อุบายบรรเทาความโกรธ

อุบายบรรเทาความโกรธ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ณ โอกาสบัดนี้ จักได้บรรยาย อุบายบรรเทาความโกรธ ๑๐ ประการ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้สนใจใคร่ในธรรมทั้งหลาย สืบต่อไป

          อุบายบรรเทาความโกรธนั้น มีดังต่อไปนี้

          ๑.     ด้วยการปรับเข้าฌานใหม่ หมายความว่า ถ้าบุคคลเจริญเมตตาจนได้เมตตาฌานแล้ว ขณะส่งจิตส่งใจไปในผู้ที่เป็นคู่เวรกันนั้น ความโกรธแค้นย่อมเกิดขึ้นมาเสีย เพราะหวนนึกคิดถึงความผิดที่เขาก่อกรรมทำไว้แต่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีบุคคลจงหวนกลับไปเข้าเมตตาฌานที่ตนทำให้เกิดแล้วในบุคคลพวกก่อนๆ มีคนเป็นที่รักเป็นต้น จำพวกใดจำพวกหนึ่ง หลายๆหน ออกจากฌานแล้วจึงค่อยเจริญเมตตาไปในผู้ที่เป็นคู่เวรกันอีกแล้วๆเล่าๆ บรรเทาความโกรธให้หายไป

          ๒.    ด้วยการพิจารณาถึงพุทธโอวาท ถ้าโยคีบุคคลได้มีความพยายามปฏิบัติอยู่โดยทำนองนั้นเป็นอย่างดีแล้ว ความโกรธแค้นนั้นก็ไม่ดับหายไป แต่นั้น จงพยายามให้หนักขึ้น เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นให้จงได้ โดยการพิจารณาถึงพุทธโอวาทที่ตรัสสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เอามาพร่ำสอนตัวเอง ด้วยประการดังจะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ คือ

          เฮ้ย เจ้าบุรุษขี้โกรธ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่า

          ๑)    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกโจรผู้มีใจบาปหยาบช้าจะพึงเอาเลื่อยมีด้ามสองข้างมาเลื่อยอวัยวะทั้งหลาย แม้ขณะพวกโจรกำลังเลื่อยอยู่นั้น ผู้ใดเกิดมีใจประทุษร้ายต่อพวกโจรนั้น เขาชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง

          ๒)    ผู้ใดโกรธต่อบุคคลผู้โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนเลวเสียกว่าบุคคลผู้โกรธก่อน เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น ผู้ใดไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธก่อนนั้น ผู้นั้นชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้อย่างแสนยาก ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติยั้งความโกรธไว้เสียได้ คือไม่โกรธตอบ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ประการหนึ่ง

          ๓)    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลกรรม ๗ ประการ ที่ศัตรูต้องการให้มีแก่กัน ที่ศัตรูพึงทำให้แก่กัน จะมาถึงสตรีหรือบุรุษผู้ที่โกรธเอง คือ

          ประการที่ ๑  ศัตรูในโลกนี้ ย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตัวเองว่า ทำอย่างไรหนอ คนนี้จึงจะมีผิวพรรณชั่ว เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจที่จะให้ศัตรูมีผิวพรรณงาม

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว ถือแต่ความโกรธเป็นเบื้องหน้านี้ ถึงเขาจะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดดีแล้ว ไล้ทาผิวพรรณให้ผุดผ่องดีแล้ว ตัดผมและโกนหนวดเคราให้เรียบร้อยดีแล้ว นุ่งห่มผ้าที่ขาวสะอาดดีแล้วก็ตามที แต่เขาผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้น ย่อมชื่อว่ามีผิวพรรณชั่วอยู่นั่นเอง

          ประการที่ ๒  ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จะพึงอยู่เป็นทุกข์

          ประการที่ ๓  ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีทรัพย์มาก

          ประการที่ ๔  ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีโภคะมาก

          ประการที่ ๕  ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มียศศักดิ์

          ประการที่ ๖   ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีพวกพ้องมิตรสหาย

          ประการที่ ๗  ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้ นับตั้งแต่แตกกายทำลายชีพไปแล้ว จึงจะไม่ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจให้ศัตรูไปบังเกิดในโลกสวรรค์

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว ถือความโกรธเป็นเบื้องหน้านั้น ย่อมประพฤติทุจริตทางกายก็ได้ ทางวาจาก็ได้ ด้วยเหตุที่เขาประพฤติทุจริตทางกายวาจานั้น นับแต่เวลาที่แตกกายทำลายชีพไปแล้ว เขาผู้ซึ่งถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้น ย่อมจะไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดังนี้ประการหนึ่ง

          ๔)    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟืนสำหรับเผาศพที่ไฟไหม้ปลายทั้ง ๒ ข้าง ซ้ำตรงกลางเปื้อนคูถสุนัข ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในบ้านด้วย ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในป่าด้วย ฉันใด เรากล่าวว่า คนที่โกรธแล้วก็มีลักษณะอาการเหมือนอย่างนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง

          ก็บัดนี้ เจ้ามัวแต่โกรธเขาอย่างนี้ จักได้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย จักได้ชื่อว่าเป็นคนเลวเสียกว่าคนที่โกรธก่อนด้วย จักไม่ได้ชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลจะชนะได้แสนยากด้วย จักได้ชื่อว่าทำอกุศลกรรมที่ศัตรูต้องการให้มีแก่กัน ให้แก่ตนเสียเองด้วย จักได้ชื่อว่ามีลักษณะอาการเหมือนกับฟืนเผาศพด้วย

