ญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ

ญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ

           ปัญญากำหนดพิจารณารู้จักแยกรูปแยกนามออกจากกัน

           อาจารย์ผู้สอบอารมณ์ถามเขาว่า “กำหนดง่ายไหม” ถ้าเขาตอบว่า “กำหนดง่าย” ก็แสดงว่าเขาโกหก เพราะการกำหนดบทพระกรรมฐานนั้นกำหนดยาก ถ้าเขาตอบว่า “กำหนดสบาย คิดก็ไม่คิด” ก็แสดงว่าคนนั้นสติหย่อน สติตามจิตไม่ทัน (เว้นแต่ได้ฌาน) (การไม่คิดมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ๑.สติตามจิตไม่ทัน ๒.เข้าฌาน) ถ้าเขาว่าไม่คิด ควรถามเขาดูว่า “เวลาคนอื่นคุยกันได้ยินเสียงไหม ได้ยินเสียงดังมากน้อยขนาดไหน

           หงุดหงิดไหม ได้ยินเสียงดังๆ สะดุ้งตกใจหรือเปล่า” (ถ้าตกใจแสดงว่ายังไม่ได้ฌานแม้แต่ฌานเดียว) ถ้าเขาตอบว่า “กำหนดยาก” ก็เข้าล็อคของเรา

           ถามต่อไปอีกว่า “ท้องพองกับท้องยุบเป็นอันเดียวกันหรือไม่” การตอบไม่คงที่ก็มี วันนี้ตอบอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ตอบอีกอย่างหนึ่งก็มี ถ้าเขาตอบว่า “อาการพอง-ยุบเป็นอันเดียวกัน” แล้ว ก็ยกตัวอย่างขึ้นมา เช่น การเดินจงกรม กำหนดขวาย่าง-ซ้ายย่าง อันเดียวกันหรือไม่ ถ้าเขาตอบว่าอันเดียวกัน ถามต่อไปอีกว่า “เท้าขวากับเท้าซ้ายนี้ก้าวไปพร้อมกันหรือไม่”

ถามทางจิต

          “เวลากำหนดท้องพองท้องยุบเอาอะไรมากำหนด” ถ้าเขายังไม่รู้ให้ถามเขาว่า “คนตายพูดได้ไหม” ตอบว่า “ไม่ได้” ถามว่า “ไม่ได้เพราะอะไร” ตอบว่า “เพราะไม่มีจิต”

           ถามว่า “เวลากำหนดท้องพอง-ยุบนี้ ใจที่กำหนดท้อง พอง-ยุบ เป็นใจเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “เป็นใจเดียวกัน” ถามว่า “แล้วใจบุญกับใจบาป ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ใจเดียวกันหรือเปล่า” ใจกำหนดท้องพองท้องยุบต้องเป็นคนละขณะกันจึงจะใช่ สอบท้องพอง-ท้องยุบ ขวาย่าง-ซ้ายย่างเสร็จแล้ว ถ้ามีเวลามาก ก็สอบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สอบไปหมดทุกทาง

           ถ้าพื้นฐานของการปฏิบัติดี มานะ ทิฏฐิก็ลดลงไปด้วย ถ้าพื้นฐานไม่ดีไม่ค่อยได้ผล หนักๆ เข้าก็หาว่าอาจารย์สู้เราไม่ได้ เสียผู้เสียคนเกิดทิฏฐิวิปลาสไปก็ได้ ถ้ามานะ ทิฏฐิกล้า เจ็บปวดนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่กล้าสู้ ถ้ามานะ ทิฏฐิลดลง ไปธุดงค์ก็ได้ไม่กลัวตาย

สอบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ถามทางตา

          “สีขาวกับตาเป็นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “เป็นอันเดียวกัน” แล้วให้เอาผ้าปิดตาไว้ ถามเขาว่า “เห็นหรือไม่” ถ้าตอบว่า “เห็น” หยุดสอบแค่นั้น แต่อย่าบอกว่าเป็นคนละอันกันอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้

ถามทางหู

          “หูได้ยินเสียงนกร้องไหม เสียงกับหูเป็นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “เป็นอันเดียวกัน” ถามว่า “คุณฟังเสียงวิทยุเทปอยู่ที่บ้านสนุกไหม เสียงวิทยุเทปติดหูมาไหม” ถ้าตอบว่า “ติด” ก็ถามว่า “ไหนลองฟังเสียงวิทยุเทปดูซิ” แล้วก็แนะให้สังเกตว่าขณะที่ฟังเสียงแล้วดีใจ เสียใจ กลุ้มใจมีหรือเปล่า แนะให้สังเกตกำหนดดูให้รู้

ถามทางจมูก

          “จมูกกับกลิ่นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “อันเดียวกัน” ถามว่า “กลิ่นติดจมูกมาหรือไม่”

ถามทางลิ้น

          “ลิ้นกับรสอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “อันเดียวกัน” ถามว่า “รสเผ็ด รสเค็ม เป็นต้น ที่เกิดจากอาหารที่เราบริโภคติดอยู่ที่ลิ้นหรือไม่”

ถามทางกายสัมผัส

          “เสื่ออ่อนไหม” ถ้าเขาตอบว่า “อ่อน” ถามเขาว่า “อ่อนกับกายอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบว่า “อันเดียวกัน” แล้วก็ถามว่า “สัมผัสอ่อนนั้นติดกายไปด้วยหรือเปล่า” สอบเสร็จเป็นลำดับๆ ไป

           ในการสอบอารมณ์ ถ้ามีเวลามาก ให้ถามรูปกับนามควบคู่กันไป เช่น ถามตากับรูปและความรู้สึก ๓ อย่างนี้เป็นอันเดียวกันหรือไม่

