การเดินจงกรม

การเดินจงกรม

           ให้ยืนตัวตรง เอามือขวาจับข้อมือซ้าย ส้นเท้าทั้ง ๒ ชิดเสมอกัน ส่วนปลายเท้าแยกออกจากกันพอประมาณยืนถนัด (ประมาณ ๒-๓ นิ้ว) ศีรษะตั้งตรงไม่ควรเอียงซ้าย หรือเอียงขวา ให้ทอดสายตาไปประมาณ ๔ ศอกคืบ ศีรษะของผู้ปฏิบัติก็จะไม่ก้มและเงยจนเกินไป พอดีแก่การเดินจงกรม(นาน)เมื่อท่ายืนเรียบร้อยแล้ว ให้หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้สติออกไปจากร่างกาย ให้ภาวนาว่า “ยืนหนอๆๆ” ๓ หน พร้อมให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของรูปยืนให้เห็นรูปของตัวเองยืนอยู่ ตั้งแต่พื้นเท้าจนถึงปลายผมจากปลายผมถึงพื้นเท้า เห็นรูปยืนชัดคล้ายกับว่ามีกระจกใบใหญ่ทั้ง ๔ ด้านและทั้งข้างบน –ข้างล่าง เรียกว่าให้มีสติกำหนดพิจารณารู้รูปยืนให้ชัดเจนดีแล้วให้ลืมตาประมาณกึ่ง หนึ่ง(อย่าหลับตาเดิน) จากนั้นให้เคลื่อนสติไปจับอยู่เท้าขวา เดินช้าๆ พร้อมกับภาวนาอยู่ในใจว่า “ขวาย่างหนอ” ขณะที่ภาวนาในใจว่า “ขวา” ให้ยกเท้าขวาขึ้นพร้อมกัน ไม่ให้ก่อนไม่ให้หลังกัน ให้พร้อมกันพอดีๆ และให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของเท้าขวา ที่ยกขึ้นพร้อมกันไปด้วย เรียกว่าให้ครบองค์ ๓ คือ (๑) การยกเท้า (๒) ใจนึกคำบริกรรมว่า ”ขวา” และ (๓) ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของเท้าที่ยกขึ้น ขณะว่า “ย่าง” ต้องเคลื่อนเท้าไปอย่างช้าๆ พร้อมกับลากเสียงยาวๆ และให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของเท้าที่ย่างพร้อมกันไปด้วยเท้าและการลาก เสียงหยุดนิดหนึ่ง (ประมาณหนึ่งวินาที) ในขณะที่จะว่า “หนอ” และขณะว่า “หนอ” เท้าต้องลงถึงพื้นพอดีกันกับคำบริกรรม ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของเท้าที่กระทบพื้นพร้อมกันไปด้วย เท้าที่วางลงไม่ควรให้เอียงซ้าย หรือเอียงขวา ให้วางลงตรงๆ จนกว่าเท้าขวาจะนิ่ง แล้วจึงยกเท้าซ้ายภาวนาในใจว่า “ซ้ายย่างหนอ” ก็มีการกำหนด เช่น เท้าขวา

           การเดินให้ยกเท้าขึ้นประมาณครึ่งแข้ง แต่ละก้าวให้ส้นเท้าหน้ากับปลายเท้าหลัง ห่างกันประมาณ ๒-๓ นิ้ว เมื่อเดินสุดเสื่อหรือสุดสถานที่เดินจงกรมแล้ว ให้เอาเท้าเคียงกัน หยุดยืนหลับตา ภาวนาในใจว่า “ยืนหนอๆๆ” ว่าช้าๆ ๓ ครั้ง มีการกำหนดพิจารณาดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วหมุนกลับ จะกลับด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ โดยมากนิยมกลับด้านขวา และเวลากลับให้หมุนกลับทีละข้าง ในขณะหมุนกลับ ส้นเท้าขวาติดอยู่กับพื้น ยกเฉพาะปลายเท้าให้พ้นพื้น และหมุนไปช้าๆ โดยภาวนาในใจว่า “กลับ..หนอ” จนเท้าขวาทำมุมกับเท้าซ้ายให้ได้ประมาณ ๙๐-๙๕ องศา

           ในขณะเดียวกันให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการกลับของเท้า พร้อมกันไปด้วย ส่วนเท้าซ้ายให้ยกขึ้น พอพ้นพื้น แล้วหมุนไปตามพร้อมกับภาวนาว่า “กลับ..หนอ” ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการกลับเช่นเดียวกัน ให้หมุนกลับอย่างนี้ ๒ คู่ เท่ากับ ๔ ครั้ง ก็จะพอดีกับความต้องการ และหยุดยืนตรงอยู่กับที่ภาวนาว่า “ยืนหนอๆๆ” ๓ ครั้ง แล้วลืมตาเดินจงกรมต่อไป ภาวนาว่า “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการดังที่กล่าวมาข้างต้น

           ให้เดินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ประมาณ ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เป็นต้น (แล้วแต่โอกาสและความเหมาะสมอันพอเหมาะพอควรแก่การทรมานกิเลสของตนของตน) ในขณะเดินจงกรมอยู่นั้น ไม่จำเป็นอย่าวอกแวกหันซ้าย หันขวา อย่าก้ม อย่าเงย ตามอำนาจของกิเลส (ให้มีสติ) เมื่อเดินจงกรมครบเวลาที่กำหนดแล้ว อย่าดื่มน้ำ อย่ากลืนน้ำลาย หรืออย่าทำกิจอื่นเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย เป็นต้น คั่นในระหว่างนั้น ควรให้เดินไปนั่ง ณ ที่นั่งติดต่อกันไปเลย การกำหนดจึงจะไม่ขาดระยะ สติก็จะไม่ขาดช่วง สติไม่ห่างไปจากรูปนามพิจารณารูปนามอยู่ตลอดเวลา ศีล สมาธิ วิปัสสนาญาณก็จะแก่กล้าสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับในเวลาอันไม่ช้าไม่นาน