การทำทรัพย์ให้มีแก่นสาร

การทำทรัพย์ให้มีแก่นสาร

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

           โภโค ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ

         กาโย ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ

         ชีวิตํ ภิกฺขเว อสารํ สารํว กาตพฺพนฺติ ฯ

          ณ บัดนี้ อาตมภาพจะรับประทานวิสัชนาในอสารกสูตร เพิ่มเติมเฉลิมศรัทธาของท่านทานาธิบดี และพุทธศาสนิกเมธีทั้งหลาย แต่บรรดามาสู่สถานที่นี้ วิถีจิตคิดจะทำประโยชน์แก่ตนขวนขวายซึ่งกองการกุศล เป็นต้นว่าได้สร้าง…… และได้ฟังพระสัทธรรมเทศนา ถวายอาหารบิณฑบาตจัดเป็นกุศลอย่างอุกฤษฏ์ แต่ไม่เต็มศรัทธา แล้วยังคิดกระทำมหกรรมการฉลองอีกด้วย อานิสงส์สร้างและฉลองทั้งสองนี้ ย่อมมีผลอันมาก อาจอำนวยวิบากผลให้แก่สาธุชนผู้ทำเช่นนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสประทานไว้ว่า บุคคลผู้ทำเช่นนี้ ชื่อว่าทำของโลกีย์ให้เป็นโลกุตตระ ไม่วิบัติอันตรธาน เป็นแก่นสารสาระประโยชน์สำหรับตัว ทำของชั่วให้เป็นของดี

          ข้อนี้ ย่อมถูกต้องตามอนุสาสนี อันมีมาในอสารกสูตรว่า

                              โภโค ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ

                              กาโย ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ

                              ชีวิตํ ภิกฺขเว อสารํ สารํว กาตพฺพนฺติ ฯ

          แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์สมบัติไม่เป็นแก่นสาร ท่านทั้งหลายพึงทำให้เป็นแก่นสาร

          อธิบายตามพุทธสุภาษิตว่า ทรัพย์ ได้แก่ วัตถุเครื่องปลื้มใจ สมบัติ ได้แก่ วัตถุอันถึงพร้อม ทั้งสองนัยนี้เมื่อเกิดมีแก่ผู้ใด ย่อมยังใจผู้นั้นให้ปลื้มและเอิบอิ่ม จึงเรียกว่า ทรัพย์สมบัติ จัดโดยประเภทมี ๒ อย่างคือ ทรัพย์มีวิญญาณครอง ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ สามี ภรรยา ปศุสัตว์มีเป็ดไก่เป็นต้น เรียกตามบาลีว่า สวิญญาณกทรัพย์อย่างหนึ่ง อวิญญาณกทรัพย์อย่างหนึ่ง ได้แก่ แก้วแหวน เงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ แยกประเภทออกไป คือ สังหาริมทรัพย์ เคลื่อนที่ได้หนึ่ง อสังหาริมทรัพย์ เคลื่อนที่ไม่ได้หนึ่ง รวมสองอย่างนี้เรียกตามบาลีว่า อวิญญาณกทรัพย์

          ทรัพย์สองประเภทที่ได้แสดงมานี้ พระชินสีห์ตรัสว่า ไม่เป็นแก่นสาร เพราะตกอยู่ในอำนาจของภัยทั้ง ๔ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย มาย่ำยีทรัพย์เหล่านี้ให้อันตรธานวิบัติไป เช่น ถูกราชการยึดทรัพย์ ถูกโจรฉกชิงวิ่งราว ฉ้อโกง เกิดไฟไหม้ให้ย่อยยับไป อุทกภัย น้ำท่วมให้ฉิบหาย หากจะคิดหาอุบายเอาทรัพย์เหล่านี้ไปฝังไว้ในดิน จมไว้ในน้ำ ถ้าฝังตื้นพวกโจรมาลักเอาไปเสีย ถ้าฝังลึกนักภูตผีปีศาจอาจทำให้เคลื่อนที่ได้

