วิชามาร ๔ ประการ

วิชามาร ๔ ประการ

(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม วันที่ ๑๘ ก.ค. ๕๘)


          วันนี้ก็จะขอน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง “วิชามาร” มาถวายความรู้แก่คณะครูบาอาจารย์ คำว่า วิชา ก็คือ ความรู้ คำว่า มาร ก็คือ สิ่งที่ล้างผลาญความดี คือทำความดีให้สิ้นไป ทำความดีให้ตายไปจากจิตจากใจของเรา ห้ามความดีไม่ให้เกิดขึ้นที่กายที่จิตของเรา อันนี้เรียกว่า มาร

         วิชามาร ก็คือ ความรู้ของมาร ที่ทำให้ความดีสูญสิ้นไปจากจิตใจของเรา เป็นความรู้ที่มารชอบใช้ เป็นสิ่งที่มารชอบกระทำ อันนี้เรียกว่า วิชามาร มีอยู่ ๔ ประการ คือ

         ๑. ล่อด้วยทรัพย์

         ๒. หลอกให้หลง

         ๓. ขู่ให้กลัว

         ๔. ยั่วให้เกิดกิเลส

         ประการที่ ๑ ล่อด้วยทรัพย์ ทรัพย์นั้นถือว่าเป็นเครื่องปลื้มใจ บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ จะไม่ยินดีในทรัพย์สมบัตินั้น หาได้น้อยมาก ส่วนมากจะยินดีในทรัพย์สมบัติ ยินดีในเงินในทอง ยินดีในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ

         บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมมีความหลงใหลในทรัพย์ มีความผูกพันในทรัพย์ ปรารถนาทรัพย์ อยากหาทรัพย์ให้ได้มาก ๆ โบราณาจารย์ท่านจึงกล่าวว่า ปุตฺตํ คีเว ภริยา หตฺเถ ธนํ ปาเท

                 บุตรเป็นบ่วงหนึ่งเกี้ยว          พันคอ

         ทรัพย์ผูกบาทาคลอ                      หน่วงไว้

         ภรรยา(สามี)เยี่ยงบ่วงปอ                รึงรัด มือนา

         สามบ่วงนี้ใครพ้นได้                     จึ่งพ้น สงสาร

         คนทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อมีลูกสาวลูกชายก็เกิดความผูกพัน เกิดความรัก กว่าจะเลี้ยงเขาโต กว่าเขาจะรับผิดชอบตัวเองได้ พ่อแม่ก็ย่างเข้าสู่วัยชรา เวลาที่จะมาบำเพ็ญคุณงามความดีก็เป็นไปได้ยาก ส่วนมากก็ร่างกายทุพลภาพ บางคนก็ถึงแก่ความตายไป อันนี้เรียกว่า ลูกเป็นบ่วง ทำให้เราไปไหนไม่ได้ ต้องทำบาปเพราะลูก ต้องฆ่ากบฆ่าเขียด ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลี้ยงลูก กว่าลูกจะเติบโตขึ้นมา

         ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้ ทรัพย์สมบัติ เมื่อมีแล้วก็หวงแหน จะไปไหนก็ไปไม่ได้ จะมาปฏิบัติธรรม ก็ไม่มีใครดูแลกิจการร้านค้าแทน ไม่มีใครดูแลบ้านช่อง เรือกสวนไร่นา ก็ห่วง ก็ไปไม่ได้ ท่านจึงกล่าวว่า ทรัพย์นั้น เหมือนกับเชือกผูกเท้าไว้ จะไปไหนก็ไปไม่ได้ ห่วงแต่ทรัพย์สมบัติอยู่นั่นแหละ

         ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ รัดรึงมือนา ภรรยานั้นก็เหมือนกับเชือกปอผูกศอกไว้ จะไปไหนก็ไปไม่ได้เพราะห่วงภรรยา เคยอยู่ด้วยกัน เคยร่วมสุขร่วมทุกข์ อยู่ร่วมกัน ทำไร่ไถนาค้าขายทำมาหากิน แดดก็สู้ ฝนก็ทนด้วยกันมา เวลาจะไปไหนก็คิดเห็นแต่หน้าภรรยา ไปไม่ได้ ภรรยาก็คิดเห็นแต่หน้าสามี ไปไม่ได้ ผูกพันกันอยู่อย่างนั้น

         เหมือนกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัตยากรท่านเคยยกตัวอย่าง มีภรรยาสามีอยู่คู่หนึ่ง ภรรยาพาสามีมาบวชปะขาว ภรรยาก็ปฏิบัติธรรมอยู่ทางฝ่ายแม่ชี สามีก็บวชเป็นปะขาวปฏิบัติธรรมอยู่กับพระภิกษุ

