โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มาบรรยายโดยสังเขปกถา พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญา และเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญพระกัมมัฏฐาน อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นได้บรรลุสามัญญผล
แต่โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ บางข้อหรือบางหมวด ได้บรรยายโดยพิสดารไปแล้ว สำหรับวันนี้จะได้นำมาบรรยายทั้ง ๓๗ ข้อ เมื่อธรรมะทั้ง ๓๗ ข้อ จะบรรยายให้จบวันเดียว จึงต้องบรรยายโดยสังเขปกถา พอให้รู้แนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ
ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ย่อมประชุมพร้อม เมื่อวิปัสสนาเกิดสมบูรณ์ ในโยคีผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นเทศนาวิธีอย่างพิสดารอันเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหมวดธรรม ๗ หมวด คือ
๑. หมวดสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ สติเจตสิกหนึ่งดวง ที่ควบคู่อยู่กับกายานุปัสสนา ๑ เวทนานุปัสสนา ๑ จิตตานุปัสสนา ๑ ธัมมานุปัสสนา ๑ อันเป็นที่ตั้งของสติ
ก. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณากายอยู่เนืองๆ ด้วยมีสติเป็นที่ตั้ง เพื่อประหารสุภสัญญา อันเป็นสัญญาวิปลาส มีสติรู้ทันในอิริยาบถใหญ่น้อย คือ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เป็นต้น ตลอดถึงพิจารณาให้เห็นให้รู้ว่าร่างกายนี้ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่ารัก ไม่น่าชม เป็นอสุภะแท้ๆ ดังนี้เป็นต้น แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา พิจารณาพระไตรลักษณ์ของรูปนาม เห็นความเกิดดับชัดด้วยปัญญา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ข. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพ่งพิจารณาเวทนาเนืองๆ ด้วยมีสติรู้ทันเป็นที่ตั้ง สุขก็รู้ทัน ทุกข์ก็รู้ทัน อุเบกขาไม่สุขไม่ทุกข์คือเฉยๆ ก็รู้ทัน เพื่อประหารวิปลาสในการเสวยสุข เสวยทุกข์ เสวยอุเบกขา ว่ามีความสุขความสบาย น่าชอบ น่าอยากได้ เป็นต้น
ตัณหาที่ประกอบกับเวทนาทั้งหมด เรียกว่า สุขวิปลาส เมื่อใดมีสติกำหนด ก็จะได้รู้การเสวยอารมณ์ต่างๆ ว่า หามีความสุขไม่ มีแต่ทุกข์ทนไม่ได้ทั้งนั้น ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ วิปัสสนาเห็นแจ้งชัดในนามเวทนาว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยมีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นปัจจัย
ค. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือตั้งสติพิจารณาจิตตัวเองอยู่เนืองๆ ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ เป็นต้น ก็รู้ทัน ก็รู้ได้ว่า จิตนี้เกิดแล้วดับสูญหายไปทุกขณะ เหมือนกับฟ้าแลบ หาเที่ยงไม่ ถอนนิจจสัญญา ประหารนิจจวิปลาส ความเห็นว่าจิตนี้เป็นของเที่ยง ต้องเกิดดับรับอารมณ์ต่างๆอยู่ทุกขณะ วิปัสสนาเห็นแจ้งชัด ด้วยพระไตรลักษณ์ฉะนั้นแล้ว ญาณก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะอาศัยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเบื้องต้น
ง. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ
ตั้งสติพิจารณาธรรมเนืองๆอยู่ว่า ธรรมนี้สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
คือมีสติรู้ทันจนเกิดปัญญา เห็นอนัตตาธรรม ประหารอัตตสัญญาความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน
อันเป็นอัตตวิปลาส คือถือว่าเป็นอัตตา เป็นตัว เป็นตน เป็นบุคคล เป็นสัตว์ ตัวเรา
ตัวของเรา มีอยู่เสมอ มีสติรู้ทันในนิวรณ์ ๕ ประการก็ดี ในอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ดี
ด้วยอาศัยสัมมัปปธาน เพียรพิจารณาจนเกิดปัญญา มีโพชฌงค์
ทั้ง ๗ เข้าประกอบ
รู้อริยสัจ ๔ เห็นแต่รูปธรรมนามธรรม ว่ามีการเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย ก็รู้ว่าอัตตาตัวตนนี้ไม่มี มีแต่ธรรมคือรูปธรรมและนามธรรมรวมกันอยู่เท่านั้น และรูปธรรมนามธรรมนี้ก็เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะอาศัยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นปัจจัย จึงพ้นโลกีย์ได้ด้วยวิโมกข์ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง
๒. หมวดสัมมัปปธาน ๔ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑ ดวง ที่ควบคุมให้เกิดความเพียร และในหมวดนี้ได้บรรยายมาแล้วโดยพิสดาร เหตุนั้นก็ขอบรรยายโดยสังเขป คือ
ก. สังวรปธาน เพียรระวังมิให้บาปมิให้อกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดานของตน เพียรมิให้อกุศลใหม่เกิดขึ้น อกุศลเก่าก็จะน้อยลงไปตามลำดับ
ข. ปหานปธาน เพียรละอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดไป
ค. ภาวนาปธาน เพียรเพื่อให้กุศลเกิดขึ้น
ง. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อมไป
สัมมัปปธานนี้มีอธิบายว่า วิริยะเพียรตั้งสติรู้ทันต่อปัจจุบันธรรมของรูปนามทุกขณะ เมื่อรู้ทันขณะใด ก็ชื่อว่าได้ปิดกั้นมิให้อกุศล คือ ราคะ โทสะ โมหะ ไหลเข้ามาตามทวารทั้ง ๖ ได้ ส่วนอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในภวังคสันดานก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีสติอันประกอบอันเป็นจอมของกุศลเกิดขึ้น กุศลธรรมเหล่าอื่นก็เกิดขึ้น ชื่อว่ากุศลธรรมเจริญขึ้น
การเพียรตั้งสติรู้ทันปัจจุบันบ่อยๆ นั่นเอง เป็นการรักษากุศลธรรมให้ทรงอยู่ อาศัยความเพียรเป็นบรรทัดฐานให้เกิดวิปัสสนาปัญญา รู้แจ้งชัดในรูปในนามธรรม เกิดดับๆ อยู่เสมอ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์
ผู้เห็นอนิจจังชัด ก็พ้นโลกีย์ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ ผู้เห็นทุกขังชัด ก็พ้นโลกีย์ด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ ผู้เห็นอนัตตาชัด ก็พ้นจากโลกีย์ด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะอาศัยสัมมัปปธานทั้ง ๔ ประการดังกล่าว
๓. หมวดอิทธิบาท ๔ คือ ธรรมเป็นเหตุของความสำเร็จ เป็นทางแห่งความสำเร็จซึ่งโลกุตตระ ได้แก่
ก. ฉันทะ ความพอใจในทางโลกุตตระ
ข. วิริยะ ความเพียรในทางโลกุตตระ
ค. จิตตะ ความเอาใจใส่ในทางโลกุตตระ
ง. วิมังสา ความใคร่ครวญรู้แจ้งในทางโลกุตตระ
อิทธิบาทธรรม ในส่วนโพธิปักขิยธรรมนี้ ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก กุศลจิต และปัญญาเจตสิก รวมทั้งจิตและเจตสิกนี้ เป็นกำลังให้สำเร็จ โดยมีฉันทะพอใจในอมตบท ทางไปสู่พระนิพพาน คือมีสติรู้ทันปัจจุบันธรรม รู้ทันนามธรรมรูปธรรม เพียรตั้งสติอยู่เสมอ เอาใจจดจ่ออยู่กับรูปนามในทุกขณะ จนเกิดปัญญาวิมังสา เห็นพระไตรลักษณ์ของรูปนาม จนกระทั่งผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นจากโลกีย์ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง เนื่องมาจากอิทธิบาทธรรมนี้เป็นมูลเหตุ
๔. หมวดอินทรีย์ ๕ คือธรรมที่เป็นใหญ่ ปกครองกุศลธรรมทั้งปวง คือ
ก. สัทธินทรีย์ ได้แก่ สัทธาเจตสิก เป็นอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในความเชื่อความเลื่อมใสตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ไปสู่แดนโลกุตตระคือพระนิพพาน เชื่อมต่อทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ข. วิริยินทรีย์ ได้แก่ วิริยเจตสิก เพียรปฏิบัติวิปัสสนาด้วยความเป็นใหญ่ เป็นจอมวีระแกล้วกล้า เพื่อให้บรรลุโลกุตตระ
ค. สตินทรีย์ ได้แก่ สติเจตสิก ที่เป็นใหญ่ปกครองในความระลึกได้ และรู้ทันปัจจุบันธรรมของรูปนาม เพื่อจะนำกุศลอันเป็นมรรคาไปสู่โลกุตตรธรรม
ง. สมาธินทรีย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ปกครองความเป็นใหญ่อยู่ในการทำหน้าที่ให้รู้แต่อารมณ์เดียว โดยไม่เผลอจากปัจจุบันธรรม จนให้ถึงโลกุตตรธรรม
จ. ปัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ทำหน้าที่ปกครอง เป็นใหญ่อยู่ในความเห็นแจ้งรู้จริงในไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นโลกีย์ได้ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง เพราะอาศัยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นปัจจัย จึงเป็นอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ปกครองสหชาตธรรมในโพธิปักขิยธรรมให้สมบูรณ์ ส่งให้แก่โลกุตตรธรรม ไกลจากทุกข์ทั้งปวงได้
