อันตรายของวิปัสสนา ๑๒ ประการ

อันตรายของวิปัสสนา ๑๒ ประการ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง อันตรายที่เกิดขึ้นขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนาไม่ให้ได้ผล มาบรรยายเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ๑๒ ประการ

          อันตรายของวิปัสสนา ๑๒ ประการนั้นคือ

          ๑.     กมฺมารามตา[1] ทำการงานไม่มีสติ คำว่า ทำงานไม่มีสติ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำงานใช้กำลังทั่วไป หมายเอาตั้งแต่เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ดี จะมองซ้ายแลขวา เดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังก็ดี ตลอดจนนุ่งสบง ห่มจีวร พาดสังฆาฏิ เป็นต้น เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าทำงานไม่มีสติ

          เมื่อเราไม่กำหนดอิริยาบถ หรือทำงานทุกสิ่งทุกประการก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล แม้แต่การปัดกวาดห้องนอนก็ดี กุฏิวิหารอันเป็นที่อยู่ที่อาศัย ตลอดถึงบริเวณวัดก็ดี เราไม่มีสติ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน

          การทำความสะอาด จะเป็นภายนอกก็ตาม ถ้าเรารู้จักนำมาใช้เป็นคติเตือนใจ คือนอกจากมีสติทันปัจจุบันแล้ว ก็พิจารณาควบคู่กันไป โดยใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรม สอดส่องธรรมในขณะนั้นว่า ร่างกายของเรานี้ หากว่าอาบน้ำชำระฟอกสบู่แล้ว ก็หมดจากสภาวะความสกปรก ฉันใด หากว่าใจของเราสามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงลงไปได้แล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความผ่องใสมากกว่านี้

          หรือเมื่อทำความสะอาดบริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี เราก็พิจารณาควบคู่กันไป เช่นว่า เครื่องนุ่งห่มของเรา เมื่อซักฟอกแล้วก็สะอาด มองดูสวยสดงดงามน่าดู เอามานุ่งมาห่มก็ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนา เป็นต้น หากว่าใจของเราสามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ให้หมดไปแล้ว ยิ่งจะได้รับความสุขความสบาย ความชื่นชมมากกว่านี้

          เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งให้เกิดความเพียรอุตสาหะในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหตุนั้น ในการทำงาน นอกจากจะกำหนดอยู่แล้ว ขอให้พิจารณาควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจของเรา หรือกระตุ้นการปฏิบัติของเราให้ได้ผลดีขึ้น

          ๒.    นิทฺทารามตา มัวนอน คือนักปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ท่านกำหนดไว้ วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เหตุไรนอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว ก็เพราะว่าหลับอยู่ในตัว บางครั้งเรานั่งกัมมัฏฐานไป จิตตกภวังค์เป็นบางครั้งบางคราว จิตตกภวังค์ไปวับเดียวเท่านั้น ความง่วงก็หายไป บางทีเดินจงกรมอยู่ จิตตกภวังค์วับเดียวเท่านั้น อิ่มอยู่ในตัว

          ท่านทั้งหลายลองนึกดู เราปฏิบัติในตอนบ่ายนี้ เราเดินจงกรมมาแล้วนั่งสมาธิ ชั่วโมงแรกจะรู้สึกว่าเหมือนได้สมาธิดี สงบดี พอได้เวลาแล้วลุกขึ้นไปเดินจงกรมครบกำหนดแล้วมานั่ง ชั่วโมงที่สองนี้จะไม่ค่อยได้ดี จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ค่อยขาดความรู้สึก อาการครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ไม่มี เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าจิตของเราอิ่มมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว เมื่อจิตอิ่มแล้วก็ไม่สามารถจะทำให้หมดความรู้สึกหรือจะเข้าสมาธิไปได้

          เหตุนั้น นักปฏิบัติธรรมนี้ ถ้าธรรมเกิดจริงๆ บางทีนอน ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็พอแล้ว และสิ่งที่ควรสังวรที่สุดก็คือไม่ควรจำวัดกลางวัน ถ้าหากจำวัดกลางวันแล้ว การปฏิบัติของเราจะไม่ได้ผลเลย เพราะว่าจิตมันอิ่มอยู่ตลอดเวลา และการจำวัดกลางวันนั้นมีโทษหลายอย่าง โดยเฉพาะ ทำให้จิตไม่เบิกบาน ไม่แช่มชื่น ทำให้หงุดหงิดโกรธง่าย เหตุนั้น ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่เจ็บไม่ป่วยแล้ว อย่าจำวัดกลางวัน

