ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ
ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ คือกำหนดยกรูปนามขึ้นพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ให้อาจารย์ผู้สอนถามทวนหลังก่อนว่า “กำหนดดูอาการ พอง-ยุบ ชัดเจนดีไหม พอง-ยุบ นี้มีกี่ระยะ” เมื่อเราถามเขา บางคนก็นั่งคิดก่อน บางทีก็บอกว่าไม่ได้สังเกต ถ้าเขาไม่ได้สังเกตต้องเตือนให้เขาสังเกต บางคนตอบออกมาเลยว่าเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง และถามว่า “เวลากำหนดพองยุบ อาการฝืดๆ แน่นๆ จนกำหนดไม่สะดวก มีไหม” บางท่านก็พูดขึ้นมาเอง และบางท่านไม่ยอมปฏิบัติต่อเกรงว่าจะตาย หรือได้รับอันตรายจากการปฏิบัติ (อาการเหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นมานิดเดียวก็หายไป เช่น อาการพอง-ยุบฝืดๆ แน่นขึ้นๆ แล้วหายไป ไม่สัปหงก เป็นญาณที่ ๓ ถ้าฝืดๆ แน่นขึ้นๆ แล้วสัปหงกลงไป เป็นญาณที่ ๔) เหล่านี้เป็นอาการของทุกขัง นอกจากอาการฝืดและเร็วแล้ว มีอะไรอีกบ้างไหม เวลาเรากำหนดดูอาการพอง-ยุบไปๆ อาการพอง-ยุบเล็กลงๆ เท่ากับเส้นด้ายเหมือนใจจะขาดมีไหม (เมื่อเล็กเข้าๆ แล้วหายไป อยู่ในญาณที่ ๓ แต่ถ้าเล็กเข้าๆ แล้วสัปหงกไป นี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔) สิ่งเหล่านี้เป็นอาการแสดงชัดของอนัตตา อนัตตาปรากฏชัด
นักปฏิบัตินี้ส่วนมากติดอยู่ในญาณที่ ๓ นี้ เพราะญาณนี้เป็นน้ำหวานทำให้ยึดมั่นถือมั่น
ถามเรื่องนามทางใจ เช่นถามว่า “คิดมากหรือเปล่า” หรือปกติบางครั้งเขาก็บอกมาเองว่าคิดมาก ๕ นาทีนี้คิดเป็นร้อยๆ เรื่อง คิดแต่เรื่องจะทำบุญ ทำทาน คิดมากจนผิวคล้ำ (ถ้าต้องการให้หยุดคิด ต้องทำให้สมาธิอ่อนกำลัง เช่น พูดให้เจ็บใจเป็นต้น) ถามว่า “เวลาคิดมากนี้กำหนดไหมว่ามันเริ่มคิดขณะต้นพอง กลางพอง หรือสุดพอง และมันหยุดคิดและเปลี่ยนเรื่องคิดขณะไหน ขณะต้นพอง กลางพอง หรือสุดพอง” ให้สังเกต เดินจงกรมก็เหมือนกัน ให้รู้และพยายามสังเกตว่าเราคิดขณะไหน ขณะยก ย่าง เหยียบ และเปลี่ยนเรื่องคิดหยุดคิดขณะไหน ให้พยายามสังเกตให้รู้ พยายามจำให้ได้ เวลาเดินจงกรม ถ้าคิดมากต้องให้หยุดกำหนดที่จิตเสียก่อนว่า “คิดหนอๆๆ” จี้ลงตรงหทัยวัตถุ อาการคิดมากนั้นเป็นเพราะจิตใจของเราก็เป็นพระไตรลักษณ์ได้เหมือนกัน อาการเหล่านี้อยู่ในญาณที่ ๓ อุปกิเลส ๑๐ ประการจะเกิดขึ้นในญาณนี้
