ชุมทางพระกัมมัฏฐาน

ชุมทางพระกัมมัฏฐาน

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ชุมทางกัมมัฏฐาน มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์และท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การงานทั้งทางคดีโลกทั้งทางคดีธรรม จะดำเนินไปด้วยวิธีไหนอย่างไรนั้น ก็ต้องมีการประชุมกัน มีการรวมกัน มีการเสนอข้อคิดเห็นกัน เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด ในทางปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ต้องมีชุมทางเหมือนกัน คือหมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องผ่านชุมทางกัมมัฏฐาน แล้วก็ดำเนินไปในทางที่ถูกที่ชอบ จึงจะถึงจุดหมายปลายทาง

          อุปมาเหมือนกันกับเราเดินทางรถไฟอย่างนี้ รถไฟจากวารินฯ (อำเภอวารินชำราบ) ก็ไปรวมกันที่ชุมทางจังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็จะแยกกัน ใครจะไปสายไหน สายใต้ สายตะวันออก ก็ไปกัน

          หรือว่าเราจะไปรถยนต์ก็เหมือนกัน เราจะไปทางไหน เช่นว่า ไปกรุงเทพฯ ก็ไปรวมกันที่ตลาดหมอชิต หลังจากนั้นใครจะไปสายไหน สายเหนือ ใต้ ตะวันออก ก็ไปกันตามความประสงค์ ผู้ที่จะมาอีสานก็มารถขบวนหนึ่ง ผู้ที่จะไปภาคใต้ก็ไปรถอีกขบวนหนึ่ง ข้อนี้ฉันใด

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน  จะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม ก็ต้องเดินไปตามลำดับ ให้ถึงชุมทางกัมมัฏฐานเสียก่อน เมื่อไปถึงชุมทางแล้ว ใครสร้างบุญวาสนาบารมีไว้อย่างไรแล้ว ก็ต้องไปตามอำนาจบุญวาสนาของตน บางท่านอาจจะไปทางสมถะ บางท่านอาจจะไปทางวิปัสสนา

          ชุมทางกัมมัฏฐานนั้น มีลักษณะดังนี้

          บางทีเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น ในขณะที่หลับตาภาวนาอยู่นั้น อาจจะมีแสงสว่างมาปรากฏ เท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าแสงไฟฉาย เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ บางทีนั่งไปปรากฏเหมือนคนเอาไฟฉายมาส่องหน้า บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นแสงของตะเกียงเจ้าพายุ บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นแสงไฟฟ้า ไฟนีออน บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก็มี

          ในขณะที่นั่งหลับตาภาวนาอยู่ บางครั้งสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเองก็มี บางทีเราเดินจงกรมตอนค่ำๆ ทั้งๆ ที่ดวงตะวันอยู่ทิศตะวันตก แต่เงาของเราก็ไปทางทิศตะวันตก แทนที่จะไปทางทิศตะวันออก หรือบางทีตอนเช้าๆ เราฉันเช้าแล้วไปเดินจงกรม ดวงอาทิตย์อยู่ทางทิศตะวันออก เวลาเราเดิน แทนที่เงาของเราจะไปอยู่ทางทิศตะวันตก กลับอยู่ทางทิศตะวันออก นี้ด้วยอำนาจแสงสว่างเกิดขึ้นทำให้เข้าใจผิด

          บางทีสว่างในห้องเหมือนกันกับไม่มีฝากั้น นั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐานก็สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ มองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนกับห้องไม่มีฝากั้น ไม่มีกระดานปิด บางครั้งสว่างจนเห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏในที่ใกล้ เช่น นั่งไป เห็นพระธาตุพนม เห็นพระปฐมเจดีย์ เห็นกรุงเทพฯ เห็นอุบลฯ เห็นนครราชสีมา เห็นอเมริกา เป็นต้น คือเห็นสถานที่ต่างๆ นั้นมาปรากฏเฉพาะหน้า

          บางครั้งสว่างจนเห็นประตูเปิดออก หน้าต่างเปิดออก เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ จนต้องลุกไปปิด แต่แล้วประตูหน้าต่างก็ยังปิดอยู่ตามเดิมไม่ได้เปิด บางครั้งสว่างจนสามารถเห็นสวนดอกไม้ มีกลิ่นมีสี สวยสดงดงาม ปรากฏอยู่ในที่ใกล้ๆ บางทีสว่างจนเห็นทะเลตั้ง ๑ โยชน์ พร้อมทั้งสัตว์น้ำทั้งหลายที่แหวกว่ายอยู่

