะเป็นเศรษฐีก็ไม่เห็นเป็นสักที ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิแบบนี้ ก็ทำบุญทำทานไม่ได้ ต้องมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกเห็นชอบเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทานได้
สีลสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่าการรักษาศีลนี่มีบุญ มีอานิสงส์อย่างน้อยๆ ที่สุด คนที่รักษาศีลดีแล้ว เรามองดูก็งดงาม สำหรับตัวเราเองนี้ ถ้าเรารักษาศีลแล้ว เราก็มีความสุขใจ เราไม่ได้ไปฆ่าผู้อื่น ไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้พยาบาทอาฆาตจองล้างจองผลาญผู้อื่น ไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราก็ไม่มีเวรไม่มีภัย
เราก็จะไม่คิดว่าใครจะมาฆ่าเรา ผู้นี้จะมาตีเรา ผู้นั้นจะมาทำร้ายเรา เราก็ไม่ได้คิด เพราะเราไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้ทำร้ายผู้อื่น เราไม่ได้ลักขโมยของใครเลย ผู้อื่นจะมาลักขโมยของเราก็ไม่ได้ เราไม่ได้ล่วงเกินผัวเขาเมียเขาลูกเขา เราไม่ได้โกหกหลอกลวงต้มตุ๋นเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่น เราไม่ได้เสพยาเสพติด มีสุรายาฝิ่นกัญชาเป็นต้น
เราคิดมาแค่นี้ก็มีความสุขใจแล้ว เพียงแต่ว่าเราเคยติดหมากมา เรางดเคี้ยวหมากได้ เป็นสุขดีหนอ แต่ก่อนไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ต้องหาตะกร้าหมาก เตรียมตะกร้าหมากตะกร้าพลูเสียก่อน กว่าจะออกจากบ้านได้ก็ลำบากลำบน เดี๋ยวนี้เราละได้แล้ว มันสุขหลาย
อย่างเมื่อก่อนเราสูบบุหรี่ เราเป็นทุกข์ ตอนนี้เราไม่ได้สูบบุหรี่แล้ว เราเลิกแล้วยิ่งเป็นสุขมากขึ้น ไปไหนก็สบายๆ ไม่ต้องถือห่อบุหรี่ ไม่ต้องถือเงินไปซื้อบุหรี่สูบ ไม่ต้องลำบากลำบน นี่ถ้าเรามีความเห็นถูกอย่างนี้เสียก่อน ไปวัดทุกวันนี้ก็สบายๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน ตะกร้าหมากตะกร้ายาก็ไม่ได้พกไปด้วย
พระเณรไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่กินหมาก เรายิ่งสบายหลาย ไม่เหมือนแต่ก่อน ไม่จำเป็นต้องเสียค่าหมากค่าบุหรี่ เราต้องมีความเห็นถูกเห็นชอบเสียก่อน เราจึงจะรักษาศีลได้ ในเมื่อเราเห็นว่าการรักษาศีลนี่ การไม่ฆ่ากัน การไม่เบียดเบียนกัน การไม่เอารัดเอาเปรียบกัน การไม่ขโมยของกัน การไม่ล่วงเกินผัวกันเมียกันลูกกัน การไม่พูดโกหกกัน ไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นแตกความสามัคคีกัน การละเว้นจากยาเสพติด มันเป็นสุข มันสบายแล้ว
ศีลที่เรารักษาได้ดีแล้ว เมื่อเราอยู่ในโลกนี้ก็มีความสุข ไปที่ไหนก็มีแต่คนรักคนหอม ชื่อเสียงอันดีงามก็ย่อมฟุ้งขจรไป เราเข้าสมาคมใดๆ ก็มีความองอาจ มีความกล้าหาญ ไม่สะทกสะท้าน ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน ไม่คิดว่าคนนั้นจะว่าอย่างนั้น คนนี้จะว่าอย่างนี้ เราก็ยังรักษาศีลได้
