การกำหนดจิต
ในเวลาที่เดินจงกรมหรือนั่งกำหนดอยู่นั้น ถ้าจิตคิดถึงบ้านเรือนเรือกสวนไร่นา ทรัพย์สินเงินทอง หรือกิจการต่างๆ คิดถึงอารมณ์ที่เป็นอดีตคิดถึงอารมณ์ที่เป็นอนาคต คิดถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ เป็นบาป เป็นต้น ในขณะนั้นให้ปล่อยอาการพอง-อาการยุบ แล้วเอาสติไปกำหนดที่หทัยวัตถุ (หัวใจ) ภาวนาว่า “คิดหนอๆๆ” พร้อมกับกำหนดพิจารณา รู้อาการของจิตไปในขณะเดียวกันด้วย เช่น ในขณะเดินจงกรมหรือในขณะนั่งอยู่ แม้เมื่อจิตมีความดีใจ เสียใจ โลภ โกรธ หลง ราคะ มานะ เป็นต้น เกิดขึ้นร่วมก็ให้ปล่อย อาการพอง-อาการยุบ แล้วเอาสติไปกำหนดที่หัวใจเช่นเดียวกัน คือ
ถ้าดีใจ ให้กำหนดว่า “ดีใจหนอๆๆ”
ถ้าเสียใจ ให้กำหนดว่า “เสียใจหนอๆๆ”
ถ้าโลภ ให้กำหนดว่า “โลภหนอๆๆ”
ถ้าโกรธ ให้กำหนดว่า “โกรธหนอๆๆ”
ถ้าหลง ให้กำหนดว่า “หลงหนอๆๆ”
ถ้าราคะ ให้กำหนดว่า “ราคะหนอๆๆ”
ถ้ามานะ ให้กำหนดว่า “มานะหนอๆๆ”
ถ้าเกียจคร้าน ให้กำหนดว่า “เกียจคร้านหนอๆๆ”
ถ้าพอใจ ให้กำหนดว่า “พอใจหนอๆๆ”
ถ้าฟุ้งซ่าน ให้กำหนดว่า “ฟุ้งซ่านหนอๆๆ”
ถ้ารำคาญ ให้กำหนดว่า “รำคาญหนอๆๆ”
ถ้าสงสัย ให้กำหนดว่า “สงสัยหนอๆๆ”
ถ้าใคร่ครวญ ให้กำหนดว่า “ใคร่ครวญหนอๆๆ” เป็นต้น
พร้อมกับให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของจิตที่มีอาการ ต่างๆ กัน เช่น เกิดความดีใจ เกิดความเสียใจ เป็นต้น พร้อมกันไปด้วย การกำหนดพิจารณา รู้อาการของจิต (สิ่งที่เกิดร่วมกับจิต=จิตเจตสิก) นั้น ไม่ใช่กำหนดให้อาการของจิตมีราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ เป็นต้นดับไป แต่เป็นเพียงให้โยคีผู้ปฏิบัติมีสติ กำหนดพิจารณารู้อาการของจิตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้น ให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริงเท่านั้นและอย่าให้ความยินดี ชอบใจ หรือความยินร้าย ไม่ชอบใจเกิดขึ้นมา ให้จิตของโยคีนั้นดำรงอยู่ในความเป็นกลางตลอดเวลา ในขณะที่พิจารณาอยู่นั้น แต่เมื่อในขณะที่มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของจิตอยู่นั้นสมาธิของโยคีผู้ ปฏิบัติคนใดมีมาก วิปัสสนาญาณแก่กล้ามีกำลังมาก อาการของจิตอาจจะดับไปในขณะที่กำลังกำหนดรู้อยู่นั้นก็ได้ (และให้โยคีต้องพยายามจำให้ได้ว่า อาการของจิตจึงดับไปในขณะที่เรากำหนด พิจารณารู้อาการของจิตอย่างไรอยู่ อาการของจิตจึงดับพรึบลงไปพร้อมกัน) แต่ถ้าสมาธิของโยคีมีน้อยและวิปัสสนามีกำลังอ่อนอาการของจิตที่กำหนดอยู่ นั้นจะไม่ดับเป็นแต่เพียงเบาลงเมื่ออาการของจิตอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ปรากฏ ชัด ก็ให้ไปกำหนดพิจารณารู้อาการพอง-ยุบ ที่ปรากฏชัดอยู่ในขณะนั้นต่อไปอีก จนกว่าจะครบเวลาตามที่กำหนดไว้
หมายเหตุ ถ้าเผลอลืมสติ กำหนดไม่ทันความเคลื่อนไหวของจิต(ความคิด)ถ้ามีสติกำหนดรู้ทันเมื่อไร จะเป็นระยะต้นของความคิดก็ตามระยะกลางของความคิดก็ตาม หรือระยะหลัง คือตอนปลายของความคิดก็ตามให้กำหนดว่า “คิดหนอๆๆ” ในขณะนั้นทันที