          บางครั้งมีแสงสว่างพุ่งออกจากร่างกายของเรา บางทีปรากฏว่ามีแสงสว่างพุ่งออกจากดวงตาทั้งสองข้าง ออกจากศีรษะบ้าง ออกจากหัวใจบ้าง ออกจากมือบ้าง ออกจากร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งบ้าง พุ่งออกไปภายนอก แต่บางครั้งก็ปรากฏเห็นแสงสว่างพุ่งจากภายนอกมาหาตัวเรา บางครั้งสว่างมากจนสามารถน้อมนึกระลึกแสงสว่างนั้นให้เป็นรูปต่างๆ เป็นรูปช้าง รูปม้า รูปคน ให้เป็นรูปอะไรๆ ก็ได้ นี้ก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการเจริญพระกัมมัฏฐานจะเกิดขึ้น

          บางที ขณะที่นั่งหลับตาภาวนาอยู่นั้น ปรากฏเห็นสีขาวๆ คล้ายๆ ว่า เราจะมองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ในขณะนั้น แต่ว่ามองไม่เห็น บางครั้งทำให้เยือกเย็น ทำให้ขนลุกที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง บางทีทำให้เกิดอาการมึนๆ ตึงๆ หนักๆ ตามร่างกาย จะเดินจงกรมก็คล้ายๆ จะยกขาไม่ขึ้น บางครั้งคล้ายจะเป็นโรคเหน็บชา แต่บางทีก็เกิดน้ำตาไหลออกมา บางครั้งหนังหัวพองสยองเกล้า บางท่านอาจเข้าใจว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน

          บางครั้งตัวชา ตัวพองขึ้น คือปรากฏว่าตัวของเรานี้ใหญ่ออกๆ บางทีจนเต็มกุฏิก็มี แต่บางทีปรากฏว่าตัวของเราเล็กเข้าไปๆๆ เท่าเด็กน้อยก็มี บางทีปรากฏเห็นแขนของเรายาวออกไป บางครั้งปรากฏว่าฟันของเรายาวออกไปๆ บางครั้งในขณะที่เรานั่งหลับตาอยู่ ปรากฏเห็นสีแดงๆ ด่างๆ คล้ายๆ กับพระอาทิตย์แรกอุทัย คล้ายกับสีจีวรของพระภิกษุสามเณร

          แต่บางครั้งจะเกิดในจักขุทวารเป็นประกายเหมือนกับสายฟ้าแลบ คือนั่งไปคล้ายกับมีฟ้าแลบอยู่เรื่อย นั่งอยู่ในห้องก็ต้องลุกออกมาดูว่าฝนจะตกหรืออย่างไรก็มี แต่บางทีไม่เป็นเช่นนี้ กลับมีประกายเหมือนดังตีเหล็กไฟ เหมือนขีดไฟแช็ค เป็นประกายออกมาเป็นแสงออกมา

          บางทีมีอาการแสบทั่วกาย บางทีกายของเราก็แข็งขึ้นมา เหมือนกับเป็นโรคกระดูกแข็งหรือสันหลังแข็ง แขนแข็งมือแข็งขึ้นมา จะเดินไปก็ลำบาก จะก้มก็ลำบาก เราก็คิดว่าโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน บางทีเป็นดั่งแมลงเม่ามาจับตัวของเราแล้วก็ไต่ไปตามตนตามตัว

          บางครั้งก็มีอาการร้อนตามร่างกาย ทั้งที่ฝนตกพร่ำๆ อยู่ก็ร้อนอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าเราเป็นไข้ บางครั้งหัวใจสั่นๆ ไหวๆ คล้ายกับว่าเป็นโรคหัวใจอ่อน บางคนก็คิดว่าจะเป็นบ้า ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป บางครั้งก็ขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก บางทีมีอาการคันยุบยิบตามหน้าตาเหมือนมดไต่ ลูบข้างนั้นไต่มาข้างนี้ ลูบที่หน้าไต่ขึ้นไปบนศีรษะก็มี

          บางครั้งเป็นดังปลาตอด เป็นดังเส้นเอ็นชักหรือกระตุกขึ้นมา บางครั้งมีอาการเหมือนกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน บางครั้งมีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย ถ้าใครเคยเทน้ำใส่ไฟหรือเทใส่ดุ้นไฟที่เรายกมาแล้ว เวลาเทน้ำลงไปมันจะเกิดอาการซู่ขึ้น อันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย ร้อนขึ้นมา

