การเจริญพระพุทธมนต์
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ขณะใดที่เราตั้งอกตั้งใจเจริญพระพุทธมนต์จริงๆ (ขณะนั้น) ความเกียจคร้านย่อมไม่มี ความหดหู่ท้อแท้ไม่มี ความเผลอไม่มี ความฟุ้งซ่านไม่มี เรามีสติทันปัจจุบัน ไม่เผลอจากบทที่สวด
ขณะใดที่เรามีสติทันปัจจุบัน ไม่เผลอในการเจริญพุทธมนต์ ในขณะนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชวนจิตของเราเกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มสวดจนถึงสวดจบบท
ในขณะใดที่เราตั้งอกตั้งใจสวดพุทธวจนะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชวนจิตดวงที่ ๑ ของเราก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมา เมื่อชวนจิตดวงที่ ๒ ดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๓ ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาบทมนต์ที่สวด ชวนจิตดวงที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาบุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์ ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๕ ก็จะเกิดขึ้นมาเสพบุญเป็นอัตโนมัติ เกิดขึ้นมาเสพบุญที่เกิดขึ้นได้จากการเจริญพระพุทธมนต์อยู่ชั่วขณะจิตแล้วก็ดับไป เมื่อดับลงไปแล้ว สภาวะชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์นั้น ลงสู่ภวังค์แล้วก็ดับไป
เมื่อถึงภวังค์แล้ว ภวังค์นั้นก็จะทำหน้าที่รักษาบุญกุศลที่สวดพระพุทธมนต์นี้ไว้ภายในห้วงแห่งภวังคจิตนั้น ไม่มีอำนาจใดๆจะมาทำให้หมดไปได้ บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดอยู่ในที่นั้นตลอดเวลา นี่มันได้บุญอย่างนี้ แต่ขณะเดียวกันที่บุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์นี้ลงปวัตติไปตามวิถีจิตลงสู่ภวังค์
ในขณะนั้น บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้เบาบางลงไป หรือให้หมดไปทีละน้อยๆ ตามลำดับๆ
เราจะสังเกตเวลาเราเจริญพระพุทธมนต์ ยิ่งสวดก็ยิ่งเพลิน ยิ่งวันนี้ สวดอิมัสมิง มงคลจักรวาล ๘ ทิศ ยิ่งสวดก็ยิ่งเพลิน ยิ่งเพลินก็ยิ่งสวด ยิ่งสวดก็ยิ่งเพลิน ในขณะนั้นก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว เป็นบุญโดยที่เราไม่สามารถจะพรรณนาว่าได้แค่ไหนเพียงไร
หากว่าถึงคราวที่จะตายจากโลกนี้ไป ในขณะนั้น เรานึกถึงบุญที่เราเจริญพระพุทธมนต์อยู่ในขณะนี้ ถ้าจิตใจของเราดับไปในขณะนั้น เมื่อดับไป ก็ขอรับรองว่า ตายแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน บุญที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์ มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย
สำหรับการเจริญพระพุทธมนต์ทุกวันนี้ ถือว่าเป็นกัมมัฏฐาน เป็นทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นการเจริญพระกัมมัฏฐานหมู่ คือเจริญพร้อมกันหลายๆ รูป ถือว่าเป็นการเจริญพระกัมมัฏฐานหมู่ พระกัมมัฏฐานที่เจริญอย่างนี้ แยกได้เป็นสองประเภท
หากว่าในขณะที่เราสวดอยู่นี้ สติสัมปชัญญะของเราดี ไม่เผลอจากบทที่สวด สวดไปๆ จิตใจก็ดิ่งเข้าไป ผ่านขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ผลสุดท้ายก็เข้าสู่อัปปนาสมาธิ เมื่อเข้าสู่สมาธิ ก็ถือว่าได้บุญได้กุศลในขณะที่เราเจริญพระพุทธมนต์ ไม่ใช่ไม่ได้นะ
คือเมื่อเรากำหนดไปๆ สวดไปๆ จิตของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ แล้วก็อุปจารสมาธิ เฉียดฌานเข้าไป เฉียดมรรคเข้าไป จนถึงอัปปนาสมาธิ ถึงฌาน ถึงมรรค ก็ถือว่าเราได้บุญในขณะที่เจริญพระพุทธมนต์ ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ ก็ได้จริงๆ ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าสวดเล่นๆไป สักแต่ว่าสวด ก็ไม่ได้บุญอะไร ซ้ำอาจจะเป็นบาปอีก
