วัดพิชโสภาราม

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีเนื่องในวันชาตกาลครบ ๘๐ ปี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ)

อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ)

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

       วันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร และลูกชีทั้งหลายสืบไปจนกว่าจะสมควรแก่เวลา

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเราทั้งหลายได้ลงมือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนมีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นับตั้งแต่ญาณที่ ๓ ขึ้นมาตามลำดับๆ ถึงญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ ญาณที่ ๕ ภังคญาณ ญาณที่ ๖ ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณที่ ๗ อาทีนวญาณ ญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณ ญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณที่ ๑๐ ปฏิสังขาญาณ ญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ

       เมื่อสังขารุเปกขาญาณถึงวิถีสมบูรณ์แล้ว ก็จะส่งต่อเข้าอนุโลมญาณ หรือว่าเมื่อสังขารุเปกขาญาณสมบูรณ์แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถี ดำเนินไปสู่การดับกิเลสและกองทุกข์ให้หมดไปจากขันธสันดาน อนุโลมญาณนั้นท่านแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

       ๑. อนุโลมญาณต่ำ คือ จะย้อนไปเอาญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อกำลังพอแล้วก็จะเข้าสู่อนุโลมญาณทันที เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานทันที

       ๒. อนุโลมญาณสูง คือ อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ต่างก็จะมารวมกันตรงญาณนี้ ญาณอื่นไม่รวม

       อนุโลมญาณนั้นผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้คือ                            

       ๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว หรือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้นได้เคยให้ทานรักษาศีลมาโดยสมบูรณ์แล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ชัดเจนด้วยปัญญา คือหมายความว่า ถ้าเราทำบุญทำทานมาด้วยการให้ทานรักษาศีล เวลามาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อนิจจังก็จะปรากฏชัด

       อนิจจังนั้นมีลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป คือ รูปนามขันธ์ ๕ มันดับลงไปในขณะนั้น เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของอนิจจัง

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายชาติหลายภพ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานตามกำลังของมรรค อันนี้เรียกว่า อนิจจัง

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยที่หาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ หาอะไรเป็นเครื่องหมายไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องหมายไม่ได้

       ๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดได้เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางทุกขัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้

       ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ”   “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางท่านก็แน่นมากจริงๆ จนถึงกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆๆ” แน่นขึ้นๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป หรือสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

       พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ !  เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันหลับไปเมื่อตะกี้ หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดศีรษะ บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยที่หาอะไรเป็นที่ตั้งไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งไม่ได้

       ๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว หรือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาแล้วจะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้

       ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป คือขาดความรู้สึกลงไป หรือรูปนามมันดับลงไป เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

       พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี๊นี้ บางท่านก็ปวดหัว บางท่านก็งง ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีเท่านี้นะท่านทั้งหลาย ปฏิบัติรู้เท่านี้ แต่ถ้าเอาปริยัตินั้นไม่รู้อย่างนี้

       สมมุติว่าเอาปริยัติมาจับวิถีจิตของมัณทบุคคล ชวนจิตดวงที่ ๑ จะมีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๒ ขณะ เวลาจะเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน วิถีจิต อตีตังภวังค์ ภวังค์ของอดีต ภวังค์สะเทือน ภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร คือลงทางหัวใจ เมื่อขึ้นจากมโนทวารแล้ว จึงจะได้บริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” ชวนจิตดวงที่ ๑ บริกรรม ชวนจิตดวงที่ ๒ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๓ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๔ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๕ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ เมื่อขึ้นจากภวังค์มาแล้วจึงจะได้พิจารณา จึงจะเป็นญาณที่ ๑๖

       แต่ถ้าเป็นวิถีจิตของติกขบุคคล คือคนที่มีปัญญามาก มีบุญมาก ชวนจิตดวงที่ ๑ จะไม่มีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๓ ขณะ ในขณะที่เราจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น วิถีจิตอตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังค์สะเทือน ภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร พอดีขึ้นจากมโนทวารมา กำลังจะบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไม่ได้ว่า มันไปก่อนแล้ว คือมันเฉียดมรรคเข้าไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๑ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๒ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๓ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๔ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ สามขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาจึงจะได้พิจารณา จึงจะเป็นญาณที่ ๑๖

       ติกขบุคคลนี้หายากท่านทั้งหลาย ๑๐๐ คนจึงจะมีสักคนหนึ่ง ติกขบุคคลนี้เวลามาประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัตินั้นจะดำเนินไปได้ง่ายๆ บางทีเราปฏิบัติชั่วโมงนั้นก็ผ่านไปชั่วโมงนั้น บางทีปฏิบัติอยู่ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ก็สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติไปได้

       ติกขบุคคลนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติผ่านการปฏิบัติไปแล้ว บางคนก็สามารถเข้าผลสมาบัติอยู่ได้ ๓ ชั่วโมงบ้าง ๖ ชั่วโมงบ้าง ๘ ชั่วโมงบ้าง ๑๒ ชั่วโมงบ้าง ๒๔ ชั่วโมงบ้าง หรือ ๗ วัน ๗ คืนบ้าง อันนี้เป็นลักษณะของการบรรลุมรรคผลพระนิพพาน

       ต่อไป เมื่อกล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เอ๊ะ! หลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่าผมหรือฉันได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วละซิ อาจจะคิดอย่างนี้ก็ได้ ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งคิดเช่นนั้น อย่าเพิ่งพยากรณ์เช่นนั้น เพราะว่าการดับเหมือนมรรคผลพระนิพพานนั้นมีมาก เช่น

       ๑. ปีติ ในญาณ ๓ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปๆ เกิดปีติขึ้นมาสัปหงกวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของปีติ

       ๒. ปัสสัทธิ จิตและเจตสิกสงบมาก เรากำหนดไปๆๆ ปัสสัทธิเกิดขึ้นมาดับวูบลงไป คือมันสัปหงกวูบลงไป เหมือนกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ อันนี้เป็นการดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ

       ๓. สมาธิ เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานเรากำหนดได้สบายๆ จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่เผลอเลย พองหนอยุบหนอ พองหนอยุบหนอ ไม่เผลอเลย กำหนดได้สบายๆ ในขณะที่เรากำหนดได้สบายๆ แล้วจิตใจของเราดิ่งลงในสมาธิ ตั้งอยู่ในสมาธิอยู่นั้นแหละ สัปหงกวูบลงไปโดยไม่รู้สึกตัว อันนี้เรียกว่ามันดับด้วยอำนาจของสมาธิในญาณ ๓

       ๔. อุเบกขา ในญาณ ๓ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน พองหนอยุบหนอไป จิตใจของเราลอยๆ เลือนๆ ไปตามอารมณ์ กำหนดไปเพลินไปๆๆ ในขณะที่เรากำหนดเพลินๆ อยู่นั้นแหละ สัปหงกวูบลงไป คือ มันดับลงไป อันนี้เรียกว่าดับด้วยอำนาจของอุเบกขาในญาณ ๓

       ๕. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชอบจะเป็นตอนดึกๆ หรือตอนรับประทานอาหารฉันภัตตาหารแล้วใหม่ๆ เวลาไปเจริญพระกัมมัฏฐาน กำหนดไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ตาซึมๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไปตาใสขึ้นมาแล้ว กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไปตาใสขึ้นมาแล้ว เพราะเวลามันสัปหงกวูบลงไปนั้น จิตของเราก็ลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ก็หายง่วง ท่านทั้งหลายจะเอาอาการดับเพียงแค่นี้มาตัดสินว่าเราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วนั้นไม่ได้นะ คือการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริงๆ แล้วก็ต้องจำได้จริงๆ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ ต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา จึงจะใช้ได้

