ทางไปพรหมโลก

ทางไปพรหมโลก

           ทางไปเกิดเป็นพรหมนั้น ต้องมีฌานเป็นหนทางไป บุคคลที่จะทำฌานให้บังเกิดขึ้นได้นั้น ได้แก่ พระโยคาวจร หรือเรียกว่า โยคีบุคคล ผู้ละปลิโพธเครื่องกังวลห่วงใยต่างๆ หลีกออกจากกามารมณ์ไปสู่เรือนว่างหรือภูเขาที่สงบสงัด ไม่ลำบากด้วยความเป็นอยู่เรื่องอาหาร เข้าหาครูอาจารย์ ผู้พร่ำสอนสมถกรรมฐาน ซึ่งอาจารย์จะนำเอาอารมณ์กรรมฐาน ๔๐ อย่าง คือ กสิณ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ นอกนั้นอีก ๑๐ อย่างเป็นเพียงให้ได้อุปจารฌานเท่านั้น ถ้าผู้มีปัญญาก็สามารถทำให้เป็นบาทของวิปัสสนาได้

           คนราคะจริตพึงเจริญ อสุภะ ๑๐ หรือกายคตาสติ จึงจะเหมาะสม

           คนโทสะจริต เจริญอัปปมัญญา ๔ หรือ วัณณกสิณจึงเหมาะสม

           คนโมหะจริตและวิตกจริต เจริญอานาปานัสสติ กำหนดลมหายใจเข้าออกจึงจะเหมาะสม

           คนศรัทธาจริต เจริญอนุสสติ ๖ คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ จึงจะเหมาะสมจะทำ

ให้สงบเร็ว

           คนมีปัญญาจริต หรือพุทธิจริต เจริญกรรมฐาน ๔ อย่าง คือ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัตถาน จึงเหมาะสมทำให้สงบเร็ว

           ส่วนกรรมฐานที่เหลือ ๑๐ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย อาโลโก อากาโส และอรูปกรรมฐาน ๔ เหมาะสมกับคนทุกๆ จริต

           เมื่ออาจารย์ได้ให้กรรมฐานนั้นไปปฏิบัติ จนถึงอัปปนาภาวนาแน่วแน่เป็นฌาน ผู้ทำสมถะนั้นย่อมได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

           รูปฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อรูปฌาน ๔ ได้แก่ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

          – ผู้ได้ปฐมฌาน ย่อมมีวิตก นึกถึงกรรมฐานอย่างเดียว วิจารณ์พิจารณากรรมฐานอย่างเดียว ปีติ อิ่มใจในกรรมฐานอย่างเดียว สุขด้วยอำนาจของปีติ เอกัคคตา (ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เดียว)

          – ผู้ที่ได้ทุติยฌาน ไม่มีวิตก วิจารณ์ มีแต่ปีติ สุข เอกัคคตา

          – ผู้ที่ได้ตติยฌาน ไม่มีปีติ มีแต่สุข เอกัคคตา

          – ผู้ที่ได้จตุตถฌาน เปลี่ยนสุขเป็นอุเบกขาพร้อมกับมีเอกัคคตาเท่านั้น ทั้งนี้ นับโดยจตุกนัย แต่ถ้านับโดยปัญจกนัยแล้วได้ฌาน ๕ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน เมื่อรวมเข้าเป็นจตุกนัย คือ เอาทุติยฌานกับตติยฌาน เป็นทุติยฌาน ส่วนจตุตถฌานเป็นตติยฌาน และปัญจมฌานเป็นจตุตถฌาน

          – ผู้ได้อากาสานัญจายตนฌาน มีแต่อุเบกขา เพ่งอากาศเฉยอยู่กับมีเอกัคคตารู้เฉพาะอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น

          – ผู้ได้วิญญานัญจายตนฌาน มีแต่เพ่งวิญญาณเฉยอยู่อย่างเดียวว่าวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด

          – ผู้ได้อากิญจัญญายตนฌาน มีแต่เพ่งนัตถิภาวะเฉยอยู่อย่างเดียวว่าไม่มีอะไรน้อยหนึ่งก็ไม่มี นิดหนึ่งก็ไม่มีเท่านั้น

          – ผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีแต่เพ่งสัญญาเฉยอยู่อย่างเดียว ว่าสัญญานี้ สงบประณีตอย่างยิ่ง จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่

           และเมื่อได้จตุตถฌานหรือปัญจมฌานแล้วอภิญญาย่อมเกิดขึ้นได้ถึง ๕ อย่างคือ

           ๑.   อิทธิวิธิอภิญญา-แสดงฤทธิ์ได้

           ๒.  ทิพพโสตอภิญญา-หูทิพย์ ฟังเสียงมนุษย์และเทวดาที่อยู่ในที่ไกลเหนือสามัญชนได้

           ๓.   ปรจิตตวิชานนอภิญญา-รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้

           ๔.   ปุพเพนิวาสานุสสติอภิญญา-ระลึกความเป็นอยู่ในชาติก่อนๆได้

           ๕.   ทิพพจักขุอภิญญา-ตาทิพย์ เห็นสิ่งล้ำลึกต่างๆ อันสามัญชนทั่วไปเห็นไม่ได้

           บุคคลได้ฌานเห็นปานนี้แล้ว ถ้าฌานไม่เสื่อมในเวลาสิ้นชีวิต มรณภาพลงฌานจะเป็นปัจจัยให้ไปปฏิสนธิในพรหมโลก ตามลำดับชั้น ดังต่อไปนี้