          ๓.     ภสฺสารามตา มัวพูดคุย หมายความว่า เลิกจากชั่วโมงปฏิบัติแล้วก็คุยกัน ภาคค่ำก็คุยกันจนถึงเวลาทำวัตร ทำวัตรเสร็จก็คุยกันอีก กว่าจะลุกไปปฏิบัติก็เกินเวลาไปหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมงๆ

          พักการปฏิบัติก็เดินแวะเข้าไปหากัน เดินเข้าไปคุยกัน การพูดคุยบางทีก็เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติ บางทีก็คุยไปออกนอกเรื่องของพระ นอกเรื่องของการปฏิบัติ หรือคุยเรื่องของชาวบ้าน ผลสุดท้ายการปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล หากว่าเราไม่ได้กำหนด สติของเราก็ขาดไปสมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด

          ๔.     สงฺคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ การคลุกคลีด้วยหมู่คณะนี้ก็เป็นอันตรายต่อการประพฤติปฏิบัติ

          ดังนั้น การปฏิบัติอยู่ในวัดของเรา หลวงพ่อก็เห็นใจ นึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมหนอ เราจึงมาตั้งหลักลงในที่นี้ เพราะว่าในที่นี้พระเณรอยู่กันเป็นจำนวนมาก เสียงก็ไม่ค่อยสงบ นอกจากจะไม่สงบภายในวัดแล้ว ภายนอกก็ไม่สงบเหมือนกัน เมื่อก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ค่อยยังชั่ว แต่เดี๋ยวนี้มีไฟฟ้าใช้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าเสียงอะไรต่อเสียงอะไร เสียงรถก็เกลื่อนกล่นไปหมด เป็นเหตุให้ไม่สบายใจ เห็นใจท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

          แต่ก็มีวิธีที่จะเอาชนะได้ โดยพิจารณาว่า ช่างมันเถอะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วก็มีภาระหน้าที่ของตน พระก็ทำหน้าที่ของพระ สามเณรก็ทำหน้าที่ของสามเณร นักศึกษาก็ทำหน้าที่ของนักศึกษา โยมชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของโยมชาวบ้าน มีเสียงอะไรเกิดขึ้นมา เราเอาเสียงนั้นแหละมากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ร่ำไป จนกว่าจะสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้

          ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เสียงนี้ก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานเหมือนกัน ผู้ที่กำหนดเสียงอย่างเดียวก็สามารถบรรลุสมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผลได้ ถ้าปฏิบัติให้ถูกแล้ว การกำหนดเสียงนี้ได้สมาธิเร็วที่สุด คือเวลากำหนดภาวนา หากว่ามีเสียงบรรยายธรรมะควบคู่ไปด้วย หรือเปิดเทปธรรมะเบาๆ แล้วก็นั่งสมาธิ กำหนดไปๆ ในที่สุดก็สามารถเข้าสมาธิได้

          เหมือนกับแม่ หรือพี่เลี้ยง หรือพ่อที่กล่อมลูกของตน กล่อมไปกล่อมมาเด็กก็หลับ ฉันใด เมื่อเรากำหนดเสียงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็เข้าสมาธิได้ นี้เรารู้จักใช้ให้เป็นก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็น มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีอะไรเกิดขึ้นก็มีความรำคาญในจิตในใจ มีแต่อยากไปอยู่ภูเขาลำเนาไพร อะไรทำนองนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

          ๕.     อคุตฺตทฺวารตา ไม่สำรวมทวาร ๖ คือไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจ ปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้น ในเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็ทำให้เกิดความโลภ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เกิดโมหะ เป็นต้น ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ ไม่พอใจ มีความคับแค้นใจ แห้งผากใจ เป็นต้น

          เหตุนั้น การสำรวมทวารคืออินทรีย์ทั้ง ๖ นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน ไม่สามารถจะได้สมาบัติ ไม่สามารถจะเข้าฌานได้ ตัวการสำคัญคือขาดการสำรวมระวังในทวารทั้ง ๖ นี้ ปล่อยให้เกิดความยินดียินร้ายอยู่ตลอด ในขณะที่กระทบอารมณ์ เช่น เวลาได้ยินเสียงอย่างนี้ จิตของเราก็ออกไปแล้ว เวลาตาเห็นรูปก็เหมือนกัน จิตก็ออกไปหารูปแล้ว เวลาได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ได้ธรรมารมณ์ ก็จะออกไปหาอารมณ์เหล่านั้น วิ่งไปหาอารมณ์นั้นบ้าง วิ่งไปหาอารมณ์นี้บ้าง ไม่มีเวลาอยู่ปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถให้สมาธิเกิดขึ้นได้

          หรือผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เจริญขึ้นได้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป การเจริญวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นก็ขอให้สำรวมระวังให้ดี เวลากระทบอารมณ์ให้ตั้งสติไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ให้กำหนดให้ดี

          เมื่อเรากำหนดนั้น จิตก็วิ่งออกไปไม่ได้ ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ สมาธิก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว วิปัสสนาก็จะเกิดตามมา เมื่อวิปัสสนาเกิดถึงที่แล้ว เราก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลสมกับความตั้งใจ

          ๖.     อโภชเนมตฺตญฺญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหาร อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเป็นอาหารที่แสลงต่อโรคภัยไข้เจ็บแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลเลย

          ทีนี้อาหารบางอย่างไม่แสลงต่อโรค แต่เป็นอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่น เปรี้ยวเกินไป เค็มเกินไป เป็นต้น ก็ทำให้จิตใจไม่สงบ อาหารบางอย่าง เช่น พวกนมเนย กระเทียม ของหวานต่างๆ อย่างนี้ก็ทำให้เกิดราคะ เมื่อเกิดราคะ เวลาปฏิบัติก็ใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ผ่านมา หรือใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ

          อาหารบางชนิดบริโภคเข้าไปแล้ว ก็เกิดถีนมิทธะ เกิดโมหะ คือเกิดความง่วงเหงาหาวนอน โดยเฉพาะพวกของหวาน กะทิข้นๆ พวกของหวานปรุงด้วยนมเนย ก็เป็นเหตุให้ความง่วงเกิดได้เหมือนกัน จึงขอให้สำรวมระวังเรื่องอาหารนี้ อะไรบริโภคเข้าไปแล้วทำให้จิตใจ ทำให้ร่างกายสบาย อาหารประเภทใดทำให้ร่างกาย ทำให้จิตใจไม่สบาย ก็ขอให้ใคร่ครวญพิจารณา

          อาหารประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอให้บริโภคไป อาหารประเภทไหนไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ ก็งดเสีย อย่างที่ฉันนมฉันโอวัลตินตอนค่ำนี้ หลวงพ่อไม่ส่งเสริม เพราะเป็นบ่อเกิดของราคะ ก็พวกนม โอวัลติน ไมโล ไข่ดาว อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เสียศีลได้เหมือนกัน

          เมื่อก่อนนั้นอยู่ที่นี้หลวงพ่อห้ามฉันเด็ดขาด ตั้งแต่เวลาเที่ยงแล้วไป เพราะเห็นว่าพระเณรเสียศีลเพราะพวกนี้มามากต่อมาก และบางแห่งที่เขาเคร่งครัดเขาก็ไม่ฉันประเภทนี้ ต่อมาไม่รู้ว่าลูกศิษย์ลูกหามาจากไหน จากทิศใต้ ทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตก มากๆ เข้าก็มีพระหลวงปู่หลวงตาผู้เฒ่า ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แก่แล้วจะไปห้ามเด็ดขาดก็ไม่ได้ เลยอนุญาตเฉพาะพระหลวงตาหลวงปู่ ร่างกายมันต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้จะหาอะไรมาเยียวยา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา

          เมื่ออนุญาตให้หลวงปู่หลวงตา ผลสุดท้ายพระเล็กเณรน้อยก็เอากันไป หลวงพ่อก็ได้แต่ปลง ช่างหัวมันเถอะ ใครอยากตกนรกก็ตกไป ถ้าบริโภคเข้าไปแล้วกำหนดไม่อยู่ บังคับไม่อยู่ ก็ปล่อยให้ไปนรกกัน ดีเหมือนกัน ยมบาลจะได้มีงานทำ ปลงธรรมสังเวชเอา ปล่อยเลยตามเลย ไม่ว่ากระไรจนถึงทุกวันนี้