       คือพระไตรลักษณ์นี้จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ๓ ครั้ง

       ครั้งที่ ๑ ปรากฏในญาณที่ ๓ ถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง โดยมากคิดเอาเอง

       ครั้งที่ ๒ ปรากฏในญาณที่ ๔ ถูก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่จำไม่ได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก ก็ยังจำไม่ได้ คือจำไม่ได้ว่ามันดับลงไปเวลาไหนอย่างไร จำไม่ได้

       ครั้งที่ ๓ ปรากฏในญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สามารถจำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองก็รู้ ดับลงไปตอนยุบก็รู้ รู้จริงๆ ไม่ใช่คาดคะเนเอา ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา อย่างนี้จึงจะใช้ได้

       สรุปอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน จะมีลักษณะ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อาการท้องพองท้องยุบของเรา เร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง พองยุบฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เป็นลักษณะของทุกขัง พองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ นี้ลักษณะของอนัตตา เสร็จแล้วก็จะดับวูบลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้เฉพาะญาณที่ ๑๒ กับญาณที่ ๑๖ เท่านั้น ส่วนญาณที่ ๑๔, ๑๕ นั้นไม่รู้

       บางคนเคยถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ เวลาอยู่ในญาณที่ ๑๔, ๑๕ รู้ไหม” ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ ที่ตอบว่ารู้ คือ มันรู้เหนือโลก แต่คนทั้งหลายเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขาก็บอกว่ารู้ ที่ตอบว่าไม่รู้คือไม่รู้โลกีย์ ไม่รู้อย่างคนธรรมดา ถ้ารู้อย่างคนธรรมดาก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นขันธวิมุติ พ้นจากขันธ์ ๕ ถ้ามีขันธ์ ๕ อยู่เพียงขันธ์เดียวก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ มีพระบาลีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ฉนฺทชาโต อนกฺขาเต มนสา จ ผุโฐ สิยา ผู้มีฉันทะถึงพระนิพพานซึ่งใครๆบอกไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าพระนิพพานเหมือนรถ เหมือนเรือ เหมือนแม่น้ำ ทะเลหลวงชลาลัย เหมือนดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ไหม บอกไม่ได้ทั้งนั้น บอกได้แต่ว่ามันดับ คือ ขณะนั้นรูปนาม ขันธ์ ๕ มันดับไป

       ต่อไปเมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย อาจารย์ก็จะให้อธิษฐานว่าธรรมวิเศษที่เกิดแล้วขออย่าได้เกิดอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิดขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้เถิด เดินจงกรมไป นั่งไป ปฏิบัติไป ถ้ามีแล้วก็จะไม่เกิด แต่ถ้าไม่มีก็จะเกิด คือ หมายความว่าถ้ายังไม่ได้บรรลุก็จะได้บรรลุ แต่ถ้าบรรลุแล้วก็ไม่ได้บรรลุอีก เว้นไว้แต่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณรอบต่อไป

       เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย ท่านก็จะให้อธิษฐาน “สาธุ ธรรมวิเศษที่เกิดแล้วขออย่าได้เกิดอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิดขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้เถิด นั่งไปๆๆ สัปหงกวูบลงไปเราจำได้ หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ก็จะอธิษฐานว่า “ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ขอให้ความเกิดดับ เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” นี้เราอธิษฐานดูผลสมาบัติว่าเราปฏิบัติมานี้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วหรือยัง เราก็จะดูผลจิต คือ ผลจิตนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่มรรคจิตนั้นจะเกิดเพียงหนเดียว ในชีวิตหนึ่งเกิดขึ้นหนเดียว แต่ผลจิตนี้จะเกิดบ่อยๆ กำหนดครั้งใดเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์มันถูกที่แล้วก็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ

       หลังจากนั้นอธิษฐานสั้นลงไปว่า “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ขอให้ความเกิดดับ เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” ใน ๑ ชั่วโมงนี้ถ้าว่าเกิดขึ้นอย่างน้อย ๕ นาทีถือว่าใช้ได้ คือถ้ามันดับลงไป ๕ นาทีถือว่าใช้ได้ ถือว่ามีสมาธิสูงพอสมควร แต่บางท่าน ๑ ชั่วโมงนี้เกิดขึ้น ๓๐ ครั้งก็มี

       เสร็จแล้ววันหลังท่านก็อธิษฐานต่อไปว่า “ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป” ถ้านั่ง ๑ ชั่วโมงท่านก็อธิษฐาน “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง” เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วก็ย่อลงไป “ภายใน ๓๐ นาทีนี้ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓๐ นาที” อันนี้เรียกว่าดูผลจิต หรือดูผลสมาบัติ ที่พาปฏิบัติมานี้เราปฏิบัติมาถูกหรือไม่ ได้สมาธิได้สมาบัติหรือไม่ คือการอธิษฐานอย่างนี้ อธิษฐานดูผลสมาบัติ สมาบัตินั้นจะมีอยู่ ๓ ประการ คือ

       ๑. ฌานสมาบัติ ปุถุชนทั่วไปที่เจริญสมถะกัมมัฏฐาน ได้ฌานแล้วสามารถที่จะเข้าได้

       ๒. ผลสมาบัติ เข้าได้เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น ปุถุชนทั่วไปเข้าไม่ได้ แต่พระอริยบุคคลที่จะเข้าผลสมาบัตินี้ ต้องเข้าของใครของมัน เข้าผลของกันไม่ได้ สมมุติว่าผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจะมาเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะมาเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะมาเข้าผลสมาบัติของพระโสดาบันก็ไม่ได้ หรือว่าพระโสดาบันจะไปเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอรหันต์ก็ไม่ได้ เพราะผลสมาบัตินี้เป็นผลของใครของมัน เข้าผลของกันไม่ได้ การเข้าผลสมาบัตินี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

       ๓. นิโรธสมาบัติ เข้าได้เฉพาะพระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นจะเข้าไม่ได้ คือหมายความว่า ก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นี้ได้เจริญสมถกัมมัฏฐาน ได้สมาบัติ ๘ มาก่อน เมื่อเราได้สมาบัติ ๘ มาอย่างนี้แล้วเวลาเราบรรลุหรือว่าสำเร็จเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ก็สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ หรืออีกอย่างหนึ่งเมื่อก่อนโน้นไม่เคยได้สมาบัติ ๘ มาก่อนเลย แต่ว่าเป็นประเภทฌานลาภีบุคคล คือฌานเกิดพร้อม เวลาได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้น ฌานเกิดพร้อมเลยเรียกว่าฌานลาภีบุคคล คือบุคคลผู้มีลาภฌานเกิดพร้อม อย่างนี้ก็สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ นิโรธสมาบัตินี้เป็นโลกุตตระมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

