ญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ

ญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ

           ปัญญาพิจารณาวางเฉยเป็นกลางในรูปนาม คือเมื่อพิจารณาผ่านมาถึงญาณนี้แล้ว ย่อมจะเกิดความรู้ความเห็นตามสภาวะธรรมชาติของรูปนามว่า รูปนามมันก็เป็นไปตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้ เมื่อทราบชัดตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้วจึงเป็นผู้มีใจเป็นกลางวางเฉยใน รูปนามทั้งปวงได้

           เมื่อผู้ปฏิบัติมาถึงญาณนี้ จิตใจจะวางเฉย มีอาการเฉยๆ ให้เราถามเขาดูว่า “ในเมื่อเฉยๆ อยู่นั้นได้กำหนดไหม” ถ้าเขาตอบว่ากำหนดได้ดีอยู่ แต่มันเฉยๆ อย่างนี้ให้ได้ ถามเขาว่า “เดินจงกรมมีสติกำหนดดีไหม” ถ้าเขาตอบว่ามีสติทุกก้าวก็ให้ได้ ถามเกี่ยวกับอารมณ์ว่า “เมื่อได้ยินเสียงพูดคุยของเพื่อนแล้วจิตใจเป็นอย่างไร” ถ้าเขาตอบว่าเมื่อผมได้ยินเสียงจะเป็นเสียงดีหรือไม่ดี ผมเฉยๆ อยู่ อย่างนี้ก็ให้ได้ ถามว่า “เป็นอย่างไรสติดีไหม เวลาฟังเทศน์ จำคำเทศน์ได้หรือเปล่า” ถ้าตอบว่าฟังเทศน์จำได้ดี เข้าใจดี ให้ได้ ถามว่า “ขณะนี้กับก่อนสอบอารมณ์ สมาธิดีไหม” ถ้าเขาตอบว่าดี ผมนั่งได้นานๆ เลยเวลาไปก็มี สภาวะชัดยิ่งนั่งอารมณ์ยิ่งละเอียดๆ เข้า ถามว่า “มีเสียงกระทบรำคาญไหม” ถ้าเขาตอบว่าไม่รู้สึกรำคาญ เฉยๆ อยู่ให้ได้

           ถ้าปฏิบัติมาถึงญาณนี้แล้ว แม้จะมีหมอลำ วิทยุเทปรำวง มาแสดงใกล้ๆ เรา เราก็จะสามารถกำหนดได้สบาย กำหนดเสียงเข้าสมาธิไปเลยก็ได้ ถ้าการปฏิบัติดี เราเปิดเทปไว้แล้วกำหนดไปๆ ถ้าคนเคยปฏิบัติมาจะเข้าสมาธิไปเลยหลวงพ่อเคยบอกว่าเวลาเครียดประสาทแข็ง เปิดฟังเสียงสวดพระปาฏิโมกข์ ดับก่อนคนอื่นเลย (เข้าสมาธิไปจนจบ) ถามว่า “ฟุ้งซ่านไหม” ถ้าตอบว่าไม่รำคาญ ก็ให้ได้ ถามว่า “รู้สึกเจ็บโน้นปวดนี้มีไหม” ถ้าเขาตอบว่าผมนั่งมา ๑ ชั่วโมงไม่ปวดเลย ให้ได้ สำหรับผู้เป็นโรคประสาท โรคลมบ้าหมู โรคความดัน โรคกระเพาะอาหาร เมื่อถึงญาณนี้หายเลย สำหรับโรคกุมภัณฑ์ยักษ์นี้ จิตเป็นผู้สร้างขึ้นต่างหาก ถ้าเป็นอ่อนๆ ให้ใช้คำกำหนดว่า “หยุดหนอๆๆ” ถ้าเป็นแข็งๆ ก็ให้กำหนดแข็งๆ เลยว่า “หยุด…ๆๆ” บอกเขาให้ตั้งสติกำหนด ตะคอกเสียงหนักๆ สำหรับคนแก่ที่เป็นโรคอัมพาต ให้บอกเขาว่ายายทำราวหัดเดินก่อนนะแรกๆ ให้เดิน ๕ นาทีก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้นๆ ตามลำดับพอสมควรแล้วก็สามารถปล่อยราวได้ โรคหืดเมื่อปฏิบัติมาถึงญาณนี้ บางคนหายเด็ดขาด บางคนหายชั่วครั้งชั่วคราว ญาณนี้จะนั่งได้นาน คิดว่าจะนั่ง ๑ ชั่วโมง นั่งได้ ๒-๓-๖ ชั่วโมงเลยก็มี

