ปฏิบัติถูกจึงเห็นผล
(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม วันที่ ๑๖ ก.ค. ๕๓)
วันนี้จะขอเน้นไปที่เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรม เราจะปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะเป็นเหตุให้เกิดผล เท่าที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้เคยแนะนำพร่ำสอน หรือว่ากระผมได้เคยศึกษา เหตุที่ทำให้การปฏิบัติได้ผลดีนั้น
ประการที่ ๑ พวกเราต้องไปอยู่ในสำนักของครูบาอาจารย์ผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่เคยผ่านการปฏิบัติธรรมมา เราก็ไปอาศัยท่าน ขอคำแนะนำจากท่าน ฟังโอวาท ฟังข้อวัตรปฏิบัติ ก็จะเป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปได้ดี บางทีถ้าเรามีบุญวาสนาบารมี แต่ปฏิบัติธรรมไม่ถูกวิธี การปฏิบัติธรรมนั้นก็ได้ผลยาก อย่างเช่นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เริ่มแรกไปอาศัยอยู่ในสำนักของสญชัย ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ แต่เมื่อพระสารีบุตรได้ไปพบพระอัสสชิเถระ เพียงท่านพูดว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ.
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้.
เพียงเท่านี้ก็สามารถได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะการอยู่ในสำนักของผู้ที่เป็นบัณฑิต ผู้ที่รู้ธรรม ธรรมะในพระพุทธศาสนานี้มีมาก อย่างเช่นที่เราได้ยินคณะครูบาอาจารย์ที่บรรยายว่า พุทโธ เป็นสมถะ พองหนอ ยุบหนอ เป็นวิปัสสนา หรือว่า นะมะพะทะ เป็นสมถะ สัมมา อรหัง เป็นสมถะ หรือว่า การบริกรรมอย่างอื่นไม่ถูกต้อง การพูดในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอน
การปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้ว เราจะบริกรรมว่า พุทโธ ก็ตาม จะบริกรรม ยุบหนอ พองหนอ ก็ตาม หรือว่าจะบริกรรมว่า นะมะพะทะ หรือว่าเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม อันนั้นก็ถือว่าเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ถ้าบุคคลใดมีบารมีทางสมาธิ ก็อาจมีจิตใจที่สงบ แต่ถ้าบุคคลใดพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปของนาม ก็เป็นวิปัสสนา
อย่างเช่นภิกษุรูปหนึ่งมาปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติธรรมไป กำหนด ยุบหนอ พองหนอ ไป ก็พิจารณาเห็นอาการของต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ขณะที่พิจารณาดูอาการพองอาการยุบอยู่นั้น ร่างกายก็เกร็งเข้าแน่นเข้า มือก็แน่นเข้า ความรู้สึกก็เบาลง บริกรรม พองหนอ ยุบหนอ ประมาณ ๔-๕ ครั้ง มันก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาก็ดับลงไปอีก ภิกษุรูปนั้นก็คิดว่า การปฏิบัติธรรมคงจะไม่ได้ผล คงจะมีแต่ความสงบเฉย ๆ ไม่เกิดปัญญา
ภิกษุรูปนั้นก็เข้าไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ขอเปลี่ยนคำบริกรรมจาก พองหนอ ยุบหนอ เป็น พุทโธ เผื่อจะได้เกิดวิปัสสนาเกิดปัญญาบ้าง เพราะว่าบริกรรม ยุบหนอ พองหนอ แล้วมีแต่ความสงบ พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็กล่าวว่า จะเอา พุทโธ ก็ได้ ภิกษุรูปนั้นก็ไปบริกรรม พุทโธ บริกรรม พุทโธ ๆ ไป ก็ดับไปอีก เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเกือบ ๑๕ วัน ภิกษุรูปนั้นก็เลยเบื่อหน่าย เพราะว่ามีแต่ความสงบ บริกรรมครั้งใดก็มีแต่ความสงบ คิดว่า พุทโธ นั้นเป็นสมถะ ไม่เป็นวิปัสสนา ก็ไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อขอเพ่งกสิณ เพราะเดชพระคุณหลวงพ่อท่านก็อนุญาตให้เพ่งกสิณ
