จิตสงบย่อมเห็นสัจจะ
(เทศน์ที่ที่พักสงฆ์ป่าช้าภูดิน)
ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งภาวนารวมกัน ตอนเช้า ๆ อารมณ์ของเรายังไม่ฟุ้งซ่านเกินไป ร่างกายของเราก็ยังไม่ได้บริโภคอาหาร ร่างกายของเราก็เบา เหมาะแก่การที่เรานั้นจะทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ
อากาศตอนเช้าก็เย็นดี ปลอดโปร่ง บรรยากาศเยือกเย็น สงบ ก็เหมาะแก่การที่จะทำจิตทำใจให้เป็นสมาธิ เพราะว่า การทำจิตทำใจให้เป็นสมาธินั้น จิตของบุคคลนั้นต้องสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น ๆ
การทำจิตของเราให้สงบ หายจากความฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์อื่น ๆ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นตามความเป็นจริง การที่จิตของเราฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น ๆ ย่อมไม่สามารถที่จะทราบชัดความเป็นจริงได้ ต่อเมื่อใดจิตใจของเราสงบนั่นแหละ เราจึงจะเห็นตามความเป็นจริง
จิตที่ฟุ้งซ่าน ท่านกล่าวว่าเหมือนกับฝุ่นในหน้าแล้ง เวลาลมพัดมา ฝุ่นนั้นก็ฟุ้งขจรไป แต่เมื่อไหร่เมฆใหญ่ตั้งมา ฝนตกลงมา ฝุ่นละอองเหล่านั้นก็พลันหายไป ความสงบแห่งจิตใจของเราก็เหมือนกัน ในขณะใดที่จิตใจฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปมา ความสงบก็ไม่มี แต่เมื่อใดความสงบเกิดขึ้นมา ปัญญาแห่งความหลุดพ้นต่าง ๆ มันก็จะเกิดขึ้นมา
เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย ได้ทำจิตใจของตนเองให้เป็นสมาธิ พยายามตั้งสติไว้ที่อาการพองอาการยุบ ทำจิตใจให้เป็นกลาง มีสติกำหนดจดจ่ออยู่ที่ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ อย่าเผลอ ถ้าเผลอแล้ว ให้กำหนดต้นจิต คิดหนอ ๆ ให้รู้เท่าทันกาย เวทนา จิต ธรรม
การที่เราปฏิบัติธรรมไม่ค่อยได้ผลนั้น ก็เพราะว่าปราศจากสติ มีสติไม่สมบูรณ์ คือปล่อยจิตไปตามอารมณ์อื่น ๆ มากกว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเราจะปล่อยสติไม่ได้ ต้องมีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเรามีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา กิเลสมันก็ไม่เกิดขึ้นมา ความสงบมันก็เกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นตามมา เห็นความเกิดดับของรูปของนาม วิปัสสนาญาณก็จะพัฒนาตัวของมันขึ้นไปตามลำดับ
เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ เราพรวนดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย อยู่เป็นประจำ ต้นไม้นั้นก็โตวันโตคืน วิปัสสนาญาณก็เหมือนกัน วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็คือวิปัสสนาญาณที่ ๔ ขึ้นไป ถ้าบุคคลใดยังวิปัสสนาญาณที่ ๑-๓ ให้เกิดขึ้นมา ก็ยังไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่าเรานั้นจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