          เหตุนั้น ท่านทั้งหลายก็ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมันก็แล้วกัน เห็นว่าบริโภคเข้าไปแล้วเป็นการสนับสนุนส่งเสริมกามราคะก็งดเสีย เห็นว่าร่างกายมันจะสะบักสะบอมเหลือเกิน เพราะได้รับความลำบากจากการเจริญกัมมัฏฐาน มันอ่อนปวกเปียก อ่อนเพลียเหลือเกิน จะดื่มจะฉันก็ให้พิจารณาอยู่ในดุลยพินิจของท่านทั้งหลายเอง ให้ถือภาษิตที่ว่า
นิสมฺม
กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญแล้วจึงบริโภค จึงฉันดีกว่า

          ๗.    จิตฺตํ วิมุตฺตํ ปจฺจเวกฺขติ ไม่พิจารณาจิต คือไม่ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต ว่าขณะนี้จิตของเราเป็นอย่างไร จิตมีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม มีราคะตัณหา อุปาทานไหม เราก็ไม่รู้ จิตของเราเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล เราก็ไม่รู้ ไม่ได้พิจารณาติดตามดู

มิใช่ว่าเราจะกำหนดภาวนาเอาอย่างเดียว เราต้องรู้ด้วยว่า ในขณะนั้นๆ จิตใจของเราเป็นอย่างไร มีกิเลสหรืออกุศลเกิดร่วมด้วยไหม หรือมีแต่บุญแต่กุศล หากเราไม่พิจารณาจิต ไม่ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

          ๘.    มิจฺฉาทิฏฺฐิ ความเห็นผิด ความเห็นนี้สำคัญ ถ้าเราเห็นผิดแล้ว การประพฤติปฏิบัติทุกอย่างก็พลอยผิดไปด้วย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปลาส เช่น  จิตตวิปลาส คิดผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด

          เห็นผิดว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะคือเป็นของสวยของงาม เป็นต้น ตลอดถึงมีความเห็นผิดว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี มรรคผล พระนิพพานไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี

          เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ก็เป็นอันว่าปิดกั้นทุกอย่าง การทำความดีทุกอย่างไม่อาจที่จะสำเร็จผลได้ตามต้องการ เพราะการงานทุกสิ่งทั้งทางโลกและทางธรรม ความเห็นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเห็นถูกก็เป็นเหตุให้ทำถูก พูดถูก คิดถูก ถ้าเห็นผิดก็เป็นเหตุให้ทำผิด พูดผิด คิดผิด ผลที่เกิดก็เป็นไปตามความคิด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วสงสัยก็ให้ถามอาจารย์ผู้สอบอารมณ์ หรือครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้ชิด

          ๙.    อนนฺตริยกมฺมํ[2] อนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุด มีอยู่ ๕ ประการคือ

                 ๑)    มาตุฆาต          ฆ่ามารดา

                 ๒)    ปิตุฆาต           ฆ่าบิดา

                 ๓)    อรหันตฆาต    ฆ่าพระอรหันต์

                 ๔)    โลหิตุปบาท      ทำลายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป

                 ๕)    สังฆเภท          ยังสงฆ์ให้แตกกัน

          ผู้ที่ทำอนันตริยกรรมแล้ว แม้ว่าเมื่อก่อนจะทำบุญทำกุศล เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ได้สมาบัติ ๘ ได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม ถ้าว่ามาทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นอันหมดเลย ฌานก็เสื่อม อภิญญาก็เสื่อม และอนันตริยกรรม ๕ นี้ ก็เริ่มให้ผลตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไป

          สมมติว่า เมื่อก่อนนี้เราเข้าสมาธิได้ แต่ได้ไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็เข้าสมาธิไม่ได้เลย เมื่อก่อนเรามีอภิญญาจิต พอไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า อภิญญาจิตก็ไม่เกิด เพราะอนันตริยกรรมต้องให้ผลก่อน เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลแล้ว กรรมอื่นจึงจะให้ผล

          ถ้าหากว่าทำยังไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า พ่อแม่ของเรานี้ เราไม่ได้ฆ่าท่าน แต่ทำให้ท่านเจ็บใจ บางทีถึงหลั่งน้ำตาก็มี หากว่าเป็นเช่นนี้ เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติได้เลย ในขณะที่จิตของเราจะสงบหรือกำลังจะเข้าสู่มรรควิถีอยู่นั้น กรรมประเภทนี้ก็จะเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตทันที จิตก็จะพรากจากสมาธิ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