เมื่อเพ่งกสิณก็บริกรรมไป สีเขียว นีลัง ๆ ขณะที่บริกรรม รูปกสิณนั้นก็เป็นวงกลมเนียนขึ้นมา พอดวงกสิณมันจะลอยขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ความสงบก็เกิดขึ้น ก็เป็นอยู่อย่างนั้นเกือบ ๑๕ วัน ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดวิปัสสนา แต่ว่าเมื่อภิกษุรูปนั้นไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านก็บอก่า เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จิตใจก็จะอยู่ในสภาวะแบบนี้ ถึงคราวสงบมันก็สงบ เราได้สั่งสมอบรมบารมีมาทางนี้ แต่เมื่อมันขึ้นสู่วิปัสสนาญาณ ความสงบก็จะหายไป
ภิกษุรูปนั้นก็ปฏิบัติ กำหนดอาการพองอาการยุบ ให้เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องให้เห็นอาการของต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ คือให้เห็นความเกิดดับของรูปของนาม จึงจะถือว่าเป็นการเจริญวิปัสสนา จึงจะเป็นฐานของการเกิดของวิปัสสนาได้
เมื่อตั้งใจกำหนด เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมา เราก็สังเกตอาการของรูปของนาม อย่างเช่นเราสังเกตอาการพองอาการยุบ ถ้าอาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้น ๆ แล้วก็จางหายไป หรือว่าอาการพองอาการยุบของเรามันแน่นเข้า ๆ แล้วก็จางหายไป หรือว่าอาการพองอาการยุบของเรามันแผ่วเบาลงไป ๆ แล้วก็จางหายไป ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นวิปัสสนาญาณ เรียกว่า สัมมสนญาณปรากฏขึ้นมาแล้ว อารมณ์ของวิปัสสนามันเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้ามันเร็วขึ้น ๆ ก็เป็นอนิจจัง ถ้ามันแน่นเข้า ๆ ก็เป็นทุกขัง ถ้ามันแผ่วเบาลงไป ๆ ก็เป็นอนัตตา
ผู้ปฏิบัติธรรมก็จะได้พิจารณาว่า การปฏิบัติธรรมของเรามาถึงนี้แล้ว ต่อไปเราจะตั้งใจสำรวมอินทรีย์ให้มากกว่านี้ เราก็จะได้กำหนดบทพระกรรมฐานว่า ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมา เราเผลอไปตอนไหน ก็สำรวจตัวเอง เมื่อสำรวจตัวเองก็รู้ว่าเราเผลอไปตอนไหน ก็มีสติเพิ่มขึ้น เมื่อสติของเรามันดีขึ้น สมาธิของเรามันดีขึ้น วิปัสสนาญาณของเราไม่กระท่อนกระแท่น วิปัสสนาญาณของเราก็ติดต่อกันไปดุจกระแสน้ำ มีสติกำหนดรู้อาการคู้อาการเหยียด จะทำอะไรก็กำหนดทัน
เมื่อกำหนดทัน สติมันมีพลัง มีอานุภาพ มีประสิทธิภาพ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณมันเปลี่ยนไปเอง เหมือนกับต้นไม้ที่เกิดขึ้นมาแล้วก็เติบโตขึ้นไปตามลำดับ วิปัสสนาญาณก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว พวกเราเจริญสติอยู่ตลอดเวลา วิปัสสนาญาณก็ต้องแก่กล้าไปตามลำดับ ความเกิดดับก็จะปรากฏขึ้นมา อย่างเช่นอาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้น ๆ แล้วก็ดับลงไป แน่นเข้า ๆ แล้วก็ดับลงไป หรือแผ่วเบาลง ๆ แล้วก็ดับลงไป ลักษณะอย่างนี้ถือว่าวิปัสสนาญาณมันก้าวขึ้น ผู้ปฏิบัติธรรมก็รู้ว่าวิปัสสนาญาณมันก้าวขึ้นแล้ววันนี้ พรุ่งนี้ถ้าเราสำรวมมากกว่านี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณมันก้าวขึ้นไปอีก เรียกว่าเราสามารถจับจุดของวิปัสสนาญาณได้ โดยเฉพาะคณะครูบาอาจารย์ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม ที่ท่านกล่าวว่าปฏิบัติตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ บางรูปก็อาจจะสงสัยว่าปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ นั้นคือปฏิบัติอย่างไร
ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า กาย เวทนา จิต ธรรม
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการกำหนดรู้กาย ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า อันนี้เรียกว่ากายของเรา ให้เรากำหนดรู้ รู้อย่างไร ?