แต่ถ้าวิปัสสนาญาณที่ ๔ เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ความเกิดดับเกิดขึ้นมาเมื่อใด พระไตรลักษณ์อย่างกลางเกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็แสดงว่าเรานั้นเข้าถึงอุทยัพยญาณ พยากรณ์ตนเองได้ว่า มีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เมื่อเรารู้ว่าเรามีโอกาสได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เราก็ต้องเพียรใส่ปุ๋ยรดน้ำวิปัสสนาญาณของเราด้วยสติ สตินั้นเป็นทั้งปุ๋ย เป็นทั้งน้ำ เป็นทั้งอากาศ เป็นทั้งดิน อยู่ในนี้หมด ถ้าเรามีสติสมบูรณ์ ศรัทธาก็จะมาด้วย ความเพียร สมาธิ ปัญญา ก็จะมาด้วย อินทรีย์ ๕ ของเราก็จะสมบูรณ์ไปตามลำดับ
บุคคลผู้ที่จะทำให้วิปัสสนาญาณแก่กล้าได้ไวและมีประสิทธิภาพ ก็ต้องอาศัยอินทรีย์ ๕ ที่สมบูรณ์ คือ ศรัทธากับปัญญา ต้องเท่ากัน ความเพียรกับสมาธิ ต้องเท่ากัน สติเป็นกลาง ๆ ถ้าบุคคลใดทำได้ดังนี้ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นไว แก่กล้าไว และได้บรรลุมรรคผลนิพพานไว
แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าอินทรีย์ ๕ ของเรานั้นสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ เราต้องทำสติให้สมบูรณ์ เมื่อสติของเราสมบูรณ์ อินทรีย์ ๕ ของเราก็จะสมบูรณ์
ก่อนที่เราจะมีสติทันรูปทันนามนั้น เราต้องทำอารมณ์ของเราให้เป็นกลางเสียก่อน อย่าให้เกิดตัณหาขึ้นในขณะที่ปฏิบัติ อย่าให้เกิดราคะขึ้นมาในขณะที่ปฏิบัติ อย่าให้โทสะเกิดขึ้นมาในขณะที่ปฏิบัติ อย่าให้โมหะเกิดขึ้นมาในขณะที่ปฏิบัติ พยายามละอกุศลจิตทั้งหลายออกไปจากจิตจากใจของเรา
เราจะละอกุศลจิตได้อย่างไร
ให้เรามุ่งมองไปที่จิตของเรา ว่าอะไรเกิดขึ้นมาในใจของเรา ความโกรธเกิดขึ้นมาเราก็ละความโกรธ ความโลภเกิดขึ้นมาเราก็ละความโลภ ความหลงเกิดขึ้นมาเราก็ละความหลง
เมื่อใดที่จิตใจของเราสงบ เราก็ไม่ต้องไปค้นคว้าที่จะละโลภะ โทสะ โมหะ แต่ให้เราคุมสติให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้าขึ้นไป กิเลสก็จะเบาลงไปตามลำดับ ๆ อย่างเช่นเรานั่งภาวนาไป อาการเกิดดับมันเกิดขึ้นมา
เรานั่งภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ไป อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้น ๆ แล้วดับลงไป หรือว่ามันแน่นเข้า ๆ แล้วดับลงไป หรือว่ามันแผ่วเบาลง ๆ แล้วดับไปหนึ่งขณะจิต ขณะที่มันดับลงไปแต่ละครั้ง กิเลสมันก็น้อยลงไปตามลำดับ
เราไม่รู้ว่ากิเลสมันน้อยลงหรอก เรามีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรมเท่านั้น เราไม่ต้องไปรู้ว่ากิเลสมันน้อยลง เรารู้เฉพาะว่า มันดับลงไปอย่างไร เราต้องมีสติกำหนดรู้
การดับของรูปนาม ก็เหมือนการขาดไปของสติ คือในขณะนั้นสติมันขาดไป ขณะที่อาการพองยุบมันชัดเจนขึ้นมา สติเห็นอยู่ดี ๆ นั่นแหละ มันดับลงไป สติขาดไป ความรู้สึกขาดไป หนึ่งขณะจิต เรียกว่าความเกิดดับมันเกิดขึ้นมา รูปกับนามมันดับลงไปในขณะนั้น กิเลสมันดับลงไปในขณะนั้น
เราไม่ต้องพยายามที่จะไปละกิเลส ถ้าเราปฏิบัติตามหลักของวิปัสสนาญาณจริง ๆ เราก็มองไปที่ตัวสติ
แก่นของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นก็คือ วิมุตติธรรม ออกบวชเพื่อหนีสงสาร ออกบวชเพื่อความหลุดพ้น
