วิปัสสนาญาณ ๑๖
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.
จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา
สํสริตํ สงฺขมทฺธานํ ตาสุ ตาเสฺวว ชาติสูติ.
ณ โอกาสบัดนี้ จักได้แสดงพระสัทธรรมเทศนา เรื่อง วิปัสสนาญาณ ๑๖ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาแด่ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การเทศน์หรือการฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนี้ เป็นของเทศน์ยาก เป็นของฟังยาก คือยากทั้งผู้ที่เทศน์ ยากทั้งผู้ที่จะฟัง คือหมายความว่า ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนั้น ต้องใช้ความเพียร อดตาหลับขับตานอนมาเป็นหลายๆวันจึงได้ฟัง ถ้าว่าตนเองไม่ได้ปฏิบัติมาก่อนก็ไม่ได้ฟัง ฟังก็ไม่รู้เรื่อง ฟังก็เบื่อ แต่ถ้าตนเองได้ปฏิบัติมาก่อนแล้ว และได้ผลพอสมควร ฟังก็เข้าใจ ฟังก็เพลิน ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนั้น ก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายดังนี้ คือ
๑. ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจฟัง ถ้าไม่จำเป็น อย่าพูดอย่าคุยกัน
๒. ถ้าเหนื่อย เอามือลงเสีย ไม่ต้องประนมมือ เพราะเทศน์นาน
๓. ผู้ที่ได้สมาธิ เข้าสมาธิได้ พยายามยกจิตไว้ อย่าให้เข้าสมาธิไป เพราะตอนนี้เราฟังเอาความรู้ เพื่อเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ
อีกอย่างหนึ่ง ความมุ่งหมายของการเทศน์มีหลายประการคือ
๑) พระอาจารย์ผู้เทศน์ เหมือนกับเอากระจกมาวางไว้ให้ผู้ปฏิบัติส่องดู คือพระอาจารย์จะได้น้อมนำเอาพระธรรมแต่ละหมวดๆ มาวางไว้ แล้วก็ว่าให้ฟังไปตามนั้น
๒) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเรียกชื่อญาณถูก เช่น เวลาปฏิบัติ พองกับยุบอันเดียวกันหรือคนละอัน ผู้ตอบก็ตอบได้ว่าอันเดียวกันหรือคนละอัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นญาณอะไร เหตุนั้น พระอาจารย์ก็จะได้บอกให้รู้
๓) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติจำสภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติมาเปรียบเทียบกับพระธรรมที่พระอาจารย์เทศน์ ว่าจะตรงกันไหม หรือจะขัดแย้งที่ตรงไหน
๔. ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณจบแล้ว ขออย่าได้เข้าใจว่าตนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีแล้ว เพราะว่า การฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนี้ เราฟังเพื่อเป็นความรู้ พอที่จะได้เป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติสืบไป
๕. ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอาเอง ว่าเรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้น ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอาเอง ไม่ใช่พระอาจารย์ตัดสินให้
อันนี้เป็นความมุ่งหมายของการฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณ
ต่อไปก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณ
คำว่า ญาณ แปลว่า ปัญญา แต่ถ้าคำว่า ปัญญา หมายรวมหมด ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ แต่ถ้าคำว่า ญาณ หมายเอาความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเท่านั้น แต่ที่จริงก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เป็นปัญญาคนละขั้น
ญาณนั้นมีอยู่ ๑๖ ประการ คือ
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้
๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม
๓. สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามขันธ์ห้าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
๕. ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับของรูปนาม
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว
๗. อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษแล้วเบื่อหน่ายในรูปในนาม
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนาม
๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่เข้มแข็ง ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม
๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่ตัดขาดจากปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน
๑๔. มัคคญาณ ปัญญาที่ตัดกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานตามกำลังของมรรค
๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่สืบเนื่องมาจากมรรค เสวยผลกำไรที่มรรคประหารกิเลสไว้แล้ว
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาพิจารณามรรคผลพระนิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่
อันนี้เป็นเนื้อความโดยย่อในเรื่องวิปัสสนาญาณ ๑๖ ประการ
ต่อไปก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้โปรดฟังอธิบาย
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้
ญาณนี้ถือว่าเป็นญาณขั้นต้นในพระพุทธศาสนา ผู้มาปฏิบัติ จะเป็นพระภิกษุสามเณร ปะขาวแม่ชี เด็กหรือผู้ใหญ่ ชาติไหนภาษาใดก็ตาม ต้องเกิดญาณนี้เสียก่อนจึงจะใช้ได้ ถ้าญาณนี้ไม่เกิด ใช้ไม่ได้
ลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณ มีดังนี้ คือ
๑) ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน ถ้าญาณเกิดแล้วจะเห็นเป็นคนละอันนะ แต่ไม่ได้ถามหนังท้องนะ ถ้าหนังท้อง เป็นอันเดียวกัน นี้เราถามอาการว่า อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน
๒) ในขณะที่เรากำหนดทางตา เห็นหนอๆๆๆ ตาของเราก็ดี สีต่างๆที่เราเห็นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน
เวลาหูได้ยินเสียง เสียงกับหู อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน
เวลาจมูกได้กลิ่น จมูกก็ดี กลิ่นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน
เวลาลิ้นได้รส รสก็ดี ลิ้นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน
ในขณะที่เราถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อาการเย็นร้อนอ่อนแข็งกับร่างกายของเรา อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน
ถ้าตอบได้อย่างนี้ หรือเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่าเข้าใจในรูปปริจเฉทญาณถูกต้อง แต่ก็ยังไม่พอนะ ต่อไปถ้าหากว่ามีการสอบอารมณ์ พระอาจารย์ก็จะสอบอารมณ์ ท่านก็จะถามเรื่องนาม ว่าท่าน เวลากำหนดอาการพองอาการยุบ พองหนอง ยุบหนอ เอาอะไรกำหนด เอาปากกำหนด
คนตายมีปากไหม “มี”
ว่าเป็นไหม “ไม่เป็น”
เพราะอะไร “เพราะไม่มีใจ”
ท่านเอาอะไรว่า “เอาใจว่า”
ใจที่รู้ท้องพองกับใจที่รู้ท้องยุบ ใจเดียวกันหรือคนละใจ “ใจเดียวกัน”
เอ๊ะ ท่าน ใจบุญกับใจบาป ใจเดียวกันหรือคนละใจ
ใจที่มาเข้าวัดถือศีลกินเพลนี้ เป็นใจบุญหรือใจบาป “ใจบุญ”
ใจบุญกับใจบาป ใจเดียวกันหรือคนละใจ “คนละใจ เกิดคนละขณะ”
ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ตอบได้แจ๋วๆอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้จำตำรามาว่า หรือไม่ได้ฟังใครมา เรียกว่าเข้าใจในนามปริจเฉทญาณถูกต้อง ตกลงก็ไม่มีอะไรดีเลย ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม วันยังค่ำ ก็มีแต่รูปแต่นาม เกิดดับๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่า เราปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานถึงนามรูปปริจเฉทญาณ คือญาณที่ ๑ แล้ว ญาณที่ ๑ จบ เอาเพียงหยาบๆเท่านี้ก่อน
๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม
ภาษาบาลีเรียกว่าเหตุกับผล บางครั้ง รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล คือท้องของเราพองขึ้นมาก่อนแล้วใจก็จึงวิ่งมากำหนดรู้ อย่างนี้เรียกว่า รูปเห็นเหตุ นามเป็นผล แต่บางครั้ง นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล เช่นว่า ใจของเราวิ่งมารอกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ท้องของเราก็จึงพองขึ้นมาทีหลัง อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล แต่ผู้ปฏิบัติไม่รู้ ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุอันนี้เป็นผล เพราะนี่ปฏิบัติ แต่ถ้าปริยัตินั้นไม่รู้อย่างนี้ สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ อะไรเป็นเหตุ เป็นเหตุของอะไร
ชาติก่อนโน้น อวิชชาคือความโง่ เป็นเหตุให้อยากเกิดขึ้นมาเป็นคน เมื่ออยากเกิดขึ้นมาเป็นคนแล้วก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรม เป็นกรรมแล้ว กรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมาเป็นคน เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้วก็มีอาหารกิน เมื่อมีอาหารกินแล้วก็โตวันโตคืนขึ้นมาเรื่อยๆ
รูปนี้มันเกิดขึ้นมาจากเหตุ ๕ อย่าง คือ อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว
เวทนาเกิดขึ้นมาจากอะไร เวทนาเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว
สัญญาเกิดขึ้นมาจากอะไร สัญญาเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว
สังขารเกิดขึ้นมาจากอะไร สังขารเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว
วิญญาณเกิดขึ้นมาจากอะไร วิญญาณเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว
เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ คืออาการเกิดของคนเรา มีถึง ๒๕ อย่าง นี่ ปริยัติต้องว่าอย่างนี้ จึงจะเข้าใจ แต่สำหรับปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นเป็นปริยัติ จำตำรามาว่า เอาแต่เพียงว่า ท่านทั้งหลายนั่งกรรมฐานนานๆไปก็ปวดแข้งปวดขา แล้วก็กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” แล้วก็กำหนด “อยากพลิกหนอๆ” แล้วก็ “พลิกหนอๆ” ใจที่อยากพลิกนั้นมันเกิดก่อน ใจที่อยากพลิกนั้น อันนี้แหละเป็นตัวเหตุ แล้วพลิกหนอๆๆ นั้นเป็นตัวผล คือมันเกิดทีหลัง
แต่ถ้าผู้ที่จะดูสภาวะของญาณนี้ มีลักษณะดังนี้ คือ
บางครั้ง เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราหายไป ผู้ปฏิบัติเอามือไปคลำดูก็มี กำหนดพองหนอยุบหนอนี่ อาการพองยุบหายเงียบไปเลย ไม่มี ผู้ปฏิบัติก็เอามือไปคลำดูว่า เอ๊ะ! มันเป็นอะไร พองยุบมันเป็นอะไรถึงเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ก็มี เช่นนี้ก็เรียกว่าเหตุผลของรูปนามเหมือนกัน
แต่บางครั้ง เรากำหนดพองหนอยุบหนอนั้น อาการพองของเรามันพองมาถึงที่สุดแล้วไม่ยุบลงไป แต่บางครั้งเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อาการยุบของเรามันยุบไปถึงที่แล้วค้างอยู่ ไม่พองขึ้นมาก็มี บางทีมีเวทนามากบ้างน้อยบ้าง ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจว่าเคราะห์ร้าย คือหมายความว่า เราเคยเจ็บไข้ได้ป่วยมาแล้ว แล้วก็หายไปหลายวัน หลายเดือน หลายปี ไม่แสดงอาการ แต่เวลามาปฏิบัติพระกรรมฐาน ยังไม่ถึงห้านาทีหรือสิบนาที โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายนั้นก็เกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะพิจารณาว่า เรานี้คงเคราะห์ร้ายเสียแล้ว คงไม่มีบุญวาสนาบารมีที่จะปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไปได้แล้ว คิดอย่างนี้นะ
บางครั้ง เรากำหนดบทพระกรรมฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่ จะมีอาการสะดุ้งไปข้างหน้าบ้าง ไปข้างหลังบ้าง บางทีผู้ปฏิบัติจะมีความเห็นว่า ภพนี้ก็ดี ภพหน้าก็ดี ไม่มีอะไรเลย มีแต่เหตุแต่ผล มีแต่รูปแต่นาม เกิดดับๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
ถึงญาณขั้นนี้ ไม่ใช่เลวนะท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ดังพระบาลีกล่าวไว้ว่า
อิมินา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส ลทฺธปติฏฺโฐ นิยตคติโก จุลฺลโสตาปนฺโน นาม โหติ
ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานถึงญาณที่สองนี้แล้ว ชื่อว่าได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่า เป็นจุลลโสดาบัน
จุลละ แปลว่า น้อย โสตะ แปลว่า กระแส อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่า เป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าพยายามประพฤติปฏิบัติต่อไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบัน
ครั้งพุทธกาลโน้นมีสตรีนางหนึ่งไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางก็เอาลูกน้อยไปด้วย ลูกน้อยมันก็ร้องงอแงกวนแม่อยากกินนม นางก็เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ กลับไปเจริญอยู่บ้าน ถึงญาณที่ ๒ นี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่า เป็นจุลลโสดาบัน ญาณที่ ๒ จบ
๓. สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามทางทวารทั้ง ๕ เป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยแยกเป็น ๔ กลาป คือ
๑) กลาปสัมมสนนัย คือ พิจารณารวมกันทั้งก้อน และทั้ง ๕ ขันธ์เลย เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า รูปนามในอดีตก็ดี รูปนามในปัจจุบันก็ดี รูปนามในอนาคตก็ดี รูปนามที่หยาบก็ดี รูปนามที่ละเอียดก็ดี รูปนามที่ประณีตก็ดี ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาอย่างนี้
ครั้งพุทธกาลโน้น มีท่านมหาปาละเคยพิจารณามาก่อนแล้ว คือวันหนึ่ง เขาเอาศพผู้หญิงมาเผาในป่าช้า ไปนิมนต์ท่านมาปลงพระกัมมัฏฐาน เมื่อท่านมาถึงแล้วท่านบอกว่า ยังไม่เอา มันยังสวยอยู่ ให้ไฟไหม้ไปกว่านี้เสียก่อนนะ จึงไปเตือนฉันใหม่ เมื่อไฟไหม้มือเท้างอหงิกดำปานตอตะโกไปแล้ว เขาจึงไปเตือนท่านใหม่ เพื่อมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อท่านมาถึงแล้วท่านก็จ้องดูศพ เจริญวิปัสสนา
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺชนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข.