          ๓.     ด้วยมองคนในแง่ดี เมื่อโยคีบุคคลพยายามเชิญพุทธโอวาทมาสอนตนอยู่ด้วยประการอย่างนี้ ถ้าความโกรธแค้นสงบลงเสียได้ นั่นเป็นการดี แต่ถ้ายังไม่สงบ ทีนั้น จงเพียรพยายามทำอุบายอย่างอื่นต่อไป

          กล่าวคือ ถ้าคุณธรรมส่วนใดๆก็ตามที่คนคู่เวรนั้นมีอยู่ เช่น ความสะอาดเรียบร้อยของเขาบางประการ เมื่อนำมาพิจารณาดูให้ดีแล้ว สามารถที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใสพอใจขึ้นได้ ก็จงระลึกถึงคุณธรรมส่วนนั้นๆมาบรรเทาความอาฆาต และเพียรทำความอาฆาตเคียดแค้นให้หายไปโดยประการดังต่อไปนี้

          มีความจริงอยู่ว่า คนบางคนมีมารยาททางกายเรียบร้อยแต่อย่างเดียว และความเรียบร้อยทางกายนั้น คนทั่วไปจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเขาบำเพ็ญวัตรปฏิบัติไปนานๆ แต่มารยาททางวาจาและทางใจของเขาไม่เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางวาจาและทางใจของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางกายของเขาอย่างเดียวเท่านั้น

          บางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่ทางวาจาอย่างเดียวเท่านั้น และความเรียบร้อยทางวาจานั้น คนทั่วไปย่อมจะรู้ได้ เพราะว่าคนที่มีมารยาททางวาจาเรียบร้อยนั้น โดยปกติแล้วเป็นคนฉลาดในการปฏิสันถาร เป็นคนนิ่มนวลพูดเพราะรื่นเริง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทักทายก่อน ถึงคราวสวดสรภัญญะก็สวดด้วยเสียงอันไพเราะ ถึงคราวแสดงธรรมก็แสดงได้ชัดถ้อยชัดคำ ด้วยบทและพยัญชนะอันกลมกล่อม แต่มารยาททางกายและทางใจของเขาไม่เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาทในทางกายและทางใจของเขา จงระลึกถึงมารยาททางวาจาของเขาอย่างเดียวเท่านั้น

          คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่ทางใจอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางใจนั้น จะปรากฏชัดแก่คนทั่วไปก็ในขณะเขาไหว้พระเจดีย์เป็นต้น กล่าวคือผู้มีจิตใจไม่สงบเรียบร้อยนั้น เมื่อจะไหว้พระเจดีย์หรือต้นศรีมหาโพธิ์ หรือจะกราบไหว้พระเถระทั้งหลาย เขาย่อมกราบไหว้ด้วยกิริยาอาการอันไม่เคารพ

          เมื่อนั่งอยู่ในโรงธรรม ก็นั่งอยู่อย่างงุ่นง่านหรือพูดพล่ามไป ส่วนคนผู้มีจิตใจสงบเรียบร้อย ย่อมกราบไหว้ด้วยความสนิทสนม ด้วยความเชื่อมั่น ถึงคราวฟังธรรมก็เงี่ยโสตฟังด้วยดี ถือเอาเนื้อความได้ แสดงอาการเลื่อมใสออกทางกายหรือทางวาจาให้ปรากฏ แต่เขาเป็นผู้มีมารยาททางกายและทางวาจาไม่เรียบร้อย สำหรับบุคคลเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางกายและทางวาจาของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางใจของเขาอย่างเดียวเท่านั้น

          คนบางคนไม่มีความเรียบร้อยแม้สักประการเดียวในมารยาททั้ง ๓ ประการนั้น แต่คนเช่นนั้นก็ยังไม่เป็นที่เหลือวิสัยทีเดียว โยคีบุคคลจงยกเอาความกรุณาขึ้นมาตั้งไว้ในใจแล้วปลงให้ตกลงไปว่า คนเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะได้เที่ยวขวางหูขวางตาคน ก็อยู่ในมนุษย์นี้แต่ในปัจจุบันชาติเท่านั้น ต่อไปไม่ช้าไม่นานสักเท่าไร เขาก็จะต้องท่องเที่ยวไปเกิดในมหานรก ๘ ขุม และในอุสสทนรกทั้งหลายโดยแท้ เพราะอาศัยแม้เพียงความกรุณาเช่นนั้น ความอาฆาตเคียดแค้นก็อาจจะสงบลงได้

          คนบางคนย่อมมีมารยาทเรียบร้อยครบทั้ง ๓ ประการ สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลมีความชอบใจในมารยาทของเขาประการใดๆ ก็จงเลือกระลึกเอามารยาทประการนั้นๆ ตามอัธยาศัยเถิด เพราะการเจริญเมตตาในบุคคลเช่นนี้ ย่อมปฏิบัติได้โดยไม่ลำบากเลย

          ก็แล เพื่อจะแสดงความเรื่องบุคคลผู้มีมารยาทต่างกันทั้ง ๕ จำพวกดังกล่าวมานี้ ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นอีก ขอให้โยคีบุคคลจงตรวจดูเอาใน อาฆาตปฏิวินยสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ หน้า ๑๘๙)

          ๔.     ด้วยการพร่ำสอนตนเอง แม้ว่าโยคีบุคคลจะได้พยายามบรรเทาความอาฆาตเคียดแค้นโดยอุบายวิธีที่กล่าวมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ความอาฆาตเคียดแค้นก็ยังบังเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป แต่นั้นโยคีบุคคลจงเปลี่ยนวิธีใหม่ กล่าวคือจงพยายามพร่ำสอนตัวเองด้วยอุบายวิธีดังต่อไปนี้

                 ๑)    ก็เมื่อคนคู่เวรทำทุกข์ให้แก่เจ้า ก็ทำได้แต่ตรงที่ร่างกายของเจ้า เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะหอบเอาทุกข์นั้นเข้ามาใส่ไว้ในจิตในใจของตน อันมิใช่วิสัยที่คนคู่เวรจะพึงทำให้ได้เล่า