บุคคลผู้ที่ต้องการความหลุดพ้น อย่างเช่น ต้องการที่จะหลุดพ้นจากกิเลส ไม่สนใจในเรื่องการก่อสร้างอะไรต่าง ๆ นั้น ในลักษณะอย่างนี้ก็ไม่ถือว่าทำลายพระพุทธศาสนา แต่ว่าเป็นผู้กำลังพัฒนาตน ในเมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้พัฒนาตน เราต้องให้โอกาส เมื่อพัฒนาตนแล้ว มีตนอันฝึกฝนดีแล้ว มีตนอันบริบูรณ์แล้วด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยมรรค ด้วยผล
บุคคลผู้มีตนอันบริบูรณ์แล้วด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยมรรค ด้วยผล จะเป็นคนมีมานะทิฏฐิ เป็นไปไม่ได้ จะเป็นบุคคลผู้เห็นแก่ตัว เป็นไปไม่ได้ เป็นบุคคลผู้พิจารณาประโยชน์แต่ในปัจจุบันนี้ ไม่พิจาราณาประโยชน์ในภพหน้า ไม่พิจารณาประโยชน์คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นไปไม่ได้ บุคคลนั้นย่อมสามารถที่จะทำประโยชน์อย่างมาก เท่าที่ตัวเองจะทำได้
เพราะฉะนั้น การฝึกฝนอบรมตนในภาคปฏิบัตินี้ จึงไม่ใช่เป็นการเห็นแก่ตัว แต่เป็นการอบรมที่จะทำตนให้ดีให้ประเสริฐ บุคคลผู้มาฝึกฝนอบรมตน ถือว่าเป็นบุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์ตน และจะเป็นผู้สร้างประโยชน์แก่สังคมในอนาคต
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้เราทำประโยชน์ของตนให้สมบูรณ์ ถ้าเราทำประโยชน์ของตนให้สมบูรณ์เมื่อไหร่ ประโยชน์ของบุคคลอื่นมันก็สมบูรณ์เมื่อนั้น เป็นเองตามธรรมชาติ
เมื่อฝนมันตกลงมา ไม่อยากให้ห้วยหนองคลองบึงมันเต็มมันก็เต็ม ข้อนี้ฉันใด เมื่อจิตใจของคนเต็มเปี่ยมไปด้วยธรรมะแล้ว ไม่อยากจะให้แผ่ความสุขไปให้บุคคลอื่น มันก็แผ่ไปเองโดยลำดับ ให้ประโยชน์แก่บุคคลอื่นโดยลำดับ
ดังนั้น การที่พวกเราทั้งหลายมาปฏิบัติธรรมนี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โลกมองไปที่ปลายเหตุ ไม่มองไปที่ต้นเหตุ ปลายคืออะไร ? ปลายก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนต้นก็คือใจของเรา เราจะมาแก้ตรงปลายไม่ได้ เราจะไปแก้ตรงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ได้ เพราะว่าใจของเรานั้นเป็นตัวสั่ง เป็นตัวบงการ โลกของเราจึงหาทางสงบไม่ได้ จะแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ไปอีกหนึ่งร้อยปี ปัญหาก็จะไม่สูญสิ้นไปจากโลก เพราะว่าบุคคลไม่แก้ปัญหาที่ใจของตนเอง ปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความโกรธ ความโลภ ความหลง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การเวียนว่ายตายเกิด เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกทั้งหลาย บางชาติไปเกิดเป็นเทวดา บางชาติมาเกิดเป็นมนุษย์ บางชาติร่ำรวยเงินทอง บางชาติยากจน บางชาติก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน การเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกทั้งหลาย
แล้วเราจะแก้ภัยใหญ่นี้ได้อย่างไร ? เราก็ต้องมาปฏิบัติธรรม เราจึงจะสามารถแก้ภัยใหญ่เหล่านี้ได้
ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์เป็นผู้หนักแน่นในการปฏิบัติธรรม สืบทอดวิถีทางแห่งการปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและสังคมมาก ๆ.