สติปัฏฐาน ๔
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ จะได้นำเรื่องสติปัฏฐาน ๔ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นหนทางของการประพฤติปฏิบัติ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอัครสาวกซ้ายขวา พระมหาสาวก ๘๐ พระองค์ หรือพระอรหันต์สาวกเจ้าทั้งหลาย ดำเนินไปแล้วสู่พระนิพพาน ก็เพราะปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้
ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันก็ดี พระสกทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี ก็เพราะปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ เหมือนกัน แม้พวกเราท่านทั้งหลายที่กำลังปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ก็ปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔
การปฏิบัตินี้ ถ้าหากว่าขาดสติปัฏฐานทั้ง ๔ แล้ว ไม่สามารถที่จะดำเนินถึงพระนิพพานได้ เพราะสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน ในเมื่อพระนิพพานมีหนทางที่จะไป ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ หากว่าเราไปเดินทางอื่นเสียนอกจากสติปัฏฐาน ๔ ก็ไม่สามารถจะถึงพระนิพพานได้
อุปมาเหมือนกันกับเราจะไปกรุงเทพฯ แต่เวลาเดินทางเราไปทางประเทศลาว หรือ ประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา อย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะถึงกรุงเทพฯ ได้ หรือว่าเราไปทางภายในประเทศ แต่ว่าเราไปทางจันทบุรี ระยอง ตราด เราไม่วกเข้าไปหาหนทางที่จะเข้าไปสู่กรุงเทพฯ เลย ก็ไม่สามารถที่จะถึงกรุงเทพฯ ข้อนี้ฉันใด
แม้ว่าเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ ก็จริง แต่เราขาดสติปัฏฐานทั้ง ๔ ไม่ดำเนินตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ หรือว่า ไม่น้อมนำเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันเป็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานมาปฏิบัติ เราก็ไม่สามารถที่จะไปถึงนิพพานได้
คำว่า สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ อธิบายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ย่อมมีฐานเป็นที่ตั้ง เช่นว่า บาตรของเรานี้ก็มีฐานเป็นที่ตั้ง โต๊ะก็มีขาเป็นที่ตั้ง ธรรมาสน์ก็ต้องมีขาเป็นที่ตั้ง โต๊ะหมู่บูชาอย่างนี้ ต้องมีฐานเป็นที่ตั้ง แม้แต่ไมโครโฟนที่เราใช้อยู่นี้ก็มีขาเป็นที่ตั้ง ข้อนี้ฉันใด สติของเราก็ต้องมีที่ตั้งเหมือนกัน ถ้าสติไม่มีที่ตั้งแล้ว สติก็จะเลื่อนลอยไปต่างๆ นานาประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้
การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราเอาสติไปตั้งไว้ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือพูดอย่างหนึ่งว่า กาย เวทนา จิต ธรรม นั้น เป็นที่ตั้งของสติ เป็นฐานหรือเป็นเครื่องรองรับของสติ
การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักมหาสติปัฏฐาน เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม เราแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เป็นภายนอก ๑ และกาย เวทนา จิต ธรรม ที่เป็นภายใน ๑
อุปมาเหมือนดาบและฝักของดาบ ฝักของดาบนั้นต้องอยู่ภายนอก สำหรับดาบนั้น ต้องอยู่ภายในฝัก ข้อนี้ฉันใด กายที่เป็นภายในก็ดี เวทนาที่เป็นภายในก็ดี จิตที่เป็นภายในก็ดี หรือธรรมที่เป็นภายในก็ดี ต้องซ่อนอยู่ในกายนอก ในเวทนาที่เป็นภายนอก ในจิตที่เป็นภายนอก ในธรรมที่เป็นภายนอก เหมือนกันกับดาบที่ซ่อนอยู่ในฝักดาบฉะนั้น สติปัฏฐานนั้นมีอยู่ ๔ ประการคือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณากายให้เห็นกาย ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก เช่น เราเห็นกายซึ่งประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือเราพิจารณาเอาส่วนที่มีลักษณะแข้นแข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกเป็นต้น ว่าเป็นธาตุดิน