          บางครั้งเหมือนกันกับปลาผุดขึ้นในเวลาเราโยนเศษอาหารลงไป เราจะเห็นได้ว่าเวลาเราเอาอาหารให้ปลากิน ปลาอยู่ในสระในน้ำค่อยฟูขึ้น พอดีพ้นน้ำแล้วมันก็จมลงไป อาการเช่นนี้ก็เช่นเดียวกัน คล้ายกับว่ามีอะไรที่มีตัวตนอยู่ในท้องของเรา หรืออยู่ในหน้าอกของเรา ฟูขึ้นมาผิดปกติแล้วก็จมลงไป อันนี้เป็นในผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงๆ เป็นส่วนมาก

          บางทีทำกัมมัฏฐานไป ทำให้เกิดอาการตัวไหวตัวเอนอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ทำให้ตัวเอนไปข้างซ้าย บางทีก็เอนไปข้างขวา หรือเอนไปข้างหน้าข้างหลัง บางทีตัวของเรานี้ก็โยกไปมา บางครั้งมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า บางทีเรานั่งอยู่ดีๆ เหมือนมีคนมาพูดกับเรา เราก็พยักหน้าบ้าง สั่นศีรษะบ้าง บางครั้งมีอาการสั่นๆ บางคนก็สั่นมาก นั่งอยู่บนเตียงก็คล้ายกับเตียงจะคว่ำ นั่งอยู่บนพื้นดินก็สั่นๆ นั่ง ๓๐ นาทีสั่นทั้ง ๓๐ นาทีก็มี นั่ง ๑ ชั่วโมง ก็สั่นทั้งชั่วโมงก็มี เหมือนไข้จับสั่น

          บางทีทำให้คล้ายจะอาเจียน บางทีอาเจียนออกมาจริงๆ ก็มี อันนี้เห็นนักปฏิบัติธรรมไปขอยาบ่อยว่า ขอยาแก้อาเจียน ที่จริงมันเป็นลักษณะของสภาวธรรมต่างหาก เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้เกิดอาการอยากจะอาเจียน ถ้าอดไม่ได้หรือกำหนดไม่ได้ก็อาเจียนออกมาจริงๆ ถ้าว่าไม่ทานยาเราก็กำหนดไป ผลสุดท้ายก็จะหายไปเอง ทีนี้บางครั้งเป็นดุจระลอกซัด คือเราอยู่ในน้ำแล้วคลื่นซัดมาถูกตัวเรา นี้ก็เป็นแบบเดียวกัน บางทีก็มีอาการสั่นระรัวๆ เหมือนกับไม้ที่ปักไว้ในน้ำไหล เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่นั้น บางทีปรากฏในจักขุทวารเป็นสีเหลืองอ่อน

          บางทีมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว มีอาการคล้ายจะเป็นไข้ บางคนต้องไปขอยาแก้ไข้ก็มี บางทีมีอาการวูบวาบมาจากข้างล่าง มาจากข้างบน บางท่านเข้าใจว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน บางทีเหมือนกับเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล บางทีมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก บางครั้งได้ยินเสียงเหมือนใครมากระซิบ เช่น ตอนเช้าดึกๆ ก็มีคนมากระซิบ มาปลุกให้ลุกขึ้นทำความเพียร ลุกขึ้นเดินจงกรม

          บางทีก็เหมือนกับได้ยินเสียงพวกเปรตร้องว่า ช่วยด้วยๆ อย่างนี้ก็มี บางทีเหมือนกันกับเสียงภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน บางครั้งเหมือนกับได้ยินเสียงทำวัตรสวดมนต์ บางทีก็ได้ยินเสียงเทศน์เสียงบรรยายธรรม เรื่องเสียงนี้ ถ้าใครสนใจเสียงของอะไรก็จะได้ยินเสียงนั้นทันที

          บางทีทำให้กายของเราสูงขึ้นตามลำดับ เรานั่งอยู่ปรากฏเหมือนกายของเราสูงขึ้นไปครึ่งฟ้า สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ ได้ บางทีตัวของเราเบาเหมือนกับไม่มีน้ำหนัก บางทีเบาจนลอยขึ้น ๑ ศอกบ้างก็มี บางทีนั่งอยู่บนพื้น ลอยขึ้นไปนั่งอยู่บนกุฏิก็มี บางทีนั่งอยู่ในเรือนตัวเบาลอยขึ้นไปค้างบนขื่อเรือนก็มี บางทีก็ทำให้เกิดอาการลงท้องเป็นบิดจนเข้าโรงพยาบาลก็มี หมายความว่า อาการที่ไม่น่าจะเป็นก็เป็นไปได้ คือตนเองจะเข้าใจว่าเจ็บท้องจริงๆ ท้องเดินจริงๆ บางทีเลือดออกมาเป็นกระโถนก็มี แต่ว่ามันไม่เมื่อย มันธรรมดา

