อยู่อย่างต่ำ ประพฤติอย่างสูง

อยู่อย่างต่ำ ประพฤติอย่างสูง

(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง เช้าวันที่ ๖ พ.ค. ๕๗)


          ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เข้าสู่ภาคภาวนา พยายามทำจิตทำใจของตนให้เกิดความสงบ โดยยกจิตขึ้นสู่อารมณ์พระกรรมฐาน อารมณ์พระกรรมฐานที่พวกเราทั้งหลายคุ้นเคยเป็นอย่างดี และเกิดความมั่นใจว่าเป็นหลักปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานจริง ๆ ก็คือหลักสติปัฏฐาน ๔

         เพราะฉะนั้น ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์พระกรรมฐาน มีรูปมีนามเป็นอารมณ์พระกรรมฐาน ยกจิตขึ้นสู่อาการของท้องพองท้องยุบ ให้เราพิจารณาอาการพองอาการยุบ ให้รู้เท่าทันปัจจุบันธรรม อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันธรรม ชื่อว่าเป็นอารมณ์พระกรรมฐาน จะเป็นสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ก็อาศัยปัจจุบันธรรม ไม่ใช่อาศัยสิ่งที่เป็นอนาคตหรืออดีต

         อารมณ์พระกรรมฐานนั้น จะเป็นสมถะกรรมฐาน ๔๐ ก็ตาม หรือเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ก็ต้องอาศัยปัจจุบันธรรม แล้วแต่ว่าเราจะเพ่งอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันธรรมนั้นให้จิตใจสงบ หรือเราจะเพ่งไปที่รูปนาม ให้เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

         ขอให้มีจิตใจแนบแน่นอยู่กับรูปกับนาม มีจิตใจแนบแน่นอยู่ที่อาการพองอาการยุบ เห็นสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สมาธิเกิดขึ้น ถ้าเราประพฤติอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูงสุด

         การประพฤติพรหมจรรย์ขั้นต่ำก็คือการให้ทาน การรักษาศีล ก็เป็นเหตุให้เกิดความสุขประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเรารักษาศีล ๘ แล้วเจริญสมถกรรมฐาน ในลักษณะอย่างนี้ชื่อว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์อย่างกลาง เป็นเหตุให้ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ลดน้อยลง ความยินดีในการที่จะเวียนว่ายตายเกิดนั้นก็น้อยลง เพราะเห็นภัยในวัฏสงสาร

         ส่วนการประพฤติพรหมจรรย์อย่างสูงนั้น ก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นหนทางเส้นเดียวเพื่อการบรรลุธรรมอันเป็นหนทางแห่งการออกจากการเวียนว่ายตายเกิด

         พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตรไว้ให้ปัจฉิมสาวกคือพวกเราทั้งหลายได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม การประพฤติพรหมจรรย์ที่เราทั้งหลายประพฤติอยู่นี้ ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูงสุด เป็นการออกจากการเวียนว่ายตายเกิด ยากที่คนในสมัยปัจจุบันนี้จะมีจิตใจคล้อยตามได้

         ชาวโลกทั้งหลายฝักใฝ่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนา แต่พวกเราทั้งหลายไม่เป็นอย่างนั้น พวกเราฝักใฝ่ตามธรรมที่เป็นเส้นทางที่ปลีกออกจากโลก

         การประพฤติพรหมจรรย์ ก็คือการประพฤติเหมือนพรหม พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการประพฤติธรรม เป็นการประพฤติเพื่อเจริญกุศลธรรม

         สิ่งใดที่เราประพฤติแล้วไม่เกิดโทษทางกาย วาจา ใจ เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เพิ่มบุญ เพิ่มกุศล เพิ่มบารมี ก็ชื่อว่าเป็นการประพฤติธรรม

         ผู้ที่จะประพฤติพรหมจรรย์ได้นั้น ต้องประกอบไปด้วยปุพเพกตปุญญตา ได้สะสมบุญในภพก่อนชาติก่อนไว้มาก แล้วก็เป็นผู้มีบุญในปัจจุบันชาตินี้

