เวลาตีราคาไม่ได้
(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม เช้าวันที่ ๑๘ ก.ค. ๕๘)
เวลาเราออกจากบ้าน ออกจากวัด มาปฏิบัติธรรม ก็คิดว่าจะมาปฏิบัติธรรมเต็มที่ แต่พอมาถึงแล้ว มีคณะครูบาอาจารย์ มีเพื่อนสหธรรมิกมากมาย บ้างก็ทักอย่างโน้น คุยกันอย่างนี้ ก็เลยเป็นเหตุให้เกิดสารพันปัญหาขึ้นมา คุยกันอย่างโน้นอย่างนี้ ก็เลยเป็นการคุยกันในเรื่องโลกมากเกินไป ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ตระหนักถึงความมีค่าของเวลา
เวลานั้นเป็นสิ่งที่ตีราคาไม่ได้ เวลาที่เสียไป ตีราคาไม่ได้ เพราะเอากลับคืนมาไม่ได้ เวลาที่เสียไป ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง อาจจะมีค่ามากกว่าทองคำ เพราะว่าทองคำที่เสียไป เราสามารถที่จะหาคืนมาได้ แต่เวลาที่เสียไป เราจะเอากลับคืนมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือว่า เวลามีค่ากว่าทองคำ
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีอยู่ในช่วงอยู่ปริวาสกรรม ก็อยากจะให้คณะครูบาอาจารย์ได้ข่มความเกียจคร้าน ข่มความฟุ้งซ่าน ข่มความชอบสะดวกสบายต่าง ๆ เดินจงกรมนั่งภาวนา เพราะว่าการเดินจงกรมนั่งภาวนานั้น โบราณท่านว่า ยากเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา แต่ถ้าเป็นความรู้สึกของกระผมเอง ผมว่ายากกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาอีก
เพราะว่าการเข็นครกขึ้นภูเขานั้น ถ้าผู้ใดมีกำลัง ถึงแม้จะไม่มีสติปัญญา ก็ยังพอจะเข็นขึ้นไปได้ เพราะใช้กำลังผลักดันขึ้นไป ถึงจะไม่มีปัญญามาก ก็สามารถที่จะเข็นครกขึ้นภูเขาได้ แต่การที่จะเข็นจิตเข็นใจของเราไปสู่ฌานสมาบัติ ไปสู่มรรค ผล นิพพาน มันยากเหลือเกิน
คนที่มีกำลัง แต่ขาดสติปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะเข็นจิตใจของตนเองขึ้นสู่ฌานสมาบัติ ขึ้นสู่มรรค ผล นิพพาน ได้ ทั้ง ๆ ที่มีโอกาส มีเวลา มีสถานที่ มีคนถวายความอุปถัมภ์อุปัฏฐาก มีญาติโยมคอยสนับสนุน เพราะฉะนั้น การเข็นครกขึ้นภูเขานั้น จึงง่ายกว่าการที่จะเข็นจิตเข็นใจขึ้นสู่ฌาน สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน
บางรูป บางคน ก็ผัดวันประกันพรุ่ง วันนี้ยังไม่ปฏิบัติธรรมเต็มที่ พรุ่งนี้จะเอาเต็มที่ พอถึงพรุ่งนี้ ก็ผัดไปเป็นมะรืนนี้ พอถึงมะรืน ก็ผัดเป็นวันต่อ ๆ ไป สุดท้ายก็รอเดือนหน้า ปีหน้า พอถึงปีหน้า บางทีร่างกายก็ไม่เอื้ออำนวย ทุพลภาพ หรือมีข้อขัดข้องเรื่องหน้าที่การงาน
เพราะฉะนั้น โอกาสที่ดีที่สุด จะเป็นพรุ่งนี้ก็ไม่ใช่ มะรืนนี้ก็ไม่ใช่ เดือนหน้า ปีหน้า ก็ไม่ใช่ ปัจจุบันนี้แหละ เป็นโอกาสที่ดีที่สุด ที่เราจะห้ำหั่นอุปสรรคที่มาขัดขวางจิตใจของเรา
เวลาปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้คิดง่าย ๆ สิ่งใดที่มาขัดขวางเราไม่ให้เดินจงกรม ไม่ให้นั่งภาวนา สิ่งนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติทั้งหมด จะเป็นเรื่องบุญหรือเรื่องบาป ก็เป็นอุปสรรคทั้งหมด บุญก็เป็นมาร บาปก็เป็นมาร
เวลามาปฏิบัติธรรม พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัตยากร ท่านย้ำนักย้ำหนาว่า อย่านึกถึงบาป อย่านึกถึงบุญ อย่าปรุงแต่งเรื่องบาปเรื่องบุญ ให้มีจิตใจอยู่กับปัจจุบันธรรม ความบริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ อยู่ที่ปัจจุบันธรรม
ปัจจุบันธรรม เป็นเหตุเกิดแห่งขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เวลาเราภาวนา พองหนอ ยุบหนอ ถ้าเราพิจารณาเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ติดต่อกัน นี่เรียกว่า ขณิกสมาธิมันเปิดขึ้นมาแล้ว
ขณะที่อาการพองอาการยุบมันแน่นเข้า ๆ มือของเรามันแข็งเข้า ๆ ก็เรียกว่าเราจะเข้าเขตของอุปจารสมาธิแล้ว แต่ถ้าในขณะนั้น จิตของเราเผลอ ฟุ้งไปในที่อื่น อารมณ์เหล่านี้มันก็คลายออกมา
สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจากปัจจุบันธรรม เพราะฉะนั้น ปัจจุบันธรรมจึงเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาให้ดี
ผู้ใดเคยจิตใจสงบ เป็นสมาธิ เป็นฌาน ก็จะรู้ว่า เวลาออกจากฌานมันออกอย่างไร สมมติว่าเรานั่งภาวนาไป เราเห็นชัดเจนดี จิตเป็นเอกัคคตา ไม่เผลอ ขณะที่เราบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ ไม่เผลอ ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ก็ถือว่าเราเข้าถึงปฐมฌานแล้ว มีสติทันปัจจุบันธรรม ชัดเจนดี แต่ถ้าเรายังหวาดหวั่น ยังสะดุ้ง ก็แสดงว่ายังไม่ถึงปฐมฌาน
แต่เมื่อเราบริกรรมไป คำบริกรรมของเรามันหมดไป มีแต่ใจรู้เห็นพองเห็นยุบเฉยๆ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า มันทิ้งปฐมฌานไปแล้ว ในขณะที่มันทิ้งปฐมฌานไป ใจของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ โดยที่ไม่ได้บริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ รู้อยู่เฉย ๆ อันนี้เรียกว่า มันย่างเข้าสู่เขตของทุติยฌานแล้ว แต่เราต้องเพ่งอยู่ที่ปัจจุบันธรรมนะ
แต่ถ้าเราเผลอจากปัจจุบันธรรม จิตมันก็จะตกลงมาสู่ปฐมฌานอีก เพราะฉะนั้น เราต้องยึดปัจจุบันธรรมไว้ ขณะที่ยึดอยู่ที่ปัจจุบันธรรมนั้นแหละ สติมันจะละเอียดไปเองโดยธรรมชาติของมัน
คือในขณะที่อยู่ในปฐมฌาน ก็เพ่งอยู่ที่ปัจจุบันธรรมนั่นแหละ มีสติจดจ่ออยู่ที่อาการพองอาการยุบ เพ่งอยู่ที่ปัจจุบันธรรม จิตมันจะละเอียดไปเอง ถ้าผู้ใดมีบารมีแห่งทุติยฌาน มันก็จะไปเอง แต่ถ้าผู้ใดไม่มีบารมี จิตจะหยุดอยู่กับอารมณ์เพียงเท่านั้น ก็ต้องอาศัยเวลา อาศัยการฝึกฝน อาศัยการทำให้ชำนาญ จึงจะสามารถเคลื่อนไปสู่ทุติยฌานได้