อาจารย์ผู้สอนถามว่า “เวทนามีไหม ได้กำหนดเวทนาไหม กำหนดกี่ครั้งจึงจะหาย หรือไม่หายเลย หรือยิ่งปวด” ถ้าอยู่ในญาณนี้กำหนดไม่หาย บางครั้งแทนที่จะปวดขาข้างล่างกลับปวดขาข้างบนก็มี เห็นนิมิต เช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ โบสถ์ ฯลฯ สภาวะของญาณนี้ ถ้าเป็นพระแก่ หลวงปู่ หลวงตา จะเห็นบุคคลนั้นบุคคลนี้เอาของมาถวาย บางครั้งฉันไปแล้วก็มี แถมยังกลัวตายด้วย เพราะคิดว่าเราฉันของผี ถ้าเป็นเช่นนี้ให้เขากำหนด (ถ้ากำหนด ๗-๘ ครั้งหาย แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓ ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งหาย อยู่ในญาณที่ ๔) และญาณนี้มีอาการพยักหน้า สั่นศีรษะ เป็นสภาวะตายตัว
อุปกิเลสที่เกิดขึ้นในญาณที่ ๓
๑.โอภาส แสงสว่าง สอบถามว่า “นั่งไปมีแสงสว่างไหม” เช่นเท่าแสงตะเกียง เท่าตารถยนต์ ตารถไฟ พุ่งออกจากตัวเรา พุ่งจากด้านนอกมาหาตัวเราบ้าง ถูกตัวเราล้มไปบ้างก็มี แสงสว่างพุ่งออกจากตาจากศีรษะ บางครั้งก็เห็นอสุภะชัดเจนแจ่มแจ้ง มองเห็นทะลุเข้าไปในร่มผ้าก็มี นั่งอยู่ในห้องเห็นพระปฐมเจดีย์ จนถึงอเมริกา ฯลฯ เป็นต้น บางรูปปิดประตูไว้เหมือนคนมาเปิดประตูออก บางรูปนั่งอยู่ในห้องมืดๆ เกิดแสงสว่างจนสามารถมองเห็นตัวเอง เดินจงกรมตอนเช้าเงาน่าจะไปทางทิศตะวันตก แต่กลับมาอยู่ทางทิศตะวันออก คือเงากลับไปอยู่ด้านตรงกันข้าม (ถ้าแสงเท่ากับแสงหิ่งห้อย ตารถยนต์ ตารถไฟ นี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓ สว่างมากเหมือนดวงเดือน ดวงจันทร์ ตะเกียงเจ้าพายุ แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔)
๒.ปีติ ความอิ่มเอิบใจ ภาคภูมิใจ ความดื่มด่ำ เป็นอาหารของจิตใจ จะปฏิบัติธรรมต้องมีปีติเกิดขึ้นก่อน ถ้าไม่มีปีติเกิดขึ้นก่อน ปฏิบัติไม่ได้
การไม่ฉันอาหารอยู่ได้
การที่จะไม่ฉันอาหารอยู่ได้เป็นนานๆนั้น ต้องมีอุบายคือต้องอธิษฐานจิตว่า “ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓๐ นาที พร้อมกันนี้ขอให้เกิดปีติธรรมเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจของข้าพเจ้า ให้มีความกระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง พร้อมนี้ขอโรคภัยไข้เจ็บอย่าได้เกิดมีขึ้นแก่ข้าพเจ้าเลย” วันหนึ่งทำประมาณ ๑-๓ ครั้ง เช้า-เที่ยง-เย็น เวลาอดอาหารไม่ให้ฉันนั้นอัดลม น้ำนม เพราะจะทำให้ท้องร่วง แต่น้ำเปล่านี้ต้องฉันให้มากๆ ถ้าได้ฉันน้ำอ้อย จะรู้สึกเย็นไปตามร่างกายอยู่ได้ ๓ เดือน ผลเสียเวลาเลิก จะป่วยก็ป่วยตรงนี้ เวลาเลิกให้ฉันข้าวต้ม ฉันของอ่อนๆ ก่อน แต่อย่าฉันมากและอย่าฉันข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว และของที่ย่อยยาก วันแรกฉันน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้นๆ อย่าอดน้ำเป็นอันขาด ไม่ถึง ๗ วันตาย
