วัดพิชโสภาราม

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีเนื่องในวันชาตกาลครบ ๘๐ ปี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

อธิษฐาน

อธิษฐาน

              บรรพ ๑ ธรรมวิเศษที่เกิดขึ้นแล้ว ขออย่าได้เกิดขึ้นอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิด ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้เทอญ.

              บรรพ ๒ ธรรมวิเศษที่เกิดขึ้นแล้ว ขออย่าได้เกิดขึ้นอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิด ขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้เทอญ.

              บรรพ ๓ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ เทอญ.

              บรรพ ๔ ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ เทอญ.

              บรรพ ๕ ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ ข้าพเจ้ามากๆ เทอญ.

              บรรพ ๖ ภายใน ๑๕ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ เทอญ.

              บรรพ ๗ ภายใน ๕ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ เทอญ.

              บรรพ ๘ ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิท แน่นิ่งไป ๕ นาทีเป็นอย่างน้อย

              บรรพ ๙ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมนี้ขออย่าได้เป็นอันตรายแก่ชีวิต

           การปฏิบัติวิปัสสนา เมื่อมาถึงญาณที่ ๑๑ ถือว่าเป็นจุดสุดยอดของญาณโลกีย์แล้ว ต้องให้ผู้ปฏิบัติรักษาอารมณ์ไว้ไม่ให้เสื่อม ถ้ากำลังของญาณมีเพียงพอเมื่อไร จะเข้าสู่อารมณ์ของพระนิพพานเลย เมื่อมาถึงญาณที่ ๑๑ นี้แล้ว จะทิ้งญาณ ที่ ๑,๒,๓ แต่จะอนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ บางท่านบางรูปเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี หรือตลอดชีวิตเลยก็มี ต้องให้พยายามรักษาอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้ดี พยายามปรับปรุงอินทรีย์ ๕ ให้สมดุลกัน เช่น ศรัทธา=ปัญญา, สมาธิ=ความเพียร สติเป็นกลาง พยายามกำหนดให้ทันทุกอิริยาบถใหญ่น้อย อินทรีย์ทั้ง ๕ ก็จะแก่กล้าสมบูรณ์ขึ้นมาเอง แล้วก็ให้อธิษฐานทีละใบๆ ไม่ต้องให้พร้อมกัน เมื่ออธิษฐานแล้วอย่าให้เกิดอุปาทานในคำอธิษฐาน อย่าคิด ถ้าคิดแล้วให้รีบกำหนดทันทีและอย่าให้จิตเหม่อไปตามนิมิตเหม่อไปตามอาการ หรือเหม่อไปตามเวทนาเป็นต้น ไม่ดี เมื่ออธิษฐานปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ต้องอยู่ปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมงเลย อย่าตั้งใจแรงให้ตั้งใจไว้เป็นกลาง เพราะการตั้งใจไว้แรงจะทำให้ประสาทแข็ง พยายามหาที่นั่งในที่โล่งๆ อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้าเกิดว่ามันจะดับก็ปล่อยให้มันดับไปเลย แต่จำให้ได้ว่ามันดับไปในขณะไหน ขณะกำหนดอาการพองหรืออาการยุบ กำหนดถึงตรงไหนมันจึงดับไปพอดี ให้รู้ เมื่อดับแล้วเวลารู้สึกตัวได้กำหนดอาการพอง อาการยุบไหม บางท่านรู้สึกตัวแล้วไม่กำหนด เกิดความกลัวอยากเลิกปฏิบัติก็มี บางท่านบางรูปตื่นขึ้นมารู้สึกมึนศีรษะ บางท่านบางรูปรู้สึกงง บางท่านสภาวะชัดดีจำได้ว่าขณะจะนั่งดับ นั่งไปๆ กำหนดพองหนอ ยุบหนอไป ขณะที่ท้องพองขึ้นมามันดับเลย ให้สอบถามดูว่า “ขณะดับมีพระไตรลักษณ์ไหม มีอาการเร็วเข้าๆ บ้างไหม (นี้เป็นอาการของนิจจัง) มีอาการแน่นเข้าๆ บ้างไหม (นี้เป็นอาการของทุกขัง) มีอาการสม่ำเสมอกันหรืออาการแผ่วเบาเข้าๆ บ้างไหม (นี้เป็นอาการของอนัตตา)” สอบถามดู ถ้าไม่มีพระไตรลักษณ์ให้ไม่ได้ เพื่อความแน่ใจให้อธิษฐานดูใหม่ คือให้ตรวจดูผลจิตให้อธิษฐานว่า “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอความเกิดดับจงเกิดขึ้น แก่ข้าพเจ้ามากๆ” เมื่ออธิษฐานแล้วพยายามสังเกตการยกเท้าการเหยียบ อาการนั่ง อาการถูก มีเวทนาไหม เป็นอย่างไร จิตใจในขณะอธิษฐานนั้นเป็นอย่างไร

