ญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ

ญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ

           ปัญญากำหนดพิจารณาปรารถนาอยากจะออก อยากจะหนีไปจากรูปนาม บ้านเราเรียกว่าญาณน้อยใจ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าญาณม้วนเสื่อม้วนหมอน อยากออกอยากหนี

           ผู้ปฏิบัติถูกเขาพูดให้นิดเดียวกลุ้มใจทั้งวันก็มี อาการน้อยใจ เช่น เราสอบอารมณ์ไปถามไป เขาตอบมา เราแกล้งพูดว่า “จำคำพูดมาจากคนนั้นคนนี้หรือเปล่า” แค่นี้ก็ร้องไห้แล้ว ถ้าญาณนี้เกิดแก่กล้า สภาวะจะรุนแรงมาก กลัวจะด่วนตัดสินใจเร็วเกินไป เช่นเลิกการปฏิบัติไปทันที สึกทันที ถ้าเกิดแรงกล้าถึงกลับฆ่าตัวตายได้ อาจารย์ผู้สอนต้องระมัดระวัง เช่นการพูดการคุย การเทศน์การสอน ต้องเป็นสัปปายะแก่เขา ถ้าผู้ปฏิบัติรู้ว่าวันนี้อยู่ญาณที่ ๘ พรุ่งนี้จะขึ้นญาณที่ ๙ ต้องให้คอยระวัง ถ้าในขณะนั้นเกิดขโมยหนีไปสึกทำผิดต้องอาบัติถึงปาราชิก ไม่ต้องให้กล่าวคำลาสิกขาเพราะขาดไปแล้ว การถาม ถ้าเขาตอบไม่ถูก ต้องถามไปทีละข้อๆ เช่น “มีอาการคันตามตัวไหม” ถ้าญาณนี้เกิด ส่วนมากจะตอบว่า โอย…คันมากเลยครับอาจารย์ เกาจนเลือดออกเลย ถ้าอาการคันนั้นเล็กๆ น้อยๆ แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๓ ถ้าคันมากก็ให้เขากำหนดไปเดี๋ยวก็หาย บางทีขาบวม ตั้งใจกำหนดไป เดี๋ยวมันก็หายเอง บางทีเป็นตัวตะขาบ ตัวบุ้ง ตัวหนอน แมลงป่อง งู เป็นต้น ไต่ เลื้อยตามตัวของเรา บางทีต้องแก้สบงสะบัดหาแมลงต่างๆ ก็มีนี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๘ ถามต่อไปว่า “เวลานั่งสมาธินั่งได้ดีอยู่หรือเปล่า” บางท่านตอบว่าผมนั่งไปค่อยได้ มีแต่อยากเดิน แล้วให้ถามว่า “เวลาเดินกำหนดไหม” ถ้าผู้ปฏิบัติตอบว่ากำหนดบ้าง ไม่กำหนดบ้าง เดินนั่งไม่ค่อยกำหนด ตั้งใจว่าจะนั่ง ๓๐ นาที นั่งได้แค่ ๕ นาทีต้องข่มใจไว้ พอได้อีก ๒ นาทีก็ข่มใจไว้อีก บางทีข่มใจไม่ได้ลุกขึ้นไปเลยก็มี ผู้ปฏิบัติอยากจะเหยียดขา ล้มหัว อยากนอน นี้แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๙

           ต้องคอยระวังสังวรพวกภิกษุที่เคยติดยามาก่อน เช่น พวกยาบ้านี้ เวลาขึ้นมาจริงๆ จะเอาไม่ค่อยอยู่ ถ้ามีพวกติดยาเสพติดมาขอบวช ต้องให้รักษาให้หายเสียก่อน ยารักษา เช่น ปลาไหลเผือก นางแซงแดงก็ได้ นางแซงขาวก็ได้ และฮังฮ้อนฝนรวมกันเอาใส่น้ำ ให้ฉันหายได้ วิธีรักษาผู้ติดยาเสพติดที่มาหา ให้ตั้งขัน ๕ ดอกไม้ธูปเทียน ขัดสัคเคเทวดา ตั้งนโม ๓ จบ แล้วให้กล่าวว่า “ต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าข้าพเจ้าไม่เลิกจาก……………………….ขอให้ข้าพเจ้าตายถ้า ข้าพเจ้าปฏิบัติได้ ขอให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้งครอบครัวจงเจริญ” เป็นต้น

           สรุป ญาณนี้จะนั่งไม่ได้นาน การปฏิบัติของผู้ปฏิบัติตั้งแต่เกิดญาณนี้ จะนั่งไม่ค่อยได้นาน นั่งไม่ดี กำลังนั่งอยู่ หัวใจเทศน์ปุจฉาวิสัชนาถาม-ตอบกันไปมาไม่หยุดเลยก็มี คิดมากก็มีอย่างนี้ให้ได้ ถามว่า “ในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้คิดจะออกจากการปฏิบัติ หรือคิดจะปฏิบัติต่อ” บางท่านขอลดเวลาลง ขอให้มีวันเสาร์วันอาทิตย์ก็มี ถ้าลักษณะของการเจ็บป่วย ญาณที่ ๗ นี้ทนได้อยู่ ญาณที่ ๘ ก็ทนได้อยู่ พอมาถึงญาณที่ ๙ ต้องไปหาหมอทนไม่ได้ บางคนก็นอนตรอมใจ ขอลากลับบ้าน ถ้าไม่ให้กลับจะไปกระโดดน้ำตาย เหล่านี้เป็นต้น บางทีหลวงพ่อก็ปลอบอยู่ บางคนก็ไปเลย ญาณนี้เป็นญาณที่จะต้องคอยระมัดระวัง รู้จักปลอบโยน หาคำพูดดีๆ มาพูด อย่าดุด่า บางท่านครูบาอาจารย์ไม่พูดด้วยเท่านั้นก็ผิดใจ กล่าวว่าแต่ก่อนครูบาอาจารย์ก็ถามดีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถามเราเลย คือจะค้นเรื่องอดีตมาพูดกัน บางคนคิดว่าเราคงหมดบุญวาสนาบารมีแล้วหนอ เอาแค่นี้พอเป็นอุปนิสัยก็พอแล้ว สำหรับพระเณรที่ปฏิญาณตน เมื่อมาถึงญาณนี้ อยากสึก เอาไม่อยู่ สึกไปจริงๆ ก็มี

มุญจิตุกัมยตาญาณ จบ