หลวงพ่อขอรางวัลในการบวชตลอดชีวิต ๓ อย่าง คือ ๑.ดำดินได้ ๒.ย่อแผ่นดินได้ ๓.เดินบนน้ำได้
โอภาสกับปีติเกิดพร้อมกัน จะเป็นอภิญญาน้อยๆ นึกอะไรจะเป็นไปตามความคิด เช่น อยากจะทราบว่าในอดีตชาติ ใครเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นบุตร ภรรยา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น ก็สามารถที่จะทราบได้ โอภาสกับปีติเกิดพร้อมกันเล่นอภิญญาได้ ฉันข้าวเผื่อคนอื่นก็ได้ เช่น อธิษฐานว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ข้าพเจ้าฉันข้าว ๑ คำ ขอให้โยมคนนั้นอิ่ม ๒ คำ หรือว่าขอให้โยมคนนั้นอิ่มเหมือนข้าพเจ้าด้วยเถิด” เอาผ้ามัดตา อ่านหนังสือก็ใช้ตัวนี้ ไม่ได้เอาพวกจบสมาบัติมาหรอกอธิษฐานให้ผู้อื่นหัวเราะ ร้องไห้ ยืนตากแดด อธิษฐานสะกดจิตเอาเงิน รถ ทรัพย์สินต่างๆ ฯลฯ ตามต้องการ
ปีติมี ๕ อย่าง คือ ขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ ผรณาปีติ
ถ้าเป็นจำพวกสีต่างๆ
ขุททกาปีติ (ปีติเล็กๆ น้อยๆ) จะเห็นเป็นเหมือนสีขาวคล้าย ปุยฝ้าย
ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ) จะเห็นเป็นสีแดงหรือแสงอาทิตย์ แรกอุทัย
โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือเป็นพักๆ) จะเห็นเป็นสีไข่มุก
อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดโผน) จะเห็นเป็นสีเหลืองอ่อนดอกผักตบ
ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน) จะเห็นเป็นสีคราม สีเขียวตองอ่อน สีแก้วมรกต สีน้ำเงิน
ถ้าเป็นจำพวกอื่นๆ เช่น
ขุททกาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ขนลุก น้ำตาไหล ตัวชา ตัวใหญ่ขึ้นเต็มห้องก็มี ตัวเล็กลงๆ มากๆ ก็มี ฟันยาว แขนยาว ขายาว ฯลฯ
ขณิกาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นเหมือนฟ้าแลบ เหมือนขีดไฟแช็คที่ไม่ติด มีแต่แสงแลบแปลบๆ เหมือนตัวไรมาไต่ตามหน้า จะเข้าหู หรือแมลงค่อมทอง (แมลงเม่า) ไต่ตามตัว
โอกกันติกาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ตัวไหว ตัวโยกโคลง เอน นั่งไม่ตรง เวลาปฏิบัติต้องช่วยดันไว้จึงจะได้สมาธิมีอาการไหว เช่น ไหวไปตามตัว เช่น แขนไหวดิ๊กๆ หรือกล้ามเนื้อบางส่วนกระตุกดิ๊กๆ
อุพเพงคาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้กายสูงขึ้นไปถึงครึ่งฟ้า มองเห็นจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ มองเห็นหมด ตัวเบาตัวลอย เวลานั่งนี้ ตัวค่อยๆ ลอยขึ้นไปๆ จรดขื่อเรือนแล้ว ลอยลงมา เป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าประคองจิตไม่อยู่จะลอยตัวขึ้นอย่างแรงไปกระแทกเข้ากับขื่อเรือน ตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรงก็มี เกิดอาการลงท้องถ่ายเป็นโลหิต ผงะไปด้านหน้าบ้าง ด้านหลังบ้าง ด้านซ้ายบ้าง ด้านขวาบ้าง เหมือนมีคนมาจับคอหมุนมักเคี้ยวปากเปล่า โดยเฉพาะคนแก่ที่กินหมาก สำหรับคนแก่ผู้เฒ่า แม้จะตั้งใจเดินจงกรมให้ตรง ก็ไม่สามารถจะเดินให้ตรงได้ กายกระตุก ยกมือ ยกเท้า สั่นมือ สั่นเท้า จิตอาจเกิดขึ้นหลอกพร้อมก็มี
ผรณาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เย็นซาบซ่านทั่วสรรพางค์กาย ห่มผ้าก็ไม่อุ่น เหมือนปลาไหลชอนเข้าเท้าเย็น วูบถึงศีรษะ ชอนเข้าศีรษะเย็นวูบลงไปถึงเท้าก็มี บางท่านเกิดมากมายหลายอย่าง บางท่านเกิดน้อย เกิด ๑-๒ อย่างก็ให้ได้
๓. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น เมื่อปัสสัทธิเกิดขึ้นแล้วบางท่านมีอาการคล้ายกับเข้าผลสมาบัติ แต่หูยังได้ยินอยู่สงบเงียบเข้าไป สมาธิก็ดี จำอารมณ์ต่างๆ ได้สบาย สมองปลอดโปร่ง คิดอะไรได้หมด แต่งกาพย์แต่งกลอนเก่ง เทศน์ ๓ วันไม่จบ (หลวงพ่อเทศน์ ๗ วันยังไม่จบเลย) คิดว่าจะไปโปรดโยมพ่อโยมแม่ เพียง ๑ วันเท่านั้น ก็สามารถที่จะทำได้ แต่ถ้าเวลาสภาวะตัวนี้สงบแล้ว ทำให้ฆ่าตัวเองตายได้ บุคคลผู้สูบบุหรี่ กินหมาก มาถึงตรงนี้จะหยุดเอง
๔. สุข ความสุขสบายใจ เมื่อสุขเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เพลิดเพลินสนุกสนาน เกิดความภาคภูมิใจ ไม่อยากจะออกจากห้องกรรมฐาน นั่งไปจะเห็นอาจารย์ พระอรหันต์ พระอสีติมหาสาวก พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ตลอดจนพระพุทธเจ้า เกิดความคิดขึ้นมาว่าเราควรจะไปฟังเทศน์ของพระอรหันต์ของ พระพุทธเจ้าดีกว่า นึกอย่างไรก็จะเห็นอย่างนั้น อาการเหล่านี้เกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ให้ได้ ไม่ต้องเกิดทั้งหมด
๕. ศรัทธาอธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ศรัทธาแก่กล้าความปลงใจเชื่อ เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้คิดถึงผู้ใกล้ชิดเสียก่อน เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร ภรรยา เป็นต้น อยากให้มาปฏิบัติ คิดอยากทำบุญ ทำทาน คิดอยากโฆษณาธรรม คิดอยากชักชวนคนอื่นให้มาปฏิบัติธรรม เหล่านี้เป็นต้น (เวลาปฏิบัติธรรมหน้าหนาว หลวงพ่อขอให้ญาติโยมเกิดศรัทธาเป็นสัมมาทิฏฐิก็พอแล้ว)