ญาติโยมทั้งหลาย คนที่ไม่มีศีลนี้ หรือคนที่มีศีลไม่สมบูรณ์ หรือคนที่ทุศีลนี้ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไม่สง่าผ่าเผย ไม่มีความสง่าผ่าเผย มีความสะดุ้ง มีความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนกับควายสันหลังมันหวะ ตัวมันหวะ แค่ได้ยินเสียงการ้องก็ตื่นตระหนกแล้ว มันเป็นทำนองนี้ ด่าอย่างไร ด่าคนนี่ก็ไม่เจ็บเท่ากับเอาศีลนี้มาด่า
หลวงพ่อเห็นเขาด่ากันตอนอยู่ที่บ้านอีเติ่ง เขาด่าพ่อจารย์คู สำหรับผู้ด่าก็เป็นโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อนี่แหละ คนที่ด่าอาจารย์คูนี่นะ อาจารย์คูนี่ท่านพูดเก่ง พูดได้มากกว่าผู้อื่น พูดอย่างนั้นอย่างนี้เก่งกว่าผู้อื่น ฝ่ายแม่ออก (โยมอุปัฏฐาก) ก็ว่าอยู่คำเดียวเท่านั้นว่า เฮ้ย มึงอย่าพูดมาก บักปาราชิก จารย์คูหน้าไม่มีเลือดเลย ไม่มีเลือดไม่มียางเลย หน้าขาวเลย พูดก็ไม่ออกเลย สักนิดเดียวก็ไม่มี
มึงอย่าพูดมาก บักปาราชิก ด่าอย่างนี้มันเจ็บกว่าอย่างอื่น ด่าพระด่าเณรก็เหมือนกัน ด่าอย่างไรๆ ก็ไม่เจ็บ ถ้าด่าว่า บักพระปาราชิก ห่มผ้าเหลืองเฉยๆ เณรปาราชิกนี้ พระปาราชิกนี้ ถ้าด่าคำนี้ เจ็บกว่าอย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวง
เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายที่มีศีลแล้ว อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุขใจ คนที่มีศีลแล้วย่อมเป็นที่หลั่งไหลมาของโภคสมบัติทั้งหลายทั้งปวง ดังที่ท่านว่า สีเลนะ โภคะสัมปะทา คือผู้ที่จะมีสมบัติได้ ก็เพราะรักษาศีล สีเลนะ สุคะติง ยันติ คือ คนที่จะได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าก็เพราะรักษาศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ คือคนจะถึงพระนิพพานได้ก็เพราะรักษาศีล
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์เถิด เรามีความเห็นดีเห็นชอบกันเสียแล้ว มีความเห็นถูกเห็นชอบกันเสียแล้ว จึงจะได้รักษาศีล ก็เนื่องมาจากสัมมาทิฏฐิ
ภาวนาสัมมาทิฏฐิ บุคคลจะเจริญภาวนาได้ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิเสียก่อน คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่า การเจริญภาวนานี่ดีหนอ ทำให้จิตใจสบาย ในเมื่อเจริญภาวนาแล้ว กามฉันทะคือ ความกำหนัด หรือพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็ไม่มี ความพยาบาทก็ไม่มี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี
จิตใจของเราก็ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย ไม่คิดมากเหมือนแต่ก่อน บางทีก็ไม่คิดเสียเลย นั่งสมาธิสงบไปเลย แล้วก็ไม่มีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย การเจริญภาวนานี่ทำให้มีความสุขใจมาก มีความสบายใจมาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่สามารถเข้าครอบงำจิตใจของเราได้เลย ท่านว่ามันเป็นบุญ เป็นบุญจริงๆ นะนี่