       ต่อไปอริยสัจ ๔

       อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณไหน อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณที่ ๑๒ ญาณอื่นไม่เห็น อริยสัจ ๔ เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั้น อาการพองอาการยุบของเราพองขึ้นมาเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน หรือสามเส้นขนนี้เป็นตัวสมุทัยสัจ คือตัวเหตุ เมื่อมีเหตุแล้วก็มีผล คือ อาการพองนั้นจะสูงขึ้นๆๆ จวนๆจะดับ ตอนนี้เป็นตัวทุกขสัจ คือ มันทนอยู่ไม่ได้ อาการพองอาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง จนถึงอาการพองอาการยุบมันดับพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไปเป็นตัวมรรคสัจ นี้อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย ไม่เหมือนกับเราเรียนมาในภาคปริยัติ แต่ว่าอริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันนะจึงจะใช้ได้ ถ้าไม่พร้อมกันใช้ไม่ได้

       อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าปริยัตินั้นไม่รู้ สมมุติว่าเราเอาปริยัติมาจับ อะไรเป็นทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุ แปลว่า ชั่วหยาบ ขะ แปลว่า ทน คือมันทนอยู่ไม่ได้

       อะไรมันทนอยู่ไม่ได้

       รูป ๒๘ เจตสิก ๕๒ โลกิยจิต ๘๑ รวมเป็น ๑๖๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       รูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็นทุกขสัจ

       เจตสิก ๕๒ คือ อัญสมานเจตสิก ๑๒ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       โลกิยจิต ๘๑ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๕ ดวง รูปาวจรจิต ๑๒ ดวง รวม ๘๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       ย่อให้สั้นได้แก่ขันธ์ ๕ คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์

       ย่อให้สั้นได้แก่ รูปกับนาม คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ นามจิตกับนามเจตสิกเป็นนามขันธ์

       กว่าเราทั้งหลายจะเรียนให้รู้ให้เข้าใจทั้งพรรษาก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติแป๊บเดียวเท่านั้นผ่านไปแล้ว แต่อริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันนะจึงจะใช้ได้ อุปมาเหมือนกับว่าเราจุดเทียนไขจะมีลักษณะ ๔ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกันคือ

       ๑. ไส้เทียนไขหมดไป

       ๒. ไขสัตว์หมดไป

       ๓. แสงสว่างโผล่ออกมา

       ๔. ความมืดหายไป

       ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันเหมือนกันฉันนั้นจึงจะใช้ได้ แต่ถ้าอริยสัจทั้ง ๔ นี้ไม่เกิดพร้อมกันก็ใช้ไม่ได้

       ต่อไป วิสุทธิ ๗

       วิสุทธิ ๗ กับวิปัสสนาญาณ ๑๖ เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเทศน์พิสดาร เรียกว่า เทศน์วิปัสสนาญาณ ถ้าเทศน์ย่อ เรียกว่า วิสุทธิ ๗

       วิสุทธิ ๗ นั้นดังนี้ คือ

       ๑. สีลวิสุทธิ มีศีลอันบริสุทธิ์ ในขณะที่เราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่นั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของเราบริสุทธิ์นี้เป็นศีล ศีลนี้เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สีลวิสุทธินี้มีรูปนามเป็นอารมณ์ สีลวิสุทธิ มีศีลอันบริสุทธิ์ คือ หมายความว่าในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งภาวนาอยู่ก็ดี กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของเราบริสุทธิ์ดี นี้เป็นศีล ศีลนี้เรียกว่าเป็นปรมัตถศีล เป็นศีลที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ไม่เหมือนกันกับศีลทั้งหลายที่พวกเราทั้งหลายสมาทานและปฏิบัติมา ศีลนั้นเรียกว่ายังเป็นปกติศีลอยู่ สมมติว่าเราไม่ฆ่าไก่ก็มีไก่เป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าปลาก็มีปลาเป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าเนื้อก็มีเนื้อเป็นอารมณ์

       ๒. จิตตวิสุทธิ มีจิตอันบริสุทธิ์ คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จิตของเราตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ กำหนดได้มาก เผลอน้อย จิตของเราบริสุทธิ์ เป็นจิตตวิสุทธิ มีรูปนามเป็นอารมณ์

       ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือ เห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ได้แก่ญาณที่ ๑

       ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ก็คือเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม ได้แก่ญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ

       ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ได้แก่ญาณที่ ๓ อย่างอ่อน เข้าสู่เขตญาณที่ ๓ อย่างแก่เข้าสู่ญาณที่ ๔ หรือพูดเอาสั้นๆ ว่า ได้แก่ญาณที่ ๓ จนถึงญาณที่ ๔ อ่อนๆ เรียกว่ามีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ว่า ทางนี้ผิด ทางนี้ถูก แล้วละทางผิดยึดทางถูกต่อไป ก็ได้แก่ ญาณที่ ๔  คืออุทยัพพยญาณ

       ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ ความเห็นดำเนินไปตามลำดับ ก็ได้แก่ญาณที่ ๔ อย่างแก่ แล้วก็เข้าสู่ญาณที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๒ เป็นโลกิยะ มีรูปนามเป็นอารมณ์

       ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้อันบริสุทธิ์ ก็ได้แก่ ญาณที่ ๑๔ ญาณที่ ๑๕ คือมรรคญาณ ผลญาณ เป็นโลกุตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ สำหรับญาณที่ ๑๖ เป็นโลกิยะ แต่ใช้จิตมหากุศลพิจารณา ญาณที่ ๑๓ อยู่ระหว่างโลกิยะและโลกุตระต่อกัน วิสุทธิ ๗ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย

       ต่อไปกิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่

       กิเลสถ้าดื้อมีอยู่ ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๑ ถึงนิพพานครั้งที่ ๑ โลภะละได้ ๔ ตัว โทสะละไม่ได้ โมหะละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๒ ถึงนิพพานครั้งที่ ๒ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะละไม่ได้แต่อ่อนกำลังลง โมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือวิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี้แหละท่านทั้งหลาย คนเราจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟอย่างไรก็ตาม เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ความโกรธนั้นจะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือ วิจิกิจฉา

       ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๔ ถึงนิพพานครั้งที่ ๔ โลภะก็จึงจะละได้ครบทั้ง ๘ ตัว โมหะละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี้แลท่านทั้งหลาย ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า เออ ขีณนิรโยมฺหิ เรานี้พ้นแล้วจากนรก ขีณปิตฺติวิสโย เราพ้นแล้วจากกำเนิดเปรต อสุรกาย ขีณติรจฺฉานโยนิ เราพ้นแล้วจากกำเนิดดิรัจฉาน โสตาปนฺโน นาม เราเป็นพระโสดาบัน อกุปฺปธมฺโม เราเป็นผู้มีธรรมที่ไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในวันข้างหน้า สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาถึงนี้ ท่านผู้ใดสามารถจำสภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ถ้าท่านทั้งหลายจำได้ก็ถือว่าท่านทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ท่านได้สั่งสมอบรมมา แต่หากว่าท่านไม่สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ถ้าคิดว่าเราจำไม่ได้ก็คล้ายๆ กับจำได้ แต่ถ้าจะตัดสินว่าจำได้ก็คล้ายๆ จำไม่ได้ คือ มัน ๕๐/๕๐ อยู่ คือไม่กล้าตัดสินใจ ถ้าลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาเรื่องธรรมาทาสะ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตสฺมาติหานนฺท ธมฺมาทาสํ ธมฺมปริยายํ เป็นอาทิ ดูก่อนอานนท์ ผู้ปฏิบัติธรรมใครได้บรรลุหรือไม่ได้บรรลุมีเครื่องตัดสิน นิยมเรียกว่า ธรรมาทาสะ กระจกคือพระธรรมมีอยู่ ๔ ประการ คือ

       ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ

       ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ถ้าผู้ใดประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๒ ประการ คือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยของเราเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ แต่ถ้าว่ามีคนเขามาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ว่า เออ ศาสนานั้นเขาดีอย่างนั้นนะ ศาสนานี้เขาดีอย่างนี้นะ หรือว่าลัทธินั้นเขาดีอย่างนั้นนะ เราอาจจะผละจากศาสนาพุทธของเราไปนับถือศาสนาอื่นก็ได้ เพราะว่ายังเป็นปกติศรัทธาอยู่

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว เราปฏิบัติไปๆ สัปหงกวูบลงไป แล้วก็อุทานว่า เออ เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ชีวิตของเราถือว่าประเสริฐแล้ว

       ตัวอย่างสุปปพุทธกุฏฐิ บุรุษโรคเรื้อน คือทั้งจนด้วย ทั้งเป็นโรคเรื้อนด้วย วันหนึ่งไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับด้วยเหล่าประชาชนทั้งหลาย นั่งอยู่ไกลๆ โน้นไม่กล้าเข้ามาใกล้ เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ ฟังธรรมไปๆ ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ตนได้ในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าเข้าไปเกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ

       ในขณะนั้นพระอินทร์ทราบก่อนแล้วแปลงร่างเป็นคนแก่ๆ มาทดลองว่า ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆอย่างเธอนี้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา ว่าซิ จนๆ อย่างเธอนี้ ถ้าว่าได้ฉันจะให้เงินให้ทอง เธอจะเอาเท่าไรฉันจะหาให้ สุปปพุทธกุฏฐิก็กล่าวขึ้นว่า “เอ๊ะ ! นี่ท่าน ท่านเป็นใครมาจากไหน” “ฉันเป็นพระอินทร์ ฉันมาจากเทวโลก”  “ไปๆ เทวดาอันธพาลอย่ามาพูดกับข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านซิเป็นคนจน” พระอินทร์หายวับเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรม ถึงจะจนแสนจนสักเท่าไรก็ตาม เพียงแต่ให้พูดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้พูดเท่านี้ก็ไม่เอา แม้ว่าเราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอาพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน เสร็จแล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการมาตรัสเทศนาว่า

       สทฺธาธนํ สีลธนํ          หิริโอตฺตปฺปิยํ ธนํ

       สุตธนญฺจ จาโค จ      ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ

       อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา

       ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ   อิตฺถิยา วา ปุริสสฺส วา

       ผู้ใดมีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จะเป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตาม

       อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ      อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ

       ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน คืออริยทรัพย์ ๗ ประการ

       นี่แหละท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า ร่ำรวยนะ ถ้าผู้ใดสมบูรณ์ด้วยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ถือว่าเป็นผู้ร่ำรวย เพราะฉะนั้น อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ จึงถือ เป็นข้อปฏิบัติมาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว ความเลื่อมใสในพระธรรมก็มีอยู่ ๒ ประการคือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับพวกเราชาวไทยทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ บางทีเราก็สร้างพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉลองกันอย่างมโหฬารก็มี แต่ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ผ่านญาณ ๑๖ วับไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง ดีจริง ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติจริงก็ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างนี้

       ตัวอย่างนางวิสาขา วันหนึ่งไปฟังเทศน์ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปฏิบัติไปๆ ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุธรรมาภิสมัย ตื่นเช้าพญามารมันมาทดลอง คือพญามารนั้นแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วน การพูดจาปราศัยเหมือนพระพุทธเจ้าเลย ตี ๔ ไปเคาะประตูบ้านนางวิสาขา ปังๆๆๆ นางวิสาขาเปิดประตูออกมา พญามารมันก็บอกว่า แน่ะเธอ เมื่อวานนี้เธอไปฟังเราตถาคตเทศน์ เมื่อวานนี้เราตถาคตเทศน์ผิดไปนะ เมื่อวานนี้เราตถาคตเทศน์ว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกขังเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวใช่ตน เป็นอสุภะเป็นของไม่สวยไม่งาม ผิดแล้วนะ แก้เสียใหม่ แก้อย่างนี้ว่า รูปนามขันธ์ ๕ เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะ เป็นของสวยของงาม แก้เสียใหม่นะ แก้อย่างนี้ นางวิสาขาก็บอกว่า เอ๊ะ! นี่ๆ นี่ท่านเป็นมารรึ เท่านั้นพญามารก็บอกว่า อย่าๆๆ อย่าถามชื่อกันสิ แล้วก็หายเตลิดไปเลย นี้แหละท่านทั้งหลาย วิสัยของคนถึงธรรม

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์ก็มี ๒ ประการ คือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสเป็นปกติธรรมดา เช่น ทุกวันนี้เราเห็นพระเจ้าพระสงฆ์องค์เณรเราก็เคารพ กราบไหว้ สักการะบูชา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามกำลังศรัทธาของเรา แต่ถ้าว่าเราไปเห็นพระสงฆ์องค์เณรประพฤติอย่างนั้นประพฤติอย่างนี้ อาจจะหมดความเลื่อมใสก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ เหมือนดังคนทั้งหลายโดยเฉพาะพวกหนุ่มๆ สาวๆ เวลามาจากส่วนกลาง มาคุยกับหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ หนูไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์แล้วทุกวันนี้ เพราะว่าเห็นว่าพระสงฆ์ไปพูดอย่างนั้นไปชวนอย่างนี้ บางทีก็มาพูดชีกอกับหนูอย่างนั้นอย่างนี้ หนูไม่เลื่อมใส หนูขอเคารพนับถือเฉพาะพระพุทธเจ้า พระธรรม กับหลวงพ่อ ได้ไหม” เช่นนี้เราก็รู้ทันทีว่า เออ อันนี้ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ ยังไม่ได้เป็นภาวนาศรัทธา

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ วับไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีจริง เป็นผู้ปฏิบัติตรงจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์จริง เป็นผู้ปฏิบัติสมควรจริง แล้วก็มีความเลื่อมใส ตัวอย่างภรรยาของภารทวาชพราหมณ์ เมียถือพุทธ ผัวถือพราหมณ์ คือมีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทขุทกนิกายว่า

       สมัยที่นางเป็นโสดเป็นสาวอยู่ได้ไปฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้แต่งงานกับภารทวาชพราหมณ์ ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ วันหนึ่งผู้เป็นสามีจะเลี้ยงพราหมณ์ร้อยแปด ก็พูดกับภรรยาว่า “แม่หนู พรุ่งนี้พี่จะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ นะ ห้ามหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นะ ถ้าหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พี่จะตัดคอหนูด้วยดาบเล่มนี้” นางก็บอกว่า “เอ๊ะ ! ฉันเคารพ ฉันเลื่อมใส ฉันพูดจะผิดที่ตรงไหน” แต่ผู้เป็นสามีก็ไม่ว่ากระไร

       ตื่นเช้าพราหมณ์ ๑๐๘ ก็มาสู่ตระกูลของสองสามีภรรยา ผู้เป็นสามีก็ยกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ ผู้เป็นภรรยาแม้ว่าตนจะนับถือพระพุทธเจ้า ก็ต้องช่วยสามียกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ กลับไปกลับมาๆ บังเอิญเท้าไปสะดุดกับพื้นกระดาน ด้วยความตกใจก็เปล่งอุทานขึ้นมาว่า “ช่วยด้วยๆ คุณพระช่วยด้วยๆ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”