๖. ปัคคาหะ ความเพียร เมื่อความเพียรเกิดขึ้นแล้วจะเกิดความขยันขันแข็งขึ้นมาเอง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติ นั่งตากแดด ยืนขาเดียว ส่วนมากจะคิดมาก มีความเพียรอย่างเดียว สติหย่อน ให้กำหนดว่า “คิดหนอๆๆ” อย่างเดียว ถ้าไม่หายคิด ให้เลิกปฏิบัติชั่วคราวก่อน
๗. สติ (อุปัฏฐานะ) สติแก่กล้า สติเข้าไปปรากฏชัดทำให้มีความคิดขึ้นว่าเราจะไปตั้งห้องกรรมฐาน เราจะเทศน์ให้ดีสอนให้ดี
๘. ญาณ ความหยั่งรู้ คนเรียนปริยัติ โดยเฉพาะพระอภิธรรม จะชอบวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบธรรม ถ้าหลวงพ่อเทศน์ผิดไปตัวเดียวก็ติแล้ว
๙. อุเบกขา ความวางเฉย ความมีใจเป็นกลางต่อความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง หายไปหมดในขณะนั้น มีความสุขใจ ชุ่มฉ่ำใจ เหมือนกับเอาใจไปแช่ไว้ในน้ำผึ้งฉะนั้น
๑๐. นิกันติ ความพอใจรักใคร่ติดใจในอารมณ์ของอุปกิเลสตั้งแต่ ๑-๙ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วชอบใจ อยากให้เกิดขึ้นมาอีก
ทบทวนอุปกิเลส ๑๐ ประการ
โอภาส เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นึกว่าตนได้บรรลุมรรคผล ได้ดวงตาเห็นธรรม อย่างเช่นเมื่อเห็นแสงสว่างเป็นลูกกลมๆ นึกว่าดวงธรรม เป็นต้น
ปีติ บางอย่างเกิดความท้อแท้ใจก็มี เกิดความภาคภูมิใจก็มี ได้ยินเสียงของพวกเปรต เทวดา อมนุษย์ ได้ยินเสียง พูดข้างหน้า ข้างหลัง หรือทั้งสองข้างเป็นต้น บางครั้งหูข้างหนึ่งฟังเสียงนรก ฟังเสียงอมนุษย์ หูอีกข้างหนึ่งฟังเสียงของเทวดาเป็นต้นก็มี เข้าใจผิดคิดว่าตนได้ทิพยโสตะก็มี
ปัสสัทธิ เข้าใจผิดไปบ้างก็มี เพราะนั่งเวลาไหนก็ได้แต่สมาธิ ยืนกำหนดก็ได้แต่สมาธิ ทำอย่างก็ได้แต่สมาธิ จิตไม่แล่นไปทางโน้นไม่ไปทางนี้ จิตอยู่กับคำบริกรรม เข้าใจว่าตนเข้าผลสมาบัติได้แล้วเป็นต้นก็มี
ศรัทธา ส่วนมากเมื่อเกิดศรัทธาแล้ว ชอบทรมานตนยืนขาเดียว อดอาหาร เป็นต้น โทษของการอดอาหารทำให้ระบบมันสมองส่วนกลางเสื่อม ความจำเสื่อม (ตัวอย่างหลวงพ่อ)
ความเพียร ความเพียรเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้คิดมากอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคประสาท เป็นโรคความดันสูง ในที่สุดอาจถึงเป็นบ้าได้
สติ สตินี้ถ้ามีมากเกินไป หากมานะ ทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้เกิดร่วม ก็เป็นเหตุให้คิดมากทิ้งอารมณ์ปัจจุบันได้
ญาณ ญาณนี้อวดดีสู้ครู ความรู้กล้า (โดยเฉพาะบุคคลผู้ปรารถนาพุทธภูมิ จะไม่ยอมฟังใครเลย)
หลวงพ่อพูดประสบการณ์ให้ฟังว่า ทุกวันนี้จะว่าเป็นความฝันก็ไม่ใช่ กำหนดนอนไปแวบเดียว ไปเที่ยวสวรรค์มาแล้ว ๖ ชั้น ในลักษณะเช่นนี้ ถ้าเป็นมโนมยิทธิแท้ เมื่อจะออกจากร่าง จะเห็นรูปนามแยกออกจากกัน เมื่อรูปนามแยกออกจากกันแล้ว เหลียวกลับมาจะเห็นร่างกายของตนนั่งอยู่ ตัวของเราจะเบา