๕. หมวดพละ ๕ คือ กำลังธรรมที่เป็นกุศลฝ่ายโพธิปักขิยธรรม จะนำข้ามห้วงมหรรณพภพสงสาร หรือเป็นแม่ทัพที่จะรบกับข้าศึกคือกิเลสให้พินาศไป สิ้นสูญไปด้วยกำลัง ๕ ประการคือ
ก. สัทธาพละ กำลังคือศรัทธา เชื่อต่อปฏิปทาทางปฏิบัติทางไปพระนิพพาน ได้แก่เชื่อในทางพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง
ข. วิริยพละ กำลังคือความเพียรอันแกล้วกล้า ที่จะปฏิบัติทำสติให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันธรรมรูปนาม สามารถปราบปรามข้าศึกคือกิเลสให้สิ้นสูญไป เพื่อรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งโลกุตรธรรม
ค. สติพละ กำลังคือสติ ระลึกรู้ทันปัจจุบันของรูปนาม เว้นโมหะตัวเผลอตัวหลงเสีย เพื่อเป็นปัจจัยแก่มรรค ผล นิพพาน
ง. สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ มีสติมั่นคงไม่เผลอ แน่วแน่ในปัจจุบันธรรมทุกขณะ เพื่อจะเป็นกำลังอันเยี่ยมที่จะก้าวไปสู่โลกุตตรธรรม
จ. ปัญญาพละ กำลังคือปัญญา ความรู้ในปัจจุบันธรรม อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เห็นลักษณะของรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นจากโลกีย์ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง โดยมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นกำลังสนับสนุน
๖. หมวดโพชฌงค์ ๗ คือองค์แห่งความตรัสรู้ ได้แก่ เจตสิก ๗ ดวง อันเป็นองค์อริยมรรคปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดในโลกุตตรธรรม คือ
ก. สติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบเป็นองค์แห่งความรู้รูปธรรมนามธรรม และโลกุตตรอารมณ์ทุกขณะของความเป็นไปแห่งกุศลจิต
ข. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่เป็นองค์แห่งความรู้รูปธรรมนามธรรม และโลกุตตรอารมณ์ ทุกขณะของความเป็นไปแห่งกุศลจิต
ค. วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่เป็นองค์แห่งความเพียร คือรู้ในรูปธรรมนามธรรม เกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณจนถึงมัคคญาณ ผลญาณ
ง. ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปีติเจตสิก ที่เป็นองค์ประกอบความรู้กับรูปธรรมนามธรรม และประกอบกับมัคคจิต ผลจิต มีความอิ่มใจเหมาะใจเป็นลักษณะ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์
จ. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิก ความสงบ เป็นองค์ประกอบกับความรู้ในวิปัสสนาและโลกุตตรปัญญา ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์
ฉ. สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก อันประกอบกับองค์ความรู้รูปนามโดยไตรลักษณ์ และประกอบกับมัคคจิต โดยพระนิพพานเป็นอารมณ์อันเดียว เป็นสมาธิ
ช. อุเปกขาสัมโพชฌงค์
ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ความเป็นกลาง ประกอบกับความรู้รูปนาม มีญาณความรู้รูปนาม
แล้ววางเฉยต่อสหชาตธรรมที่เกิดพร้อม
กับวิปัสสนามีญาณความรู้เป็นต้น จนผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์
มีโลกุตตรจิตเข้าประกอบกับองค์ธรรมนั้นๆ
สามารถที่จะให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงซึ่งโลกุตตระคือมรรค ผล นิพพาน
๗. หมวดมรรค
๘ คือหนทางไปสู่พระนิพพาน ได้แก่ เจตสิกธรรม ๘ ดวง
รวมเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค หรือมรรคสามัคคี ความประชุมพร้อมองค์ธรรมทั้ง ๘ ประการ
นี้ ย่อมมีในโลกุตตรจิต เกิดขึ้นในขณะได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ คือ
ก. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เกิดวิปัสสนาญาณเห็นรูปนามเกิดดับอยู่เสมอ ทั้งเห็นพระนิพพานด้วยมัคคจิตได้ง่าย
ข. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ได้แก่ วิตกเจตสิก ยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่ง ให้ทันพร้อมกับรูปนามดับไป ว่าเป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา
ค. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่ วิรตีคือสัมมาวาจาเจตสิก จะพูดหรือไม่พูดก็ตาม เว้นพูดผิดอยู่เสมอ มีสติอยู่ทุกขณะ
ง. สัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ ได้แก่ วิรตี คือสัมมาอาชีวเจตสิก ที่เว้นจากการพูดผิดและทำงานผิด ที่เกี่ยวกับอาชีพ มีการดำรงชีพไปในการบริโภคอาหารเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ด้วยการมีสติอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ
จ. สัมมาวายามะ เพียรชอบ ได้แก่ วิริยเจตสิก คือเพียรตั้งสติ รู้ทันปัจจุบันธรรมบ่อยๆ นั่นเอง
ฉ. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติเจตสิกที่รู้ทันปัจจุบันธรรมรูปนามทุกขณะ
ช. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่มีสติรู้ทันปัจจุบันธรรมของรูปนาม ไม่เผอเรอ และประกอบกับอริยมัคคจิตได้ด้วย คือมั่นอยู่ในอารมณ์พระนิพพานเป็นอันเดียว พ้นจากโลกีย์ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง
รวมโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ หมวด มีจำนวน ๓๗ ประการ ย่อมเกิดบริบูรณ์ได้เฉพาะในโลกุตตรจิตเท่านั้น แต่วิตกเจตสิก และ ปีติเจตสิก ทั้งสองนี้ บางทีไม่ได้เกิดขึ้นในโลกุตตรธรรมก็มี
เมื่อพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติในวิสุทธิ ๕ ประการที่เป็นโลกียะอยู่นั้น โพธิปักขิยธรรมก็เกิดได้บ้าง ตามฐานะที่ควรได้ควรเป็น เช่น จิตเป็นญาณวิปปยุต ปัญญาย่อมไม่เกิด จิตเป็นทุติยฌาน วิตก วิจาร ย่อมไม่เกิด เป็นต้น
รวมโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ เป็นธรรมะที่จะให้ผู้ประพฤติอยู่ในโพธิปักขิยธรรมนี้ บรรลุอริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน
หากว่าการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานของเรา เว้นจากโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ และในขณะที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระโสดาบันก็ดี พระสกทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี เป็นพระอรหันต์ก็ดี หากว่าโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ไม่รวมกัน หรือว่ารวมกันไม่พร้อม ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุหรือตรัสรู้ได้
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะถือว่ายากก็ยาก ถือว่าง่ายก็ง่าย ที่ว่ายากก็หมายความว่า เราไม่ตั้งสติกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ติดต่อกัน โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อไม่มีโอกาสเกิดขึ้นพร้อมกัน เราก็ไม่ได้บรรลุ เพราะขาดองค์คุณสมบัติ
อุปมาแล้วก็เหมือนกับผู้แทนราษฏร สมมติการประชุมสภาเขาต้องการสมาชิกเข้าประชุม
๓๐๐ คน แต่ไปประชุมเพียง ๑๐๐ คน ก็ไม่สามารถประชุมได้ เพราะขาดองค์ประชุม
อย่างน้อยก็ต้องครึ่งหนึ่งจึงประชุมได้ หรือสมมติว่า
วันนี้เขาต้องการประชุมคณะรัฐมนตรี
ผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมือง เขาต้องการรัฐมนตรีทุกๆกระทรวงอย่างนี้
แต่รัฐมนตรีไปประชุมเพียง ๔ หรือ ๕ กระทรวงเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะประชุมได้
ข้อนี้ฉันใด
เวลาที่โยคีบุคคลมาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ต้องการโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ให้รวมกัน เป็นมรรคสามัคคี และการรวมกันนี้ไม่เหมือนกันกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือประชุมคณะรัฐมนตรีผู้บริหารบ้านเมือง คือ โพธิปักขิยธรรมต้องครบทุกข้อจึงจะใช้ได้ จึงจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไป จนถึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
แต่ที่จริง เวลาเราประพฤติปฏิบัตินั้น โพธิปักขิยธรรมก็รวมกันอยู่ แต่รวมไม่พร้อม ที่เราปฏิบัติทุกวันๆ ก็จะรวมกันอยู่ บางทีก็รวมกัน ๑๐ ข้อ ๑๕ ข้อ หรือ ๒๐ ข้อ ๒๕ ข้อ แต่ไม่ถึง ๓๗ ข้อ ก็ไม่สามารถถึงจุดหมายปลายทางได้
ทีนี้เราจะทำอย่างไร จึงจะทำให้ธรรมะทั้ง ๓๗ ประการ เข้ามารวมพร้อมกันได้
