วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ จะน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระลูกชีทั้งหลายสืบต่อไป
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อันตรายของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มิใช่ว่าจะมีเฉพาะที่ได้นำมาบรรยายสู่ฟังนั้น ก็หามิได้ อันตรายอื่นนั้นยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่ว่าวันนี้จะนำมาบรรยายถวายความรู้ เฉพาะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส คือ อุปกิเลสของวิปัสสนา ๑๐ ประการ
หมายความว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนูปกิเลสนี้จะต้องเกิดขึ้นแก่ทุกรูปทุกนาม คล้ายๆว่า นี่เป็นหลักสากลของการประพฤติปฏิบัติ จะต้องผ่านด่านนี้ไปเสียก่อนแล้วจึงจะดำเนินไปสู่ปฏิปทา จึงจะดำเนินไปสู่มัคควิถีได้
หลวงพ่อพูดอีกอย่างหนึ่ง ในเวลาประพฤติปฏิบัติจะให้ชื่อเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส นี้ว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน คล้ายๆกับชุมทางรถไฟ ชุมทางจิระ ชุมทางภาชี คือบรรดารถไฟทั้งหลายที่จะไปสายต่างๆ เมื่อไปแล้วก็จะผ่านชุมทางนี้แล้วก็แยกย้ายกันไป อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ดำเนินมาตามลำดับๆ แล้วก็ต้องมาตกอยู่ในภาวะนี้ เรียกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน
วิปัสสนูปกิเลสนั้น มีอยู่ ๑๐ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. โอภาส แสงสว่าง เมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้
๑) จะมีแสงสว่างเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ คือในขณะที่เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น จะทำให้เห็นแสงสว่างปรากฏขึ้นเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นหมู่ดาว เห็นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่าตนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว
๒) บางทีสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเอง
๓) สว่างคล้ายกับว่าห้องไม่มีฝากั้น เรานอน เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เรานั่งกัมมัฏฐานในกุฏิก็ดี ในร่มก็ดี ในกลดก็ดี สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏในที่ใกล้ๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพระธาตุพนม พระปฐมเจดีย์ เห็นกรุงเทพฯ เห็นประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
๔) สว่างคล้ายๆ กับเห็นประตูเปิดออกๆ บางทีเห็นประตูหน้าต่างมันเปิดออก ผู้ปฏิบัติยกมือไปปิดบ้าง เดินไปปิดบ้าง บางทีเดินเอามือไปปิดบ้าง
บางทีสว่างจนเห็นดอกไม้ มีสี มีกลิ่น สวยสดงดงาม ที่ลานพระเจดีย์ หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง บางทีสว่างจนเห็นทะเล คือนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นทะเลสุดลูกหูลูกตา พร้อมทั้งสัตว์น้ำทั้งหลายมีปลาและเต่าเป็นต้น ที่ลอยแหวกว่ายอยู่ในสายธารนั้น
บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากร่างกายของตัวเอง คือ บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากหัวใจ บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกที่ลูกตา บางทีแสงสว่างพุ่งออกทางศีรษะแล้วก็ลอยออกไปสู่ข้างนอก บางทีเห็นแสงสว่างลอยจากข้างนอกมาสู่ตัวเรา บางทีเมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว เราสามารถที่จะน้อมนึกเอาแสงสว่างนั้นเป็นรูปนั้น เป็นรูปโน้น เป็นรูปนี้ได้ นึกให้แสงสว่างนั้นเป็นรูปช้างบ้าง นึกแสงสว่างนั้นเป็นรูปม้าบ้าง หรือนึกให้แสงสว่างเป็นพระพุทธรูป เป็นเจดีย์ ก็สามารถเป็นไปตามใจนึก เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง เรียกว่า โอภาส แสงสว่าง
๒. ปีติ คือความอิ่มใจ ความเอมอิ่ม ปราโมทย์ มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆ น้อยๆ มีลักษณะดังนี้ ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีขาวๆ เหมือนปุยฝ้ายหรือสำลี ในขณะนั้น คล้ายๆ กับจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมองไม่เห็น
บางทีก็มีอาการเยือกเย็น ขนลุก มึนตึงหนักๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เย็นผิดปกติ บางทีขนลุกซู่ขึ้นมาตามร่างกาย บางทีมีอาการมึนๆ คล้ายๆ ว่าเป็นโรคเหน็บชา บางครั้งมีอาการหนักๆ คล้ายกับว่าเราเป็นโรคเหน็บชา มีอาการผิดปกติ หนักแข้ง หนักขา หนักตามตนตามตัว บางท่านใจอ่อน นึกว่าเราเป็นโรคอัมพาตเป็นโรคเหน็บชา
บางทีนั่งกัมมัฏฐานอยู่ น้ำตามันไหลออกมา หรือเดินจงกรมอยู่ น้ำตามันไหลออกมา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คิดอะไรมาก นั่งอยู่เฉยๆ น้ำตามันไหลออกมา บางทีนึกถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย น้ำตามันไหลออกมา บางทีหนังหัวพองสยองเกล้า ภาษาบ้านเราภาคอีสานเรียกว่า ขนหัวลุก เหมือนกันกับพวกผีปีศาจมาหลอกมาหลอน