รูปนามขันธ์ห้า ไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปอย่างนี้ ถ้าดับไปหมดทั้งรูปทั้งนาม ทั้งกิเลส เป็นสุขที่สุดในโลก ดังนี้
เสร็จแล้วท่านก็เข้าไปในกุฏิ เจริญพระกัมมัฏฐานต่อ คือท่านเอาทั้งก้อนมาปราบจิตดื้อ เสียก่อนแล้วจึงจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในวันนั้น อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า พิจารณาในแง่กลาปสัมมสนนัย
๒) อัทธานสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณารูปนามที่ล่วงมาแล้วแต่นานๆโน้น เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า รูปนามในอดีตไม่เกิดเป็นรูปนามในปัจจุบัน รูปนามในปัจจุบันไม่เกิดเป็นรูปนามในอนาคต แต่มีเหตุมีผลสืบเนื่องกันอยู่ ถ้าเหตุดีผลก็ดี ถ้าเหตุชั่วผลก็ชั่ว เหมือนกันกับเราเอาดวงตราประทับลงบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราย่อมติดอยู่ที่แผ่นกระดาษ แต่ดวงตราหาได้ติดอยู่ที่แผ่นกระดาษไม่ ข้อนี้ฉันใด รูปนามขันธ์ห้าก็เหมือนกันฉันนั้น นี้เรียกว่า พิจารณาในแง่อัทธานสัมมสนนัย
๓) สันตติสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณาเห็นความสืบต่อของรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆ เช่นผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เมื่อตอนเช้านี้ แสงสว่างมันก็ดี อากาศมันก็ดี ฝนก็ไม่ตก แต่ตอนสายมาฝนกลับตกแล้ว เอ๊ะ! อาการสว่างมันหายไป อาการฝนตกมันเกิดขึ้นมา หรือเมื่อก่อนโน้นเรายังเป็นเด็กอยู่ เดี๋ยวนี้เราเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนเฒ่าคนแก่แล้ว เอ๊ะ! รูปนามขันธ์ ๕ ที่ท่านว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ หรือบางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้นเราอยู่ในครรภ์ของมารดา เสร็จแล้วก็คลอดออกมาเป็นเด็กแบเบาะ เสร็จแล้วความเป็นเด็กแบเบาะมันหายไป ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมันเกิดขึ้นมา ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมันดับไป ความเป็นคนเฒ่าคนแก่มันเกิดขึ้นมา เอ๊ะ! ที่ท่านว่ารูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ๆ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่สันตติสัมมสนนัย
๔) ขณสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นดับไปของรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆซึ่งนิยมเรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็มีแต่รูปแต่นามเกิดดับๆตลอดเวลา บางครั้งผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เท้าของเรานี้ ไม่ให้ยกมันก็ยก ยกขึ้นมาแล้ว ไม่ให้ย่างมันก็ย่าง เมื่อย่างไปแล้ว ไม่ให้เหยียบมันก็เหยียบ ท้องของเราก็เหมือนกัน ไม่ให้พองมันก็พอง เมื่อพองขึ้นมาแล้ว ไม่ให้ยุบมันก็ยุบ เมื่อยุบแล้ว ไม่ให้พองมันก็พอง เอ๊ะ! ที่ท่านว่ารูปนามขันธ์ห้ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ๆ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่ขณสัมมสนนัย การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในลักษณะทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ เรียกว่าเห็นพระไตรลักษณ์เหมือนกัน เป็นวิปัสสนา แต่ยังไม่เป็นวิปัสสนาญาณแท้ คะแนนเต็มร้อยได้เพียง ๑๕ เท่านั้น แต่ก็ยังดี เป็นมหากุศล หาได้ยากอยู่
ถ้าผู้ที่จะดูสภาวะของญาณนี้ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑. ถ้าผู้ดูพองจะเห็นเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ผู้ดูยุบก็จะเห็นเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ
๒. มีเวทนามาก เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป เจ็บที่โน้น เจ็บที่นี้ เรากำหนดตั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง หรือ ๘ ครั้งจึงหาย บางทีเรากำหนดเต็ม ๓๐ นาทีก็ยังไม่หาย บางทีเรากำหนดทั้งชั่วโมงก็ยังไม่หาย คือเวทนามันเกิดขึ้นมาแล้วมันหายยาก
๓. มีนิมิตมาก เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น แต่หายช้า เรากำหนดตั้ง ๗-๘ ครั้งจึงหาย บางทีก็ไม่หายเสียเลย
๔. เรากำหนดพองหนอยุบหนออยู่ บางทีอาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป บางทีอาการพองยุบที่เรากำหนดอยู่นั้นมันฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป บางทีอาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็หายไป อันนี้เรียกว่า เป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๕. จิตใจฟุ้งซ่านมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปแล้วร้อยเรื่องพันเรื่อง อย่างนี้ก็แสดงว่า จิตใจของเราเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน
๖. บางครั้งมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะเกิดอุปกิเลส ๑๐ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่งขึ้นในญาณนี้
อุปกิเลสนั้นมี ๑๐ ประการ คือ
๑) โอภาส แสงสว่าง เรานั่งกัมมัฏฐาน บางทีเห็นแสงสว่างเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ
บางครั้งมีแสงสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเอง
บางทีสว่างคล้ายๆกับไม่มีฝากั้น เรานั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐานหรือกลดกัมมัฏฐาน เห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏอยู่ในที่ใกล้ๆ
บางทีผู้ที่นั่งอยู่กุฏิ เห็นประตูเปิดออกๆ บางทีลืมตาดูก็มี ยกมือไปปิดก็มี เดินไปปิดก็มี
บางทีเห็นดอกไม้ มีสี มีกลิ่น สวยสดงดงาม อยู่หน้าพระเจดีย์ก็มี
บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากหัวใจของเรา
บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากลูกตาทั้งสอง
บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากศีรษะของเรา แล้วก็ลอยไปสู่ข้างนอก
บางทีเห็นแสงสว่างเกิดอยู่ข้างนอก พุ่งเข้ามาสู่ตัวของเราก็มี
อันนี้ถ้าผู้ใดเกิดก็ขอให้ทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว
๒) ปีติ ความอิ่มใจ ความเอิบอิ่ม มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆน้อยๆ
(๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ
(๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ
(๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน
(๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน
อธิบาย
(๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆน้อยๆ จะมีลักษณะดังนี้ คือ
๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น จะเห็นสีขาวๆ เหมือนปุยฝ้ายหรือสำลีปรากฏ ในขณะนั้นคล้ายๆจะมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แต่ยังไม่เห็น
๒. มีอาการเยือกเย็น น้ำตาไหล หนังหัวพองสยองเกล้า
เวลาประพฤติปฏิบัติ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา บางคนเคยมาพูดกับหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ ผมนี้มีจิตใจเข้มแข็งพอสมควร พ่อตาย ผมก็ไม่เคยร้องไห้ แม่ตาย ผมก็ไม่เคยร้องไห้ แต่ทำไมเวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน นั่งอยู่เฉยๆ น้ำตามันก็ไหลออกมาแล้ว นี่เป็นลักษณะของปีตินี้
๓. บางครั้งมีตัวชา ตัวพองขึ้น
๔. บางทีปรากฏตัวของเรามันใหญ่ออกๆๆ จนเต็มห้องกัมมัฏฐานก็มี บางทีปรากฏตัวของเรามันเล็กลงไปๆๆ เท่าเด็กน้อย เท่ากบ เท่าเขียด ก็มี
๕. บางครั้งปรากฏขายาว แขนยาว ฟันยาว อันนี้เป็นลักษณะของขุททกาปีติ
(๒) ขณิกาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ
ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จะปรากฏเห็นสีแดงๆด่างๆ เหมือนกันกับพระอาทิตย์แรกอุทัย หรือเหมือนกันกับจีวรของพระภิกษุสามเณร
บางครั้งปรากฏในจักขุทวารเหมือนกับสายฟ้าแลบ
บางทีปรากฏในจักขุทวารเหมือนกับตีเหล็กไฟ
บางทีแสบทั่วกาย
บางครั้งเหมือนกับมีแมลงเม่ามาจับหรือไต่ตามตัว
บางทีร้อนตามตัว
บางครั้งหัวใจสั่นๆไหวๆ เหมือนกันกับจะเป็นโรคหัวใจอ่อน
บางทีขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก
บางทีคันยุบๆ ที่โน้นบ้าง คันยิบๆ ที่นี้บ้าง เหมือนกันกับมดไต่ไรคลานตามเนื้อตามตัว
บางครั้งปรากฏเหมือนมีปลามาตอด บางทีคล้ายๆกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่านเกิดขึ้นมา
(๓) โอกกันติกาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเห็นแสงเหลืองๆเหมือนกันกับดอกผักตบ
๒. ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลง
๓. มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า
๔. บางทีมีอาการสั่นๆ บางทีมีอาการสูงๆต่ำๆ เรานั่งอยู่บนเตียงบนตั่ง คล้ายกับเตียงกับตั่งจะคว่ำ
๕. คลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางครั้งอาเจียนออกมาจริงๆก็มี
๖. เป็นดุจระรอกซัด
๗. บางทีสั่นระรัวๆ เหมือนกับไม้ปักไว้ในน้ำไหล
๘. กายโยกไปโยกมา นั่งไม่ตรง
๙. มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว คล้ายๆกับจะเป็นไข้
๑๐. มีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย
๑๑. บางครั้งเหมือนกับแล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล
๑๒. ปรากฏว่าร่างกายของเราผิดปกติ
๑๓. บางทีมีเสียงคล้ายๆกับพรายกระซิบ ตีสี่ คล้ายกับมีคนมาปลุกว่า “ลุกๆ ลุกขึ้นเดินจงกรม ลุกขึ้นปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน” เสียงนี้ ถ้าผู้ใดสนใจในเสียงอะไรก็จะได้ยินเสียงนั้น
ผู้สนใจในเสียงแคน ก็จะได้ยินเสียงแคน
ผู้สนใจในเสียงพิณ ก็จะได้ยินเสียงพิณ
ผู้สนใจในเสียงดนตรี ก็จะได้ยินเสียงดนตรี
ผู้สนใจในเสียงทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสัตว์นรก เสียงเทพบุตรเทพธิดา
ผู้สนใจในเสียงไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ก็จะได้ยินเสียงไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์
ผู้สนใจในเสียงเทศน์ ก็จะได้ยินเสียงเทศน์
บางคน เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา นึกว่าภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน เกิดอาการกลัวขึ้นมาก็มี แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปีติต่างหาก
(๔) อุพเพงคาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเหมือนกันกับมีสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น มาปรากฏเฉพาะหน้า
๒. บางครั้งปรากฏกายของเรามันสูงขึ้นๆ จนเสียดฟ้าก็มี
๓. บางครั้งลงท้อง ท้องเดิน เป็นบิด ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าตนเจ็บท้อง แต่ว่าเวลาประพฤติปฏิบัติไป อาการเหล่านี้หายไป คือแทนที่มันจะปวดอย่างนี้ตลอดเวลา เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป บางทีมันเกิดขึ้นมาอีก เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป บางทีปวดอย่างหนักจนถ่ายออกมาเป็นเลือดก็มี ตกอกตกใจจนให้ลูกให้หลานเอาล้อ (รถเข็น) เข็นไปไว้ที่บ้านก็มี แต่เมื่อไปถึงบ้านแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แทนที่มันจะกำเริบก็ไม่กำเริบ แล้วก็กลับมาปฏิบัติอีกก็มี
๔. มีอาการสัปหงกไปมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง
๕. บางครั้งคล้ายๆกับมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายๆกับคอของเราไม่มีกระดูก
๖. บางครั้งคล้ายกับคนมาผลักข้างหน้า ผงะไปข้างหลัง บางครั้งคล้ายกับคนมาผลักข้างหลัง คะมำไปข้างหน้า
๗. บางครั้งปรากฏปากงับๆบ้าง อ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง
๘. ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลง
๙. กายหกคะเมน ถลำไป คือเดินจงกรมไม่ตรง
๑๐. บางครั้งกายกระโดดขึ้นปลิวไป คล้ายๆว่าจะเหาะได้ในขณะนั้น
๑๑. กายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า
๑๒. กายเงื้อมไปมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง
ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น หากว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้สอนเขา หรือเราปฏิบัติธรรมร่วมกัน ก็ขอให้ช่วยกัน พยายามไปผลักไว้ ไปดันไว้เสียก่อน ให้ตัวมันตรงเสียก่อนแล้วจึงค่อยปล่อย ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น โอกาสที่จะได้สมาธิสมาบัติหรือมรรคผลนั้น ไม่ได้ เหตุนั้นต้องช่วยกัน
๑๓. บางครั้งมือของเราวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับคว่ำลง บางครั้งมือของเราวางอยู่ในท่าคว่ำ คล้ายกับมีคนมาหงายขึ้น บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คล้ายกับนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เรานั่งหันหน้าไปทางทิศใต้ คล้ายๆกับนั่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ
๑๔. เรานั่งตัวตรงๆอยู่ คล้ายๆกับร่างกายของเรามันโอนไปเอนมา เหมือนกันกับต้นอ้อที่ลู่ไปตามลมฉะนั้น
(๕) ผรณาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑. จะปรากฏในจักษุทวารเหมือนกับสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีเขียวมรกต มาปรากฏเฉพาะหน้า
๒. มีอาการแผ่ซ่านเยือกเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย
๓. สงบเป็นพักๆ
๔. ซึมๆ ไม่อยากลืมตา
๕. ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย
๖. บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากเท้าถึงศีรษะ บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะถึงเท้า คล้ายๆกับมีภูตผีปีศาจมันวิ่งมาตามร่างกายของเรา
๗. ทำให้เพลิดเพลิน สนุกสนาน อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ได้นานๆ
๘. บางที เปลือกตาที่ปิดอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย บางครั้งเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าตนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปีติ
ปีติ ๕ ประการนี้ บางท่านก็เป็นครบหมดทุกอย่าง บางท่านก็เป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถึงจะเป็นอย่างไรก็ใช้ได้ ถ้าท่านผู้ใดเป็น ก็ขอได้โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว
๓) ปัสสัทธิ จิตและเจตสิกสงบมาก มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) มีอาการสงบเงียบเหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่
(๒) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด
(๓) พอใจในการกำหนด และกำหนดได้ดี
(๔) เยือกเย็น สบายๆ ไม่กระวนกระวายใจ
(๕) ความรู้สึกเงียบไป คล้ายๆกับหลับไป
(๖) บางทีมีอาการคล่องแคล่วดีมาก คล้ายๆกับร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก
(๗) สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม
(๘) ความคิดปลอดโปร่งดีมาก คือเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี เดินจงกรมอยู่ก็ดี จิตใจของเราปลอดโปร่งผิดปกติ
(๙) บางที คนที่เคยเป็นคนดุร้ายทารุณ เคยฆ่าเคยประหารมาแล้ว ก็จะพิจารณาเห็นว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ละเอียดมาก ส่วนเรายังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่วกระทำแต่ความดี บางคนที่เคยเป็นพาลเกเร เคยติดเหล้าติดสุรา เคยติดฝิ่นติดกัญชามาแล้ว ก็จะเลิกละนิสัยเดิมได้ เลิกสูบบุหรี่ได้ เลิกกินหมากได้ นิสัยจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ
๔) สุข ความสบายกายสบายใจ มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) มีความสุขความสบายใจดีมาก อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย
(๒) มีความยินดี เพลิดเพลิน สนุกสนานในการประพฤติปฏิบัติ
(๓) อยากพูดอยากคุยเรื่องที่ตนปฏิบัติมานั้นให้ผู้อื่นรู้ บางทีก็ภูมิใจ ดีใจ อยากพูดอยากคุย อยากพูดกับคนโน้นคนนี้ว่า “คุณ ฉันปฏิบัติไป ฉันเห็นนู้น ฉันเห็นนี้” ชอบเอาสภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติมาเล่าสู่ผู้อื่นฟัง
(๔) บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้แนะนำพร่ำสอน
(๕) บางทีเห็นหน้าของครูบาอาจารย์มาอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆกับท่านจะมาช่วยเรา
(๖) บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์ ดังที่เราทั้งหลายได้ฟังทางวิทยุบ้าง ทางทีวีบ้าง จากหนังสือพิมพ์บ้างว่า นั่งกัมมัฏฐานไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า นั่งกัมมัฏฐานไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า อะไรทำนองนี้ ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นเรื่องของสุขอุปกิเลสต่างหาก คือเมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดอยากเห็นอะไรก็เห็นสิ่งนั้น เราคิดถึงสวรรค์ก็เห็นสวรรค์ คิดถึงพรหมโลกก็เห็นพรหมโลก คิดถึงครูบาอาจารย์ก็เห็นครูบาอาจารย์ คิดถึงพระอรหันต์เห็นพระอรหันต์ นึกถึงพระพุทธเจ้าเห็นพระพุทธเจ้า เหตุนั้นท่านทั้งหลาย เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวัง อย่าวิ่งไปตามอำนาจสุขอุปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย สีหน้าของผู้ปฏิบัติจะอิ่มเอิบ ร่าเริง เบิกบานเป็นอย่างมาก บางครั้งก็เข้าใจว่าตนได้บรรลุวิชชา ปฏิสัมภิทา ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว
๕) ศรัทธา ความเชื่อ มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) เชื่อและเลื่อมใสมากเกินไป อยากให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ
(๒) อยากให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ
(๓) อยากให้ทุกคนได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ
(๔) อยากทำบุญทำทาน อยากสร้าง อยากปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุต่างๆ
(๕) อยากให้การปฏิบัตินั้นก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
(๖) บางทีนึกอยากไปชวนคนโน้นคนนี้มาปฏิบัติ
(๗) อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์
(๘) อยากออกบวช อยากอยู่ที่สงัด อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ อยากอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย
(๙) บางทีก็อยากไปประกาศไปโฆษณาให้คนทั้งหลายได้รู้ว่า สมัยนี้มรรคผลพระนิพพานยังมีอยู่ พระอริยบุคคลยังมีอยู่ อยากให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ
(๑๐) บางทีก็เกิดความเชื่อมั่นขึ้นว่า ธรรมะที่เราปฏิบัติอยู่นี้ เป็นธรรมะที่วิเศษที่สุด ไม่มีธรรมะอื่นใดจะเสมอเหมือนได้ และเป็นธรรมะที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน
(๑๑) บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ ที่ได้อุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอนให้ตนได้รู้ได้เข้าใจ โดยที่ไม่คำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากของตนเองเลย อันนี้เป็นลักษณะของศรัทธา
๖) ปัคคัยหะ ความเพียร มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) ขยันมากเกินไป ครูบาอาจารย์จะยุไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นบ้าได้ ความเพียรในภาคปริยัติกับความเพียรในภาคปฏิบัตินั้นไม่เหมือนกันท่านทั้งหลาย ความเพียรในด้านปริยัตินี้ เราต้องคิดเอาว่า วันนี้จะเดินจงกรมเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง วันนี้จะนั่งเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง ต้องคิดเอา แต่ความเพียรด้านปฏิบัตินี้ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้คิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง อย่างนี้แสดงว่า ปัคคัยหะคือความเพียรนั้นมันเกิดขึ้นมาแล้ว เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านทั้งหลายต้องมีสติ ถ้าขาดสติอาจจะเป็นบ้าไปก็ได้
(๒) ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ บางทีเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจแกล้วกล้าในการประพฤติปฏิบัติ ขยันลุกขึ้นปฏิบัติ ทั้งอาจหาญ อดทน ไม่เกียจคร้าน ไม่ถอยหลัง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเตือน ขยันเองตามธรรมชาติ บางทีก็มีความพยายามดี ประคองใจไว้มั่นคง บางทีก็อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากพูดจากับใครๆ อันนี้เป็นลักษณะของความเพียร
๗) อุปัฏฐาน สติเข้าไปปรากฏชัด มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) มีสติมากเกินไป ทำให้ผู้ปฏิบัตินึกถึงแต่เรื่องอดีต อนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบันเสียเป็นส่วนมาก
(๒) บางครั้งนึกถึงแต่อดีตที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่นานๆโน้น เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้นเราเป็นเด็กเป็นเล็ก เคยทำอย่างนั้นพูดอย่างนี้ เป็นต้น
(๓) บางครั้งคล้ายๆกับจะระลึกชาติหนหลังได้ บางท่านระลึกได้จริงๆ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างก็มี
(๔) นึกถึงแต่ข้างหน้า คือ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อเราออกจากห้องกัมมัฏฐานนี้ไป เราจะไปสร้างห้องกัมมัฏฐาน เราจะสอนกัมมัฏฐาน เราจะเทศน์ให้ดีสอนให้ดี เป็นต้น บางทีก็คิดอยากจะส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
๘) ญาณ ความรู้ มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) ความรู้ด้านปริยัติกับปฏิบัติเข้าผสมกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติอวดดีสู้ครู เหตุนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่สอนยากเบอร์หนึ่งก็คือพระ เบอร์สองก็คือโยมผู้ชาย ผู้สอนง่ายก็คือโยมผู้หญิง เพราะเหตุไรพระเราจึงสอนยาก เพราะว่า พระเรานี้เคยศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว จบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก มหาเปรียญ พระอภิธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติก็จะเอาปริยัติมาจับ พิจารณาทบทวนว่าตรงกันไหม หรือขัดแย้งกันตรงไหน เป็นต้น
(๒) ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น พองเป็นเกิด ยุบเป็นดับ เป็นต้น
(๓) ผู้ปฏิบัติจะนึกถึงหลักฐานที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมาจากสำนักครูบาอาจารย์ มาเปรียบเทียบกันว่าจะตรงกันไหม หรือจะขัดแย้งที่ตรงไหน
(๔) ไม่ได้ปัจจุบัน ส่วนมากเป็นวิปัสสนึก คือนึกเอาเอง ไม่ใช่วิปัสสนา แต่ตนเองเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา
๙) อุเปกขา มีลักษณะดังนี้ คือ
ใจเฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ บางทีก็หลงๆลืมๆ พองยุบก็ปรากฏมัวๆ ลางๆ บางครั้งไม่เห็นอาการพองอาการยุบ บางครั้งใจลอยๆเลือนๆ คล้ายๆกับไม่ได้คิดอะไร บางทีพองยุบนี้ ประเดี๋ยวเห็นประเดี๋ยวหาย บางทีไม่มีอาการกระวนกระวายใจ ใจสงบดี บางครั้งไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งนั้น เมื่อก่อนโน้นเราอยากเป็นโน้นอยากเป็นนี้ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งนั้น บางครั้งคล้ายๆกับว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ขณะนั้นคล้ายๆว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน มันหมดไปสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว คือกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายไม่มารบกวน เลยทำให้เข้าใจว่าตนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
๑๐) นิกันติ ความใคร่ มีลักษณะดังนี้ คือ
(๑) พอใจในอารมณ์ต่างๆ เช่น แสงสว่าง ปีติ ปัสสัทธิ สุข ศรัทธา สติ ความเพียร ญาณ อุเปกขา เป็นต้น
(๒) พอใจในนิมิต เช่นว่า เรานั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วก็อยากเห็นอีก บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปที่หุ้มด้วยทองคำอร่ามเรือง ก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดา ก็อยากเห็นอีก สมกับเป็นอุปกิเลสแท้
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ บางท่านก็เป็นครบหมดทุกอย่าง แต่บางท่านก็เป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ ท่านผู้ใดเป็นก็โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่ออุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้ผู้ปฏิบัติรีบกำหนด ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งไม่หาย ให้เข้าใจเถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังหย่อน รีบไปเดินกำหนดเพิ่มอีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป แต่ถ้ากำหนดครั้งเดียวหายไปเลย ตนเองก็ผงะไปข้างหลัง ตกใจบ้างเล็กน้อย อย่างนี้ดี เข้าเขตญาณที่ ๔ อย่างแก่ๆ
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สมถะกัมมัฏฐานกับวิปัสสนากัมมัฏฐานแยกกันนะ แยกกันที่ตรงนี้ คือญาณที่ ๑ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ ญาณที่ ๒ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ ญาณที่ ๓ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ เป็นวิปัสสนาเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ ไป เป็นวิปัสสนาญาณล้วน ได้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์
๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) ถ้าผู้ดูพองดูยุบ จะเห็นอาการพองอาการยุบ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ระยะ เช่น เรากำหนด “ยุบหนอ” อย่างนี้ จะเห็นอาการยุบของเรามันยุบลงไปเป็นหยักๆ เป็นห้วงๆลงไป เหมือนเราหายใจไม่พอ คล้ายๆกับเราหายใจเป็นสองจังหวะ ผู้มีปัญญามากจะมีลักษณะดังนี้
๒) เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เวลาเรากำหนด ยกขึ้นกับเหยียบลงนั้นปรากฏชัด แต่ท่ามกลางไม่ชัด
๓) เวทนาหายเร็ว เช่น เรานั่งกัมมัฏฐานไป ปวดที่โน้น เจ็บที่นี้ แต่เวลากำหนด “ปวดหนอๆ” ๒-๓ ครั้งก็หาย
๔) มีนิมิตมาก นั่งกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น แต่เวลากำหนดมันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย
๕) มีแสงสว่างคล้ายไฟฟ้า คล้ายไฟนีออน แสงสว่างนี้ ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ จะสว่างเล็กๆน้อยๆ เท่าเทียนไข เท่าไฟฉาย แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะสว่างมาก บางครั้งเรานั่งไป เห็นไฟฟ้า เห็นไฟนีออน เห็นตะเกียงเจ้าพายุ เห็นดวงดาว เห็นดวงอาทิตย์ เป็นต้น