          บางทีก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง บางทีคล้ายกับคนมาผลักข้างหลังของเราคะมำไปข้างหน้าบ้าง บางทีคล้ายกับมาผลักข้างหน้าผงะไปข้างหลังบ้างก็มี บางครั้งคล้ายกับคนมาจับศีรษะหมุนไปมา เหมือนคอของเราไม่มีกระดูก บางครั้งอ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง เราจะเห็นบ่อยเวลาทำกัมมัฏฐาน ไปเดินสังเกตดู บางคนก็อ้าปากหุบปาก บางคนก็เคี้ยวปากเหมือนกันกับเคี้ยวอาหาร บางคนก็ทำปากงับๆ เราอาจจะคิดว่าเป็นจิตวิปลาสอะไรทำนองนี้ แต่ความจริงเป็นสภาวะ

          บางทีเดินจงกรมไม่ตรง หกคะเมนถลำไป ขณะที่เรากำหนดเดินจงกรมอยู่นั่นแหละว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอเรายกเท้าเดินไปเท่านั้น ก็หกคะเมนถลำไปคล้ายจะล้ม บางทีล้มไปจริงๆ ก็มี บางทีปรากฏว่าตัวของเรานี้ไหลไปค้างอยู่ตามหลังคาโบสถ์บ้าง หลังคาศาลาบ้าง ตามต้นไม้บ้าง บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไป คือขณะที่เราเดินจงกรมขวาย่างหนอ กระโดดแว่บปลิวไปตั้ง ๕-๖ เมตรก็มี

          บางครั้งกายกระดิกยกแขนยกเท้า คล้ายๆ กับว่าจะปลิวไปในขณะนั้น บางครั้งกายของเรานี้ก็เงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง บางทีมีสีปรากฏคล้ายกับสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น บางทีมือวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับคนมาจับคว่ำลง บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คล้ายกับว่านั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บางครั้งเวลาเรานั่งอยู่เฉยๆ จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา เหมือนกับต้นอ้อที่เอนไปตามลมขณะที่ลมพัด

          บางทีก็จะมีอาการแผ่ซ่านเยือกเย็นไปทั่วกาย ไปตามกาย รู้สึกว่าเย็นชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็เย็นสบาย จิตใจก็เย็นสบาย คล้ายๆ กับว่าได้บรรลุอมตธรรมแล้ว บางครั้งก็สงบเป็นพักๆ บางครั้งก็คันยุบๆ ตามตัว บางทีมีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา เดินก็ไม่อยากลืมตา นั่งอยู่ก็ไม่อยากลืมตา บางครั้งก็ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย อยากอยู่นิ่งๆ นั่งอยู่อย่างไรก็อยากนั่งอยู่อย่างนั้น นอนอยู่อย่างไรก็อยากนอนอยู่อย่างนั้น ไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่อยากกระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่น

          บางทีมีอาการซู่ซ่า ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ เหมือนกับมีตัวอะไรวิ่งอยู่ตามร่างกาย จนขนลุกทั่วตัวขึ้นมา บางทีก็เกิดความกลัวขึ้นมาด้วย ลักษณะอย่างนี้ ควรสังวรระวังเวลาเกิดขึ้น บางทีก็มีอาการเย็นดุจอาบน้ำหรือถูกน้ำแข็ง หรืออยู่ในห้องแอร์ บางทีก็มีสีเหมือนสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต มาปรากฏเฉพาะหน้าในเวลานั่งภาวนา

          บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินไม่อยากลืมตา อยากหลับตาอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวันทั้งคืน บางทีก็เกิดอาการสงบเงียบดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้หูยังได้ยินอยู่ บางครั้งใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เยือกเย็นสบาย ไม่กระวนกระวายใจ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้ดี ทำให้พอใจในการกำหนด บางทีความรู้สึกเงียบไป คล้ายกับว่าเราหลับไป บางครั้งร่างกายของเราเบาคล่องดี เวลาเรานอนอยู่ คิดจะตะแคงไปข้างซ้ายข้างขวา เราพลิกนิดเดียวเท่านั้นมันก็ตะแคงไปแล้ว คล้ายกับร่างกายไม่มีน้ำหนัก เวลาเดินก็คล้ายกับร่างกายไม่มีน้ำหนัก เบาเหมือนปุยนุ่น นั่งอยู่ก็เบาเหมือนปุยนุ่น คล้ายกับว่านั่งอยู่กลางอากาศ

          บางทีสมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม ไม่จำเป็นจะต้องขะมักเขม้นในการกำหนดแม้แต่ประการใด เพราะจิตใจของเราไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอก บางครั้งจิตใจของเรารู้สึกเบาและนุ่มนวลอ่อนโยน คือนอกจากกายจะเบาแล้วจิตใจก็รู้สึกเบาเป็นพิเศษ รู้สึกว่ามีความสุข จิตใจนุ่มนวลอ่อนโยน อุปมาเหมือนกันกับว่าแช่อยู่ในน้ำผึ้งดีๆ น้ำผึ้งแท้สดๆ ชุ่มฉ่ำ หวานเย็นอยู่ตลอดเวลา

          ถ้าผู้มีนิสัยดุร้ายเป็นอันธพาล ติดเหล้าเมาสุรา ติดฝิ่นกินกัญชามาแล้ว ก็จะเห็นว่าความประพฤติของเราเมื่อก่อนนั้นไม่ดี เรานี้ห่างไกลจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเกินไป แต่นี้ต่อไปเราจะตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญคุณงามความดี เราจะเลิกละสิ่งเสพติดทั้งปวงนี้ให้ได้ จะสอนตัวเอง นิสัยจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

          บางทีเวลาทำกัมมัฏฐานไป เกิดความสุขขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก คือมีความสุขความสบายยินดีมาก ทำให้เพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่อยากออกจากการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อยากจะอยู่นานๆ อยากปฏิบัติอย่างนี้ตลอดไป บางคนระงับไม่ไหวจนเปล่งอุทานออกมาว่า สุขหนอๆๆๆ อยู่อย่างนี้ก็มี บางคนภูมิใจดีใจจนระงับไว้ไม่ไหวพูดขึ้นว่า ตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยได้รับความสุขเช่นนี้เลย อย่างนี้ก็มี บางคนก็นึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ที่ได้อุตสาหะพยายามสั่งสอนอบรม บางทีก็เห็นหน้าครูบาอาจารย์มายืนอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆ กับว่าท่านจะมาช่วยเรา มาแนะนำเราในขณะนั้น

          บางทีก็มีสีหน้าเบิกบาน อิ่มเอิบอยู่เป็นอันมาก บางครั้งนั่งสมาธิไป เห็นพระพุทธเจ้า ๑ องค์บ้าง ๕ องค์บ้าง ๑๐ องค์บ้าง ๑๐๐ องค์บ้าง บางครั้งนั่งไป เห็นพระอรหันต์เป็นพันองค์บ้าง เป็นเหตุให้เข้าใจผิดนึกอยากจะฟังเทศน์ฟังธรรม ก็นั่งสมาธิไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า ใครจะเทศน์จะสอนจะแนะนำก็ไม่ฟัง เพราะคิดว่าตัวเองได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนี้ก็มี อันนี้เป็นชุมทางกัมมัฏฐานทั้งนั้น

          ทีนี้บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น เวลานั่งไป เกิดความเชื่อความเลื่อมใสมากเหลือเกิน อยากให้ทุกคนได้เข้าประพฤติปฏิบัติ หรืออยากให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ นั่งไปก็นึกไปอยู่อย่างนี้ บางครั้งก็คิดอยากสนองบุญคุณของสำนัก บางครั้งอยากให้การปฏิบัตินี้ก้าวหน้าไปไกลและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยากให้การปฏิบัตินี้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป

          บางครั้งนั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็คิดอยากทำบุญทำทาน เหตุนั้น เวลาทำกัมมัฏฐานนี้ หลวงพ่อเคยเตือนอยู่เสมอว่า ปัจจัยนั้นให้เก็บไว้ด้วย เวลาศรัทธาเกิด คิดอยากแต่ทำบุญทำทาน เวลากลับบ้านเดี๋ยวจะไม่มีปัจจัยกลับบ้าน ถ้าอยากทำบุญก็หลังจากปฏิบัติปิดภาคแล้วจึงค่อยทำบุญทำทาน ต้องเตือนไว้ เพราะบางคนจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ มีแต่คิดอยากทำบุญทำทาน ทำเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ

          แต่บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณผู้ที่ชักชวนตนเข้ามาปฏิบัติ ว่าถ้าไม่มีผู้นี้ชักชวนมาปฏิบัติ เราคงไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสธรรมะซึ้งๆ อย่างนี้ ก็คิดอย่างนี้ขึ้นมา บางครั้งก็อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์ นั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็คิดว่า วันนี้เราจะนำเอาอะไรดีหนอไปถวายหลวงพ่อ คิดอยากจะหาโน้นไปถวายหานี้ไปถวายครูบาอาจารย์ บางครั้ง ถ้าผู้ที่อยู่ในบ้านก็อยากออกบวช ถ้าผู้ที่อยู่ในวัดบวชแล้ว ก็อยากไปอยู่ที่สงบ บางท่านก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเต็มที่

          บางครั้งก็มีศรัทธาเลื่อมใส แน่ใจว่าธรรมที่ตนปฏิบัติอยู่นี้เป็นธรรมที่วิเศษสุด เป็นธรรมที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือนได้ เป็นธรรมที่จะให้ผู้ประพฤติปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บางครั้งก็อยากไปประกาศให้ชนทั้งหลายได้เข้าประพฤติปฏิบัติ บางครั้งก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้อุตสาหะพยายามสั่งสอนให้เป็นคนได้รู้ได้เห็นธรรมโดยไม่คำนึงถึงความลำบากของตัวเอง

          บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น เกิดความขยันมากเกินไป ทำความเพียรตลอดทั้งวัน นั่งสมาธิแล้วก็เดินจงกรมอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่เช้าถึงเพล ฉันเพลเสร็จก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ บางทีเดินจงกรมไม่ยอมนั่งเลยก็มี บางทียืนขาเดียวตั้ง ๒-๓ ชั่วโมงก็มี บางครั้งนั่งสมาธิปวดเท่าไรก็อดกลั้นทนทานเอาจน ๒-๓ ชั่วโมงก็มี เรียกว่ามีความเพียรมากเกินไป

          บางทีก็ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมตายวันนี้ ถ้าจะตายก็ให้ตาย ยอมตายดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป มีความขยันลุกขึ้นปฏิบัติอย่างกล้าหาญ ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอย ไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องมีใครเตือน เพียรเองตามธรรมชาติ บางครั้งมีความพยายาม มีความตั้งใจไว้มั่นคง ไม่ยอมให้เสียเวลา ไม่อยากให้ใครมาพูดด้วย ไม่อยากให้ใครมารบกวน อยากปฏิบัติจริงๆ ไม่ยอมหยุดยั้งการปฏิบัติ ไม่ยอมพูดจากับใครๆ แต่บางทีความเพียรมากเกินไปแต่สติสัมปชัญญะหย่อน ทำให้คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ กว่าจะเลิกเดินจงกรมก็คิดไปหลายๆ เรื่อง เวลานั่งกัมมัฏฐานก็คิดอยู่อย่างนั้นแหละ นึกอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเป็นวิปัสสนา กลายเป็นวิปัสสนึกไป เลยไม่ได้อะไร นั่งทั้งชั่วโมง คิดทั้งชั่วโมง

          บางครั้งมีสติมากเกินไป เป็นเหตุให้นึกถึงแต่เรื่องอดีตเรื่องอนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบัน บางครั้งก็นึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว จนคล้ายกับว่าจะระลึกชาติได้ บางคนก็ระลึกได้จริงๆ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง บางทีก็นึกแต่เรื่องอนาคต เช่นว่า เรากลับไปบ้านจะไปสอนพวกนั้น ให้พวกนั้นได้ปฏิบัติอย่างนี้ หรือว่าเราจะไปตั้งห้องกัมมัฏฐาน จะเทศน์ให้ดี จะสอนให้ดี เป็นต้น

          บางครั้งก็อยากส่งเสริมการปฏิบัติให้ได้ผล ให้เจริญกว่าที่เห็นทุกวันนี้ แต่บางครั้งนั่งพระกัมมัฏฐานไป เกิดความรู้ขึ้นมา คือความรู้ที่ยังไม่รู้ก็รู้ขึ้นมา ที่รู้แล้วก็รู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ความรู้ทางด้านปริยัติที่เราเรียนมา บางทีลืมไปนานแล้ว คิดไม่ได้ แต่เวลาทำกัมมัฏฐานไปก็กลับคิดนึกขึ้นมาได้อีก มนต์คาถาที่เราเคยศึกษาเล่าเรียนมาจากอาจารย์ ไม่ได้ท่องบ่นไม่ได้สาธยายมาตั้ง ๙ ปี ๑๐ ปี ก็กลับท่องได้จำได้สบายก็มี บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าตนเองได้สำเร็จมรรคผลนิพพานแล้ว