ถ้าจะพูดในหลักปฏิบัติแล้วก็ไม่ยาก คือขอให้เราทั้งหลายตั้งสติกำหนดให้ติดต่อกันไป อย่าชะล่าใจ พยายามกำหนดอิริยาบถใหญ่น้อย จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ขอให้กำหนดติดต่อกันไป พยายามเอาสติปักลงจนถึงที่เกิดที่ดับของรูปของนาม หากว่าเรากำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ให้ติดต่อกันได้เมื่อไร โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันได้
อีกอย่างหนึ่ง โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗
ประการนี้ ถ้าว่าเราอยู่ในขั้นโลกีย์ จะไม่รวมกัน รวมกันไม่หมด รวมกันไม่พร้อม
ไม่สามารถจะเป็นมรรคสามัคคีได้ แต่ถ้าขณะใดจิตของเราเข้าสู่มัคควิถี
สมมติว่าเราปฏิบัติครั้งแรก ยังไม่บรรลุอริยมรรคอริยผลอะไรเลย
พอดีผ่านวิปัสสนาญาณขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ญาณที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ ขึ้นไป จนถึง สังขารุเปกขาญาณ
เมื่อออกจากสังขารุเปกขาญาณแล้ว จิตก็จะเข้าสู่มัคควิถี
ในขณะจิตเข้าสู่มัคควิถีนั่นแหละ
โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ จะมารวมกันเป็นมรรคสามัคคีทันที
เมื่อรวมกันเป็นมรรคสามัคคีเมื่อใด เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ซึ่งการรวมของโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ น้อยนิดเดียวเท่านั้น ไม่กี่ขณะจิต และในขณะที่โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นมรรคสามัคคีแล้วนั่นแหละ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดับไปด้วย ในเมื่อโลภะเป็นต้นดับไป อริยมรรคอริยผลก็เกิดขึ้นมา เราก็ได้ชื่อว่าถึงโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล
พอพ้นจากผลแล้ว จิตก็ลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะได้พิจารณาปัจจเวกขณะ กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ โพธิปักขิยธรรมเมื่อผ่านได้แล้ว ก็เลิกแล้ว ไม่รวมกันแล้ว กระจัดกระจายไป ไม่เป็นมรรคสามัคคีแล้ว เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานรอบต่อไป
ในรอบที่สองขณะที่ถึงสังขารุเปกขาญาณ จะเข้าสู่มัคควิถี โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้จึงจะรวมกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรวมแล้วผู้ปฏิบัติก็จะได้บรรลุถึงพระสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล หลังจากนั้นก็ไม่รวม
เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีก จนสามารถถึงสังขารุเปกขาญาณ รอบที่จะเข้าสู่มัคควิถีรอบที่ ๓ โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการก็จะรวมกันอีก เมื่อรวมกันแล้ว เราจึงจะสามารถบรรลุถึงอนาคามิมรรค อนาคามิผล หลังจากนั้นก็ไม่รวมกัน
เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีก จนผ่านตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ จนถึงสังขารุเปกขาญาณอีก ออกจากสังขารุเปกขาญาณก็เข้าสู่มัคควิถีครั้งที่ ๔ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ก็มารวมกันอีก และขณะนั้น กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดก็ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเรา
ก็หมายความว่า กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้นหายไปไม่มีเลย พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำไม่มีอีกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐล่วงส่วน เกษมจากโยคะธรรมล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เข้าถึงอมตมหานฤพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข
เหตุนั้น เราทั้งหลายมีเวลาน้อยนิดเดียว ก่อนจะปิดภาคอบรมในพรรษานี้ ก็ขอให้พยายามสร้างสมอบรมโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน อย่าได้ประมาท พยายามกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ให้ติดต่อกันไป ผลสุดท้ายโพธิปักขิยธรรมก็จะรวมกันเอง
เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ โดยย่อๆ ไม่พิสดารนัก ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.