          หากจมไว้ในอุทกวารี ย่อมมีนายพรานแหเอาไปกินเสีย ถึงแม้จะเก็บหอมรอมริบใส่กำปั่นลั่นกุญแจ หรือฝากไว้ในคลังและธนาคาร ปรารถนาจะไม่ให้อันตรธาน ก็เป็นอันไม่พ้นย่อมผุพังไปเป็นธรรมดา ท่านกล่าวว่า เป็นสาธารณะทั่วไปแก่บุคคลทุกจำพวก มิได้เฉพาะบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ทั้งชีวิตก็จะดับไป ทรัพย์แม้นิดหนึ่งย่อมติดตามไปไม่ได้ สมตามเทศนัยอันมีมาในมัชฌิมปัณณาสก์ มัชฌิมนิกายนั้นว่า

          น นิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ ทรัพย์นิดหนึ่งย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ เมื่อดับชีวิตินทรีย์แล้ว มิได้หอบหิ้วหาบหามทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดไป อย่าว่าแต่ทรัพย์ภายนอกเลย ถึงทรัพย์ภายในคือสรีระร่างกาย เมื่อสิ้นลมอัสสาสะปัสสาสะแล้ว ย่อมเป็นเฉทกกรรม
ขาดกระเด็นเด็ดออกจากกัน ทรัพย์ฟาดฟันบั่นรอนผู้หาปัญญามิได้ สมตามเทศนานัยอันมีมาในธรรมบทรับสมอ้างว่า

          โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเญว อตฺตานํ คนมีปัญญาทรามย่อมฆ่าตนเสีย เหมือนฆ่าผู้อื่นเพราะความอยากได้โภคทรัพย์ นับว่าเป็นเหตุให้ถึงความเศร้าโศกโศกา ดังอนุสาสนีอันมีมาในธรรมบทเป็นพยานว่า

          กามโต ชายเต โสโก กามโต ชายเต ภยํ ความโศกก็ดี ภัยก็ดี เกิดจากของที่รัก เนื่องด้วยทรัพย์สมบัติเป็นของที่รัก ซึ่งเป็นของมนุษย์ก็ดี ของทิพย์ก็ดี อันเที่ยงยั่งยืนไม่มี

          พระชินสีห์ทราบดังนี้จึงตรัสว่า ทรัพย์ไม่เป็นแก่นสาร ทรงตักเตือนเหล่าพุทธศาสนิกชนว่า ให้ทำทรัพย์อันไม่เป็นแก่นสารให้เป็นแก่นสารโดยบริหารแสดงว่า ให้บริจาคทรัพย์ออกไปเป็นทานแก่ยาจก วณิพก คนกำพร้า อนาถา สละออกซึ่งจตุปัจจัยทั้ง ๔ มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ทำให้เป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา สังฆบูชา ฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมือนปัจจัยท่านทานาธิบดีสละทรัพย์ออกสร้างบูชาพุทธฎีกา เช่นนี้ชื่อว่าทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสารไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น เป็นอสาธารณมัญเญสังฝังไว้ในใจไม่บรรลัยด้วยน้ำประลัยกัลป์ ซึ่งจะมาทำให้หวั่นไหวไปด้วยภัยทั้ง ๔ มีโจรภัยเป็นต้น ตามนิพนธ์ภาษิตรับสมอ้างว่า

          ปุญฺญญํ โจเรหิ ทูหรํ บุญอันโจรนำไปด้วยยาก มีแต่จะแต่งวิบากสมบัติให้แก่ผู้สละทรัพย์ ย่อมได้สุขอันไพศาล ดังบริหารภาษิตเตือนใจว่า

          โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ผู้เพ่งความสงบ พึงละโลกามิสในโลกเสีย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสาร เป็นข้อที่ ๑

          คำว่าร่างกายนั้น หมายเอาประชุมธาตุ ๔ อาการ ๓๒ อายตนะภายใน ๖ นี้กล่าวโดยสุตตันตนัย ถ้ากล่าวโดยปรมัตถนัยนั้น จิตเจตสิกธรรม รวมเข้าเป็นกาย เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม

          สภาพทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง เพราะตกอยู่ในสามัญลักษณ์ทั้ง ๓ คือ ทุกขัง ความเป็นทุกข์ คือความไม่สบายใจสบายกาย ทุรนทุรายด้วยร้อนและเย็น ซึ่งเป็นมาแต่ชาติกำเนิด อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง คือ เกิดแล้วไม่เที่ยงถาวร เป็นเด็กแล้วเป็นหนุ่มเป็นสาวปานกลางคน แล้วแก่ชรา หูตามืดหนวก เนื้อหนังเหี่ยวแห้งทรุดโทรม ผมหงอก แก้มตอบ ฟันหัก เนื้อหนังสะพรั่งพร้อมไปด้วยเส้นเอ็น เป็นที่สังเวชทั้งตนและคนอื่น ย่อมเป็นไปตามปัจจัย ดังเทศนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