ลักษณะที่มีอาการเอิบอาบ เช่น น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมูก เป็นต้น ว่าเป็นธาตุน้ำ ลักษณะคือความอบอุ่นในร่างกายของเรา ว่าเป็นธาตุไฟ ลักษณะที่พัดขึ้นเบื้องบน พัดลงเบื้องต่ำ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ลมในไส้ ว่าเป็นธาตุลม
กายของเรานี้ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม จึงสำเร็จเป็นกายได้ เราพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าเห็นกายที่เป็นภายนอก หรือเราพิจารณาร่างกายนี้ให้เห็นเป็นแต่เพียงขันธ์ ๕ คือเห็นว่าเป็นรูป เห็นว่าเป็นเวทนา เห็นว่าเป็นสัญญา เห็นว่าเป็นสังขาร เห็นว่าเป็นวิญญาณ มาประกอบกันเข้า ก็เรียกว่าเห็นกายที่เป็นภายนอก หรือเราพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วนๆ ตามอาการ ๓๒ ก็เรียกว่าเห็นกายที่เป็นภายนอก
ส่วนเห็นกายที่เป็นภายในนั้น เช่นว่า เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ท่านทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลาพอสมควรนี้ ก็คงที่จะพอทราบได้ว่า เมื่อเรากำหนดอาการพองอาการยุบนั้น มีอาการอย่างไรบ้าง อาการพองอาการยุบมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร อาการพองอาการยุบนั้นมีการเกิดดับอย่างไรบ้าง
แม้แต่อาการขวาย่างซ้ายย่างที่เราเดินอยู่ มีอาการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรบ้าง ในขณะที่เรากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ในขณะที่เรากำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอาการเกิดดับเป็นอย่างไรบ้าง
เราเห็นอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น เห็นอาการเปลี่ยนแปลงของลมหายใจเข้าออก อาการเปลี่ยนแปลงของอาการพองอาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง เห็นการเปลี่ยนแปลงของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ในขณะที่กำหนดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็เห็นความเกิดดับควบคู่กันไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง
ในเมื่อเห็นเช่นนี้แล้วก็พิจารณาว่า ธรรมชาติทั้งหลายนี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป จึงเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในกาย ในเมื่อเราพิจารณาในลักษณะอาการดังกล่าวแล้วนี้ คือเห็นอาการเปลี่ยนแปลงของอาการพองอาการยุบเป็นต้น ชื่อว่า เห็นกายที่เป็นภายใน
เมื่อใด เราเห็นกายทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก จนสามารถถอน อัตตสัญญา คือความสำคัญยึดมั่นว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา ด้วยอำนาจของอุปาทานได้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบเย็น สามารถที่จะดับกิเลสตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้
ขอสรุปเอาย่อๆ ว่า เห็นกายที่เป็นภายนอกนั้น เห็นในด้านปริยัติ คือเห็นด้วยการคำนวณ เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยการศึกษาเล่าเรียน รู้ได้จากการสดับตรับฟังมาจากครูบาอาจารย์ แต่สำหรับกายที่เป็นภายในนี้ เราเห็นด้วยปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
คือเมื่อเราใช้สติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดกายอยู่ตลอดเวลา ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกายขึ้นมา ความเปลี่ยนแปลงของกายที่เราเห็นนั่นแหละ ถือว่าเห็นกายที่เป็นภายใน
การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เรากำหนดแต่เพียงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียว ก็สามารถที่จะดำเนินไปสู่อมตมหานฤพานได้ คือสามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การพิจารณาเวทนา เช่นว่า ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี โสมนัสก็ดี โทมนัสก็ดี อุเบกขาก็ดี เราพิจารณาเวทนาทั้ง ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน
เวทนาที่เป็นภายนอก เช่นว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนก็ดี หรือว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่หายจากโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนก็ดี หรือโสมนัสความดีใจที่เกิดขึ้นเพราะได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าใคร่น่าชอบใจก็ดี หรือโทมนัสความทุกข์ใจที่ได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ เช่นนี้เรียกว่า เห็นเวทนาที่เป็นภายนอก สรุปสั้น ๆ ว่า การเห็นเวทนาในขั้นปริยัติ หรือว่าเห็นด้วยตาเนื้ออย่างนี้ เรียกว่าเห็นเวทนาที่เป็นภายนอก
ส่วนเห็นเวทนาที่เป็นภายในนั้น เช่น เวลาปกติธรรมดาๆ นี้เราไม่มีความสุขความทุกข์ เฉยๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เวลาเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรากำหนดธรรมดาอยู่ หรือเดินไปธรรมดา ซึ่งไม่ควรที่จะปวดมันก็ปวดขึ้นมา เรานั่งขัดสมาธิ แทนที่มันจะปวดขาที่วางไว้ข้างล่าง แต่มาปวดขาที่วางไว้ข้างบน
มือของเราที่วางซ้อนกันอยู่ แทนที่จะปวดมือที่อยู่ข้างล่าง แต่มาปวดมือที่อยู่ข้างบน หรือเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ แทนที่จะปวดที่ก้นย้อย ตะโพก หรือขา แต่กลับมาปวดที่แขนหรือที่ศีรษะ อะไรทำนองนี้ นี่แหละเรียกว่า เวทนาที่เป็นภายใน เห็นด้วยอำนาจภาวนามยปัญญา คือเห็นด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา
เวทนา นอกจากเกิดขึ้นมาทางกายแล้ว บางครั้งก็เกิดขึ้นมาทางใจ เช่น บางครั้งก็มีความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก บางครั้งก็มีความทุกข์ใจจนบอกไม่ถูก บางครั้งก็เฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ อย่างนี้เรียกว่า เห็นเวทนาที่เป็นภายใน
หรือบางที เวทนาเกิดขึ้นมา เรากำหนดลงไปเท่านั้น เวทนานั้นหายไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะหาย ปวดอยู่จนใจแทบขาด จนคิดว่าจะอดทนไม่ได้ แต่พอกำหนดว่าทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ หรือปวดหนอๆ เท่านั้นแหละ หายวับไปเหมือนมีตนมีตัว อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เห็นเวทนาที่เป็นภายใน
เมื่อใด เราพิจารณาเวทนา ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก จนเห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นเป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาบังคับเวทนาทั้ง ๕ นี้ ให้อยู่ในอำนาจของเราได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปเช่นนี้แล้ว เมื่อนั้น ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในเวทนา
เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัดในเวทนา ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก สามารถละเวทนาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน เมื่อเป็นเช่น นี้จิตของเราก็บริสุทธิ์ สงบ ดับกิเลสตัณหาอันเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้ ท่านทั้งหลายกำหนดเวทนานี้อย่างเดียว ก็สามารถดำเนินไปสู่การบรรลุปฏิเวธธรรมได้
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นจิต ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก เช่น จิตเศร้าหมองเพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์อารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ เราก็รู้ หรือจิตเป็นสุขเพราะได้อารมณ์ที่ชอบใจ อันเกิดจากรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ เกิดความสุขใจขึ้นมาเราก็รู้ หรือบางครั้ง จิตเฉยๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เราก็รู้ การรู้ความเปลี่ยนแปรไปของจิต ในด้านปริยัติ หรือว่าเห็นด้วยความรู้อันเป็นขั้นสุตมยปัญญาอย่างนี้ เรียกว่าเห็นจิตที่เป็นภายนอก