           การสอนกรรมฐานนี้ต้องปรับปรุงทุกปี ถ้าผู้สอนอดทนต่อคำติคำชมไม่ได้ ก็สอนไม่ได้ เพราะจะเจอปัญหานานาประการ

           การเอาเด็กและผู้ใหญ่ออกจากสมาธิ ให้ผู้ปฏิบัตินั้นกำหนดว่า “อยากออกหนอๆๆ” ถ้ารู้สึกตัวแล้วแต่ร่างกายยังมีอาการแข็งอยู่ ให้กำหนดว่า “อยากเหยียดหนอๆๆ” พร้อมกับให้เราค่อยๆ แกะมือแกะขาของผู้ปฏิบัติออกจากกัน การกำหนดอย่าใจร้อน ให้ใจเย็นๆ สำหรับเด็ก ถ้าลืมตาแล้วอย่าให้เขาหลับตาอีก ถ้าหลับอีกก็จะเข้าอีก

           สำหรับผู้เคยให้ทานมามากจะผ่านทางอนิจจัง ผู้เคยเจริญสมถะกรรมฐานมามากจะผ่านทางทุกขัง

           อาการทางทุกขัง เวลาจะเข้าสมาธิจะเหนื่อย บางคนร้องเหมือนหมูดุนไปก็ดี บางคนเชิดหัวไปมาก่อนเข้าสมาธิ เหล่านี้เป็นอาการผ่านทางทุกขัง ให้เราสังเกตว่าคนนั้นผ่านทางไหนหรือเข้าสมาธิทางไหน ครั้งแรกรู้ว่าผ่านทางไหนก็พอแล้ว

           เวลาฝึกสมาธิให้เราเริ่มฝึกอธิษฐานตั้งแต่ ๕-๑๐-๑๕ นาทีก่อน ถ้าถึงเวลาตามที่เราอธิษฐานแล้วยังไม่ออก เราต้องกำหนดออกให้เขา บางครั้งอธิษฐานยังไม่จบเลยเข้าสมาธิแล้ว ระวังอย่าให้เข้าก่อนหรือเลยเวลา ถ้าสมาธิพอตัวแล้วจะเข้าได้ทุกอิริยาบถ สำหรับผู้ที่ได้สมาธิ ถ้าเรามีหน้าที่รับใช้ครูบาอาจารย์อยู่ ต้องการเข้าสมาธิ ให้อธิษฐานว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๕- ๑๐-๑๕…..นาทีนี้ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปพร้อมนี้ขออย่าได้เป็นอันตรายแก่ ชีวิต และอย่าให้ใครมาแตะต้องตัวของข้าพเจ้าได้” หรือจะอธิษฐานว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป พร้อมนี้อย่าได้เป็นอันตรายแก่ชีวิต จนกว่าโยมมาถึงประตูวัดให้รู้สึกตัวทันที” หรือจะอธิษฐานว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป พร้อมนี้ขออย่าได้เป็นอันตรายแก่ชีวิต และเมื่อมีใครมาปองร้ายขอให้รู้สึกตัวทันที” เป็นต้น

           แม้ขณิกสมาธิที่กำหนดติดต่อกันดีก็ใช้ได้ เรากำหนดติดต่อได้นานๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ก็เป็นอุปจารสมาธิ ขณิกสมาธินี้ไม่วอกแวกมีพลัง สำหรับเด็กเล็กๆ เข้าสมาธิได้ไม่เกิน ๖ ชั่วโมง อย่างมากเข้าได้ ๓ ชั่วโมง เวลาจะขยายชั่วโมงในการนั่ง เมื่อนั่ง ๓๐ นาทีแล้ว ถ้าจะอธิษฐานนั่ง ๑ ชั่วโมง พอถึง ๓๐ นาทีนี้ สมาธิจะคลายตัว เวทนาเกิดขึ้น ต้องข่มใจนั่งก่อนเวลาจะขยายขึ้นไปนั่งหลายชั่วโมงสูงขึ้นไปก็เหมือนกัน

สังขารุเปกขาญาณ จบ