บางครั้งตัวชา ตัวพองขึ้น คือปรากฏว่าตัวของเรานั้นพองขึ้นๆ จนเต็มกลดกัมมัฏฐาน หรือจนเต็มกุฏิกัมมัฏฐาน บางทีปรากฏว่าตัวของเรามันเล็กเข้าไปๆ เท่าเด็กน้อย เท่ากบเท่าเขียดก็มี บางทีปรากฏแขนยาว ขายาว ฟันยาว อันนี้เป็นลักษณะของขุททกาปีติ
หลวงพ่อจะไม่ได้อธิบาย พูดแต่หัวข้อ คือคิดว่าเนื้อความมันก็ชัดอยู่แล้ว หากมันมีอะไรก็ค่อยว่ากันทีหลัง ก็คิดว่าที่นำมาพูดเพียงย่อๆ คิดว่ามันชัดอยู่แล้ว จึงจะไม่อธิบาย เพราะว่าตามปกติแล้ว แค่พูดตามหัวข้อนี้ก็ต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ถ้าเทศน์บรรยายพิสดารก็ใช้เวลามากกว่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พยายามทำความเข้าใจต่อไป
๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีลักษณะดังนี้ คือ ในขณะเรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีแดงๆ ด่างๆ คล้ายกับจีวรของพระภิกษุสามเณร คล้ายกับพระอาทิตย์แรกอุทัย บางทีเกิดในจักษุทวารดุจสายฟ้าแลบ คือนั่งกัมมัฏฐานอยู่คล้ายกับสายฟ้ามันแลบ ภาษาอีสานเรียกว่า ฟ้าเลื่อม ภาษาลาวเรียกว่า ฟ้าเลี่ยม มันเกิดอาการคล้ายฟ้าแลบขึ้นมา เห็นแสงฟ้าแลบ
บางทีปรากฏในจักษุทวารนี้เป็นประกายเหมือนกันกับตีเหล็กไฟ คือ เมื่อเราขีดไม้ขีด ขีดไฟแช็ค ภาษาอีสานเรียกว่าไม้ไฟโป๊ก เอาหินมากระทบกัน ปรากฏมีประกายขึ้นมา บางทีแสบทั่วกาย บางทีกายของเรามันแข็งคล้ายกับว่าเป็นโรคตัวแข็ง
บางทีเป็นเหมือนแมลงเม่ามากัดมาไต่ไปตามตนตามตัว บางครั้งร้อนไปตามตนตามตัว บางทีหัวใจสั่นๆ ไหวๆ บางทีขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก บางทีคันยุบยิบคล้ายกับมดไต่ไรคลานตามหน้าตาตามตัว ตัวนี้ก็สำคัญอย่างหนึ่ง เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เวลาไปสอบอารมณ์ ส่วนมากครูบาอาจารย์จะถาม นี้เป็นอย่างไร มีอาการคันยุบๆ ยิบๆ ตามใบหน้าและตาไหม ถ้าตอบว่า ไม่มี ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน ตามปกติมันต้องเกิดขึ้นทุกรูป คล้ายกับตัวไรมาไต่มาตอมตามหน้าตามตา ไต่ไปข้างนี้ไปข้างนั้น ไต่ข้างนั้นมาข้างนี้เหมือนกับตัวไร
บางทีคล้ายเป็นดั่งกับปลาตอด พวกทั้งหลายที่ลงอาบน้ำ ลงสรงน้ำ คงจะเคยเห็น เวลาเราแช่อยู่ในน้ำ ปลามันมากินเหงื่อกินไคลของเรา กัดที่โน้น กัดที่นี้ อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นไปตามร่างกาย บางครั้งเส้นเอ็นชักเหมือนปลาตอด คือเดินจงกรมอยู่ดีๆ เรานั่งอยู่ดีๆ มันชักกระตุกๆ บางทีเรามองเห็นมีอาการชักขึ้นมาตามร่างกาย ชักกระตุกๆ เป็นแห่งๆ ไป บางคนก็ตกใจ คิดว่าภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน
บางทีมีอาการคล้ายๆ กับน้ำร้อนกำลังเดือดพล่าน เหมือนกันกับเราเอาน้ำใส่ไฟที่กำลังเป็นเถ้าเป็นถ่าน เวลาเราเทลงไปมันจะมีอาการซู่ขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน มันมีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย คล้ายกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน
บางทีเหมือนกันกับปลาผุดขึ้น เวลาเราโยนเศษอาหารลงไป คือเวลาเราเลี้ยงปลา เราจะโยนเศษขนมปัง หรือเศษนั้นเศษนี้ลงไป ปลามันก็ค่อยๆ ฟูขึ้นๆ สูงขึ้นๆ แล้วก็สะดุดกึก คล้ายๆ กับว่ามันหายใจแล้วก็จมลงไปๆ สภาวะนี้ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา เหมือนกันกับอยู่ในท้อง อยู่ในทรวงอกของเรา มันฟูขึ้น สูงขึ้นๆ คล้ายๆ กับปลามันหายใจ สะดุด แล้วก็จมลงไป
๓) โอกกันติกาปีติ คือ ปีติเป็นพักๆ มีลักษณะอย่างนี้
(๑) ขณะที่เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่นี้ มีลักษณะตัวไหว ตัวเอน โยก โคลง มีอาการไหวๆ บางทีตัวเราเอนไปข้างซ้ายข้างขวาบ้าง ไปข้างหน้าข้างหลังบ้าง มันนั่งไม่ตรง บางทีก็มีอาการโยกโคลง เวลานั่งไปมันโยกไปโยกมาๆ
(๒) บางทีก็มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า มือของเราวางอยู่ดีๆ มันสะบัดพรึดออกไป เท้าของเราวางอยู่ดีๆ นั่งอยู่ดีๆ มันสะบัดพรึดออกไป บางทีก็มีอาการสะบัดหน้า คล้ายกับมีคนมาพูดด้วย บางทีก็พยักหน้า บางทีก็สั่นศีรษะ
(๓) บางทีก็มีอาการสั่นๆ หรือมีอาการสูงๆ ต่ำๆ เรานั่งอยู่บนเตียง คล้ายกับตั่งกับเตียงจะพาคว่ำ
(๔) คลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางครั้งอาเจียนออกมาจริงๆ ก็มี ภาษาอีสานภาษาลาวว่า ปุ้นท้อง คือสิฮาก
(๕) บางทีเป็นดุจระลอกซัด
(๖) มีอาการสั่นระรัวๆ เหมือนกันกับไม้ปักไว้ที่น้ำไหล คือเวลานั่งอยู่คล้ายกับว่าตัวเรามันสั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนกันกับเอาไม้ปักไว้ที่น้ำไหล ไม้ที่เราปักไว้มันก็สั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างนี้แหละ เวลาเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอสภาวะอย่างนี้จะเกิดขึ้น ร่างกายของเราจะปรากฏเหมือนกัน