          เราจะทำอย่างไรจึงจะให้กรรมนั้นหายไป หากว่าพ่อแม่ยังอยู่ เราก็ขอขมาโทษท่าน หากว่าอยู่ต่างสถานที่กันไกลกัน ในพรรษาด้วย เราก็เขียนหนังสือไปขอโทษ ขอขมาท่านอย่างนี้ก็ได้ เพียงแค่ท่านรับทราบเท่านั้น กรรมนั้นก็หายไป แต่ถ้าท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว เราก็ต้องไปขอขมาที่หลุมฝังศพ ที่อัฐิของท่าน

          ถ้าหลุมฝังศพหรืออัฐิไม่มี หรือว่าไม่รู้อยู่ไหน หาไม่เจอเสียแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็นิมนต์พระสงฆ์สัก ๔ รูป ๕ รูป ให้เป็นสักขีพยานแล้วขอขมาโทษท่าน ต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าคณะสงฆ์ หมายความว่า ขอขมาโทษลับหลังท่าน เมื่อทำดังนี้แล้วก็สามารถปฏิบัติผ่านพ้นไปได้

          แต่ถ้าปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน ยิ่งละเอียดกว่านี้ เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ได้ตั้งอกตั้งใจทำให้ท่านเจ็บใจ หรือไม่สบายใจ แต่คำพูดนั้นไปทำให้ท่านเจ็บใจไม่สบายใจเข้า หรือทำให้ท่านไม่พอใจ เช่น คำพูดกระแนะกระแหน เวลามาเจริญสมถกัมมัฏฐาน เช่น เราเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่อาจที่จะเกิดอุคคหนิมิตได้เลย

          บางทีเรานั่งอยู่กับพ่อหรือแม่ของเรา พูดไปพูดมา พูดทีเล่นทีจริง หรือพูดหยอกล้อ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ท่านเจ็บใจหรือไม่พอใจ แต่คำพูดไปกระทบกระเทือนจิตใจท่าน ทำให้ท่านไม่พอใจหรือไม่สบายใจขึ้นมา เวลาเราไปเจริญสมถกัมมัฏฐาน ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตเลย หรือเราจะทำกับครูบาอาจารย์ก็เป็นทำนองเดียวกัน

          ๑๐วิปาโก คำว่า วิบาก หมายถึง ผลของกรรม หมายความว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ เราตั้งใจจะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา แต่ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไรๆ ความโลภก็ยิ่งเกิดขึ้น ความโกรธยิ่งเกิดขึ้น ความหลงก็ยิ่งเกิดขึ้นมา

          เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติจะไม่ได้ผลเลย เหตุนั้น เมื่อผลของกรรมคือความโลภ โกรธ หลง ปรากฏเกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ขอให้รีบกำหนดให้ทันปัจจุบันในทันที แล้วมันจะได้สงบระงับไป การปฏิบัติของเราจะได้ผลเร็วขึ้น

          ๑๑อริยุปวาโท[3] กล่าวร้ายพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า หมายความว่า เราไปด่าหรือใส่ร้ายพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้าเข้า

            ใครเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า ก็พวกเราทั้งหลายนี้แหละ ทั้งพระสงฆ์ ทั้งสามเณร ปะขาว แม่ชี เรียกว่า ประพฤติปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า คือประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะออกจากกองทุกข์กองกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเราไปกล่าวร้ายใส่ร้ายท่านด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี ด้วยผรุสวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำให้ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้เลย

          ดังตัวอย่างครั้งพุทธกาล มีพระหลวงตา กับ พระหนุ่ม อยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน วันหนึ่ง ไปบิณฑบาตร่วมกัน พระหลวงตาปวดท้องอยู่ เมื่อโยมเอาข้าวยาคูกำลังร้อนๆ มาใส่บาตร เมื่อโยมไปแล้ว หลวงตาคิดว่า ขณะนี้เรากำลังปวดท้องอยู่พอดี ถ้าเราฉันข้าวยาคูกำลังร้อนๆ นี้ คงจะทำให้อาการปวดท้องหายไป เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วก็มองซ้ายแลขวา หาที่นั่ง เห็นขอนไม้อันหนึ่งแล้วก็ไปนั่ง ล้วงเอาถ้วยข้าวยาคูในบาตรมาซดเอาๆ

          พระหนุ่มที่เดินตามหลังมาก็เกิดความละอาย เพราะเป็นคนหนุ่ม มีความละอายเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว พอเดินไปถึงก็ตวาดว่า หลวงตา ทำไม่ถึงตะกละอย่างนี้ กลับถึงวัดเสียก่อนจึงค่อยฉันไม่ได้หรือ ว่าเอาๆ พระหลวงตาท่านก็เฉยไม่ว่าไร ฉันของท่านไป