การที่จะทำให้บุญเกิดได้สมบูรณ์ที่สุดในขณะที่เจริญพระพุทธมนต์นี้ ขอให้จำไว้ให้ดี คือในขณะที่เราเจริญพระพุทธมนต์ เจริญไปๆ จิตใจของเราดิ่งเข้าไปๆ ความรู้สึกก็น้อยเข้าไปๆ ในขณะนั้น หากว่าเป็นไปได้ เราหยุดเจริญพระพุทธมนต์ คือนั่งนิ่งไปจนจิตใจของเราขาดความรู้สึกเป็นสมาธิไป ถือว่าได้สมาธิได้ฌานในขณะนั้น
ทีนี้หากว่าจิตใจของเราเกิดปีติขึ้นมาในขณะนั้น เจริญไปๆ ในขณะที่จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาในขณะที่สวดอยู่นั้น
ในขณะนั้นสติสัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์ จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ และในขณะนั้นในวินาทีนั้น หรือในเสี้ยววินาทีนั้น พระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นมาก็ดับปั๊บลงไป ก็ถือว่าเราได้บุญเป็นกรณีพิเศษ สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานได้
หมายความว่า สมาธิที่ได้ในขณะที่เราเจริญภาวนาอยู่นั้น ดิ่งเข้าไปๆ เกิดความรู้สึกเงียบเข้าไป ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยิน ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ สมาธินั้นก็ถือว่าเป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
เมื่อเราถึงฌานแล้วอย่างนี้ แม้ร่างกายของเราเป็นพระเป็นเณรธรรมดา แต่จิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว มันได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าสวดมนต์แล้วไม่ได้อะไร ได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่ปฏิปทาของเรา
ทีนี้หากว่าในขณะที่เราเจริญพระพุทธมนต์ จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ ในขณะนั้นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว ดับปั๊บลงไป ขาดความรู้สึกลงไป และในขณะที่มันขาดความรู้สึกลงไปนั้น เราก็รู้ว่าเราสวดมนต์ไปถึงบทไหน มันดับไปหรือขาดความรู้สึกไป เราจำได้
ถ้าจำได้อย่างนี้ สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นสมาธิที่เกิดในลำดับของมัคควิถี สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล
ถ้าเกิดขึ้นครั้งที่ ๑ ก็ถือว่าเราได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ครั้งที่ ๒ ก็เป็นสกทาคามี ครั้งที่ ๓ เป็นอนาคามี
การที่ได้บรรลุโสดาบัน สกทาคามีนี้ อาจจะใช้เวลาเพียงไม่เกิน ๓ นาที เมื่อทำได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย การเจริญพระพุทธมนต์นี้ ใช่ว่าจะไม่ได้อานิสงส์ ถ้าหากเรารู้วิธีสวด รู้วิธีปฏิบัติ ย่อมได้ทั้งสมถะ ได้ทั้งวิปัสสนา ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา
หลวงพ่อขอยกตัวอย่างที่ได้เคยสอนลูกศิษย์ลูกหามาเป็นเวลานานพอสมควร วันหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่งชื่อว่า สงกรานต์ อายุประมาณสัก ๑๔ ปี เวลาเจริญพระพุทธมนต์นี้ เจริญไปๆ ดับปั๊บลงไปเลย ขาดความรู้สึกไป เมื่อขาดความรู้ลึกลงไปแล้ว หลังจากนั้นแกก็พยายามหัดสวดบ้าง นั่งสวดบ้าง ทำสมาธิไปบ้าง ผลสุดท้าย หลวงพ่อก็มาฝึก(สามเณร)ให้ชำนาญในวสี ๕ คือ
๑. อาวชฺชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการนึกตรวจองค์ฌานที่ตนออกแล้ว
๒. สมาปชฺชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการเข้าฌานได้รวดเร็ว
๓. อธิฏฺฐานวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการรักษาไว้มิให้จิตตกลงสู่ภวังค์
๔. วุฏฺฐานวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการออกจากฌานเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ
๕. ปจฺจเวกฺขณวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการพิจารณาทบทวนองค์ฌาน
เอามาฝึกจนสามารถทำสมาธิได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง สามเณรสงกรานต์นั้นทำสมาธิได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง เมื่อทำสมาธิได้ถึง ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ก็มาพิจารณาดูว่า สมาธิที่ได้นี้ยังเป็นสมถะอยู่ ยังเป็นฌานอยู่ ยังไม่ถึงอริยมรรคอริยผล ภายหลังพอมาฝึกใหม่ให้เจริญวิปัสสนาต่อ ผลสุดท้ายก็สามารถผ่านมัคควิถีไปได้ สามารถถึงมรรคถึงผลได้ นี่ท่านทั้งหลาย การเจริญพระพุทธมนต์ มันได้อย่างนี้
สามเณรอีกรูปหนึ่งชื่อ สามเณรพล อยู่บ้านใกล้ๆบ้านอีเติ่ง เวลาสวดมนต์เจริญพระพุทธมนต์อยู่นี้ก็เป็นเหมือนกัน สวดไปๆ เกิดปีติขึ้นมา หลังจากปีติเกิดแล้วก็ดำเนินไปตามวิถี จนถึงฌานชวนวิถี จิตก็ดับเข้าสู่ฌานธรรม ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มันได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ถ้าทำเป็น
หลังจากได้แล้ว ก็มาฝึกให้ชำนาญในการเข้า ในการออก ในการอธิษฐาน ทุกอย่าง ตามหลักวิชาการ แล้วก็มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ทางอำเภอเขื่องใน เวลาเจริญพระพุทธมนต์อยู่นี้ เจริญไปๆ จิตก็ตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิเป็นฌานดังกล่าวแล้วข้างต้น
อาจารย์เจ้าอาวาสขู่เอาเลยว่า ทำไมถึงทำกันได้เร็วนัก แกล้งทำเอาอย่างนั้น แกล้งทำเอาอย่างนี้ ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ เรานี้สวดมนต์มาตั้ง ๒๐ กว่าปียังทำไม่ได้ สามเณรตัวน้อยๆนี้ทำแป๊บเดียวเท่านั้น ทำไมถึงทำได้ หาว่าสามเณรนั้นแกล้งทำ อะไรจิปาถะ ก็ขู่เอา
นี่แหละท่านทั้งหลาย หากเรารู้วิธีการรู้หลักการ แล้วก็อยู่ในกลุ่มของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม มีความคิดเหมือนกัน มีการกระทำเหมือนกัน การพูดเหมือนกัน เมื่อเราทั้งหลายมีการคิดเหมือนกัน การพูดเหมือนกัน การกระทำเหมือนกัน มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้
เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่ามองข้ามปัญหาหรือเรื่องที่เรากระทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อทำถูกวิธีถูกหลักการแล้ว ก็สามารถที่จะทำได้ แม้ครั้งพุทธกาลก็มีหลายๆท่านที่ได้สมาธิ ได้ฌาน หรือได้อริยมรรคอริยผลในเวลาประพฤติปฏิบัติ
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายได้เคยอ่านธรรมบท มงคลทีปนี หรือชาดกต่างๆ เราก็จะรู้ว่า มันได้อย่างนี้ การสวดมนต์ได้อย่างนี้ การเจริญกัมมัฏฐานได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าการทำวัตรสวดมนต์นี้ลำบากลำบนเหลือเกิน เสียเวลาเรียนเหลือเกิน
ขอให้ท่านทั้งหลายจำหลักการ หลักวิชาการที่หลวงพ่อชี้แนะแนวทางให้รู้ให้เข้าใจ และนำไปประพฤติปฏิบัติ เพราะที่หลวงพ่อพูดอย่างนี้ หลวงพ่อได้สอนลูกศิษย์ลูกหามาแล้ว มีทั้งพวกโยมผู้หญิง โยมผู้ชาย มีทั้งแม่ชี มีทั้งปะขาว มีทั้งสามเณร มีทั้งครูบาอาจารย์ ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว ได้เคยสัมผัสเรื่องนี้มาแล้ว
เพราะฉะนั้น เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างที่หลวงพ่อนำมาชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องเหลวไหล หลวงพ่อได้อาศัยประสบการณ์มานานพอสมควร จึงได้นำเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน จากการประพฤติปฏิบัติ มาแนะนำพร่ำสอน หรือมาชี้แจงแสดงไข ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจ เกี่ยวกับการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เหมือนดังที่เราท่านทั้งหลายกระทำอยู่ในขณะนี้ (ว่ามีอานิสงส์อย่างไร ดีเลิศประเสริฐเพียงไหน)
เอาละ หลวงพ่อได้เอาสิ่งละอันพันละน้อยมาเล่าสู่ฟังก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.