(๗) บางทีมีสีเหลืองอ่อน สีดอกผักตบ ปรากฏเฉพาะหน้า ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีเหลืองๆ อ่อนๆ หรือสีดอกผักตบ บางทีกายของเรามันโยกไปโยกมาๆ บางทีมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวคล้ายๆ กับจะเป็นไข้ บางทีมีอาการวูบวาบจากข้างล่างขึ้นมาสู่ข้างบน บางทีอาการวูบวาบจากข้างบนไปสู่ข้างล่าง
บางทีคล้ายกับเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล คล้ายกับเราลงไปเดินหรือไปวิ่งอยู่ในน้ำไหล หรือเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล แทนที่มันจะไปเร็วๆ คล้ายๆ กับมีอะไรมาโต้ไว้ วิ่งไปหรือลอยไป หรือเดินไปไม่สะดวก บางทีได้ยินเสียงเหมือนพรายกระซิบ ตี ๔ คล้ายกับมีคนมาปลุก ลุกๆ ลุกขึ้นทำกัมมัฏฐาน ลุกขึ้นเดินจงกรม อะไรทำนองนี้ มันเกิดขึ้นมา
๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน มีลักษณะดังนี้ คือ
กายของเรามันปรากฏสูงขึ้นจนเฉียดฟ้าก็มี เมื่อมองลงมาพื้นดิน สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ เห็นตำบล อำเภอ จังหวัด หรือเห็นไปถึงอนันตจักรวาล มันจะมากหรือจะน้อยก็แล้วแต่อุปนิสัยของผู้ปฏิบัติ
บางทีตัวเบา ตัวลอย บางคนตัวลอยพ้นพื้นขึ้นไป คืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง บางทีลอยไปค้างอยู่บนขื่อเรือนหรือบนต้นไม้ ที่ในห้องกัมมัฏฐานนี้ เมื่อก่อน เวลาประพฤติปฏิบัติ บางทีนั่งอยู่ที่พื้นดิน มันก็ลอยขึ้นไปนั่งอยู่บนกุฏิพระกัมมัฏฐานก็มี บางทีลอยไป รู้สึกตัวขึ้นมาก็นั่งอยู่บนหมอนที่หัวนอน เอ้า ขึ้นมานั่งอยู่บนนี้ได้อย่างไร เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่บนพื้น แล้วมานั่งอยู่บนหมอนบนกุฏินี้ได้อย่างไร
บางทีมันลอยขึ้นไปบนขื่อเรือนก็มี รู้สึกตัวขึ้นมา บางคนก็ร้องไห้ บางคนก็หัวเราะดีใจ แต่เวลาลง ลงไม่ได้ ต้องเอาบันไดไปพาดให้จึงลงมาได้ บางคนเขาเข้าใจว่าตนได้อภิญญาจิต เหาะได้ แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นระดับประเทศ คือในสมัยนั้นหลวงพ่อเป็นสามเณร เขาลงข่าวหนังสือพิมพ์ว่า สามเณรเหาะกับ(ด้วย)วิปัสสนากัมมัฏฐาน พาดหัวข่าวเบ้อเร่อเลย คือมีเรื่องอยู่ว่า
หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรีนั้น จะพาสามเณรน้อยมานมัสการหลวงพ่อพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ พอดีตื่นเช้าขึ้นมา สามเณรก็ดีอกดีใจว่าจะได้มานมัสการหลวงพ่อพระพิมลธรรม
ตื่นขึ้นมาก็เดินจงกรมกลับไปกลับมา อุพเพงคาปีติ เกิดขึ้นอย่างแรง ปลิววับโน้น ไปตก(ลง)ที่อยุธยา คิดดูว่า วัดระฆังฝั่งธนบุรีกับอยุธยามันไกลกันขนาดไหน ๒๕ กิโลฯ หรือเท่าใด มันไกลกว่านั้นนะ คิดว่ามันมากกว่านั้น ตีสี่ไปเคาะประตูบ้าน พี่สาวเปิดประตูออกมา เอ๊า น้องเณรมาได้อย่างไร ใครพาน้องเณรมา แต่เวลากลับเหาะกลับไม่ได้ ต้องขี่รถไฟกลับมา มันหมดฤทธิ์แล้ว
ปีนั้นเป็นข่าวเกรียวกราวกัน พอเรื่องนี้เกิดขึ้นมา คนก็เฮโลไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุฯ คนโน้นก็ไป คนนี้ก็ไป จนไม่มีสถานที่ที่จะอยู่ ผลสุดท้าย ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เกิดอิจฉาตาร้อนขึ้นมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองก็เข้าใจผิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์มันจะยึดประเทศ (ตำรวจ)สันติบาลก็มาจับหลวงพ่อพระพิมลธรรมไปเข้าตะราง อยู่ในตะรางเป็นเวลา ๕ ปีพอดี เพราะเป็นการเข้าใจผิด แต่ผลสุดท้ายท่านก็ออกมาเป็นอิสระ แล้วก็ได้เป็นรักษาการฯ สมเด็จพระสังฆราช
บางทีก็มีอาการท้องเดิน เป็นบิด อาการท้องเดินคือท้องร่วง บางทีก็เป็นบิด จนเข้าโรงพยาบาลก็มี บางทีมีอาการสัปหงกพึบลงไป ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง บางทีคล้ายกับมีคนมาผลักหน้าคะมำลงไป บางครั้งคล้ายกับมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายกับคอของเราไม่มีกระดูก บางครั้งมีอาการปากงับๆ บ้าง อ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง นั่งไปเคี้ยวปากไป นั่งไปเคี้ยวปากไป โดยเฉพาะ ส่วนมากจะเป็นเฉพาะกับโยมผู้หญิง
บางทีกายหกคะเมนถลำไป คือมันเดินไม่ตรง บางทีเวลาเรานั่งกัมมัฏฐานไปคล้ายๆ กับว่าตัวของเรามันไหลไปๆ ลอยไปๆ ไปค้างอยู่ต้นไม้บ้าง ค้างอยู่บนเจดีย์บ้าง หลังคาโบสถ์หลังคาวิหารบ้าง คล้ายๆ กับว่ามันไหลไป บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไป
บางคนก็ เวลาเดินจงกรม ขวาย่างหนอ มันกระโดดปลิววับไป ๕ เมตรก็มี ๑๐ เมตรก็มี โยมแม่ของหลวงพ่อนี้ ในสมัยที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เดินจงกรมอยู่บนบ้าน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ก็ปลิววับไปจากห้องนี้ไปห้องนั้น ตั้ง ๓ เมตร ๖ เมตร บางทีมันปลิวไปถึง ๖ เมตร ก็มี ถ้าลักษณะอย่างนี้ บางคนก็เข้าใจว่าตัวเองเหาะได้แล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่ มันเป็นลักษณะของปีติ
บางทีกายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า บางครั้งกายเงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง พูดง่ายๆ คือนั่งไม่ตรง เอนไปข้างนั้นข้างนี้บ้าง บางทีเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานหลับตาอยู่ ปรากฏเห็นสีไข่มุกสีขี้รม สีรุ้ง บางทีมือของเราวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับให้คว่ำลงไป บางทีเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คล้ายกับว่าหันหน้าไปทางทิศตะวันตก บางทีเรานั่งอยู่เฉย จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา เหมือนกันกับต้นอ้อที่ลู่ไปตามลม
๕) ผรณาปิตี ปีติซาบซ่าน มีลักษณะอย่างนี้
(๑) มีอาการแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย
(๒) สงบเป็นพักๆ
(๓) คันยุบยิบๆ ตามตนตามตัว
(๔) มีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา
(๕) ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย
(๖) บางทีมีอาการซู่ซ่า จากเท้าถึงศีรษะ
บางทีมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะถึงเท้า คล้ายกับปลาไหลมันไหลไปตามร่างกายของเรา มันชอนไปตามฝ่าเท้าของเรา ตามแข้งขาจนถึงศีรษะ ขนลุกซู่ทั่วสรรพางค์กาย คล้ายกับผีสิงในขณะนั้น
สมัยที่ปฏิบัติอยู่ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา หลวงพ่อคิดว่าผีมันเข้าไปสิง คล้ายกับปลาไหลมันชอนไชเข้าที่ฝ่าเท้า วิ่งไปตามแข้งตามขาไปจนถึงศีรษะ แล้วมันมานอนขดอยู่บนศีรษะ แต่เวลาไปเดินจงกรม มันกลับไชลงไปอีกถึงฝ่าเท้าแล้วก็ออกไปเลย เขาก็คิดว่ามันเป็นพวกผีปีศาจ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นลักษณะของผรณาปีติต่างหาก พยายามทำความเข้าใจตรงนี้ หากว่าท่านผู้ใดมีสภาวธรรมกล้าแล้วมันจะเกิดมันจะเกิดอย่างนี้ หรือมันจะมีลักษณะคล้ายอย่างนี้
บางทีกายเย็นดุจอาบน้ำแข็งหรืออยู่ในห้องเย็น บางทีขณะที่เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเห็นสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต บางทีทำให้เพลิดเพลินไม่อยากลุก ไม่อยากกระดุกกระดิกร่างกาย บางทีตาที่หลับอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย อันนี้เป็นลักษณะปีติ
๓. ปัสสัทธิ ความสงบ มีลักษณะดังนี้
(๑) มีอาการสงบเงียบ ดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่
(๒) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เยือกเย็นสบาย ไม่กระวนกระวายใจ
(๓) พอใจในการกำหนด และกำหนดได้ดี
(๔) ความรู้สึกเงียบไป คล้ายกับว่าหลับไป
(๕) เบา คล่องแคล่วดี คล้ายกับร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก
(๖) สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม
(๗) ไม่จำเป็นจะต้องขมักเขม้นในการกำหนดประการใด เพราะใจไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์
๘) ทั้งกายและจิตใจรู้สึกเบา นิ่มนวล แช่มช้อย และอ่อนโยน
๙) ผู้มีนิสัยดุร้าย โหดร้าย หรือเหี้ยมโหดทารุณ จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดมาก ส่วนเรายังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่ว กระทำแต่ความดี บางคนผู้เป็นพาลเกเร เคยกินเหล้าเมาสุรา เคยสูบฝิ่นกัญชา ก็จะเลิกละนิสัยเดิมได้
๔. สุข ความสบายกายความสบายใจ มีลักษณะดังนี้ คือ
มีความสุข มีความสบาย มีความเอิบอิ่มดีมาก ทำให้เพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่อยากออก อยากนั่งกัมมัฏฐานอย่างนั้นอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย บางคนดีใจคล้ายกับจะระงับไว้ไม่ไหว บางคนถึงกับพูดว่า นับตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยได้รับความสุขเช่นนี้เลย บางคนนึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ บางทีเห็นหน้าอาจารย์มาอยู่ใกล้ๆ คล้ายกับว่าท่านจะมาช่วยเหลือเราอยู่ ในขณะนั้น มีสีหน้าเอิบอิ่ม ร่าเริง เบิกบาน เป็นอันมาก
๕. ศรัทธา ความเชื่อ มีลักษณะดังนี้ คือ
มีความเชื่อความเลื่อมใสมากเกินไป อยากให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนที่รู้จัก เข้ามาประพฤติปฏิบัติ
บางทีก็อยากสนองบุญคุณของสำนัก สำนักมีพระคุณแก่เราเป็นอันมาก ก็อยากสนองคุณของสำนัก โดยคิดว่าจะไปหาผ้าป่ามาทอด อยากสร้างกุฏิวิหาร อยากหาจตุปัจจัยไทยธรรมมาปรับปรุงแก้ไขห้องกัมมัฏฐานให้ดีไปกว่านี้ อะไรทำนองนี้ มันคิดไปเอง บางทีก็อยากให้การปฏิบัติก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยากทำบุญทำทาน อยากสร้าง อยากปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ
ข้อนี้สำคัญนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาที่สภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว หมดเงินบ้างก็มี คือศรัทธามันแรงกล้า บางคนสามารถที่จะเอาผัวไปทาน เอาเมียไปทาน เอาลูกเอาหลานไปทาน ญาติของหลวงพ่อเคยเป็น