๖) ผู้มีสมาธิดีจะดับวูบลงไปบ่อยๆ เหมือนกันกับตกหลุมอากาศหรือเหยียบบันไดข้ามขั้น
๗) ผู้ปฏิบัติจะกำหนดติดต่อไปเป็นสายไม่ขาดระยะ เหมือนกับด้ายสนเข็ม
๘) อาการเกิดดับที่เรากำหนดอยู่นั้นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น
๙) เวลาเรากำหนด “คู้หนอ” จะเห็นอาการคู้หายวับไปทันที ไม่สืบเนื่องกันเลย เวลาเรากำหนด “เหยียดหนอ” จะเห็นอาการเหยียดหายวับไปเลย ไม่สืบเนื่องกันเลย เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่า รูปปรมัตถ์เกิดที่ไหนดับที่นั้น
๑๐) อารมณ์ที่เรากำหนดและอาการเกิดดับนั้นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น และกำหนดได้สะดวกสบายดี และมีจิตใจผ่องแผ้วขึ้นอีกเป็นอันมาก
ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นว่า ดีชั่วไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็คือ (๑) ปฏิบัติ (๒) กำหนด การปฏิบัติจึงจะได้ดีขึ้น
๑๑) มีอาการสัปหงกไปมา ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่อำนาจของสมาธิ ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบาๆ ท่านเรียกว่า สันตติขาด พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ
(๑) ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีก็แน่นมากจริงๆ จนผู้ปฏิบัติกำหนดว่า “แน่นหนอๆ” มันแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน
(๒) บางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป อย่างนี้เรียกว่า อนัตตาปรากฏชัด แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้ ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา
สรุปแล้วท่านทั้งหลาย
อาการพองยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง
อาการพองยุบของเราฝืดๆอึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เป็นลักษณะของทุกขัง
อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ เป็นลักษณะของอนัตตา
แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่า อันนี้มันเร็ว อันนี้มันใจจะขาด อันนี้สม่ำเสมอ ถึงจะรู้หรือไม่รู้ก็เป็นพระไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ผู้ใดไม่มีบุญไม่เกิด ผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด พระเราถ้าไปต้องอาบัติปาราชิกมาแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด ผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ไตรเหตุ คือไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ ญาณนี้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าญาณนี้เกิด ผู้นั้นมีหวังจะได้มรรคผลพระนิพพานในชาตินี้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านผู้ใดเป็นบ้าง ถ้าเป็นก็ขอได้โปรดทายเถิดว่า เราได้ถึงญาณที่ ๔ แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ไม่ถึง ก็ขออย่าได้ประมาท พยายามทำต่อไป
๕. ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น สุดพอง สุดยุบ ปรากฏชัดดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เวลายกขึ้นและก้าวไปไม่ปรากฏชัด แต่เวลาเราเหยียบลงปรากฏชัดเจนดี บางทีเหมือนกันกับมีอะไรมาสูบเอาเท้าของเราไปติดแน่นอยู่กับพื้นก็มี บางทีเรากำหนด “เหยียบหนอ” อยู่นี้ เท้าของเรามันค้างอยู่ ต้องเหวี่ยงอย่างแรง หัวคะมำไปก็ดี
๒) อารมณ์ที่กำหนดไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง
๓) พองยุบหายไป ผู้ปฏิบัติกำหนดว่า “รู้หนอๆ” เสร็จแล้วความรู้ก็หายไป
๔) คล้ายๆกับไม่ได้กำหนดอะไร คล้ายๆกับนั่งอยู่เฉยๆ บางท่านพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เรามานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไร มันจะได้บุญที่ตรงไหน อย่างนี้ก็มี
๕) พองยุบกับจิตผู้รู้หายไปๆ ผู้ปฏิบัติก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ผลสุดท้ายความรู้ก็หายไป
๖) พองยุบห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี
๗) ไม่เห็นสัณฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆ อยู่ตลอดเวลา
๘) บางครั้งไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ ไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ
๙) บางครั้งอาการพองอาการยุบหายไปตั้งหลายวันจนเกิดความเบื่อหน่าย ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้ท่านทั้งหลายพยายามลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มอีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป สติ สมาธิ หรือญาณ จะได้ดีขึ้น
๑๐) บางครั้งมีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย บางทีก็มีอาการชาๆ ไปตามร่างกาย คล้ายๆกับคนเอาร่างแหมาครอบ
๑๑) บางทีอารมณ์กับจิตหายไปพร้อมๆกัน ครั้งแรก รูปหายไปก่อน ใจยังรู้อยู่ ครั้งต่อมาอารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่กำหนดก็หายไปพร้อมกัน
๑๒) บางครั้ง อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนามมีอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติไม่สนใจดู ไปสนใจดูเฉพาะความดับไปของรูปนามเท่านั้น บางครั้งเรากำหนดอะไรๆไม่ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง คล้ายๆกับเราอยู่ในสนามหญ้ากว้างๆหรือโล่งๆ ปรากฏเห็นแต่หมอกสลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เรามองดูต้นไม้ก็ปรากฏสั่นๆ เรามองดูกุฏิวิหารก็ปรากฏสั่นๆ เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็มัวๆ ลางๆ ไม่เห็นอาการพองอาการยุบก็มี บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบประเดี๋ยวเห็นประเดี๋ยวหาย บางทีรูปนามที่เรากำหนดอยู่นั้นปรากฏเร็ว คล้ายๆกับรูปนามเหล่านั้นจะมารอคอยให้เรากำหนดอยู่ก่อนแล้ว
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ สภาวะของญาณนี้ชัดเจนแล้ว เราเดินจงกรมอยู่ก็ปรากฏง่วงๆ เดินไปหลับไปๆ เรานั่งสมาธิก็เหมือนกัน คล้ายๆกับนั่งหลับ นั่งไปหลับไปๆ เหมือนกับเราง่วงนอนมาแต่หลายๆวัน แต่ไม่เป็นอาการหลับนะ คือรูปนามขันธ์ห้ามันดับไป มีแต่อาการดับปรากฏชัด ถ้าลักษณะดังนี้เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านเข้าใจเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๕ แล้ว
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) อารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ทันกัน หายไปพร้อมกัน จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว
๒) มีความกลัว แต่ไม่ใช่กลัวเปรต กลัวผี กลัวศัตรู
๓) เห็นรูปนามหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔) รู้สึกเสียวๆ ตามร่างกาย เราลูบตามแขนของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบบนศีรษะของเราก็ปรากฏเสียวๆ คล้ายกับเป็นไข้ คล้ายกับเป็นโรคประสาท
๕) นึกถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติมิตร ที่จากมาแต่นานๆโน้น ก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนจะเป็นบ้า
๖) บางครั้งกลัวมากจริงๆ ชั้นที่สุด เห็นตุ่มน้ำ เห็นเสาเตียง เห็นกบ เห็นเขียด เห็นวัว เห็นควาย ก็กลัว ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนเป็นบ้า
๗) บางคนเพียงแต่ว่า เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัวอย่างนี้ แต่ไม่กลัวจริงๆ ก็มี
๘) เกิดอาการกลัวต่อความเป็นไปของรูปนามอย่างแปลกประหลาด เหมือนกับเราไปในป่าชัฏ บังเอิญไปพบกับสิงโต หรือเสือ หรืองูพิษ โดยบังเอิญ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวขึ้นมา
๙) บางทีรูปนามแสดงลักษณะอันน่ากลัวขึ้นมา เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป สั่นระรัวๆ เหมือนกับเป็นไข้จับสั่น เหมือนกับเขาลงธรรม บางทีเหมือนกับภูตผีปีศาจมาสิงอยู่ในร่างกายของเรา บางครั้งคล้ายๆกับร่างกายของเรานี้แบ่งเป็นสองซีก ซีกหนึ่งเย็นสบาย ซีกหนึ่งร้อนจนเหงื่อออกก็มี อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๖
๑๐) ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่ว่ารูปนามที่เป็นปัจจุบันกำลังดับอยู่ แม้รูปนามที่เป็นอนาคตก็จักดับเหมือนกัน อุปมาเหมือนกันกับผู้หญิงคนหนึ่ง มีบุตรสามคน ตายไปแล้วคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งกำลังตายอยู่คามือ ก็เป็นเหตุให้ทอดอาลัยว่า ผู้อยู่ในท้องก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน
การที่เห็นลูกคนที่หนึ่งตายไปแล้ว เท่ากับผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามที่ดับไปแล้ว
การที่เห็นลูกคนที่สองกำลังตายคามืออยู่ เท่ากับผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามที่กำลังดับอยู่ในปัจจุบัน
การที่หมดอาลัยในลูกที่อยู่ในท้อง คล้ายกับผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นความดับของรูปนามในอนาคต
สรุปแล้วว่า เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท บางทีเราเคยนั่งกัมมัฏฐานได้ตั้ง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ นั่งเพียง ๕ นาทีก็ไม่ได้ อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๖
๗. อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) ผู้ดูพองดูยุบ จะเห็นอาการพองอาการยุบหายไปทีละนิดๆ
๒) พองยุบปรากฏมัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง
๓) เห็นรูปนามไม่ดี น่าเบื่อหน่าย เป็นของปฏิกูล เป็นรังของโรคนานาชนิด
๔) เห็นรูปนามปรากฏเร็ว แต่ยังกำหนดได้ดีอยู่
๕) เห็นรูปนามเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์โทษ ไม่จีรังยั่งยืน บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา
๖) จะกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่ดี เพราะล่วงปริยัติ มีแต่ปฏิบัติ
๗) บางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่าการปฏิบัติวันนี้สู้วันก่อนๆไม่ได้
๘) มีอาการหงุดหงิดหวาดผวา ซ้ำแลเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเสมือนเต็มไปด้วยเลือดด้วยหนอง ขึ้นอืด เน่าเฟอะ
๙) ผู้ปฏิบัติเห็นว่ารูปนามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดี เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นรังของโรคนานาชนิด
๑๐) ผู้ปฏิบัติจะตั้งสติกำหนดลงไป ณ ที่ใด ก็เห็นแต่เป็นของไม่ดีไม่งามไม่สวยทั้งนั้น
๑๑) ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้น เราเห็นว่ารูปนามเป็นของดี เคยชอบใจติดใจหลงใหลมานานแล้ว แต่บัดนี้เห็นว่ารูปนามเป็นของไม่ดี เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก ทั้งร่างกายตน ทั้งร่างกายผู้อื่น
ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ หากว่าสภาวะนี้เกิดชัดเจนแจ่มแจ้งดีแล้ว บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ บางทีคันคอ บางทีจาม บางทีไอ บางทีน้ำลายไหล บางทีหิว บางทีกระหาย อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๗
๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) เกิดความเบื่อหน่ายในอารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้นยิ่งนัก จะหาความรื่นเริงสักนิดก็ไม่มี
๒) รู้สึกแห้งแล้ง คล้ายกับขี้เกียจ แต่ยังกำหนดได้ดีอยู่
๓) ไม่เบิกบานแจ่มใส เอือมๆ เบื่อๆ เหมือนกันกับพลัดพรากจากของรักของชอบใจ
๔) เมื่อก่อนได้ยินเขาพูดกันว่าเบื่อ แต่ไม่รู้ว่าเบื่ออย่างไร บัดนี้รู้แล้วว่าเบื่อจริงๆ
๕) เมื่อก่อนเห็นว่าอบายภูมิเท่านั้นไม่ดี ส่วนมนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก ยังดีอยู่ บัดนี้เห็นว่า แม้มนุษย์ แม้สวรรค์ แม้พรหมโลก ก็ไม่มีอะไรดีเลย เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไปด้วยกันทั้งนั้น
๖) กำหนดรูปนามไม่เพลิดเพลินเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเห็นว่าเป็นของไม่ดีไม่สวยไปทั้งนั้น
๗) ไม่อยากพูดจากับใครๆ อยากอยู่ในห้องเงียบๆ แต่เพียงคนเดียวเท่านั้น แม้ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากเห็น แม้ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากให้มาสอบอารมณ์ อยากให้หยุดเสียก่อน
๘) รู้สึกแห้งแล้ง คล้ายกับอยู่ในสนามหญ้ากว้างๆ โล่งๆ ในฤดูร้อน ซึ่งไม่มีต้นไม้ ไม่มีเงาไม้มาบัง มีแต่แดดมาแผดเผาให้หญ้าเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น
๙) รู้สึกหงอยเหงา ไม่เบิกบาน ไม่รื่นเริง ไม่อยากแต่งเนื้อแต่งตัว หน้าตาหม่นหมอง เศร้าๆโศกๆ เหมือนกันกับลูกตาย ผัวตาย เมียตาย ของหาย ฉะนั้น
๑๐) เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร บางทีรับประทานอาหารไปแล้วอาเจียนอยู่ทั้งวันก็มี คือเบื่ออาหาร นอนก็น้อย พูดก็น้อย
๑๑) บางคนพิจารณาเห็นว่า ลาภยศที่ตนต้องการเมื่อก่อนโน้น ไม่เห็นมีอะไรดีเลย ที่ได้ลาภได้ยศ เป็นเจ้านาย เป็นเศรษฐี เป็นคุณหญิงคุณนายมีสายสะพายโตๆ ไม่เห็นแปลกอะไร เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไปด้วยกันทั้งนั้น
๑๒) กำหนดอารมณ์ครั้งใดก็มีแต่ความเอือมระอา หมดความรู้สึกเพลิดเพลินยินดี ไม่เบิกบานใจ แต่ยังไม่ละการกำหนด ยังพยายามกำหนดต่อไปอีก
ญาณนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย เบื่อแล้วก็ยังไม่เลิก ยังพยายามกำหนดต่อไปอีก
สรุปแล้วว่า เมื่อปฏิบัติมาถึงญาณนี้ท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจะมีอาการเบื่อมาก
บางทีผู้อยู่ในครอบครัวจะเบื่อครอบครัวอยากออกบวช พระสงฆ์สามเณรก็เบื่อหน่ายวัดวาอาราม เบื่อหน่ายญาติโยม อยากไปอยู่ในที่สงัด อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไม่อยากให้ใครมารบกวน บางทีก็เบื่ออาหาร เบื่อเมืองมนุษย์ เบื่อเทวโลก เบื่อพรหมโลก หนักเข้าก็เบื่อการปฏิบัติ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ แต่ยังไม่ละการปฏิบัติ ยังพยายามปฏิบัติต่อไปอีก อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๘
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนาม มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) มีอาการคันยุบๆ ที่โน้นที่นี้ เหมือนกันกับมดไต่ไรคลานตามเนื้อตามตัว คืออาการคันนี้ ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ จะคันเล็กๆน้อยๆ เหมือนกันกับมีตัวเรือดตัวไรมาไต่มาตอม แต่ถ้าถึงญาณที่ ๙ นี้จะคันมาก เกาก็เกาแรง บางทีเป็นตุ่มขึ้นมาทั้งตัวก็มี
๒) ลุกลี้ลุกลน ผุดลุกผุดนั่ง จะนั่งกำหนดก็ไม่ได้ดี นอนกำหนดก็ไม่ได้ดี
๓) กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ก็ไม่ได้ดี
๔) ใจหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร
๕) กลุ้มใจ คิดอยากกลับบ้าน นึกว่าตนหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว บางคนก็เก็บบริขารกลับวัดกลับบ้านก็มี บางคนก็มาลากลับบ้าน ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ให้จะกระโดดน้ำตาย อย่างนี้ก็มี ที่เป็นเช่นนี้ท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปฏิจจสมุปบาทอวิชชา ความโง่เป็นเหตุให้เกิดสังขาร แต่ผู้ปฏิบัติกำหนดไม่ทัน อาการเช่นนี้จึงเกิดขึ้น เหตุนั้น อาจารย์ต้องเป็นผู้มีจิตวิทยา รู้จักปลอบโยน รู้จักชี้แจงแสดงไขให้ผู้ปฏิบัติยินดีในการประพฤติปฏิบัติ
๖) บางทีมีเวทนามารบกวนมาก เช่น อาการขบเมื่อย ปวด ชา จุก เสียด คัน แต่เวลาเรากำหนดจะเห็นว่าเวทนาหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ หายไปเป็นซีกๆ คล้ายๆกับเราหยิบเอาเวทนาออกทิ้งไปแล้ว
๗) มีอาการคันยุบๆยิบๆ ที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง จนเหลือที่จะอดเหลือที่จะทน เหมือนกับคนเอาหมามุ่ยหรือตำแยไปโรยบนที่นอนก็มี
๘) จิตใจไม่แน่นอน อยากให้ความทุกข์ ความเสื่อม และเวทนาที่เป็นสังขารทุกข์ที่มารบกวนอยู่นี้หายไป
๙) อยากถึงพระนิพพาน ผู้ปฏิบัติจะอยากถึงพระนิพพาน แต่การอยากถึงพระนิพพานนั้น อยากถึงเอง ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
๑๐) กำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากรูปนามอย่างจริงจัง
ท่านอุปมาเหมือนกันกับปลาที่ติดอยู่ในข่ายในแห อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากแหฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกันกับกบที่อยู่ในปากของงู อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากปากของงูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนไก่ป่าที่ติดอยู่ในกรง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากกรงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนช้างที่ติดหล่ม อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากหล่มฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกับบุรุษที่อยู่ในวงล้อมของข้าศึก อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากวงล้อมของข้าศึกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
สรุปแล้วท่านทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จิตใจของผู้ปฏิบัติไม่แน่นอน เดินจงกรมก็ไม่อยากเดิน บางทีเดินจงกรมแล้วก็ไม่ยอมกำหนด เดินก็สักแต่ว่าเดิน กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้นาน เมื่อก่อนโน้นเคยกำหนดได้ ๑ ชั่วโมง หรือ ๒-๓ ชั่วโมงก็มี แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ กำหนด ๕ นาทีก็ไม่ได้ อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๙
๑๐. ปฏิสังขาญาณ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) จะปรากฏเหมือนกันกับคนเอาเข็มแหลมๆ ไม้แหลมๆ เอาเหล็กแหลมๆ มาแทงที่ร่างกายของเรา ปรากฏเสียวแปลบๆขึ้นมาก็มี
๒) บางครั้งปรากฏเหมือนกับคนเอาเลื่อยมาตัดตามร่างกายของเรา เสียวแปลบๆขึ้นมา
๓) บางทีมีเวทนามาก ปวดที่โน้น เจ็บที่นี้ แต่หายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีมีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา
๔) บางทีมือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง เหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ บางทีมีอาการตึงๆ หนักๆ เหมือนกับคนเอาท่อนเหล็กหนักๆ ท่อนไม้หนักๆ หรือก้อนดินหนักๆ มาทับบนร่างกายของเรา
๕) บางทีมีอาการอึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด
๖) บางทีร้อนทั่วสรรพางค์กาย
๗) บางทีทั้งร้อน ทั้งเย็น ทั้งเจ็บท้อง ทั้งอาเจียน
อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๐
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) ไม่กลัว ไม่ยินดี ใจเฉยๆอยู่กับรูปกับนาม บางครั้งอาการพองอาการยุบก็ปรากฏชัด
๒) ไม่ยินดี ไม่เสียใจ มีสติสัมปชัญญะดี ไม่เผลอจากรูปนาม
๓) จำง่าย กำหนดได้สะดวกสบายดี
๔) ผู้มีสมาธิดีจะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้นานๆ เหมือนกันกับคนขี่รถบนถนนลาดยางที่เรียบๆ ทำให้เพลิดเพลินจนลืมเวลาไปก็มี
๕) ยิ่งนานยิ่งละเอียด เหมือนกับคนร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด
๖) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด รูป เสียง กลิ่น รส ไม่ปรากฏมารบกวนได้เลย เมื่อก่อนโน้น เรานั่งกัมมัฏฐานก็หงุดหงิดอย่างโน้นบ้าง หงุดหงิดอย่างนี้บ้าง เขามาแสดงดนตรีใกล้บ้านใกล้ที่อยู่ของเราก็หงุดหงิดขึ้นมา แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย อาการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็ไม่มีเลย บางทีเขามาเล่นภาพยนตร์อยู่ใกล้วัดของเราใกล้บ้านของเรา สามารถนั่งกัมมัฏฐานได้สบายๆ
มีพระภิกษุรูปหนึ่ง มาปฏิบัติอยู่ที่นี่ วันนั้นเขาก็มีมหรสพอยู่นี้แหละ เขามาแสดงหมอลำเรื่อง หมอลำหมู่ ขณะนั้นครูบาอาจารย์หลายๆรูปมาอยู่ด้วยกัน มาอยู่ในห้องหลวงพ่อ พอดีพอเขาแสดงหมอลำเรื่อง ก็พูดกันว่า “วันนี้เรามาแข่งสมาธิกัน ถ้าใครแพ้ก็ลุกไป ถ้าใครไม่แพ้ก็นั่งไป” คือนั่งสมาธิแข่งกัน ว่าผู้ใดจะทำสมาธิได้ ก็พากันกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “ได้ยินหนอๆๆ” ผู้ที่ทำไม่ได้ก็หายไปทีละรูปสองรูป ผลสุดท้ายเหลือแต่หลวงตาสังข์รูปเดียว นั่งสมาธิขาดความรู้สึกอยู่นั้นจนหมอลำเรื่องเขากลับ เมื่อแกรู้สึกตัวขึ้นมา ถามว่า หมอลำเรื่องไปไหน หมอลำหมู่ไปไหน เขากลับบ้านแล้ว นี้แหละท่านทั้งหลาย ถ้าอุเบกขานี้มากๆแล้ว ผู้ปฏิบัติจะไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญกับรูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ใดๆทั้งสิ้น
๗) บางที โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคลมบ้าหมู โรคกระเพาะอาหาร โรคความดันสูง เป็นต้น เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ บางท่านก็หายเด็ดขาดไปเลยก็มี บางท่านก็หายไปชั่วครั้งชั่วคราว มีหลายๆคนหายในลักษณะดังนี้
มีโยมคนหนึ่ง เมื่อก่อนเขาเป็นกุมภัณฑยักษ์ เวลาเกิดขึ้นมาแล้วต้องเอาน้ำมารด บางครั้งตั้งแต่หัวค่ำจนย่ำรุ่งจึงรู้สึกตัวขึ้นมา คนทั้งหลายว่าเป็นกุมภัณฑยักษ์ สำหรับสามีของแกนั้นบอกว่า ภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน สามีของแกไปเรียนแพทย์แผนโบราณบ้าง ไปเรียนแพทย์แผนปัจจุบันบ้าง มารักษาก็ไม่หาย ไปเรียนมนต์กลคาถา ไปเรียนธรรมมาปราบก็ไม่หาย
ปีนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานที่บ้านเหมือดแอ่ แกมาปฏิบัติ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา หลวงพ่อก็บอกว่า คุณโยม อันนี้ไม่ใช่ภูตผีปีศาจ ไม่มีอะไรหรอก แต่ว่าเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ทัน อาการอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต่อไปเมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้กำหนดว่า “หยุดหนอๆ หยุด!” หรือว่าอย่างนี้มันยังไม่หาย เวลามันเกิดขึ้นมาเรากำหนด “หยุด!” มันจะได้หายไป แล้วแกเอาไปปฏิบัติ ไปปฏิบัติดังนั้นก็หายมาจนถึงบัดนี้ คือลักษณะดังกล่าวนั้นไม่เกิดขึ้นเลย คนทั้งหลายก็หาว่าหลวงพ่อมีเวทมนต์กลคาถาศักดิ์สิทธิ์ คนโน้นก็มาปฏิบัติ คนนี้ก็มาปฏิบัติ แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เรามีสติ เพียงเท่านั้นก็พอ
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของอุเปกขา คือเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ โรคภัยไข้เจ็บนั้นสามารถจะหายไปได้ แล้วก็สามารถนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ สมมติว่าเราจะนั่งกัมมัฏฐานเพียง ๓๐ นาที ทำให้เพลิดเพลิน เลยเวลาไป ๑ ชั่วโมงบ้าง ๓ ชั่วโมงบ้าง ๖ ชั่วโมงบ้างก็มี อันนี้เป็นลักษณะของอุเปกขา
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้ใดเป็นบ้าง ถ้าผู้ใดเป็นก็โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๑๑ แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ไม่ถึง ก็อย่าประมาท พยายามทำต่อไป ญาณที่ ๑๑ จบ
๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เตรียมตัวเข้าสู่พระนิพพานโดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
ญาณนี้เป็นญาณขั้นตัดสินนะท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดเทียบให้ดี ว่าเรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นไหนอย่างไรนั้น ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอา หรือว่านับตั้งแต่เราได้เกิดมา ได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนามาจนถึงบัดนี้ เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วหรือยัง ญาณนี้เป็นญาณขั้นตัดสิน เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลายโปรดเทียบให้ดี ญาณนี้มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) อนิจจัง ผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนิจจังชัด มีลักษณะดังนี้ คือ
ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกลงไป คือมันดับลงไป บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ลงข้างล่าง เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ
หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายชาติหลายภพ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน ตามกำลังของมรรค
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ
พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเลย
ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตไม่ได้
๒) ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะกัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อนโน้น เคยเจริญสมถะกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางทุกขัง คือ จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้
ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางท่านก็แน่นมากจริงๆ จนถึงขั้นกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” แล้วก็ดับวูบลงไป สัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ
พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง บางทีก็เลิก ไม่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป
ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งมิได้
๓) อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมา จะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้
ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบเราก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้
หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ
พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดศีรษะ
ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีเท่านี้นะ ในแนวทางของการปฏิบัติรู้เท่านี้ แต่ถ้าปริยัติไม่รู้อย่างนี้ สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ
วิถีจิตของมันทบุคคล คือคนที่มีปัญญาน้อย ชวนจิตดวงที่ ๑ จะมีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๒ ขณะ
วิถีจิตเวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังคจลนะ ภวังค์สะเทือน ภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร คือมันลงหัวใจไปเสียก่อน ขึ้นจากมโนทวารมาจึงจะได้กำหนด ชวนจิตดวงที่ ๑ บริกรรม ชวนจิตดวงที่ ๒ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๓ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๔ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๕ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ สองขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์