         ในขณะที่สามีนั่งภาวนาไป ก็เกิดสภาวธรรมขึ้นมา เกิดพระไตรลักษณ์ขึ้นมา อาการพองมันเร็วเข้า ๆ ๆ ๆ ความรู้สึกมันดิ่งลงไป ๆ ๆ  เหมือนมันจะดับลงไป ก็ปรากฏเสียงของภรรยาขึ้นมาว่า “พี่ๆ รอหนูด้วย อย่าพึ่งไป รอหนูด้วย” ผู้ที่เป็นสามีก็ไปสำคัญที่เสียง เมื่อจิตไปสำคัญที่เสียง สภาวธรรมที่ดิ่งลงไปๆ นั้นก็ถอนขึ้นมา แล้วก็พรากออกจากสมาธิ เวลามันจะดิ่งลงไปทีไร ก็ได้ยินเสียงเหมือนเดิม ก็เป็นเหตุให้ผู้ที่เป็นสามีนั้นปฏิบัติธรรมไม่ได้ ก็เลยไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่ามีสภาวธรรมเกิดขึ้นอย่างนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็แนะนำให้ตั้งสติกำหนด จึงสามารถผ่านไปได้

         อันนี้คือภรรยาสามีที่เคยอธิษฐานร่วมกัน เคยอธิษฐานเกิดร่วมกัน เคยอธิษฐานเป็นคู่ผัวตัวเมียกันมาหลายภพหลายชาติ จะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ รัดรึงมือนา

         ทรัพย์สมบัตินั้นเป็นสิ่งที่มารใช้ล่อสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ ให้หลงอยู่ มัวเมาอยู่ ไปไหนไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ บำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป ครบถ้วนบริบูรณ์ดี มารก็ยังใช้ทรัพย์สมบัติมาล่อ ดังเรื่องตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช

         ขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช พระองค์ก็ทรงม้ากัณฐกะ คืนนั้นเป็นคืนเดือนหงาย แสงจันทร์ส่องสว่างไสวทั่วทั้งพระนคร ขณะที่จะออกทางประตูพระราชวัง ก็มีเสียงดนตรีปรากฏขึ้น เจ้าชายสิทธัตถะก็ถามว่า ท่านเป็นใคร พญามารก็ตอบว่า เป็นวสวัสดีมาร

         ท้าววสวัสดีมารกล่าวว่า ช้าก่อนสิทธัตถะ ท่านอย่าเพิ่งบวชเลย อีก ๗ วัน รัตนะแก้ว จักรแก้ว ก็จะปรากฏขึ้นแก่ท่าน ท่านก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครองสมบัติมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ท่านอย่าเพิ่งบวชเลย

         นี่เรียกว่าเอาทรัพย์มาล่อ เพื่อที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะกลับไปยินดีในทรัพย์นั้น

         เจ้าชายสิทธัตถะก็กล่าวว่า ดูก่อนมาร แม้เราก็รู้อยู่ว่า อีก ๗ วัน เราจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต แต่เราเห็นว่าทรัพย์สมบัตินั้นตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ ตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ที่เสวยความเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น ก็ยังไม่พ้นไปจากความทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น เราจะออกบวช

         ในเรื่องนี้ มีพระเจ้ามันธาตุเป็นอุทาหรณ์

         ท่านกล่าวว่า มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งพระนามว่า มันธาตุ เป็นผู้มีบารมีมาก ครอบครองมนุษย์มีมหาสุทรทั้ง ๔ เป็นขัณฑสีมา นอกจากจะครอบครองมนุษย์ทั้งหมดแล้ว ยังครอบครองทวีปอีก ๓ ทวีป ได้แก่ อุตรทวีป ปุพพวิเทหทวีป และอมรโคยานทวีป นอกจากนี้ยังมีโอกาสขึ้นไปเสวยทิพยสมบัติอยู่ในชั้นจาตุมมหาราชอยู่ระยะหนึ่ง

         และยังมีโอกาสขึ้นไปครอบครองสมบัติของท้าวสักกะอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ทำให้พระเจ้ามันธาตุนั้นอิ่มในสมบัติเหล่านั้นได้ มีความปรารถนาที่จะครอบครองทรัพย์สมบัติของท้าวสักกะทั้งหมด มีอุบายคิดจะแย่งสมบัติของท้าวสักกะ เกิดความโลภขึ้นมา ก็ตกจากสวรรค์ ดิ่งลงมาที่อุทยานแล้วก็สวรรคตไป เสวยสมบัติถึงขนาดนั้นก็ยังไม่อิ่มไม่พอ