           ตา+สี เกิดความรู้สึกขึ้น ให้ถามว่า “ตาเป็นรูปหรือเป็นนาม สีเป็นรูปหรือเป็นนาม ความรู้สึกเป็นรูปหรือเป็นนาม ตา สี และความรู้สึกทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นอันเดียวกันหรือไม่”

           หู+เสียง เกิดความรู้สึกขึ้น………………..ฯลฯ

           จมูก+กลิ่น เกิดความรู้สึกขึ้น………………..ฯลฯ

           ลิ้น+รส เกิด ความรู้สึกขึ้น…………………….ฯลฯ

           กาย+ผัสสะ เกิดความรู้สึกขึ้น ถามเขาว่า “กายเป็นรูปหรือเป็นนาม ผัสสะเป็นรูปหรือเป็นนาม ความรู้สึกเป็นรูปหรือเป็นนาม และกาย ผัสสะ และความรู้สึกทั้ง ๓ นี้เป็นอันเดียวกันหรือไม่” ถ้าเขาตอบถูก ก็เทศน์โปรดเขาต่อ เช่น การปฏิบัติธรรมนี้ต้องตั้งใจสำเหนียกรูปนามที่เกิดขึ้นให้เห็นชัดให้เห็นรูป กับนามเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะใช้ได้ สิ่งเหล่าใดสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งเหล่านี้เป็นรูป (ลิ้นสัมผัสกับโอชารส)

           ถ้าผู้ถูกสอบอารมณ์ถามขึ้นว่า “ผมตอบถูกไหม” พึงตอบเขาไปว่า “จะถูกหรือไม่ไม่เป็นไรหรอก อาจารย์ต้องการทราบถึงความรู้สึกในเวลานี้เท่านั้น”

           สอบอารมณ์ขั้นต่อไป คือสอบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับขันธ์ ๕ หมายความว่า ขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจรู้ธรรมารมณ์ การกระทบกันของอายตนะเหล่านี้แต่ละครั้ง ขันธ์ ๕ (ย่อก็คือ รูปนาม) ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกันทุกครั้ง เช่น

           ตาเห็นรูปคน ตาและรูปนั้นจัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อเห็นคนแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ถ้าจำได้ว่าคน จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นคนดีหรือว่าเป็นคนไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และการเห็นเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า จักขุวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์

           หูกับเสียง จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อได้ยินเสียงแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำเสียงได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นเสียงดีหรือว่าเป็นเสียงไม่ดีจัดเป็นสังขารขันธ์ และการฟังเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่าโสตวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์

           จมูกกับกลิ่น จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อได้กลิ่นแล้วรู้สึกดีใจเสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำกลิ่นได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นกลิ่นดีหรือว่าเป็นกลิ่นไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และการดมกลิ่นเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า ฆานวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์

           ลิ้นกับรส จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อได้รับรสแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจหรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำรสได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นรสดีหรือว่าเป็นรสไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และการลิ้มรสเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า ชิวหา วิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์

           กายกับโผฏฐัพพะ จัดเป็นรูปขันธ์ เมื่อกายถูกต้องโผฏฐัพพะแล้วรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำการถูกต้องโผฏฐัพพะได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าใจปรุงแต่งให้รู้ว่าการถูกต้องโผฏฐัพพะนั้นดีหรือไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ และความถูกต้องเป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่า โผฏฐัพพวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์

           ใจกับธรรมารมณ์ หทัยวัตถุ จัดเป็นรูปขันธ์ ธรรมารมณ์เป็นนาม เมื่อใจถูกต้องกระทบอารมณ์ เกิดความรู้สึกดีใจเสียใจ หรือเฉยๆ จัดเป็นเวทนาขันธ์ ความจำการกระทบอารมณ์นั้นได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ การปรุงแต่งใจให้รู้ว่าอารมณ์นั้นดีหรือไม่ดี จัดเป็นสังขารขันธ์ การรับรู้อารมณ์เป็นจิตดวงหนึ่ง เรียกว่ามโนวิญญาณจิต จัดเป็นวิญญาณขันธ์

           ถ้าไม่มีสติกำหนด ขันธ์ ๕ ไม่เกิด

           ถ้ารูปนามขันธ์ ๕ ไม่ชัด มานะ ทิฏฐิจะแรงกล้ามาก เราจะต้องแก้ด้วยวิธีพูดให้เขาเจ็บใจมากๆ แล้วความโกรธก็จะเกิดขึ้น เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว สมาธิก็ลดลงทันที สภาวะต่างๆ ช่วงนั้นจะหายไป แล้วเขาก็จะเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้

           ถ้ารูปนามขันธ์ ๕ ชัด ตายก็ยอมตาย ขาขาดเอาคางเกาะไป เมื่อรูปนามชัด จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่มีอะไรดี มีแต่รูปนามเท่านั้น บางท่านจะไม่ยอมเรียกชื่อตนเอง เพราะเห็นแต่รูปแต่นามเท่านั้น ใช้อนัตตาแทนชื่อตัวเองบ้าง

           ญาณนี้อย่าปล่อยให้ผ่านเร็วมากนัก ให้ใจเย็นๆ สอบให้ละเอียดๆ ถ้าจะไปเพิ่มบทพระกรรมฐานเข้าไป จะเกิดความฟุ้งซ่าน ถ้าผ่านแล้วก็เพิ่มบทจงกรมเข้าไปอีก ญาณจะผ่านช้าหรือเร็วแล้วแต่บารมี

           ญาณที่ ๑ ถ้าตายในขณะที่อยู่ในญาณ หรือเวลาที่จะตาย เรามีสติกำหนดท้องพอง ท้องยุบ ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ เวลาตายจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๑ ชาติ ถ้าไม่ประมาท เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิ

นามรูปปริจเฉทญาณ จบ