เมื่อก่อนเขาเคยมาบวชอยู่นี้แหละ เคยเอาลูกไปทาน ศรัทธามันแรงกล้า เอาลูกไปทาน เอาภรรยาไปทาน เอาโรงสีไปทาน สมัยนั้น จนตำรวจที่เป็นญาติเอาปืนมายิง ไม่ได้ยิงคน ยิงพระ ยิงขึ้นตรงหน้าจั่ว พวกนี้ถ้าเขาไม่รีบกำหนด มันจะเกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้า
บางที ครูบาอาจารย์มีปัจจัยเท่าไหร่เอาให้หมด พอไม่มีอะไรให้ เลือดที่อยู่ในร่างกายก็เอาไปบริจาค ทั้งที่เพิ่งบริจาคมาไม่กี่วัน ไม่ถึงเดือนก็ไปบริจาคแล้ว จนหลวงพ่อได้เอ็ดเอาก็มี แต่นี้ต่อไปถ้าจะบริจาคโลหิตต้องผ่านหลวงพ่อเสียก่อน ถ้าไม่ผ่านหลวงพ่อแล้ว ห้ามบริจาคเด็ดขาด ก็บอกว่า ผมไม่มีอะไรจะทำบุญทำทาน มีแต่เลือดเท่านั้นที่จะทำบุญทำทาน
หลวงพ่อไม่ห้ามหรอก การทำบุญทำทาน แต่ต้องให้มันครบกำหนดเสียก่อน มันอยู่ในเกณฑ์ที่จะบริจาคจึงจะให้บริจาค คือถ้าจะบริจาคบ่อยๆ ผลกระทบนี้ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบสมองไม่ทัน ทำให้เป็นบ้า
บางที ในขณะที่บิณฑบาตนี้แหละ ก็เลิกบิณฑบาตแล้ว มีอาจารย์รูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ พอดีสภาวะนี้มันเกิดขึ้นแล้วก็เลิกบิณฑบาต เดินจงกรม เดินไปเดินมา ศรัทธามันแรงกล้า บางรูปถวายปัจจัยจนหมด มาปฏิบัติร่วมกันนี้ก็มี หน้าฤดูหนาวก็มี
หลวงพ่อเคยบอกว่า ท่านทั้งหลาย ปัจจัยที่มีอยู่ให้เก็บไว้ให้ดี เวลาจะกลับวัด ทางสำนักไม่มีปัจจัยถวายเป็นค่าพาหนะ เพราะท่านทั้งหลายคงจะทราบว่าสำนักนี้เป็นอย่างไร ญาติโยมมาทำบุญทำทาน เขาจะถวายจตุปัจจัยไทยธรรมไหม เหตุนั้น ท่านทั้งหลายก็เก็บปัจจัยไว้ อย่าได้บริจาคจนหมด เวลากลับบ้านจะได้กลับไปได้อย่างสบาย
บางรูปถวายจนหมด บางทีหลังจากสวดออกอัพภานแล้วก็เข้ามาหาหลวงพ่อว่า หลวงพ่อๆ ผมขอปัจจัยกลับบ้านหน่อยครับ ไม่มีค่ารถกลับบ้าน หลวงพ่อก็บอกแล้วนี่ บอกแล้วก็บอกอีก มีปัจจัยให้เก็บไว้เป็นค่าพาหนะกลับบ้าน เพราะทางสำนักไม่มีปัจจัยที่จะถวาย เพราะว่าแต่ละวัน ค่าน้ำปานะ ค่าอาหาร ก็ไม่พออยู่พอฉันอยู่แล้ว
ไม่เป็นไรหรอกท่าน นิมนต์อยู่จำพรรษาด้วยกันเสียก่อน เมื่อใดมีปัจจัยพอเป็นค่าพาหนะแล้วค่อยกลับบ้านก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก อยู่จำพรรษา ๓ เดือน ออกพรรษาแล้วค่อยกลับบ้าน ถ้าอยู่ในภาคฤดูหนาวก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอกท่าน นิมนต์อยู่ด้วยกันเสียก่อน ได้ปัจจัยเสียก่อนแล้วค่อยกลับ มันเป็นไปได้ท่านทั้งหลาย ศรัทธามันกล้า
บางทีก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้อุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอนให้ตนได้รู้ได้เข้าใจ โดยไม่นึกถึงความลำบากเหนื่อยยากของตนเองเลย บางทีก็อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์ บางทีถ้าอยู่ครองฆราวาสก็อยากออกบวช อยากอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย บางทีก็อยากไปอยู่ในที่สงัด อยากตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเต็มที่
บางทีก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจว่าธรรมที่ตนปฏิบัติอยู่นี้เป็นธรรมที่วิเศษที่สุด ไม่มีธรรมอื่นที่จะเสมอเหมือนได้ และก็เป็นธรรมะที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติ ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน บางทีก็อยากไปประกาศ ไปโฆษณาให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจว่า สมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพาน ยังมีอยู่ บางทีก็รู้สึกสำนึกในพระคุณของครูบาอาจารย์มาก
๖. ปัคคาหะ ความเพียร มีลักษณะดังนี้ คือ
ขยันมากเกินไป ครูบาอาจารย์จะยุ(เร่งเร้าอีก)ไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นบ้าได้ ข้อนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย พอความเพียรเกิดขึ้นมา เราต้องมีสติกำหนดให้มันทัน
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเพียรมันเกิด คือมันคิดมาก นั่ง ๕ นาที คิดแต่งหนังสือจบเป็นเรื่องๆ นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง ถ้าอย่างนี้เรียกว่า ความเพียรมันเกิดขึ้นมาแก่กล้าแล้ว ถ้ามีความเพียรอย่างเดียว สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เป็นบ้าได้
ตัวอย่าง ท่านอาจารย์ที่มาจากอำเภอม่วงสามสิบ ในสมัยนั้น คิดมาก อยากเป็นผู้วิเศษ หลวงพ่อนั่งดูอยู่ นั่งเขียนหนังสืออยู่ เมื่อก่อน เวลาเดินจงกรม หลวงพ่อก็มานั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน ดูลูกศิษย์ลูกหาว่าเดินจงกรมถูกไหม การประพฤติปฏิบัติดำเนินไปในทางที่ดีไหม หลวงพ่อดูอยู่
อาจารย์รูปนั้นเดินจงกรมไปก็คุยไป คุยกับคนโน้น คุยกับคนนี้ เราก็ว่า พระองค์นี้มันแปลก ทำไมเป็นอย่างนี้ เดินไปสังเกตดูก็รู้ว่า พระองค์นี้คิดว่าตัวเองได้โทรจิตแล้ว ได้หูทิพย์แล้ว พูดกับคนโน้นกับคนนี้ หลวงพ่อก็จับเลย จับไปกุฏิแล้วก็เอ็ดว่า