                 ๒)    หมู่ญาติซึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณเป็นอันมาก ทั้งๆที่มีหน้าอันชุ่มด้วยน้ำตา เจ้าก็ยังอุตส่าห์ละทิ้งเขามาได้ ก็เหตุไฉนจึงจะละไม่ได้ซึ่งความโกรธอันเป็นศัตรูผู้ทำความพินาศให้อย่างใหญ่หลวงเล่า

                 ๓)    เจ้าอุตส่าห์รักษาศีลเหล่าใดไว้ แต่เจ้าก็ได้พะนอเอาความโกรธอันเป็นเครื่องตัดรากเหง้าของศีลเหล่านั้นไว้ด้วย ใครเล่าที่จะโง่ทึบอย่างเจ้า

                 ๔)    เจ้าโกรธว่า คนคู่เวรได้ทำความผิดใหญ่หลวงให้แก่เจ้า แต่เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะทำความผิดเช่นนั้นด้วยตนเองเล่า

                 ๕)    ก็เมื่อคนคู่เวรปรารถนานักหนาที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้นแก่เจ้า จึงได้ทำสิ่งที่ไม่พอใจยั่วยุเจ้า เหตุไรเจ้าจึงจะทำความปรารถนาของเขาให้สำเร็จเสียเอง ด้วยการยอมให้ความโกรธเกิดขึ้นเล่า

                 ๖)    เมื่อเจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว เจ้าจักได้ก่อทุกข์ให้แก่คนอื่นผู้ทำความผิดให้แก่เจ้านั้นหรือไม่ก็ตามที แต่เป็นอันว่าเจ้าได้เบียดเบียนตนเองด้วยทุกข์คือความโกรธอยู่ทีเดียว

                 ๗)   ก็เมื่อคนคู่เวรได้เดินไปสู่ทางผิดคือความโกรธ ซึ่งไม่นำประโยชน์อะไรมาให้แก่ตนเองเลย แม้เมื่อเจ้ายังโกรธเขาอยู่ ก็ชื่อว่าได้คล้อยไปตามทางเขาละซิ

                 ๘)    ศัตรูได้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่เจ้า ด้วยอาศัยความโกรธของเจ้าอันใด เจ้าจงรีบถอนความโกรธนั้นออกไปเสียเถิด เจ้าจะเดือดร้อนในสิ่งที่ไม่สมควรทำไมกัน

                 ๙)    ขันธ์ ๕ อันใดที่ทำสิ่งที่ไม่พอใจให้แก่เจ้า ขันธ์ ๕ เหล่านั้นก็ได้ดับไปแล้ว เพราะสภาวธรรมทั้งหลายดับไปชั่วขณะนิดเดียว แล้วก็มีขันธ์ ๕ อื่นเกิดขึ้นมาแทน บัดนี้ เจ้าจะมาหลงโกรธใครในที่นี้เล่า ความโกรธต่อขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่มีความผิดนั้น เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

                 ๑๐)  ผู้ใดทำความผิดให้แก่ผู้ใด เมื่อไม่มีผู้ทำความผิดนั้นแล้ว ผู้ที่จะทำความผิดตอบนั้น จะพึงทำความผิดให้แก่ใครที่ไหนเล่า ตัวเจ้าเองนั้นแหละเป็นตัวการแห่งความผิด ฉะนั้น เจ้าจะไปโกรธคนอื่นทำไม ไฉนจึงไม่โกรธตนเองเล่า

          ๕.     ด้วยการพิจารณาถึงกรรม ก็แล แม้โยคีบุคคลจะได้มีความพยายามพร่ำสอนตัวเองด้วยประการดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ความโกรธแค้นก็ยังไม่สงบลง แต่นั้นโยคีบุคคลจงใช้วิธีพิจารณาถึงภาวะที่ตนเองเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเป็นอันดับแรก ดังต่อไปนี้ว่า

          นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ เจ้าโกรธคนอื่นเขาแล้ว จักได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเจ้านี้ จักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เจ้าเองมิใช่หรือ ด้วยว่า เจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เจ้าได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เจ้าจักได้รับผลของกรรมนั้น

          อนึ่ง กรรมอย่างนี้ของเจ้า ไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิ อันใดอันหนึ่งได้ และไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ หรือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระเจ้าประเทศราชได้เลย

          ตรงกันข้าม กรรมของเจ้านี้ จักขับไล่ไสส่งให้เจ้าออกจากพระศาสนา แล้วบันดาลให้ประสบผลอันประหลาดต่างๆ เช่น ทำให้เกิดเป็นคนขอทานเที่ยวกินเดนคนอื่น และให้ประสบทุกข์อันใหญ่หลวง มีการทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน

          อันตัวเจ้านี้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเผาตัวของตัวเองทั้งเป็น และทำตัวเองให้มีชื่อเสียงเน่าเหม็นเป็นคนแรกนั่นเทียว

          เมื่อได้พิจารณาถึงภาวะที่ตัวเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนอย่างนี้แล้ว จะพิจารณาถึงภาวะที่บุคคลอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน ในลำดับต่อไปนี้

          แน่ะ เขาผู้นั้นโกรธเจ้าแล้ว เขาจักไม่ได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเขาผู้นั้น จักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เขาเองมิใช่หรือ เพราะว่าผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เขาได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เขาก็จักได้รับผลของกรรมนั้น

          อนึ่ง กรรมของเขาผู้นั้น ไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิได้ ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่น ความเป็นพระพรหม ความเป็นพระอินทร์ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ความเป็นพระเจ้าประเทศราชได้เลย