          บางครั้งก็ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น การเกิดดับ หรือว่าอาการพองเป็นรูปหรือเป็นนาม เหล่านี้เป็นต้น บางครั้งก็นึกถึงหลักฐานที่ตนศึกษาเล่าเรียนมา หรือได้เคยประพฤติปฏิบัติมาจากสำนักครูบาอาจารย์ มาเปรียบเทียบกันว่าตรงกันไหม ขัดแย้งกันตรงไหน เป็นต้น บางทีเวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานนั้น ยังไม่ได้ปัจจุบันธรรม ส่วนมากเป็นวิปัสสนึก นึกเอาเอง เป็นจินตาญาณ ไม่ใช่ภาวนาญาณ

          แต่บางครั้ง เวลาปฏิบัติมักมีอาการหลงๆ ลืมๆ นั่งเฉยๆ ใจหลงๆ ลืมๆ พองยุบก็มัวๆ หรือบางครั้งไม่เห็นพองยุบเลย บางครั้งใจลอยๆ ไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร บางครั้งเห็นพองยุบ บางครั้งไม่เห็น บางครั้งจิตใจดีไม่กระวนกระวาย มีอารมณ์ดีไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด กำหนดได้ดี อารมณ์ดีชั่วไม่ปรากฏมากระทบได้เลย แม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ว่าไม่ได้กำหนด ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ภายนอก แต่บางครั้งคล้ายๆ กับว่ากิเลสไม่มี บางทีนึกว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

          มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี่ เกิดอาการเช่นนี้ขึ้นมา นึกว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็บอกเพื่อนว่า ท่านๆ ท่านลองเอาไม้ตีหัวผมดูซิว่าจะเป็นอย่างไร คืออยากให้เพื่อนตีลองดูว่าจะเจ็บไหม กิเลสยังมีอยู่ไหม ความโกรธยังมีอยู่ไหม สภาวะแบบนี้คล้ายๆ ว่ากิเลสตัณหาหมดไป จิตใจสะอาดจริงๆ

          แต่ทีนี้ บางครั้งก็มีความใคร่ในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความใคร่ในแสงสว่าง ในปีติ ในความสงบ ในสุข ในศรัทธา ในความเพียร ในความคิดความรู้ ในสติ ในอุเบกขา บางทีก็มีความใคร่ในนิมิตต่างๆ เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป ปรากฏคนโน้นเอาข้าวมาถวาย เอาอาหารมาถวาย เกิดดีใจขึ้นมา บางทีก็รับเอา บางทีปรากฏเห็นเขาเอากล้วยมาป้อนใส่ปาก ก็หลงเคี้ยวกินไปก็มี บางทีปรากฏเห็นกับข้าวมากมาย

          บางท่านก็เห็นพระพุทธรูป เห็นนรก เห็นสวรรค์ พระนิพพาน ก็เกิดมีความพอใจความใคร่ขึ้นมา ทั้งหมดนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน

          ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานจะต้องผ่านชุมทางกัมมัฏฐานดังที่กล่าวมานี้ทุกท่านทุกคน แต่ว่าจะประสบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบารมีแต่ละท่านละคนที่ได้สั่งสมอบรมมา แต่ต้องผ่านด้วยกันทั้งนั้น เมื่อผ่านชุมทางกัมมัฏฐานนี้แล้วก็จะแยกกัน ทางแยกมีหลายอย่าง ถ้าผู้ใดปราศจากครูบาอาจารย์ หรือว่าตกอยู่ในอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ ก็จะพาไปผิดทาง

          บางทีก็ไปเล่นทางสายอภิญญา แล้วก็ว่า คนนี้เมื่อก่อนนี้เป็นแม่ของเรา คนนี้เมื่อก่อนเป็นภรรยาของเรา ชาติที่เท่านั้นเท่านี้เคยเป็นป้าของเรา เคยเป็นอาของเรา เล่นไปทำนองนี้ก็มี บางทีก็พาญาติโยมไปทัวร์นรก วันนี้พาไปสวรรค์ วันนี้พาไปพรหมโลก ท่านที่เล่นทางนี้ก็มี เป็นการไปผิดทางเสียแล้ว หลงทางไปแล้ว เลยตกไปในความประมาทอันเป็นทางแห่งความตาย เพราะว่าติดอยู่ในชุมทางกัมมัฏฐานนี้ ออกไม่ได้ไปไม่ได้

          ทีนี้ บางท่านได้สร้างสมอบรมบุญบารมีมาทางสายสมถะ เวลามาถึงชุมทางก็ไม่ไปทางวิปัสสนา พอดีเกิดปัสสัทธิเกิดปีติขึ้นมา ก็เลยไปเลย เข้าสู่ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานไป คือจะไปสายสมถะเสียก่อน ดังที่เราทั้งหลายไปฝึกสอนกัมมัฏฐานในภาคฤดูหนาว

