ทางไปพระนิพพาน

ทางไปพระนิพพาน

           หนทางสายที่ ๗ นี้ จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติบังเกิดขึ้นในโลก แล้ว ทรงประกาศสัจจธรรมชี้แนะแนวทางแห่งการปฏิบัติเพื่อ วิวัฏฏะ คือพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะทุกข์ จนกระทั่งพุทธบริษัทผู้มีสติปัญญา มีบารมีที่สั่งสมมาดีแล้วได้พากันปฏิบัติตามเป็นเหตุให้ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน เข้าถึงความบริสุทธิ์กลายเป็นพระอริยสงฆ์เจ้าเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าทางไปพระนิพพาน มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

           ส่วนทาง ๖ สายที่แสดงมาแล้วนั้น เป็นทางอันเป็นไปในวัฏฏะทุกข์อันมีประจำโลกมานานแล้ว จนคณานับไม่ได้ พระพุทธศาสนาจะมีหรือไม่ก็ตามชาวโลกทั้งมวลย่อมเดินไปสู่อบายภูมิ ด้วยการประกอบการทุจริตต่างๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าทุจริต ถึงแม้บางคราว บางสมัย บางโอกาสก็ทำความดีประพฤติมนุษยธรรมหรือเทวธรรม หรือพรหมธรรม อันเป็นวิบากให้เกิดในสุคติมนุษย์ เทวดา พรหม ตามฐานะแห่งกุศลกรรมของตน เมื่อสิ้นบุญจากพรหมหรือเทวดามาเกิดเป็นมนุษย์อีกแล้ว ประกอบกรรมชั่ว อันเป็นเหตุให้ไปตกอบายภูมิอีก ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด

           ทางไปสู่พระนิพพานจึงเป็นทางอมตะ เป็นมรดกธรรมอันล้ำค่ายิ่งที่พระบรมศาสดาทรงประทานมอบไว้ให้ จึงควรอย่างยิ่งที่พุทธบริษัทจะพลีชีพอุทิศชีวิตต่อพระพุทธองค์ เพื่อศึกษาและปฏิบัติตามหนทาง อันจะนำไปสู่พระนิพพาน ให้ถูกต้องตามรอยยุคลบาทที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระองค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขชั่วนิรันดร แล้วก็ตาม ทางไปพระนิพพานนั้นคือ วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เพราะวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น ที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานได้ จึงควรเข้าใจในเรื่องวิปัสสนากรรมฐานตามหลักของปริยัติเสียก่อน เพื่อจะนำไปปฏิบัติและยังปฏิเวธธรรมให้เกิดขึ้นในภายหลัง

           คำว่า วิปัสสนากรรมฐาน หมายความว่า กรรมฐานของวิปัสสนา ได้แก่ วิปัสสนาภูมินั่นเอง ฉะนั้น คำว่า กรรมฐาน ในที่นี้ ถ้าเรียกอย่างเดียว เรียกว่า ปรมัตถธรรม ถ้าเรียก ๒ อย่าง เรียกว่า รูปธรรม นามธรรม ถ้าเรียกหลายอย่าง เรียกว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจจ์ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวกรรมฐานอันเป็นทางดำเนินอันเป็นที่เกิดขึ้น อันเป็นที่ตั้งอยู่ อันเป็นที่ดับไปของวิปัสสนาทั้งสิ้น

          คำว่า วิปัสสนา นั้น หมายความว่า เห็นโดยวิเศษ เห็นโดยพิเศษ ซึ่งมีคำวิเคราะห์ว่า “วิเสเสน ปสฺสตีติ วิปสฺสนา” การเห็นโดยวิเศษ ชื่อว่าวิปัสสนา การเห็นโดยวิเศษนั้นไม่ใช่ว่าเห็นด้วยตา หรือเห็นอย่างธรรมดา แต่เห็นด้วยปัญญา ด้วยญาณ หรือวิชชา ได้แก่ ความรู้แจ้งเห็นจริงแทงตลอดซึ่งรูปนามนั่นเอง ถ้ากล่าวโดยตรงแล้ว วิปัสสนาก็คือ ปัญญาเจตสิกที่รู้รูปธรรม นามธรรม ตามสภาวะอันเป็นปรมัตถ์ที่มีจริงเป็นจริงอยู่เท่านั้นถ้ากล่าวโดยปริยาย แล้วอย่างย่อ ได้แก่ ไตรสิกขา ๓ อย่างกลาง ได้แก่ วิสุทธิ ๗ อย่างพิสดาร ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ” นั่นเอง ซึ่งเป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ตัดตรงไปสู่พระนิพพาน