          ตรงกันข้าม กรรมของเขาผู้นั้น มีแต่จะขับไล่ไสส่งให้เขาออกจากพระศาสนา แล้วบันดาลให้ประสบผลอันประหลาดต่างๆ เช่น ทำให้บังเกิดเป็นคนขอทานกินเดนคนอื่น และทำให้ประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน

          เขาผู้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าโปรยธุลีคือความโกรธใส่ตนเอง เหมือนบุรุษผู้โปรยธุลีใส่คนอื่น แต่ไปยืนโปรยอยู่ทางใต้ลม ฉะนั้น ข้อนี้สมด้วยพุทธนิพนธ์สุภาษิต ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย ว่า

                                     โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ

                                     สุทฺธสฺส  โปสสฺส  อนงฺคณสฺส

                                     ตเมว   พาลํ    ปจฺเจติ   ปาปํ

                                     สุขุโม  รโช  ปฏิวาตํ  ขิตฺโต[1]

          ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ที่ไม่มีความประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส บาปจะส่งผลให้เขาผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลเสียเอง ดุจธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ย่อมจะปลิวมาสู่ตัวเอง ฉะนั้น

          ๖.     ด้วยพิจารณาถึงพระพุทธจริยาในปางก่อน ก็แล ถ้าว่าโยคีบุคคลจะพยายามพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนอย่างนี้แล้ว ความโกรธแค้นก็มิได้สงบไป แต่นั้นจงระลึกถึงพระคุณคือพระจริยาวัตรของพระศาสดาในปางก่อน เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นต่อไป ในพุทธจริยาวัตรในปางก่อนนั้น มีส่วนที่โยคีบุคคลควรนำมาพิจารณาเตือนตน ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

          นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ พระบรมศาสดาของเจ้าในปางก่อน ตั้งแต่ยังมิได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศน์อยู่ถึง ๔ อสงขัยกับหนึ่งแสนมหากัปนั้น พระองค์ก็ไม่ได้ทำพระหฤทัยให้โกรธเคืองแม้ในศัตรูทั้งหลายผู้พยายามประหัตประหารพระองค์อยู่ในชาตินั้นๆ มิใช่หรือ ดังมีตัวอย่างแต่เพียงย่อๆ ดังต่อไปนี้

          ๑)     เรื่องพระเจ้าสีลวะ ในสีลวชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีพระนามว่าพระเจ้าสีลวะ อำมาตย์ผู้ใจบาปหยาบช้าลอบล่วงประเวณีกับพระอัครมเหสีของพระองค์ แล้วไปเชื้อเชิญพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์มายึดเอาพระราชสมบัติในที่มีอาณาบริเวณถึง ๓๐๐ โยชน์

          พระเจ้าสีลวะโพธิสัตว์ก็มิได้ทรงอนุญาตให้หมู่อำมาตย์ผู้จงรักภักดีลุกขึ้นจับอาวุธต่อต้าน ต่อมาพระองค์พร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตย์พันหนึ่ง ได้ถูกเขาขุดหลุมฝังทั้งเป็นลึกแค่พระศอตรงที่ป่าช้าผีดิบ พระองค์ไม่ได้ทรงเสียพระทัยแม้แต่น้อย อาศัยพวกสุนัขจิ้งจอกที่พากันมาคุ้ยกินซากศพ ได้ขุดคุ้ยดินออกให้พระองค์จึงได้ทรงใช้ความเพียรของลูกผู้ชายด้วยกำลังพระพาหาทรงตะเกียกตะกายออกมาจากหลุม จึงทรงรอดชีวิตได้

          และด้วยอานุภาพของเทวดาช่วยบันดาลให้พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ทรงเห็นพระราชาผู้เป็นศัตรูบรรทมอยู่ที่พระแท่นบรรทม พระองค์ก็มิได้ทรงพิโรธโกรธแค้นแต่ประการใด กลับทรงปรับความเข้าพระทัยดีต่อกันและกัน ทรงตั้งพระราชาผู้เป็นศัตรูไว้ในฐานะแห่งมิตร และได้ตรัสสุภาษิตว่า

                       อาสึเสเถว   ปุริโส              นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต

                        ปสฺสามิ โวหํ อตฺตานํ          ยถา  อิจฺฉึ  ตถา  อหุ[2]

          ชาติชายผู้บัณฑิต พึงทำความหวังโดยปราศจากโทษไปเถิด ไม่พึงเบื่อหน่ายท้อถอยเสียเลย เราปรารถนาที่จะสถาปนาตนไว้ในราชสมบัติโดยไม่เบียดเบียนใครๆ ด้วยประการใด เราก็จะปฏิบัติโดยประการนั้น

          ๒)    เรื่องขันติวาทีดาบส ในขันติวาทีชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส เมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงปกครองแคว้นกาสีทรงพระนามว่ากลาพุ ได้ตรัสถามพระโพธิ์สัตว์ขันติวาทีว่า

          สมณะ พระผู้เป็นเจ้านับถือวาทะอะไร พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า อาตมภาพนับถือขันติวาทะ คือนับถือความอดทน ทีนั้น พระเจ้ากลาพุได้ตรัสสั่งให้เฆี่ยนพระโพธิสัตว์ด้วยแส้มีหนามแหลมเป็นการพิสูจน์ ในที่สุดถูกตัดมือและตัดเท้า แต่แล้วพระโพธิสัตว์ก็มิได้ทำความโกรธเคืองแม้แต่น้อย

          ๓)    เรื่องธัมมปาลกุมาร การที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ใหญ่แล้วและดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต สามารถอดกลั้นได้เหมือนพระเจ้าสีลวะและขันติวาทีดาบสนั้น ยังไม่เป็นสิ่งที่อัศจรรย์เท่าไร