       พอพราหมณ์ ๑๐๘ ได้ฟังเท่านั้นก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำลังเคี้ยวอาหารอยู่ก็บ้วนทิ้ง กำลังถือคำข้าวอยู่ก็ขว้างทิ้ง ด่าปริภาสสองสามีภรรยาเป็นอเนกประการ แล้วก็หลีกไปไม่ยอมบริโภคอาหาร ผู้เป็นสามีก็พิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราจะทำอย่างไร ถ้าเราฆ่ามันก็ตายเปล่าๆ คิดกลับไปคิดกลับมาๆ เอ๊ะ ! เราไปถามครูของมันดีกว่า ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อไปถึงแล้วก็ถามเลยว่า พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะอยู่เป็นสุข

       โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะอยู่เป็นสุข

       พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก

       โกธํ ฆตฺวา น โสจติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะไม่เศร้าโศก

       เอ๊ะ ! เก่งจริงๆ เราถามอะไรก็ตอบได้หมด มีความเลื่อมใสขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้วได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อยู่ในพระศาสนาตลอดชีวิต อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ ศีลนี้ถ้าว่าผู้ใดไม่ถึงธรรม สัตว์ก็อาจจะฆ่าได้ เจ็บท้องเขามาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย เหล้าก็อาจจะกินได้ แต่วิสัยของคนผู้ถึงธรรมนี้ สัตว์ตัวเดียวไม่ยอมฆ่า เจ็บท้องเขามาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย ไม่ยอมกินเป็นเด็ดขาด มันจะตายในชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมทำลายศีลของตนให้ขาดเป็นเด็ดขาด รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เป็นไทไม่ถูกตัณหาแตะต้อง เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เป็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ เป็นศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ

       ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เราพ้นแล้วจากนรก เราพ้นแล้วจากกำเนิดเปรต อสุรกาย เราพ้นแล้วจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน นิยโต เราเป็นผู้มีคติเที่ยง อกุปฺปธมฺโม เราเป็นผู้มีธรรมอันไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้ปฏิบัติธรรมบรรลุมรรคผลพระนิพพานในวันข้างหน้า สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ธรรมาทาสะ กระจกคือพระธรรมทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ ท่านทั้งหลายสามารถจะปฏิบัติได้ไหม ถ้าท่านทั้งหลายคิดว่า เอ๊ะ ! หลวงพ่อ ข้อปฏิบัติทั้ง ๔ ประการนี้กระผมทำได้ หรือ ฉันทำได้ แล้วก็สามารถปฏิบัติได้สะดวกสบาย ไม่ต้องคับแค้นใจ หรือไม่ต้องแห้งผากใจหรืออะไรทั้งสิ้น ถ้าท่านทั้งหลายสามารถพยากรณ์ตนเองได้ดังนี้ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าว่าท่านทั้งหลายไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามหลักของธรรมาทาสะทั้ง ๔ ประการนี้ได้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายยังไม่สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้ ถ้าหากท่านยังไม่สามารถปฏิบัติไปได้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พยายามตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าเรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมมา

       ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดังนี้

       ๑. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายออกไปแล้วอย่าไปอวดกันนะ เพราะว่าการไปอวดกันว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นนั้นอย่างนั้นอย่างนี้ อวดไม่ได้นะท่านทั้งหลาย หรือว่าเราจะไปอวดว่าเราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าได้ทำลายโลภะ โทสะ โมหะได้แล้วอย่างนี้ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าสามารถทำลายนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้ ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือข้าพเจ้าได้บรรลุอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อวดไม่ได้นะท่านทั้งหลาย ถ้าไม่ได้จริงไม่ถึงจริง ไปอวด ปรับอาบัติปาราชิก พระพุทธเจ้าเด็ดขาดไปเลยนะ ถ้าไม่ได้จริงไม่ถึงจริงปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากพระไปเลย แต่ถ้าเป็นญาติเป็นโยมก็เป็นการตัดหนทางของตัวเอง คือไม่สามารถบรรลุมรรคผลพระนิพพานในขั้นสูงๆ ต่อไปได้ เหตุนั้นอย่าไปอวดกัน แต่จะแนะนำพร่ำสอนกันนั้นได้

       ๒. นักปฏิบัติธรรมจะถูกคนถามเป็น ๓ จำพวก คือ

          ๑) ถามเพื่อจับผิด ส่วนมากผู้ถามนั้นไม่มีศรัทธา เขาหาทางที่จะจับผิดเรา เช่นเราไม่เคยเรียนปริยัติเขาก็เอาปริยัติมาจับ ว่าเป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ไหม เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม เห็นปฏิจสมุปบาทไหม เราก็ตอบไม่ได้เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา เขาก็จะทึกทักขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! กัมมัฏฐานอย่างไรนี้ ใครเป็นผู้สอน แค่นี้ก็ตอบไม่ได้ จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างไร เขาจะว่าเอานะ

          ๒) ถามเพื่อยั่วกิเลส ส่วนมากผู้ถามก็ไม่มีศรัทธา เขาหาทางที่จะยุจะยั่วให้เราโกรธ โดยเฉพาะสามีภรรยา เวลามาประพฤติปฏิบัติ ภรรยาก็ตั้งใจปฏิบัติดี สามีก็งอแง ใจน้อย คอยจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พอภรรยาโกรธหนเดียวเท่านั้น ก็ว่า ไหน เพียงแค่นี้ก็โกรธแล้ว จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร เดี๋ยวเขาจะว่าอย่างนี้นะ

          ๓) ถามเพื่อเอาอย่าง ส่วนมากผู้ถามนั้นมีศรัทธา อยากปฏิบัติ แต่อยากรู้เสียก่อนว่า เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราไปบอกเขาว่ามันดับ เขาก็จะจำได้ว่าดับๆ เมื่อปฏิบัติไปๆ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ เกิดอุเบกขา เกิดถีนมิทธะ ดับวูบลงไป เขาก็จะทึกทักว่า เออ ฉันได้แล้ว ฉันบรรลุแล้ว คือมันได้ของปลอมท่านทั้งหลาย ได้สมาธิปลอม ได้ฌานปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม เหตุนั้นเราไปบอกเขาก็เป็นบาปแก่เขา เหตุนั้นเราอย่าไปบอกกัน แต่จะแนะนำพร่ำสอนกันนั้นได้

       ๓. พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ

            ๑) อุลลปนโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันขี้หลอก คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนเลย หรือได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนแต่ยังไม่สามารถยังคุณธรรม เช่น โสดาบัน สกิทาคามี เป็นต้น ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็ไปหลอกเขา โดยที่อยากให้เขาถวายจตุปัจจัยไทยธรรมอย่างโน้นอย่างนี้ ตามที่เราต้องการ ดังที่เราเคยผ่านๆ มา เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานร่วมกันอยู่วัดนี้ละ เดี๋ยวก็เขียนหนังสือไปโปรดโยมว่า ต้องการกลดเท่านั้นหลัง ต้องการกลดเท่านี้หลัง ต้องการจีวรอย่างนั้น ต้องการบาตรอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเป็นอุลลปนโสดาบัน คือโสดาบันขี้หลอก