สำหรับเห็นจิตที่เป็นภายในนั้น เป็นการพิจารณาเห็นจิตด้วยอำนาจของจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา คือเราใช้ปัญญาพิจารณา ติดตามขบวนการของจิต ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต จนสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของจิตว่า ขณะนี้จิตของเราเป็นอย่างไร จิตของเรามีโลภะไหม จิตของเรามีโทสะไหม จิตของเรามีโมหะไหม จิตของเรามีตัณหาไหม จิตของเรามีอุปาทานไหม หรือว่าจิตของเราประกอบไปด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราก็สามารถรู้ความเคลื่อนไหวของจิต คือ จิตของเราตกอยู่ใต้กิเลสตัณหาเราก็รู้ จิตของเราเป็นอิสระไม่ตกอยู่ใต้ตัณหาเราก็รู้ จิตของเราคิดดีเราก็รู้ จิตของเราคิดชั่วเราก็รู้ จิตของเราอยู่เฉยๆ เราก็รู้
จิตของเรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เราก็รู้ แต่การรู้ในที่นี้หมายถึงการรู้ด้วยอำนาจของจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา เมื่อเราพิจารณาเห็นจิตของเราอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เห็นจิตที่เป็นภายใน ท่านที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาแล้วคงจะทราบเรื่องเหล่านี้ได้ดี
บางทีจิตของเราอยู่เฉยๆ เรื่องที่ไม่เคยรู้มันก็รู้ขึ้นมา เรื่องที่ไม่เคยคิด มันก็คิดขึ้นมา บางครั้งเกิดความคิดขึ้นมา เราเอาสติกำหนดก็หายไปแล้วกลับคิดใหม่ บางครั้งคล้ายกับจิตของเรานี้เป็นสองดวง ดวงหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง อีกดวงหนึ่งคิดอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าดวงหนึ่งคิดอาการพองอาการยุบ อีกดวงหนึ่งคิดไปร้อยแปดพันประการ บางครั้งคิดเรื่องนี้ยังไม่จบก็กลับคิดเรื่องใหม่ขึ้นมา สับสนปนเปกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
บางครั้งคล้ายๆ กับว่าจิตมี ๒ ดวง ถกเถียงกันหรือคัดค้านกันอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็สนับสนุน จิตดวงหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง จิตดวงหนึ่งก็สนับสนุน คล้ายๆกับว่า จิตของเรานี้เป็น ๒ ดวง ๓ ดวง ๔ ดวง เกิดปุจฉาวิสัชนากันขึ้นมา เหมือนกันกับพระเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ ๓ ธรรมาสน์ ๔ ธรรมาสน์ อย่างนี้ก็มี
บางครั้งเหมือนมีคนมาพูด บางครั้งเหมือนมีเทวดามาบอก บางครั้งเหมือนกันกับมีมนุษย์หรือพรายมากระซิบ ได้ยินเสียงมาพูดข้างหน้าบ้าง ได้ยินเสียงมาพูดข้างหลังบ้าง ได้ยินเสียงพูดข้างขวาบ้าง ข้างซ้ายบ้าง บางครั้งคล้ายได้ยินเสียงสัตว์นรกพูดบ้าง บางทีมีเสียงพูดออกมาจากหทัยวัตถุของตัวเอง เหมือนกับเรามีวิทยุในหัวใจของเรา จิตของเราพูดได้ พูดอยู่ในทรวงอกของเรานี่แหละ พูดขึ้นมามีเสียงชัดถ้อยชัดคำจริงๆ
บางครั้งเหมือนมีครูบาอาจารย์มาพูดอยู่ในหัวใจของเรา บางครั้งเหมือนกับว่ามีลูกศิษย์ลูกหามีญาติมีโยมมาพูดอยู่ในหัวใจของเรา เหมือนกับฟังวิทยุ บางท่านก็เข้าใจว่า เราสำเร็จวิชาโทรจิตแล้ว ลักษณะดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติท่านใด ก็แสดงว่าท่านพิจารณาเห็นจิตในจิต ด้วยอำนาจของจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา คือเรากำหนดจิตไปๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ
เมื่อใดเราเห็นจิต ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน จนเกิดปัญญาความรอบรู้ในจิตว่า จิตนี้มันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้เหมือนกัน