          ส่วนในจุลลธัมมปาลชาดก พระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นธัมมปาลกุมาร ทรงเป็นทารกยังนอนหงายอยู่แท้เทียว ถูกพระเจ้ามหาปตาปะผู้เป็นพระบิดามีพระราชบัญชาให้ตัดพระหัตถ์และพระบาททั้งสอง ดุจว่าตัดหน่อไม้ ในขณะที่พระมารดาคร่ำครวญอยู่ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แขนทั้งสองของพ่อธัมมปาละผู้เป็นรัชทายาทในแผ่นดิน ซึ่งไล้ทาแล้วด้วยจันทน์หอม กำลังจะขาดไปอยู่แล้ว หม่อมฉันก็จะหาชีวิตไม่ได้แล้ว

          แม้กระนั้นแล้ว พระเจ้ามหาปตาปะก็ยังมิได้ถึงความสาสมพระหฤทัยได้ ทรงมีพระราชโองการไปอีกว่า จงตัดศีรษะมันเสีย ฝ่ายพระธัมมปาลกุมารก็มิได้แสดงออกแม้อาการเสียพระทัย ทรงอธิษฐานทรงสมาทานแน่วแน่แล้ว

          ทรงโอวาทพระองค์ว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่จะต้องประคองใจของตนไว้ให้ดีแล้วนะ พ่อธัมมปาละผู้เจริญ บัดนี้ เจ้าจงทำจิตให้เสมอในบุคคลทั้ง ๔ คือ ในพระบิดาผู้ทรงบัญชาให้ตัดศีรษะ ๑ พวกราชบุรุษที่จะตัดศีรษะ ๑ พระมารดาของเจ้า ๑ ตัวของเจ้า ๑

          ๔)    เรื่องของพระยาช้างชื่อฉัททันตะ ก็พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมนุษย์ แล้วทรงอดกลั้นได้ต่อการทารุณกรรมต่างๆจากศัตรู เหมือนอยู่ในเรื่องทั้ง ๓ ที่แสดงมาแล้วนั้น แม้ข้อนี้ก็ยังเป็นสิ่งไม่น่าอัศจรรย์มากนักส่วนเรื่องที่น่าอัศจรรย์มากกว่านั้นคือ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสัตว์เดรัจฉานในกำเนิดต่างๆ และได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ดังเรื่องนี้ คือ

          พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นช้างชื่อฉัททันตะ แม้พระองค์จะถูกนายพรานยิงด้วยลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษที่ตรงสะดือ ก็ไม่ได้เคืองใจในนายพรานผู้ซึ่งทำความพินาศให้แก่พระองค์อยู่เช่นนั้น ข้อนี้สมด้วยข้อความพระบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า พระยาช้างฉัททันตะ แม้จะถูกทิ่มแทงด้วยลูกศรเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ได้มีจิตประทุษร้ายในนายพราน

          กลับพูดกับเขาอย่างอ่อนหวานว่า ข้าแต่สหาย ท่านต้องการอะไรหรือ ท่านยิงเราเพราะเหตุแห่งสิ่งใด หรือการที่ท่านมา ณ ที่นี้แล้วทำแก่เราอย่างนี้ มิใช่เป็นด้วยอำนาจของท่านเอง ดังนั้น การพยายามทำเช่นนี้ ท่านทำเพื่อพระราชาองค์ใดหรือ หรือเพื่อมหาอำมาตย์คนใด

          ก็แล ครั้นพระโพธิสัตว์ถามอย่างนี้แล้ว นายพรานก็ตอบตามเป็นจริงว่า ท่านผู้เจริญ พระราชเทวีของพระเจ้ากาสีได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการงาของท่าน ทีนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะทำพระประสงค์ของพระเทวีนั้นให้สำเร็จบริบูรณ์ จึงให้ตัดงาทั้ง ๒ ของตน อันมีความงามดุจทองคำธรรมชาติ สุกปลั่งด้วยแสงอันเปล่งออกแห่งรัศมีอันประกอบด้วยสี ๖ ประการ แล้วก็มอบให้แก่นายพรานนั้นไปถวาย

          ๕)    เรื่องพญานาคชื่อภูริทัต ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัต ได้อธิษฐานเอาอุโบสถศีลแล้วขึ้นไปนอนอยู่บนจอมปลวก ครั้งนั้น พวกพราหมณ์หมองูได้เอาโอสถมีพิษเหมือนกับไฟประลัยกัลป์สาดไปทั่วทั้งตัว กระทืบด้วยเท้า กระทำให้อ่อนกำลังแล้วจับยัดใส่ข้องเล็กๆ แล้วนำไปเล่นกลให้คนดูไปทั่วชมพูทวีป

          พระโพธิสัตว์ก็ไม่แสดงอาการแม้เพียงนึกขัดเคืองใจในพราหมณ์นั้นแต่ประการใด ข้อนี้สมด้วยบาลีคัมภีร์จริยาปิฎกว่า เมื่อหมองูชื่ออารัมภานะจับเรายัดใส่ในข้องเล็กๆก็ดี ย่ำเหยียบเราอยู่ด้วยส้นเท้าให้อ่อนกำลังก็ดี เราไม่ได้โกรธเคืองในหมองูอารัมภานะนั้นเลย ทั้งนี้ เพราะเรากลัวศีลของเราจะขาดด่างพร้อยไป

          ๖)    เรื่องพญานาคชื่อจัมเปยยะ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อจัมเปยยะ ได้ถูกหมองูจับทรมานอยู่ด้วยประการต่างๆ ก็มิได้แสดงอาการนึกขัดเคืองในใจ