          ยถา ปจฺจยํ ปวตฺตนฺติ สิ่งที่ปัจจัยปรุงขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปตามปัจจัย หาสังขารอันเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่มี ดังวาระพระบาลีสมอ้างไว้ว่า

          สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายอันเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้มีเกิดในเบื้องต้น มีความแปรในท่ามกลาง มีความดับในที่สุด ดุจอนุสาสนีซึ่งมีในมหาวรรค สังยุตตนิกายรับสมอ้างว่า

          ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีอันดับไปเป็นธรรมดา นี้เป็นเครื่องหมายของอนิจจัง การบังคับไม่ได้ว่า ผมอย่าหงอก แก้มอย่าตอบ ฟันอย่าหัก ห้ามไม่ได้ ว่าไม่ฟัง ย่อมเฒ่าแก่ไปตามลักษณะของอนัตตา ถ้าเป็นของเราคงสั่งสอนได้ไม่ฝ่าฝืนโอวาท แต่นี่ไม่ใช่ตัวของเรา เป็นของว่างหาเจ้าของไม่ได้ ขัดต่ออัตตา เป็นแต่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ประชุมกันเข้าแล้วก็สมมติกันว่าเป็นตัวเป็นตน แต่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นสมมติบัญญัติ

          ข้อความที่กล่าวนี้ เป็นเครื่องหมายของร่างกายไม่เป็นแก่นสาร พระอนาวรญาณทรงประทานแก่พวกเราว่า ให้ทำร่างกายที่ไม่เป็นแก่นสารให้เป็นแก่นสาร ทรงประทานภาษิตไว้ดังนี้ คือ ให้ตั้งอยู่ในอปจายนมัย เคารพนบน้อมต่อวุฒิบุคคลสามจำพวก คือ วยวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยวัย คุณวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยคุณ คือ ศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ ปุญฺญาวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยบุญ เช่นเจ้านายเป็นต้น ตั้งตนอยู่ในเวยยาวัจจมัย ช่วยขวนขวายการกุศลของผู้อื่น มีตักน้ำ หักฟืน เป็นต้น

          น้อมตนเคารพต่อพระรัตนตรัย ได้ในบาลีว่า พุทฺธคารวตา ธมฺมคารวตา สงฺฆคารวตา เคารพนบน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ชื่อว่า ทำร่างกายให้เป็นแก่นสาร ถ้ากล่าวโดยธรรม คือ ตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ กรรมบถ ๑๐ ศีล ๒๒๗ เหมือนสาธุชนทำอยู่เดี๋ยวนี้จัดเข้าในบาลีว่า ทำร่างกายให้เป็นแก่นสาร ไม่เป็นคนรกโลก

          อีกประการหนึ่งพิจารณาร่างกายให้เห็นว่า เป็นสวากขาตธรรม คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ย่อมรวมอยู่ในที่ตัวตนสกนธ์ร่างกายอันนี้เป็นก้อนธรรม คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้งที่เป็นโลกีย์และโลกุตตระ ไม่ใช่อื่นไกล คือตัวตนนี่เองเป็นก้อนอริยสัจ ๔ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็น ทุกขสัจ ตนเป็นผู้เกิด ผู้แก่ ผู้เจ็บ ผู้ตาย

          ความอยากในวัตถุกาม รูป เสียง กลิ่น รส อยากเป็น อยากมี ก็ตัวเป็นผู้อยาก ชื่อว่าตัวเป็นสมุทัยสัจ กิริยาที่ดับทุกข์ดับตัณหาซึ่งเรียกว่าพระนิพพาน ก็ตัวตนนี้เองเป็นผู้ดับ จึงเรียกว่า นิโรธสัจ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตัวเป็นผู้ปฏิบัติ จึงเรียกว่าเป็นมรรคสัจ เมื่อมาเห็นสกนธ์ร่างกายเป็นทัสสนานุตตริยะอย่างนี้ ชื่อว่าทำร่างกายให้เป็นแก่นสารเป็นข้อที่ ๒

