ญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณ
ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนามคือเมื่อ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย ไม่รื่นเริงเพลิดเพลินหลงใหลในรูปนาม
ให้ถามผู้ปฏิบัติว่า “จิตใจกระฉับกระเฉงไหม” บางท่านเมื่อญาณนี้เกิดแล้วจะตอบว่า โอย…เดี๋ยวนี้จิตใจห่อเหี่ยว อยากอยู่ในที่สงบให้จงได้ ถามว่า “กำหนดดีไหม พอใจในการกำหนดไหม หรือข่มใจกำหนด” ถามเวลาเดิน นั่ง ว่า “พอใจทำหรือข่มใจทำ ทานอาหารอร่อยไหม” บางท่านทานอาหารไม่อร่อยเลย เบื่ออาหาร อาเจียน ผู้ปฏิบัติธรรมสูงๆ เห็นอวัยวะสืบพันธุ์เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด ไม่ทานข้าว อาเจียน บ้วนน้ำลายทั้งวันก็มี บางท่านบางรูปเหมือนสุกกะไหลขึ้นคอ จะอาเจียนออกมาให้ได้ แสดงว่าสภาวะชัดเต็มที่แล้ว เกิดอาการเบื่อคนเบื่อไม่อยากจะสอบอารมณ์ ไม่อยากเห็นใคร อยากอยู่คนเดียว ถ้าเป็นญาติโยมเบื่อเพศคฤหัสถ์ อยากออกบวชเป็นบรรพชิตบำเพ็ญศีลธรรม ถ้าเป็นพระก็อยากสึก เบื่อพรหมจรรย์ อยากจะไปเป็นคฤหัสถ์ หลวงพ่อเคยคิดเบื่อว่าเมื่อเราอายุ ๗๐ ปี ๘๐ ปีจะทนสู้ญาติโยมไหวหรือเปล่า ถ้าผู้ปฏิบัติปฏิบัติมาถึงญาณนี้แล้ว ไม่อยากได้อะไร จิตใจหงอยเหงา คล้ายๆ พลัดพรากจากของรักของชอบใจมา คิดเห็นเจ้าหญิงคุณนายทั้งหลายก็ตายเหมือนกัน เกิดความเบื่อหน่าย จิตใจก็น้อมเข้าสู่พระนิพพาน กลิ่นธูปเพียงก้านเดียวเหมือนกลิ่นธูปร้อยก้านพันก้าน บางท่านหอมกลิ่นปัสสาวะ สูดดมเหมือนกลิ่นดอกเกตุสำหรับผู้ที่ขากเสลดรบกวนผู้อื่นในเวลาปฏิบัติ ในเมื่อบาปกรรมตามทัน จะมีสิ่งที่จะทำให้เกิดความเหม็น ทำให้เน่าอยู่เสมออาการของการเหม็นจะเริ่มที่ตัวเองก่อน แล้วเหม็นพ่อแม่พี่น้องไปเรื่อย ไปจนถึงเทวดาพรหม ญาณนี้น้อยคนจะเป็นแรงๆ ถ้าอาการหอม หอมจนกลิ่นหอมปรากฏชัดเป็นตัวแล้วบินเข้าจมูกอย่างแรง เหมือนตัวต่อตัวแตน เกิดความกลัวตลอดเวลา อุปกิเลสที่เกิดในญาณนี้จะกำหนดไม่หาย ปีติในญาณนี้เกิดขึ้นจนเบื่อ การกำหนดเวทนาในญาณนี้กำหนดก็ไม่หาย นิมิตก็ไม่หาย จงพยายามให้สังเกตอาการ อารมณ์จะดีก็ตามชั่วก็ตามจะเป็นไปในความเบื่อหน่าย ถ้าเกิดแก่กล้าจะเบื่ออาหาร เบื่อตนเอง เบื่อคน เทวดา พรหม เบื่อการปฏิบัติ แต่สามารถข่มใจให้ปฏิบัติได้อยู่ แสดงว่าอยู่ในญาณที่ ๘ ส่วนญาณที่ ๙ เลิกเลย ญาณที่ ๘ นี้เป็นญาณเกลียดเพื่อน คอยแต่จะจับผิดคนอื่น ให้เราสังเกตง่ายๆ คนที่เคยพูดมากพูดง่ายพูดดี เมื่อมาถึงญาณนี้จะไม่ค่อยพูด ซึมๆ เหงาๆ หงอยๆ ปีติในญาณที่ ๘ นี้เป็นเหมือนจะเหาะได้ (สำหรับญาณที่ ๗ ผู้ปฏิบัติที่เป็นนักดนตรีเก่าจะชอบร้องเพลง)