ญาณที่ ๓ นี้ผ่านยาก บางท่าน ๑๕ วัน ๑ เดือน ๑ ปี ไม่ผ่านเอาเสียเลยก็มี
คู่มือสอบอารมณ์เป็นดาบสองคม ถ้าไม่สนใจปฏิบัติจริงเพื่อพ้นทุกข์จริงๆ หลวงพ่อไม่ให้ ครูบาอาจารย์ผู้ที่ได้ไปแล้วไม่รักษา ปล่อยให้ลูกศิษย์เห็น อ่านแล้วทิ้งเกะกะ เหมือนเศษกระดาษ เวลาปฏิบัติจ้องเกินไปจิตใจกระเพื่อม
เรื่องทรัพย์ในดินสินในน้ำเคลื่อนที่ได้ ถ้าไม่เชื่อลองฝังลึกประมาณ ๑ เมตร ทิ้งไว้สักปีหนึ่งสองปีแล้วกลับมาดูใหม่ บางครั้งเคลื่อนไปประมาณ ๑ เมตรบ้าง ๒-๓ เมตรบ้าง ถ้าฝังลึกเกินไป พวกอมนุษย์ก็จะเคลื่อนไปได้
การเสกมะนาวหาทรัพย์ในดินสินในน้ำ เสกมะนาวแล้วก็กลิ้งไป ถ้าทรัพย์ไม่มี เมื่อหมดกำลังส่งมะนาวก็จะหยุดกลิ้งแต่ถ้าจุดไหนมีทรัพย์ มะนาวจะหมุนไม่ยอมหยุด เมื่อรู้แล้วก็กางฝ้ายพรหมจารีขุด ถ้าเจ้าของเขาไม่ให้ ฟ้าจะผ่าเปรี้ยง (ฟ้าผ่าแล้ง) เมื่อรู้ว่าเจ้าของไม่ให้แล้ว เราก็ทำน้ำมนต์ต้มให้จืดเสียก่อนจึงค่อยเอา ในขณะได้ทรัพย์มาใหม่ๆ มีใครคิดโกงก็ให้เขาไปเลย มาไม่ถึงบ้านหรอก ถูกผีบีบคอตายกลางทาง ไม่งั้นคนที่อยู่ทางบ้านก็ตายแล้ว
อุปกิเลส ๑๐ ประการนี้เป็นของดี แต่เพราะตัณหา มานะทิฏฐิเกิดร่วม จึงจัดเป็นอุปกิเลส
ผู้ปฏิบัติธรรมบางคน บางท่าน บางองค์มีบารมีไปทางสมถะบ้าง มีบารมีไปทางวิปัสสนาบ้าง
เมื่อเกิดอุปกิเลสต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้ากำหนด ๓-๔ ครั้งหาย แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๔ ถ้ากำหนด ๗-๘ ครั้งจึงหาย แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓
เวลาปฏิบัติ จิตเป็นอิสระเลยคิดสร้างเรื่องที่เป็นมหากุศล
๑. โอภาส
๒. ปีติ
๓. ปัสสัทธิ…..เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้เป็นวิปัสสนา ๑๕% จึงจัดเป็นสมถะ
๔. สุข
๕. ศรัทธา
๖. ความเพียร
๗. สติ
๘. ญาณ….ปฏิบัติมาถึงตรงนี้ ตรงเข้าวิปัสสนาญาณเลย
๙. อุเบกขา
๑๐. นิกันติ
ปีติ ๕ เหล่านี้เป็นสมถะ
สมาธิหน้าหนาวเป็นสมถะ เว้นผู้ผ่านมรรคผล เมื่อได้สมาธิแล้วฝึกวสีให้ชำนาญ เวลาจะเข้าสมาธิอย่าอธิษฐานสมาธิปล่อยให้เข้าสมาธิไปตามธรรมชาติของมัน เพราะถ้าอธิษฐานแล้ว จิตใจจะโน้มไปในสมาบัติ แต่ขอให้จำให้ได้ว่าเวลาเข้าสมาธินั้น เข้าเวลาไหน เวลาต้นพอง กลางพอง หรือสุดพอง กำหนดจงกรม กำหนดถึงขณะไหน ขณะเท้าย่าง ยกเท้า หรือเหยียบเท้า เหล่านี้เป็นต้น ขอให้จำให้ได้ แต่ถ้าบารมีเคยอบรมวิปัสสนามาแต่ปางก่อน มาถึงญาณ (ในอุปกิเลส ๑๐) ก็จะต่อวิปัสสนาเลย
สัมมสนญาณ จบ