          ข้อที่ ๓ ต่อไป คำว่า ชีวิตไม่เป็นแก่นสาร คำว่า ชีวิต ได้แก่ ความเป็นอยู่ คือ สันตติ การสืบต่อระบบหายใจเข้าออก ชื่อว่า ชีวิต ชีวิตเช่นนี้ไม่เป็นแก่นสาร โดยอธิบายว่า ความไม่มีกำหนดปริมาณ กำหนดไม่ได้ จะรู้ได้ก็แต่วันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด เท่านั้น ส่วนวันตายกำหนดไม่ได้ แม้จะอยู่ในวัยใดก็ตาม ดังบรรยายภาษิตซึ่งมีมาในมหาวรรค ทีฆนิกาย นั้นว่า

          อฑฺฒา เจว ทลิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายนา ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า

          สพฺพํ เภทปริยนฺตํ เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ ภาชนะดินทั้งปวงมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์เป็นของน้อย ท่านเปรียบไว้ดุจหนึ่งว่าน้ำค้างติดปลายหญ้า เมื่อต้องแสงอาทิตย์เข้าแล้วพลันที่จะแห้งไปฉันใด ชีวิตของสัตว์ก็ดุจเดียวกันฉันนั้น วันคืนล่วงไป  ชีวิตของสัตว์ก็ล่วงไปใกล้ต่อความตายเข้าทุกที ๆ

          ถ้าจะเป็นประมาณอายุของสัตว์ เพียงร้อยปีเป็นประมาณ ถ้าล่วงไปวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ก็ขาดร้อยปีไปวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ถ้าเปรียบให้เห็นแจ้งในข้อนี้ เหมือนหนึ่งว่าสตรีทอหูก ข้างหน้าน้อยเข้าไปฉันใด ชีวิตของสัตว์ก็น้อยไปทุกวัน ไม่ว่างเว้นบุคคลว่า คนจน คนมี เศรษฐี กฎุมภี ไพร่ฟ้า พระมหากษัตริย์ สมณะชีพราหมณ์ ย่อมตายทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกลี้หนีความตายไปได้ ถึงจะทำยุทธ์ชิงชัยต่อสู้กับมฤตยูผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมปราชัยพ่ายแพ้ แม้จะมีคาถาเวทมนตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันความตายนั้น ไม่มีเลยเป็นอันขาด เมื่อมีชาติเกิดมาแล้ว ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีเป็นธรรมดา หาอุบายหลบหลีกมิได้ นี้เป็นเครื่องหมายของชีวิตไม่เป็นแก่นสาร

          องค์สมเด็จพระอนาวรญาณทรงประทานให้เราทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร วิธีทำอย่างนี้คือ ให้มีความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ในสันดานของบุคคลใด ชื่อว่า ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร มีชีวิตอยู่วันเดียวดีกว่าผู้เกียจคร้านมีชีวิตอยู่ร้อยปี สมด้วยวาระพระบาลีว่า

                           โย จ วสฺสสตํ ชีเว               กุสีโต หีนวีริโย

                           เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย             วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ

          แปลความว่า ผู้มีความเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนมีชีวิตอยู่ร้อยปี สู้ผู้มีความเพียรหมั่นเป็นอยู่วันเดียวไม่ได้

          พระจอมไตรตรัสว่า ผู้มีความเพียรทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร สมาทานอยู่ในอัปปมาทธรรม ความไม่ประมาท ไม่ปราศจากสติระลึกได้อยู่ว่า เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา มีกรรมเป็นของของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่มัวเมาอยู่ในวัยทั้ง ๓ คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย ไม่ไว้ใจต่อชีวิต คิดบำเพ็ญกุศลอยู่เสมอ เหมือนอย่างท่านทานาธิบดีทั้งหลายทำอยู่เดี๋ยวนี้ ชื่อว่าทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร ปัจจัยท่านทานาธิบดีได้บำเพ็ญกองการกุศล
          ณ เพลาวันนี้ ชื่อว่า ทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสาร ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร ย่อมประกอบไปด้วยอานิสังสผล ทำให้ตนพ้นจากมารและบ่วงของมาร เป็นสะพานไต่เต้าเข้าสู่มรรคผลนฤพาน ดังรับประทานแสดงมา ก็สมควรด้วยเวลาเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.