เวลาปฏิบัติต้องให้ลูกศิษย์เห็นกรรมของตัวเอง แล้วให้ตัดกรรมตัวเอง โดยเฉพาะพวกโจร ให้ตั้งขัน ๕ จัดดอกไม้ ธูปเทียน ขัดสัคเคเทวดา แล้วอาจารย์กล่าวนำว่า “ต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพเจ้า พระ,นาย…………….จะเลิกจากการทำกรรมไม่ดีนั้นเด็ดขาด ถ้าไม่เลิก……………..และด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าละกรรมไม่ดีนั้นได้ แล้ว ขอให้ข้าพเจ้า……………………ตลอดถึงพ่อแม่ ครอบครัว และสรรพสัตว์ จงพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงเถิด” เป็นต้น ให้ลูกศิษย์เห็นกรรม เพื่อคลายทิฏฐิของเขา อย่าปล่อยให้ตามกรรมเวลาสอบอารมณ์ ต้องสอบถามว่าผ่านมาตามลำดับหรือเปล่า
วิธีฝึกอ่านหนังสือ
การฝึกอ่านหนังสือนั้น คำภาวนาให้ว่า “อรหัง” เวลาฝึกในเวลากลางวัน ต้องหาอากาศครื้มๆ ถ้าแสงสว่างมากเกินไป อ่านไม่ได้ ถ้าฝึกกลางคืน กลางวันอ่านไม่ได้ก็มี ควรฝึกในเวลากลางวันตรงที่มีอากาศครื้มๆ ตัดกระดาษสีต่างๆ เป็นสี่เหลี่ยมประมาณ ๗-๘ อัน หรือ ๑๐ สี แล้วพับผ้าปิดตาหรือหลับตา เวลานั่งบริกรรมอย่าให้เข้าสมาธิ ให้อยู่ในอุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ เวลาเพ่งให้บริกรรมว่า “อรหังๆๆ” ไปเรื่อยๆ แล้วถามว่า “นี้สีอะไร” ถ้าเขาตอบไม่ถูกอย่าต่อว่า ให้พูดขึ้นเองว่า “เออ..สีนั้นๆ” แล้วทำท่าจะเปลี่ยนกระดาษสี แต่ไม่เปลี่ยน แล้วถามเขาต่อไปว่า “สีอะไร” ถ้าเขาตอบผิดอีก ให้ทำท่าจะเอาออกแต่ไม่เอาออก จนกว่าเขาจะตอบถูกจริงๆ จึงเอาออก แล้วเอากระดาษสีใหม่ใส่แล้วทำคล้ายกันนี้แหละ จนกว่าจะหมดทุกสี เมื่อเพ่งสีถูกต้องแล้ว ต่อไปให้เพ่งพยัญชนะ ในการเพ่งพยัญชนะนั้น พยัญชนะภาษาไทยมีเท่าไร กี่ตัว เอาใส่ให้เพ่งหมด เพ่งพยัญชนะได้ทุกตัวแล้ว ก็ให้เพ่งสระต่อ ทำเหมือนกัน จนเพ่งได้ทุกสระ ขั้นต่อไปก็เอาสระกับพยัญชนะผสมกันให้อ่าน ให้ผสมสลับกัน เช่น กะ ขา คุ คี เป็นต้น เมื่ออ่านได้ดีแล้ว ให้เขียนเป็นภาษิตสอนใจ เช่น ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย แต่อย่าเขียนประเภทคำล้อเลียนเป็นอันขาด ก่อนจะสาธิตต้องซ้อมเสียก่อน ทำให้สมาธิติดต่อกันดีแล้วจึงจะสาธิตได้ เวลาฝึกต้องให้สมาธิอยู่ในวงจำกัด การเพ่งกสิณจิตใจต้องอยู่ในวงกสิณ ไม่ใช่จิตใจฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายอย่างนี้ใช้ไม่ได้
นิพพิทาญาณ จบ