คุณ ที่คุณปฏิบัติมา ความรู้ที่คุณปฏิบัติได้นี้มันเท่ากับหางอึ่งเท่านั้นนะ มันยังใช้ไม่ได้ ไป เข้าไปนอนอยู่ในห้องเสียก่อน
พอเข้าไปในห้องแล้วก็ปิดประตู แกล้งเอ็ดเอาแล้วก็ยัดเข้าห้องเลย พอเข้าห้องแล้วก็ปิดประตูล็อกกุญแจไว้ แกก็ทำเสียงดังโครมคราม พอดีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้วทำให้สมาธิมันตก พอสมาธิมันตกแกก็นั่งเงียบ เราก็ค่อยเปิดออก แกก็เข้ามากราบขออภัย กราบขอโทษ ผมเข้าใจผิดว่าผมได้บรรลุอย่างนั้นอย่างนี้
เหตุนั้น เป็นอย่างนี้นะท่านทั้งหลาย พยายามสังวรระวังให้ดี บางทีก็ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง สู้ตาย หวังจะเอามรรค ผล พระนิพพานให้ได้ บางทีก็ขยันลุกขึ้นปฏิบัติ ทั้งอดทน ไม่เกียจคร้าน ขยันอดทน มีความบากบั่นไม่ท้อถอย ไม่ต้องมีใครบอกใครเตือน ขยันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ
บางทีก็มีความพยายามดี ประคองใจไว้มั่นคง ไม่ยอมเสียเวลา ไม่อยากพูดจากับใคร บางทีไม่ยอมหยุดยั้งในการปฏิบัติ อยากประพฤติปฏิบัติจริง ไม่อยากให้ใครมารบกวนให้เสียเวลา ความเพียรนั้นดีอยู่ แต่สติสัมปชัญญะมันหย่อน เลยทำให้จิตใจฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์นานาประการ
๗. อุปัฏฐาน สติเข้าไปปรากฏชัด มีลักษณะดังนี้ คือ
สติมากเกินไป ทำให้ผู้ปฏิบัตินึกถึงแต่เรื่องอดีต นึกถึงแต่เรื่องอนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบันเสียเป็นส่วนมาก บางทีนึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมา
บางทีก็นึกถึงอนาคต ผู้ปฏิบัติก็คิดว่า เราออกไปนี้ เราจะไปตั้งห้องกัมมัฏฐาน เราจะสอนกัมมัฏฐาน จะสอนให้ดี จะเทศน์ให้ดี บางทีคล้ายกับจะระลึกชาติหนหลังได้ บางคนก็ระลึกได้จริงๆ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างก็มี บางทีก็คิดอยากส่งเสริมการปฏิบัติให้ได้ผลและเจริญก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
๘. ญาณะ ความรู้ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑) มีความรู้ทางด้านปริยัติเข้าผสมกันกับด้านปฏิบัติ ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่า ตนเองได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้ว
๒) ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น พองเป็นเกิด ยุบเป็นดับ เป็นต้น
๓) นึกถึงหลักฐานที่ตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนได้ปฏิบัติจากสำนักครูบาอาจารย์ เอามาเปรียบเทียบกันว่าจะตรงกันไหม หรือมันขัดแย้งกันที่ตรงไหน กัมมัฏฐานที่หลวงพ่อสอนอยู่ในขณะนี้มันถูกไหม อะไรทำนองนี้ ชอบหาหลักฐานที่ตนได้เรียนมาได้เคยประพฤติปฏิบัติมา
ส่วนมากท่านนักปฏิบัติปฏิบัติมาถึงตรงนี้ โดยมากผู้ปฏิบัติไม่ได้ปัจจุบันธรรม เป็นจินตาญาณ คือเป็นความรู้ที่นึกที่คิดขึ้นมาเอง ไม่ใช่วิปัสสนา เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา แต่ที่จริงไม่ใช่วิปัสสนา เป็น วิปัสสนึก คือ นึกเอาเอง
๙. อุเบกขา ความวางเฉย มีลักษณะ ดังนี้ คือ
ใจเฉยๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ใจหลงๆ ลืมๆ พองยุบก็มัวๆ บางครั้งไม่เห็นอาการพองอาการยุบเลย บางทีก็ใจลอยๆ เลือนๆ คล้ายกับว่าไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร นั่งก็เหม่อไป เดินจงกรมก็เหม่อไป คล้ายกับไม่ได้กำหนด คล้ายกับไม่ได้คิดอะไรเลย บางครั้งเห็นอาการพองอาการยุบ แต่บางครั้งก็ไม่เห็นอาการพองอาการยุบ มีแต่หนังท้องตึงอยู่ตลอดเวลา
บางทีก็ไม่กระวนกระวายใจ จิตสงบดี บางทีก็ไม่ฟุ้งซ่านหงุดหงิด ไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งสิ้น เมื่อก่อนโน้น อยากเป็นโน้นอยากเป็นนี้ อยากได้โน้นอยากได้นี้ แต่เมื่อประพฤติปฏิบัติมาถึงตรงนี้จะรู้สึกไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไร แม้แต่อารมณ์ดีชั่วก็ไม่ปรากฏรบกวนได้เลย นั่งปฏิบัติอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สบายๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย แต่ไม่ได้กำหนด ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์เป็นส่วนมาก
บางทีรู้สึกคล้ายกับว่ากิเลสไม่มี คล้ายกับว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันดับไปสูญไปจากขันธสันดานแล้ว คล้ายกับเราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว บางทีก็พูดว่าตัวเองได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จริง
มีอาจารย์รูปหนึ่งมาประพฤติปฏิบัติด้วยกัน เวลามีครูบาอาจารย์มาจากที่โน้นจากที่นี้ จะไปคุยอวดตัวเองว่า การปฏิบัติเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ รูปนั้นได้ขั้นนั้น รูปนี้ได้ขั้นนี้ รูปนั้นได้โสดาบัน รูปนั้นได้สกทาคามี รูปนั้นได้อนาคามี ว่าไปว่ามา สำหรับผมนั้น ๒ (ขั้นแล้ว) คือหมายความว่า ตัวเองได้บรรลุสกทาคามีแล้ว คือชอบพูดมาก คล้ายกับตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว
๑๐. นิกันติ ความใคร่ มีลักษณะดังนี้ คือ