          ข้อนี้สมด้วยบาลีจริยาปิฎกว่า แม้ในชาติเป็นจัมเปยยะนาคราชนั้น เราก็ได้ประพฤติธรรมจำอุโบสถศีล หมองูได้จับเราไปเล่นกลอยู่ที่ประตูพระราชวัง เขาประสงค์จะให้เราแสดงเป็นสีอะไร คือจะเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีแสด เราก็ให้เป็นไปตามประสงค์ของเขา เรามีความตั้งใจอยู่ว่า ขอให้หมองูนี้จงได้ลาภมากๆเถิด

          และด้วยเดชอานุภาพของเรา เราสามารถที่จะบันดาลให้ที่ดอนกลายเป็นน้ำก็ได้ บันดาลให้ที่น้ำกลายเป็นดอนก็ได้ ถ้าเราจะพึงโกรธแก่หมองูนั้น เราก็สามารถที่จะทำให้เขากลายเป็นเถ้าถ่านในชั่วครู่เท่านั้น แต่ถ้าว่าเราตกอยู่ในอำนาจของอกุศลจิตเช่นนั้น เราก็จะเสื่อมจากศีล เมื่อเสื่อมจากศีลแล้ว ความปรารถนาขั้นสุดยอดคือความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าของเราก็จักไม่สำเร็จสมประสงค์

          ๗)   เรื่องพญานาคชื่อสังขปาละ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราชชื่อสังขปาละ ได้ถูกบุตรนายพราน ๑๖ คน ช่วยกันเอาหอกอย่างแหลมแทงเข้าที่ลำตัวถึง ๘ แห่ง แล้วเอาเครือวัลย์ที่มีหนามร้อยเข้าไปตามรูแผลที่แทงนั้นๆ เอาเชือกอย่างเหนียวร้อยที่รูจมูก แล้วช่วยกันลากไป ลำตัวเสียดสีไปกับพื้นดิน ได้เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้พระโพธิสัตว์สามารถจะบันดาลให้บุตรนายพรานนั้นๆ แหลกละเอียดเป็นเถ้าธุลี ด้วยกรรมวิธีเพียงแต่โกรธแล้วจ้องมองเท่านั้น แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทำอาการโกรธเคืองลืมตาจ้องมองดูเขาเหล่านั้นเลย

          ข้อนี้สมด้วยบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า ดูกรนายอฬาระ เราอยู่จำศีลอุโบสถเป็นนิจ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ คราวครั้งนั้น ได้มีบุตรนายพราน ๑๖ คน พากันถือเอาเชือกและบ่วงอย่างมั่นเหนียวไปหาเรา แล้วเขาได้ช่วยกันร้อยจมูกเรา ฉุดดึงเชือกที่ร้อยจมูกผูกตรึงเราหมดทั้งตัวแล้วลากเราไป ทุกข์อย่างใหญ่หลวงถึงเพียงนั้นเราก็ยังอดกลั้นได้ ไม่ยอมทำให้อุโบสถศีลกำเริบเศร้าหมอง

          แท้ที่จริงนั้น พระบรมศาสดาไม่ได้ทรงทำสิ่งที่อัศจรรย์ไว้เพียงที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เท่านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญจริยาวัตรอันน่าอัศจรรย์แม้อย่างอื่นๆไว้เป็นอเนกประการ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในชาดกต่างๆ ก็แลบัดนี้ เจ้าได้อ้างอิงเอาพระผู้มีพระภาคผู้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ผู้มีพระขันติคุณอย่างไม่มีใครเสมอเหมือน ทั้งในโลกมนุษย์และเทวดา ว่าเป็นศาสดาของเจ้าดังนี้แล้ว การที่เจ้าจะยอมจำนนให้จิตโกรธแค้นครอบงำได้อยู่ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งทีเดียว

          ๗.    ด้วยการพิจารณาความสัมพันธ์กันในระหว่างสังสารวัฏ ก็แล โยคีบุคคลผู้ซึ่งได้เข้าถึงความเป็นทาสของกิเลสมานานหลายร้อยหลายพันชาติ แม้จะได้พยายามพิจารณาถึงพระคุณคือพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อนโดยวิธีดังกล่าวมาสักเท่าใดก็ตาม ความโกรธแค้นนั้นก็ยังไม่สงบอยู่นั่นแล ทีนี้โยคีบุคคลพึงพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันระหว่างสังสารวัฏอันยาวนาน ซึ่งสาวหาเบื้องต้นเบื้องปลายกันมิได้ โดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้

          ก็เรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย นิทานวรรคว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เกิดขึ้นมาในโลกนี้ ที่จะไม่เคยเป็นมารดากันเป็นบิดากัน ไม่เคยเป็นพี่น้องชายกัน ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิงกัน ไม่เคยเป็นบุตรกัน และไม่เคยเป็นธิดากัน เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายเลย เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงส่งจิตไปในบุคคลคู่เวรกันนั้นอย่างนี้

          ได้ยินว่า สตรีผู้นี้เคยเป็นมารดาของเรามาในชาติปางก่อน เขาเคยได้บริหารรักษาเราอยู่ในครรภ์ ๑๐ เดือน ได้ช่วยล้างอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น ให้แก่เราโดยไม่รังเกียจ เห็นสิ่งปฏิกูลพวกนั้นเป็นเหมือนจันทน์หอม ได้ช่วยประคองเราให้นอนอยู่ระหว่างอก อุ้มเราไปด้วยสะเอว ได้ทะนุถนอมเลี้ยงเรามาเป็นอย่างดี ฉะนี้