              ๒) อธิมานิกโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันผู้ยิ่งด้วยมานะ คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน แต่เรียนปริยัติมามาก ก็เอาปริยัติไปอวดเขา เห็นเขาเข้าผลสมาบัติก็ไปอวดเขาว่า เอ๊ะ ! ทำอย่างนี้ฉันทำให้ดูก็ได้ แล้วก็แกล้งเกร็งตัวไป ไม่ช้าไม่นานกิเลสหยาบมันก็เกิดขึ้นมาอีกก็ทำกรรมไปอีก อย่างนี้เรียกว่าอธิมามิกโสดาบัน

              ๓) มหาโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานจริงๆ เป็นลูกของพระพุทธเจ้า

         ๔. วิธีตอบผู้อื่นเวลาถูกถาม ท่านทั้งหลายออกไปแล้วเขาจะถามนะ เป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดีไหม ดีอย่างไร ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน อะไรทำนองนี้ เหตุนั้นเราต้องตอบให้เป็น

       “เป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดีไหม”

       “ดี”

       “ดีอย่างไร”

       “ทำให้ใจสบาย”

       “ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน”

       “การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนกับเรากินข้าวกินเองจึงจะอิ่ม กินเองจึงจะอ้วน อิ่มแทนกันอ้วนแทนกันไม่ได้”

       “เห็นนรกสวรรค์ไหม”

       “เรื่องนี้ถ้าคุณอยากรู้ก็ขอเชิญได้ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง”

        นี้เราต้องตอบให้เป็น พูดแต่น้อย อย่าไปใส่ไคล้พระศาสนา อย่าไปเชิดตัวเอง

       ๕. ขอให้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายถือว่าเป็นหนี้บุญหนี้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระองค์ได้ทรงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ตั้งแต่โน้นมาจนถึงนี้ อยู่สิริรวมเป็น ๒๐ อสงไขยแสนมหากัปจึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วก็นำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงบรรลุแล้วนั้นมาแนะนำพร่ำสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้ประพฤติตาม ให้รู้ตาม ให้สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เหตุนั้นเราทั้งหลายควรอย่างยิ่งที่เราจะแสดงตนเป็นบุคคลผู้เต็มเปี่ยมด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือ รู้พระคุณของผู้มีพระคุณแล้วก็ตอบแทนคุณของท่าน อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เราไปที่ไหนๆ ก็ช่วยแนะนำพร่ำสอนกัน ได้มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ คือ มีหนทางไหนอย่างไรที่จะทำงานพระศาสนาได้ ช่วยศาสนาได้เราก็ทำ ดีกว่าไม่ทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคม เรียกว่ารู้แต่ตนเองก็ยังไม่ครบวงจร คือตนเองก็รู้ด้วยแล้วก็แนะนำพร่ำสอนให้ผู้อื่นรู้ด้วย ถือเป็นบุญเป็นกุศลแก่ตนเองและสังคม

       ๖. ขอให้ช่วยแนะนำบิดามารดาและญาติมิตร บิดามารดาของเรานั้นท่านเป็นผู้มีคุณูปการคุณแก่เรามาก เราจะหาวิธีตอบบุญสนองคุณพ่อแม่อย่างไรๆ นั้นก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้ แม้ว่าเราเอาผ้าผ่อนแพรพรรณรัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินกันให้เทียมปลายพร้าวปลายตาลก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา แม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาเราไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ หรือเวลาท่านจะไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะอาบน้ำ หรือเราจะสรงน้ำก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะรับประทานอาหารหรือเราจะรับประทานอาหารก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะหลับจะนอนก็ให้ท่านอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะขี้จะเยี่ยวก็ให้ท่านขี้ท่านเยี่ยวรดตัวเราไปจนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ใดมาบวชมาปฏิบัติธรรมเหมือนดังท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เมื่อเราประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมยังบุญกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว เราจึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปให้พ่อให้แม่ จึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้ หรือว่ามีโอกาสมีเวลา เราก็ให้พ่อให้แม่ของเราได้มาประพฤติปฏิบัติ

       ๗. ขอให้ท่านนักประพฤติปฏิบัติทั้งสามัคคีกัน พวกเราทั้งหลายนั่งรวมกันอยู่นี้ถือว่าเราเป็นลูกพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เป็นลูกศิษย์ลูกหาร่วมครูบาอาจารย์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้เคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน เราเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ดีกว่าเราชังกันเป็นไหนๆ เพราะไม่ช้าไม่นานไม่ถึง ๑๐๐ ปี เราก็จะจากกันไปแล้ว จะตายจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

       ๘. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่า ไม่ต้องทำบุญทำทานอะไร การพูดอย่างนี้ผิดนะท่านทั้งหลาย เพราะการทำบุญนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี สมัยครั้งพุทธกาลแม้ท่านผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังทำบุญทำทานอยู่

       ข้อนี้ให้ถือปฏิบัติตามที่พระนางมหาสุมนาเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีคน ๒ คน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน แต่คนหนึ่งชอบทำบุญทำทาน อีกคนหนึ่งไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน มหาสุมนา คนที่ไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ก็จะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะขัดสนไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรต้องไปของ้อของอนเขาใช้ ดูก่อนมหาสุมนา คนที่ชอบทำบุญทำทานนั้น ตายแล้วไปเกิดชาติใหม่ก็จะเป็นคนร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ ศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรมีญาติมีโยมมาของ้อของอนให้ใช้

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ ศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากว่าปรารถนาสิ่งใด ต้องการสิ่งใดได้สิ่งนั้นตามความปรารถนา แต่ว่าไม่สวยและไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาให้ทานอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้รักษาศีลไม่ได้เจริญภาวนา ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้เป็นคนที่มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืนไม่ตายง่าย แต่ว่าไม่รวยและไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขารักษาศีลอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ให้ทาน ไม่เจริญภาวนา

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดดี มีความหลักแหลมดี แต่ว่าไม่รวยและไม่สวย เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาเจริญภาวนาอย่างเดียว” เหตุนั้นแหละ พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วอยากดี อยากรวย อยากสวย อยากมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายทำบุญให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือให้ทั้งทาน รักษาทั้งศีล เจริญทั้งภาวนา

       ๙. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร การพูดอย่างนี้ไม่ดีนะท่านทั้งหลาย เป็นการด่าตัวเองด้วย เป็นการด่าครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ก็แนะนำพร่ำสอนทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่โอกาสเวลาจะเอื้ออำนวย สำหรับผู้ปฏิบัติจริงเขาก็ได้ตั้งเยอะ เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย อย่าได้พูดว่าทำกัมมัฏฐานแล้วไม่ได้อะไร เพราะงานทุกงานสำเร็จอยู่ในตัว เขียนหนังสือได้หนังสือ ทำกัมมัฏฐานได้กัมมัฏฐาน ได้ศีล ได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน ได้ตั้งเยอะ แต่เราอาจไม่รู้ เพราะมันเป็นนามธรรม

       ๑๐. นักปฏิบัติธรรมออกไปแล้วอย่าไปเล่นการพนัน

         ๑๑. อย่าติเตียนผู้อื่น สำนักอื่น การติเตียนผู้อื่นสำนักอื่นเหมือนกันกับยื่นดาบให้เขาตัดคอตัวเราเอง ถ้าเราติเตียนเขา เขาก็ติเตียนเรา เหตุนั้น เห็นคนอื่นประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนตนเราก็พูดให้เป็นว่า “เออ ที่คุณปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีละ คุณพยายามปฏิบัติต่อไปซิ การปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” เราต้องพูดให้เป็น เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมาก มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถา ใครจะเอาที่ไหนมาปฏิบัติก็ตาม การปฏิบัติอาจต่างกัน แต่ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด เพราะว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องการอยากพ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลพระนิพพาน

       เหมือนกับคนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วต้องการเงิน แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ผู้ทำไร่ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน ผู้ค้าขายก็ต้องการเงิน ผู้ทำโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน ผู้ผลิตอาวุธปืนนู้นปืนนี้เพื่อทำลายกันต้องการเงินทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด พวกเราทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นว่าผู้อื่นเขาทำไม่เหมือนเราก็ขออย่าไปว่าเขา เราต้องปลอบต้องโยน ต้องชี้แจงแสดงไขให้เข้าใจว่า “เออ คุณปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีละ คุณพยายามปฏิบัติต่อๆ ไปซิ การปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” ต้องว่าให้เป็น

         ๑๒. ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายรักษาชื่อเสียงตัวเอง รักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของวัด รักษาชื่อเสียงของสำนัก รักษาชื่อเสียงของพระศาสนา เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าขอให้เค็มเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้นาทีนี้วินาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้เราก็ยอมตาย แต่เราไม่ยอมคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่วเป็นเด็ดขาด

       ๑๓. ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติต่อๆ ไป การปฏิบัติครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติต่อๆ ไป

       วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงเอาเป็นเวลาทำมาหากินสัก ๘ ชั่วโมง เอาเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนสัก ๑๐ ชั่วโมง เหลืออีก ๖ ชั่วโมงที่เหลืออยู่นี้เอาเป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย คุยกับลูกกับหลานที่ไปมาหาสู่ อ่านหนังสือดูหนังสือเสีย ๕ ชั่วโมง เหลืออยู่อีก ๑ ชั่วโมงนี้ เอาเป็นเวลาไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนาเสียอย่างน้อย ๓๐ นาที

       โดยเฉพาะเวลาเราจะหลับจะนอนนั้น เราเข้าห้องพระแล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ตามที่โอกาสและเวลามีอยู่ เสร็จแล้วเราก็ลองนึกถึงบุญกุศลที่ได้สร้างสมอบรมมาว่า เออ เราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เราได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรหนอ เสร็จแล้วเราก็จึงนั่งภาวนากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” “พุทโธๆ” “สัมมาอะระหัง” ไปซะ อย่างน้อย ๓๐ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๑๕ นาที หรือน้อยที่สุด ๕ นาทีก็ยังดี

       ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่าเราเตรียมตัวก่อนตาย ถึงคราวตายบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่นเห็นขันข้าวที่เราเคยใส่บาตร เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่ไปทำบุญทำทาน เห็นโบสถ์เห็นวิหาร เห็นศาลาการเปรียญ เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดาเป็นต้น จิตของเราก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็ไปบังเกิดในสุคติภพตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ อุปมาเหมือนกับเราหัดว่ายน้ำไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อถึงคราวเรือล่มก็สามารถที่จะว่ายเข้าฝั่งได้ไม่จมน้ำตาย แต่ถ้าเราไม่หัดระลึกไว้อย่างนี้ ถึงคราวตายจึงจะมาระลึก มันระลึกไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะเหตุไร เพราะ

       ๑) ทุกขเวทนาเข้าครอบงำ

       ๒) ไม่อยากตาย

       ๓) ห่วงผู้อยู่ข้างหลัง

       ๔) ห่วงทรัพย์สมบัติ

       เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ระลึกไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้บาปกรรมทั้งหลายที่เราทำไว้มาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่นเห็นคนกำลังฆ่ากัน เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เห็นหนองน้ำ เห็นตม เห็นโคลน เห็นเปลวเพลิง เห็นนายนิรยบาล เห็นนรกเป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็จะไปเกิดในนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกายบ้าง ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ตามบาปกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมมา เหมือนกันกับคนที่ไม่เคยหัดว่ายน้ำ ถึงคราวเรือล่มจึงจะมาหัดว่ายน้ำก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง

       ๑๔. นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงเสื่อม นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงนี้เสื่อมได้เหมือนกันนะท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาธิหรือฌานที่ท่านทั้งหลายได้อยู่ในขณะนี้ ขณะนี้เราสามารถเข้าสมาธิได้ สมามารถเข้าฌานได้ ๑ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง แต่ถ้าว่าเราไม่ทำทุกวันๆ เสื่อมได้ท่านทั้งหลาย เมื่อสมาธิเสื่อมหรือฌานเสื่อมแล้ว เราจะกลับมาทำใหม่มันได้ยากท่านทั้งหลาย อาจจะไม่ได้เสียเลย เมื่อสมาธิหรือฌานมันเสื่อมแล้ว สมาธิหรือฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ แทนที่เวลาเราจะตายจากโลกนี้ สมาธิของเราไม่เสื่อม ฌานของเราไม่เสื่อม เราตายในสมาธิในฌาน เมื่อตายแล้วก็สามารถไปบังเกิดในพรหมโลกได้

       แต่ถ้าฌานของเราเสื่อมหรือสมาธิของเราเสื่อม ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน คือ หมายความว่าในขณะที่จิตของเราจะดับลงไปนั้น ถ้าเราไปนึกถึงนรก นึกถึงเปรต ถึงอสุรกาย ถึงสัตว์ดิรัจฉาน เราก็ไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ถ้าเรานึกถึงทานที่เราได้บริจาคแล้ว จะไปสู่สุคติภพ หรือว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยถ้าว่ามีสมาธิมีฌานอยู่ ก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งได้ แต่สมาธิหรือฌานเสื่อม สมาธิที่ได้ก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ หรือว่ามีเหตุอะไรที่เกิดขึ้นไม่ดี เช่นว่า เขาจะมาทำโน้นบ้าง ทำนี้บ้าง หรือจะใส่ของเราบ้าง ลองของเราอย่างนี้บ้าง ถ้าสมาธิของเราไม่เสื่อมเราก็สามารถป้องกันตัวได้

       สมมุติเวลาเราเข้าสมาธิ สาธุ ขอให้จิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปเท่านั้นนาที เท่านี้ชั่วโมง พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ร่างกายแก่ชีวิต นี่ถ้าเราอธิษฐานอย่างนี้แล้วเราก็เข้าสมาธิ เมื่อเข้าสมาธิไป ในขณะที่อยู่ในสมาธิก็ดี ออกจากสมาธิก็ดี ไม่มีอะไรที่จะทำลายเราได้ หรือว่าเวลาเราจะหลับจะนอนอธิษฐานจิตว่าสาธุขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป จนกว่าจะถึงตี ๔ พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต หากผู้ใดคิดว่าจะมาลักมาขโมย มาปล้น มาจี้ จับไปเรียกค่าไถ่ ทำร้ายร่างกายหรือชีวิตเป็นต้น ขออย่าเป็นอันตรายได้เป็นเด็ดขาด เราก็นอนสมาธิไป เมื่อในขณะที่เราหลับอยู่ในสมาธิหรืออยู่ในสมาธินั้นก็ไม่มีอันตรายเกิดขึ้นแก่เรา ถือว่าเป็นเกราะที่พึ่งได้