มีความใคร่ในอารมณ์ต่างๆ เช่นว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็มีความใคร่ความพอใจในอารมณ์นั้น บางทีก็มีความใคร่ความพอใจในแสงสว่าง ในปีติ ในความสงบ ในความสูญ ในศรัทธา ในความเพียร ในความคิด ในความรู้ ในอุเบกขา ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
บางทีก็มีความใคร่ในนิมิตต่างๆ เช่น นั่งไป เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ ก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก แล้วนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้วก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก สมเป็นอุปกิเลส แท้ที่จริง สิ่งทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดีนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เป็นของดีอยู่ และก็เกิดจากความประณีตของจิต
เมื่อใดจิตของเรามีสมาธิแล้ว เมื่อนั้นนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็เกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ในขณะนั้นกิเลสตัณหามันครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา
เมื่อจิตของเราเป็นอิสระแล้ว มันสร้างสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เกิดขึ้น หลวงพ่อจึงว่า นี้เป็นอาการของจิต จิตแสดงปฏิกิริยาขึ้นมา แสดงปรากฏการณ์ขึ้นมา ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอุปกิเลส เป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำให้ไม่ได้ผล ที่จัดว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่า ตนได้บรรลุแล้ว ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานแล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว
ร้อยทั้งร้อย ท่านทั้งหลาย หากว่าเราไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ๆ จะเข้าใจผิด ท่านทั้งหลายลองย้อนหลัง จะนึกถึงสภาวธรรมที่หลวงพ่อได้นำมาบรรยายให้ฟังนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราทั้งหลายเข้าใจผิด บางรูป ๕ ปี ปฏิบัติกัมมัฏฐานไม่ได้ผล ก็เพราะว่ามาหลงติดอยู่ในญาณนี้ บางรูปปฏิบัติ ๑๐ ปี ๒๐ ปี บางรูป ๓๐ พรรษา
บางรูปตั้ง ๔๐ พรรษาที่มาอยู่กับหลวงพ่อ จะเป็น ๔๐ พรรษาหรือ ๕๐ พรรษาอย่างนี้ก็มี มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่กับหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่า ท่านได้บรรลุธรรมอย่างโน้น บรรลุธรรมอย่างนี้ แต่ว่าพอเราสอบเข้าไปๆ สอบเข้าไปเรื่อยๆ ถามไปๆ ผลสุดท้ายยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ตกอยู่ในอำนาจของอุปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะสภาวะที่นำมาบรรยายนี้มันน้อยนิดเดียว ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ สภาวะที่ยังไม่เล่านั้นยังมีมากกว่านี้ แต่ให้เราเปรียบเทียบเอาว่าอะไรเป็นอะไร เปรียบเทียบเอา
สรุปแล้วว่า ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานนั้น ส่วนมากมาติดอยู่ในสภาวะของอุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าจะเป็นบ้าก็เป็นอยู่ตรงนี้ จะฆ่าตัวตายก็มาฆ่าตัวตายอยู่ตรงนี้
ตัวอย่าง หลวงปู่ทูล เวลาปฏิบัติ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา ท่านว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เวลาจะแนะนำเตือนอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านก็บอกว่า อย่ามาแนะนำผมซิ ผมเป็นพระอรหันต์แล้ว คุณยังเป็นปุถุชนอยู่ เวลาทานยาปวดหายนั้น ใช้ ๕ ซอง ฉีกรวมกันเลย เมื่อฉีกรวมกันแล้วก็ฉันทีเดียว เราก็บอกว่า หลวงปู่อย่าฉันมากเกินไป มันบีบหัวใจ คุณเป็นพระอรหันต์หรือ คุณยังเป็นปุถุชนอยู่ คุณจะมาสอนพระอรหันต์อย่างฉันได้อย่างไร ว่าเลย
อีกอาจารย์หนึ่ง อาจารย์วิเชียร อยู่ถ้ำพวง เมื่อก่อนสภาวะเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว คิดว่าจะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ นิพพานอยู่ใกล้ จะไปนิพพาน ผลสุดท้าย ก็เอามีดโกนมาเชือดคอตัวเองตาย มันเป็นอย่างนี้
เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าจะเสียก็เสียอยู่ตรงนี้ ถ้าจะเป็นบ้าก็เป็นบ้าอยู่ตรงญาณนี้ จะฆ่าตัวตาย ส่วนมากก็เป็นอยู่ตรงญาณนี้ แต่ถ้าว่ามันผ่านสภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นไปได้ คนนั้นก็มีหวังได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาท
แต่ที่ท่านจัดว่าเป็นอุปกิเลสเครื่องขัดขวางไม่ให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น ก็เพราะว่า เมื่อประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้ เกิดตัณหา มานะ ทิฏฐิ คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดร่วม ตัณหาคือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า นึกว่าตนได้สำเร็จแล้ว มานะคือความถือตัว ทิฏฐิคือความเห็นผิด มานะทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว ว่าตนได้บรรลุแล้ว ตนได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานแล้ว