          บุรุษนี้ได้เคยเป็นบิดาของเรามา เมื่อเขาประกอบการค้าขาย ต้องเดินทางไปในที่กันดาร เช่น ต้องไปด้วยแพะเป็นที่อาศัยเป็นพาหนะ และต้องเกี่ยวเหนี่ยวรั้งไปด้วยไม้ขอเป็นต้น แม้ชีวิตก็ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา ครั้นในยามที่เกิดสงครามประชิดติดกัน ก็ต้องเอาตนเข้าสู่สนามรบ บางทีต้องแล่นเรือผ่านมหาสมุทรอันเต็มไปด้วยภัยอันตราย และได้ทำกิจการอย่างอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยยากด้วยความลำบากยากเย็น พยายามสั่งสมทรัพย์ไว้ด้วยอุบายต่างๆ ด้วยมั่นหมายว่า จะเลี้ยงดูลูกๆทั้งหลายให้เป็นสุข ฉะนี้

          บุรุษผู้นี้เคยเป็นพี่น้องชายของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นพี่น้องหญิงของเรามา บุรุษนี้เคยเป็นบุตรของเรามา สตรีนี้เคยเป็นธิดาของเรามา และแต่ละบุคคลนั้น เคยได้ทำอุปการะแก่เรามาหลายอย่างหลายประการเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น การที่เราจะทำใจให้โกรธแค้นในบุคคลนั้นๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนี้

          ๘.    ด้วยพิจารณาถึงอานิสงส์เมตตา ก็แล โยคีบุคคลได้พยายามพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้ แต่นั้น โยคีบุคคลพึงพิจารณาถึงอานิสงส์ของเมตตา โดยอุบายวิธีดังนี้

          นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่า คนผู้เจริญเมตตาภาวนา พึงหวังได้แน่นอนซึ่งอานิสงส์ ๑๑ ประการของเมตตาเจโตวิมุตติที่ตนส้องเสพหนักแล้ว ทำให้เจริญขึ้นแล้ว ทำให้มากๆแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เตรียมพร้อมแล้ว ทำให้เป็นดุจฐานอันแน่นหนาแล้ว ทำให้มั่นคงแล้ว สั่งสมด้วยวสีทั้ง ๕ ดีแล้ว ทำให้บังเกิดขึ้นด้วยดีแล้ว คือ

                    ๑)    หลับเป็นสุข คือไม่กลิ้ง ไม่กรน หลับอย่างสนิทเหมือนเข้าสมาบัติ มีลักษณะท่าทางเรียบร้อยน่าเลื่อมใส

                 ๒)    ตื่นเป็นสุข ตื่นขึ้นมาแล้วไม่ทอดถอนหายใจ ไม่สยิวหน้า ไม่บิดไปบิดมา มีหน้าตาชื่นบานเหมือนดังดอกประทุมที่กำลังแย้มกลีบบาน ฉะนั้น

                 ๓)    ไม่ฝันร้าย คือไม่ฝันเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น พวกโจรรุมล้อม สุนัขไล่กัด ตกเหว ฝันเห็นแต่นิมิตที่ดี เช่น ไหว้พระเจดีย์ ทำการบูชา และฟังพระธรรมเทศนา

                 ๔)     เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลาย เหมือนพวงไข่มุกที่ห้อยอยู่ที่หน้าอก หรือดอกไม้ที่ประดับอยู่บนเศียร

                 ๕)     เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คือไม่ใช่เป็นที่รักของคนอย่างเดียว ยังเป็นที่รักของเหล่าเทวาอารักษ์ด้วย

                 ๖)    เทวดาทั้งหลายคอยเฝ้ารักษา คือเทวดาทั้งหลายย่อมคอยตามรักษา เหมือนมารดาบิดาคอยตามรักษาบุตรและธิดา

                 ๗)   ไฟ ยาพิษ หรือศัสตรา ไม่กล้ำกรายในตัวของเขา คือไม่ถูกไฟไหม้ ไม่ถูกวางยาพิษ ไม่ถูกศัตราวุธประหาร

                 ๘)    จิตเป็นสมาธิเร็ว คือเมื่อเจริญกัมมัฏฐาน จิตสำเร็จเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ได้เร็ว

                 ๙)    ผิวหน้าผ่องใส คือหน้าตามีผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส เหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ๆ

                 ๑๐)  ไม่หลงทำกาลกิริยา คือไม่หลงตาย ตายมีสติ

                 ๑๑)  เมื่อไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง อย่างต่ำก็จะบังเกิดในพรหมโลก คือถ้าไม่ได้บรรลุพระอรหัตต์อันเป็นคุณเบื้องสูงยิ่งกว่าเมตตาฌานในชาติปัจจุบัน พอเคลื่อนจากมนุษย์โลก ก็จะได้เข้าสู่พรหมโลกทันที เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น

          นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ ถ้าเจ้าจักไม่ทำจิตที่โกรธแค้นอยู่นี้ให้ดับไปเสียแล้ว เจ้าจักเป็นคนอยู่ภายนอกอานิสงส์ (ของเมตตา) ๑๑ ประการ ฉะนี้

          ๙.    ด้วยการพิจารณาแยกธาตุ ถ้าโยคีบุคคลยังไม่อาจที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้ด้วยวิธีดังแสดงมา คราวนี้จงนึกเอาคนคู่เวรนั้นมาพิจารณาแยกออกให้เห็นเป็นเพียงสักว่าธาตุส่วนหนึ่งๆ คือพึงพร่ำสอนตนเองด้วยวิธีแยกธาตุว่า

          นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ เมื่อเจ้าโกรธเขานั้น เจ้าโกรธอะไรเขาหรือ คือในอาการ ๓๒ เจ้าโกรธผมหรือ เจ้าโกรธขนหรือ เจ้าโกรธเล็บหรือ เจ้าโกรธฟันหรือ เจ้าโกรธหนังหรือ เจ้าโกรธเนื้อ โกรธเอ็น โกรธกระดูก โกรธเยื่อในกระดูก โกรธม้าม โกรธหัวใจ โกรธตับ โกรธพังผืด โกรธไต โกรธปอด โกรธไส้น้อยไส้ใหญ่ โกรธอาหารใหม่อาหารเก่า โกรธมันสมองหรือ

