การนั่ง

การนั่ง

           ผู้ที่จะเดินจงกรมให้จัดเตรียมอาสนะสำหรับนั่งไว้ใกล้ที่ เดินจงกรมให้เรียบร้อยก่อนแล้ว เมื่อเดินครบเวลาที่กำหนดไว้ ก็กำหนดเดินไปยืนที่อาสนะสำหรับนั่ง ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้รูปยืน (มีวิธีกำหนดยืน เหมือนกล่าวไว้ข้างต้น) แล้วให้นั่งลง โดยเวลานั่งให้ค่อยๆ ย่อตัวลง เอาเข่าขวาลงถือพื้นก่อนตามด้วยเข่าซ้าย แล้วจะอยู่ในท่าคุกเข่า สำหรับภิกษุ สามเณร และอุบาสก ให้เอาส้นเท้าซ้ายทับส้นเท้าขวา แล้วนั่งทับส้นลงไป เอามือขวาจับข้อเท้าขวา ขึ้นมาวางทับเท้าซ้ายเอามือขวาวางทับมือซ้ายหัวแม่มือชนกันหรือหัวแม่มือขวา ทับหัวแม่มือซ้ายก็ได้ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น ทอดสายตาลงต่ำประมาณ ๑ วา หน้าของผู้ปฏิบัติจะไม่ก้ม ไม่เงยจนเกินไป จะพอดี และศีรษะ ลำคอไม่ควรให้เอียงซ้าย หรือเอียงขวา ควรตั้งให้ตรง ถ้าเป็นอุบาสิกาให้นั่งพับเพียบหรือคนชรามาก และผู้มีร่างกายไม่พร้อมก็ให้นั่งเก้าอี้ได้

           ข้อสำคัญ ตั้งแต่เริ่มนั่งย่อตัวลงจนกว่าจะนั่งเสร็จนี้ ให้ภาวนาว่า “นั่งหนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ พร้อมกับให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการนั่งนั้นทุกขณะๆ ไปจนกว่าจะนั่งเรียบร้อย

           เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว ให้หลับตาเอาสติมาจับอยู่ที่ท้องเหนือสะดือประมาณ ๒ นิ้ว เวลาหายใจเข้าท้องพองให้ภาวนาตามอาการของท้องที่พองขึ้นว่า “พองหนอ” ใจที่นึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน ให้ตรงกันพอดีอย่าให้ก่อนหรือหลังกัน พร้อมกับให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของท้องพองว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง นั้นว่ามีอาการอย่างไรพร้อมกันไปในขณะเดียวกันด้วย เวลาหายใจออกท้องยุบลง ให้ภาวนาตามอาการของท้องที่ยุบลงว่า “ยุบหนอ” ใจที่นึกกับท้องที่ยุบนั้น ต้องให้ทันกัน ให้ตรงกันพอดีอย่าให้ก่อนหรือหลังกัน พร้อมกับให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของท้องยุบว่า ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ นั้นมีอาการอย่างไรพร้อมกันไปในขณะเดียวกันด้วย

           หมายเหตุ ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการพอง อาการนูน อาการยุบ อาการแฟบ ของท้องเท่านั้น อย่าแกล้งตะเบ็งท้อง อย่าไปดูลมเข้า-ลมออก อย่าบังคับลมหายใจให้ผิดจากอาการหายใจปกติ (คือ เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ฯลฯ เรามีอาการหายใจเป็นปรกติอย่างไร เราก็หายใจตามปรกติอย่างนั้น แต่ต้องให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการที่เป็นปัจจุบันนั้นๆ) ให้ภาวนาอย่างนี้ตลอดไปจนครบเวลาที่กำหนดไว้ อย่างต่ำประมาณ ๓๐ นาที อย่างกลาง ๑ ชั่วโมง อย่างสูง ๒ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แล้วแต่ประเภทความเหมาะสมแก่สติปัญญา บุญวาสนาบารมี แก่การทรมานกิเลสของบุคคลผู้เข้าปฏิบัติ