การกำหนดเสียง

การกำหนดเสียง

           เสียงนั้นจะมีเสียงเดียวหรือมากเสียงก็ตาม ถ้าเสียงนั้นไม่รบกวนจิตใจของโยคีผู้ปฏิบัติ (คือเสียงไม่ปรากฏชัดเจนมาก) จิตใจของโยคีผู้ปฏิบัติมุ่งตรงต่อการกำหนดอาการพองหนอ-ยุบหนอ ทันปัจจุบันธรรมดีอยู่ก็ให้กำหนดอารมณ์นั้นต่อๆไป แต่ถ้าในขณะที่เดินจงกรม หรือนั่งกำหนดอยู่นั้น ถ้ามีเสียงดังปรากฏขึ้นมาชัดเจน หนวกหู ก่อให้เกิดความรำคาญ ทำให้เกิดความไม่สบายในการภาวนา หรือเสียงสรรเสริญ เสียงน่าใคร่ที่เป็นอิฏฐารมณ์ทั้งปวงที่ฟังแล้วทำให้จิตยินดี เป็นเหตุให้ละอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันก็ตามเกิดขึ้นมารบกวนให้ปล่อยอาการพอง หนอ-ยุบหนอให้มีสติไปกำหนดที่หู โดยภาวนาว่า “ได้ยินหนอๆๆ” พร้อมกับกำหนดพิจารณารู้อาการกระทบของเสียงที่มากระทบในขณะนั้นพร้อมกันไป ด้วยการกำหนดพิจารณารู้อาการกระทบของเสียงที่มากระทบประสาทหูในขณะนั้น ไม่ใช่กำหนดให้อาการกระทบของเสียงมันดับไป แต่เป็นเพียงให้โยคีผู้ปฏิบัติมีสติ กำหนดพิจารณารู้อาการกระทบของเสียงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้น ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงเท่านั้น และอย่าให้เกิดความยินดีหรือไม่ยินดี ให้จิตของโยคีนั้นดำรงอยู่ในความเป็นกลางตลอดเวลา ในขณะที่พิจารณาอาการกระทบของเสียงอยู่นั้น แต่เมื่อในขณะที่มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการกระทบของเสียงอยู่นั้น สมาธิของโยคีผู้ปฏิบัติคนใดมีมาก วิปัสสนาญาณแก่กล้ามีกำลังมาก อาการกระทบของเสียงจะปรากฏชัดเจนมาก ในขณะที่รู้ชัดเจนอยู่นั้น อาการของเสียงที่กระทบหูของเรานั้นมันดับพรึบลงไปเลย (โยคีต้องพยายามจำให้ได้ว่าอาการกระทบของเสียง มันดับลงไปในขณะที่เรากำหนดพิจารณารู้อาการกระทบของเสียงอย่างไรมันจึงดับ พรึบลงไปพร้อมกัน)แต่ถ้าสมาธิของโยคีมีน้อย และวิปัสสนาญาณมีกำลังอ่อน อาการกระทบของเสียงจะไม่ปรากฏชัด เวลากำหนดพิจารณารู้อาการ กระทบของเสียงก็จะไม่ดับ เป็นแต่เบาลงไม่ปรุงแต่งในเสียงเท่านั้น เมื่ออาการกระทบของเสียงไม่ปรากฏชัดก็ให้ไปกำหนดพิจารณารู้อาการพองหนอ-ยุบ หนอที่ปรากฏชัดเจนอยู่ในขณะนั้นต่อไปอีก จนกว่าจะครบเวลาตามที่ตนกำหนดไว้

          ข้อที่ต้องทำความเข้าใจ การกำหนดอารมณ์ทั้งปวง คืออารมณ์ ทางตา..หู..จมูก..ลิ้น..กาย..ใจ นั้น อารมณ์ไหนปรากฏชัดเจน แจ่มแจ้งก็ให้กำหนดอารมณ์นั้นๆ ก่อน เช่น ในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่นั้น อารมณ์เกิดขึ้นมาหลายทาง ทางหูก็มีเสียงมากระทบ ทางจมูกก็ได้กลิ่น ทางกายก็มีการกระทบ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือทุกขเวทนา เป็นต้น ที่เกิดร่วมจิตก็คอยแต่จะคิดถึงอดีต อนาคตอยู่เรื่อย และในขณะนั้นก็กำลังกำหนดอาการพองหนอ-ยุบหนออยู่ เมื่อสิ่งเหล่านี้มาประสบ และเกิดขึ้นพร้อมกัน ก็ให้เราเลือกกำหนดอารมณ์ที่ปรากฏชัดเจนที่สุด ถ้าเสียงก่อความรำคาญก่อความชอบใจติดอกติดใจมากกว่ารูปนิมิต มากกว่ากลิ่น มากกว่าทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา มากกว่าความคิด หรือมากกว่าอาการพองหนอ-ยุบหนอ ก็ให้กำหนดเสียงนั้น เสียก่อน รวมความว่า อารมณ์ไหนปรากฏชัดเจน แจ่มแจ้ง ให้กำหนดอารมณ์นั้น นั่นแลก่อน