แต่ถ้าเป็นวิถีจิตของติกขบุคคล คือคนที่มีปัญญามาก มีบุญมาก ชวนจิตดวงที่ ๑ จะไม่มีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๓ ขณะ คือในขณะที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังคจลนะ ภวังค์สะเทือน ภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร ขึ้นจากมโนทวารมา การกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ไม่ได้ว่าเลย มันเฉียดมรรคไปแล้ว ใกล้มรรคไปแล้ว
ชวนจิตดวงที่ ๑ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๒ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๓ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๔ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ สามขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาจึงจะได้พิจารณา
ผู้เป็นติกขบุคคลนี้หายาก ร้อยคนจึงจะมีสักคนหนึ่ง ติกขบุคคลนี้ บางทีวันเดียวผ่านการปฏิบัติไปแล้ว แล้วก็สามารถเข้าผลสมาบัติไปได้นานๆ
เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่า ผม หรือ ฉัน ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วละสิ อาจจะคิดอย่างนี้นะท่านทั้งหลาย เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งคิดอย่างนี้ เพราะว่าการดับเหมือนมรรคผลพระนิพพานนั้นมีมาก เช่น
๑. ปีติในญาณสาม เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” เกิดปีติขึ้นมา สัปหงกวูบลงไป นี้มันดับไปด้วยอำนาจของปีติในญาณสาม
๒. ปัสสัทธิในญาณสาม เมื่อกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จิตและเจตสิกสงบมาก กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” สงบเงียบ ขาดความรู้สึกลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิในญาณสาม
๓. สมาธิในญาณสาม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” เรากำหนดได้ดี ไม่เผลอ ไม่ลืม กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ทั้งๆสติของเรามันดีอยู่ มันสงบวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของสมาธิในญาณสาม
๔. อุเบกขาในญาณสาม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐาน ใจลอยๆเลือนๆ ใจของเรามันเพลินไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส เพลินไปๆ สัปหงกวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของอุเบกขาในญาณ ๓
๕. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชอบจะเป็นตอนดึกๆ หรือตอนที่เรารับประทานอาหารอิ่มๆ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาแล้ว กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาแล้ว เพราะในขณะที่สัปหงกวูบลงไปนั้น จิตของเรามันลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ก็หายง่วง
ท่านทั้งหลายจะเอาอาการเพียงเท่านี้มาตัดสินว่าเราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นไม่ได้นะ เพราะว่าการบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นต้องจำได้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา คือมันจำได้จริงๆ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก ต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา จึงจะใช้ได้ คือหมายความว่า ตอนจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะใช้ได้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ๓ ครั้ง
คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราเร็วขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของอนิจจัง
อาการพองยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของทุกขัง
อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วดับวูบลงไป สัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา
สรุปอีกครั้งหนึ่ง เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้นอาการพองอาการยุบของเรามีอาการเร็วขึ้นๆๆ สัปหงกวูบลงไป อาการพองยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้เฉพาะญาณที่ ๑๒ กับญาณที่ ๑๖ เท่านั้น ญาณที่ ๑๔, ๑๕ จำไม่ได้ เพราะว่ามันดับไปแล้ว
บางคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ เวลาอยู่ในญาณที่ ๑๕, ๑๖ นั้นรู้ไหม ?” ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ ที่ตอบว่า “รู้” คือมันรู้เหนือโลก แต่คนทั้งหลายในโลกจะเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขา เขาบอกว่ารู้ ที่ตอบว่า “ไม่รู้” คือไม่รู้โลกีย์ ไม่รู้อย่างคนธรรมดา ถ้ารู้อย่างคนธรรมดาก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นขันธวิมุตติ ถ้ามีขันธ์ ๕ อยู่เพียงขันธ์เดียวก็เป็นพระนิพพานไม่ได้
ต่อไป อริยสัจ ๔ ผู้ปฏิบัติต้องเห็นอริยสัจ ๔ จึงจะใช้ได้ อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณไหน ? อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณที่ ๑๒ ญาณอื่นไม่เห็น
อริยสัจ ๔ เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อาการพองยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันพองขึ้น เส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน สามเส้นขน นี้เป็นลักษณะของสมุทัย คือตัวเหตุ เมื่อมีเหตุก็มีผล อาการพองสูงขึ้นๆ นั้นเป็นตัวทุกขสัจ คือมันทนอยู่ไม่ได้ อาการพองยุบกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง สุดพอง จนถึงอาการพองอาการยุบดับลงไป เป็นตัวมัคคสัจ นี่อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติรู้เท่านี้ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าเอาปริยัติมาจับ ไม่รู้อย่างนี้
สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ในอริยสัจ ๔ ทุ แปลว่า ชั่วหยาบ ทุ แปลว่า ปราศจากของสวยของงามคือตัวตน ขะ แปลว่า ทน คือมันทนอยู่ไม่ได้ อะไรทนอยู่ไม่ได้
รูป ๒๘ เจตสิก ๕๒ โลกิยจิต ๘๑ รวมเป็น ๑๖๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ
รูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ นี้เป็นตัวทุกขสัจ
เจตสิก ๕๒ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕ นี้เป็นตัวทุกขสัจ
โลกิยจิต ๘๑ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง รวมเป็น ๘๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ
ย่อให้สั้น ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป ๒๘ เป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมด เป็นวิญญาณขันธ์
ย่อให้สั้น ได้แก่ รูปกับนาม คือ รูปทั้งหมด เป็นรูปขันธ์ นามจิตกับนามเจตสิก เป็นนามขันธ์
กว่าเราจะเรียนให้รู้ให้เข้าใจ ทั้งปีก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติ เพียงแป๊บเดียวเท่านั้นก็ผ่านไปแล้ว
ต่อไป กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ กิเลสถ้าดื้อ มี ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๑ ถึงนิพพานครั้งที่ ๑ โลภะ ละได้ ๔ ตัว โทสะ ละไม่ได้ โมหะ ละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา
ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๒ ถึงนิพพานครั้งที่ ๒ โลภะ ละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม แต่โทสะละไม่ได้ แต่อ่อนกำลังลง โมหะ ก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือ วิจิกิจฉา
ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ โลภะ ก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะ ละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ นี้แหละท่านทั้งหลาย ความโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ความโกรธนั้นดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน
สำหรับกามราคะ คิดอยากมีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย มีลูกมีผัว อยากสร้างครอบสร้างครัว เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ กามราคะนั้นก็ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือ วิจิกิจฉา
ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๔ ถึงนิพพานครั้งที่ ๔ โลภะจึงจะละได้ครบทั้ง ๘ ตัว โมหะ ละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ
นี่แหละท่านทั้งหลาย คนเราจะดื้อหรือไม่ดื้ออยู่ที่ตรงนี้ ถ้าปฏิบัติถึงนี้ รับรองว่าหายดื้อ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถึงนี้ รับรองว่าไม่หายดื้อ ดังที่เราทั้งหลายเห็นลูกๆหลานๆของเราทำไม่ดี พ่อกำนันบ้าง พ่อสารวัตบ้าง กรรมการวัดบ้าง จับมาปฏิญาณตน สาบานตน ต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าครูบาอาจารย์ ว่าตั้งแต่บัดนี้ข้าพเจ้าจะไม่ก่อกรรมทำเข็ญอีกต่อไปแล้ว จะตั้งอกตั้งใจรักษาศีล ประพฤติดีปฏิบัติชอบ แล้วก็ปล่อยไป ยังไม่ถึงอาทิตย์ ไปขโมยไก่เขามาต้มกินแล้ว ไปตีหัวเขาแล้ว เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะเวลามันว่ามันว่าแต่ปาก ใจมันไม่ว่า เพราะเหตุไรจึงไม่ว่า เพราะใจยังมีกิเลส เพราะเหตุไรจึงไม่เขี่ยออก เราจะเอาอะไรไปเขี่ย เราจะเอาไม้หรือก้านไม้ขีดไฟไปเขี่ยมันเขี่ยไม่ออก ต้องเอาธรรมะไปเขี่ยจึงจะออก แต่ถ้าปฏิบัติมาถึงนี้รับรองว่าหายดื้อ
มีบุรุษคนหนึ่งตีกันกับตำรวจ เขาจับไปไว้ในคุกบางขวาง ยังอีก ๒ เดือน หมายหัวไว้แล้วว่า ข้าพเจ้าออกไปนี้จะไปฆ่าล้างแค้น ๕ ศพ ฆ่าเลย คุกตะรางเป็นของเล็กน้อย ดี! เขามีข้าวให้กิน มันคิดอย่างนี้นะ แต่ใจหนึ่งก็คิดว่า เอ๊ะ! เขามีกัมมัฏฐานให้ปฏิบัติ อยากทดลองปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดู ไปจับสลากถูก ๒ เดือน ให้ปฏิบัติเดือนเดียว เมื่อปฏิบัติผ่านไปแล้วลุกขึ้นยืนสารภาพต่อหน้านักโทษสามพันคนเศษว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนโน้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าบุญบาปไม่มี ข้าพเจ้าพ้นโทษไปนี้ข้าพเจ้าจะไปฆ่าล้างแค้นห้าศพ ฆ่าเลย คุกตะรางเป็นของเล็กน้อย แต่บัดนี้ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นอโหสิกรรม ไม่ก่อกรรมทำเข็ญต่อผู้ใดอีกต่อไปแล้ว หากข้าพเจ้าพ้นโทษไป ข้าพเจ้าขอบวชในพระพุทธศาสนา จะช่วยครูบาอาจารย์เผยแผ่สาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้รับรองว่าหายดื้อ
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บางท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! หลวงพ่อ ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ถ้าจะว่าเราจำได้ก็คล้ายๆกับจำไม่ได้ แต่ถ้าจะว่าจำไม่ได้ก็คล้ายๆกับว่าจำได้ มันห้าสิบห้าสิบ ไม่กล้าตัดสิน
ถ้าว่าลักษณะดังนี้ยังมีอยู่ หลวงพ่อขอน้อมเอาธรรมะ คือ ธัมมาทาสะ กระจกคือพระธรรม มาให้ท่านทั้งหลายเปรียบเทียบอีกครั้งหนึ่ง ดังที่พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตสฺมาติหานนฺท ธมฺมาทาสํ ธมฺมปริยายํ เป็นอาทิ ดูก่อนอานนท์ ผู้ปฏิบัติธรรมผู้ใดได้บรรลุหรือไม่ได้บรรลุ มีเครื่องตัดสิน นิยมเรียกว่า ธัมมาทาสะ กระจกคือพระธรรม มี ๔ ประการ คือ
๑. พุทเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว
๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว
๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว
๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยบุคคล
ผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว
ข้อที่ ๑. พุทเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามี ๒ ประการ คือ
๑) ปกติศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสอย่างปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ เราเห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เราก็กราบก็ไหว้ แต่ถ้าว่ามีผู้ใดใครผู้หนึ่งมาประกาศมาโฆษณาว่า ศาสนานั้นเขาดีอย่างนี้นะ ศาสนานี้เขาดีอย่างนี้นะ ลัทธินั้นเขาดีอย่างนั้นนะ เราอาจจะผละจากศาสนาของเราไปถือศาสนาอื่นก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธาอยู่
๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง ดีจริง อย่างนี้ ตัวอย่าง เช่น สุปปพุทธกุฏฐิ
สุปปพุทธกุฏฐินี้เป็นคนจนด้วย เป็นโรคเรื้อนด้วย วันหนึ่งไปฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับเหล่าประชาชนทั้งหลาย นั่งอยู่ไกลๆโน้น ไม่กล้าเข้ามาใกล้ เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ เมื่อฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสธรรมะที่พระองค์ทรงแสดง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าเข้าไป เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ
ในขณะนั้นพระอินทร์ทรงทราบแล้วแปลงร่างเป็นคนแก่ๆ มาทดลอง “ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆอย่างเธอนี้ ว่าซิ ว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา ถ้าเธอพูดได้ ฉันจะให้เงินให้ทอง เธอจะเอาเท่าไรฉันจะหาให้”
สุปปพุทธกุฏฐิพูดว่า “เอ๊ะ! ท่านเป็นใครมาจากไหน?”