         ในสมัยที่พระเจ้ามันธาตุนั้นครอบครองโลกมนุษย์ ปรารถนารัตนะแก้ว ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ เพียงแค่ดีดนิ้วมือเท่านั้น ฝนรัตนะก็ตกลงมาครึ่งแข้งบ้าง ถึงเข่าบ้าง ถึงสะเอวบ้าง ถึงขนาดนั้นก็ไม่สามารถยังตัณหาให้อิ่มได้

         เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ยินดีในทรัพย์ ผู้มาปฏิบัติธรรมต้องพยายามปลงในทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นของนอกกาย เป็นของภายนอก ติดตามเราไปไม่ได้ เราควรแสวงหาทรัพย์ภายใน อย่าไปหลงเครื่องผูกของมาร อันนี้เป็นวิชามารข้อที่ ๑ คือ ล่อด้วยทรัพย์

            ประการที่ ๒ หลอกให้หลง  เวลาเราปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง พญามารจะหลอกให้เราหลงอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ต้องการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ บำเพ็ญบารมีถึงขนาดนั้นก็ยังหลง

            ตอนที่พระองค์เสด็จออกบวช พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๖ ปี กว่าจะได้ตรัสรู้ ขณะที่บำเพ็ญบารมีนั้น พระองค์ก็หลงทำทุกรกิริยา เป็น ๓ วาระ

            วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหา ทำให้พระวรกายของพระองค์ร้อน ทำให้พระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ

            วาระที่ ๒ ทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ จนทำให้พระวรกายเกิดความร้อน เกิดเสียงดังขึ้นที่ช่องพระกรรณ ทำให้ปวดพระเศียร เสียดพระอุทร ร้อนพระวรกายเป็นกำลัง

            วาระที่ ๓ ทรงผ่อนพระกระยาหาร คือทรงลดพระกระยาหารลง เสวยวันละ ๗ คำ แล้ววันต่อมาก็ ๖ คำ ๕ คำ ลดลงตามลำดับ จนสุดท้ายงดพระกระยาหาร จนพระฉวีวรรณของพระองค์เศร้าหมอง มองเห็นกระดูกตามร่างกายส่วนต่าง ๆ เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เวลาเอามือลูกพระวรกาย พระโลมาคือขนก็หลุดออกจากพระวรกายของพระองค์ มีพระกำลังถอยลงไปตามลำดับ เดินไปเดินมาก็โซเซจะล้ม

            ในวันหนึ่งพระองค์ทรงมีความเหน็ดเหนื่อยมาก เดินไปเดินมาก็สลบล้มลงไป พญามารตนหนึ่งก็ไปปรากฏตัวที่ห้องบรรทมของพระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าสุทโธทนะก็ถามว่า มาอะไร มารก็บอกว่า มาเตือนมหาบพิตรว่า ลูกชายของพระองค์สวรรคตแล้ว

            พระเจ้าสุทโธทนะเชื่อในบุญญาธิการของลูกชายของตนเอง บอกว่า โอรสของเรา ถ้าไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะไม่สวรรคต มารได้ฟังอย่างนั้นก็หายวับไป

            ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาถึงขนาดนั้น ยังถูกมารทำให้ลุ่มหลงถึงขนาดนั้น หรือว่า เวลาเราปฏิบัติธรรม เราชอบหลงในสภาวธรรม เพราะว่าสภาวธรรมเป็นของละเอียด เป็นของประณีต บุคคลผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม ไม่เคยเกิดปีติ ไม่เคยเกิดปัสสัทธิ จะไม่รู้ว่าอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานนั้นมันประณีตขนาดไหน

            เพราะฉะนั้น บุคคลที่มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อปีติเกิดขึ้นมา มีร่างกายเบา มีร่างกายแข็ง มีความเย็นแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ก็เป็นเหตุให้เกิดความยินดี เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ คิดว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนเราหรือเปล่าหนอ แต่เมื่อสมาธิมันคลายตัว ปีติมันก็ลดลง บางรูปบางท่านเดินจงกรมภาวนาไป เมื่อเรามีสติเห็นต้นยก กลางยก สุดยก เป็นต้น ไม่เผลอ มันก็จะเกิดปีติขึ้นมา