คือขณะที่เราคู้ เราเหยียด เราก้ม เราเงย ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ รู้อะไร ? รู้อาการ ไม่ใช่รู้ก้อนของกาย แต่รู้อาการของกาย อย่างเช่น เราเหยียดแขน เราก็รู้ว่าอาการเหยียดมันเป็นอย่างไร เราคู้เราก็รู้ว่าอาการคู้เป็นอย่างไร เราก้มเราก็รู้ว่าอาการก้มมันเป็นอย่างไร เห็นรูปนามมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในลักษณะอย่างนี้จะเกิดวิปัสสนาขึ้นมา การเจริญกายานุปัสสนานั้นก็คือการกำหนดรู้กายตามที่กล่าวมา
การเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา นั้น ให้ทำไปพร้อมกัน อะไรมันชัดเจนเราก็กำหนดตรงนั้น ถ้ากายมันชัดเราก็กำหนดกาย ขณะที่เราบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ ไป เวทนามันปรากฏชัด อย่างเช่น เจ็บหลัง ปวดเอว เป็นต้น เราก็กำหนดอาการปวดนั้น ขณะที่เราบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ ไป อาการพอง อาการยุบ มันไม่ชัดเจน แต่อาการปวดนั้นมันปวดมาก ปวดจนจะทนไม่ไหว ในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า อาการปวดมันชัดเจน เราก็ย้ายสติออกจากอาการพองอาการยุบ มากำหนดอาการปวด กำหนดว่า ปวดหนอ ๆ จี้ลงไปตรงอาการปวด
รวบรวมสติให้ดี เพ่งลงไปที่อาการปวด พิจารณาว่าอาการปวดนั้นมันปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนเข็มแทง ปวดเหมือนไฟลน พิจารณาดูความปวด แล้วเราก็มีสติเพ่งดูความปวด ตรงไหนที่มันปวดมากที่สุด เราเอาสติไปปักอยู่ตรงนั้น แล้วก็รวมให้เท่ากับเหรียญสิบหรือเหรียญห้า มีสติพิจารณาลงไปดูความปวด ขณะที่เรากำหนดว่า “ปวดหนอ” จี้ลงไปตรงความปวดเหมือนกับเราหมุนไฟฉายกลม ๆ แล้วก็ส่องลงไปตรงที่มืด ๆ เราเห็นความปวด แล้วก็พิจารณาดูความปวดว่า การที่มันปวดแสบนั้น มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างไร
ขณะที่เรากำหนดว่า “ปวดหนอ” เราก็พิจารณาดูความปวด เราพิจารณาเห็นความปวดมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บางครั้งสติมันดี มันเห็นความปวดวิ่งไปวิ่งมา อันนั้นเป็นอานุภาพของสติ บางรูปบางท่านกำหนด “ปวดหนอ” ความปวดมันดับพรึบไป ทั้ง ๆ ที่มันปวดมาก ๆ เมื่อมันดับพรึบไป บางครั้งตัวเบาขึ้นมา ลอยขึ้นมาเหมือนกับไม่นั่งอยู่กับพื้นก็มี นี่ลักษณะของผู้ที่มีสติมีสมาธิ จะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น
เวลาเรากำหนดเวทนา เวลามันชัดเจน เรากำหนด “ปวดหนอ” เราต้องพิจารณาดูอาการของความปวดด้วย เวลาความปวดมันเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กันหลายที่ ปวดแข้งปวดขา ปวดหลัง ปวดเอว เราจะกำหนดตรงไหนก่อน ในเมื่อมันปวดพร้อมกัน เราก็ต้องพิจารณาว่าตรงไหนมันปวดมากที่สุด เราก็ไปกำหนดที่ตรงนั้น แล้วก็พิจารณาดูอาการของความปวด เมื่อเรากำหนดในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เจริญเวทนานุปัสสนา
จะเป็นอาการของความสุขซึ่งเป็นปีติก็ตาม บางครั้งเรานั่งภาวนาไป ในวิปัสสนาญาณที่ ๓ บางครั้งอาจจะเกิดปีติขึ้นมา กำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” ไป อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้น ๆ ตัวของเรามันก็โยกไปโยกมา บางครั้งก็หมุนซ้ายหมุนขวา บางครั้งเรานั่งภาวนาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พอลืมตาขึ้นมาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก บางครั้งเราเอาขาทับกัน เอามือทับกัน แต่ตัวของเราหมุนเหมือนกับลูกข่างก็มี นี่เป็นอำนาจของปีติ เมื่อมันเป็นลักษณะอย่างนั้น แทนที่มันจะเหนื่อย แต่มันกลับเกิดความสุข เกิดความร่าเริงเบิกบาน