          หรือเจ้าโกรธดี เสลด น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำมันไขข้อ น้ำมูตรของเขา หรือว่าในธาตุ ๔ เจ้าโกรธธาตุดินของเขาหรือ หรือเจ้าโกรธธาตุน้ำของเขา หรือเจ้าโกรธธาตุลม หรือเจ้าโกรธธาตุไฟ

          อนึ่ง คนคู่เวรนั้น เพราะอาศัยขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๑๒ หรือธาตุ ๑๘ เหล่าใด เขาจึงได้ชื่ออย่างนั้น ในขันธ์ ๕ นั้น เจ้าโกรธรูปขันธ์หรือ หรือโกรธเวทนาขันธ์ หรือโกรธสัญญาขันธ์ หรือว่าโกรธสังขารขันธ์ หรือว่าโกรธวิญญาณขันธ์

          หรือในอายตนะ ๑๒ นั้น เจ้าโกรธจักขวายตนะหรือ หรือโกรธรูปายตนะ โสตายตนะ สัททายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ มนายตนะ ธัมมายตนะ

            หรือในธาตุ ๑๘ นั้น เจ้าโกรธจักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุหรือ หรือว่าเจ้าโกรธโสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

          เมื่อโยคีบุคคลพิจารณาแยกธาตุ กระจายคนคู่เวรนั้นออกโดยภาวะที่เป็นธาตุ คือเป็นเพียงชิ้นส่วนอันหนึ่งๆประกอบกันไว้ ดังแสดงมานี้ ก็จะมองเห็นสภาวธรรมด้วยปัญญาเห็นชัดแจ้งว่า ฐานะที่สำหรับจะรับรองความโกรธ ย่อมไม่มีในบุคคลคู่เวรนั้น

          เพราะธาตุทั้งหลายแต่ละธาตุๆมีผมเป็นต้นนั้น เป็นสิ่งอันใครๆไม่ควรจะโกรธ และนอกเหนือไปจากธาตุทั้งหลายมีผมเป็นต้นนั้นแล้ว ก็หามีคนไม่ เปรียบเหมือนฐานสำหรับรองรับเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่มีที่ปลายเหล็กจานเหล็กแหลม และฐานสำหรับรองรับจิตรกรรม ไม่มีในอากาศ ฉะนั้น

          ๑๐.  ด้วยการให้ปันสิ่งของ ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่สามารถจะพิจารณาโดยวิธีแยกธาตุดังแสดงมา ก็พึงทำการให้ปันสิ่งของของตนให้แก่บุคคลคู่เวรตน ตนเองก็ควรรับสิ่งของๆบุคคลคู่เวรด้วย

          ก็แล ถ้าบุคคลคู่เวรเป็นผู้มีอาชีวะบกพร่อง มีบริขารชำรุดใช้ไม่ได้ ก็พึงให้เครื่องบริขารของตนนั่นแหละแก่เธอ เมื่อโยคีบุคคลทำการให้ปันได้อย่างนี้ ความอาฆาตเคียดแค้นก็จะระงับลงได้โดยสนิททีเดียว และแม้ความโกรธของบุคคลคู่เวรซึ่งติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ ก็จะระงับลงโดยทันทีเช่นเดียวกัน

            เหมือนดังความโกรธของพระมหาเถระรูปหนึ่ง ระงับลงเพราะได้บาตรของพระปิณฑปาติกะเถระผู้ถูกขับออกจากเสนาสนะจิตตบรรพตถึง ๓ ครั้ง ได้มอบถวายพร้อมกับเรียนว่า ท่านขอรับ บาตรใบนี้ราคา ๘ กหาปณะ อุบาสิกาผู้เป็นโยมหญิงของกระผมถวาย เป็นลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ขอท่านได้กรุณาทำให้เป็นบุญลาภแก่มหาอุบาสิกานั้นด้วยเถิด

            ขึ้นชื่อว่า การให้ปัน นี้ มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ สมด้วยคาถาประพันธ์อันโบราณาจารย์ได้ประพันธ์ไว้ว่า

                       อทนฺตขมนํ  ทานํ              ทานํ  สพฺพตฺถ  สาธกํ

                       ทาเนน  ปิยวาจาย             อุณฺณมนฺติ นมนฺติ  

          การให้ปัน เป็นอุบายทรมานคนพยศให้หายได้ การให้ปัน เป็นเครื่องบันดาลให้ประโยชน์ทุกๆอย่างสำเร็จได้ ฝ่ายผู้ให้ปันย่อมฟูใจขึ้น ฝ่ายผู้รับปันย่อมอ่อนน้อมลง ทั้งนี้ด้วยการให้ปันและด้วยปิยวาจา เป็นเหตุฉะนี้

          นี้แหละท่านทั้งหลาย ที่ได้บรรยายมาทั้งหมดนี้ เป็นอุบายวิธีที่จะบรรเทาความโกรธลงไปจากขันธสันดานได้ ขอให้ท่านผู้สดับตรับฟังทั้งหลายผู้เห็นโทษของความโกรธ ได้นำอุบายวิธีทั้ง ๑๐ ประการดังที่บรรยายมานี้ เป็นเครื่องพินิจพิจารณา เพื่อจะบรรเทาความโกรธทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา           เมื่อใด ความโกรธหมดไปจากขันธสันดานของเราแล้ว เราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ดี เราจะมีใจเยือกเย็น เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมื่อเรามีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ เราจะอยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุขกายสบายใจ ละโลกนี้ไปแล้ว เราก็จะไปสู่สุคติภพ.


[1] (สํ. สคาถวคฺโค ๑๕/๖๓๙/๒๔๑)

[2] (ขุ. ชาตก. ๒๗/๕๑/๑๗)