แต่ถ้าผู้ใดมีบารมี เพ่งจิตอยู่กับอารมณ์นั้นแหละ มีสติจดจ่ออยู่กับอารมณ์นั้น จิตมันก็จะละเอียดไปเอง ก็เข้าสู่ทุติยฌาน ขณะที่ถึงทุติยฌาน คำบริกรรมมันหมดไป เราต้องมีสติจดจ่ออยู่กับปัจจุบันธรรม ดูอาการพองอาการยุบอยู่อย่างนั้นแหละ เพ่งอยู่อย่างนั้นแหละ จิตมันก็จะละเอียดไปเอง
สังเกตได้จากร่างกายของเรามันจะเริ่มเย็นเข้า แข็งเข้า เหมือนกับปลาแช่แข็ง ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า มันเปลี่ยนจากทุติยฌานเข้าสู่ตติยฌานแล้ว ถึงตติยฌานมันจะละเอียด มีความรู้สึกละเอียดขนาดไหนก็ตาม ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเพ่งอยู่ที่ปัจจุบันธรรมเหมือนเดิม ความรู้สึกมันยังไม่ขาดไป ก็ต้องเพ่งอยู่ที่ปัจจุบันธรรมนั้น
ถ้าผู้ใดไม่เพ่งอยู่ที่อารมณ์ที่มันเหลืออยู่นิด ๆ หน่อย ๆ นั้น จิตมันก็จะถอนออกมาสู่ทุติยฌาน แต่ถ้าผู้ใดยังเพ่งอยู่ ยังจดจ่ออยู่กับปัจจุบันธรรม ผู้ใดมีบารมี จิตมันก็จะดับไปเอง มันไม่ได้ดับด้วยอำนาจของมรรคนะ แต่ว่าดับด้วยอำนาจของจตุตถฌาน คือขาดความรู้สึกไป เมื่อขาดความรู้สึกไป ก็แสดงว่าพ้นเขตของตติยฌานแล้ว
แต่ถ้าเราเกิดนิมิต หรือว่าเกิดปีติ หรือว่าเกิดความรู้สึกมาเมื่อไหร่ ก็เรียกว่า มันถอยออกมาจากจตุตถฌานแล้ว นี่มันเป็นลักษณะของปัจจุบันธรรม เพราะฉะนั้น ปัจจุบันธรรมนั้นถือว่าสำคัญมาก ทำให้เกิดสมาธิ ปีติทั้งหลายก็เกิดจากสมาธินี้เป็นตัวส่ง
ถ้าผู้ใดมีสมาธิน้อย มันก็เกิดแค่ขุททกาปีติ บางทีเรานั่งภาวนาไป ยุบหนอ พองหนอ ไป ขามันใหญ่ขึ้น มือมันใหญ่ขึ้น อันนี้ก็เป็นแค่ขุททกาปีติ เรากำหนดรู้มันก็จางหายไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะอาศัยสติทันปัจจุบันธรรมติดต่อกันนิดหน่อยเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทรงพลังก็คือสติ การที่เรามาปฏิบัติธรรม ถ้าเผลอสติไปนิดหน่อย มันก็ยินดีไปทางโลกแล้ว เราเผลอสตินิดหนึ่ง ราคะมันก็ครอบงำแล้ว ไปเห็นโน่นเห็นนี่ก็ชอบแล้ว ทำไมมันชอบ ทำไมมันชัง ก็เพราะว่าขาดสตินั่นเอง
แต่ถ้าเรามีสติ เราไปเห็นอะไร เรากำหนดรู้ มันก็เฉย ๆ ไม่ชอบไม่ชัง สตินี้จึงสำคัญ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นทำนบเครื่องป้องกันบาป การดำรงสติ จึงเป็นการดำรงอยู่โดยธรรมโดยแท้
ผู้ใดอยากจะเป็นอยู่โดยธรรม ผู้นั้นต้องดำรงสติ ผู้ใดอยากจะเป็นพระเถระที่น่านับถือ น่าเคารพ ก็ต้องดำรงสติ
ถ้าสงฆ์ใดไม่มีสติ อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เสียงดังอื้ออึงเหมือนกับตลาด แต่ถ้าสงฆ์ใดมีสติ ถึงอยู่ด้วยกันเป็นร้อยก็เหมือนไม่มีคนอยู่.