บางครั้งนั่งภาวนาไป “พองหนอ ยุบหนอ” ไป อาการพองอาการยุบมันยุบลงไป เหมือนกับจดกระดูกสันหลังแล้วก็หัวคะมำลงไป เวลามันพองมันก็พองเหมือนกับท้องจะระเบิด แล้วก็หงายหลังไป อยู่ในลักษณะอย่างนั้นเป็นประมาณ ๔๕ นาที แทนที่รู้สึกตัวขึ้นมาจะเหน็ดเหนื่อย กลับเกิดปีติ ลักษณะอย่างนี้บางคนบางท่านก็หลง
อย่างเช่นหลวงปู่ที่อยู่บ้านคอนสาย พระเดชพระคุณหลวงพ่อไปเปิดสอนกรรมฐาน ปีนั้นก็ได้ไปช่วยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พอไปแล้วก็ได้ไปสอนผ้าขาว ขณะที่สอนผ้าขาวอยู่นั้น หลวงปู่นั้นก็โยกไปโยกมา แล้วก็ครางไปด้วย คล้าย ๆ กับว่ามีความสุข ก็บอกว่า หลวงปู่ ๆ ให้หลวงปู่กำหนดนะ อันนั้นมันเป็นปีติเฉย ๆ แต่หลวงปู่ก็ไม่ฟัง เวลาผ่านไป ๒ ปี ๓ ปี ก็เห็นท่านยังครางอยู่อย่างนั้นแหละ อันนี้เรียกว่า หลงในอำนาจของปีติ
หรือหลวงปุ่คำข่อง ซึ่งข้ามมาจากประเทศลาว มาปฏิบัติกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อในปี ๒๕๓๓ มาปฏิบัติธรรม เดินจงกรมใกล้ ๆ กัน เดินไปเดินมา ท่านก็พูดให้ฟังว่า ตั้งแต่บวชเข้ามานั้นไม่เคยปฏิบัติธรรมสักที ขณะนี้ก็อายุเกือบ ๗๑ ปีแล้ว ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมสักที พอท่านมาปฏิบัติธรรม ท่านก็นั่งสมาธิได้ถึง ๑๒ ชั่วโมง ก็เกิดความสุข แล้วก็ครางอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งพรรษา อันนี้เรียกว่าหลงอยู่ในความสุข
เมื่อเกิดความสุขขึ้นมา คณะครูบาอาจารย์ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม มันสุขจากไหน มันสุขจากหัวใจแล้วก็แผ่ไปทั่วสรรพางค์กาย ถ้ามันสุขที่หัวใจ เราก็ต้องเอาสติไปกำหนดลงที่หัวใจ กำหนดว่า “สุขหนอๆ” พิจารณาดูความสุข ว่าความสุขนั้นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไร อันนี้ชื่อว่าเป็นการเจริญเวทนานุปัสสนา
การเจริญกรรมฐาน อะไรมันชัดเจนกว่าเราก็กำหนดอันนั้น กระผมช่วยงานพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ก็สอบอารมณ์คณะครูบาอาจารย์มาหลายปี แต่ละรูปแต่ละท่าน แต่ละปี ก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็คล้าย ๆ กัน บางรูปก็หนักไปในทางกายานุปัสสนา บางรูปก็หนักไปในทางเวทนานุปัสสนา บางรูปก็หนักไปในทางจิตตานุปัสสนา
บางรูป เวลาเราให้กำหนดอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดไม่ชัดเจน กำหนดเป็นเลือน ๆ ลาง ๆ ไม่ปรากฏชัดเจน บางรูปบางท่านเราให้กำหนดเวทนาก็ไม่ชัดเจน กำหนดแล้วจิตใจไม่ตั้งมั่น ไม่จดจ่อ ไม่มีความกระตือรือร้นในการกำหนด มีแต่ความคิด คิดอยู่ตลอดเวลา กำหนดอยู่เป็นเกือบหนึ่งเดือนก็ไม่ได้ผล ก็ให้ท่านกำหนดจิต เดินจรงกรมก็สักแต่ว่าเดิน เพราะว่ากำหนดกายไม่ชัดเจน เวทนาก็ไม่ปรากฏชัด มีแต่คิดอย่างเดียว ก็ให้ท่านกำหนดคิดอย่างเดียว “คิดหนอ ๆ” จี้ลงไปที่หัวใจ ดูความคิด ขณะที่มันคิด เราก็กำหนด “คิดหนอ” จี้ลงไป