เวลาทำกัมมัฏฐานไป บางรูป เวลาสภาวธรรมมันเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนไปๆ ท่านมาบอกว่า หลวงพ่อ ผมได้สมาบัติ ๘ แล้ว ผมได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานแล้ว ผมได้อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว อย่างนี้ก็มี คือมันสำคัญผิด ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าจะไม่ให้มันหลงผิดเป็นเด็ดขาด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาจริงๆ มันหลงผิดนะท่านทั้งหลาย
ทุกสิ่งทุกอย่างคล้ายกับเป็นความจริง เช่น ปรจิตตญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น รู้ความคิดของผู้อื่น รู้ใจของผู้อื่น เวลามันเกิดขึ้นมาคล้ายกับว่าเราได้บรรลุจริงๆ คนโน้นเดินมา คนนี้มาหา เขายังไม่มาถึง ทางนี้รู้ก่อนแล้ว พอดีมาถึงก็ทักเอาเลย คุณเป็นอย่างนี้นะ คุณพูดอย่างนี้นะ มันรู้เลย คล้ายกับว่าเราได้บรรลุแล้ว
แต่พอดีสภาวะมันเสื่อมลงไป ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย มันหลอกตัวเอง สรุปแล้วว่า สภาวะทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ มันดีอยู่ สภาวะนี้เกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ของจิต เมื่อจิตบริสุทธิ์ขึ้นมาแล้ว ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา มันก็สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
แต่ที่ท่านเรียกว่าเป็น อุปกิเลส เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดพร้อม เมื่อตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดพร้อม ตัวอวิชชาก็เกิดขึ้นมาด้วย อุปาทานมันก็เกิดขึ้นมาด้วย ผลสุดท้ายทำให้หลงผิด
แต่ถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วเราไม่หลงผิด อะไรเกิดขึ้นมาเราก็กำหนด รู้หนอๆ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้แล้วก็ปล่อยวาง กำหนดรู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่จัดเป็นอุปกิเลส และไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางการบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจตามนี้
และต่อไปท่านทั้งหลาย มีสภาวะอย่างหนึ่งที่จะพึงสังวร คือเมื่อมันเกิดสภาวะอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ทำให้เกิดความกลุ้มใจ ระวังให้ดี เกิดกลุ้มใจ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น เลิกทำกัมมัฏฐานต่อไป อยากกลับวัด อยากกลับบ้าน ขี้น้อยใจ ครูบาอาจารย์ทำไม่ถูกใจ บางทีครูบาอาจารย์พูดนิดพูดหน่อยก็ไม่พอใจ โกรธ บางทีก็ร้องไห้อยู่เป็นวันๆ
มีพระกัมมัฏฐานรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เวลาสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา ก็เดินไปสอบอารมณ์คนโน้นบ้าง เดินไปสอบอารมณ์คนนี้บ้าง เดินไปถามคนโน้น เดินไปถามคนนี้ แนะนำผู้นั้น แนะนำผู้นี้ เดินจงกรมแล้วก็เทศน์ให้เพื่อนฟังไปด้วย เดินไปเทศน์ไปๆ
หลวงพ่อก็เลยไปแนะเอาว่า คุณ ตอนนี้เรามาปฏิบัตินะ ตอนนี้เรามาปฏิบัติ เรายังไม่อยู่ในขั้นที่จะแนะนำผู้อื่น ให้ออกจากห้องกัมมัฏฐานเสียก่อนเถอะแล้วค่อยเทศน์ แล้วค่อยสอน เดี๋ยวเขาจะเข้าใจผิด จะทำให้การปฏิบัติของเรามันเดินช้า โกรธขึ้นเป็นฟืนเป็นไฟเลย วันนั้นไม่ทำกัมมัฏฐานเลย นั่งร้องไห้ตลอดทั้งวันเลย นั่งร้องไห้ตลอดทั้งวัน ตอนเย็นจะทำวัตรอย่างนี้แหละ ไปเตือนสติ เขาก็รู้สึกตัวขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้
บางทีก็ข้ามกำแพงไปเลย บางทีไม่บอกครูบาอาจารย์ ไปเลย มันก็น่าน้อยใจเหมือนกันนะ ก็เหมือนกันกับที่เราอยู่ด้วยกันในขณะนี้แหละ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ครูบาอาจารย์ก็เอาใจใส่ทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ แต่เวลาจะไปไม่บอกครูบาอาจารย์เลย ขึ้นรถไปเลย บางทีไม่ขึ้นรถดอก เดินออกไปตามทางดำเลย เวลามารวมกัน ถามว่า องค์นี้ไปไหน องค์นี้อยู่ไหน ถามกัน ตามหากัน ถึงกับนั่งรถเหมารถตามหากันก็มี
สภาวะอย่างนี้มันสำคัญนะท่านทั้งหลาย ทำให้อยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ เดินจงกรมก็ไม่อยากเดิน บางทีเดินจงกรมก็เดินเฉยๆ ไม่กำหนด นั่งก็ไม่อยากนั่ง บางทีนั่งก็นั่งเฉยๆ ไม่อยากกำหนด บางทีนั่ง บางทีนอน บางทีลุก บางทีไปโน้นไปนี้
สภาวะอย่างนี้เป็นสภาวะที่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจ ต้องรู้จักอดรู้จักทน รู้จักข่มจิตข่มใจ ลักษณะที่เป็นเช่นนี้เป็นลักษณะของ อวิชชาปฏิจจสมุปบาท คือความโง่เป็นเหตุให้เกิดสังขาร แต่เรากำหนดไม่ทัน มันจึงสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้น พึงระวังให้ดี
เอาล่ะ เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.