ท่านว่าผู้นั่งสมาธิได้นี่ ผู้เข้าสมาธิได้ในโลกนี้ ท่านว่า ในร่างกายนี้เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ แต่จิตใจเป็นพรหมแล้ว มันเข้าถึงพรหมแล้ว เพราะว่าพระพรหมนั้นไม่มีการเสพกาม ไม่มีการบริโภคกาม ไม่ข้องอยู่ในกาม ไม่ยินดีในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เวลาเราอยู่ในสมาธิ จิตใจมันไม่ข้องอยู่ในกามคุณ มันเป็นสุขจริงๆ
แต่ก่อนนั้น เราหลงชอบคนนั้น หลงชอบคนนี้ จนนอนก็ไม่หลับ นอนหลับไปก็ฝันเห็นหน้า เหมือนว่าเขามานอนอยู่ด้วย เหลียวหน้าแลหลัง มองหาแต่คนที่เรารัก คิดแต่ว่าเขาจะเดินมาหาอยู่เรื่อยๆ นั่งอยู่ก็เหมือนว่าเขาจะมาหาอยู่เรื่อย นอนอยู่ก็เหมือนว่าเขาจะมาหาอยู่เรื่อย เหลียวหน้าแลหลังอยู่ตลอดเวลา มันเป็นทุกข์ขนาดนี้
ถ้าไปรักผู้นั้นไปหลงผู้นี้แล้ว มันก็เหมือนไฟสุมแกลบ มันไม่รู้จักหยุดสักที มันยังไหม้อยู่ มันกรุ่นอยู่ในจิตในใจ โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน ถ้าเคยไปหลงรักผู้ชาย โยมผู้ชายทั้งหลายที่เคยไปรักผู้หญิง ก็คงรู้ว่ามันเป็นทุกข์
ทำไมจึงว่ามันเป็นทุกข์ ก็เพราะหลวงพ่อก็เคยรักเหมือนกัน ตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มน้อย ยังไม่ได้บวช มีดอกปอ ดอกซ่อน ปลูกไว้ที่บ้าน เวลาดอกไม้บาน ตอนเย็นก็ไปเก็บใส่จานไว้แจกสาวๆ ที่มาขอ สาวคนไหนที่ชอบก็ให้เยอะ คนไหนชอบน้อยก็ให้น้อยๆ ให้ไปแล้วก็ยังไม่จบ ก็ยังนึกถึงเขาอยู่นั่นแหละ
ได้ยินเสียงใครเดินผ่านมา ก็นึกแต่ว่าสาวคนนั้นจะมาหา ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้รักเราหรอก มีแต่เรารักเขา นอนหลับไปก็มีแต่ฝันเห็นแต่เขา ยามออกไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เหมือนกับว่าเขาจะมาอยู่เรื่อย นั่งเหลียวหน้าแลหลังคิดว่าเขาจะมาอยู่เรื่อย มันเป็นแบบนี้ มันเป็นทุกข์ ถ้าเราไปหลงรักเขา
ทีนี้ถ้าเราอยู่ในสมาธิ ความรัก ความชังก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความคิดมากก็ไม่มี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี เราก็คิดได้ทันทีว่า การอยู่ในสมาธิมันเป็นความสุขดีหนอ มันถึงพรหมจริงๆ หนอ ท่านว่า ตายจากชาตินี้ภพนี้ ไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน
เราก็ต้องมีความคิดดี มีความเห็นดีเห็นชอบอย่างนี้เสียก่อน จึงจะได้เริ่มเจริญภาวนา ดังเช่นญาติโยมทั้งหลายที่พากันมาฝึกสมาธิ ก็เพราะดีอย่างนี้ หลวงพ่อจึงให้ฝึกสมาธิ แต่หมายถึงว่าผู้ได้สมาธิแล้วนะ แต่ถ้าไม่ได้สมาธิ เอาคนดิบๆ มาฝึกแล้ว ตายๆ มีแต่ตาย นั่งชั่วโมงหนึ่งก็คิดว่าขาจะขาด เอวเกือบจะขาด ขืนนั่งต่อไปตายแน่ๆ เตรียมบอกให้พ่อแม่เตรียมโลงศพไว้ให้ก่อน หมายถึงว่า เอาคนดิบๆ มานั่ง เมื่อมันยังไม่เป็นสมาธิ มันก็นั่งไม่ได้
เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ขอเกริ่นไว้สักเรื่องหนึ่งก่อน สำหรับผู้ที่จะฝึกต่อไปก็ฝึกต่อไป สำหรับผู้ที่มาใหม่ สมาธิยังไม่มาก ก็ให้ฝึก ๓๐ นาที ผู้ได้ ๓๐ นาทีแล้วก็นั่ง ๑ ชั่วโมง ผู้ได้ ๑ ชั่วโมงแล้วก็นั่งเป็น ๒ ชั่วโมง ผู้ได้ ๒ ชั่วโมงก็เป็น ๓ ชั่วโมง
ผู้ได้ ๓ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๖ ชั่วโมง ครั้งนี้เราก็กระโดดไกลเลย ผู้ได้ ๖ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๑๒ ชั่วโมง ผู้ได้ ๑๒ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๒๔ ชั่วโมง
แต่อย่าลืมว่า การที่เราฝึกสมาธินี้ สมมติว่าเราเคยนั่ง ๓๐ นาทีแล้ว เมื่อเรามานั่ง ๑ ชั่วโมง แต่พอไปถึง ๓๐ นาที ใจของเราหรือจิตของเรามันออกจากสมาธิก่อน เวลามันจะออกจากสมาธิ ก็ทุรนทุรายเหมือนดังจะขี้จะอ้วก ร้อนใจจนใจจะขาด ถ้ามันทนไม่ได้ก็จะออกอย่างเดียว ถ้าอดได้ก็ให้กำหนดต่อ กำหนดต่อไปๆ ภาวนาต่อไปๆ มันก็เข้าสมาธิจิตต่อไปอีก มันก็ได้เต็มอีก ๓๐ นาทีๆ หลังมันก็เลยเต็ม
ทีนี้ ถ้าว่าเรานั่งชุดที่ ๒ หากว่าเรานั่ง ๑ ชั่วโมงได้แล้ว เราผ่านพ้นอุปสรรคได้แล้ว เราสามารถนั่ง ๑ ชั่วโมงได้ ทีนี้ชุดที่ ๒ เราก็นั่ง ๑ ชั่วโมงก็สบาย สงบเงียบไปทั้ง ๑ ชั่วโมงเลย ถ้าผู้ที่เคยฝึก ๑ ชั่วโมงแล้วก็มาฝึก ๒ ชั่วโมง ทีนี้พอถึง ๑ ชั่วโมง จิตใจของเราก็จะออกจากสมาธิเสียก่อน จะทุรนทุรายเหมือนใจจะขาด แต่เราข่มใจกำหนดต่อไปอีกๆ มันก็เข้าสมาธิไปอีกในชั่วโมงหลัง
ในชั่วโมงหลังนี้มันจะเข้าๆ ออกๆ เดี๋ยวเข้าไปเดี๋ยวออกมา แต่ครั้งหน้านี้เรามานั่งอีก ๒ ชั่วโมงเรียบไปเลย ถ้าสมมติเราไปฝึก ๖ ชั่วโมงนี่ ครั้งแรกเรานั่งได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว เมื่อนั่งไปถึง ๓ ชั่วโมงแล้ว จิตใจของเราจะออกจากสมาธิเสียก่อน เมื่อจะออกจากสมาธิแล้ว เราก็ต้องอดต้องทน กำหนดไปๆ เดี๋ยวก็เข้าสมาธิไปอีก มันก็ครบ ๖ ชั่วโมง
ถ้าเราไปฝึก ๑๒ ชั่วโมง เวลาไปถึง ๖ ชั่วโมงที่เราเคยนั่ง มันก็ออกเสียก่อน จิตใจออกมาเสียก่อน พอออกจากสมาธิแล้วมันทุรนทุรายมาก เพราะมันใช้เวลานาน ใจทุรนทุรายเหมือนใจจะขาด เหมือนจะขี้จะเยี่ยวเลย แต่ถ้าเราทนนั่งไปอีก กำหนดไปอีก มันก็เข้าไปอีกแล้วก็สบาย ถึงเวลาก็จะออกมา
การฝึก ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง ก็ทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้น เรากำหนดมันทันใจ เวลามันออกจากสมาธิ อุปมาเหมือนกับว่าเราไปเขมราฐ สมมุติว่าเราเดินไปเขมราฐ พอไปถึงบ้านดอนเย็น เราก็พักให้หายเมื่อยเสียก่อน กินข้าวกินน้ำแล้วจึงไป ไปครั้งหน้าพอไปถึงบ้านดอนเย็นก็อยากพักอีก มันเป็นทำนองนี้