“ฉันเป็นเทวดา ฉันเป็นพระอินทร์ ฉันมาจากเทวโลก”
“ไปๆ เทวดาอันธพาล อย่ามาพูดกับขัาพเจ้าว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านนี้เป็นคนจน”
พระอินทร์หายวับเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรมนี้ ถึงจะจนแสนจน เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า เพียงแต่ให้ว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้ว่าเท่านี้ก็ไม่ว่า แม้เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า
พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน เสร็จแล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการมาตรัสเทศนาว่า
สทฺธาธนํ สีลธนํ หิริโอตฺตปฺปิยํ ธนํ
สุตธนญฺจ จาโค จ ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ
อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา
ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา
ผู้ใดมีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จะเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม
อทฬิทฺโทติ ตํ อาหุ อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ
ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนร่ำรวยที่สุด
เหตุนั้น อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จึงถือเป็นข้อปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว
ข้อที่ ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมก็มีอยู่ ๒ ประการคือ
๑) ปกติศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยเราทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็สร้างพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถา ฉลองกันอย่างมโหฬารก็มี แต่เป็นปกติศรัทธา อาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ อาจจะหมดความเลื่อมใสในพระศาสนาก็ได้
๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมของพระองค์ดีจริง มีจริง ผู้ใดประพฤติจริงก็ได้บรรลุอย่างนี้ ตัวอย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา
วันหนึ่งไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรมาภิสมัย กลับมาบ้าน พญามารมันแปลงร่างมาทดลอง คือพญามารนั้นมันแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วน ตีสี่ ไปเคาะประตูบ้านนางวิสาขา ปังๆๆ นางวิสาขาเปิดประตูออกมา พญามารก็บอกว่า
แน่ะเธอ เมื่อวานนี้ เธอไปฟังเราตถาคตเทศน์ เมื่อวานนี้ เราตถาคตเทศน์ผิดไปนะ เมื่อวานนี้ เราตถาคตเทศน์ว่า รูปนามขันธ์ห้า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกขัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอสุภะ เป็นของไม่สวยไม่งาม ผิดแล้วนะ แก้เสียใหม่ แก้อย่างนี้ ว่ารูปนามขันธ์ห้า เป็นนิจจัง คือเที่ยง เป็นสุขัง คือเป็นสุข เป็นอัตตา คือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะ คือเป็นของสวยของงาม แก้เสียใหม่นะแก้อย่างนี้
นางวิสาขาก็บอกว่า เอ๊ะ นี่ท่านเป็นมารหรือ เท่านั้นแหละพญามารก็ว่า อย่าถามชื่อกันสิ ก็หายเตลิดไปเลย
นี้แลท่านทั้งหลาย วิสัยของคนถึงธรรม แม้ว่าพญามารจะแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วนไปทดลองก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว เพราะรู้เฉพาะตนแล้ว
ข้อที่ ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์ก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑) ปกติศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยเราทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ เราเห็นพระเจ้าพระสงฆ์ เราก็เคารพ กราบไหว้ สักการะบูชา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามกำลังศรัทธาของเรา แต่ถ้าว่าพระเจ้าพระสงฆ์ไปทำอะไรผิดเล็กๆน้อยๆ อาจจะหมดความเลื่อมใสก็ได้ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ “หลวงพ่อ หนูไม่อยากนับถือพระสงฆ์ หนูขอนับถือแต่พระพุทธเจ้า พระธรรม กับหลวงพ่อได้ไหม” แค่นี้เราก็รู้ทันทีว่า คนนี้ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่
๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีจริง เป็นผู้ปฏิบัติตรงจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์จริง ก็มีความเลื่อมใส ตัวอย่างภรรยาของภารทวาชพราหมณ์ คือมีเรื่องเล่าไว้ในพระธัมมบท ขุททกนิกายว่า
ภรรยาของภารทวาชพราหมณ์นี้ สมัยที่ยังเป็นสาวอยู่ ไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้แต่งงานกับภารทวาชพราหมณ์ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ วันหนึ่งผู้เป็นสามีจะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ คน ก็พูดกับภรรยาว่า แม่หนู พรุ่งนี้พี่จะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ นะ ห้ามหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นะ ถ้าหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พี่จะตัดคอหนูด้วยดาบเล่มนี้ นางก็พูดว่า เอ๊ะ ฉันนับถือ ฉันเลื่อมใส ฉันพูดมันจะผิดที่ตรงไหน แต่สามีก็ไม่ว่ากระไร
ตื่นเช้าขึ้นมา พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ เข้าไปสู่ตระกูลของสองสามีภรรยา ผู้เป็นสามีก็ยกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ แต่ผู้เป็นภรรยา แม้ว่าตนจะนับถือศาสนาพุทธ ก็ต้องช่วยสามียกสำรับกับข้าวให้คนโน้นคนนี้กลับไปกลับมา เท้าไปสะดุดกับพื้นกระดาน ตกใจเปล่งอุทานขึ้นว่า ช่วยด้วยคุณพระช่วยด้วย นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส พอพราหมณ์ ๑๐๘ ได้ฟังเท่านั้นก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำลังเคี้ยวอาหารอยู่ก็บ้วนทิ้ง กำหลังถือคำข้าวอยู่ก็ขว้างทิ้ง ด่าปริภาสสองสามีภรรยาเป็นอเนกประการแล้วก็หลีกไป ไม่ยอมบริโภค
ผู้เป็นสามีก็คิดว่า เอ๊ะ! เราจะทำอย่างไรดี ถ้าเราจะฆ่ามันก็ตายเปล่าๆ คิดกลับไปกลับมาๆ เราไปถามครูของมันดีกว่า ออกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปแล้วก็ยืนถามเลย
พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะอยู่เป็นสุข ?
โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะอยู่เป็นสุข
พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก ?
โกธํ ฆตฺวา น โสจติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะไม่เศร้าโศก
เอ๊ะ! เก่งจริงๆ เราถามอะไรก็ตอบได้หมด เลื่อมใส ขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชแล้วได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน บรรลุเป็นพระอรหันต์ บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต
อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว
ข้อที่ ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิตย์ ศีลนี้ถ้าผู้ใดไม่ถึงธรรม สัตว์ก็อาจจะฆ่าได้ เจ็บท้อง เขาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย เราก็อาจจะกินได้ แต่วิสัยของคนถึงธรรมสัตว์ตัวเดียวไม่ยอมฆ่า เจ็บท้องเขามาว่ากินเหล้าจึงจะหาย ไม่ยอมกิน มันจะตายชั่วโมงนี้นาทีนี้ก็ไม่ยอมกิน รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เป็นไท ไม่ถูกตัณหาแตะต้อง เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ
ผู้ใดเพียบพูนสมบูรณ์ด้วยองค์คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว อย่างน้อยได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เราเป็นผู้มีคติเที่ยง มีธรรมไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า สามารถพยากรณ์ตนเองได้เลย
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายพยากรณ์ตนเองว่า เราสามารถทำได้ไหม กระจกคือพระธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ไหม ถ้าท่านทั้งหลายสามารถประพฤติปฏิบัติได้ หรือคิดว่า ธัมมาทาสะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเรื่องสบายๆ สำหรับเรา เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ไม่ต้องลำบากลำบนอะไร ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยก็ได้เป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าเรายังไม่อาจ คือไม่กล้าจะประพฤติปฏิบัติในธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ได้ ก็ถือว่าเรายังไม่ได้บรรลุ
เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามเพียรปฏิบัติต่อๆไป วันหนึ่งข้างหน้าเรามีโอกาสจะได้บรรลุ เราอาจจะได้บรรลุในชาตินี้ หรือว่าชาตินี้เราไม่สามารถจะบรรลุ ถ้าเราพยายามทำอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งข้างหน้าเราสามารถจะบรรลุได้ หรือว่าวันนี้เราไม่สามารถจะบรรลุได้ เวลาตายเราอาจจะบรรลุได้ หรือเวลาตายยังไม่บรรลุ อนาคตเราสามารถจะบรรลุได้
ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดังนี้ คือ
๑. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ออกไปแล้วอย่าไปอวดกันนะ อย่าไปอวดว่าข้าพเจ้าสามารถละนิวรณ์ ๕ ประการได้ สามารถละความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อย่างโน้นอย่างนี้ได้ ไปอวดกันไม่ได้นะ หรืออย่าไปอวดว่าข้าพเจ้านั่งสมาธิ เข้าฌานได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๖๐ นาที ก็ไม่ได้นะท่านทั้งหลาย หรือว่าจะไปอวดว่าข้าพเจ้าได้สำเร็จโสดาบัน อนาคามี สกิทาคามี อะไรทำนองนี้ อวดไม่ได้ ถ้าไปอวด หากว่าตนไม่ได้ไม่ถึงจริง ปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากพระไปเลย แต่ถ้าว่าญาติโยมไปอวด ก็เป็นการตัดหนทางของตัวเอง ไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติให้บรรลุธรรมะขั้นสูงๆต่อไปได้ เหตุนั้นอย่าไปอวดกัน
๒. นักปฏิบัติธรรมจะถูกคนถามเป็น ๓ จำพวก คือ
๑) ถามเพื่อจับผิด ส่วนมากผู้ถามนั้นไม่มีศรัทธา เขาหาวิธีที่จะจับผิดเรา เช่น เราไม่เคยเรียนปริยัติ เขาก็เอาปริยัติมาถาม “เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ไหม เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นปฏิจจสมุปบาทไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม” เราก็ตอบไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา เขาก็จะว่าเอาว่า เอ๊ะ! กัมมัฏฐานบ้าๆบอๆอย่างไร แค่นี้ก็ตอบไม่ได้ เสร็จแล้วเรา เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้รู้กุศโลบายของผู้ถาม เขาถามเพื่ออะไร
๒) ถามเพื่อยั่วกิเลส ส่วนมากผู้ถามก็ไม่มีความเลื่อมใส เขาหาวิธีจะยุจะยั่วให้เราโกรธ โดยเฉพาะระหว่างสามีภรรยา เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้อะไรไหม ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร อะไรทำนองนี้ เขาหาวิธีจะยุจะยั่วให้เราโกรธ หากว่าเราโกรธนิดเดียวเท่านั้นแหละ เขาจะทักขึ้นมาว่า ไหนว่าไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แค่นี้ก็โกรธแล้ว มันจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างไร นี่เสร็จแล้วเรา เพราะฉะนั้น เราต้องรู้กุศโลบายของผู้ถาม
๓) ถามเพื่อเอาอย่าง ส่วนมากผู้ถามนั้นมีศรัทธาอยากปฏิบัติ แต่อยากรู้เสียก่อนว่า เวลาได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานมันเป็นอย่างไร ถ้าเราไปบอกเขาว่ามันดับ เขาจะจำได้ว่าดับ เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดอุเบกขา เกิดถีนมิทธะขึ้นมา เขาก็จะทึกทักขึ้นมาว่า เออ เราได้แล้ว เราดับได้แล้ว คือมันได้ของปลอมท่านทั้งหลาย ได้มรรคปลอม ผลปลอม นิพพานปลอม เหตุนั้นเราอย่าไปบอกกัน แต่ว่าแนะนำพร่ำสอนกันได้
๓. พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ
๑) อุลลปนโสดาบัน โสดาบันขี้หลอก คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ก็ไปหลอกเขา หรือบางทีเราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว แต่ไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ก็ไปหลอกเขา เพื่อต้องการให้เขาเลื่อมใส จะได้ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามความประสงค์ของเรา นี้แหละ อุลลปนโสดาบัน โสดาบันขี้หลอก มีทั่วบ้านทั่วเมืองทุกวันนี้ โสดาบันประเภทนี้
๒) อธิมานิกโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันผู้ยิ่งด้วยมานะ คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ก็ไปอวดเขา เห็นเขาเข้าสมาธิเข้าผลสมาบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไปอวดเขาว่า ทำอย่างนี้ฉันทำให้ดูก็ได้ ก็แกล้งเกร็งตัวขึ้นมา ไม่ช้าไม่นานกิเลสหยาบก็เกิดขึ้นมาอีก แล้วก็ทำบาปทำกรรมต่อไปอีก
๓) มหาโสดาบัน หมายถึงท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรคอริยผลจริงๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นมหาโสดาบัน เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. วิธีตอบผู้อื่นเวลาถูกถาม ท่านทั้งหลายออกไปแล้วจะถูกเขาถามนะ เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม เขาจะถามเอา ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน เห็นนรกเห็นสวรรค์ไหม อะไรทำนองนี้ เขาจะถามนะ เหตุฉะนั้น เราต้องรู้วิธีตอบ
เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน ดีไหม ?
“ดี”
ดีอย่างไร ?
“ทำให้ใจสบาย”
เห็นนรกเห็นสวรรค์ไหม ?
“เรื่องนี้ถ้าคุณอยากรู้ คุณก็ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง”
ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน ?
“เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนกับเรากินข้าว กินเองจึงจะอิ่ม กินเองจึงจะอ้วน อิ่มแทนกันอ้วนแทนกันไม่ได้”
นี่เราตอบให้เป็น พูดแต่น้อย แต่ให้ความหมาย
๕. ขอให้ช่วยกันเผยแผ่สาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราทั้งหลายได้รับความสุขอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะว่าเราทั้งหลายตั้งอยู่ในร่มพุทธธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ประกอบไปด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม รู้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตอบแทนบุญคุณของพระองค์ด้วยการช่วยกันแนะนำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ
๖. ขอให้ช่วยกันแนะนำบิดามารดาและญาติมิตร บิดามารดาของเรานั้นท่านเป็นผู้มีคุณูปการคุณแก่เรามาก เราจะหาวิธีตอบบุญสนองคุณพ่อแม่ด้วยวิธีอย่างไรก็ไม่สามารถจะตอบแทนบุญคุณของท่านได้
แม้ว่าเราจะเอาเงินเอาทอง ผ้าผ่อนแพรพันธ์ รัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินให้เทียมปลายพร้าวปลายตาลเพื่อทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้ แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา เอาแม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาเราไปไหนหรือท่านไปไหน ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ เวลาท่านจะรับประทานอาหารหรือเราจะรับประทานอาหาร ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ เวลาท่านจะหลับจะนอน ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ หรือเวลาท่านจะขี้จะเยี่ยว ก็ให้ท่านขี้ท่านเยี่ยวรดตัวเราไป จนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้
เว้นไว้แต่ท่านผู้ใดมาบวช หรือมาปฏิบัติเหมือนท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ขณะนี้ เราปฏิบัติแล้วยังศีล ยังสมาธิ ยังปัญญา ยังบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว เราจึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้พ่อให้แม่ จึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้ หรือว่ามีโอกาสมีเวลา ขอให้พ่อให้แม่ของเรามาปฏิบัติ อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย จึงจะทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้
๗. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เรานั่งอยู่รวมกันนี้ ถือว่าเราทั้งหลายเป็นลูกพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายมีความเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน เราเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ดีกว่าเราชังกันเป็นไหนๆ เพราะอีกไม่ช้าไม่นาน ไม่ถึงร้อยปี เราก็จะจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
๘. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ต้องทำบุญทำทานอะไร พูดอย่างนี้ผิดนะท่านทั้งหลาย เพราะการทำบุญทำทานนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี ครั้งพุทธกาล แม้ท่านผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ทำบุญทำทานอยู่
เรื่องนี้ขอให้ถือปฏิบัติตามที่พระนางมหาสุมนาไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีคนสองคน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน แต่คนหนึ่งชอบทำบุญทำทาน อีกคนหนึ่งไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนมหาสุมนา คนที่ไม่ชอบทำบุญทำทานนั้น ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ ก็จะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง หากออกบวชเป็นพระเป็นเณร ก็จะขัดสนไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบง จีวร ต้องไปของ้อของอนญาติโยมจึงจะได้ใช้
แต่ผู้ที่ทำบุญทำทานนั้น ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ ก็จะเป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติ ศฤงคาร บริวาร นานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากออกบวชเป็นพระเป็นเณร ก็จะเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบง จีวร มีญาติมีโยมมาของ้อของอนให้ใช้
ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข ต้องการเครื่องประดับประดา เพชรนิลจินดาอะไร ได้ทั้งหมดตามความประสงค์ แต่ว่าไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาให้ทานอย่างเดียว แต่ไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้เจริญภาวนา
ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นผู้มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืน แต่ว่าไม่รวย และไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขารักษาศีลอย่างเดียว แต่ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้เจริญภาวนา
ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดหลักแหลมดี แต่ว่าไม่รวยและไม่สวย เพราะชาติปางก่อนโน้น เขาเจริญภาวนาอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ให้ทาน ไม่รักษาศีล”
เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว อยากดี อยากรวย อยากสวย อยากมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น ก็จงพยายามทำบุญให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือ ทั้งให้ทาน ทั้งรักษาศีล ทั้งเจริญภาวนา
๙. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร การพูดอย่างนี้ถือว่าเป็นการด่าตนเองด้วยเป็นการด่าครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ท่านก็แนะนำพร่ำสอนทุกสิ่งทุกอย่าง เท่าที่โอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย เพราะฉะนั้น ทำกัมมัฏฐานแล้วอย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร เพราะว่าการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง มันได้ผลในตัว ทำงานได้งาน ทำกัมมัฏฐานได้กัมมัฏฐาน ได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน มันได้ตั้งเยอะ แต่เราอาจไม่รู้ เพราะเป็นนามธรรม
๑๐. นักปฏิบัติออกไปแล้วอย่าเล่นการพนัน เพราะลูกหลานเขาจะว่าเอา
๑๑. อย่าติเตียนผู้อื่นและสำนักอื่น การติเตียนบุคคลอื่นและสำนักอื่น เหมือนกันกับยื่นดาบให้เขาตัดคอเรา เราติเตียนเขา เขาก็ติเตียนเรา เราว่าให้เขา เขาก็ว่าให้เรา เพราะฉะนั้น เห็นผู้อื่นปฏิบัติไม่ดี เราต้องพูดให้เป็นว่า “คุณ ปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีนะ พยายามทำต่อไปสิ การประพฤติปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” เราต้องพูดให้ดีจะได้พวกมาก เพราะฉะนั้น เราอย่าไปติเตียนบุคคลอื่นหรือสำนักอื่นเป็นเด็ดขาด
๑๒. ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาชื่อเสียงของตนเอง รักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของสำนัก รักษาชื่อเสียงของพระศาสนา เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ก็ขอให้เค็มเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ เราก็ยอมตาย แต่เราไม่ยอมทำความชั่วเป็นเด็ดขาด
๑๓. ขอให้ท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติต่อๆไป เพราะว่าการปฏิบัติครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เหตุนั้น เราพยายามปฏิบัติต่อๆไป วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เราเอาเป็นเวลาทำมาหากินสัก ๑๐ ชั่วโมง เอาเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนสัก ๘ ชั่วโมง ยังเหลืออีก ๖ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงที่ยังเหลืออยู่นี้ เอาเป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร คุยกับลูกกับหลานญาติมิตรไปหามาสู่สัก ๕ ชั่วโมง ยังเหลือ ๑ ชั่วโมง ๑ ชั่วโมงที่เหลืออยู่นี้ ให้เอาเป็นเวลาของเราให้ได้อย่างน้อย ๓๐ นาที โดยที่เรามานึกถึงบุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมมา ว่าเออ เราเกิดขึ้นมานี้ เราได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ได้มากน้อยแค่ไหนหนอ นึกไปๆๆ นึกให้ทั่วแล้วเราจึงไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ นั่งเจริญภาวนาสัก ๓๐ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๕ นาที หรือ ๑ นาทีก็ยังดี
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่าเราเตรียมตัวก่อนตาย ถึงคราวตาย บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่น เวลาเรากำลังจะตายนั้น เราจะเห็นขันข้าวที่เคยไปใส่บาตร เห็นโบสถ์ เห็นวิหาร เห็นศาลาการเปรียญ เห็นเจดีย์ เห็นพระภิกษุสามเณร เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดา เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดจิตนี้ก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปสู่สุคติภพตามบุญญาธิการที่เราสร้างสมอบรมไว้ เหมือนกันกับเราหัดว่ายน้ำให้ชำนิชำนาญแล้ว เมื่อถึงคราวเรือล่ม ก็สามารถว่ายเข้าฝั่งได้ ไม่จมน้ำตาย แต่ถ้าเราไม่หัดระลึกให้ชำนิชำนาญอย่างนี้ ถึงคราวตายจึงจะมาระลึก มันระลึกไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะ
๑) ทุกขเวทนาเข้าครอบงำ
๒) ไม่อยากตาย
๓) ห่วงผู้อยู่ข้างหลัง
๔) ห่วงทรัพย์สมบัติ
เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ระลึกไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้ อกุศลกรรมที่เราทำไว้ก็มาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่น เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เห็นคนกำลังฆ่ากัน เห็นหนองน้ำ เห็นตมเห็นโคลน เห็นเปลวเพลิง เห็นนายนิรยบาล เห็นนรก เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดแล้วจิตนี้ก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปบังเกิดในอบายภูมิ เหมือนกันกับบุคคลที่ไม่เคยหัดว่ายน้ำให้ชำนิชำนาญ ถึงคราวเรือล่มจึงจะมาหัดว่ายน้ำ มันก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หมั่นสร้างสมอบรมคุณงามความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป
๑๔. นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงเสื่อม ท่านนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง เสื่อมได้เหมือนกันนะท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาธิหรือฌานที่ท่านทั้งหลายได้อยู่นี้ ถ้าเราไม่ทำทุกวันๆ มันเสื่อมได้ เมื่อเสื่อมแล้ว สมาธิหรือฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ เวลาเราตาย เราไม่ได้ตายในฌาน ก็ไม่สามารถที่จะไปบังเกิดในพรหมโลกได้
สมาธิหรือฌานนี้มีอานิสงส์เป็นอเนกประการ ไม่สามารถจะนับจะพรรณนาได้ เราสามารถจะนำมาใช้ได้ตามเจตนารมณ์ทุกอย่าง ถ้าเรามีความฉลาดในการใช้ แต่ใช้ให้เป็นอย่าเป็นแต่ใช้ คือสมาธินี้ หากว่าจำเป็นจริงๆ เราปวดท้องอย่างหนัก จะผ่าตัดไส้ติ่ง หรือโรคไส้เลื่อนอย่างนี้ ไม่จำเป็นที่จะใส่ยาชายาสลบ เราอธิษฐานจิตเข้าสู่สมาธิ ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต
โยมคนหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ เขาได้สมาธิ สามารถเข้าสมาธิออกสมาธิได้ตามต้องการ วันหนึ่งไปผ่าตัดไส้ติ่ง ถามคุณหมอว่า คุณหมอ จะใช้เวลานานเท่าใด หมอบอกว่าใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แกบอกว่า คุณหมอ ขอร้องอย่าใส่ยาชา ขอร้องอย่าใส่ยาสลบ แล้วก็อธิษฐานจิตเข้าสู่สมาธิ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทไปเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ชีวิต ก็เข้าสมาธิไป หมอก็ทำการผ่าตัด ครบ ๒ ชั่วโมงแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา หมอไปไหน นี่แหละท่านทั้งหลาย เหมือนกันกับไม่ได้ผ่าตัด โลหิตแม้แต่หยดเดียวก็ไม่ได้เพิ่ม
นี่แหละท่านทั้งหลาย สมาธินี้มีประโยชน์อเนกอนันต์ เหลือที่จะนับจะพรรณนาได้ ถ้าผู้มีสมาธิดี สามารถทำสมาธิได้ โรคประสาทก็จะไม่เกิด โรคความดันสูงก็จะไม่เกิด เรานั่งสมาธิเข้าสมาธิได้ โรคความดันสูง โรคประสาทนี้ ระงับไปทันที เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสมาธิหรือฌานนี้ไว้ อย่าได้ประมาท เวลาตายก็ขอให้ตายในสมาธิตายในฌาน
๑๕. ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดำเนินต่อๆไป จนกว่าจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานแล้วนั่นแหละ จึงจะนิ่งนอนใจได้ ถ้ากิเลสตัณหายังมีอยู่ ภพชาติของเราก็ยังมีอยู่ ไม่รู้ว่าเราจะเกิดกี่ภพ กี่ชาติ กี่กัป กี่กัลป์ จึงจะถึงนิพพาน เหตุนั้นขอให้เราทั้งหลายปฏิบัติต่อๆไป
ข้อนี้ขอให้ถือปฏิบัติตามที่พระเจ้าภัททิยะเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั่งอยู่บนคอช้าง บางครั้งก็เห็นฝูงช้าง บางครั้งก็เห็นฝูงม้า บ้างครั้งก็เห็นไพร่ฟ้าประชาชน บางครั้งก็เผลอไป หากว่าข้าพเจ้าตายไป จะไม่ไปสู่อบายภูมิหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทำไว้ให้ชำนิชำนาญแล้ว มหาบพิตรตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้มีความประสงค์จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆต่อไปนั้น พึงปฏิบัติดังนี้ คือ
๑) ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ
๒) ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ
๓) ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ
๔) ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคไว้เนืองๆ
๕) ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาแล้วเนืองๆ
๖) ระลึกถึงเทวธรรม คือธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดาเนืองๆ
ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า
เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อแสดงธรรมเทศนาเรื่อง โสฬสญาณ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา
อิทํ เม ธมฺมทานํ สาธุ ด้วยอานิสงส์ธรรมทานที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วในวันนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย โดยเฉพาะบุรพาจารย์ที่สร้างวัดวาอารามแห่งนี้มา และทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลายที่รักษาวัดวาอารามแห่งนี้มา ขอท่านทั้งหลายได้รู้ได้รับอนุโมทนา เหมือนดังที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆขึ้นไป สทา โสตฺถี ภวนฺตุ โน ขอคณะครูบาอาจารย์ทุกรูป นักปฏิบัติธรรมทุกท่าน ญาติโยมที่ปฏิบัติธรรมทุกคน จงเจริญสุขสวัสดี พิพัฒนมงคลในพระบวรพุทธศาสนาเป็นนิตย์ สถิตมั่นในสัจธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลพระนิพพาน ด้วยกันทุกท่านทุกท่านเทอญ
รับประทานวิปัสสนามา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้.