            บางครั้งก็เกิดความสุข  ความสุขที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นความสุขที่เราไม่เคยเจอ เป็นความสุขของอุปกิเลสที่เกิดขึ้นในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นสุขที่ผู้ปฏิบัติธรรมยังไม่เคยเจอ ก็คิดว่า ความสุขในลักษณะนี้เราไม่เคยเจอ หรือว่าเราบรรลุมรรคผลนิพพานไปแล้ว เอ๊ะ เราบรรลุตอนไหน ตอนไหนเป็นการบรรลุ ก็จะเริ่มใคร่ครวญพิจารณา ถ้าผู้เกิดปัญญา จะเข้าใจในลักษณะอย่างนั้น

            แต่ก่อนที่จะเกิดปัญญาก็หลงเสียก่อน บางรูปก็หลังอยู่ ๑ วัน ๒ วัน บางรูปก็หลงเป็นอาทิตย์ กว่าสภาวธรรมมันจะหายไป พอสภาวธรรมมันหายไป ความสุขมันก็หายไปด้วย ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เกิดขึ้นมาอีกเหมือนเดิม นี่คือลักษณะของสิ่งที่ทำให้เราหลง ในภาคของการปฏิบัติธรรม

            เหมือนภิกษุรูปหนึ่งมาจากประเทศลาว มาแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ภิกษุรูปนั้นไม่นอนประมาณยี่สิบกว่าวัน และไม่ฉัน แต่ว่าร่างกายก็อยู่ได้ เพราะเกิดปีติ ก็เลยบอกให้อาจารย์ผู้สอบอารมณ์บอกให้ท่านพักก่อน อย่าเพิ่งปฏิบัติธรรม

            แต่แทนที่ท่านจะพัก กลับไปกุฏิแล้วก็ล็อคกุฏิเลยทีนี้ เดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่ในนั้น สุดท้ายก็ออกมาประกาศตนว่าตนเองเป็นพระอรหันต์แล้ว ในที่สุดก็ต้องส่งโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ อันนี้เป็นเพราะความเพียรมันกล้าเกินไป คล้าย ๆ กับว่าเห็นพระนิพพานอยู่ใกล้ ๆ อยากจะคว้าเอาพระนิพพาน

            เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม บางทีเราคิดว่าเราฉลาดแล้ว เราคิดว่าเราระมัดระวังแล้ว แต่บางครั้งก็เกิดความหลงขึ้นมาได้ ท่านจึงให้มีสติสัมปชัญญะ จะเป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมของเรานั้น อยู่รอดปลอดภัย อันนี้เรียกว่า หลอกให้หลง

            ขู่ให้กลัว คือพญามารนั้นจะมีลักษณะทำให้กลัว ทำให้ขวัญหนีดีฝ่อ ทำให้เราใจไม่สู้ ทำให้คลายความเพียร

            เหมือนกับภิกษุ ๓๐ รูป ไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานในป่า พวกเทวดาที่อยู่ตามต้นไม้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะภิกษุผู้ทรงศีลเจริญภาวนาอยู่ใต้ต้นไม้ เทวดาจะอยู่บนต้นไม้ก็ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งศีลนั้นเป็นสิ่งที่สูงส่งกว่าความเป็นเทวดา เทวดาก็เลยต้องลงจากต้นไม้ คิดว่าภิกษุเหล่านั้นจะอยู่แค่วันสองวัน แต่ภิกษุเหล่านั้นก็ไม่กลับสักที

            สุดท้ายเทวดาก็คิดว่า จะทำให้ภิกษุเหล่านั้นกลัว ก็ทำให้มีเสียงพิลึกน่ากลัว บางครั้งก็เนรมิตเป็นผีหัวขาด ทำให้ภิกษุเหล่านั้นกลัว ทำให้ภิกษุเหล่านั้นคลายความเพียรแล้วกลับไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไปอยู่ที่เดิม และให้เรียนเอาพุทธาวุธ คือกรณียเมตตสูตร ภิกษุเหล่านั้นได้พุทธาวุธแล้วกับไป เจริญกรณียเมตตสูตรตั้งแต่ชายป่า กลางป่า จนถึงที่พักของตน ทำให้เทวดาทั้งหลายเกิดเมตตาจิต ไปต้อนรับภุกษุเหล่านั้นแล้วก็อุปถัมภ์อุปัฏฐากภิกษุเหล่านั้น

            ในสมัยที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พญามารพร้อมทั้งเสนามารก็ยกพลไปเพื่อที่จะทำให้พระพุทธเจ้ากลัว พยายามทำให้พระพุทธเจ้าลุกออกจากบัลลังก์นั้น เพราะพระพุทธเจ้าได้อธิษฐานว่า ถึงเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตาม ตราบใดที่เรายังไม่ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่ลุกออกจากบัลลังก์นี้เด็ดขาด