เหมือนเราขี่เกวียนไปถึงกลางทาง เราหยุด ชุดหน้าพอไปถึงกลางทาง เราก็หยุด ชุดต่อไปมีธุระรีบร้อน เรากะว่าจะไม่หยุด เราจะไปเลย วัวมันก็หยุดเอง ถ้าเราพัดมันออกมันก็สลัดออกจากเกวียนเรา ไม่ยอมเทียมเกวียนต่อไป ข้อนี้ฉันใด
ใจของเรานี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับวัวดื้อวัวด้าน ไปถึงที่มันเคยออก เคยเข้าสมาธิ ๑ ชั่วโมง พอถึง ๑ ชั่วโมงมันก็ออกเสียก่อน เราคุมไว้ๆ มันก็จะเข้าไปอีก เราเคยฝึก ๖ ชั่วโมง พอถึง ๖ ชั่วโมงมันก็ออก เราเคยฝึก ๑๒ ชั่วโมง พอถึง ๑๒ ชั่วโมงมันก็ออก เรากำหนดต่อไป มันก็จะเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ก็ขอให้จำไว้ ก็ขอให้พากันฝึกต่อๆ ไป มันก็จะไปถึงจุดหมายปลายทาง
ทีนี้ ในเมื่อเรามีความเห็นดีเห็นชอบว่า การทำสมาธิ การฝึกสมาธินี้ เป็นบุญเป็นอานิสงส์ อยู่ในโลกนี้ก็ทำให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ถึงมันไม่ดับก็ตาม กิเลส มันก็ครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ เมื่อจุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก เราจึงจะได้เจริญสมถภาวนา จึงจะได้เจริญสมาธิต่อไป
วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ให้ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เราก็ต้องมีความเห็นถูกเห็นชอบอย่างนี้เสียก่อน จึงจะได้เจริญวิปัสสนาภาวนาได้ ถ้าเราไม่มีความเห็นถูกเห็นชอบอย่างนี้ เราก็เจริญวิปัสสนาไม่ได้
ตลอดถึงการทำมาค้าขายเหมือนกัน การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร การทำไร่ทำนา ทำสวนครัว ปลูกหมากอึ (ฟักทอง) หมากแตง(แตงกวา) บักหุ่ง (มะละกอ) ตะไคร้ แมงลัก หัวข่า หัวขิง อะไรก็ตาม เราก็ต้องมีความเห็นดีเห็นชอบเสียก่อน เราจึงจะปลูกหรือทำสวนเราได้ ตลอดถึงเราจะกินว่านกินยา เราก็ต้องรู้ว่ายาที่กินแล้วนี่จะถูกโรคถูกพยาธิ เราจึงจะกินว่านกินยา ถ้าเราคิดว่ามันไม่ถูกโรคถูกพยาธิ เราก็ไม่ยอมกิน
สรุปสั้นๆ ว่า ญาติโยมทั้งหลาย คนเราจะพ้นจากความทุกข์ทั้งทางโลกก็ดี ทั้งทางธรรมก็ดี หรือว่าจะพ้นจากทุกข์ทั้งทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ก็ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูก เห็นดี เห็นชอบเสียก่อนแล้ว เราจึงจะได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐินี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งที่พาให้พ้นทุกข์ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสว่า สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา การสมาทานสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็ขอให้ญาติโยมพยายามปรับใจให้ดี พยายามให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่ตลอดเวลา
เอาล่ะ เท่าที่หลวงพ่อได้นำเรื่อง สัมมาทิฏฐิ มาบรรยายให้ฟังเพื่อเป็นแนวการประพฤติปฏิบัติ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.