          เวลาปฏิบัติมาถึงนี้เราก็พาปฏิบัติไปทางสายสมถะก่อน เพราะเวลาของเราน้อย มีเวลาเพียง ๙ วัน ๑๐ วัน เราก็พาเดินไปในสายสมถะก่อน เพราะการสอนสายสมถะได้ผลเร็วกว่าวิปัสสนา เมื่อไปสายสมถะ ฝึกสมาธิจนชำนาญในวสีแล้วก็จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาต่อไป ถ้าผู้นั้นตามไป ปฏิบัติต่อไปอีก ก็สอนวิปัสสนา ให้แยกกันตรงนี้

          แต่ถ้าหากว่าผู้ที่สร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนาภาวนา พอดีมาถึงนี้แล้วก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจังไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ ดับไป เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องดับไป ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์เช่นนี้แล้ว หลังจากนั้น วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ จนเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ เข้าสู่มัคควิถี แล้วก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล วิธีนี้เรียกว่า เดินไปทางสายวิปัสสนา

          เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่ได้กล่าวมานี้ว่า ผู้ใดเป็นบ้าง ไม่ใช่ว่าเป็นหมดทุกข้อ บางท่านก็เป็นหมด บางท่านก็เป็นเพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่จะเป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้  ท่านจะเป็นข้อไหนก็ตาม แสดงว่าท่านถึงชุมทางกัมมัฏฐานแล้ว

          หลังจากนั้น ท่านจะเลือกเอาทางไหน จะไปสายสมถะหรือวิปัสสนา หรือจะไปสายนรก สวรรค์ก็ได้ แล้วแต่ถนัดใจ ถ้าไปไม่ถูกทางก็เป็นบ้า คนจะมาเป็นบ้าอยู่ตรงชุมทางกัมมัฏฐานนี้ คนที่ผูกคอตาย เชือดคอตาย กินยาตาย ก็มาตายอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานนี้

          ผู้ปฏิบัติมาหลายปียังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ก็เพราะว่ามาติดอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานนี้ แต่สำหรับผู้ที่มาติดอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานแล้วเห็นว่าเป็นชุมทางกัมมัฏฐานต่างหาก ไม่ใช่เป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พยายามทำต่อไป ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผล บรรลุพระนิพพาน

          เพราะสิ่งทั้งหลายอันเป็นชุมทางกัมมัฏฐานที่เกิดมานี้ ไม่ใช่เป็นของเลว เป็นของดี เกิดจากความประณีตของจิต ขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานไป จิตใจของเราเป็นสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิก็ตาม อุปจารสมาธิก็ตาม เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วกิเลสก็เข้าครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระ เป็นจิตที่สะอาด สว่าง สงบเย็น ปราศจากสังกิเลสธรรมทั้งปวง

          เมื่อจิตสะอาดปราศจากสังกิเลสธรรมแล้ว จิตใจก็จะสร้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วขึ้นมาเอง เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว หากเราติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ก็จะพาหันเหไปในทางที่ผิด ทำให้เสียผู้เสียคน หรือเสียจริตไปได้ ถ้าเราสร้างสมอบรมคุณความดีมาทางสายสมถะ ก็จะไปทางสมถะ ถ้าสั่งสมมาทางสายวิปัสสนา ก็จะดำเนินไปสู่ทางวิปัสสนา จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

          ดังนั้น จึงขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า เวลาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิด ระวังให้ดี อย่าให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เกิดด้วย คือถ้าตัณหาเกิด ก็ทำให้ยินดีในสภาวธรรมเหล่านี้มากเกินไป ทำให้สมาธิตก ปัญญาไม่เกิด แต่ถ้ามานะทิฏฐิเกิด ก็ทำให้เห็นผิด ถือตัวว่าเป็นผู้ได้ถึงธรรมแล้ว ได้บรรลุแล้ว ผลสุดท้ายก็เสื่อมจากผลที่จะพึงได้พึงถึง

          สำหรับข้อปฏิบัตินั้น ขอให้ท่านทั้งหลายสำเหนียกให้ดี อย่าให้สิ่งเหล่านี้ครอบงำจิตใจได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ให้กำหนดตามอาการของมันว่า รู้หนอๆ จนมันหายไป แล้วจึงค่อยกำหนดพองยุบต่อไป

          เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ชุมทางพระกัมมัฏฐาน มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.