            พญามารก็พยายามขู่ทุกอย่าง แต่พระพุทธเจ้าไม่กลัว ขว้างปาอาวุธใด ๆ ใส่ อาวุธเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้าไปหมด พญามารก็ใช้อุบาย กล่าวว่า ที่ตรงนั้นเป็นที่ของพญามาร

            พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ที่ตรงนี้เป็นที่ของเรา เป็นที่ที่เราบำเพ็ญบารมีมา เป็นที่ที่เราจะนั่งตรัสรู้ พญามารก็ถามว่า แล้วพระองค์มีใครเป็นพยาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระองค์ทรงหยาดน้ำฝากแม่ธรณีไว้ ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ทำกุศลทุกอย่าง หยาดน้ำฝากแม่ธรณีไว้

            พระนางวสุนธราซึ่งเป็นพระแม่ธรณีก็แทรกแผ่นดินขึ้นมาแล้วก็บีบมวยผม ทำให้น้ำไหลท่วมพญามารจนอันตรธานไป

            เวลาเราปฏิบัติธรรม บางครั้งก็กลัว กลัวโน้นกลัวนี้ เวลาเราไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า บางครั้งเรานั่งอยู่เชิงเขา ภาวนาอยู่ดีๆ บางครั้งเหมือนท่อนไม้ใหญ่ ๆ กลิ้งลงมาจากภูเขา เสียงสนั่นหวั่นไหว แต่พอเราลืมตาขึ้นมา เสียงนั้นก็หายไป แต่พอเราหลับตาลง จิตมันดิ่งลงไป  ๆ เสียงเดิมก็มาอีก พอเราลืมตามันก็หาย นี่คือลักษณะที่มันขู่ให้เรากลัว ทำให้เราเกิดความกลัวขึ้นมา

            เวลาเจออุปสรรคอย่างนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่บอกว่า ให้เรานึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงครูบาอาจารย์ สิ่งเหล่านั้นก็จะอันตรธานหายไป เราจะไปสวดมนต์มันก็สวดไม่ได้ เพราะสติมันเตลิดแล้ว เราต้องนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงครูบาอาจารย์ ความอบอุ่นมันก็จะกลับมา

            ประการที่  ๔ ยั่วให้เกิดกิเลส ถ้าบุคคลใดมีสติอ่อน มีอินทรีย์อ่อน มารมันก็เข้าไปสิงใจ บางครั้งมันก็เข้าไปสิงทำให้เราเกิดความโกรธขึ้นมา นี่คือลักษณะที่มารมันแทรก บางครั้งก็ไปสิงแม่ชีให้ไปด่าพระ บางครั้งก็ไปสิงลูกวัดให้ไปด่าเจ้าอาวาส บางครั้งก็ทำให้เกิดราคะ เกิดความกำหนัด ทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปได้ยากลำบาก        

            บางครั้งเราอยู่ธรรมดา ความโกรธก็ไม่เกิด ราคะก็ไม่เกิด แต่พอมาปฏิบัติธรรม เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ไม่พอใจคนนี้ บางครั้งก็ไปรักคนนั้นไปชังคนนี้ เวลาเรามาปฏิบัติธรรม มันจะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น มารมันจะยั่วให้เกิดกิเลส สิ่งที่ทำให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ในพระพุทธศาสนาลำบากก็คือกิเลสนี่แหละ

            เพราะฉะนั้น เวลาปฏิบัติธรรม เราต้องกำหนดจิตของตนเองให้เป็น นักปฏิบัติธรรม จะปฏิบัตินานขนาดไหนก็ตาม ถ้าลืมกำหนดจิต ไม่กำหนดจิต ก็ถือว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ยังใช้ไม่ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมจริง ๆ นั้น ต้องกำหนดจิตของตนเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรากำหนดจิตอยู่ตลอด ก็จะมีความเข้าใจว่าจิตของตนเองนั้นอยู่ในภาวะอย่างไร

            มีภิกษุรูปหนึ่ง ปฏิบัติธรรม เข้าสมาธิอยู่ประจำ จิตก็อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ มันไม่ฟุ้ง ไม่ปรุง ไม่แต่ง ก็คิดว่าตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็เข้าไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านก็บอกว่า มันเป็นอารมณ์ของสมาธิ

            เพราะฉะนั้น เวลาปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้กำหนดจิต.