ขณะที่กำหนดเราก็พิจารณาดูอาการของความคิดที่มันปรากฏขึ้นมาในขณะนั้น “คิดหนอ” เราพิจารณาดูอาการของความคิด ว่าความคิดที่มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่อย่างไร แล้วก็ดับไปอย่างไร พิจารณาดูความคิดในลักษณะอย่างนี้ ท่านก็พิจารณาไปอย่างนี้ ไม่ช้าไม่นาน ขณะที่กำหนด “คิดหนอ” มันดับลงไป พอดับพรึบไปแล้วก็เกิดปีติขึ้นมา ท่านก็ได้รับความสบายใจ อยู่ในพระศาสนามาตราบเท่าทุกวันนี้
บางท่านก็ชอบพิจารณาธรรม ขณะที่พิจารณาธรรม เราก็พิจารณาธรรมที่มันเกิดขึ้นมาในกาย การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เราจะพิจารณารูปก็ดี เสียงก็ดี พิจารณาอะไร เราก็ต้องน้อมเข้ามาสู่กายของเรา เราอย่าส่งจิตออกไปข้างนอก ให้เราดึงจิตเข้ามาข้างใน ให้อยู่ที่อัตภาพอันยาววาหนาคืบกว้างศอก ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า อันนี้เรียกว่าเป็นก้อนสัจจะ การปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องกำหนด ให้มีสติรู้อยู่ในกายของเรานี่แหละ อย่าให้ออกไปนอกกาย ให้พิจารณาอยู่ในกายของเรานี้ ให้เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปของนาม
ถ้าเวทนาชัด เราก็กำหนดรู้ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของเวทนา ถ้าจิตมันปรากฎชัด เราก็กำหนดรู้อาการของจิตที่มันปรากฏชัด ให้จิตมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป หรือว่าเราพิจารณาธรรม เราก็น้อมธรรมนั้นมาสู่ร่างกายของเรา เห็นธรรมนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้เป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่าเราเจริญกรรมฐานด้วยปัญญา สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ
ตามที่กระผมได้สอบอารมณ์คณะครูบาอาจารย์ต่าง ๆ มา บางครั้งกำหนดจิตไม่เป็น บางครั้งกำหนดเวทนาไม่เป็น บางครั้งกำหนดรูป เสียง ปีติ ที่มันเกิดขึ้นมาไม่เป็น ส่วนมากก็เหม่อลอยไปตามอำนาจของปีติ บางครั้งก็เหม่อลอยไปตามอำนาจของปัสสัทธิเหม่อลอยไปตามอำนาจของนิมิตที่มันเกิดขึ้นมา เราจะไปเตือนเราจะไปบอกก็ไม่เชื่อ
บางทีเราปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง ถึงจะมีบารมีมากขนาดไหน บางครั้งก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เราได้ศึกษามาว่า พระอัครสาวก ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๐ ทัศ จึงจะเป็นอัครสาวกได้ แต่เมื่อบำเพ็ญบารมีมามากขนาดนั้น ก็ยังไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยตนเอง เว้นพระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงจะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยตนเองได้
บุคคลผู้ที่มาอาศัยในสำนักของครูบาอาจารย์ผู้ที่เคยผ่านการปฏิบัติธรรม ก็เหมือนกับเราเดินตามทางที่ท่านเคยเดินผ่านไปแล้วโดยดี เพียงแต่ว่าเราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่าน ไม่มีทิฏฐิมานะ ไม่ถือตัว มีความเคารพยำเกรง อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อครูบาอาจารย์ การปฏิบัติธรรมก็เป็นไปได้ดี
พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยกล่าวประจำว่า ปฏิบัติธรรมอย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ประเภทอยากมีหูทิพย์ตาทิพย์รู้วาระจิตของคนอื่น เป็นต้น ส่วนมากปฏิบัติแล้ววิปลาสคลาดเคลื่อนเสียสตินิสัยไป ถ้าบุคคลใดปฏิบัติด้วยทิฏฐิมานะ ถือว่าตนเองเก่งกว่าบุคคลอื่น ในลักษณะอย่างนี้ก็ปฏิบัติธรรมผ่านไปได้ยาก อารมณ์จะแช่อยู่ในลักษณะเดิม