          –   ผู้ได้รูปาวจรฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดในปฐมฌานวิปากจิต ปฏิสนธิในพรหมปาริสัชชาในปฐมฌานภูมิ มีอายุยืน ส่วน ๑ ใน ๔ ของกัปป์

          –    ผู้ได้รูปาวจรปฐมฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดปฐมฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมปุโรหิตา ในปฐมฌานภูมิ มีอายุยืนส่วน ๑ ใน ๒ ของกัป

          –   ผู้ได้รูปาวจรปฐมฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดฌานวิปากจิตปฏิสนธิเป็นมหาพรหม ในปฐมฌานภูมิ อายุยืน ๑ มหากัป

          –   ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมปริตตาภา ในทุติยฌานภูมิ อายุยืน ๒ มหากัป

          –   ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอัปปมาณาภา ในทุติยฌานภูมิ อายุยืน ๔ มหากัป

          –   ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอาภัสรา ในทุติยฌานภูมิ อายุยืน ๘ มหากัป

          –   ผู้ได้รูปาวจรตติยฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดตติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมปริตตาภา ในตติยฌานภูมิ อายุยืน ๑๖ มหากัป

          –   ผู้ได้รูปาวจรตติยฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดตติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอัปปมาณาสุภา ในตติยฌานภูมิ อายุยืน ๓๒ มหากัป

          –    ผู้ได้รูปาวจรติยฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดตติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมสุภกิณหกา ในตติยฌานภูมิ มีอายุยืน ๖๔ มหากัป

          –   ผู้ได้จตุตถฌานภูมิ มีอำนาจให้ไปเกิดในจตุตถฌานวิปากจิตปฏิสนธิเป็นพรหม ๓-๗ จำพวก ดังต่อไปนี้

           ชั้นพรหมเวหัปผลา และพรหมอสัญญีสัตตาพรหม มีอายุยืนถึง ๕๐๐ มหากัปป์ชั้นสุทธาวาส ๕ (ที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์) ซึ่งเป็นที่ปฏิสนธิของพระอนาคามี มีอายุยืนตามลำดับดังนี้

           ๑.   ชั้นอวิหา      อายุยืน ๑,๐๐๐    มหากัปป์

           ๒.  ชั้นอตัปปา    อายุยืน ๒,๐๐๐    มหากัปป์

           ๓.   ชั้นสุทัสสา    อายุยืน ๔,๐๐๐    มหากัปป์

           ๔.   ชั้นสุทัสสี      อายุยืน ๘,๐๐๐    มหากัปป์

           ๕.   ชั้นอกนิฏฐา อายุยืน ๑๖,๐๐๐ มหากัปป์

          –   ผู้ได้อรูปฌานย่อมเกิดในอรูปภูมิ ตามลำดับดังนี้

          –   ผู้ได้อากาสานัญจายตนกุศล ให้เกิดอากาสานัญจายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ๒๐,๐๐๐ มหากัปป์

          –   ผู้ได้วิญญานัญจายตนกุศล ให้เกิดวิญญานัญจายตนวิปากจิตปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในวิญญานัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ๔๐,๐๐๐ มหากัปป์

          –   ผู้ได้อากิญจัญญายตนกุศล ให้เกิดอากิญจัญญายตนวิปากจิตปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุยืน ๖๐,๐๐๐ มหากัปป์

          –    ผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนกุศล ให้เกิดเนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม (ภวัคคพรหม) ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป

พรหมสิ้นอายุ

           พรหมต่างๆ ที่อายุยืนตั้งแต่ส่วน ๑ ใน ๔ มหากัปป์ จนถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์นั้น ย่อมยาวนานเหลือคณานับ ได้แต่เพียงอุปมาว่า นับตั้งแต่โลกเกิดขึ้นแล้ว จนเจริญเต็มที่ จนกระทั่งโลกพินาศ จึงนับเป็นมหากัปป์ ๑ หรืออุปมาเหมือนภูเขาแท่งทึบ กว้างด้านละ ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ เวลาร้อยปีทิพย์ จีงมีเทวดานำเอาผ้าทิพย์อันละเอียดมาปัดไปทีหนึ่ง จนกระทั่งภูเขานั้นเรียบเสมอพื้นดิน จึงเรียกว่า มหากัปป์ หรืออุปมาเหมือนสระใหญ่กว้างด้านละ ๑ โยชน์ ทั้ง ๔ ด้าน ลึก ๑ โยชน์เวลา ๑๐๐ ปี มีเทวดานำเอาเมล็ดผักกาดใส่ลงในสระใหญ่นั้น จนกระทั่งเต็มสระเรียบเสมอพื้นดิน เรียกว่า มหากัปป์

           พรหมจะสิ้นอายุ แล้วกลับมาปฏิสนธิเป็นเทวดาหรือมนุษย์ แต่จะไม่ไปตกอบายภูมิ เพราะอำนาจของฌานรักษาไว้ ต่อเมื่อทำความชั่วในเทวดาหรือมนุษย์ จึงจะตกอบายภูมิ เมื่อพรหมจุติลงมาเป็นมนุษย์นั้น ย่อมเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญา ประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ชอบอิสระ อยู่เป็นโสด ยินดีในที่สงัดชอบทำกรรมฐาน พอใจในเพศบรรพชิตเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ ก็เพราะอำนาจ บารมีที่ตนได้บำเพ็ญฌานมาเป็นปัจจัยอุปถัมภ์ให้เป็นไป ทำอะไรมักจะได้ดีเป็นพิเศษอยู่เสมอ.