เมื่อเราพิจารณาไปอย่างนี้ ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด สามารถละอุปาทานได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในจิต ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน เมื่อละอุปาทานได้แล้ว จิตของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบเย็น สามารถดับกิเลสตัณหาอันเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้ อันนี้เรียกว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นธรรมในธรรม การพิจารณาเห็นธรรมนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ เห็นธรรมที่เป็นภายนอก ๑ เห็นธรรมที่เป็นภายใน ๑
การพิจารณาเห็นธรรมขั้นธรรมดา ซึ่งเกิดขึ้นจากการศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม เช่นว่า เราศึกษาพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ตลอดถึงการพิจารณาเห็นลักษณะของโลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน พิจารณาเห็นอานุภาพของการรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น เรียกว่า เห็นธรรมในธรรมขั้นธรรมดา เห็นตามอำนาจของสุตมยปัญญา เพราะได้สดับตรับฟังมาจากครูบาอาจารย์ เหมือนกันกับเราเห็นฝักของดาบ
ส่วนเห็นธรรมที่เป็นภายในนั้น เป็นการเห็นที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นด้วยอำนาจจินตาญาณและภาวนาญาณ คือเมื่อใดเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน มีสมาธิจนสามารถเกิดปัญญาขึ้นมาในขันธสันดาน
พิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือสามารถได้บรรลุวิชชา ๓ คือ ระลึกชาติหนหลังได้บ้าง รู้การเกิดการตายของบุคคลอื่นสัตว์อื่นบ้าง สามารถทำอาสวะให้สิ้นไปบ้าง หรือได้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ อภิญญา ๖ เห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญา เห็นภัยเห็นทุกข์ที่เกิดจากรูปนาม เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็หาทางหนีทางหลุดทางพ้นจากรูปนาม จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานให้ได้
แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีทางหนีไม่มีทางพ้น มิอาจที่จะหลีกไปจากรูปจากนามได้ จิตใจก็เกิดอุเบกขา วางเฉยต่อรูปนาม ซึ่งเรียกว่าเป็นธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือเมื่อเราพิจารณาไปจนเห็นรูปนามนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดด้วยปัญญา จนสามารถยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน เข้าสู่กระแสพระนิพพาน การเห็นธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นการเห็นธรรมด้วยอำนาจภาวนาญาณ เรียกว่า เห็นธรรมในธรรม
เมื่อใด เราพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอย่างนี้แล้ว จิตของเราก็จะพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาอันเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อพ้นจากกิเลสตัณหาแล้ว จิตก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ การที่เราพิจารณาธรรมอย่างเดียว หรือเอาธรรมอย่างเดียวมาเป็นเครื่องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน
สรุปสั้นๆ ว่า การที่เห็นกายที่เป็นภายนอกก็ดี เห็นเวทนาที่เป็นภายนอกก็ดี เห็นจิตที่เป็นภายนอกก็ดี เห็นธรรมที่เป็นภายนอกก็ดี คือการเห็นในขั้นปริยัติ เป็นการเห็นด้วยอำนาจของสุตาญาณ เป็นการเห็นด้วยอำนาจของตาเนื้อ ส่วนการเห็นกายที่เป็นภายใน เห็นเวทนาที่เป็นภายใน เห็นจิตที่เป็นภายใน เห็นธรรมที่เป็นภายใน เป็นการเห็นด้วยอำนาจของจินตาญาณ หรือเป็นการเห็นซึ่งเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือเห็นด้วยอำนาจของภาวนาญาณ
เมื่อไรเราเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย เกิดวิราคะความคลายกำหนัด เมื่อจิตของเราคลายความกำหนัด ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ด้วยอำนาจอุปาทาน จิตของเราก็จะบริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใสแล้ว อริยมรรค อริยผล ก็เกิดขึ้น เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สติปัฏฐาน ๔ มาบรรยายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.