         ท่านอุปมาเหมือนกับฝนที่ตก เมื่อฝนตกแล้ว ไม่มีใครบังคับให้น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ แต่น้ำก็ไหลลงไปสู่ที่ต่ำโดยธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของน้ำเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของบุคคลผู้บำเพ็ญบารมีก็เหมือนกัน เมื่อบารมีแก่กล้า ก็จะเป็นเหตุให้บุคคลนั้นน้อมเข้ามาสู่ร่มแห่งศีล ร่มแห่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเกิดปัญญาขึ้นมา รู้ว่าสรรพสิ่งตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

         บุคคลผู้มีบารมีเต็มเปี่ยมก็จะพิจารณาเห็นความเป็นจริงอย่างนั้น แล้วก็น้อมจิตของตนไปสู่ร่มแห่งศีลธรรม แล้วก็ออกจากเรือน ประพฤติพรหมจรรย์ เหมือนอย่างญาติโยมทั้งหลายออกจากเรือนอันเป็นที่หลับนอนสบาย มาอยู่อย่างลำบาก อยู่ในกระต๊อบบ้าง อยู่ในเต๊นท์บ้าง อยู่อย่างต่ำ ๆ แต่ประพฤติอย่างสูงสุด

         เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงอยู่อย่างต่ำ ๆ นุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวร การเสวยก็เหมือนกับขอทาน พระองค์ทรงเดินบิณฑบาต ยาจกจะใส่บาตร หรือทาสทาสีจะใส่บาตร พระองค์ก็เสวย

         พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีบารมีมาก จะห่มผ้าอันสำเร็จด้วยทองคำก็ได้ แต่พระองค์ทรงมองเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นอสาระ

         เสนาสนะ พระองค์ก็อยู่ในเสนาสนะอันต่ำ ๆ เช่น ที่โคนต้นไม้ พระองค์ตรัสรู้ที่โคนต้นไม้ มีเพียงกำหญ้าที่นายโสตถิยะถวายมาปูรองนั่ง เรียกว่าพระองค์อยู่ในเสนาสนะต่ำ ๆ แต่ก็ได้บรรลุคุณอันยอดเยี่ยมสูงสุดกว่าเทวดาและพรหมทั้งปวง

         ให้เราคิดเสียว่า การอยู่ภายนอกนั้น เป็นการอยู่ของเรือนกาย ไม่ใช่การอยู่ของเรือนใจ เรือนกายของเรานั้นก็พอหลบแดดหลบฝนหลบร้อน แต่เรือนใจของเรานั้นมีธรรมเป็นเครื่องห่อหุ้ม ให้ใจของเราอิ่มเอิบไปด้วยธรรม การที่เราอยู่อย่างต่ำแต่ประพฤติอย่างสูง ก็ถือว่าเป็นการดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

         ผู้ใดอยู่ในพรหมจรรย์ ประพฤติอยู่ในเพศอันอุดม แต่ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ให้สมควรแก่พรหมจรรย์ ผู้นั้นย่อมจะพลาดจากประโยชน์ที่พึงได้พึงถึง พลาดจากสมาธิ พลาดจากวิปัสสนาญาณ พลาดจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน

         พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราตถาคต ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มองไปทั่วรอบขอบจักรวาล ไม่มีบุคคลใดที่เราตถาคตควรน้อมเศียรวันทา แต่เรามองเห็นพระธรรมที่ทำให้เราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ เป็นสิ่งที่เราตถาคตควรเคารพ

         ธรรมเป็นสิ่งที่สูงสุด เพราะบุคคลที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าสำเร็จมาแล้วก็เพราะการประพฤติธรรม

         พวกเราทั้งหลายมาประพฤติธรรมนี้ก็ขอให้ประพฤติด้วยความจริงใจ.