ตามที่กระผมได้สอบอารมณ์ รู้ว่าภิกษุรูปนี้มีมานะทิฏฐิ มีความกระด้าง มีความถือตัว เราก็พิจารณาดูว่า สภาวธรรมของบุคคลเช่นนี้จะเป็นอย่างไรหนอ ส่วนมากอารมณ์มันก็จะอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ก้าวหน้า ไม่เกิดปัญญาขึ้นมา เพราะว่า มานะทิฏฐินั้นเป็นอกุศลจิต เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณซึ่งเป็นกุศลจิตก็ไม่สามารถเจริญขึ้นมาในขันธสันดานได้
การปฏิบัติธรรมนั้น ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก คือถ้าบุคคลใดได้สั่งสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อนไว้มาก เวลามาปฏิบัติธรรม เดินจงกรม “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” บางครั้งเข้าสมาธิไปในขณะที่เดินจงกรมก็มี
ในสมัยหนึ่งหลวงพ่อท่านให้สอนพวกครูที่มาอบรม ก็สอนเดินจงกรม เขาก็ปฏิบัติตาม ขณะที่เดินจงกรมไปประมาณ ๓-๔ ก้าว แล้วก็บอกว่าให้หมุนกลับ ก็อธิบายลักษณะของการกลับ เมื่อเดินต่อสักหน่อยแล้วก็บอกให้นั่ง จะได้อธิบายการนั่ง มีครูคนหนึ่งยืนเข้าสมาธิ ทั้ง ๆ ที่เดินจงกรมเพียงแค่ ๓-๔ ก้าว แต่ยืนเข้าสมาธิไป ทำให้ครูทั้งหลายเกิดศรัทธาขึ้นมา เกิดความเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมนั้นมันมีผลจริง นี่แหละคนมีบารมี
บางช่วงไปสอนกรรมฐานภาคฤดูหนาว มีโยมคนหนึ่ง ขาเป็นแผล ลูกหลานไม่สนใจ ก็มาบวชผ้าขาว เวลาเดินจงกรมก็เอาไม้เท้าค้ำเดิน น้ำเหลืองน้ำหนองก็ไหลออก โยมคนนั้นก็ไปเดินเอามือค้ำกำแพง เห็นแล้วเกิดความสลดสังเวช เดินจงกรมด้วยความทุกข์ทรมาน เกิดความเจ็บปวด น้ำเหลืองไหลอยู่ตลอด ปฏิบัติธรรมไปประมาณ ๗-๘ วัน วันหนึ่ง ขณะที่เดินจงกรมอยู่ โยมคนนั้นก็ยืนเข้าสมาธิ ยืนถือไม้เท้าเข้าสมาธิ แข็งอยู่อย่างนั้น ยืนอยู่อย่างนั้นเกือบ ๑ ชั่วโมง อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ที่ปฏิบัติธรรมง่าย
แต่บางคนบางท่านมาปฏิบัติธรรมหลายปี อย่างเช่นบางท่านเคยมาปฏิบัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๓ พร้อมกัน วิปัสสนาญาณไม่เกิดก็มี แต่ความเพียร ความอดทน ทุกสิ่งทุกอย่างดี แต่หลัง ๆ ผ่านไปเป็น ๑๐ ปี ท่านมาปฏิบัติธรรม แล้วกระผมก็เป็นผู้สอบอารมณ์ให้แก่ท่าน แต่ก่อนท่านไม่รู้เลยว่า รสชาติของปีติเป็นอย่างไร ไม่เคยรู้เลยว่ารสชาติของสมาธิเป็นอย่างไร ไม่รู้เลยว่าความสงบที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านบอกว่ามันขาดไปนั้นมันขาดไปอย่างไร ได้แต่ฟัง ฟังแล้วฟังเล่า แต่ไม่เคยปรากฏขึ้นมา แต่พอหลัง ๆ บารมีท่านเพิ่มขึ้น ท่านมาปฏิบัติ ท่านทั้งพูดทั้งน้ำตาไหลไปด้วย
การปฏิบัติธรรมบางครั้งมันก็นานเหลือเกิน นานจนเกือบจะทนไม่ไหว แต่ถ้าเราไม่ละความเพียร ไม่ละความพยายาม ก็สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ สามารถที่จะปฏิบัติธรรมได้ อย่างเช่นที่เราได้อ่านอยู่ในช่วงท้ายของสติปัฏฐานสูตรว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีบารมีนั้น ปฏิบัติธรรมไม่เกิน ๗ ปีก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าอุปธิยังเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี
ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า ๗ ปียกไว้ ๖ ปี ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าอุปธิเหลืออยู่ก็ได้เป็นพระอนาคามี
๖ ปียกไว้ ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ก็สามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าอุปธิเหลืออยู่ก็ได้เป็นพระอนาคามี
๑ ปียกไว้ ๖ เดือน ก็สามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าอุปธิเหลืออยู่ก็ได้เป็นพระอนาคามี
๖ เดือนยกไว้ ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ก็สามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าอุปธิเหลืออยู่ก็ได้เป็นพระอนาคามี
๑ เดือน ยกไว้ ๑๕ วัน ก็สามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าอุปธิเหลืออยู่ก็ได้เป็นพระอนาคามี
๑๕ วันยกไว้ ๑๔ วัน ๑๓ วัน … ๑ วัน ก็สามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าอุปธิเหลืออยู่ก็ได้เป็นพระอนาคามี
หรือแม้แต่เรียนเอาตอนเช้า ไปบรรลุตอนเย็น เรียนตอนเย็น ไปบรรลุตอนเช้าของอีกวัน
อันนี้เป็นการเปรียบเทียบบารมีที่ท่านกล่าวไว้ในตอนท้ายของสติปัฏฐานสูตร อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า การปฏิบัติธรรม ถ้าเรามาอยู่ในสำนักของคณะครูบาอาจารย์ที่ท่านได้รู้อรรถรู้ธรรม รู้กรรมฐานที่แท้จริง ได้เคยผ่านหนทางคือวิปัสสนาญาณมาก่อน โอกาสที่จะแนะนำคนอื่นให้สามารถเดินตามได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เกินวิสัย เป็นสิ่งที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
เพราะฉะนั้น ขอให้ครูบาอาจารย์ผู้มาปฏิบัติธรรมเข้าใจในการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าเราอ่านตำรา บางครั้งไม่มีครูบาอาจารย์ ไปปฏิบัติธรรม บางครั้งมันก็ช้า เป็นไปได้ยาก อย่างเช่นที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้กล่าวไว้ว่า ปฏิบัติธรรมคนเดียวต้องประสบกับปัญหานานาประการ เพราะว่าความโง่เป็นอาจารย์ของความฉลาด คนเราโง่ก่อนจึงจะฉลาด
คนที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าบุคคลใดเจริญวิปัสสนารรมฐานแล้วไม่หลงนั้น กระผมว่าหายาก ต้องหลงเสียก่อน หลงดีใจ หลงพอใจ ในสภาวธรรมต่าง ๆ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนานั้น ไม่ใช่ ๑๐๘ ไม่ใช้ล้านแปด แต่เป็นล้านๆๆๆ สภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นประณีตเหลือเกิน สุขุมเหลือเกิน ลุ่มลึกเหลือเกิน โดยเฉพาะบุคคลผู้ที่สามารถผ่านการปฏิบัติแล้วก็สงบ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ปรากฏ มันดับลงไป รู้สึกตัวขึ้นมาเกิดความสุข เป็นต้น ความสุขนั้นประณีตเหลือเกิน เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงทำให้คนหลง ทำคนให้พอใจให้ดีใจได้ง่าย
การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถือว่าเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลายต้องช่วยกันจรรโลงรักษาไว้ เป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายต้องทำให้แจ้ง ทำให้เกิด ทำให้แผ่ขยายออกไปให้กว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
วันนี้กระผมได้กล่าวธรรมะ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.