          พอกลับถึงวัด พระหลวงตาก็ถามว่า คุณ ที่คุณปฏิบัติกัมมัฏฐานมา คุณได้มรรคผลชั้นไหน ผมได้โสดาบันขอรับ เออ ถ้าอย่างนั้นคุณไม่ต้องปฏิบัติต่อไปอีกดอก พระหนุ่มได้ฟังก็ได้สติขึ้น พูดว่า หลวงตาโกรธผมหรือ ท่านก็พูดว่า ผมไม่โกรธหรอก คือหลวงตาท่านนั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

          เมื่อภิกษุหนุ่มนั้นไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่สามารถยังสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ ผลสุดท้ายต้องขอขมาโทษหลวงตา หลังจากนั้นจึงสามารถปฏิบัติให้ผ่านพ้นไปได้ นี่แหละ อริยุปวาท ก็เป็นเครื่องขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน

          ๑๒ปรารถนาพุทธภูมิ หมายความว่า ผู้ใดปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวธรรมจะเกิดขึ้นตามลำดับ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ ก็หมดแล้ว

          จะปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ต้องเกิดอีกหลายกัปหลายกัลป์ จนกว่าจะได้บำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมแล้วนั้นแหละ จึงจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ไม่สามารถบรรลุเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ไม่สามารถบรรลุเป็นอรหันต์สาวก เพราะว่าได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

          แต่ว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ก็แก้ได้เหมือนกัน หากเราคิดว่า เกิดมาภพนี้ชาตินี้ การบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานก็ลำบากลำบนถึงขนาดนี้ เพียงชาติเดียวเราก็เห็นแล้วว่าเป็นทุกข์เหลือทนแล้ว หากว่าเราจะเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร กว่าจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยม ไม่รู้ว่าจะได้รับทุกข์แสนสาหัสขนาดไหน

          เรานึกถึงความทุกข์ที่จะมีแก่เราในการที่จะบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีนี้ เห็นว่าลำบากเหลือเกิน เราก็แก้คำอธิษฐานใหม่ โดยที่เราเข้าไปในโบสถ์กราบพระประธาน ตั้ง สัคเค แล้วอธิษฐานใหม่ว่า

          แต่ก่อนโน้น ข้าพเจ้าได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า แต่บัดนี้ ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ข้าพเจ้าจึงขอเปลี่ยนคำอธิษฐาน

          ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอเลิกความปรารถนาพุทธภูมิ ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผล จนถึงเป็นพระอรหันตสาวกก็พอ ขอทวยเทพนิกรเจ้าเป็นสักขีพยานด้วย

          เมื่อเราเปลี่ยนคำอธิษฐานในจิตในใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ทั้งนี้หมายถึงผู้ที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงพยากรณ์ไว้ คือยังไม่ได้รับคำพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมา เราแก้ได้

          แต่ถ้าได้รับพุทธพยากรณ์มาแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ได้ เพราะวาจาของพระพุทธเจ้าเป็นวาจาสิทธิ์ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนคำที่พระองค์ตรัสไว้แล้วได้ แต่เราก็มองดูง่ายว่าได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว หรือยังไม่ได้รับคำพยากรณ์ เราดูที่จิตใจ

          ถ้าจิตใจยังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่มั่นคง ก็แสดงว่ายังไม่ได้รับคำพยากรณ์ แต่ถ้าจิตใจไม่คลอนแคลน มั่นคง มีทิฏฐิมานะกล้าจนไม่ยอมฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้อื่น ถือว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้สูงกว่าพระธรรมดา เพราะว่าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว  ถือว่ามีธรรมสูงกว่าพระเณรธรรมดา และก็มีจิตใจที่ไม่คิดจะเปลี่ยนคำอธิษฐานเลย แสดงว่าได้รับคำพยากรณ์มาแล้ว เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังเกตเอา

         ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะในเรื่อง อันตรายของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๑๒ ประการ มานี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


[1] (สุตฺต องฺ. ปญฺจกนิปาตา  ๒๒/๑๘๙-๑๕๐/๑๙๓-๔)

 (สุตฺต องฺ. ปญฺจกนิปาตา  ๒๒/๓๖๔/๔๘๙)

 (วิสุทธิมคฺค ทุติโย ภาโค หน้า ๒๗๔)