           สำหรับบุคคลผู้ผ่านทางทุกขัง ผ่านทางอนิจจัง นี้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่สำหรับบุคคลผู้ผ่านทางอนัตตา นี้แหละมันยากคือมันจะดับวูบๆ ลงไป บางที ๕ นาที เป็น ๑๒ ครั้งก็มี ขณะนั่งอยู่ บางทีคองักๆ ไปเรื่อย ถ้านักปฏิบัติรู้ตัวเองว่าผ่านแล้วความดีใจ ไม่อยากปฏิบัติต่อไป ถ้าเขาไม่ได้บรรลุคุณธรรมจริง อาจารย์ผู้สอบอารมณ์เท่ากับยุตัวเองลงนรก ถ้าบรรลุจริงๆ ไม่ค่อยพูดหรอก ถ้าเกิดอย่างแรงกล้า นั่งไปๆ ดับวูบไป มีเสียงแว่วมาว่าเธอได้ผ่านโสดาบันแล้วนะ ก็ให้ตรวจสอบดู ให้เดินจงกรม ๑ ชั่วโมงแล้ว ให้อธิษฐานใบที่ ๓ ว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้ความเกิดดับจงบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” ถ้าผ่านจริง อย่างน้อยผลจิตเกิด ๕ ครั้งใน การอธิษฐานนั่ง ๓๐ นาที เกิด ๓-๔ ครั้งในการอธิษฐานนั่ง ๑๕ นาที เกิด ๒-๔ ครั้งในการอธิษฐานนั่ง ๑๐ นาที อธิษฐานนั่ง ๕ นาที ผลจิตเกิดขึ้นถึง ๑๒ ครั้งก็มี มากกว่านี้ยังไม่เคยปรากฏเลย ลักษณะการดับคือมันจะดับวูบๆ ดับไปในลักษณะอย่างนี้แล้ว ให้อธิษฐานใบที่ ๘ ต่อว่า “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาทีเป็นอย่างน้อย” เมื่ออธิษฐานแล้ว ขณะที่ดับไปใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียงแสดงว่าพ้นโลกีย์ไปแล้วเป็น โลกุตตระ (ผลสมบัตินี้จะไม่มีขันธ์ ๕ แม้แต่ขันธ์เดียว) ถ้ายังทำไม่ได้ก็ให้ตัดการเดินจงกรมระยะที่ ๑-๕ ออก เหลือแต่ระยะที่ ๖ เพียงระยะเดียว ถ้าแม้ทำอย่างนั้นแล้ว สติยังใสแจ๋วอยู่ไม่เห็นดับเลย ต้องลดการนอนลงไปอีก ถ้าทำให้ดับได้ ๕ นาทีแล้ว ก็ให้อธิษฐานให้ดับ ๑๐ นาที ต่อไปก็อธิษฐานให้ดับ ๑๕-๓๐ นาที ถ้าทำให้ดับได้ถึง ๓๐ นาทีแล้ว เปลี่ยนอธิษฐานใบที่ ๙ ไม่ต้องอธิษฐานอันตรายแก่ชีวิตก็ได้ ถ้าอธิษฐานทำให้ดับได้ ๑ ชั่วโมงแล้ว วันหลังให้ฝึก ๒ ชั่วโมง วันต่อไปให้ฝึก ๓ ชั่วโมง เมื่อฝึก ๓ ชั่วโมงแล้วให้เว้น ๒ วัน จึงอธิษฐานดับ ๖ ชั่วโมง (ในการอธิษฐานทุกระยะทุกชั่วโมง ต้องทำให้ได้ทุกระยะเสียก่อน ถึงจะก้าวเพิ่มชั่วโมงขึ้นได้) ถ้าทำ ๖ ชั่วโมง ได้แล้ว ต้องเว้นอย่างน้อย ๕ วัน อย่างมากไม่เกิน ๗ วัน ถ้าทำได้ดีแล้วก็ให้อธิษฐานดับ ๑๒ ชั่วโมงต่อไป มีสูตรจำการเว้นวันได้ง่ายๆ ดังนี้