       หรือพูดง่ายๆ สมมุติว่าเรานอนอยู่นี้ อยู่ที่กุฏิของเราก็ดี อยู่ที่บ้านของเรา เราอยากนอน มันง่วงเป็นกรณีพิเศษ มันเหนื่อยเป็นกรณีพิเศษ เราอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที พร้อมกันนั้นขออย่าให้ผู้ใดมาแตะต้องร่างกายของข้าพเจ้าได้เป็นเด็ดขาด เราก็กำหนดไป “พองหนอ” “ยุบหนอ” แล้วก็หลับไป หรือไม่หลับก็ตามแต่หลับตาอยู่ เราไม่หลับสนิทก็ตาม หรือเราหลับไปก็ตามในขณะนั้น ถ้าหากว่าใครจะมาแตะต้องร่างกายของเราหรือมาจับต้องร่างกายของเรา มันจะรู้ตัวทันที หรือบางทีขานี้คู้ขึ้นมา เขาจะมาจับนิ้วตีนของเราคู้ขึ้นมาเลย มันรู้ตัวก่อนถ้าเราฉลาด

       หรือเวลาเราจะไปผ่าตัด เช่นว่าผ่าตัดไส้ติ่งก็ดี กระเพาะอาหารก็ดี นิ่วไตก็ดี หรือจะไปผ่ามดลูกก็ดี หากว่าเรามีสมาธิอยู่ มีฌานอยู่ เราอธิษฐานจิตของเราให้เข้าสมาธิเข้าฌาน ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต เขาก็ไม่จำเป็นต้องใส่ยาสลบใส่ยาชา เขาก็ผ่าตัดไปได้สบาย เราก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ฟื้นขึ้นมาแล้วก็ไม่มีอันตราย คือไม่ต้องรักษาอยู่เป็นเวลานาน หรือไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเกินไป เพราะอานิสงส์ที่เรามีสมาธิอยู่เป็นกำลังป้องกันและสนับสนุนให้ร่างกายของเรามันสมบูรณ์ขึ้นมา

       มีหลายๆ คนที่อยู่ในวัดของเราก็ดี ในบ้านก็ดี ที่ปฏิบัติได้มาอย่างนี้ ไปผ่าตัดไส้ติ่งบ้าง ผ่าตัดอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง ไม่ได้ใส่ยาชา ไม่ได้ใส่ยาสลบ แล้วก็การผ่าตัดนั้นก็ไม่ทนทุกข์ทรมาน เพราะเหตุไรจึงไม่ทนทุกข์ทรมาน เพราะว่าเราอยู่ในสมาธิ เหมือนกับโยมคนหนึ่งเวลาไปผ่าตัดไส้ติ่งถามคุณหมอว่า คุณหมอ จะใช้เวลานานเท่าไร หมอว่าใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แกก็อธิษฐานจิตเข้าสมาธิ ๓ ชั่วโมง ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมง พร้อมนี้อย่าให้เป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิต ก็เข้าสมาธิไป แล้วก็ในตอนนั้น ขอร้องคุณหมออย่าใส่ยาชา อย่าใส่ยาสลบ หมอก็ปฏิบัติตาม พอรู้สึกตัวขึ้นมา คุณหมอไปไหนแล้ว กลับไปแล้ว คือผ่าตัดครบ ๑ ชั่วโมง แล้วหมอก็กลับแต่แกยังไม่ฟื้น พอครบ ๓ ชั่วโมงแล้วฟื้นขึ้นมา เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วเหมือนกับไม่ได้ผ่าตัด โลหิตแม้แต่หยดเดียวก็ไม่ได้ใส่ นี้ท่านทั้งหลายสมาธินี้มันได้ประโยชน์อย่างนี้

       แล้วก็มีอาจารย์รูปหนึ่งไปผ่าไส้ติ่งที่เขมราฐของเรานั้นแหละ ขอคุณหมอว่า คุณหมอ ขอร้องอย่าใส่ยาชา ขออย่าใส่ยาสลบ แล้วก็ทำการผ่าตัด ในขณะที่ผ่าตัดนั้นใช้เพียงขั้นขณิกสมาธิ และขั้นอุปจารสมาธิ กลับไปกลับมาอยู่นั้น เวลาผ่าตัดไปคุยกันไปกับหมอ ผ่าตัดไปคุยไปๆๆ ผ่าตัดเสร็จเท่านั้น หมอลงกราบพระอาจารย์รูปนั้นเลย “ท่านขอรับ ตั้งแต่ผมเป็นหมอมายี่สิบกว่าปี ผมไม่เห็นใครเป็นเช่นนี้เลย ผมเลื่อมใส ขอนิมนต์ท่านอยู่ในโรงพยาบาลนี้ ๑ เดือน” ดูสิท่านทั้งหลายแทนที่เราสบายๆ จะให้เรากลับบ้าน ขอให้อยู่โรงพยาบาลนั้น ๑ เดือน เพราะเหตุไรจึงให้อยู่ ๑ เดือน เพราะว่าจะได้สอนพวกพยาบาลทั้งหลาย อบรมพวกพยาบาลทั้งหลาย นี้แหละท่านทั้งหลาย อานิสงส์ของสมาธิมันเหลือที่จะพรรณนา เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสมาธิหรือธรรมะที่ปฏิบัติแล้วอย่าให้เสื่อมเป็นอันขาด

       ๑๕. ขอให้ท่านทั้งหลายดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ถ้าว่าเราไม่ถึงฝั่ง คือไม่ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน กิเลสตัณหาของเราก็ยังมีอยู่ ภพชาติของเราก็ยังมีอยู่ เราต้องเกิดๆตายๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ ข้อนี้ให้ถือปฏิบัติตามที่พระเจ้าภัททิยะกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       พระเจ้าภัททิยะเป็นพระราชาสำเร็จเป็นพระสกทาคามี นั่งอยู่บนคอช้างก็ยังทำ วันหนึ่งมีความสงสัยไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั่งอยู่บนคอช้าง บางครั้งก็เห็นไพร่ฟ้าประชาชน บางครั้งก็เห็นฝูงช้างฝูงม้า บางครั้งก็เห็นฝูงรถ บางครั้งก็เผลอไป หากว่าข้าพเจ้าตายไปจะไม่ไปอบายภูมิหรือพระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทำไว้ให้ชำนิชำนาญแล้ว ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้มีความประสงค์ต้องการที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆ ต่อไปนั้น ปฏิบัติดังนี้คือ

       ๑) ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

       ๒) ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

       ๓) ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ

       ๔) ระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้วเนืองๆ

       ๕) ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาไว้แล้วเนืองๆ

       ๖) ระลึกถึงเทวธรรม คือธรรมที่ทำให้บุคคลให้เป็นเทวดาเนืองๆ

       ถ้าผู้ใดเพียบพูนไปด้วยองค์คุณธรรมดังนี้แล้ว ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ถ้าไม่ประมาท

       หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง มรรควิถี ตลอดถึงเตือนสติท่านทั้งหลายมาก็เห็นว่าพอสมควรจึงขอยุติ

       อิทํ เม ธมฺมทานํ สาธุด้วยอานิสงส์ธรรมทานที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาตั้งแต่เริ่มพรรษาจนถึงบัดนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป สทา โสตฺถี ภวนฺตุ โน ขอครูบาอาจารย์ทุกท่าน ญาติโยมผู้ปฏิบัติทุกคน จงเจริญสุขสวัสดีพิพัฒนมงคลในบวรพุทธศาสนาเป็นนิจ สถิตมั่นในสัจธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนฤพานด้วยกันจงทุกท่านเทอญ.