           เกิน ๒๔ ชั่วโมงไป เว้น ๗ วันตลอด

           ช่วงวันที่เว้นการอธิษฐานนั้นให้ปฏิบัติไปตามธรรมดาการ ฝึกสมาธินั้น เมื่อฝึกเข้าได้แล้ว ถึงเวลาออก ถ้าไม่ออกต้องไปช่วยกำหนดออกให้ก่อน และก่อนฝึกเพิ่มชั่วโมงขึ้นไปแต่ละชั่วโมง ต้องทำให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ เสียก่อน คือต้องเข้าได้ตามความต้องการ ไม่ให้ออกก่อนและไม่ให้เลยเวลา ถ้าทำได้ เช่นนี้เรียกว่าชำนาญในวสี ผู้ที่เคยนั่ง ๑ ชั่วโมงจะเพิ่มไปนั่ง ๒ ชั่วโมง ช่วงต่อระหว่าง ๑ ชั่วโมงไปหา ๒ ชั่วโมงนี้ สมาธิจะคลายตัวออกก่อน ครั้งแรกจะมีเวทนากล้า ทุรนทุราย กลุ้มใจ เหงื่อตก เป็นต้น การอธิษฐานเข้าสมาธินานๆ นี้ ถ้าผู้ใดสามารถเข้ารวดเดียวเลยตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือตลอด ๔๘ ชั่วโมงเลย ก็เหมือนเรานั่งแค่ ๑๐ นาทีเท่านั้น แต่ถ้าสมาธิไม่เรียบ เข้าๆ ออกๆ ก็นานพอสมควร ผู้ฝึกสมาธิบางครั้งได้ยินเสียง แสดงว่าอยู่ในฌานที่ ๑-๒-๓ ไม่ถึงฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้คล้ายผลสมาบัติ คือไม่หายใจเหมือนกัน (ถ้ามีคนถามอวดภูมิต้องย้อนศรทันที แต่ต้องรู้เจตนาของผู้ถามด้วย) ฌานสมาบัติมีรูปนามเป็นอารมณ์ ผลสมาบัติมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

           การผ่านทางวิถีของจิต แค่วูบลงข้างหน้า ผงะไปข้างหลัง ฟ้าผ่าเปรี้ยงล้มฟุบลงไป ขาดความรู้สึกเลย ถ้าไม่มั่นใจว่าผ่าน ให้ตรวจดูผลจิต

           ผลจิตเกิดติดต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นผลสมาบัติ

           ผลจิตเวลาอธิษฐานจะไม่เกิดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนการบรรลุ

           ส่วนมรรคจิตจะเร็วขึ้นแล้วถอยลงๆ จนกว่าจะได้ที่แล้วก็วูบไปเลย

           ผู้ที่เคยอบรมวิปัสสนากรรมฐานมาแต่ชาติปางก่อนจะผ่านทาง อนัตตา ผู้เคยเจริญสมถะกรรมฐานมาก่อน จะผ่านทางทุกขัง ผู้เคยให้ทานมาก่อนจะผ่านทางอนิจจัง

           ผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุได้ทุกอิริยาบถถ้าอินทรีย์ทั้ง ๕ บริบูรณ์แล้ว

           ถ้าจำได้แสดงว่ามรรคจิตเกิด ถ้ามรรคจิตไม่เกิด ชาตินี้ชาติหน้าก็จำไม่ได้ ทำไมถึงจำไม่ได้ เพราะโมหะมีกำลังสูงกว่าสติ การจำได้แสดงว่ามรรคจิตเกิดนั่นเอง

           ปัญญาหมายเอาความรู้ที่เกิดขึ้นแล้วสามารถทำลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้สิ้นไป หมดไป ดับไป ไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้

           การเข้านิโรธก็ทำนองเดียวกันกับการเข้าผลสมาบัติ

           การเทศน์ดีไม่ดีขึ้นอยู่กับตนเอง ผู้ฟังมีจิตเลื่อมใส และจิตใจของผู้เทศน์ไม่ฟุ้งซ่าน

           การทำวัตรเช้า-เย็นจัดเป็นกรรมฐานหมู่ ไม่จัดเป็นสมาบัติ

           ดับในญาณที่ ๕ รู้สึกตัวในญาณที่ ๔ ในเวลาอนุโลม

           การเข้าสมาธิต้องข่มปีติอย่างหยาบให้ได้เสียก่อน เช่น แขนเผยอขึ้น ตัวร้อนตัวเย็น ตัวเอน เราต้องช่วยกันผลักไว้ เนื้อกระตุก เป็นต้น

           การปฏิบัติ ถ้ามุ่งหวังจริงๆ เอาใจใส่จริงๆ ก็ได้ผลเร็ว

           บางทีพระเราต้องให้โยมหรือแม่ชีมากำหนดให้ ต้องทำให้ผู้ปฏิบัติอายเสียก่อนแล้วจึงจะตั้งใจกำหนดก็มี

           บางคนนั่งภาวนาอยู่ดีๆ ก่อนจะเข้าสมาธิเกิดอาการดิ้นพรวดๆ ล้มลงนอน เข้าสมาธิไปเลยก็มี เรียกว่าสมาธิงอน ผู้เป็นอาจารย์ต้องปลอบหรือตักเตือนเอา

          เคล็ดลับในการสอนสมาธิก็คือ อย่าให้ศิษย์โกรธเราผู้เป็นอาจารย์ ลูกศิษย์จะไม่สามารถเข้าสมาธิได้เลย เพราะจิตเป็นอกุศล